หน่วยการเรียน รู้ที่ 6 การขยายพันธุ์พืช

การขยายพันธุ์พืช

  • การขยายพันธุ์พืชจัดว่ามีความสำคัญในการปลูกพืช เพราะขั้นตอนแรกของการเพาะปลูกต้องมีต้นกล้าพืชเสียก่อน การเลือกวิธีการขยายพันธุ์พืชที่เหมาะสมจะทำให้สามารถผลิตต้นกล้าได้ตามปริมาณและคุณภาพที่ต้องการ ซึ่งเป็นผลไปถึงคุณภาพหรือปริมาณของผลผลิตของพืชนั้นๆ นอกจากนี้การขยายพันธุ์พืชยังมีความสำคัญในด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่หายากหรือใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น "การเพาะเมล็ด ปักชำ ตอนกิ่ง ติดตา ทาบกิ่ง เสียบยอด การแยกหน่อ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ"เป็นต้น

การขยายพันธุ์พืชแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

  • 1.การขยายพันธุ์พืชแบบอาศัยเพศได้แก่  การเพาะเมล็ด  เป็นการขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนของเมล็ดที่เกิดจากการผสมเกสรระหว่างเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย โดยนำมาเพาะในวัสดุเพาะ เช่น  ทรายหยาบ แกลบดำ ปุ๋ยคอก และดิน ตามอัตราส่วนที่เหมาะสม
  • 2.การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเป็นการขยายพันธุ์พืชด้วยการใช้ส่วนต่างๆ ของพืช ได้แก่ ราก ลำต้น ใบ โดยส่วนต่างๆ ของพืชเหล่าที่สามารถเกิดราก และเจริญเติบโตเป็นต้นพืชได้ การขยายพันธุแบบไม่อาศัยเพศ เช่น การปักชำกิ่ง การตอนกิ่ง การติดตา การทาบกิ่ง เสียบยอด และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ

การปักชำ

  • เมื่อนักเรียนได้ดูวีดีโอ นักเรียนจะสังเกตเห็นว่า การปีกชำสามารถปักชำได้ทั้งส่วนที่เป็นใบ ก้าน กิ่ง ลำต้นและราก ครับ

  • 1. เลือกกิ่งที่มีตาและใบ เพราะใบช่วยสร้างอาหารและฮอร์โมน ช่วยในการออกรากให้แก่กิ่งปักชำ
  • 2. จัดวางกิ่งปักชำให้ถูกต้องตามหัวท้ายของกิ่งถ้าวางกลับทิศทางจะทำให้ กิ่งไม่เกิดรากและไม่เกิดยอด
  • 3. ทำแผลโคนกิ่ง เพื่อให้กิ่งมีเนื้อที่ที่จะเกิดรากได้มากขึ้น
  • 4. ทาหรือนำกิ่งจุ่มฮอร์โมนและสารกระตุ้นบางอย่างช่วยในการเกิดราก
  • 5. นำกิ่งไปปักชำในวัตถุที่เตรียมไว้
  • 6. รักษาความชื้นและแสงสว่างที่วางกิ่งปักชำ
  • 7. ดูแลรดน้ำให้ชุ่มจนกว่าจะเกิดราก

ตัวอย่างการปักชำโดยใช้ส่วนต่างๆ ดังนี้

  • 1.การปักชำกิ่งหรือลำต้น  ใช้กิ่งแก่ที่มีสีน้ำตาล เป็นกิ่งสมบูรณ์ มีอาหารสะสมมากเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับการออกรากและการเจริญของตาเป็นกิ่งใหม่ ตัดกิ่งเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 6-8 นิ้ว มีตาอย่างน้อย 2-3 ตา ตัดใบออกหมด ด้านบนและล่างตัดเฉียง 45-60 องศา ห่างจากตาสุดท้ายประมาณครึ่งนิ้ว กรีดที่โคนกิ่งยาวประมาณ 1 นิ้ว 2-3 รอย และจุ่มฮอร์โมนเร่งรากแล้วปักชำในทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 หรือขี้เถ้าแกลบอย่างเดียวก็ได้ แล้วตั้งไว้ในที่มีแสงแดดรำไร มีความชื้นสูง
  • 2.การปักชำใบ  ใช้กับพืชบางชนิด วิธีปักชำคือตัดแผ่นใบแก่ออกเป็นส่วน ๆ วางแผ่นใบลงบนวัสดุปักชำ กลบด้วยวัสดุปักชำบาง ๆ พอไม่ให้ใบแห้ง พืชบางชนิดใช้วิธีนำแผ่นใบแต่ละส่วนปักชำบนวัสดุปักชำ ต้นและรากใหม่จะเกิดจากแผ่นใบตรงบริเวณเส้นใบที่ถูกตัดขาด

