ใบงาน เรื่อง สังคมมนุษย์ ม.4 เฉลย

โดยทั่วไปคนในสังคมจะอาศัยอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งพื้นที่อาจมีขนาดจำกัด เช่น ในบริเวณบ้าน ในบริเวณโรงเรียน
  • ความสัมพันธ์ สมาชิกในสังคมจะต้องมีความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น การพูดจาทักทาย การทำงานกลุ่ม
  • การจัดระเบียบทางสังคม เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในสังคมช่วยให้การติดต่อกันทางสังคมเป็นไปอย่างเรียบร้อย เช่น การจัดระเบียบการจราจร การควบคุมเวลาปิด-เปิดของสถานบันเทิง เป็นต้น
  • การมีวัฒนธรรมของตนเอง เมื่อคนในสังคมมาอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่าภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน ก็จะสร้างวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้น ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของตนเองที่เป็นเอกลักษณ์


  • หน้าที่ของสังคม

    1. ดูแลสมาชิกในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
    2. สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
    3. ประสานประโยชน์ระหว่างสมาชิกในสังคม
    4. ส่งเสริมการคิดอย่างสร้างสรรค์ในสังคม
    5. ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่สมาชิกในสังคม

    สถาบันทางสังคม

    สถาบันครอบครัว

    บทบาทหน้าที่

    1. อบรมเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวให้เป็นคนดีของสังคม เช่น รู้จักการเสียสละความตรงต่อเวลา การมีน้ำใจต่อคนรอบข้าง เป็นต้น
    2. ถ่ายทอดวัฒนธรรมให้แก่สมาชิกใหม่ที่กำเนิดขึ้นมาในสังคม เช่น  การเคารพผู้ใหญ่ การอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น
    3. กำหนดแนวทางปฏิบัติแก่สมาชิกในครอบครัว เช่น การใช้จ่าย การเลือกคู่ การหมั้น การแต่งงาน เป็นต้น


    สถาบันเศรษฐกิจ

    บทบาทหน้าที่

    1. พัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจเพื่อความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงแก่สมาชิกในสังคม
    2. เป็นตัวกลางในการกำหนดกลไกราคา โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก
    3. กระจายสินค้าและบริการให้เพียงพอและทั่วถึงแก่ผู้บริโภคมากที่สุด โดยสินค้าและบริการต้องมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด


    สถาบันการเมืองการปกครอง

    บทบาทหน้าที่

    1. รักษาความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมืองให้อยู่ในสภาวะปกติ สร้างระเบียบกฎเกณฑ์ให้แก่สังคม บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร
    2. วินิจฉัยข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกในสังคม มีองค์กรตุลาการให้ความยุติธรรมแก่สมาชิกที่มีความขัดแย้งกัน
    3. สร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ มีการติดต่อสื่อสาร เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน นำไปสู่ความร่วมมือกันในด้านต่างๆ




    สถาบันการศึกษา

    บทบาทหน้าที่

    1. จัดการศึกษาให้เยาวชนมีความรู้ ความสามารถ เพื่อจะได้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตในอนาคตต่อไป 
    2. ส่งเสริมค่านิยมที่ดีงาม ให้เยาวชนรู้จักใช้สิทธิและหน้าที่ของตนให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
    3. ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม มุ่งเน้นให้เยาวชนเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ


    สถาบันศาสนา

    บทบาทหน้าที่

    1.  เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของสมาชิกในสังคม เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ช่วยให้สมาชิกทางสังคมสามารถใช้หลักธรรมในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้

    2.  เป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตของสมาชิกในสังคม ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่สมาชิกในสังคมเพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

    3.  สอนให้บุคคลกระทำความดี ละเว้นความชั่ว เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของตนเองและผู้อื่น


    สถาบันนันทนาการ

    บทบาทหน้าที่

    1.  ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ให้สมาชิกในสังคมเห็นคุณค่าของการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อตนเองและส่วนรวม

    2.  สร้างความบันเทิงให้แก่สมาชิกในสังคม เพื่อให้การดำรงชีวิตมีความสุขสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

    3.  ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด เพิ่มพูนอนามัยที่ดี รวมทั้งเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับสมาชิกในสังคม  


    สถาบันสื่อสารมวลชน

    บทบาทหน้าที่

    1. มีความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ไม่นำเสนอข้อมูลเอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
    2. เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน เพื่อสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
    3. มีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของบุคคลและกลุ่มบุคคล ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น


