กลุ่มใดที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน

ส่วนบริษัทน้ำมันต่างชาติรายแรกที่เข้ามาในประเทศไทยก็คือ บริษัท รอยัล ดัตช์ ปิโตรเลียม จำกัด เพื่อจำหน่ายน้ำมันก๊าด ในปี พ.ศ. 2435

ปี พ.ศ. 2439 กรุงเทพมหานครได้มีการนำรถยนต์คันแรกมาทดลองวิ่งบนถนน และ 6 ปีต่อมาก็ได้ดัดแปลงมาเป็นรถเมล์ เหตุการณ์นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้น้ำมันเบนซินในประเทศไทย..

ในเวลาต่อมาที่รถยนต์เริ่มมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็เริ่มมีบริษัทนำน้ำมันมาค้าขายในประเทศไทย ทั้งน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และน้ำมันเตา

แต่ในช่วงนี้จะยังเป็นลักษณะของการซื้อมาขายไป ยังไม่มีการผลิตน้ำมันในประเทศไทย

เมื่อน้ำมันปิโตรเลียม กลายเป็นสิ่งที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

รัฐบาลก็เริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากประเทศไทยไม่สามารถจัดหา ผลิต หรือกลั่นน้ำมันเองได้

ในปี พ.ศ. 2476 กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดตั้ง “แผนกเชื้อเพลิง” และต่อมาก็ยกระดับเป็น “กรมเชื้อเพลิง” เพื่อจัดหาน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันหล่อลื่น

มีการสร้างโรงกลั่นและคลังน้ำมันขึ้น รวมถึงต่อเรือสำหรับบรรทุกน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายให้แก่ประชาชน และเพื่อเป็นการถ่วงดุลกับกิจการค้าน้ำมันของบริษัทต่างชาติ

แต่แล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2482 ถึงปี พ.ศ. 2488 โรงกลั่นน้ำมันและเรือบรรทุกน้ำมันได้ถูกระเบิดเสียหาย ในขณะที่บริษัทค้าน้ำมันต่างชาติทั้งหลายในประเทศไทยก็ปิดตัวลง

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องยุบกรมเชื้อเพลิง รวมถึงขายกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของประเทศผู้ชนะสงคราม

ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องทำข้อตกลงว่ารัฐบาลจะไม่ค้าน้ำมันอีก ยกเว้นเพื่อกิจการทหาร
ในขณะที่บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาจำหน่ายน้ำมันได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต
ทำให้ในช่วงนั้นเอง บริษัทต่างชาติก็ได้ขยายกิจการค้าน้ำมันอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีทั้ง เชลล์,​ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์

เวลาผ่านล่วงเลยมา 12 ปี จนมาในปี พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
ก็ได้ยกเลิกข้อผูกพันที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแก่ประชาชน
สิ่งนี้ถือเป็นการปลดแอกให้กับธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศลงอย่างสิ้นเชิง

ในปี พ.ศ. 2503 ได้มีการจัดตั้ง “องค์การเชื้อเพลิง” เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สัญลักษณ์การค้าตรา “สามทหาร”
เพื่อดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมัน จัดหา และกลั่นน้ำมัน

และในอีก 2 ปีต่อมา รัฐบาลก็เริ่มลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันบางจากขึ้น โดยมีบริษัทต่างชาติเข้ามาช่วยขยายกำลังการกลั่นจนสูงถึง 60,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงปี พ.ศ. 2515

เข้าสู่ ปี พ.ศ. 2516 ก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อเกิดวิกฤติน้ำมันครั้งใหญ่ในตลาดโลก

จุดเริ่มต้นของวิกฤติครั้งนี้มาจากสงคราม “Yom Kippur” หรือ ยมคิปปูร์
ซึ่งเป็นสงครามระหว่างอิสราเอล และชาติอาหรับอย่างซีเรียและอียิปต์

โดยในสงครามครั้งนั้น สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะสนับสนุนฝ่ายอิสราเอล โดยการส่งอาวุธทางการทหารให้ ซึ่งทำให้ชาติอาหรับไม่พอใจเป็นอย่างมาก

