ใครเป็นผู้มาเกลี้ยกล่อมกวนอูให้ไปรับราชการกับโจโฉ

เอกสารประกอบการเรียนเรื่อง สามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการโจโฉ  

ความเป็นมา

            จีนเรียกสามก๊กว่า สามก๊กจี่ แปลว่า จดหมายเหตุเรื่อง สามก๊ก เป็นหนังสือที่ปราชญ์จีนได้เลือกในพงศาวดารตอนหนึ่งมาแต่งขึ้น เดิมใช้เล่านิทานกันทั่วไป   ต่อมามีผู้นำไปเล่นงิ้ว หนังสือสามก๊กแต่งขึ้นในสมัยรางวงศ์ไต้เหม็ง โดยนักปราชญ์จีนชื่อ ล่อกวนตง มีจุดประสงค์ที่จะให้ใช้เป็นตำราสำหรับศึกษาอุบายการเมืองและการสงคราม

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เป็นผู้อำนวยการแปลสามก๊กเป็นภาษาไทย  วรรณคดีสโมสรยกย่องสามก๊กให้เป็น ยอดของความเรียงนิทาน

ประวัติผู้แต่ง

            เจ้าพระยาพระคลัง(หน) มีนามเดิมว่า หน เป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฤาชัย(บุญมี) กับท่านผู้หญิงเจริญ รับราชการสมัยธนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปในสงครามมาโดยตลอด จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิพัฒน์โกษาและเจ้าพระยาพระคลัง นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ได้ทุกประเภท         ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ถึงแก่อสัญกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๔๘

ลักษณะคำประพันธ์

            สามก๊กแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทความเรียงร้อยแก้ว โดยแปลจากภาษาจีนมาเป็นภาษาไทยแล้วเรียบเรียงใหม่ ใช้ประโยคกะทัดรัด ไม่มีศัพท์ยาก ภาษาไม่ซับซ้อน การพรรณนาเด่นชัด มีบทอุปมาอุปไทยที่ลึกซึ้งคมคาย

เรื่องย่อ

            เมืองจีน สมัย พ.ศ. ๗๑๑ เป็นต้นมามีพระเจ้าเหี้ยนเต้ กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นอ่อนแอ ตั๋งโต๊ะผู้สำเร็จราชการกังฉินได้บีบพระเจ้าเหี้ยนเต้  อ้องอุ้นจึงออกอุบายให้ลิโป้ฆ่าตั๋งโต๊ะ ทำให้เกิดความแตกแยกระส่ำระสายในบ้านเมือง มีสงครามรบพุ่งชิงอำนาจกันเพื่อเป็นใหญ่  ในที่สุดก็แตกแยกออกเป็นสามก๊ก ซึ่งต่างก็มีอาณาเขตเป็นอิสระ ได้แก่

            ๑. วุยก๊ก  มีโจโฉเป็นหัวหน้า  ๒. จ๊กก๊ก มีเล่าปี่เป็นผู้นำ            ๓. ง่อก๊ก มีซุนกวนเป็นผู้นำ 

ทั้งสามก๊กนี้ทำสงครามขับเคี่ยวกันเป็นเวลานานจนเสื่อมอำนาจลง ต่อมาได้มีผู้ตั้งราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์จิ้น  แผ่นดินจีนจึงได้กลับมารวมกันเป็นอาณาจักรเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ. ๘๒๓

            วุยก๊ก  เป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสามก๊ก ในระหว่าง พ.ศ. ๗๖๓ – ๘๐๘ ครอบคราองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ปกครองโดยโจโฉ ต่อมาพระเจ้าโจผีได้สถาปนาโจโฉเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงส์วุยอีกพระองค์หนึ่ง วุยก๊กถูกโจมตีและโค่นล้มราชวงศ์วุยโดยสุมาเอี๋ยน ซึ่งต่อมาภายหลังได้สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นแทนและรวบรวมแผ่นดินที่แบ่งเป็นก๊กต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน

            จ๊กก๊ก  ปกครองโดยเล่าปี่ เชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ฮั่น ในระหว่าง พ.ศ. ๗๖๔ –๘๐๖ จ๊กก๊กครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน บริเวณ มณฑลเสฉวน ปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิ      สืบต่อกันมาทั้งหมดสองพระองค์คือพระเจ้าเล่าปี่และพระเจ้าเล่าเสี้ยน จ๊กก๊กล่มสลายลงด้วยกองทัพของวุยก๊ก อันเนื่องมาจากการปกครองแผ่นดินที่ล้มเหลวของพระเจ้าเล่าเสี้ยน

            ง่อก๊ก ครอบครองพื้นที่ทางด้านตะวะนออกของประเทศจีนทางบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง ซึ่งก็คือพื้นที่บริเวณรอบๆเมืองนานกิงในปัจจุบัน  ง่อก๊กเป็นอาณาจักรสุดท้ายในบรรดาสามก๊กล่มสลายโดยกองทัพของสุมาเอี๋ยน

 เนื้อเรื่องย่อตอนที่เรียน

            สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการโจโฉ กล่าวถึงโจโฉตีเมืองเสียวพ่ายและเมืองซีจิ๋วซึ่งเป็นหัวเมืองของจ๊กก๊กได้แล้ว คิดจะไปตีเมืองแห้ฝือ เมืองที่กวนอูอยู่ดูแลรักษาครอบครัวของเล่าปี่ โจโฉปรึกษากับเทียหยกที่จะกำจัดเล่าปี่กับม้าเท้ง แต่การกำจัดม้าเท้งนั้นยาก เพราะม้าเท้งอยู่เมืองเสเหลียงเป็นเมืองใหญ่มีทหารจำนวนมากกำจัดได้ยาก จึงคิดกำจัดเล่าปี่ก่อน

