วรรณกรรมเล่มของไทยในสมัยสุโขทัย เรียกว่าอะไร

วรรณกรรมเล่มของไทยในสมัยสุโขทัย เรียกว่าอะไร

ในโลกของอารยประเทศนั้น ต่างยอมรับว่าวรรณคดีเป็นมรดกวัฒนธรรมทางภาษาที่บ่งชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของชนในแต่ละชาติ และสำหรับประ เทศไทยของเราก็ถือว่ามีมรดกทางวัฒนธรรมผ่านตัวอักษรในลักษณะดังกล่าวเป็นเครื่องสืบทอดภูมิปัญญาและบ่งบอกถึงความเป็นอารยะมาอย่างต่อเนื่อง 

แต่ในสังคมที่คนชอบเล่นกับภาษาในบ้านเรา เมื่อชาวตะวันตกนำคำว่า Literature เข้ามาสู่แวดวงหนังสือ เราก็จะคัดสรรค์จัดชั้นคุณภาพของสิ่งที่ชาวตะวันตกเรียกว่า Literature ออกเป็น 2 ระดับคือ “วรรณกรรม” กับ “วรรณคดี” โดยที่กำหนดใช้ “วรรณกรรม”กับคำภาษาอังกฤษว่า Literary works หรือ General Literature 

คำว่า วรรณกรรม ปรากฏใช้ครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรม และศิลปกรรม พ.ศ.2474 ส่วนความหมายของวรรณกรรม เป็นคำที่มีความหมายกว้าง เพราะครอบคลุมถึงงานทุกชนิดที่ใช้ภาษาเป็นสื่อในการถ่ายทอดความหมายและความรู้สึกนึกคิด ไม่ว่างานนั้นจะได้รับการยกย่องแล้วหรือไม่ก็ตาม 

ส่วน “วรรณคดี” เป็นคำที่ใช้ในความหมายแคบกว่าวรรณกรรม กล่าวคือวรรณคดีมักใช้กับหนังสือ หรืองานนิพนธ์ที่มีศิลปะการเขียนแสดงออกอย่างประณีต ส่วนรายละเอียดในการพิจารณาคุณค่านั้นมักคำนึง ถึงผลในการยกระดับความนึกคิดและจิตใจเป็นสำคัญ และคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือมักเป็นเรื่องที่ได้รับการยกย่องของคนทั่วไปมาเป็นเวลานานพอสมควร 

การบริหารจัดการเกี่ยวกับวรรณคดีของไทยเรา เริ่มแต่มีโบราณคดีสมาคมมาคัดหนังสือดีออกพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมปรากฏชัดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรขึ้น เพื่อประเมินคุณค่าหนังสือที่แต่งดีและยกระดับขึ้นเป็น “วรรณคดี” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับพระราชลัญจกรรูปพระคเณศไว้ที่ปกหนังสือ 

เป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การดำเนินงานและบทบาทของวรรณคดีสโมสรก็สิ้นสุดลง ทำให้บรรดาผลงานวรรณ กรรมที่สรรค์สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศักราช 2468 จน ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 80 ปี ซึ่งหลายเรื่องเป็นหนังสือที่บริบูรณ์ด้วยคุณค่าทั้งด้านวรรณศิลป์ ภูมิปัญญา จริย ธรรม ตลอดจนเป็นแบบอย่างในการประพันธ์ได้ แต่ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดทำหน้าที่ประเมินคุณค่าประกาศให้หนังสือเหล่านั้นเป็น “วรรณคดีของชาติ” เพิ่มขึ้นอีกเลย 

จากความเป็นมาและเหตุผลดังกล่าว สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีภาระรับผิดชอบมรดกวัฒนธรรมด้านภาษาและวรรณคดีของชาติ ได้หารือกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณคดีและอักษรศาสตร์ เห็นสมควรดำเนิน “โครงการวรรณคดีแห่งชาติ” เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและดำเนินงานที่เกี่ยวกับวรรณคดีของชาติให้เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ 

แล้วความตั้งใจที่จะสืบสานวรรณคดีให้มีอยู่คู่ชาติก็ประสบผล เมื่อนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 78/2553 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติขึ้น ประกอบ ด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านวรรณคดีและอักษรศาสตร์ โดยมี คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ เป็นประธาน 

จากการที่คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานพิจารณาวินิจฉัยข้อมูลเกี่ยวกับวรรณคดีไทย เพื่อจัดทำหนังสือประวัติวรรณคดีไทย กำ หนดหลักเกณฑ์และพิจารณาหนังสือที่แต่งดีเพื่อยกย่องให้เป็นวรรณคดีแห่งชาติ ส่งเสริมการศึกษาวิจัยวรรณคดีไทยและจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมวรรณคดีไทยนั้น ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติที่ผ่านมา สามารถประกาศและจัดทำประวัติวรรณคดีสมัยสุโขทัยได้ว่ามีวรรณคดีในยุคนี้ 5เรื่อง อีกทั้งประกาศยก ย่อง “ไตรภูมิกถา” ขึ้นเป็นยอดของวรรณคดีสมัยสุโขทัย โดยที่วรรณคดีแต่ละเรื่องมีสาระ ดังนี้ 

