จ่ายบัตรเครดิต ตัดยอดตอนไหน

การใช้บัตรเครดิตแทนเงินสด หากเลือกใช้ได้อย่างถูกวิธี เราจะได้ประโยชน์ต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็น โปรโมชั่นแบ่งจ่าย 0% หรือสิทธิประโยชน์ส่วนลดต่าง ๆ ที่ติดมากับบัตรเครดิตใบนั้น หรือระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย หากชำระตามวันที่กำหนด แต่สำหรับใครที่ใช้บัตรเครดิต และชอบจ่ายขั้นต่ำ 10% ลองมาดูกันว่า การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำบ่อย ๆ จะมีผลอย่างไรกับเราบ้าง


ดอกเบี้ยเริ่มเดินตั้งแต่วันที่ใช้จ่าย

หลังจากการรูดบัตรเครดิตเพื่อใช้จ่ายแล้ว หากเราจ่ายบัตรเครดิตในจำนวนขั้นต่ำ จะถูกคิดดอกเบี้ย 2 ยอด ยอดแรกจะคิดจากยอดรูดบัตรนับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ครบกำหนดชำระ และยอดที่ 2 คือ การคิดดอกเบี้ยจากยอดคงเหลือหลังการจ่ายขั้นต่ำตั้งแต่วันที่เราจ่ายขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดบัญชีในเดือนถัดไป  ซึ่งหากเราจ่ายขั้นต่ำเป็นประจำ แน่นอนว่าดอกเบี้ยจะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งนี้ หลายคนยังมีความเข้าใจว่า ดอกเบี้ยจะถูกคิดตั้งแต่วันที่เริ่มจ่ายขั้นต่ำ แต่จริง ๆ แล้วดอกเบี้ยเริ่มเดินตั้งแต่วันที่เราใช้จ่ายเลย


ไม่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย

ตามปกติผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยให้ผู้ถือบัตรเครดิต ตั้งแต่วันแรกที่ใช้จ่ายจนถึงวันที่ครบกำหนดชำระเงิน ซึ่งหากเราวางแผนกันเงินไว้สำหรับจ่ายบัตรเครดิตให้เต็มจำนวน เราจะได้ประโยชน์จากระยะเวลาช่วงนี้ เป็นการใช้เครดิตแทนเงินสด ช่วยเพิ่มสภาพคล่องโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่หากครบกำหนดเราเลือกจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ สิทธิในการใช้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยจะหมดลงทันที และเราต้องจ่ายดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันแรกที่รูดใช้จ่าย ทำให้ดอกเบี้ยในรอบบัญชีนั้นเพิ่มมากขึ้น

ก่อนผ่อนสินค้าควรเลือกร้านที่ร่วมรายการผ่อน 0% และสอบถามระยะเวลาการผ่อนให้ดี ว่าสามารถผ่อนแบบไม่มีดอกเบี้ยได้สูงสุดกี่งวด
  • กำหนดวงเงินใช้บัตรเครดิตในแต่ละเดือนตามความสามารถในการชำระ และมีวินัยจ่ายให้เต็มจำนวนเรียกเก็บทุกครั้ง
  • อย่าใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินสดโดยไม่จำเป็น เพราะคิดค่าธรรมเนียม 3% ของยอดถอนทันที แม้จะไม่ได้ค้างชำระ
  •  


    รูปบน ของ desktop
    รูปล่าง ของ mobile

    จ่ายบัตรเครดิต ตัดยอดตอนไหน

    จ่ายบัตรเครดิต ตัดยอดตอนไหน

    ของสำคัญที่หลายคนรวมถึงพี่ทุยเองก็มีติดกระเป๋าตังค์คงไม่พ้น บัตรเครดิต ที่ช่วยให้เราจับจ่ายได้คล่องมือขึ้น เพราะมีฟังก์ชันดี ๆ อย่างผ่อน 0% ที่ช่วยให้เราได้ซื้อของได้ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่เก็บเงินไม่ทัน แต่จำเป็นต้องซื้อใช้ทันที แถมยังสามารถสะสมคะแนนแลกของหรือเงินคืนได้ด้วย เรียกว่าสะดวกสุด ๆ 