            ฝ่ายโจโฉเข้ายึดเมืองซีจิ๋วของเล่าปี่ได้ เล่าปี่ต้องลี้ภัยไปหาอ้วนเสี้ยวที่เมืองกิจิ๋ว ต่อมาโจโฉยกไปตีเมืองแห้ฝือของกวนอู  โดยให้ทหารไปล่อให้กวนอูไล่ตามออกมานอกเมืองแล้วล้อมจับกวนอู โจโฉอยากได้กวนอูไว้เป็นทหาร ด้วยความชื่นชมในฝีมือของกวนอู จึงให้เตียวเลี้ยวซึ่งกวนอูเคยช่วยชีวิตไว้เป็นผู้เข้าไปเกลี้ยกล่อม กวนอูยอมจำนนแต่ขอสัญญาสามข้อ ข้อแรกขอให้ได้เป็นข้ารับใช้พระเจ้าเหี้ยนเต้ ข้อสองขออยู่ดูแลพี่สะใภ้ทั้งสองคน และข้อสุดท้ายหากทราบว่าเล่าปี่อยู่ที่ใดตนจะไปหาแม้ว่าจะไม่ได้ร่ำลาโจโฉก่อนก็ตาม ในทีแรกโจโฉไม่ยอมรับในสัญญาข้อสุดท้าย เตียวเลี้ยวจึงยกนิทานเรื่องอิเยียงผู้กตัญญูมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เห็นว่ากวนอูนั้นเป็นคนกตัญญูมาก หากโจโฉเลี้ยงดูอย่างดีก็อาจผูกใจกวนอูได้ โจโฉจึงยอมรับเงื่อนไขของกวนอู

            โจโฉพากวนอูไปถวายตัวเป็นทหารพระเจ้าเหี้ยนเต้  และเลี้ยงดูกวนอูกับพี่สะใภ้ทั้งสองคนอย่างสุขสบาย กวนอูก็มิได้มีน้ำใจตอบโจโฉ แต่แมื่อโจโฉมอบม้าเซ็กเธาว์ให้แก่กวนอู กวนอูกลับมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง โจโฉแปลกใจเพราะก่อนหน้านี้แม้โจโฉจะให้ทรัพย์สินเงินทองหรือสิ่งของมีค่าอันใดแก่กวนอู กวนอูก็ไม่เคยแสดงความยินดีให้เห็น จนเมื่อกวนอูบอกความในใจว่าม้าเซ็กเธาว์เป็นม้าที่มีกำลังแรงสามารถเดินทางได้ไกล หากรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ใดจะสามารถไปหาได้โดยเร็ว โจโฉได้ฟังดังนั้นก็คิดน้อยใจ เตียวเลี้ยวจึงรับอาสาลองความคิดกวนอู และได้รู้ว่ากวนอูยังคงซื่อสัตย์ต่อเล่าปี่ แต่กวนอูเป็นคนกตัญญูคงจะไม่ไปจากโจโฉจนกว่า          จะได้ตอบแทนบุญคุณ ดังนั้นโจโฉจึงไม่ให้กวนอูอาสารบ ด้วยเกรงว่าเมื่อกวนอูทำความชอบแทนคุณตนแล้วก็จะหนีไปหาเล่าปี่

 บทวิเคราะห์

 ๑. คุณค่าด้านเนื้อหา

       ๑) รูปแบบ สามก๊กเป็นยอดวรรณคดีความเรียวนิทาน เป็นวรรณคดีร้อยแก้วแปลจากภาษาจีนมาเป็นภาษาไทย แล้วเรียบเรียงใหม่ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย กะทัดรัด เข้าใจง่าย มีสำนวนโวหารเปรียบเทียบลึกซึ้งคมคายและมีคติธรรม

       ๒) องค์ประกอบของเรื่อง จำแนกหัวข้อต่างๆได้ดังนี้

              ๒.๑ สาระ เรื่องสามก๊กตอนกวนอูไปรับราชการโจโฉ กล่าวถึงโจโฉตั้งตัวเป็นมหาอุปราชในสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ ต้องการกำจัดเล่าปี่ซึ่งครองเมืองซีจิ๋ว และเข้ายึดเมืองได้สำเร็จ เล่าปี่หนีไปเมืองกิจิ๋ว จากนั้นโจโฉก็ยกกองทัพไปตีเมืองแห้ฝือของกวนอู เมื่อโจโฉจับกวนอูได้และให้เตียวเลี้ยวเกลี้ยกล่อมกวนอูให้มาอยู่ด้วย กวนอูยอมจำนวนขอสัญญาสามข้อ โจโฉยอมรับเงื่อนไขของกวนอู โจโฉทำตามสัญญาของกวนอูทั้ง ๓ ข้อ เอาใจกวนอูและพี่สะใภ้ของกวนอูอย่างดี แต่กวนอูก็ไม่ได้มีน้ำใจตอบโจโฉ ยังคงซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อเล่าปี่อย่างแนบแน่น  โจโฉคิดน้อยใจแต่ก็เชื่อในความกตัญญูของกวนอู ว่าคงจะไม่หนีไปจนกว่าจะได้ตอบแทนบุญคุณ ความซื่อสัตย์กตัญญูและการใช้กลอุบายเจรจาโน้มน้าวใจเป็นสิ่งสำคัญของเรื่องในตอนนี้

