กวีที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายคือใคร

สมัยอยุธยา (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐)

กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ นับเป็นเวลายาวนาน ถึง ๔๑๗ ปี มีกวีและวรรณคดีจำนวนมาก วรรณคดีแต่ละเรื่อง ล้วนมีคุณค่าเป็นมรดก สมควรรักษาไว้ตลอดไป ในที่นี้จะกล่าวถึงวรรณคดีบางฉบับ คือ ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงกำสรวล และบทเห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ดังนี้

ลิลิตยวนพ่าย

เป็นกวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สันนิษฐานว่า แต่งในรัชสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ประมาณ พ.ศ. ๒๐๓๔ - ๒๐๗๒) พระราชโอรสของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระราชประวัติของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งแต่ประสูติ จนถึงการขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา เล่าถึงพระปรีชาสามารถในด้านการปกครอง การทหาร และการศาสนา จุดสำคัญที่สุดของเนื้อเรื่องคือ การทำสงครามกับยวนหรือเชียงใหม่ ซึ่งยกทัพมาตีหัวเมืองทางเหนือจนตีสุโขทัยได้ แล้วยกทัพต่อลงมาจะตีพิษณุโลก และกำแพงเพชร ดังนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงยกทัพไปปราบหลายครั้ง กว่าจะได้รับชัยชนะ

กวีนิพนธ์ลิลิตยวนพ่าย แต่งด้วยรูปแบบคำประพันธ์ ร่ายดั้น และโคลงดั้นบาทกุญชร ใช้ภาษาที่ประณีตงดงาม ศัพท์สูงส่งวิจิตร เต็มไปด้วยชั้นเชิงสูงด้านการใช้ภาษา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงลิลิตยวนพ่ายว่า

"นับ ว่าเป็นหนังสือที่แต่งดีอย่างเอกในภาษาไทยเรื่องหนึ่ง เป็นพงศาวดารเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อครั้งพระเจ้าติโลกราช (กษัตริย์) เมืองเชียงใหม่ลงมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงพยายามทำสงคราม จนมีชัยชนะ เอาหัวเมืองฝ่ายเหนือเหล่านั้น คืนมาได้ จึงเรียกว่า ยวนพ่าย" ลิลิตพระลอ

เป็นวรรณคดีสมัยอยุธยา ที่คนไทยปัจจุบัน รู้จัก และคุ้นเคยมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน

เรื่องพระลอเป็นนิยายประจำถิ่นไทยภาคเหนือ เชื่อว่า มีเค้าโครงเรื่องเกิดขึ้น ในแคว้นล้านนา ระหว่าง พ.ศ. ๑๖๑๖ - ๑๖๙๓ ปัจจุบัน ท้องที่ของเรื่องอยู่ในจังหวัดแพร่และลำปาง เนื้อเรื่องกล่าวถึงความรักของหนุ่มสาว (พระลอ พระเพื่อน พระแพง) ที่มีอุปสรรคจนต้องยอม แลกด้วยชีวิต

ผู้แต่ง และสมัยที่แต่งลิลิตพระลอ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน แต่สันนิษฐานว่า คงแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือมิฉะนั้น คงเป็นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ลิลิตพระลอ มีผู้เรียกว่าเป็น "วรรณคดี บริสุทธิ์" เพราะมีลักษณะสะเทือนอารมณ์ ที่ยอดเยี่ยม เป็นเรื่องโศกที่จบลงด้วยความตาย เป็น วรรณคดีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ยอด ของวรรณคดีลิลิต เพราะแต่งดีอย่างวิเศษในด้านภาษา" โคลงและร่ายของลิลิตพระลอ จัดได้ว่า เป็นแบบฉบับหรือชั้นครู ที่กวีรุ่นหลังนิยมยกย่องยึดถือ เช่น การแต่งโคลงสี่สุภาพ ที่มีเสียงบังคับวรรณยุกต์ เอก ๗ โท ๔ จะดูได้จากโคลงในลิลิตพระลอบทนี้

     เสียงลือเสียง เล่าอ้าง อันใด พี่เอย


เสียงย่อมยอยศใคร       ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล         ลืมตื่น ฤาพี่
สอง พี่คิดเองอ้า              อย่าได้ถามเผือ สมุทรโฆษคำฉันท์

