วิเคราะห์ธุรกิจโรงพยาบาล 2564

ตามที่มัดจำไว้ว่าผมจะมาเล่าสู่กันฟังต่อ เรื่องการปรับตัวของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นตอนต่อของบทความก่อนหน้านี้ “โทรเวช” หลายท่านคงได้อ่านไปแล้วโดยเฉพาะแฟนพันธุ์แท้ของผม

จากรายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนของธนาคารกรุงศรี ระบุว่าในปี 2563 ประเทศไทยมีสถานพยาบาล 38,512 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐ (เช่น สถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขชุมชนอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป) จำนวน 13,364 แห่ง คิดเป็น 34.7%

สถานพยาบาลเอกชน (เช่น โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน) จำนวน 25,148 แห่งคิดเป็น 65.3% แม้ว่าจำนวนสถานพยาบาลของรัฐจะมีจำนวนมากก็ยังไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยโดยเฉพาะบางท้องที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการบริการที่ทั่วถึงและรอนาน

ปัจจัยนี้เป็นโอกาสทางการตลาดของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นให้บริการที่ทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ส่งผลให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อนิยมใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนแม้ว่าราคาจะแพงกว่าก็ตาม

ถ้าจะนับเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ในปี 2563 ประเทศไทยมีโรงพยาบาลเอกชน 370 แห่ง เป็นโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 116 แห่ง และต่างจังหวัด 254 แห่ง รวมจำนวนเตียงผู้ป่วย 3.6 หมื่นเตียง

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างประเทศที่นิยมเดินทางมารักษาพยาบาลในประเทศไทย โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านและนักท่องเที่ยวแนวสุขภาพ

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนโดยภาพรวมมีความมั่นคง ความเสี่ยงต่ำและกำไรดีเพราะสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นและอ่อนไหวน้อยต่อความผันผวนของเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายไปยังผู้บริโภคได้ง่ายแบบเนียน ๆ

รัฐบาลไทยประกาศใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 ที่เราเรียกกันติดปากว่า

“ 30 บาทรักษาทุกโรค” หากจะว่ากันถึงรายละเอียดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขผ่าน 3 กองทุนหลัก ได้แก่ (1) กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (2) กองทุนประกันสังคม (3) กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

แม้ว่าระบบประกันสุขภาพแบบฟรี (อย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านอิจฉาและแอบมาใช้บริการกันเยอะมาก) ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วยชาวไทย หรือหลายรายต้องการจ่ายเงินซื้อความสะดวกสบายจากโรงพยาบาลเอกชน

รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งนับว่าเป็นพลังผลักดันให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโต

นอกจากนี้ ภาครัฐยังออกมาตรการสนับสนุนต่อเนื่องเพื่อเร่งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (ปี 2560-2569) โดยเฉพาะบริการเสริมความงาม เวชศาสตร์ชะลอวัย ศัลยกรรม

ทันตกรรมและการรักษาผู้มีบุตรยาก มาตรการเหล่านี้ เช่น ขยายเวลาพำนักในประเทศไทยเพื่อการรักษาพยาบาลของกลุ่มประเทศ CLMV และจีนจากเดิม 30 วันเป็น 90 วัน เป็นต้น

ที่ผ่านมาธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลกระทบบ้างตามสภาพเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังเติบโตต่อเนื่อง 7-10% ทุกปี โดยรายได้หลักมาจากค่ายารักษาโรคสูงถึง 35.2% รายได้จากบริการทางการแพทย์ 20.0% รายได้จากการวิเคราะห์ผลจากห้องปฏิบัติการและเอกซเรย์ 13.7% รายได้จากห้องพักผู้ป่วย 8.5% และอื่น ๆ 22.6%

เราจึงเห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ผลิตยาเองบ้าง รวมทั้งมีร้านขายยาในเครือข่ายเอง และระยะหลังหลายโรงพยาบาลเอกชนให้ความสนใจทำธุรกิจเครื่องดื่มออกมาจำหน่าย เช่น น้ำผสมวิตามินต่าง ๆ เป็นต้น

แนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

แม้ว่าในปี 2563 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะหดตัวประมาณ 10% ตามสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงเนื่องจากการระบาดของ Covid-19 และการการปิด/หยุดกิจการหลายประเภทเพื่อควบคุมการระบาดของ Covid-19 และเมื่อการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้นและการเปิดกิจการเปิดประเทศก็ช่วยให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเริ่มดีขึ้นตามลำดับ แต่สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่มุ่งเน้นผู้ป่วยต่างประเทศอาจจะยังคงฟื้นตัวช้ากว่าเนื่องจากมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่สามารถเดินทางมารักษาพยาบาลในประเทศไทยได้เท่านั้น

ปัจจัยหนุนให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโต

  1. การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในปี 2564 ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 0%

ของประชากรทั้งหมดและจะเพิ่มเป็น 32% ในปี 2583 ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ TDRI ประเมินว่าในปี 2575 สำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มมากกว่า 3 เท่าของค่าใช้จ่ายปกติ โดยมีโรคยอดนิยม (แม้ไม่อยากป่วย) ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคเรื้อรังของระบบการหายใจ

  1. การเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคชนชั้นกลางซึ่งหมายถึงกำลังซื้อที่มากขึ้น จากการประเมินพบว่าในปี 2563 ชนชั้นกลางมีประมาณ 40% ของประชากรทั้งหมด
  1. การขยายตัวของชุมชนเมืองและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ทำให้ความต้องการ

การรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาลงทุนในเขตเมืองใหม่ที่รัฐลงทุนสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