         ๒.๒ โครงเรื่อง การลำดับเหตุการณ์ต่างๆ แต่ละขั้นตอนในเรื่องสอดคล้องสัมพันธ์กันจนแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่กวีต้องการสื่อออกมาอย่างชัดเจน ในเรื่องความซื่อสัตย์ของกวนอู สามก๊กตอนที่เรียนเป็นการทำสงครามของโจโฉกับเล่าปี่และกวนอู โจโฉมีทหารเอกคอยให้คำปรึกษาและวางกลอุบายในการศึก จนสามารถเอาชนะเล่าปี่และเกลี้ยกล่อมให้กวนอูเข้ามาอยู่ฝ่ายตน แต่ในที่สุดโจโฉก็ไม่สามารถชนะใจกวนอูผู้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเล่าปี่ได้

          ๒.๓ ฉากและบรรยากาศ เรื่องสามก๊ก สมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้เกิดความแตกแยกแย่งชิงอำนาจกัน ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ เป็นช่วงที่โจโฉมีอำนาจตั้งตัวเป็นมหาอุปราชและเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าแผ่นดิน       โจโฉขยายอิทธิพลยกทัพไปปราบหัวเมืองต่างๆ

             ๒.๔ ตัวละคร ในเรื่องสามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉมีตัวละครที่มีบทบาทสำคัญ ดังนี้

                          ๑) กวนอู เป็นชาวเมืองฮอตั้งไก่เหลียง เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับเล่าปี่และเตียวหุย มีง้าวยาวสิบเอ็ดศอก หนักแปดสิบสองชั่งเป็นอาวุธประจำกาย เป็นบุรุษผู้มีหนวดงามและรูปงาม ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่เด่นชัดของกวนอูที่ปรากฏในเนื้อเรื่องตอนนี้ ดังนี้

                         ๑. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์และกตัญญูต่อผู้มีบุญคุณทุกคนดังปรากฏตอนที่เตียวเลี้ยวลองถามความคิดของกวนอูที่มีต่อโจโฉ กวนอูตอบว่า

                                “...ซึ่งมหาอุปราชมีคุณแก่เราก็จริงอยู่  แต่เปรียบเล่าปี่นั้นยังมิได้  ด้วยเล่าปี่นั้นมีคุณแก่เราก่อน  ประการหนึ่งก็ได้สาบานไว้ต่อกันว่าเป็นพี่น้อง  เราจึงได้ตั้งใจรักษาสัตย์อยู่  ทุกวันนี้เราก็คิดถึงมหาอุปราชอยู่มิได้ขาด  ถึงมาตรว่าเราจะไปจากก็จะขอแทนคุณเสียก่อนให้มีชื่อปรากฏไว้เราจึงจะไป  ...”

                                ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่เล่าปี่ไม่อยู่ กวนอูก็ปฏิบัติตนต่อภรรยาทั้งสองของเล่าปี่อย่างสุจริตใจและให้เกียรติอย่างสม่ำเสมอมิให้เป็นที่ครหา จนโจโฉสรรเสริญในความซื่อสัตย์ของกวนอู ดังความว่า

                                “..ครั้นถึงสามวันกวนอูจึงไปเยือนพี่สะใภ้ครั้งหนึ่ง  นั่งอยู่แต่นอกประตูแล้วถามว่า พี่อยู่ปกติอยู่หรือ  หรือป่วยไข้ประการใดบ้าง  พี่สะใภ้จึงตอบว่า  ปกติอยู่มิได้ป่วยไข้ประการใด  เจ้ารู้ข่างเล่าปี่ข้างหรือไม่  กวนอูว่าไม่แจ้ง  แล้วคำนับพี่สะใภ้ลากลับมา  โจโฉรู้กิตติศัพท์ว่ากวนอูปฏิบัติพี่สะใภ้สุจริตดังนั้น  ก็สรรเสริญกวนอูว่ามีความสัตย์หาผู้เสมอมิได้....”

                                ๒. เป็นผู้มีความชำนาญในการรบ กวนอูเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีความชำนาญในการสู้รบ และมีความเชื่อมั่นในฝีมือการรบของตนเอง ดังจะเห็นได้จาดตอนที่โจโฉกล่าวชื่นชมฝีมือการรบของกวนอูให้เหล่าทหารฟัง และต้องการกวนอูมาร่วมกองทัพด้วย

                                “.. ซุนฮกจึงว่า  ข้าพเจ้ารู้กิตติศัพท์ว่า  เล่าปี่ให้กวนอูรักษาครอบครัวอยู่เมืองแห้ฝือ  ซึ่งท่านจะยกทัพไปตีนั้นควรนัก  ถ้าละไว้อ้วนเสี้ยวก็จะยกมาพาเอาครอบครัวเล่าปี่ไป  โจโฉจึงตอบว่า  อันกวนอูนั้นมีฝีมือกล้าหาญชำนาญในการสงคราม   เราจะใคร่ได้ตัวมาเลี้ยงเป็นทหาร  เราจะแต่งคนให้ไปเกลี้ยกล่อมจึงจะได้......”

             เตียวเลี้ยวเกลี้ยกล่อมกวนอูให้มารับราชการกับโจโฉ โดยกล่าวถึงความสามารถของกวนอูในการสู้รบว่า

                                “...อีกประการหนึ่งนั้น  ท่านก็มีฝีมือกล้าหาญ  แล้วแจ้วใจในขนบธรรมเนียมโบราณมาเป็นอันมาก  เหตุใดท่านจึงไม่รักษาชีวิตไว้คอยท่าเล่าปี่  จะได้ช่วยกันคิด  การทำนุบำรุงแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุข.....”