    แต่บัตรเครดิตก็มักพ่วงมาด้วยปัญหาหนี้และดอกเบี้ยที่สูงลิ่วถึง 15-18% ต่อปี หากเรารูดใช้จ่ายเกินตัว บัตรเครดิตจึงกลายเป็นตัวร้ายในหลาย ๆ ครั้ง วันนี้พี่ทุยเลยอยากแนะนำ 10 เทคนิคดี ๆ ให้ทุกคนใช้บัตรเครดิตได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเจอดอกเบี้ยให้กังวลใจ

    เทคนิคที่ 1 รู้ระยะปลอดดอกเบี้ย

    ก่อนอื่นทุกคนต้องรู้จักบัตรเครดิตที่ตัวเองถือ ว่าใบไหนมีเงื่อนไขยังไง โดยเฉพาะวันที่ตัดรอบบิลหรือสรุปยอด กำหนดครบชำระ ระยะเวลาสูงสุดในการผ่อน 0% อัตราดอกเบี้ยที่คิดหากต้องการผ่อน รวมถึงค่าธรรมเนียมในการค้างชำระ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราคำนวณการใช้จ่าย โดยไม่โดนคิดดอกเบี้ยได้ ซึ่งระยะปลอดดอกเบี้ยจะเริ่มต้นหลังสรุปยอดและสิ้นสุดลงเมื่อถึงวันครบกำหนดชำระ

    ยกตัวอย่าง บัตรเครดิตที่พี่ทุยถืออยู่ตัดรอบบิลทุกวันที่ 26 ของเดือน จากนั้นยอดค่าใช้จ่ายของพี่ทุยจะถูกเรียกให้ชำระก่อนวันที่ 15 หรือ 16 ของเดือนถัดไป เท่ากับพี่ทุยมีเวลาประมาณ 20 วันในการหาเงินมาจ่ายบิลบัตรเครดิตที่รูดไปในรอบนี้

    แต่ถ้าพี่ทุยรูดซื้อของในวันที่ 27 เมษายน ซึ่งเป็นวันหลังตัดรอบบิลพอดี รายการนี้จะถูกนำไปสรุปยอดในรอบบิลที่ออกวันที่ 26 พฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนถัดไป ก่อนจะครบกำหนดชำระในอีก 20 วัน คือ 15 มิถุนายน เท่ากับว่าพี่ทุยจะมีเวลาหาเงินมาจ่ายอย่างน้อย 30-50 วัน โดยไม่โดนคิดดอกเบี้ยนั่นเอง 

    เท่าที่พี่ทุยสังเกตมา ผู้ให้บริการบางรายก็มีระยะปลอดดอกเบี้ยมากกว่านั้น โดยเฉลี่ยจะไม่เกิน 55 วัน แต่ทางที่ดีควรจ่ายตั้งแต่เห็นบิลเรียกเก็บจะดีกว่า เพราะถ้าลืมแล้วเผลอจ่ายเลยกำหนดอันนี้เจอดอกเบี้ยเต็ม ๆ 

    เทคนิคที่ 2 มองหาร้านที่ดีล 0% 

    จุดเด่นของการใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้า คือ สามารถผ่อนชำระแบบไม่มีดอกเบี้ยได้ แต่โปรโมชั่นผ่อน 0% ของบัตรแต่ละใบ หรือร้านค้าที่เข้าร่วมรายการก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นนอกจากป้ายโฆษณาแล้ว เราก็ต้องเข้าไปถามรายละเอียดจากพนักงาน หรือ เช็กในแอปพลิเคชันของบัตรที่เราถือด้วยว่ามีดีลกับร้านไหนบ้าง

    แต่ก็อย่าลืมสังเกตด้วย ว่าผ่อน 0% ได้นานเท่าไหร่ เพราะหลายครั้งที่เรามักเจอโฆษณาว่าผ่อนได้สูงสุด 36 เดือน แต่บัตรที่เราถืออาจจะจำกัดเงื่อนไขแบรนด์ ประเภท หรือราคาของสินค้า ทำให้สินค้าที่เราซื้อ ได้โปรโมชันระยะเวลาผ่อนน้อยกว่าที่โฆษณาไว้ฃ

    เช่น ผ่อน 0% ได้แค่ 12 เดือน ทำให้ต้องเพิ่มงวดผ่อนชำระในแต่ละเดือน ซึ่งอาจจะเกินกว่าความสามารถในการผ่อนชำระของเรา แต่เราผ่อนไม่ไหวก็เจอกับดอกเบี้ยสุดโหด ดังนั้นก่อนจะผ่อนอะไรต้องสอบถามให้แน่ใจก่อน จะได้วางแผนการเงินถูก

