ปฐมกษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์คือพระมหากษัตริย์พระองค์ใด

วันจักรี (Chakri Memorial Day) คือ วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ ที่นับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จาก กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็น กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม โดยพระเจ้าแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ได้สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาในราชวงศ์เดียวกันจนถึงปัจจุบัน มี 9 รัชกาล รวมระยะเวลาแล้วกว่า 234 ปี
จากบันทึกตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์ (รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4) ขึ้นประดิษฐานเอาไว้สำหรับให้พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อๆ ไป ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้ถวายความเคารพสักการะ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละหนึ่งครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประดิษฐานหลายต่อหลายครั้ง
จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์มาไว้ ณ ปราสาทเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ ซึ่งพระที่นั่งสำหรับประดิษฐานพระบรมรูปองค์นี้ รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ซ่อมแซมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานพระนามว่า ปราสาทเทพบิดร โดยได้มีการซ่อมแซมและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นในวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน อีกทั้งยังโปรดให้เรียกวันที่ 6 เมษายนนี้ว่า วันจักรี
ราชวงศ์จักรี
ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ "เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์" ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุง ธนบุรี คำว่า "จักรี" นี้พ้องเสียงกับคำว่า "จักร" และ "ตรี" ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระนารายณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบมาจนถึงปัจจุบัน

รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
(ขึ้นครองราชย์ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สิ้นสุดการครองราชย์ 7 กันยายน พ.ศ. 2352)
รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
(ขึ้นครองราชย์ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 สิ้นสุดการครองราชย์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367)
รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิ้นสุดการครองราชย์ 2 เมษายน พ.ศ. 2394)
รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 6 เมษายน พ.ศ. 2394 สิ้นสุดการครองราชย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411)
รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 สิ้นสุดการครองราชย์ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิ้นสุดการครองราชย์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)
รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สิ้นสุดการครองราชย์ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (2478) (สละราชสมบัติ)
รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
(ขึ้นครองราชย์ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (2478) สิ้นสุดการครองราชย์ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489)
รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
(ขึ้นครองราชย์ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สิ้นสุดการครองราชย์ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559)
รัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
(ขึ้นครองราชย์ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน)

 
กิจกรรมในวันจักรี
เนื่องในวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนา เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ ปราสาทพระเทพบิดร
ต่อจากนั้นก็ทรงเสด็จไปวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ นิสิตนักศึกษา หน่วยงาน ของรัฐบาล และเอกชน และประชาชนจากทุกสาขาอาชีพต่างพร้อมใจกัน เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงอุทิศพระองค์ เพื่อความสงบสุขของอาณาประชาราษฎรของพระองค์อย่างแท้จริง

ข้อมูล : วิกิพีเดีย

“สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า” ราชันจอมทัพ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

เผยแพร่: 5 เม.ย. 2563 20:45   ปรับปรุง: 5 เม.ย. 2563 20:51   โดย: ปิ่น บุตรี

Youtube :Travel MGR


6 เม.ย. พ.ศ. 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงขึ้นเสวยราชสมบัติ สืบแทนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พร้อมทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ซึ่งนับเป็นกษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 46 พรรษา

หลังจากนั้นอีก 15 วัน ซึ่งก็ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 เม.ย. 2325 พระองค์ โปรดเกล้าฯให้ย้ายราชธานีมาสร้างใหม่ ณ ฝั่งตรงข้ามกรุงธนบุรี เพราะเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม โดยโปรดให้ทำพิธียกเสาหลักเมืองสร้างกรุงเทพฯขึ้น

...ประวัติศาสตร์บรรทัดแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว...

ปฐมกษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์คือพระมหากษัตริย์พระองค์ใด

ในทุกวันที่ 6 เม.ย.ของทุกปีนั้น เป็น“วันจักรี” อันถือเป็นวันแห่งการรำลึกมหาปฐมบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ผู้สถาปนากรุงเทพฯขึ้นเป็นราชธานี ซึ่งคนไทยมีวันนี้ได้ก็เพราะพระองค์ท่าน ดังนั้นในวันที่ 6 เม.ย. เราจึงควรรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อประเทศไทยโดยพร้อมเพรียงกัน

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า “ด้วง” หรือ “ทองด้วง” ทรงประสูติที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ตรงกับ วันพุธแรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นบุตรของพระอักษรสุนทร(ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ กับท่านหยก ธิดาเศรษฐี

เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ครั้นมีพระชนมายุ 25 พรรษา ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงกระบัตรเมืองราชบุรี ต่อมา พ.ศ. 2311 ได้เข้ามารับราชการในเมืองหลวงเป็น พระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง

ครั้งเมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ทรงโปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พร้อมกับอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ ให้ชาวไทยได้กราบไหว้บูชามาจนทุกวันนี้


ด้านการปกครองทรงโปรดให้ตรวจชำระกฎหมายขึ้นใหม่เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” ส่วนทางด้านการศาสนา โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก และจารึกเป็นอักษรบนใบลาน เรียกว่า “พระไตรปิฎกหลวงฉบับทองใหญ่” และทรงบูรณะวัดวาอารามต่างๆมากมาย รวมทั้งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ด้วย

นอกจากนี้สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ถือเป็น “ราชันจอมทัพ” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง เพราะทรงเป็นจอมทัพที่กรำศึกสงครามมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และในรัชสมัยของพระองค์เองที่ทรงปกป้องบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภัยข้าศึก ดังปรากฏในประวัติศาสตร์สงครามเก้าทัพ ซึ่งทรงบัญชาเหล่าทหารด้วยกุศโลบายอันแยบคาย ทำให้สามารถนำชัยชนะมาสู่กองทัพไทยได้อย่างงดงาม

พระบรมราชานุภาพของพระองค์จึงเป็นที่เลืองลือและยำเกรงทั่วไปในประเทศใกล้เคียง ทำให้ราชอาณาเขตของไทยขยายออกไปกว้างขวางกว่าสมัยใด ๆ ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข สมกับพระปณิธานที่ตั้งไว้ว่า

“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยกยอพระศาสนา จะปกป้องขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี”
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่

Travel MGR