                                ๒)โจโฉ เป็นชาวเมืองตันสิว และอยู่ในตระกูลขุนนางมาก่อน โจโฉเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและมีความเป็นผู้นำ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่มีเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายโดย ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ ได้แสดงลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของโจโฉที่เด่นชัดดังนี้

                                ๑. เป็นผู้ที่ชำนาญในการวางกลอุบายศึก โจโฉสามารถวิเคราะห์การศึกและวางกลอุบายการศึกที่ซับซ้อนจนฝ่ายข้าศึกคิดไม่ถึง กว่าข้าศึกจะรู้ตัวก็ตกหลุมพราง เสียเปรียบโจโฉเสียแล้ว ดังจะเห็นได้จากตอนที่          โจโฉจะยกทัพไปโจมตีเมืองซีจิ๋วของเล่าปี่ ความว่า

“...โจโฉจึงให้แบ่งทหารเป็นสิบเอ็ดกอง  กองหนึ่งให้อยู่รักษาค่าย แปดกองนั้นให้นายทหารเอก

คุมทหารเลวยกแยกออกไปซุ่มอยู่นอกค่ายทั้งแปดทิศ  ถ้าเห็นกองทัพผู้ใดยกมาปล้นค่าย  ก็ให้ทหารทั้งแปดกองตีกระหนาบล้อมเข้ามา  สองกองนั้นให้แยกกันไปตั้งสกัดอยู่ปากทางเมืองชีจิ๋วกองหนึ่ง  เมืองแห้ฝือกองหนึ่ง.....”

                                ๒. เป็นผู้ที่มีวาจาสัตย์ เมื่อโจโฉรับปากเรื่องใดแล้วก็มิได้คืนคำดังที่โจโฉรับสัญญา ๓ ข้อ เพื่อให้กวนอูยินยอมรับราชการอยู่กับโจโฉ โจโฉก้ได้กระทำตามสัญญาที่รับปากไว้ เมื่อกวนอูขอคำมั่นในสัญญาจากโจโฉ  โจโฉจึงกล่าวย้ำว่า

                                “... โจโฉจึงว่าซึ่งปฏิญาณของท่านนั้น เราได้สัญญาเขาไว้แล้ว ครั้นจะให้ไปติดตามเอาตัวมาบัดนี้ก็จะเสียวาจาไป....”

                                ๓. เป็นผู้ที่ชื่นชอบผู้ที่มีความซื่อสัตย์ นับเป็นลักษณะนิสัยที่เด่นมากในตอนนี้ โจโฉมีความปรารถนาที่จะได้กวนอูมารับราชการเพื่อเป็นกำลังแก่ตนเองสืบไป จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อผูกใจกวนอู และแม้ว่าโจโฉจะไม่สามารถเหนี่ยวรั้งกวนอูไว้ได้ โจโฉก็ยังสรรเสริญในความซื่อสัตย์และกตัญญูที่กวนอูมีต่อเล่าปี่เสมอ เช่น ตอนที่โจโฉชวนกวนอูมากินโต๊ะ โจโฉเห็นเสื้อกวนอูขาด จึงให้เสื้อตัวใหม่แก่กวนอู แต่กวนอูกลับสวมเสื้อตัวเก่าทับเสื้อตัวใหม่ไว้ โดยให้เหตุผลที่สะเทือนใจโจโฉ แต่โจโฉก็ยังไม่วายสรรเสริญในความซื่อสัตย์และกตัญญูที่กวนอูมีต่อเล่าปี่ ดังความว่า

                                “...กวนอูจึงว่าเสื้อเก่านี้ของเล่าปี่ให้  บัดนี้จะไปอยู่ที่ใดมิได้แจ้ง  ข้าพเจ้าจึงเอาเสื้อผืนนี้ใส่ชั้นนอก  หวังจะดูต่างหน้าเล่าปี่  ครั้นจะเอาเสื้อใหม่ใส่ชั้นนอก  คนทั้งปวงจะครหานินทาว่าได้ใหม่แล้วลืมเก่า  โจโฉได้ยินดังนั้นก็สรรเสริญกวนอูว่ามีกตัญญูนัก  แต่คิดเสียใจอยู่  กวนอูก็ลาโจโฉกลับมาที่อยู่...”

                                ๒.๕ กลวิธีการแต่ง  กวีใช้กลวิธีบรรยายเล่าเรื่องอย่างละเอียด บางตอนให้ตัวละครเป็นผู้เล่าด้วยการใช้บทสนทนานำ ซึ่งจากบทสนทนานี้ทำให้ผู้อ่านได้ทราบเรื่องราวความเป็นมาของเรื่อง ตลอดจนทราบลักษณะนิสัยใจคอและอารมณ์ของตัวละครได้

      ๒. คุณค่าด้านวรรณศิลป์

             ๑) การสรรคำ สามก๊กเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของความเรียงประเภทนิทาน เพราะแต่งดีทั้งเนื้อเรื่องและสำนวนที่แปลเป็นไทยด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำได้อย่างไพเราะดังนี้

                   ๑.๑ การเลือกใช้คำได้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการ กวีใช้คำได้ตรงความหมายและถ้อยคำที่ใช้ก็ไม่ใช่ศัพท์ยาก  อ่านแล้วจะเข้าใจสถานการณ์ได้ทันที มีความไพเราะ สละสลวยเรียบง่าย เช่น

               “..กวนอูได้ฟังดังนั้นก็โกรธ  จึงว่าแก่เตียวเลี้ยวว่า  เดิมเราถามตัวว่าจะเกลี้ยกล่อมหรือ  ตัวว่าหามิได้  แลตัวมากล่าวดังนี้   จะว่าไม่เกลี้ยกล่อมนั้นตัวจะประสงค์สิ่งใดเล่า  แล้วว่าเราอยู่ในที่นี้ก็เป็นที่คับขันอยู่  ซึ่งเราจะเข้าด้วยผู้ใดนอกจากเล่าปี่นั้นอย่าสงสัยเลย...”