เป็นวรรณคดีมรดกอีกเรื่องหนึ่ง ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็น "ยอด แห่ง คำประพันธ์ประเภทฉันท์" กวีเอกของไทย ๓ ท่าน ได้แต่งเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยพระมหาราชครูรับกระแสพระราชดำรัสจาก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้แต่งในรัชสมัยของพระองค์ (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) พระมหาราชครูแต่งตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ พอใกล้จะจบตอนที่ ๒ พระมหาราชครูได้ถึงแก่อนิจกรรม ดังนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงพระราชนิพนธ์ต่อ แต่ก็ยังไม่จบ ทิ้งไว้ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ ต่อจนจบเรื่อง ครบทั้ง ๔ ตอน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ สมุทรโฆษคำฉันท์ มีจุดประสงค์แต่งขึ้น เพื่อใช้เป็นบทพากย์หนัง เนื้อเรื่องได้มาจาก สมุทรโฆสชาดกในปัญญาสชาดก กล่าวถึงการ ผจญภัยที่สนุกสนานตื่นเต้นของพระสมุทรโฆษและ นางพินทุมดี ที่ได้พระขรรค์วิเศษพาเหาะไปเที่ยวยังที่ต่างๆ ได้ ครั้นพระขรรค์ถูกลักไป ทั้งสองก็ต้องพลัดพรากจากกัน ต่างผจญภัยต่อไปอีก จนสามารถกลับนครได้ เรื่องราวที่สนุกสนานตื่นเต้นนี้ เหมาะสมกับการเล่นหนัง ให้คนทั่วไปชม นอกจากนี้ จิตรกรไทยได้นำไปวาดภาพ ลงบนผนังโบสถ์ เช่น ที่พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดดุสิตาราม กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

นอกจากเป็นบทพากย์หนังแบบโบราณแล้ว ผู้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ ยังต้องการสะท้อนความเชื่อในพุทธศาสนาด้วย เช่น เรื่องกรรมเก่า บุพเพสันนิวาส ความซื่อสัตย์ระหว่างสามีและ ภรรยา ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่ ตามแบบอย่างของการเล่านิทานชาดกด้วย เช่น เล่าว่าในอนาคตชาติของนางพินทุมดีคือ นางพิมพา และพระสมุทรโฆษคือ พระพุทธเจ้า ดังคำ ประพันธ์ต่อไปนี้

เยาวยอดยุพินทร์พิน      ทุมดีสุดาพงา
คืออัครชายา                 ยุพเยศยโศธร
     พระผู้บำเพ็ญโพธิ์      สมุทรโฆษธิเบศร
คือพุทธชินวร                 วิสุทธิเทพเจษฎา
โผอนเอาตำนานเนิ่น      ดำเนิรธรรมเทศนา
บัญญัติบัญญาสชา          ดกเสร็จสมเด็จแสดง

อนิรุทธคำฉันท์

กวีผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์คือ ศรีปราชญ์ บุตรของพระมหาราชครู มีจุดมุ่งหมายในการแต่ง เพื่อแสดงให้บิดาตนเห็นว่า "สามารถ แต่งเรื่องให้เป็นชิ้นเป็นอันได้" เรื่องนี้ได้รับยกย่องว่า เป็นเอก ในเชิงการแต่งฉันท์ เป็นตัวอย่างของการแต่ง ฉันท์ในสมัยหลัง เช่น สมัยรัตนโกสินทร์ เรื่องนี้ได้เค้าเรื่องมาจากคติพราหมณ์ ตอน พระนารายณ์อวตารมาเป็นพระกฤษณะ ในเรื่อง อ้างว่า พระอนิรุทธเป็นพระนัดดาของพระกฤษณะ วันหนึ่ง พระอนิรุทธบรรทมหลับใต้ต้นไทร พระไทรได้อุ้มพระอนิรุทธไปสมกับนางอุษา ธิดาของพระยายักษ์พานาสูร และถูกพระยายักษ์จับได้ พระกฤษณะจึงต้องยกกองทัพมาช่วยให้รอดพ้น จากพระยายักษ์ ซึ่งไปขอร้องพระศิวะให้มาช่วย ฝ่ายตน พระศิวะได้แต่ขอร้องพระกฤษณะ มิให้ประหารพระยายักษ์ และพระยายักษ์ต้องยอมให้พระอนิรุทธกับนางอุษา ได้ครองรักกัน เรื่องนี้ มีลักษณะเป็นเรื่องเล่าเชิงนิทานนิยาย ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นมหัศจรรย์ การผจญภัย และจบลงด้วยความสุขสมหวัง

ตัวอย่างคำประพันธ์ที่ไพเราะ

     จึงวาดนแน่งโฉม
อนิรุทธราชา
นางเอาขดานมา
บันทับทรวงก็ไห้โหย
     อ้านี้แลรูปท้าว
อันมาชมมาชายโชย
จำนองกระอืดโอย
ทุกขทรวง รลวงกาม