การตอนกิ่ง

  • การตอนกิ่ง  เป็นการขยายพันธุ์พืชโดยการทำให้เกิดราก ขณะที่ยังไม่ได้ตัดกิ่งออกจากต้นเดิม ให้นักเรียนดูวีดีโอประกอบนะครับ

  • 1. เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ไม่อ่อนแอและไม่แก่เกินไป ใบงาม ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย ได้รับแสงแดดสม่ำเสมอ และตั้งตรง
  • 2. ควั่นรอบๆ กิ่งให้รอยควั่นห่างกันประมาณ 0.5-1 นิ้ว แล้วลอกเปลือกระหว่างรอยควั่นออก
  • 3. ใช้สันมีดขูดเนื้อเยื่อลำเลียงกิ่งออกให้หมดแล้วทาฮอร์โมนเร่งรากบริเวณรอยควั่น
  • 4. นำดินร่านค่อนข้างเหนียวหุ้มรอยควั่นจนมิดแล้วหุ้มด้วยกาบมะพร้าวชุ่มน้ำ จากนั้นใช้เชือกมัดหัวมัดท้ายให้แน่น
  • 5. ใช้ถุงพลาสติกพันทักกาบมะพร้าวอีกครั้ง เพื่อป้องกันน้ำเข้า
  • 6. รักษาความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ถ้าเป็นฤดูแล้งและวัสดุที่หุ้มแห้งอาจใช้การฉีดน้ำเข้าไปในกระเปาะที่หุ้ม 2 – 3 วันต่อ 1 ครั้ง
  • 7. ผ่านไปประมาณ 1-2 เดือนจะสังเกตเห็นรากสีขาวในถุง เมื่อเกิดรากปริมาณมากพอ จึงตัดกิ่งตอนนำลงปลูกในกระถาง เลี้ยงไว้จนกระทั่งเห็นว่ากิ่งตอนแข็งแรงจึงนำไปปลูกในบริเวณที่กำหนด

****ข้อดีของการตอน คือทำได้ง่าย ได้ต้นกล้าขนาดใหญ่ ทำให้ได้ผลผลิตเร็ว ไม่กลายพันธุ์ ทรงต้นไม่สูงนัก แต่ก็มีข้อจำกัด  คือ กิ่งตอนไม่มีรากแก้ว ทำให้ไม่สามารถทนต่อลมแรง ๆ โค่นล้มได้ง่าย

การติดตา

  • การติดตาเป็นการขยายพันธุ์พืชโดยการเชื่อมประสานส่วนของต้นพืชเข้าด้วยกัน เพื่อให้เจริญเป็นต้นพืชต้นเดียวกัน โดยการนำเอาแผ่นตาของพืชพันธุ์ดี ไปติดเข้ากับต้นต่อ เพื่อให้ตาเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ต่อไป
  • พืชพันธุ์ดีได้แก่  พืชที่มีดอกและผลเป็นที่น่าพอใจ
  • พืชต้นตอได้แก่ พืชที่แข็งแรง หาอาหารเก่ง เจริญเติบโตแข็งแรง ทดทานต่อโรคและสภาพแวดล้อม

วิธีติดตามีหลายวิธีดังนี้

  • 1.การติดตาแบบตัวที (T) เป็นวิธีการติดตาที่เปิดปากแผลบนต้นตอแบบตัว T
  • 2.การติดตาแบบเพลท หรือแบบเปิดเปลือกไม้ (Plate Budding)เป็นวิธีการติดตาที่คล้ายการติดตาแบบตัว T แต่ขนาดต้นตอใหญ่กว่าแบบตัว T เหมาะสำหรับพืชที่มีน้ำยาง
  • 3.การติดตาแบบแพทซ์ หรือแผ่นปะ (Patch Budding) เป็นการติดตาอีกแบบหนึ่งโดยนำแผ่นตาพันธุ์ดีปะไปบนรอยแผลของต้นตอที่เตรียมไว้เป็นรูปต่าง ๆ นิยมใช้กับพืชที่เกิดรอยประสานเร็วและไม่มีน้ำยาง
  • 4.การติดตาแบบชิปหรือไม่ลอกเนื้อไม้ (Chip Budding) วิธีการติดตาแบบนี้นิยมใช้กับพืชที่ลอกเปลือกไม้ออกยากหรือเปลือกไม้บางและเปราะ ขนาดต้นตอประมาณ ๐.๕ นิ้ว เหมาะสำหรับการติดตาองุ่น เงาะ และไม้ผลอื่นที่ลอกเปลือกไม้ยาก