                   ๑.๒ การเลือกใช้คำที่เหมาะแก่เนื้อเรื่องและฐานะของบุคคลในเรื่อง เช่น ตอนที่กวนอูไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ซึ่งเป็นกษัตริย์ กวีเลือกใช้คำราชาศัพท์ได้ถูกต้องเหมาะสมแก่เนื้อเรื่องและฐานะของบุคคลในเรื่องเช่น

                     “...ครั้นเวลาเช้ากวนอูเข้าไปเฝ้า  พระเจ้าเหี้ยนเต้ทอดพระเนตรเห็นกวนอูใสถุงหนวดดังนั้นจึงตรัสถามว่า  ถุงใส่สิ่งใดแขวนอยู่ที่คอนั้น  กวนอูจึงทูลว่า  ถุงนี้มหาอุปราชให้ข้าพเจ้าสำหรับใส่หนวดไว้  แล้วกวนอูก็ถอดถวายให้ทอดพระเนตร  พระเจ้าเหี้ยนเต้เห็นหนวดกวนอูยาวถึงอกเส้นละเอียดงามเสมอกัน  แล้วตรัสสรรเสริญว่ากวนอูนี้หนวดงาม  จึงพระราชทานชื่อว่าบีเยียงก๋ง  แปลภาษาไทยว่าเจ้าหนวดงาม  แล้วก็เสด็จขึ้น...”

                   ๑.๓ การเลือกใช้คำได้เหมาะแก่ลักษระคำประพันธ์ เรื่องสามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ กวีใช้ภาษาความเรียงนิทานประเภทร้อยแก้ว การใช้ถ้อยคำและเรียงความเรียบร้อยสม่ำเสมอ อ่านเข้าใจง่าย ไม่มีศัพท์ยากภาษาไม่ซับซ้อน ดังความว่า

                      “...ฝ่ายทหารเล่าปี่ซึ่งเข้าไปหากวนอูนั้น  ครั้นเวลาพลบค่ำมิได้เห็นกวนอูกลับเข้าเมืองก็ชวนกันเปิดประตูออกมาหวังจะรับโจโฉ  ม้าใช้เห็นดังนั้นก็เอาเนื้อความมาบอกโจโฉ  โจโฉมีความยินดีก็คุมทหารเข้าเมืองแห้ฝือ  แล้วให้เอาเพลิงเผาเมืองขึ้น  หวังจะให้กวนอูเสียน้ำใจ ...”

             ๒) การใช้โวหาร กวีเลือกใช้ถ้อยคำในการบรรยายได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพชัดเจน ดังนี้

                   ๒.๑ อุปมาโวหาร เป็นโวหารที่ปรากฏในเรื่องสามก๊กตอนกวนอูไปรับราชการโจโฉ เป็นความเปรียบที่เข้าใจง่ายทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้น เช่น ตอนโจโฉคิดหาหนทางกำจัดเล่าปี่และกล่าวเปรียบเล่าปี่ว่าเหมือนลูกนก ดังความว่า

                   “...เล่าปี่นั้นเป็นคนมีสติปัญญา  ถ้าละไว้ช้าก็จะมีกำลังมากขึ้น  อุปมาเหมือนลูกนกอันขนปีก  ยังไม่ขึ้นพร้อม  แม้เราจะนิ่งไว้ให้อยู่ในรังฉะนี้  ถ้าขนขึ้นพร้อมแล้วก็จะบินไปทางไกลได้  ซึ่งจะจับตัวนั้นจะได้ความขัดสน ...”

                   เมื่อกวนอูปฏิเสธที่จะไปรับราชการกับโจโฉ เตียวเลี้ยวพยายามหาเหตุผลโน้มน้าวใจกวนอู โดยกล่าวเปรียบความลำบากที่กวนอูต้องเผชิญว่าเหมือนการลุยไฟและการข้ามมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ หากทำได้ก็จะเป็นที่รู้จักสรรเสริญในภายภาคหน้า ดังความว่า

                   “...เหตุใดท่านจึงไม่รักษาชีวิตไว้คอยท่าเล่าปี่  จะได้ช่วยกันคิด  การทำนุบำรุงแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุข  ถึงมาตรว่าท่านจะได้รับความลำบากก็อุปมาเหมือนหนึ่งลุยเพลิงอันลุกแลข้ามพระมหาสมุทรอันกว้างใหญ่  ก็จะลือชาปรากฏชื่อเสียงท่านไปภายหน้า ...”

                   เมื่อทหารโจโฉล้อมจับกวนอูไว้ แล้วเตียวเลี้ยวขี่ม้าเข้ามาหาเพื่อเกลี้ยกล่อมให้กวนอูเข้ากับฝ่ายโจโฉ กวนอูได้ฟังเตียวเลี้ยวก็โกรธกล่าวตอบโต้ไปว่าหากตายก็ไม่เสียดายชีวิต โดยเปรียบว่าความตายเหมือนการนอนหลับไม่น่ากลัว ดังความว่า

                “...ซึ่งเราจะเข้าด้วยผู้ใดนอกจากเล่าปี่นั้นอย่าสงสัยตัวเราก็มิได้รักชีวิต  อันความตายอุปมาเหมือนนอนหลับ  ท่านเร่งกลับไปบอกแก่โจโฉให้ตระเตรียมทหารไว้ให้พร้อม  เราจะยกลงไปรบ....”