    เทคนิคที่ 3 โปรแกรมแบ่งชำระรายเดือน

    ปกติแล้ว ต่อให้สินค้าหรือร้านค้าที่เราซื้อไม่ได้เข้าร่วมโปรโมชั่นผ่อน 0% ก็สามารถผ่อนชำระได้ โดยอาจจะต้องเสียดอกเบี้ยกันสักเล็กน้อยประมาณ 0.6-0.8% ต่อเดือน

    เช่น พี่ทุยซื้อของ 10,000 บาท ขอแบ่งชำระ 10 เดือน ซึ่งบัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน เท่ากับว่าพี่ทุยต้องชำระค่าสินค้า 10,000 / 10 = 1,000 บาทต่อเดือน และต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก 10,000 x 0.75% = 75 บาทต่อเดือน

    ดังนั้น ยอดผ่อนต่องวดคือ 1,075 บาท โดยจ่ายดอกเบี้ย 750 บาท หรือเดือนละ 75 บาทจนกว่าจะผ่อนหมด แต่ถ้าพี่ทุยผ่อนสั้นแค่ 3 เดือน ก็จ่ายดอกเบี้ย 225 บาท

    แต่บัตรเครดิตบางรายก็พอจะอนุโลมให้แบ่งชำระเองได้แบบ 0% ในระยะเวลาสั้น ๆ ตามที่กำหนด แต่เราจะต้องรวมรายการให้มียอดค่าใช้จ่ายถึงขั้นต่ำที่กำหนด เพื่อใช้สิทธิ์ผ่อนแบบไม่มีดอกเบี้ย เช่น แบ่งผ่อนชำระ 0% ได้ 3 เดือน เมื่อมียอดรายการรวม 3,000 บาทขึ้นไป

    ต่อให้เราซื้อของที่ไม่ได้ซื้อของชิ้นใหญ่ที่มีราคาแพงก็สามารถผ่อนได้แล้ว แต่จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่หรือเข้าไปจัดการในแอปพลิเคชันของบัตรเครดิตก่อนสรุปยอดบิล และพี่ทุยแนะนำให้ใช้ฟังก์ชันนี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะไม่อยากให้ใช้เงินเกินความสามารถ เดี๋ยวจะทับถมกับเดือนต่อ ๆ ไปจนกลายเป็นหนี้ก้อนโตได้

    เทคนิคที่ 4 ตั้งสติก่อนผูก “บัตรเครดิต” กับแอป

    ต้องบอกว่าเดี๋ยวนี้คนที่ชอบช้อปปิ้งออนไลน์ จองโรงแรม หรือแม้แต่ดูหนังรายเดือนก็ผูกบัตรเครดิตไว้กับแอปพลิเคชันเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะสะดวกไม่ต้องกรอกข้อมูลบัตรทุกครั้ง และจ่ายได้ไว แต่ความรวดเร็วของการหักผ่านบัตรเครดิตแบบนี้ทำให้เราไม่เห็นยอดรวมที่เราใช้จ่ายเท่าไหร่ แถมบางครั้งถ้าหักอัตโนมัติ อย่างพวกบริการที่ต้องต่ออายุรายเดือน เกิดวันไหนอยากยกเลิกบริการแต่ดันจำวันที่หักชำระไม่ได้ ก็ต้องเสียเวลาดำเนินเรื่องขอคืนเงิน หรือบางครั้งก็ต้องเสียเงินเปล่า ๆ อีก

    ดังนั้นก่อนจะผูกบัตรเครดิตกับแอปฯ หรือเว็บไซต์ไหนก็ให้ตั้งสติ แล้วคิดดี ๆ ก่อนกดชำระว่าสามารถจ่ายไหวมั้ย และจำวันครบกำหนดชำระให้ได้ด้วย เผื่อวันไหนอยากยกเลิกบริการจะได้โดนหักเงิน ที่สำคัญอย่าลืมตั้งรหัสผ่านก่อนเข้าแอปฯ และระวังทำโทรศัพท์หาย ไม่อย่างนั้นเราจะต้องมารับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้ก่อจนกลายเป็นหนี้ก้อนโตได้