  1. ปริมาณที่เพิ่มขึ้นของโรคเฝ้าระวังและโรคอุบัติซ้ำรวมทั้งโรคอุบัติใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในปี 2563 มีผู้ป่วยโรคเฝ้าระวัง เช่น โรคไข้เลือดออกประมาณ 1.4 แสนราย สภากาชาดไทยระบุว่าปัจจุบันมีเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้มากกว่า 5 แสนชนิดที่อาจพัฒนาเป็นเชื้อโรคติดต่อในคนได้

  1. อัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อร้ายแรงสูงขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด

สมอง โรคปอดปวม โรคหัวใจ โรคเบาหวาน กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเหล่านี้ประมาณ 4 แสนรายต่อปี รวมทั้งมีโรคที่เพิ่มความสำคัญมากขึ้น คือโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นชินโดรม ที่เป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดต่อกันเป็นเวลานาน โรคเหล่านี้เป็นตัวเร่งความต้องการทางการแพทย์และรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น

การปรับตัวของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

การสร้าง/ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ด้วยการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น

  1. การขยายพื้นที่ให้บริการหรือเปิดสาขาใหม่เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
  2. การเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลอื่นเพื่อขยายตัวรองรับกลุ่มตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ
  3. การเสริมจุดแข็ง/จุดเด่นการให้บริการทางการแพทย์ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยมาให้บริการ เพื่อดึงดูดลูกค้าที่มีกำลังซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
  4. การขยายธุรกิจที่ไม่ใช่โรงพยาบาลทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ เช่น โรงงานผลิตยา อาหารเสริม

ศูนย์ดูแลสุขภาพ ศูนย์ความงาม เครื่องดื่มสุขภาพที่ช่วยสร้างรายได้ต่อเนื่องหลายทาง

  1. การสร้างพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจอื่น ทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกันชีวิต โรงแรม เช่น เครือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นพันธมิตรกับเครือมั่นคงเคหะการ บริษัทไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนลร่วมลงทุนเปิดสถานพยาบาลด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและการดูแลเชิงป้องกัน เป็นต้น
  2. การพัฒนาแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช เพื่อให้บริการที่กว้างไกลขึ้นของลูกค้ากลุ่มใหม่โดยเฉพาะลูกค้าต่างประเทศที่บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศตนเองไม่เพียงพอและลูกค้าในประเทศเหล่านี้ชื่นชมประเทศไทยและการแพทย์ของไทย เช่น ประเทศรัสเซียและประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นต้น

ดู ๆ แล้วโอกาสมีมากกว่าอุปสรรคและธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังมีแนวโน้มดี ทั้งในด้านการเติบโต

และผลกำไร อย่างไรก็ตาม ก็มีประเด็นท้าทายที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนควรพิจารณา ได้แก่

  1. กฏระเบียบและการควบคุมจากภาครัฐ เช่น การนำยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการเข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม ทำให้มีข้อจำกัดในการปรับราคาตามที่ต้องการ
  2. การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งจากผู้ประกอบการเดิมในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและจากกลุ่มธุรกิจใหม่ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจสื่อสาร
  3. การแข่งขันจากธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์เร่งพัฒนาศูนย์ทางการแพทย์ทั้งในประเทศตนเองและในประเทศ CLMV มาเลเซียมีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่เพื่อบริการลูกค้าอินโดนีเซียและลูกค้ามุสลิมจากต่างประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของกลุ่มผู้ป่วย รัสเซีย จีนและประเทศอาหรับ จีนพัฒนามณฑลไห่หนานให้เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อดึงดูดชาวจีนที่นิยมเดินทางไปรักษาตัวในต่างประเทศกลับมาใช้บริการในประเทศจีน
  4. กระแส Digital Transformation และ Technology Disruption โดยเฉพาะช่วงการระบาดของ Covid-19 และหลังการระบาด ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เน้นความสะอาด ปลอดภัย สะดวก และเว้นระยะห่างมากขึ้น

โดยภาพรวม ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ขนาดใหญ่คงปรับตัวและพัฒนาเพื่อรับการแข่งขันได้ไม่ยาก

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะโรงพยาบาลเดี่ยวมีแนวโน้มที่จะแข่งขันลำบากทั้งขาดแคลนเงินทุนและเทคโนโลยีในการพัฒนาเพื่อการแข่งขัน อาจจะถูกควบรวมจากธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ หรือจากกลุ่มธุรกิจอื่น ทางรอดคือต้องปรับตัวเองให้เป็นโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ลูกค้ากลุ่มประกันสังคม เป็นต้น

แต่ที่ผมคิดว่าน่าเป็นห่วงที่สุดคือคลินิกเอกชนขนาดเล็ก ที่มีข้อจำกัดในหลายด้าน และการแข่งขันจากโครงการของภาครัฐ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ลูกค้าหันไปใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น หรือการแข่งขันจากเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่ขยายตัวมาสู่กลุ่มลูกค้าฐานราก ด้วยการเปิด คลินิกชุมชน คลินิกเฉพาะทาง คลินิกขนาดเล็ก บริการโทรเวช รวมทั้งการแข่งขันจากบริการทดแทนอื่น ๆ เช่น แพทย์ทางเลือก การซื้อยาเองตามคำแนะนำของแพทย์ทางไกลทั้งยาแผนโบราณและแผนปัจจุบัน

เทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วอาจทำให้คลินิกเอกชนเล็ก ๆล้มหายตายจากไปเหมือนร้านขายของชำที่ถึงกาลอวสานไปเรื่อย ๆ จากการเข้ามาของร้านสะดวกซื้อและธุรกิจส่งสินค้าผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