                จากตัวอย่างความเปรียบที่ยกมานั้นจะเห็นได้ว่า เป็นความเปรียบแบบอุปมา คือสิ่งหรือข้อความที่ยกมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรากล่าวถึง เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่กำลังกล่าวถึงได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

            ๒.๒ การใช้สำนวนโวหาร การที่คนไทย เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนชอบพูดจาให้เป็นสำนวนต่างๆ จึงปรากฏในเรื่องสามก๊กตอนนี้ ได้แก่ ได้ใหม่แล้วลืมเก่า  ดังตอนที่กวนอูกล่าวกับโจโฉว่าเหตุที่เอาเสื้อใหม่ที่โจโฉให้ใส่ไว้ชั้นใน แล้วเอาเสื้อเก่าใส่ชั้นนอกว่า

                   “กวนอูจึงว่าเสื้อเก่านี้ของเล่าปี่ให้  บัดนี้จะไปอยู่ที่ใดมิได้แจ้ง  ข้าพเจ้าจึงเอาเสื้อผืนนี้ใส่ชั้นนอก  หวังจะดูต่างหน้าเล่าปี่  ครั้นจะเอาเสื้อใหม่ใส่ชั้นนอก  คนทั้งปวงจะครหานินทาว่าได้ใหม่แล้วลืมเก่า ”

                   สำนวนที่ปรากฏอีก ๑ สำนวน ได้แก่ ตัวตัวตายก่อนไข้ ซึ่งปัจจุบันไม่ใช้แต่ใช้สำนวนว่า ตีตนไปก่อนไข้ ดังปรากฏตอนที่อ้วนเสี้ยวแกล้งทำเป็นทุกข์ เตียนห้องจึงกล่าวกับอ้วนเสี้ยวว่า

                   “คนทั้งปวงก็ลือชาปรากฏว่า  ท่านเป็นใหญ่อยู่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ  เหตุใดท่านมาคิดย่อท้อจะมาตีตัวตายก่อนไข้นั้นไม่ควร

             ๓. คุณค่าด้านสังคม

                   ๑) สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับการทำสงครามของคนจีน ดังนี้

                       ๑.๑ การทำสงครามนั้นมิใช่ใช้กำลังทหารเพียงอย่างเดียว การทำสงคราม นอกจากการใช้กำลังทหารยังต้องอาศัยสติปัญญาและเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายเป็นสำคัญ จึงจะสามารถเอาชนะข้าศึกศัตรูได้ ดังเช่น ตอนที่เทียหยกวางกลอุบายล่อลวงให้กวนอูออกจากเมืองแห้ฝือ เพื่อให้ทหารโจโฉเข้ายึดเมืองแห้ฝือ และก็ทำได้สำเร็จ

                   “ม้าเท้งไปอยู่เมืองเสเหลียงนั้นมีทหารเป็นอันมาก  ถ้าท่านจะยกทัพไปตีเอา  บัดนี้เมืองเราก็เป็นกังวลอยู่  ขอให้ท่านเร่งแต่งผู้มีสติปัญญาไปเกลี้ยกล่อมหาตัวม้าเท้งกลับเข้ามา  อย่าให้ทันม้าเท้งรู้ว่าท่านจับตังสินกับพวกเพื่อนฆ่าเสีย  ข้าพเจ้าเห็นว่าเท้งไม่แจ้งเนื้อความทั้งนี้ก็จะเข้ามา  จึงจับฆ่าเสียก็จะได้โดยง่าย 

                       ๑.๒ บุคลิกภาพผู้นำ ผู้นำที่จะยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้องมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เขียวชาญในการรบแล้ว ควรมีความพยายามและความอดทนในการทำการที่มุ่งหวัง ดังเช่น ตอนที่โจโฉใช้ความเพียรพยายามอดทนและใช้จิตวิทยาเป็นอย่างมากในการผูกมัดใจกวนอูให้เกิดความจงรักภักดีต่อตนเอง ซึ่งโจโฉก็ทำได้สำเร็จขั้นหนึ่ง แม้กวนอูจะยังคงความซื่อสัตย์ต่อเล่าปี่ไม่คลาย แต่ก็รู้สึกสำนึกในบุญคุณของโจโฉและพร้อมที่จะตอบแทนบุญคุณในภายหน้า

                   “ โจโฉจึงถามเทียหยกว่า  ท่านจะคิดล่อลวงประการใด  เทียหยกจึงว่า  ท่านจับทหารเล่าปี่ไว้ได้เป็นอันมาก  จงให้บำเหน็จรางวัลให้ถึงขนาด  แล้วสั่งให้ทำตามคำเราจึงปล่อยเข้าไปในเมืองให้บอกว่าหนีกลับมาได้  ถ้าเราจะทำการก็ให้เป็นไส้ศึกอยู่ในเมือง  แล้วให้แต่ง ทหารไปรบล่อ  ถ้ากวนอูไล่ออกมานอกเมืองแล้ว  จึงให้ทหารซึ่งซุ่มอยู่ทั้งสองข้างล้อมไว้  จึงแต่งให้ผู้มีสติไปเกลี้ยกล่อมกวนอูเห็นจะได้โดยง่าย”