จารึกหลักที่1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบขณะเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือใน พ.ศ. 2376 นักวิชาการสันนิษ ฐานว่า จารึกหลักที่ 1 นี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 1835 ข้อความในจารึกกล่าวถึงพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เหตุการณ์สำคัญ สภาพสังคม และขนบ ธรรม เนียมประเพณีในสมัยสุโขทัย 

จารึกหลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม พลโท หลวงสโมสรพลการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) เป็นผู้ค้นพบศิลาจารึกหลักนี้ในอุโมงค์วัดศรีชุม ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังรัชกาลพระธรรมราชาที่ 1 เนื่องจากมีพระนามพระมหาธรรมราชาที่ 1 ปรากฏในจารึกด้วย สาระสำคัญของจารึกหลักนี้คือ กล่าวถึงประวัติของสม เด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า ซึ่งเป็นบุตรของพระยาคำแหง (พระราม) เป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประวัติราช วงศ์สุโขทัย 

จารึกหลักที่ 3 ศิลาจารึกนครชุม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพบที่วัดพระบรมธาตุ นครชุม จังหวัดกำแพงเพชร ใน พ.ศ. 2464 สาระสำคัญของจารึกนี้กล่าวถึง พระยาฦๅไทย หรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงนำพระบรมสารีริกธาตุพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิจากลังกาทวีป ไปประดิษฐานที่เมืองนครชุม จากนั้นกล่าวถึงเรื่องสัทธรรมอันตรธาน 5 และเป็นคำตักเตือนสัปบุรุษให้รีบเร่งทำบุญกุศล ตอนท้ายเป็นคำสรรเสริญพระเกียรติ 

สุภาษิตพระร่วง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า สุภาษิตบัณฑิตพระร่วง หรือสุภาษิตประดิษฐพระร่วง สันนิษฐานว่าผู้แต่งเป็นกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งในสมัยสุโขทัย โดยแต่งขึ้นเพื่อสั่งสอนประชาชน เนื้อหากล่าวถึง พระร่วงผู้รู้แจ้ง ทรงเล็งเห็นประโยชน์ในภายหน้า จึงทรงสั่งสอนชาวโลกเกี่ยวกับข้อปฏิบัติต่าง ๆ แบบแผนในการดำรงชีวิต เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนสติ สำนวนโวหารในสุภาษิตพระร่วงแต่งด้วยภาษาไทย รุ่นเก่า ใช้ภาษาเรียบง่าย มีสัมผัสสะดวกแก่การจดจำ ซึ่งสุภาษิตหลายข้อยังได้ถือปฏิบัติต่อมาในสังคมไทย 

ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นราวปี พ.ศ. 1888 ลักษณะคำประพันธ์เป็นความเรียงร้อยแก้ว ประ เภทศาสนาและปรัชญา ไตรภูมิกถาเริ่มเรื่องด้วยคาถานมัสการเป็นภาษาบาลี มีบานแพนกบอกชื่อผู้แต่ง วันเดือนปีที่แต่ง แสดงหลักฐานว่าผู้แต่งได้เรียบเรียงเนื้อหาจากหนังสือสำคัญเล่มต่างๆ เนื้อเรื่องกล่าวถึงภูมิทั้งสาม ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และ อรูปภูมิ โดยมีจุดประสงค์เพื่อโปรดพระราชมารดา สั่งสอนประชาชนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ยึดมั่นในหลักธรรมพุทธศาสนา รวมทั้งให้มุ่งไปสู่ดินแดนแห่งพระนิพพาน 

โดยมีรายละเอียดในคำประกาศยกย่องวรรณคดี ของคณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติว่า 

ไตรภูมิกถา พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพระยาลิไท เป็นวรรณคดีสมัยสุโขทัยซึ่งเรียบเรียงความรู้ด้านโลกศาสตร์และจักรวาลวิทยาจากคัมภีร์สำคัญถึง 30 คัมภีร์ ลักษณะคำประพันธ์เป็นความเรียงร้อยแก้ว วรรณคดีเรื่องนี้เป็นหนังสือแต่งดีมีคุณค่าหลายประการ กล่าวคือ เป็นวรรณคดีพุทธศาสนาเรื่องแรกของไทย ที่ยืนยันความรุ่งเรืองด้านอักษรศาสตร์สมัยสุโขทัย เป็นคลังทางปัญญาแห่งวิถีชีวิตของคนไทย ปรัชญาทางพุทธศาสนาที่ปรากฏในไตรภูมิกถา มุ่งสอนจริยธรรมศีลธรรมให้แก่คนในสังคม โน้มน้าวให้บุคคลกระทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจผ่องใส ซึ่งเป็นแนวทางอันนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง 

นอกจากนี้ ไตรภูมิกถายังมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ศิลปกรรมไทยแขนงต่างๆ ในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติจึงมีมติประกาศยกย่องให้ไตรภูมิกถาเป็นยอดของวรรณคดีสมัยสุโขทัย 

รู้ผลการประกาศวรรณคดีกันเช่นนี้แล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนคงต้องพิจารณากันแล้วว่าควรจะปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณคดีในหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับกันไปด้วยหรือไม่? 

ภูมิบ้านภูมิเมือง 

ดร.วัฒนะ บุญจับ 

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร 

ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ : สยามรัฐ วันศุกร์ ที่ 01 ตุลาคม 2553