การ ที่ พระพุทธเจ้า ทรง อนุญาต ให้ พระนาง มหา ประชาบดี บวช เป็น ภิกษุณี เพราะ เหตุ ใด

เหตุใดเมืองไทยจึงบวชนางภิกษุณีไม่ได้?

เผยแพร่: 17 ก.ย. 2555 16:04   โดย: สามารถ มังสัง

ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบวชของนางภิกษุณี หรือนักบวชหญิงในประเทศไทยมาเป็นระยะๆ และดูเหมือนว่าในช่วงนี้ได้มีผู้พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้มีความเห็นว่าสามารถบวชภิกษุณีในประเทศไทยได้ โดยนำภิกษุณีสงฆ์จากประเทศศรีลังกามาทำการบวช แล้วบวชให้ภิกษุณีสงฆ์ของไทยอีกครั้ง ตามนัยแห่งพระวินัยบัญญัติแต่ไม่ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นนิกายใดนิกายหนึ่งในสองนิกาย จึงทำให้เข้าใจได้ว่าสามารถบวชภิกษุณีได้

แต่อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ความเห็นที่ว่านี้แพร่ออกไป ได้มีผู้รู้ท่านหนึ่งโทรศัพท์มาบอกผู้เขียนว่าไม่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ เพราะเป็นสงฆ์ที่เรียกว่า นานาสังวาส จึงทำให้เกิดเป็นข้อขัดแย้งทางความคิดในแง่ของการตีความทางพระวินัย

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าน่าจะนำเรื่องนี้มาเสนอท่านผู้อ่านเพื่อเป็นการทำความเข้าใจให้ถูกต้องโดยยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก และไม่มีการสอดแทรกความคิดเห็นอันเป็นปัจเจกบุคคลเข้าไปผสมเพื่อให้เกิดความไขว้เขว และจะเป็นการทำลายศรัทธาผู้ต้องการบวช ทั้งอาจเป็นการทำให้มีการตีความในทางที่ผิดๆ ได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านผู้อ่านควรจะได้รู้ถึงที่มาของการบวชเป็นภิกษุณี และข้อวัตรปฏิบัติที่นางภิกษุณีจะต้องถือปฏิบัติอย่างครบถ้วนด้วย

เริ่มด้วยนางภิกษุณีคนแรกคือใคร และทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงยอมให้ผู้หญิงบวชได้ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าเองก็เคยตรัสว่ามาตุคามเป็นอันตรายสำหรับภิกษุบวชใหม่ ซึ่งเปรียบด้วยปลาฉลามร้ายด้วยซ้ำไป แต่ด้วยเห็นความตั้งใจ และความมุ่งมั่นของผู้ต้องการบวชเป็นภิกษุณี จึงยอมตกลงให้บวชได้

พระนางมหาปชาบดีโคตรมีเถรี ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระน้านางของพระพุทธองค์ เป็นสตรีคนแรกที่ต้องการบวชในพระพุทธศาสนา

แต่เมื่อมาทูลขอบวช พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ด้วยทรงปฏิเสธถึง 3 ครั้งโดยพระพุทธวาจาว่า อย่าเลย ท่านเป็นมาตุคาม อย่าพอใจบรรพชาเป็นอนาคาริยะในพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย และพระนางเห็นว่าไม่ทรงอนุญาตก็ทูลลาไป

แต่ในที่สุดพระพุทธองค์ก็ทรงยอมให้พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีบวชได้ เมื่อเห็นว่าพระน้านางตั้งใจจริง และประกอบกับการกราบทูลขอพระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐาก

แต่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตโดยมีเงื่อนไขด้วยการตรัสว่า

“ดูก่อนอานนท์ ถ้าพระนางปชาบดีโคตมี จะทรงรับครุธรรม 8 ประการได้ ก็จะอนุญาตให้บวชได้

ครุธรรม 8 ประการ คือ

1. นางภิกษุณีแม้บวชแล้ว 100 ปี ต้องทำอภิวาท การลุกขึ้นต้อนรับ อัญชลีธรรม และสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชในวันนั้น นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต

2. นางภิกษุณีไม่พึงจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพนับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงตลอดชีวิต

3. นางภิกษุณีพึงหวังธรรม 2 อย่างจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน คือ การถามวันอุโบสถ กับการเข้าไปหาเพื่อรับโอวาท นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงตลอดชีวิต

4. นางภิกษุณีจำพรรษาแล้วพึงปวารณาในสงฆ์ 2 ฝ่าย คือ ภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ด้วย 3 ฐานะ คือ ด้วยไม่ได้เห็น หรือด้วยไม่ได้ฟัง หรือด้วยนึกรังเกียจ นี้เป็นธรรมที่ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงตลอดชีวิต

