รูป แบบ การท่องเที่ยว ท ทท

“ผู้ว่าฯ ททท.” เผยเร่งขับเคลื่อน BCG Model สร้างการท่องเที่ยวมูลค่าสูง เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับบน เจาะ Niche Market ทั้งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กีฬา วัฒนธรรม เชิงนิเวศ และจิตวิญญาณ มุ่งบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ตั้งเป้าต้องติดอันดับ Top 3 ของเอเชียแปซิฟิก มั่นใจปี 64 รายได้ท่องเที่ยวแตะ 1.2 ล้านล้าน และทะยานถึง 2.5 ล้านล้าน ในปี 65

ด้วยแนวคิดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีนโยบายให้การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “บีซีจี โมเดล” (BCG Model) เป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้แผนระยะยาว 6 ปี (พ.ศ.2564-2569) อันประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยมีการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งผลให้รูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยเปลี่ยนโฉมไปและมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

รูป แบบ การท่องเที่ยว ท ทท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงทิศทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้ BCG Model ว่า จากนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่โลก ด้วยแนวคิด Bio-Circular-Green Economy : BCG และ Sustainable Development Goal : SDGs ปรับเปลี่ยนแนวคิด “ทำมาก ได้น้อย” (More for Less) เป็น “ทำน้อย ได้มาก” (Less for More) ซึ่งจะเป็นเข็มทิศให้ ททท.มุ่งมั่นพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ นำการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง (High value Tourism) อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และการจัดการอุปทานส่วนเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) สูง การใช้ทรัพยากรจึงคำนึงถึงความคุ้มค่า รวมทั้งก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ครบถ้วนมากขึ้น จึงต้องพัฒนาและนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีที่สร้างโลกเสมือนจริงมาใช้เพื่อศึกษาแหล่งท่องเที่ยวเบื้องต้น และการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว


“ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ททท. ได้วางรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและบริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับบน ด้วยภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก เพิ่มขีดความสามารถและปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพการบริการ ด้วยการนำความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิม สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวบนพื้นฐาน พร้อมทั้งรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผลักดันการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน” นายยุทธศักดิ์ ระบุ

ผู้ว่าฯ ททท. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ททท. จะผลักดันแนวทางในการส่งเสริมเมืองรองและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างการกระจายรายได้สู่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยนำเสนอ Local Experience เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจมาสัมผัสประสบการณ์จากพื้นที่โดยตรง ชูจุดเด่นโดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่และส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ในแง่มุมที่ต่างกันไป ต่อยอดความเข้มแข็งไปพร้อมๆ กับการรักษาธรรมชาติที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ลดของเสียให้มากที่สุด (Zero Waste) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


อีกทั้งจะมีการปรับภาพลักษณ์และยกระดับแบรนด์การท่องเที่ยวไทย กระตุ้นการใช้จ่ายและขยายฐานตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังใช้จ่ายสูงและกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ โดยมุ่งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอุตสาหกรรมบริการที่มีคุณภาพสูง ได้แก่

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) ที่นำบริการด้านสุขภาพมาผสมผสานกับการท่องเที่ยว เช่น การนวดสมุนไพร การฝึกโยคะ การบริการสุวคนธบำบัด วารีบำบัด การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ การรักษาโรคต่างๆ บริการทันตกรรม การผ่าตัดเสริมความงาม ตลอดจนการผ่าตัดแปลงเพศ

การท่องเที่ยวเชิงกีฬา เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชอบการออกกำลังกาย เช่น ปีนหน้าผา พร้อมทั้งเปิดมิติใหม่ด้วยการท่องเที่ยวเพื่อเล่นกีฬา เช่น การวิ่งมาราธอน การแข่งขันไตรกีฬา ตลอดจนการเข้าชมการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการท่องเที่ยวในพื้นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ มีประสบการณ์ร่วมและประทับใจในคุณค่าของวัฒนธรรม นำไปสู่ความรู้สึกผูกพันระหว่างนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส เรียนรู้ ชื่นชม และเข้าใจผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อระบบนิเวศ

การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ เป็นการเดินทางท่องเที่ยวตามศาสนสถานเพื่อตอบสนองด้านจิตวิญญาณและความศรัทธา รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พานักท่องเที่ยวไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้าร่วมประเพณีวัฒนธรรมทางศาสนา เช่น เทศกาลกินเจ งานบุญบั้งไฟพญานาค งานแห่เทียนพรรษา


โดย นายยุทธศักดิ์ มั่นใจว่า การดำเนินงานภายใต้ BCG Model และยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวจะมีส่วนผลักดันให้เกิดรายได้ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ และมีความพร้อมทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม (responsible tourist) และเต็มใจใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสะท้อนภูมิปัญญาไทย ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และผ่านกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เป้าหมายหลัก (Goal) ของ ททท.ในปีนี้ คือ การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้ติดอันดับ Top 3 ของเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางตามนโยบายระดับประเทศ กรอบ ทิศทาง และแนวทางการดำเนินงานของ ททท. จึงได้น้อมนำหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ในการพัฒนาประเทศชาติอย่างมั่นคง เร่งสร้างรายได้ให้ประชาชนมีความมั่งคั่ง และรักษาสมดุลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

“ ททท. ตั้งเป้าหมายว่า ปี 2564 ไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมประมาณ 1,200,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 400,000 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 800,000 ล้านบาท ส่วนปี 2565 คาดว่ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 2,500,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,300,000 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวในประเทศ 1,200,000 ล้านบาท” ผู้ว่าฯ ททท. ระบุ

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงนั้น ผู้ว่าฯ ททท. ชี้แจงว่า จากที่รัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติเข้ามาพำนักในประเทศไทย ประเภท Special Arrangement ซึ่งได้แก่ สมาชิก Thailand Elite Card นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa : STV) และคนต่างชาติที่มีวีซ่าท่องเที่ยว (TR) ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยบ้างแล้ว โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563-15 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยแล้วประมาณ 13,000 คน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ร่วมกับภาคเอกชนในจัดแพกเกจท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และจะมีอีกหลายมาตรการตามมา จึงเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานการท่องเที่ยวของไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ


 

โดย ผู้จัดการออนไลน์  |  https://mgronline.com/specialscoop/detail/9640000018246