อัตราเงินสำรองตามกฎหมายคืออะไร

ผู้ดูแลเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่ง นอกจากรัฐบาลแล้วยังมีธนาคารกลาง(แบงก์ชาติ) ของประเทศนั้นๆ อีกด้วย ฉะนั้นแล้วเราจะได้ยิน "นโยบายการคลัง" รัฐบาลเป็นผู้ควบคุม หรือ "นโยบายการเงิน" ธนาคารกลางเป็นผู้ควบคุมจากในข่าวบ่อยๆ ซึ่งวันนี้จะมาพูดถึง นโยบายการเงินกันครับ

นโยบายการเงิน คือ มาตรการทางการเงินชนิดหนึ่งที่ธนาคารกลาง(แบงก์ชาติ) เป็นผู้ควบคุมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น หากเศรษฐกิจภายในประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืดนั้น ธนาคารกลางจะประกาศนโยบายทางการเงินออกมา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เงินฝืดหรือเงินเฟ้อมากเกินไป โดยนโยบายการเงินหลักๆแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

  1. นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
  2. นโยบายการเงินแบบเข้มงวด

โดยทั้ง 2 นโยบายต่างใช้ในเวลาที่ต่างกัน ยกตัวอย่างในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ธนาคารกลางจะใช้ "นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย" เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในประเทศไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืด หรือกล่าวคือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่าง การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย 

  1. การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เปรียบเสมือนการลดดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยอ้างอิงปรับตัวลดลงอาจนำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากด้วยเช่นกัน ฉะนั้นหากเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง จะส่งผลให้สนับสนุนภาคการลงทุนมากขึ้น เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการจ้างงานมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ผู้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น 
  2. การซื้อพันธบัตรจากภาคเอกชนหรือรัฐบาล เมื่อปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีการหมุนเวียนน้อยจนเกินไปหรือเกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตและการบริโภคลดลง ฉะนั้นธนาคารกลางจะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยการนำเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น ผ่านการซื้อพันธบัตรจากภาคเอกชนหรือรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เอกชนหรือรัฐบาลได้รับเงินจากการขายพันธบัตรให้กับธนาคารกลาง ทำให้เอกชนหรือรัฐบาลสามารถนำเงินมาใช้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการได้ และจะส่งผลให้เกิดการสนับสนุนการลงทุนและบริโภคตามลำดับ
  3. การปรับลดอัตราเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ เมื่อธนาคารพาณิชย์ได้รับเงินฝากจากประชาชนเข้ามา ธนาคารพาณิชย์ต้องสำรองเงินส่วนหนึ่งไว้ตามกฎหมาย ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะนำไปปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป ตัวอย่างเช่น หากอัตราเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 10% หมายความว่า ทุกๆ การฝากเงิน 100 บาท ธนาคารพาณิชย์จะต้องเก็บสำรองไว้ 10 บาท ในขณะที่อีก 90 บาท ธนาคารสามารถนำไปปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ ฉะนั้น หากมีการประกาศลดอัตราเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ จะทำให้มีปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

กลับกันหากประเทศกำลังเติบโตอย่างร้อนแรง ธนาคารกลางจะใช้ "นโยบายการเงินแบบเข้มงวด" ซึ่งการดำเนินการจะตรงข้ามกับตัวอย่างด้านบน ตัวอย่างเช่น ปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย, ขายพันธบัตรเพื่อดึงออกจากระบบเศรษฐกิจ หรือเพิ่มอัตราเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

จากตัวอย่างดังกล่าว เป็นเพียงเครื่องมือส่วนหนึ่งที่ธนาคารกลางสามารถควบคุมได้ อีกทั้งยังมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารกลางสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ ขึ้นอยู่กับประเทศนั้นใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบใด ซึ่งการใช้นโยบายเหล่านี้ใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อมากเกินไป จะเห็นได้ว่า นโยบายการเงิน เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางต้องพิจารณาการใช้นโยบายให้ดี เพราะจะกระทบเศรษฐกิจออกเป็นวงกว้าง