วัดเป็นสถาน ที่ ทํา กิจกรรมทางสังคม ต่างๆ ได้แก่

วัด : แหล่งเรียนรู้อันควรอนุรักษ์

เผยแพร่: 15 ธ.ค. 2557 16:08   โดย: สามารถ มังสัง

ในอดีตวัดเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะวิทยาคารที่ชาวบ้านจากชุมชนรอบๆ วัดหรือแม้จากสถานที่ห่างไกลได้เดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาวิทยาการแขนงต่างๆ และรับการสั่งสอนอบรมทางด้านจิตใจ โดยมีพระภิกษุสงฆ์เป็นครูสอน

แต่ในปัจจุบันสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อการศึกษาของประเทศได้พัฒนาเจริญมากขึ้น และการศึกษาได้แยกตัวออกจากวัด โดยตั้งเป็นสถานศึกษาเป็นเอกเทศ และครูผู้สอนก็มิได้เป็นพระสงฆ์ ดังนั้นเด็กไทยในยุคปัจจุบัน จึงมิได้มีความใกล้ชิดกับวัด และพระสงฆ์เฉกเช่นเมื่อก่อน

แต่ถึงกระนั้น วัดก็ยังคงเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ เพียงแต่เปลี่ยนจากการเข้าวัดเพื่อศึกษาวิชาการแขนงต่างๆ มาเป็นเข้าวัดฟังเทศน์ ฟังธรรม และสนทนาธรรมจากพระสงฆ์ ดังนั้น ผู้ที่เข้าวัดในปัจจุบันจึงเปลี่ยนจากเด็กซึ่งอยู่ในวัยเรียนมาเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และเข้าวัดเมื่อมีความทุกข์ใจ หรือไม่ก็เข้าวัดในวันเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เป็นต้น ทั้งหมดคือวัดที่ผู้คนในสังคมไทยยังคงอาศัยในปัจจุบัน

แต่วัดยังมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และประเพณีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดที่มีโบราณวัตถุและโบราณสถานอันงดงาม และมีคุณค่าทางศิลปะ เช่น วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ และวัดอรุณราชวรารามฯ เป็นต้น

โดยสรุปแล้ววัดในพระพุทธศาสนายังมีความสำคัญสำหรับชาติไทยในฐานะเป็นแหล่งศึกษาพระธรรม โดยมีพระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจในยามมีทุกข์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ด้วยเหตุที่วัดยังคงมีความสำคัญทั้งต่อคนไทยในฐานะเป็นที่พึ่งทางใจ และต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมดังกล่าวแล้ว วัดจึงควรได้รับการดูแลรักษาให้มีความสะอาด และปราศจากภัยสังคมจากกลุ่มบุคคลที่เข้ามาอาศัยวัด และก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้คนที่เข้าวัดเพื่อแสวงหาความสงบ หรือเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี

แต่จากความเป็นจริงที่ปรากฏในวันนี้มีอยู่หลายวัดแม้อยู่ในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ และที่ยิ่งกว่านี้อยู่ในเขตรอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่มองดูจากภายนอกเห็นสิ่งก่อสร้างสวยงาม แต่เมื่อเข้าไปข้างในเห็นความไม่สะอาดมีขยะมูลฝอยกองให้เห็นเป็นแห่งๆ แถมมีสุนัขเพ่นพ่านและที่ยิ่งกว่านี้ในบางวัดมีคนแต่งกายไม่เรียบร้อย และมีท่าทางไม่น่าไว้วางใจ บ้างนั่ง บ้างนอน บ้างเดินไปมาเห็นแล้วไม่สมกับเป็นวัดซึ่งเป็นที่พำนักของภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล และสงบจากกิเลสอย่างหยาบซึ่งแสดงออกทางกาย และวาจาด้วยอำนาจแห่งศีล

จากภาพที่ได้พบเห็นจากวัดบางวัดดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นความจริงบางประการที่ซ่อนเร้นซึ่งอนุมานได้ในเชิงตรรกะดังนี้

1. พระสงฆ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าอาวาสและกรรมการวัดไม่เอาใจใส่ดูแลกิจการภายในวัดเท่าที่ควรจะเป็น

2. ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนรอบๆ วัดไม่ศรัทธาต่อภิกษุสงฆ์ซึ่งอาศัยอยู่ในวัดนั้นๆ จึงไม่เข้าวัดไปช่วยกันทำนุบำรุงรักษาวัดเท่าที่ชาวพุทธพึงจะกระทำ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการไม่เลื่อมใสศรัทธาต่อปฏิปทา หรือจะด้วยมีข้อขัดแย้งกับพระสงฆ์ในวัดก็ตามที