    เทคนิคที่ 5 กำหนดวงเงิน

    นอกจากต้องรู้วันสรุปยอดบิลแล้ว อย่าลืมประเมินความสามารถและกำหนดวงเงินที่สามารถชำระได้ในแต่ละเดือน เช่น พี่ทุยมีเงินเดือน 20,000 บาท คำนวณแล้วว่าสามารถจ่ายได้ไม่เกิน 20% หรือ 4,000 บาทต่อเดือน เราก็ต้องมีวินัยและคำนวณทุกยอดค่าใช้จ่าย ทั้งเก็บใบเสร็จและหักอัตโนมัติผ่านแอปฯ ว่าถึงลิมิตของเราหรือยัง ก่อนที่จะต้องเกินความสามารถจนต้องรับภาระผ่อน 

    ส่วนใครที่หวังพึ่งโปรแกรมแบ่งชำระที่ดอกเบี้ยถูกกว่า พี่ทุยขอย้ำอีกครั้งว่าจะต้องรู้ตัวและจัดการขอสิทธิ์ผ่อนก่อนสรุปยอดเท่านั้น ถ้าเลยวันตัดรอบบิลมาแล้วยังไงก็ต้องจ่ายตามที่บิลแจ้งมาแล้วรับภาระดอกเบี้ยไปเต็ม ๆ ดังนั้นก่อนจะใช้เกินวงเงินก็ท่องไว้ให้ดีว่าดอกเบี้ย 18% เลยเชียวนะ

    เทคนิคที่ 6 รูดเท่าไหร่ โอนเท่านั้น

    อีกวิธีที่พี่ทุยว่าปลอดภัยที่สุด คือ การสร้างวินัยทุกครั้งที่รูดบัตรเครดิตด้วยการมีบัญชีออมทรัพย์ที่ไม่มีบัตร ATM สำหรับชำระค่าบัตรเครดิตโดยเฉพาะ เช่น วันนี้พี่ทุยใช้จ่าย 3,000 บาท ก็ให้โอนเงินเข้าบัญชีนั้น 3,000 บาท

    วิธีนี้จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยเตือนสติและช่วยวางแผนการเงิน ว่าเราใช้จ่ายในเดือนนี้ไปแล้วเท่าไหร่ มีเงินเหลือติดตัวอยู่เท่าไหร่ ที่สำคัญคือไม่ต้องมาเครียด ว่าสิ้นเดือนนี้จะมีเงินจ่ายบิลค่า “บัตรเครดิต” หรือไม่ เพราะเราแบ่งเงินไว้เรียบร้อยแล้ว แต่กฎเหล็กคือต้องห้ามยุ่งกับเงินในบัญชีนั้นเด็ดขาด

     เทคนิคที่ 7 จ่ายบิลเต็มจำนวน 

    แม้แต่ละรอบบิลจะอนุโลมให้เราจ่ายขั้นต่ำได้ เช่น จ่าย 10% ของยอดเรียกเก็บรวม แต่พี่ทุยว่าทางที่ดีเราควรจ่ายเต็มตามยอดใช้จ่ายจริงไว้ก่อน เพราะถ้าแบ่งจ่ายเราอาจจะลืมว่ายังจ่ายไม่ครบแล้วโดนคิดดอกเบี้ยเปล่า ๆ แต่ใครประสบปัญหาไม่สามารถจ่ายครั้งเดียวได้ ให้นึกถึงระยะปลอดดอกเบี้ยประมาณ 20 วันหลังสรุปยอด ที่พี่ทุยบอกไว้ตอนแรก แล้วค่อย ๆ ทยอยจ่ายไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบ

    หรือถ้าไม่ทันจริง ๆ ก็เหลือให้น้อยที่สุดก่อนจะโดนคิดดอกเบี้ยก็ยังดี แล้วเดือนหน้าก็อย่าลืมวางแผนการเงินและมีวินัยในการใช้บัตรเครดิตกันใหม่ด้วยล่ะ

    เทคนิคที่ 8 รูดบัตรให้ถูกใบ

    พี่ทุยเชื่อว่า หลายคนพอเริ่มมี “บัตรเครดิต” ใบแรกแล้ว ก็มีใบที่ 2-3 ตามมา เพราะต้องการฟังก์ชันและโปรโมชั่นที่ต่างกัน ดังนั้นเราควรกำหนดว่าแต่ละใบใช้ในสถานการณ์ไหนและตัดรอบบิลเมื่อไหร่ เช่น

    • พี่ทุยมีบัตร A ที่มีโปรผ่อน 0% นาน 10-36 เดือน สำหรับผ่อนสินค้าชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะโทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเฟอร์นิเจอร์
    • ส่วนบัตร B เหมาะกับใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไป อย่างจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ไปจนถึงช้อปปิ้งต่าง ๆ