กลุ่มประเทศ OPEC นำโดยซาอุดีอาระเบีย จึงตัดสินใจตอบโต้ด้วยการหยุดส่งน้ำมันดิบ
ให้สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร หรือที่เรียกว่า “Oil Embargo”

เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้น้ำมันขาดแคลนไปทั่วโลก
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวพุ่งขึ้นถึง 3 เท่า ภายในระยะเวลา 1 ปี
จาก 23 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กลายเป็น 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบัน

เนื่องจากประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมาก แต่ไม่มีแหล่งปิโตรเลียมภายในประเทศเป็นของตัวเอง จึงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นโดยตรง และทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยพุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ปี พ.ศ. 2516 อัตราเงินเฟ้อ 15.5%
ปี พ.ศ. 2517 อัตราเงินเฟ้อ 24.3%

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ตราพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยขึ้น

เป็นการตั้งองค์กรของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของประเทศโดยตรงเป็นครั้งแรก

จึงนับว่า ปตท. ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2521 ตรงกับปี ค.ศ. 1978
ท่ามกลางวิกฤติน้ำมันและเงินเฟ้อที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญ

สถานการณ์พลังงานดังกล่าว จึงเป็นตัวเร่งทำให้ประเทศไทยต้องเริ่มมองหาแหล่งพลังงานปิโตรเลียมภายในประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ

ประกอบกับในขณะนั้นได้มีการสำรวจพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีปริมาณมากพอที่จะนำขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ จึงเริ่มมีการลงทุนท่อส่งก๊าซจากอ่าวไทยเข้ามาในแผ่นดิน

วิกฤติน้ำมันโลกกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2522 เนื่องจากมีการปฏิวัติในประเทศอิหร่าน
ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันลดลง และราคาน้ำมันดิบก็พุ่งขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 1 ปี
จาก 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กลายเป็น 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบัน

และแน่นอนว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยก็สูงขึ้นอีกครั้ง
โดยในปี พ.ศ. 2523 อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสูงถึง 19.7%

จากวิกฤติน้ำมันโลกถึง 2 ครั้ง ทำให้รัฐบาลต้องก้าวเข้ามามีบทบาทในการสร้างเสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงานให้มากขึ้นกว่าในอดีต

ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลจึงจัดตั้ง “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ขึ้นมา เพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน และเพื่อเป็นกลไกในการชะลอความผันผวนจากภายนอก ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนน้อยที่สุด

รวมถึงรัฐบาลในยุคที่มี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ยกเลิกสัญญาที่เคยทำไว้กับ บริษัท ซัมมิท อินดัสเตรียล คอร์ปอเรชั่น (ปานามา) จำกัด

โดยก่อนหน้านี้บริษัท ซัมมิทฯ เคยได้สิทธิ์ในการนำเข้าน้ำมันดิบวันละ 65,000 บาร์เรลจากประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อมาผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป และจำหน่ายให้กับรัฐบาล

แต่ในตอนหลังบริษัท ซัมมิทฯ ผิดสัญญาไม่ส่งมอบน้ำมันตามที่ตกลงไว้
อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการเรียกเก็บค่าการกลั่นในอัตราที่สูงมาก

ปตท. จึงได้เข้ามารับหน้าที่จัดหาน้ำมันดิบ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันแทน
และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ก็มีการเปลี่ยนชื่อสถานีบริการน้ำมันจาก “สามทหาร” เป็น ปตท.

หลังจากนั้นปั๊มสามทหาร จึงค่อย ๆ เลือนหายไป และถูกแทนที่ด้วยสถานีบริการน้ำมัน ปตท. มาจนถึงทุกวันนี้
คงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่สวนคุณธรรมสมานสามัคคี จ.ลำพูน

ต่อมา การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก็ได้แปลงสภาพเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2544
โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จนในปัจจุบัน ปตท. มีมูลค่าบริษัท 985,000 ล้านบาท

จากวิกฤติน้ำมันในตลาดโลกที่เกิดขึ้น 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็ทำให้ ปตท. ถือกำเนิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน จนในวันนี้ประเทศไทยสามารถจัดหา ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมได้เพียงพอต่อความต้องการ