ธุรกิจ กับ ความ รับผิดชอบ ต่อ สังคม

ธุรกิจ กับ ความ รับผิดชอบ ต่อ สังคม

นโยบายภาพรวม

บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2557 ได้มีมติอนุมัตินโยบายในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการ 8 ข้อดังนี้

  1. การกำกับดูแลกิจการที่ดี : บริษัทจะดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฏหมายและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและตรวจสอบได้ โดยบริษัทจะปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
  2. การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม : บริษัทจะส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี หลีกเลี่ยงการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่ธุรกิจทุกขั้นตอน (Business Chain)
  3. การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น : บริษัทต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ และส่งเสริมให้พนักงานตระหนักในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
  4. สิทธิมนุษยชนและการปฎิบัติต่อพนักงาน : บริษัทสนับสนุนและเคารพในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยจะปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมด้วยการจัดให้มีสวัสดิการ ความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับการทำงานของพนักงานอย่างมืออาชีพ บริษัทจะสนับสนุนการพัฒนาระบบการทำงานและส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์กับสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม
  5. ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค : บริษัทจะพัฒนาการให้บริการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยรักษาคุณภาพให้ตรงตามหรือสูงกว่าความคาดหมายของผู้บริโภคภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรม และจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ถูกต้อง เพียงพอ ไม่เกินความเป็นจริง พร้อมทั้งรักษาความลับของลูกค้าไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ
  6. สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย : บริษัทจะดำเนินการให้มีกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในทุกกระบวนการทางธุรกิจ รวมถึงใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานตามหลักการสากล
  7. การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม : บริษัทส่งเสริมการใช้กระบวนการทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยสร้างเศรษฐกิจและความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อนบ้าน และสังคมไทย
  8. การพัฒนาและเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม : บริษัทจะสนับสนุนการสร้างสรรค์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Co-Creation) ในการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างความสมดุลระหว่างมูลค่าและคุณค่าต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความเจริญเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน

CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ จะนำไปสู่การสร้างความน่าเชื่อถือในตัวธุรกิจให้กับบุคคลอื่นทั่วๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ลูกค้า หรือ ผู้บริโภค ที่จะเกิดความผูกพันและความประทับใจในสินค้าหรือบริการของธุรกิจในเบื้องต้น

ตามมาด้วย การเป็นที่ปรารถนาของตลาดแรงงาน ในการที่จะต้องการเข้ามาร่วมงานกับธุรกิจ ทำให้เกิดทางเลือกที่จะได้บุคคลากรที่เก่งและดีเข้ามาสร้างความก้าวหน้าและความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ

และยังจะเป็นที่ยอมรับของคู่ค้าต่างๆ ที่อยากจะเข้ามาร่วมทำธุรกิจอีกด้วย

แนวทางในการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะของธุรกิจ ซึ่งจะมีกลไกธุรกิจและความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียแตกต่างกันออกไป

ตัวอย่าง เช่น

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของใช้ทรัพยากรในการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นทรัพยากรที่มาจากธรรมชาติที่ใช้แล้วมีแต่วันที่จะหมดสิ้นไป การสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากของเสียต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการผลิต มลพิษต่างๆ ทั้ง ที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ น้ำเสีย ขยะ รวมไปถึงมลพิษทางเสียง สามารถสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสังคมในวงกว้าง

นอกจากนี้ สินค้าที่นำออกสู่ผู้บริโภค ยังอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัย และทำให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภคได้

ดังนั้น ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต จึงต้องให้ความสนใจและรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อขจัดหรือไม่ทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างผลกระทบเชิงลบเหล่านี้ ไม่ให้เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจโดยสิ้นเชิง

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ ซึ่งอาจประกอบด้วยธุรกิจหลายๆ ประเภท เช่น ธุรกิจการค้า ไม่ว่าจะเป็นการค้าปลีกหรือค้าส่ง ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งที่เป็นช่องทางแบบโมเดิร์นเทรด หรือ ช่องทางแบบดั้งเดิม จะต้องให้ความสำคัญกันเรื่องของคุณภาพสินค้าที่นำมาเสนอ เรื่องของการทำหนดราคาที่ยุติธรรมไม่เอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป ไม่ผู้ขาดตลาด

ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ ควรให้การดูแลถึงเรื่องความปลอดภัยผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะในเรื่องของอุบัติภัยและอัคคีภัย การบริการที่ไม่เหมาะสมของบุคคลากรต่อผู้รับบริการ ตลอดจนถึงกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ เช่น ความสะอาด หรือการดูแลสภาพแวดล้อมในการให้บริการ ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชุมชนและสังคมโดยรอบ

ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและการรักษาโรค จะต้องมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ดำเนินการด้วยความรอบคอบถูกต้องตามจรรยาบรรณธุรกิจ ไม่โฆษณาอวดอ้างเกินจริง

ธุรกิจบริการท่องเที่ยวและโรงแรม ต้องไม่รุกล้ำหรือบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าสงวน หรือสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ ระบบนิเวศ ป่าไม้ และความหลากหลายทางธรรมชาติ ไม่รุกล้ำหรือเข้ายึดครองพื้นที่สาธารณะ ไม่ปล่อยมลพิษ หรือเสียงดังรบกวนวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านทั่วไป

ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ให้ระมัดระวังในเรื่องของการกำหนดราคาที่เป็นมาตฐานและชัดเจน คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและสัมภาระที่รับผิดชอบขนส่ง ดูแลคุณภาพของพนักงานขับรถ ทั้งในเรื่องของความรับผิดชอบความปลอดภัย ความสุภาพ และระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องมลพิษที่เกิดจากยานพาหนะที่ไม่ได้รับการบำรุงดูแลอย่างเหมาะสม

ธุรกิจที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ตกแต่งภายใน และวัสดุก่อสร้าง ต้องเริ่มจากต้นทางการได้มาของวัตถุดิบที่ไม่เป็นการทำลายทรัพยากร การเลือกใช้พื้นที่หรือทำเลที่ไม่รุกล้ำกรรมสิทธิ์ของผู้ถือครองเดิม การกำหนดราคาซื้อขายที่ดินที่เป็นธรรม การใช้วัสดุที่ด้อยคุณภาพไม่ตรงตามสัญญา รวมไปถึงการสนับสนุนและแนะนำการลงทุนที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับลูกค้าและผู้บริโภค

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เป็นธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับเกษตรกรซึ่งมีจำนวนมาก การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การใช้เมล็ดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคหรือยังไม่ได้รับการยอมรับ เช่น พืชดัดแปลงพันธุกรรม การก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมต่อเกษตรกรดั้งเดิม และการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี รวมไปถึงการก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำลายห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ การแย่งใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติ และการปล่อยก๊าซโลกร้อน เป็นต้น

ธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคและบริโภค มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ การแข่งขันในตลาดที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามแฟชั่น ดังนั้น เรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าจึงเป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องตระหนักและให้ความสำคัญสูงสุด ความรับผิดชอบต่อสินค้าและผู้บริโภคสำหรับการบริการหลังการขาย ให้คำแนะนำในการใช้งานของสินค้าอย่างละเอียดชัดเจน รวมไปถึงระบบการจัดหาสินค้า การผลิต การจัดส่ง ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวัน ดังนั้น เรื่องของการใช้พลังงานที่ฟุ่มเฟือย มีประสิทธิภาพต่ำ หรือ ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองโดยใช้เหตุจะเป็นประเด็นสำคัญที่เจ้าของธุรกิจจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ สินค้าที่มีความซับซ้อนในการใช้งาน จะต้องมีคำอธิบายการใช้ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย หลีกเลี่ยงการโยนความผิดให้แก่ผู้บริโภคโดยอ้างว่าผู้ใช้งานใช้ผิดประเภทหรือใช้ไม่เป็น การโฆษณาโปรโมชั่นที่คลุมเครือ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภค

ในส่วนของการผลิต ธุรกิจเทคโนโลยีมักจะมีการใช้วัสดุที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือมีความเป็นพิษ โดยเฉพาะในกรณีของสินค้าที่หมดอายุใช้งาน รวมไปถึงเรื่องของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

จะเห็นได้ว่า การดำเนินธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการบริจาคเงินหรือร่วมแรงร่วมใจกันไปบำเพ็ญประโยชน์เป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่จะหมายถึงการนำความรับผิดชอบต่างๆ ใส่เข้าไปในทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ จนเป็นปกติวิสัยในการทำธุรกิจโดยตรงอย่างเป็นธรรมชาติ

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด ก็ทำได้!!!!

(รายละเอียดเพิ่มเติม หาดูได้จาก www.csri.or.th )