                         ๑.๓ ความสำคัญของนักการทูตนักการทูตมีความสำคัญในการช่วยราชการบ้านเมือง แม้กระทั่งในยามศึกสงคราม ผู้ที่ทำหน้าที่ทางการทูตต้องเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีโวหารทางการพูดเป็นเลิศ ดังเช่น   เตียวเลี้ยวที่สามารถโน้มน้าวใจให้กวนอูยอมรับราชการกับโจโฉเป็นผลสำเร็จ

                     “เตียวเลี้ยวจึงตอบว่า  เดิมท่านเล่าปี่  เตียวหุยได้สาบานไว้ต่อกันว่า  เป็นพี่น้องร่วมสุขแลทุกข์เป็นชีวิตอันเดียวกัน....  เมื่อท่านตายแล้ว  เล่าปี่  เตียวหุยก็จะตายด้วย  ซึ่งท่านสาบานไว้ต่อหน้ากันก็จะมิเสียความสัตย์ไปหรือ  คนทั้งปวงก็จะล่วงนินทาว่าความคิดท่านน้อย...เตียวเลี้ยวจึงว่า  มหาอุปราชให้ทหารล้อมไว้เป็นอันมาก  ถ้าท่านมิสมัครเข้าด้วยเห็นชีวิตท่านจะถึงแก่ความตายหาประโยชน์มิได้  ขอให้ท่านอยู่กับมหาอุปราชก่อนเถิด  จะได้มีประโยชน์สามประการ

                          ๑.๔ พลังของความสามัคคีช่วยให้บ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัยจากข้าศึกศัตรู ในการทำสงครามถ้ามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันย่อมเกิดพลังในการต่อสู้ข้าศึก แต่หากขาดซึ่งความสามัคคีแล้วย่อมเสียทีแก่ข้าศึกโดยง่าย เช่น การที่อ้วนเสี้ยวไม่ส่งทหารไปช่วยเล่าปี่ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เล่าปี่ปราชัย หรือการที่บิต๊ก บิฮอง กันหยง ทิ้งเมืองเพราะคิดว่าจะสู้โจโฉมิได้ และตันเต๋งกลับเปิดประตูรับโจโฉเป็นเหตุให้โจโฉยึดเมืองชีจิ๋วได้ง่าย

                 ๒. สะท้อนค่านิยมในการประพฤติปฏิบัติของคนในสังคม ดังนี้

                         ๒.๑ ค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ จากเรื่องสามก๊กตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ  สะท้อนให้เห็นค่านิยมด้านความซื่อสัตย์ได้เนชัดที่สุด ดังความว่า

                                “โจโฉรู้ดังนั้นก็เกรงใจกวนอูว่ามีความสัตย์แลกตัญญูต่อเล่าปี่  โจโฉจึงให้กวนอูกับภรรยาเล่าปี่ไปอยู่    ตึกสองหลังมีชานกลาง  กวนอูจึงให้พี่สะใภ้ทั้งสองคนนั้นอยู่ตึกหนึ่ง แล้วให้ทหารที่แก่ราชการอยู่รักษาประมาณสิบคน  ตัวนั้นอยู่ตึกหนึ่งระวังรักษาพี่สะใภ้ทั้งสอง”

                         กวนอูถือเป็นตัวละครสำคัญที่สะท้อนค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ บทบาทและพฤติกรรมขงกวนอู ไม่ว่าจะแสดงออกต่อภรรยาของเล่าปี่หรือโจโฉก็ล้วนสนับสนุนค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ทั้งสิ้น

                         ๒.๒ ค่านิยมความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เช่น การที่โจโฉส่งทหารไปล่อให้กวนอูตามออกมานอกเมืองและล้อมจับตัวกวนอูไว้ เตียวเลี้ยวทหารฝ่ายโจโฉซึ่งกวนอูเคยช่วยชีวิตไว้เป็นผู้เข้าไปเกลี้ยกล่อมกวนอูให้ไปอยู่กับโจโฉ กวนอูยอมจำนนแต่ขอเงื่อนไขเป็นสัญญาคือขอให้ได้เป็นข้าของพระเจ้าเหี้ยนเต้

                                “ กวนอูจึงว่า  เดิมเราได้สาบานกันไว้กับเล่าปี่  เตียวหุยว่าจะช่วยทำนุบำรุงพระเจ้าเหี้ยนเต้แลอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข  ซึ่งเราจะสมัครเข้าด้วยนั้น  เราจะขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ประการหนึ่ง”

                         ๒.๓ ค่านิยมความกตัญญูรู้คุณ เช่น ตอนที่เตียวเลี้ยวกล่าวถึงลักษณะนิสัยของกวนอูดังความว่า

                                “อันน้ำใจกวนอูนั้น  ถ้าผู้ใดมีแล้วเห็นจะเป็นเหมือนอิเยียง  อันเล่าปี่กับกวนอูนั้นมิได้เห็นพี่น้องกัน  ซึ่งมีความรักกันนั้น  เพราะได้สาบานต่อกัน  เล่าปี่เป็นแต่ผู้น้อย  เลี้ยงกวนอูไม่ถึงขนาด  กวนอูยังมีน้ำใจกตัญญูต่อเล่าปี่  จึงคิดจะติดตามมิได้ทิ้งเสีย 