    เพราะถ้าเผลอใช้บัตร B ซื้อเครื่องซักผ้าล่ะก็สิ้นเดือนมาพี่ทุยจะโดนเรียกเก็บเต็มจำนวน ซึ่งหากแบกรับไม่ไหวก็ต้องยอมทยอยจ่ายแล้วเสียดอกเบี้ยแต่ละเดือนไปเปล่า ๆ

    ที่สำคัญอย่าลืมวันสรุปยอดของบัตรแต่ละใบ กรณีจำเป็นต้องซื้อของตอนนี้ แต่ยังมีเงินไม่พอจ่าย ให้ใช้บัตรเครดิตที่เพิ่งตัดรอบบิลไป เพื่อที่จะได้มีเวลาหาเงินจ่ายทันกำหนดชำระโดยไม่มีดอกเบี้ย

    เทคนิคที่ 9 อย่าใช้ “บัตรเครดิต” กดเงินสด

    ถึงบัตรเครดิตจะไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถปรากฏเป็นตัวเงินเหมือนบัตรกดเงินสด แต่ก็มีฟังก์ชันเบิกถอนเงินสดจากตู้ ATM ของผู้ให้บริการในกรณีที่จำเป็นต้องใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ซึ่งแน่นอนว่าทุกครั้งที่กดเราจะโดนค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสดประมาณ 3% ของยอดถอน เรียกว่ายังไม่ทันค้างชำระก็โดนเก็บเงินซะแล้ว แถมยิ่งกดมากก็ยิ่งเสียค่าธรรมเนียมมาก

    เช่น ถ้าพี่ทุยใช้บัตรเครดิตไปกดเงิดสดออกมา 1,000 บาท ตอนสิ้นเดือนพี่ทุยต้องจ่ายคืน 1,030 บาท ถ้ากด 3,000 บาท ก็ต้องจ่ายคืน 3,090 บาท ซึ่งสูงมากทีเดียวต่อให้พี่ทุยจ่ายคืนในรอบบิลนั้นก็ตาม และถ้าค้างชำระหรือต้องผ่อนก็โดนคิดดอกเบี้ยซ้ำอีก ถ้าไม่จำเป็นอย่ากดเด็ดขาด เตือนแล้วนะ!

    เทคนิคที่ 10 ห้ามโปะด้วย “บัตรเครดิต” ใบอื่น 

    ข้อควรระวังอย่างที่สุดเมื่อพลาดเป็นหนี้บัตรเครดิต คืออย่าคิดใช้บัตรอีกใบโปะหนี้เด็ดขาด ! เพราะบางคนเห็นโอกาสจ่ายบิลด้วยบัตรอีกใบ หรือหนักกว่านั้นคือกดเงินสดจากบัตร B เพื่อไปจ่ายหนี้บัตร A แม้เราจะเคลียร์นี้บัตรใบแรกได้ แต่อย่าลืมว่ายิ่งทำแบบนี้ดอกเบี้ยยิ่งบาน เพราะสุดท้ายก็ยังเป็นหนี้ก้อนเดิมที่เกินความสามารถในการผ่อนของเราอยู่ดี

    ถ้ามาถึงขั้นนี้พี่ทุยว่าเราควรยอมรับสภาพ แล้วติดต่อไปเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อหาทางออกร่วมกัน แล้วต้องจำไว้ด้วยว่าระหว่างนี้ต้องมีวินัยให้มากและอย่าสร้างหนี้อีก ไม่อย่างนั้นเราจะหาทางออกไม่ได้จนกลายเป็นคนล้มละลาย

    เทคนิคที่พี่ทุยแชร์มาทั้งหมดไม่ได้ต้องการให้มองบัตรเครดิตในแง่ร้าย แค่อยากให้ใช้อย่างฉลาด หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียม หรือ ดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ วินัยทางการเงินของแต่ละคน ใช้บัตรเครดิตผ่อนสินค้าได้ เพราะจะได้ลดความเสี่ยงจากการใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ในครั้งเดียว

    แต่ห้ามประมาทจนจ่ายเกินตัว คำนึงถึงความจำเป็นก่อนใช้จ่ายทุกครั้ง และพยายามเคลียร์ค่าใช้จ่ายต่อรอบบิลให้หมด เท่านี้ทุกคนก็จะได้ใช้ประโยชน์จากบัตรเครดิตเต็ม ๆ แบบไม่มีหนี้ ไม่เสียดอกกันแล้ว..