โคลงกำสรวล

โคลงกำสรวลเป็นวรรณคดีโบราณที่สำคัญมาก มีลักษณะยอดเยี่ยมหลายประการ โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำ และโวหาร เนื่องจากผู้แต่งเลือกสรรคำมาแต่ง ทุกบาททุกบท ล้วนมีความหมายเด่น ลึกซึ้ง สะเทือนอารมณ์ กวีผู้แต่งได้ รักษาข้อบังคับการแต่งโคลงอย่างเคร่งครัด ความดีเด่นพิเศษของวรรณคดีเรื่องนี้คือ ความคิดที่แปลกและยิ่งใหญ่ จนได้รับการยกย่องจากกวีรุ่นหลัง ให้เป็นแบบอย่างงานเขียน ที่แสดงความคิด ที่ไม่ซ้ำแบบใคร ทั้งนี้เพราะกวีทั่วๆ ไป เมื่อต้องเดินทางจากคนรัก ย่อมมีความห่วงใย จึงเลือกฝากนางไว้กับผู้ใหญ่ ที่ตนแน่ใจว่า จะคุ้มครองหญิง ที่รักให้ปลอดภัย แต่กวีผู้แต่งโคลงกำสรวล กลับใช้โวหารที่แหลมคม ยั่วล้อผู้ใหญ่ ตัวอย่างเช่น

     โฉมแม่จักฝากฟ้า      เกรงอินทร์ หยอกนา
อินทรท่านเทอกเอา         สู่ฟ้า
โฉมนางจะฝากดิน           ดินท่าน แล้วแฮ
ดินท่านขัดเจ้าหล้า           สู่สมสองสม

โคลงกำสรวล เป็นแบบฉบับให้กวีในสมัยหลัง เลียนแบบสำนวนโวหารในการแต่งวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น โคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อยของพระยาตรัง และโคลงนิราศนรินทร์ของนายนรินทรธิเบศ (อิน)

บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์

เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์เป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยอยุธยา พระนามเดิมคือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรไชยเชษฐ์สุริย์วงศ์ เรียกกันทั่วไปว่า "เจ้า ฟ้ากุ้ง" เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๖

"เจ้าฟ้ากุ้ง"

ทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรองไว้หลายเรื่อง ซึ่งบทที่ได้รับยกย่องว่าดีที่สุดคือ บท เห่เรือ ซึ่งมีความดีเด่น ด้านการคิดสร้างสรรค์ รูปแบบแปลกใหม่ ทรงใช้กาพย์และโคลงคู่กัน คล้ายกาพย์ห่อโคลง และทรงเปลี่ยนแปลงวิธีแต่งใหม่ โดยแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นตอนๆ แต่ละตอนใช้โคลง ๑ บท แล้วแต่งกาพย์เลียนความ ขยายความอีกจำนวนหนึ่ง แล้วจึงเริ่มต้นตอนต่อไป ด้วยโคลง แล้วขยายความด้วยกาพย์ต่อไปอีก รูปแบบฉบับ เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาภัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น นอกจากนี้ บทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งยังใช้เห่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในปัจจุบันด้วย

เนื้อหาของบทเห่เรือคือ การชมเรือพระที่นั่ง และการเคลื่อนขบวนเรือ ตามลำน้ำที่มีธรรมชาติสวยงาม โดยนำมาเปรียบกับความรักนาง และความรู้สึกเป็นทุกข์ เนื่องด้วยการพรากจากนาง ตามธรรมเนียมของการแต่งนิราศ

การใช้ภาษาของเจ้าฟ้ากุ้งมีความไพเราะ สละสลวย จับใจ คนไทยจำนวนมาก มีความซาบซึ้ง และจดจำบทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งได้อย่างขึ้นใจ เช่น

     พระเสด็จโดยแดนชล
ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย
พายอ่อนหยับจับงามงอน

สมัยอยุธยาตอนปลาย บทละครได้รับความนิยมอย่างเห็นได้ชัดกว่าสมัยก่อนๆ ตามจดหมายเหตุของลาลูแบร์ กล่าวว่า ในกรุงศรีอยุธยา ละคร เป็นมหรสพที่เล่นกันเป็นปกติ รวมทั้งโขนและระบำ

บทละครสมัยอยุธยาเรียกกันทั่วไปว่า "บท ละครครั้งกรุงเก่า" ส่วนมากไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง และปีที่แต่ง เช่น เรื่องรามเกียรติ์ การเกษ (การะเกด) คาวี มโนห์รา สังข์ทอง เป็นต้น ส่วนบทละครเรื่องดาหลัง ที่ใช้เล่นในพระบรมมหาราชวังนั้น เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงพระนิพนธ์ และเรื่องอิเหนา เจ้าฟ้าหญิงมงกุฎทรงพระนิพนธ์ ทั้งสองเรื่องแต่งในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