              ๓) สะท้อนเรื่องความเชื่อของคนในสังคม ดังนี้

                   ๓.๑ ความเชื่อในโชคลาง เช่น แม้โจโฉจะเป็นแม่ทัพที่มีความสามารถในการรบเมื่อยกทัพมาเกิดลมพายุพัดธงชัยหัก ก็ต้องพึ่งคำทำนายทายทัก จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญของการรบโบราณที่ต้องถือฤกษ์ยามและ   โชคลาง ดังความว่า

                            “ฝ่ายโจโฉยกกองทัพมาใกล้จะถึงเมืองเสียวพ่าย  พอเกิดลมพายุใหญ่พัดหนักธงชัยซึ่งปักมาบนเกวียนนั้นหักทับลง  โจโฉเห็นวิปริตดังนั้นก็ให้ทหารหยุดตั้งค่ายมั่นไว้แล้วถามที่ปรึกษาว่า  ซึ่งลมพายุพัดมาถูกธงชัยเราหักลงทั้งนี้  จะเห็นดีแลร้ายประการใด  ซุนฮกจึงว่าซึ่งเกิดพายุใหญ่พัดธงชัยหักทับลงมานั้นเป็นลมตะวันออก  เวลาค่ำวันนี้ดีร้ายเล่าปี่จะยกทัพออกมาปล้นค่ายเราเป็นมั่นคง  พอมอกายเข้ามาว่าแก่โจโฉว่า  ลมตะวันออกพัดมาถูกธงหักนั้น  ข้าพเจ้าเห็นว่ากลางคืนวันนี้จะมีผู้มาปล้นค่าย”

                   ๓.๒ ความเชื่อในเรื่องความฝัน เช่น เมื่อนางบิฮูหยินและกำฮูหยินเล่าความฝันของนางที่เกี่ยวกับเล่าปี่ให้กวนอูฟัง กวนอูก็เกิดวิตก ดังความว่า

                            “...นางกำฮูหยินจึงตอบว่า  คืนนี้พี่ฝันเห็นเล่าปี่ตกหลุมลงครั้นตื่นขึ้นมาก็ตกใจจึงแก้ฝันนางบิฮูหยิน  เห็นพร้อมกันว่าเล่าปี่ตายแล้วพี่จึงร้องไห้รัก  กวนอูได้ฟังดังนั้น  พิเคราะห์ดูเห็นฝันผิดประหลาด  สำคัญว่าเล่าปี่เป็นตายก็ร้องไห้ด้วย 

                   ๓.๓ ความเชื่อเรื่องบุญกรรมที่ตนได้กระทำไว้ สามก๊ก  ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ  แสดงให้เห็นความเชื่อเรื่องบุญกรรมที่ได้ทำมาเช่น

                            “แล้วว่าบัดนี้ข้าพเจ้าเข้ามาปรึกษาด้วย  พี่ทั้งสองจะเห็นประการใด  นางกำฮูหยินจึงว่าเวลาคืนนี้โจโฉเข้าในเมืองได้พี่นี้เกรงอยู่ว่าจะเป็นอันตรายต่างๆเป็นเดชะบุญของเรา 

             ๔) สะท้อนเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆของสังคมจีนดังนี้

                   ๔.๑ การจัดเลี้ยง การจัดเลี้ยงเป็นเอกลักษณ์ของคนจีน ในสังคมจีนไม่ว่าจะในโอกาสแสดงความยินดี ต้อนรับ หรือขอบคุณมักจะจัดอาหารเลี้ยงกันเป็นประจำจนกลายเป็นประเพณีไปโดยปริยาย ดังความว่า

                            “...อ้วนถำได้ฟังดังนั้นก็มีความสงสารเป็นอันมาก ก็ให้แต่งโต๊ะเลี้ยงแล้วจัดแจงที่อยู่ให้เล่าปี่อาศัย จึงแต่งหนังสือบอกไปถึงบิดาตามคำเล่าปี่ให้ม้าใช้ถือไปก่อน...”

                   ๔.๒ การให้ของกำนัล การให้ของกำนัลเป็นสิ่งที่ชาวจีนนิยมทำกันในเกือบทุกโอกาส จากเรื่องจะเห็นได้ว่า โจโฉให้เครื่องเงิน เครื่องทองเสื้อผ้าดีๆและให้ผ้าแพรขาวอย่างดีแก่กวนอูเพื่อทำถุงใส่หนวด การให้ของกำนัลเช่นนี้เป็นกลวิธีหนึ่งที่ชาวจีนนิยมกระทำเพื่อเป็นเครื่องผูกใจดังความว่า

                            “ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง  โจโฉให้เชิญกวนอูมากินโต๊ะ  เห็นกวนอูห่มเสื้อขาด  โจโฉจึงเอาเสื้ออย่างดีให้กวนอู  กวนอูรับเอาเสื้อแล้ว  จึงเอาเสื้อใหม่นั้นใส่ชั้นใน  เอาเสื้อเก่านั้นใส่ชั้นนอก 

                         “กวนอูจึงตอบว่าหนวดของข้าพเจ้าประมาณร้อยเส้น  ครั้นถึงเทศกาลหนาวก็หล่นไปบ้าง  ข้าพเจ้าจึงทำถุงใส่ไว้  โจโฉได้ฟังดังนั้นจึงเอาแพรขาวอย่างดี  ทำถุงให้กวนอูสำหรับใส่หนวด

                   สามก๊กตอนที่เรียนเป็นตอนที่เน้นด้านคุณธรรม จริยธรรมของตัวละคร เช่น ความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู การยึดถือสัจจะ ซึ่งถือเป็นค่านิยมที่ทุกสังคมยกย่องเพียงแต่ในแต่ละสังคมให้ความสำคัญมากน้อยต่างกัน