แต่ในรายละเอียดขอพูดถึงวิธีการติดตาแบบตัวทีดังนี้ครับ

  • 1.คัดเลือกต้นพันธุ์ดี และต้นพันธุ์พื้นเมืองที่จะนำมาติดตา
  • 2.ใช้มีด คมๆ กรีดเปลือกลำต้นของต้นตอเป็นรูปตัวที (T)
  • 3.ใช้ปลายมีดเปิดเปลือกไม้ แล้วเฉือนแผ่นตาจากกิ่งพันธุ์ดีออกมา
  • 4.นำแผ่นตาของต้นพันธุ์ดีมาเสียบเข้าไปในรอยกรีดของต้นต่อพันธุ์พื้นเมือง
  • 5.ใช้แผ่นพลาสติกหรือผ้าชุบเทียนไขพันให้แน่น โดยพันจากด้านล่างขึ้นข้างบน เพื่อป้องกันน้ำเข้าตา เพราะถ้าน้ำเข้า อาจทำให้ตาเน่าได้

การแยกหน่อ

  • การแยกหน่อ  เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้กับพืชที่ไม่ค่อยมีเมล็ด กิ่งก้าน ส่วนมากเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ว่านสี่ทิศ ซ่อนกลิ่น พุทธรักษา สร้อยทอง หน้าวัว เยอร์บีร่า หอม กระเทียม ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ กล้วย เป็นต้น          พืชที่ขยายพันธุ์หรือปลูกโดยการแยกหัวหรือหน่อ ส่วนมากจะมีลำต้นอยู่ใต้ดิน ส่วนของลำต้นนี้อาจเรียกว่า หัว เหง้า แง่ง สามารถแยกออกไปปลูกได้ การคัดเลือกหัวและหน่อเพื่อใช้เป็นต้นพันธุ์ควรเลือกหัวและหน่อที่สมบูรณ์แข็งแรง ขนาดไม่เล็ก ไม่โตจนเกินไป แตกใบอ่อนประมาณ 2-3 ใบ เลือกหัวและหน่อที่ปราศจากโรคและแมลงรบกวน นำลงปลูกในภาชนะที่ใส่ดินปลูก หรือในแปลงปลูกต่อไป
  • การขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ  จะช่วยให้ได้พืชที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์เดิมทุกประการ ทำได้ง่ายและให้ผลเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด แต่มีข้อเสีย คือขยายพันธุ์ได้ครั้งละน้อย และทำได้ช้ากว่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ให้นักเรียนดูวีดีโอประกอบนะครับ

การทาบกิ่ง

  • การทาบกิ่ง เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ให้ได้ต้นพันธุ์ที่ให้ได้ต้นพันธุ์ดีซึ่งมีลักษณะทางสายพันธุ์เหมือนต้นแม่วิธีหนึ่ง โดยกิ่งพันธุ์ดีจะทำหน้าที่เป็นลำต้นของต้นพืชใหม่ ส่วนต้นตอที่นำมาทาบติดกับกิ่งของต้นพันธุ์ดีจะทำหน้าที่เป็นระบบราก เพื่อหาอาหารให้กับต้นพันธุ์ดี

วิธีการทาบกิ่ง แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ

  • 1.การทาบกิ่งแบบประกับ (Approach grafting)การทาบกิ่งแบบนี้ทั้งต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีต่างก็ยังมีรากและยอดอยู่ทั้งคู่ มักใช้ในการทาบกิ่งไม้ผลที่รอยแผลประสานกันช้า
  • 2.การทาบกิ่งแบบเสียบ (Modified approach grafting)เป็นวิธีทาบกิ่งที่แปลงมาจากวิธีการทาบกิ่งแบบประกับ โดยจะทำการตัดยอดต้นตอออกให้เหลือสั้นประมาณ ๓-๕ นิ้ว เพื่อลดการคายน้ำ

วิธีการทาบกิ่งส่วนใหญ่มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

  • 1.นำต้นตอพันธุ์พื้นเมืองมาปลูกลงในถุงพลาสติก เมื่อโตได้ขนาดแล้วนำไปทาบกับกิ่งพันธุ์ดีที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
  • 2.ใช้มีดคมๆ เฉือนเอาเปลือกด้านที่หันเข้าหากันทั้ง 2 กิ่ง แล้วนำมาทาบติดกันให้สนิท
  • 3.ใช้แผ่นพลาสติกพันให้แน่น ทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ จนเนื้อเยื่อของกิ่งทั้ง 2 กิ่ง ประสานกันจนเป็นเนื้อเดียวกัน
  • 4.ตัดกิ่งพันธุ์ดีใต้บริเวณที่ทาบเอาไว้ออก จากนั้นให้นำต้นพันธุ์พื้นเมืองที่มียอดเป็นต้นพันธุ์ดีไปปลูก