แต่การที่ไม่เข้าไปช่วยเหลือวัดถือได้ว่าขาดคุณสมบัติของอุบาสกและอุบาสิกา ซึ่งมีความหมายว่าผู้ใกล้ชิดหรือเข้าถึงพระรัตนตรัยโดยสิ้นเชิง

3. พระสงฆ์ในวัดนั้นๆ ไม่มีศีลวัตและจริยวัตรดีพอที่จะดึงดูดให้คนใกล้วัดเข้าวัดได้ จึงเท่ากับขาดภาวะผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ และเป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจของชาวบ้านไม่ได้ ชาวบ้านจึงไม่เข้าวัด

จากปัจจัย 3 ประการนี้เอง วัดในพระพุทธศาสนาบางวัดนอกจากไม่ทำหน้าที่จรรโลงพระศาสนาแล้ว ยังเป็นเสมือนตัวถ่วงหรือตัวทำลายศาสนามากกว่าที่จะเป็นแหล่งให้ความรู้ ให้ความคิดและเป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจของชาวพุทธในยามคับขันเนื่องจากมีทุกข์ทางใจ

ทำอย่างไรวัดจึงจะเป็นวัดให้ชาวบ้านพึ่งได้ และเป็นแหล่งเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อย่างมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์

จากคำถามนี้ ท่านผู้อ่านที่พอจะมีความรู้ศาสนาพุทธอยู่บ้าง ก็คงจะคิดได้ว่าจะต้องเริ่มด้วยการปรับทัศนคติและสร้างศรัทธาของชาวพุทธให้อยู่ในครรลองที่ถูกต้องตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งปรากฏที่มาในอิติวุตตกะพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 หน้า 314 ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! พราหมณ์ คฤหบดีที่เป็นอุปัฏฐากท่านทั้งหลาย ด้วยจีวร บิณฑบาตที่อยู่อาศัยและยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรคนับว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก แม้ท่านทั้งหลายที่แสดงธรรมอันมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยสิ้นเชิงแก่พราหมณ์ คฤหบดีเหล่านั้นก็นับว่ามีอุปการะมาก นี่แหละภิกษุทั้งหลาย! พรหมจรรย์ที่ประพฤติโดยอาศัยกันและกันเพื่อถอนกิเลสอันเปรียบด้วยห้องน้ำ เพื่อทำให้ทุกข์สิ้นไปโดยชอบ

จากพุทธพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเน้นหน้าที่ของภิกษุควรทำแก่คฤหัสถ์คือ การแสดงธรรมสั่งสอนให้รู้และเข้าใจธรรมะโดยถ่องแท้ ทั้งในแง่ของความหมายตามตัวอักษร และโดยเนื้อหาแห่งธรรมนั้นแล้วนำไปปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ มิใช่นำสิ่งที่มิใช่ธรรม มิใช่วินัย และสิ่งที่มิได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์มาสอน ดังที่พระสงฆ์บางรูปกระทำและเป็นผู้นำในทางสังคมอยู่ในขณะนี้

ในส่วนของคฤหัสถ์ก็ควรจะเข้าวัดเพื่อหาธรรมะ และศรัทธาในภิกษุผู้มีศีล มีธรรม ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วถวายปัจจัย 4 อันควรแก่การสมณบริโภค ไม่ควรถวายสิ่งที่ไม่ควรแก่นักบวชด้วยหวังแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่มิใช่ธรรมในลักษณะของศรัทธาอาศัย เพราะการกระทำเยี่ยงนี้นอกจากไม่เป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการบ่อนทำลายศาสนาในทางอ้อม

ส่วนประเด็นว่าจะทำให้วัดและพระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจได้อย่างไรนั้น พอจะมีแนวทางทำโดยอาศัยพุทธพจน์ที่ทรงตรัสแก่พระกิมพิละที่ว่า “ดูก่อนกิมพิละ! เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสนา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษาเคารพยำเกรงกันและกันนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”

จากนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น ถ้าจะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้วางแนวทางที่จะทำให้พุทธศาสนาอยู่ได้อย่างยั่งยืน และเมื่อศาสนาคือคำสอนอยู่ได้ วัดอันเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ก็อยู่ได้

ดังนั้น การเคารพในพระธรรมวินัยจึงเป็นหลักสำคัญในการจรรโลงพุทธศาสนาให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับคำสอน รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีด้วย