ใบ งาน ที่ 5.4 พัฒนาการ ใน สมัย ปัจจุบัน

ใบ งาน ที่ 5.4 พัฒนาการ ใน สมัย ปัจจุบัน


พัฒนาการในสมัยปัจจุบันของประเทศสมาชิกอาเซียน

            หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคของสงครามเย็น (พ.ศ. 2490 - 2534) ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างค่ายโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับค่ายโลกคอมมิวนิสต์ที่มีอดีตสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเอกราชจากชาติตะวันตกต่างดำเนินนโยบายแตกต่างกัน เช่น เวียดนามเหนือเป็นฝ่ายค่ายโลกคอมมิวนิสต์ ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายค่ายโลกเสรี อินโดนีเซียไม่ผูกพันกับค่ายใด

            นอกจากนี้แต่ละประเทศต่างพยายามแสวงหาหนทางของตนเอง เพื่อการสร้างชาติขึ้นใหม่ เช่น พม่าไม่ยอมเข้าร่วมในเครือจักรภพอังกฤษ (British Commonwealth) เวียดนามซึ่งเป็นประเทศถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ต้องต่อสู้เพื่อการรวมประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดสงครามที่รุนแรงมากระหว่าง พ.ศ. 2503 - 2518 รวมเวลาถึง 15 ปี

            ในช่วงสงครามเวียดนามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2503 - 2518) ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย มีความหวาดระแวงกับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์กันมาก นอกจากนี้หลายประเทศยังได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมอาสา ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510 มีประเทศร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

            ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา เกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจจนนำไปสู่การผ่อนคลายและปรับตัวของประเทศเวียดนาม ลาว ที่ปกครองในระบอบสังคมนิยม และยอมรับระบบเศรษฐกิจของโลกเสรี มีการเปิดตลาดการค้าให้กับตลาดโลก

            การพัฒนาการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคมเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ประเทศพัฒนาได้เร็วขึ้น ประชากรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่หลายประเทศก็ประสบปัญหาเดียวกันในการพัฒนาประเทศ คือ เมื่อพัฒนาเศรษฐกิจแล้วมักเกิดปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมและปัญหามลภาวะต่างๆ ตามมาด้วย

            ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายปี พ.ศ. 2551 ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปในยุโรปและเอเชีย ทำให้บริษัทการเงิน โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ขาดทุน สินค้าขายได้น้อยลง ทำให้มีการปลดคนงานออก ชะลอการผลิต หรือผลิตน้อยลงจนถึงปิดโรงงานก็มี รัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้พยายามกระตุ้นระบบเศรษฐกิจเพื่่่อสร้างงานและเพิ่มรายได้ ดังนั้น การพึ่งตนเองโดยสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทางเศรษฐกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความสำคัญมาก

            นอกจากนี้ การเพิ่มจำนวนประชากรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นปัญหาสำคัญ กล่าวคือ ในปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประ่ชากรประมาณ 602 ล้านคน (พ.ศ.2554) จากที่เคยมี 557 ล้านคน เมือ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นภาระหนักมากทั้งการเลี้ยงดู การมีที่่อยู่อาศัย การให้การศึกษา การประกอบอาชีพ ผลที่เ่กิดขึ้นคือ ทำให้มีผู้คนที่ยากจนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งทำให้ปัญหาอื่นรุนแรงขึ้น เช่น ยาเสพติด การฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ภาษา และสังคม แต่ก็มีความพยายามร่วมกันของทุกประเทศเพื่อที่จะให้เกิดความเป็นเอกภาพ และพยายามลดความขุ่นข้องหมองใจที่มีมาในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจากสงครามในอดีต เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อความสงบสุขและมีชีวิตที่ดีร่วมกัน