การเสียบยอด

  • การเสียบยอด  คือ การเชื่อมประสานเนื้อเยื่อของต้นพืช 2 ต้นเข้าด้วยกัน เพื่อให้เจริญเติบโต เป็นต้นเดียวกัน โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
  • 1. ตัดยอดต้นตอให้สูงจากพื้นดิน ประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วผ่ากลางลำต้นของ ต้นตอให้ลึกประมาณ 3 - 4 เซนติเมตร
  • 2. เฉือนยอดพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มยาวประมาณ 3 - 4 เซนติเมตร
  • 3. เสียบยอดพันธุ์ดีลงในแผลของต้นตอ ให้รอยแผลตรงกัน แล้วใช้เชือกมัดด้านบน และล่างรอยแผลต้นตอให้แน่น
  • 4. คลุมต้นที่เสียบยอดแล้วด้วยถุงพลาสติก หรือนำไปเก็บไว้ในโรงอบพลาสติก
  • 5. ประมาณ 5 - 7 สัปดาห์ รอยแผลจะประสานกันดี และนำออกมาพักไว้ในโรง เรือนเพื่อรอการปลูกต่อไป

การเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

  • ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ชิ้นส่วนของพืช เช่น ตายอดหรือตาข้างของพืชจากต้นพืชพันธุ์ดีที่คัดเลือกไว้ มาเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ ภายใต้สภาพปลอดเชื้อ ทำให้ส่วนประกอบของพืชเจริญเติบโตและพัฒนาเกิดเป็นต้นใหม่ที่มีลักษณะเหมือนต้นเดิมทุกประการ

มีขั้นตอนในการเพาะเลี้ยงดังนี้          

  • 1. นำชิ้นส่วนพืชที่ต้องการมาล้างน้ำให้สะอาด
  • 2. ตกแต่งชิ้นส่วนพืช ตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก
  • 3. นำชิ้นส่วนพืชจุ่มในแอลกอฮอล์ 95 % เพื่อลดแรงตึงผิวบริเวณนอกชิ้นส่วนพืช
  • 4. นำชิ้นส่วนพืชมาเขย่าในสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้นาน 10 – 15 นาที
  • 5. ใช้ปากคีบคีบชิ้นส่วนพืช ล้างในน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง
  • 6. ตัดชิ้นส่วนพืชตามขนาดที่ต้องการแล้ววางบนอาหารสังเคราะห์

ความสำคัญของการเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

  • 1.เป็นพื้นฐานของการสร้างพืชพันธุ์ใหม่ ให้มีลักษณะตามที่ต้องการ
  • 2.เป็นการผลิตพันธุ์พืชที่ปลอดโรคและเป็นการอนุรักษ์และรักษาพันธุ์พืช
  • 3.ช่วยเพิ่มจำนวนพืชที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและในปริมาณมากๆ

อาหารสำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 

  • สิ่งที่สำคัญมากในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคืออาหารที่เหมาะสม ซึ่งต้องประกอบด้วยสารอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อาหารเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
  • 1. สารอนินทรีย์ ได้แก่ ธาตุอาหารหลักที่พืชจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแตสเซียม กำมะถัน แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุอาหารรอง เช่น แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โมลิบดีนัม โบรอน ไอโอดีน โคบอล คลอรีน เป็นต้น
  • 2. สารประกอบอินทรีย์ เช่น น้ำตาล วิตามิน อมิโนแอซิค ออกซิน ไซโตไคนิน จิบเบอเรลลินแอสคอบิคแอซิด เป็นต้น
  • 3. สารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น กล้วยบด น้ำมะพร้าว น้ำส้มคั้น น้ำมะเขือเทศ
  • 4. สารไม่ออกฤทธิ์ เช่น วุ้น ช่วยให้พืชตั้งอยู่ได้ ผงถ่านช่วยดูดซับสารพิษที่พืชสร้างออกมา

วิธีการเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช 

  • จะนำสารละลายเข้มข้นชนิดต่าง ๆ มาผสมกันตามสัดส่วนที่ต้องการ กวนให้เข้ากันจนหมดครบทุกชนิด เติมน้ำตาลแล้วเติมน้ำกลั่นให้ได้ปริมาตรที่ต้องการ ปรับ pH 5.6 – 5.7 จากนั้นนำวุ้นผสมกับอาหารที่เตรียมไว้ หลอมวุ้นให้ละลายแล้วบรรจุในภาชนะเช่นขวดหรือถุงพลาสติกแล้วปิดให้สนิท นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันไอน้ำที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ / ตารางนิ้ว เป็นเวลา 15 – 20 นาที จึงนำไปใช้ได้

แหล่งอ้างอิง

เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ.สื่อการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ป.5.อักษรเจริญทัศน์.กรุงเทพ:2551.

เข้าถึงได้จาก 

http://www.tistr.or.th/tistrblog/

http://fieldtrip.ipst.ac.th