ศรัทธา 4 ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

สัทธา หรือ ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ หมายถึง ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ความเชื่อที่ผ่านการใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลแล้วจึงตกลงใจเชื่อ มี 4 ประการ คือ

1. กัมมสัทธา

กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อการกระทำ เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความดีความชั่วมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น

2. วิปากสัทธา

วิปากสัทธา เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว ไม่มีกรรมหรือการกระทำใดเลยที่ไม่มีผล ผู้ทำกรรมดีจักได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วจักได้รับผลชั่ว

3. กัมมัสสกตาสัทธา

กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของแห่งกรรม จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน ไม่ว่าผู้ใดทำกรรมเช่นใดไว้ จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ๆ ด้วยตนเองอย่างแน่นอน ไม่มีผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลง

4. ตถาคตโพธิสัทธา

ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุดบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง มีศรัทธาตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่มีวันเปลี่ยนไปนับถือศาสดาอื่นนอกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) กล่าวถึง สัทธา 2 (เขียนตามบาลี สันสกฤต เขียนศรัทธา)

1 ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต 2 กัมมผลสัทธา เชื่อกรรมและผลแห่งกรรม

สัทธา 2 นี้ ฟังแล้วสั้นไป ที่คุ้นเคยกว่า คนรุ่นหลังรวบรวมไว้ คือสัทธา 4

1 กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อการกระทำ 2 วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม 3 กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว 4 ตถาคตสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต

ยังมีการจำแนกไว้ในอรรถกถา สัทธามี 4 ระดับ

ระดับที่ 1 อาคมนสัทธา ความเชื่อความมั่นใจของพระโพธิสัตว์ อันสืบมาจากการบำเพ็ญสั่งสมบารมี ระดับที่ 2 อธิคมสัทธา ความเชื่อมั่นของพระอริยบุคคล ซึ่งเกิดจากการเข้าถึงด้วยการบรรธรรมเป็นประจักษ์

ระดับที่ 3 โอกัปปนสัทธา ความเชื่อหนักแน่นสนิทแน่ว เมื่อได้ปฏิบัติก้าวหน้าไปในการเห็นความจริง ระดับที่ 4 ปสาทสัทธา ความเชื่อที่เป็นเพียงความเลื่อมใส จากการได้ยินได้ฟัง

ได้ยินคำว่าศรัทธา อย่าเพิ่งสรุปว่า เป็นข้อดีทั้งหมด ใครที่มี “สัทธาจริต” พื้นนิสัยหนักในศรัทธา ท่านว่า พึงแก้ด้วยปสาทนียกถา ถ้อยคำที่นำให้เกิดความเลื่อมใส ในทางที่ถูกที่ควรและด้วยความเชื่อที่มีเหตุผล

ผมทบทวนแต่ละศรัทธา ศรัทธาในกรรม ศรัทธาพระพุทธเจ้า ฯลฯ ก็ยังเห็นว่าตัวเองยังมีศรัทธาอยู่ไม่น้อย เพิ่งจำแนกได้ ตัวเองมีจิตใจอยู่ในสัทธาระดับที่ 4

ปสาทสัทธา ความเชื่อที่เป็นความเลื่อมใสจากการได้ยินได้ฟัง

เข้าใจความหมายของคำว่า ศรัทธาปสาทะ เอาตอนนี้เอง

แม้ยังมีศรัทธามั่นคง กับพระสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรมความรู้มากมาย แต่เมื่อฟังข่าว ตำรวจจับพระเถระผู้ใหญ่หลายๆรูป สึกแล้วเอาเข้าขังคุก ก็อดไม่ได้ที่จะหวั่นไหวและเศร้าหมอง

ต้องพยายามโน้มน้าวใจ เชื่อมั่นว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ดื่มด่ำกับคำสอนนี้แล้วทำให้มั่นคงในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้น

นึกถึงผู้คนในแวดวงการเมือง หลายคนจากหลายฝ่าย ที่ก่อกรรม ต่างก็รับผลกรรมกันไปแล้ว เข้าคุกไปแล้วบ้าง ถูกยึดทรัพย์บ้าง อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีบ้าง

ถ้าเชื่อว่ากรรมเวรมีจริง แม้อำนาจการเมืองจะทำให้เห็นว่า ฝนตกไม่ทั่วฟ้า

คนแก่ที่มีศรัทธาปสาทะ ระดับที่ 4 อย่างผมเชื่อว่าจะเร็วจะช้า ก็ต้องรับผลกรรมที่ทำไว้

ถ้าทุกกรรมมีผลฉับไวทันใจ บนเวทีการเมืองไทย อาจไม่มีนักการเมืองเหลือเลย ถ้าเข้าคุกกันไปหมด จะเหลือใครจะอยู่ทำงานนิติบัญญัติในสภา ทำงานบริหารในรัฐบาล

ที่เป็นห่วง ก็คือผู้คนที่อยู่กับอำนาจใหม่ บางคนทำเหมือนไม่รู้จักกฎแห่งกรรม

จะทำจะพูดอะไร ไม่ก่อศรัทธา คงเผลอไปว่าอำนาจคือศรัทธา

ลืมไปแล้วกระมังว่าอำนาจจากปากกระบอกปืนเป็นเพียงอำนาจชั่วคราว อำนาจที่ยั่งยืนและแท้จริงนั้นมาจากศรัทธาของประชาชน.

ข้อสุดท้ายมีความคล้ายคลึงกับศาสนาเทวนิยม คือเชื่อพระเจ้า แต่ที่พระองค์ตรัสเช่นนี้มิได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้กล่าว แต่เพื่อประโยชน์สุขของผู้สดับ

ให้ผู้ฟังมีความเชื่อ ยอมรับสมาทานก่อน ถ้าไม่เชื่อเลยจะไม่ยอมรับสมาทาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระองค์ก่อนเข้าสู่การปฏิบัติ แต่มิให้ปักใจเชื่อทันที ยังเปิดโอกาสให้ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ (โยนิโสมนสิการ) มีปัญญาไต่สวนตรวจสอบ

ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาจึงชื่อว่า ญาณสัมปยุตคือความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีศรัทธาเดียว ๆ โดด ๆ แต่มีปัญญามาประกอบการพิจารณาอยู่ด้วย ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาจึงเอื้อให้เกิดการพัฒนาปัญญาเพื่อไต่เต้าเข้าไปสู่ความรู้แจ้งทว่าในเบื้องต้นจะต้องมีศรัทธาเป็นแกนนำก่อน มาด้วยความสงสัย อาจจะกลับไปด้วยความฟุ้งซ่าน มาด้วยศรัทธาจะกลับไปด้วยปัญญา เพราะไม่มาเชื่ออย่างเดียว แต่มาประพฤติปฏิบัติด้วย

ดังนั้นขอให้ท่านสาธุชนที่มาประพฤติปฏิบัติมีศรัทธา น้อมใจเชื่อก่อน จึงค่อยนำหลักการและวิธีการปฏิบัติไปฝึกปฏิบัติดูว่าจะเป็นอย่างไร ฝึกทำไม เพื่อประโยชน์อันใด ก็ฝึกปฏิบัติเพื่อพักผ่อน ระงับความทุกข์ ให้เกิดความสงบสุข เพราะชีวิตนี้มีแต่การดิ้นรนจึงทุกข์ร้อน