5. นางภิกษุณีที่ต้องครุธรรม (ต้องอาบัติสังฆาทิเสส) พึงประพฤติปักขมานัตตลอดปักษ์ในสงฆ์ 2 ฝ่าย นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงตลอดชีวิต

6. นางสิกขมานา (สตรีผู้ก่อนเป็นภิกษุณีต้องเป็นนางสิกขมานา แปลว่า ผู้ศึกษา) ได้ศึกษาสิกขาในธรรม 6 ประการตลอด 2 ปีแล้ว จึงควรแสวงหาการบวชในสงฆ์ 2 ฝ่าย คือ (ก่อนจะบวชเป็นนางภิกษุณี จะต้องเป็นนางสิกขมานา 2 ปี และในระหว่าง 2 ปีจะต้องรักษาศีล 6 ข้อขาดไม่ได้ คือศีล 5 และเพิ่มข้อ 6 คือเว้นการบริโภคอาหารในยามวิกาล) นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงตลอดชีวิต

7. นางภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุด้วยปริยายใดๆ นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงตลอดชีวิต

8. จำเดิมแต่นี้ไป ห้ามนางภิกษุณีว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุ ไม่ห้ามภิกษุว่ากล่าวสั่งสอนนางภิกษุณี นี้คือธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงตลอดชีวิต

ดูก่อนอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมีรับครุธรรม 8 ประการนี้ได้ จงบวชให้แก่พระนางเถิด”

เมื่อพระอานนท์ได้ไปบอกแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระนางก็ทรงตอบรับ และได้รับการบวชเป็นนางภิกษุณีในเวลาต่อมา

จากครุธรรม 8 ประการนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้สตรีบวชได้ด้วยเงื่อนไขที่ค่อนข้างเคร่งครัดอย่างมาก อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงมองเห็นความเสื่อมของวงการสงฆ์ อันเกิดจากการให้สตรีบวชแต่โดยง่ายจึงได้วางเงื่อนไขเช่นนี้ และน่าจะเป็นด้วยเงื่อนไขที่ว่านี้เอง ทำให้วงการภิกษุณีสงฆ์ลดน้อยถอยลงเมื่อเวลาล่วงเลยมา

อีกประการหนึ่ง ในการบัญญัติพระวินัยสำหรับภิกษุณีก็เคร่งครัดกว่าภิกษุ ทั้งจำนวนก็มากกว่าด้วย เมื่อเทียบกันจะเห็นได้ดังนี้

การ ที่ พระพุทธเจ้า ทรง อนุญาต ให้ พระนาง มหา ประชาบดี บวช เป็น ภิกษุณี เพราะ เหตุ ใด

รวมแล้วเป็น 311 ข้อ เมื่อเทียบกับของภิกษุซึ่งมีอยู่ 227 ข้อมีมากกว่าอยู่ถึง 84 ข้อ และในจำนวน 311 ข้อนี้ เมื่อพิจารณาจากโทษที่ปรับอาบัติแล้วจะเห็นได้ว่าในข้อที่ปรับอาบัติภิกษุในระดับกลาง คือสังฆาทิเสสบางข้อ แต่ปรับนางภิกษุณีหนักถึงขั้นปราชิก เป็นต้น การปรับอาบัติทำนองนี้บ่งบอกชัดเจนว่าทรงเน้นย้ำให้เห็นว่า การปกครองในหมู่ภิกษุณีสงฆ์จะต้องกระทำอย่างเคร่งครัดมากกว่าในหมู่ภิกษุสงฆ์ และน่าจะด้วยเหตุนี้กระมังภิกษุณีสงฆ์จึงหมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อโลกเปลี่ยนไป และคนมีกิเลสเพิ่มขึ้น จิตใจหยาบขึ้น ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าวินัยจะเข้มงวด แต่ถ้ายังมีผู้ต้องการบวช และถ้ายืนยันได้ว่ายังมีภิกษุณีสงฆ์สืบต่อโดยไม่ขาดสายก็คงบวชได้ไม่มีปัญหา แต่ในประเทศไทยเป็นที่แน่นอนว่าไม่เคยมีภิกษุณีสงฆ์ต่อเนื่องมา จึงยืนยันโดยอาศัยวินัยและครุธรรม 8 ประการแล้ว คงจะมีการบวชให้แก่สตรีเพศเพื่อเป็นภิกษุณีไม่ได้แน่นอน