    การจัดระเบียบทางสังคม


    ·         การจัดระเบียบทางสังคม หมายถึง วิธีการต่างๆ ที่คนในสังคมกำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน เป็นการควบคุมสมาชิกให้มีความสัมพันธ์กันภายใต้แบบแผนเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม


    องค์ประกอบ

    1.        ระบบคุณค่าทางสังคม เป็นเป้าหมายสูงสุดที่สังคมปรารถนาให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่สังคมยอมรับและสมควรกระทำให้บรรลุผล ได้แก่ ความรักชาติ ความยุติธรรม ความเสมอภาค เป็นต้น

    2.        บรรทัดฐานทางสังคม คือ มาตรฐานการปฏิบัติตามบทบาทของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางของระบบคุณค่าทางสังคม

    3.        สถานภาพและบทบาท มีความเกี่ยวข้องกันสัมพันธ์กัน โดยสถานภาพเป็นตำแหน่งที่บุคคลครอบครองอยู่ และบทบาทก็คือหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ จะต้องกระทำ เช่น นักเรียนต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ข้าราชการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่  เป็นต้น


    การขัดเกลาทางสังคม



    ·         การขัดเกลาทางสังคม หมายถึง กระบวนการเรียนรู้การเป็นสมาชิกของสังคม โดยซึมซับบรรทัดฐานและค่านิยมทางสังคมมาเป็นของตนและเรียนรู้ในการปฏิบัติตนตามบทบาทหน้าที่ เพื่อที่จะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ได้เป็นอย่างดี

    ·         การขัดเกลาทางสังคมทางตรง

    1.  การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ต้องใช้เหตุผลในการอบรมเลี้ยงดูลูก ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหา รับฟังความคิดเห็นของลูก รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความสามารถที่ตนมีอยู่

    2.  การอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์ ครูต้องอบรมและเสริมสร้างทักษะความรู้และพฤติกรรมที่ดีงามให้แก่นักเรียน ฝึกฝนให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเรียน การทำกิจกรรม ตลอดจนการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข 

    ·            การขัดเกลาทางสังคมทางอ้อม

    1.   การอ่านหนังสือ ช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้มีความหลากหลาย สร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ๆ สามารถนำมาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนให้ชีวิตมีคุณค่าและมีระเบียบแบบแผนที่ดียิ่งขึ้น      

    2.  การฟังอภิปราย ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกลมากขึ้น ได้รับฟังข้อมูลจากผู้มีความรู้ ซึ่งสามารถนำข้อคิดที่ได้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

    3.  การทำกิจกรรมกลุ่ม ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ รู้จักเสียสละเพื่อให้กิจกรรมที่ทำนั้นประสบความสำเร็จสูงสุด    




    ·         องค์กรที่ทำหน้าที่ขัดเกลาทางสังคม

    1.  ครอบครัว เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งทำหน้าที่อบรมสั่งสอนสมาชิกให้เป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนด

    2.  โรงเรียน เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เสริมสร้างความรู้ ความสามารถ ตลอดจนการปรับตัวในการใช้ชีวิตในสังคม

    3.  สื่อมวลชน เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดข่าวสาร ความรู้ ศิลปะ ประเพณี รวมทั้งกฎระเบียบทางสังคมไปยังสมาชิกของสังคมทุกหมู่เหล่า

    4.  สถาบันศาสนา เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่สมาชิกในสังคม โดยมุ่งเน้นให้คนกระทำความดี ละเว้นความชั่ว

    ·         การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

    o   การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงระเบียบของสังคมในการกระทำ
    ในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และแบบแผนความประพฤติของสมาชิกในสังคมที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การเปลี่ยนวัตถุสิ่งของที่ใช้ การเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อ เป็นต้น

    ·         การเปลี่ยนแปลงระดับจุลภาค

    o   เป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดย่อยในระดับบุคคล กลุ่มบุคคล และรวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคล ตัวอย่างเช่น

    1.  การผลิตสินค้า จากเดิมที่ผลิตสินค้าด้วยมือ เปลี่ยนมาเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตสินค้า เพื่อให้ได้ปริมาณมาก เพียงพอกับความต้องการในปัจจุบัน

    2.  การศึกษาของนักเรียน จากเดิมที่ครูจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนฝ่ายเดียว เปลี่ยนเป็นการศึกษาที่เน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น มีภาวะความเป็นผู้นำ

    ·         การเปลี่ยนแปลงระดับมหภาค

    o   เป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับระบบสังคม มีผลกระทบต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น

    1.  การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลให้ราษฎรทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ประเทศมีแรงงานอิสระเพิ่มมากขึ้น

    2.  การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน