แกนนำขบวนการเสรีไทยในอังกฤษคือใคร

เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจโครงสร้างของขบวนการและเห็นบทบาทของบุคคลที่ต่างกันในการรวมตัวกันเป็นเสรีไทยจึงขอจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่

1. ขบวนการภายในประเทศ

ก่อนหน้าจะติดต่อกับเสรีไทยนอกประเทศได้นั้นขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศยังไม่มีกองกำลังของตนเอง มีเพียงแต่ผู้ร่วมปฏิบัติงานที่เข้าร่วมงานใต้ดินเพื่อเอกราชของชาติไม่ว่าทางใดๆ และปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าขบวนการต่อต้านคือนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีกลุ่มคนสำคัญคือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในอำนาจรัฐ เช่น บางส่วนของคณะรัฐมนตรี นักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการกลุ่มต่างๆ โดยในทางการเมืองได้วางเป้าหมายที่ต้องการโค่นอำนาจจอมพล ป. เพื่อจะสามารถปลดเปลื้องพันธกรณีที่ไทยทำไว้กับญี่ปุ่น ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสานมีบทบาทในฐานะเป็นผู้สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงไปถึงข้าราชการและประชาชนในพื้นที่อีกจำนวนมากที่ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นกองกำลังที่สำคัญของเสรีไทย

ในส่วนของสมาชิกขบวนเสรีไทยในประเทศสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มสำคัญได้สามระดับกล่าวคือ ระดับแกนนำคือลูกศิษย์ลูกหาและคนใกล้ชิดนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า "รู้ธ" โดยแบ่งหน้าที่กันทำงานสำคัญ เช่น การติดต่อกับต่างประเทศ การไปจัดตั้งหน่วยกองกำลังขึ้นในจังหวัดต่างๆ รับส่งอาวุธและพลพรรคเสรีไทยเข้าออกประเทศ ระดับสองคือคนที่ร่วมมือด้วยคือนักการเมืองที่เห็นด้วยและยืนข้างเดียวกันคือผู้ที่มีเป้าหมายทางการเมืองในการดำเนินงานให้รัฐบาลจอมพล ป.พ้นจากการเป็นรัฐบาลและปลดพันธกรณีกับญี่ปุ่น และระดับที่สามซึ่งมีมากที่สุดคือผู้ที่ปฏิบัติงานด้วยความรักชาติจากการจัดตั้งของสมาชิกในขบวนการ ซึ่งสมาชิกเสรีไทยต่างต้องปิดบังฐานะกันอย่างเคร่งครัดและไม่รู้จักกันในแนวราบแต่จะรู้ว่าตนเองขึ้นตรงหรือรับคำสั่งจากใคร มีเพียงหัวหน้าขบวนการในประเทศคือนายปรีดี พนมยงค์เท่านั้นที่รู้เรื่องราวทั้งหมด

เป้าหมายของการทำงานของขบวนการเสรีไทยในประเทศคือต้องการติดต่อกับชาติพันธมิตร เพื่อส่งข่าวให้ทราบว่ามีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ในประเทศ และต้องการความร่วมมือในทางการทหารคือจัดตั้งกองกำลังขึ้นมาร่วมรบต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อสถานการณ์การใช้กำลังมาถึง โดยการจัดตั้งกำลังติดอาวุธขึ้นในจังหวัดต่างๆ ขึ้นมาเตรียมพร้อมเอาไว้และมีการฝึกนักเรียนทหารสารวัตรจากนักศึกษาในกรุงเทพฯ ซึ่งความร่วมมือกับพันธมิตรจะถูกจำกัดอยู่ในเรื่องนี้เป็นหลักโดยเฉพาะกับทางอังกฤษ โดยยังมีการดำเนินการทางการเมืองเพื่อหาทางให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศผู้แพ้สงครามเป็นเป้าหมายที่นายปรีดีให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกที่ต้องการบรรลุด้วย และได้ดำเนินการผ่านทางสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก

หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลจากจอมพล ป. พิบูลสงครามมาเป็นรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ที่กล่าวขานกันว่าเป็นรัฐบาลเสรีไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2487 แล้ว การดำเนินงานของเสรีไทยก็เป็นไปอย่างก้าวหน้ามากขึ้น ประกอบกับการติดต่อระหว่างพลพรรคเสรีไทยที่มาจากนอกประเทศอยู่แล้วถูกควบคุมตัวสามารถติดต่อกับเสรีไทยนอกประเทศทั้งสายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้อย่างสะดวก ขบวนการเสรีไทยในประเทศจึงเกิดการเคลื่อนไหวกันอย่าคึกคัก เริ่มมีการจัดตั้งกองกำลังเสรีไทยขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนของเสรีไทยนอกประเทศและกองทัพสัมพันธมิตรที่ต้องการให้มีการจัดตั้งกองกำลังเสรีไทยขึ้นในประเทศในท้องที่จังหวัดต่างๆ

ดังนั้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการขับไล่ญี่ปุ่นที่จำเป็นต้องมีกองกำลังเป็นของตนเอง จึงมีการฝึกพลพรรคเสรีไทยซึ่งมีอยู่สองขั้นตอน ได้แก่[8]

ขั้นตอนที่ 1 การจัดเตรียมบุคคล เพื่อที่จะเป็นหัวหน้าทำการฝึกอาวุธ และสอนยุทธวิธีการสู้รบให้แก่พลพรรคเสรีไทย ที่มีการจัดตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะจัดส่งตำรวจ ทหาร พลเรือน ในค่ายของสัมพันธมิตรในอินเดียและเกาะลังกาแล้ว ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตรขึ้นเพื่อฝึกฝนวิชาทหารให้กับนิสิตจุฬาลงกรณ์และนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อันเป็นกำลังพลที่มีความรู้ที่จะสามารถไปขยายการฝึกให้กับสมาชิกส่วนอื่นต่อได้ โดยการจัดการฝึกกองกำลังนายทหารสารวัตรได้ทำอย่างเปิดเผยเป็นที่รับรู้ทั้งฝ่ายทหารไทยและกองทัพญี่ปุ่นด้วย

ขั้นตอนที่ 2 การขยายแนวร่วมด้วยการจัดฝึกกองกำลังใต้ดินขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศด้วยความร่วมมือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และครูที่เป็นกำลังหลักของเสรีไทย โดยแบ่งตามพื้นที่รับผิดชอบของผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัด ประสานกับนายทหารเสรีไทยทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

โดยฝ่ายกองทัพอังกฤษและอเมริกาได้แบ่งเขตรับผิดชอบจัดตั้งกองกำลังขึ้น จากการประชุมร่วมกันระหว่าง ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย กับพลจัตวา วิคเตอร์ จ๊าค ผู้แทนฝ่ายอังกฤษ และร้อยเอก โฮเวิร์ต ปาลเมอร์ และได้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบกันดังนี้ พื้นที่ทำงานร่วมกับอังกฤษ ได้แก่ อ่างทอง อยุธยา อุทัยธานี เพชรบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย ชัยภูมิ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชุมพร แพร่ เชียงราย พื้นที่ทำงานร่วมกันอเมริกา ได้แก่ ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม หนองคาย นครพนม สกลนคร เลย อุบลราชธานี ตาก ลำปาง ทุกค่ายฝึกจะมีการฝึกการรบและการใช้อาวุธแบบใหม่ที่ทางพันธมิตรสายอเมริกาส่งมาให้

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตร และโรงเรียนนายสิบสารวัตรทหาร โดยรับสมัครนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนเตรียมปริญญาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักเรียนโรงเรียนเตรียมนายเรือ มาฝึกให้เป็นผู้บังคับบัญชาของกองกำลังใต้ดินเพื่อเตรียมสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นในวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนดให้มีการต่อสู้ มีการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในประเทศร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น ส่งข่าวด้านยุทธศาสตร์ทางทหารตลอดจนรายงานสภาพดินฟ้าอากาศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบ ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถปฏิบัติการทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงปลายสงคราม

กล่าวได้ว่าขบวนการเสรีไทยแม้ตอนเริ่มต้นจะจำกัดอยู่ในหมู่คนจำนวนน้อยที่เป็นชนชั้นนำ คือ ข้าราชการ นักการเมือง และนักเรียนนอกทั้งหลายที่อยู่ใกล้ชิดอำนาจรัฐ แต่ในตอนหลังสมาชิกของขบวนการได้เกิดการขยายตัวไปอย่างมากและกลายเป็นขบวนการที่มีผู้เข้าร่วมอย่างกว้างขวางในประชาชนทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่ ข้าราชการ ครู ผู้นำชุมชน นักธุรกิจ พ่อค้า นักเรียนนักศึกษา กระทั่งชาวบ้านที่เป็นชาวไร่ชาวนา จนกลายเป็นขบวนการของมวลมหาชนไทยผู้รักชาติที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องเอกราชของชาติจากการเข้าร่วมฝึกเป็นกองกำลังต่อสู้ด้วยอาวุธของเสรีไทยที่มีจำนวนมากในต่างจังหวัด ซึ่งประมาณการกันว่าสมาชิกเสรีไทยที่ได้รับการฝึกและมีอาวุธครบมืออาจมีถึง 45,000 ถึง 50,000 คน กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ ที่จังหวัดสกลนครภายใต้การนำของนายเตียง ศิริขันธ์ มีพลพรรคที่ผ่านการฝึกแล้วถึง 3,500 คน จังหวัดมหาสารคามมีจำนวน 4,000 คน ชลบุรีจำนวน 2,000 คน จังหวัดอุบลราชธานีมีกำลังจำนวน 3,000 คน เป็นต้น[9] ขบวนการเสรีไทยจึงอาจจะเป็นเพียงขบวนการเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่ดึงเอาการมีส่วนร่วมของผู้คนได้กว้างขวางที่สุดในการทำงานเพื่อรับใช้ชาติด้วยความสมัครใจ

2. ขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา

ภายหลังจากทราบข่าวรัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปทำสงคราม จากโทรเลขที่มาถึงสถานทูตไทยในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้รับคำสั่งให้ประกาศยอมแพ้และเผาเอกสารสำคัญทิ้ง แต่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชได้ปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลเพราะถือว่าเป็นรัฐบาลตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น สถานทูตจะรับฟังเฉพาะคำสั่งของรัฐบาลที่ไม่ถูกแทรกแซงจากญี่ปุ่นเท่านั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ได้อ้างเหตุผลของการไม่ยอมรับคำสั่งรัฐบาลให้ยอมแพ้แก่ญี่ปุ่นไว้ 3 ประการคือ ประการแรกถ้าสหรัฐอเมริกาชนะสงครามสถานทูตจะสามารถต่อรองเพื่อเอกราชของชาติได้ ประการที่สองได้ยึดเอาพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่ของคนไทยในเวลารบ พ.ศ. 2484 ที่กำหนดให้คนไทยต้องต่อสู้ผู้รุกรานทุกวิถีทาง ทั้งยังกำหนดไว้ด้วยว่าถ้าคนไทยไม่อยู่ในฐานะจะรับคำสั่งจากรัฐบาลก็ให้ดำเนินการต่อต้านไปโดยลำพัง และประการที่ 3 ความเชื่อในประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่เป็นเอกราชไม่ยอมตกเป็นทาสใครมาตลอด จึงประกาศไม่ยอมแพ้เพื่อเป็นหนทางให้คนไทยที่ต้องการร่วมต่อต้านผู้รุกรานได้มาทำงานร่วมกัน[10]

ต่อมาอีก 2 วันคือวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้ประกาศจัดตั้งขบวนการเสรีไทยต่อหนังสือพิมพ์อเมริกัน โดยแถลงเป็นใจความว่า การที่รัฐบาลยอมแพ้ญี่ปุ่นไม่ใช่เป็นเจตนาของคนไทยส่วนใหญ่ จึงจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อร่วมมือกับสัมพันธมิตรต่อสู้ญี่ปุ่น และขอชักชวนให้คนทั้งในและนอกประเทศเข้าร่วมกับขบวนการนี้ด้วย[11] หลังจากนั้นในตอนค่ำก็ได้รับอนุญาตจากทางการสหรัฐอเมริกาให้ปราศรัยทางวิทยุคลื่นสั้นจากสหรัฐฯ ถึงประชาชนชาวไทยมีใจความว่าอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชจะยืนหยัดต่อสู้ในอเมริกาต่อไปเพื่อปลดปล่อยประเทศไทยให้กลับคืนมาซึ่งอิสรภาพของชาติไทย โดยมั่นใจว่าสหรัฐอเมริกาและสัมพันธมิตรจะเป็นฝ่ายชนะสงครามในที่สุด และขอเรียกร้องให้คนไทยทั้งชาติพร้อมใจกันกู้เอกราชและอธิปไตยจากผู้รุกราน [12]

จากนั้นอัครราชทูตจึงได้แจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาทราบว่าสถานทูตไทยไม่ยอมรับรัฐบาลไทย เนื่องจากรัฐบาลตัดสินใจภายใต้อำนาจบงการของประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่เป็นความเห็นชอบของประชาชนชาวไทย แต่กลับมีคนไทยเป็นจำนวนมากที่ต่อต้านญี่ปุ่น โดยทางข้าราชการสถานทูตจะขอใช้สถานทูตไทยในสหรัฐเพื่อต่อสู้กับศัตรูผู้รุกราน ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาก็อนุญาต จึงเป็นจุดเริ่มต้นการดำเนินงานของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแผนการจะใช้สถานทูตเป็นสถานที่หลักในการต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชอ้างว่าได้เตรียมการไว้ก่อนสงครามเกิดแล้ว เพราะมองว่าจะเป็นทางหนีทีไล่สำคัญของการรักษาเอกราชของชาติไทยได้ [13]

ต่อมาเมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในวันที่ 25 มกราคม 2485 แต่ปรากฏว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชไม่ได้ยื่นเอกสารประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และแจ้งให้สื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาได้ทราบว่า ได้เก็บคำประกาศสงครามไว้ในกระเป๋าเสื้อ ขณะเข้าพบกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเชื่อว่าการประกาศสงครามของรัฐบาล มิได้เป็นไปตามเจตนาของประชาชนไทย สหรัฐอเมริกาเลยไม่ได้ประกาศสงครามตอบเช่นกัน แม้ว่าในความจริงรัฐบาลไทยจะแจ้งการประกาศสงครามให้แก่กงสุลสวิตเซอร์แลนด์ที่กรุงเทพฯ ได้รับทราบ ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของอังกฤษและอเมริกา ซึ่งในทางการทูตถือว่าการประกาศสงครามสมบูรณ์แล้ว แต่รัฐบาลอเมริกาไม่รับรู้การประกาศสงครามของประเทศไทย เนื่องจากถือว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง กรณีนี้ยังผลให้ไทยได้ประโยชน์อย่างมากจากการรับรองของสหรัฐฯ ในการเจรจาสถานะของไทยหลังสงคราม

เพื่อเป็นการตอบแทนทางการสหรัฐฯ ในความสนับสนุนต่อสถานทูตไทย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชได้ตกลงใจดำเนินการช่วยเหลือสหรัฐฯ ในการทำสงคราม 3 ด้านด้วยกันคือ การประชา สัมพันธ์ประเทศไทย ช่วยเหลือทางภารกิจด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และปฏิบัติการทางการทหารด้วยการจัดตั้งหน่วยทหารไทย ภายใต้กองทัพสหรัฐฯ ที่ได้จัดตั้งหน่วยงานปฏิบัติการสงครามพิเศษที่ใช้ชื่อว่า “สำนักบริการทางยุทธศาสตร์ (Office of Strategic Service: O.S.S.)” ขึ้นมาทำหน้าที่นี้ ซึ่งต่อมากลายเป็นหน่วยงานองค์การสืบสวนกลาง (Central Intelligence Agency: CIA) นั่นเอง

หลังประกาศสงครามกับสหรัฐฯ แล้วรัฐบาลไทยได้ประกาศให้ข้าราชการและนักเรียนไทยในสหรัฐฯ เดินทางกลับประเทศด้วยการแลกเปลี่ยนเชลยกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะถือว่าคนไทยเป็นชนชาติศัตรู ถ้าไม่กลับก็จะถูกถอนสัญชาติไทย แต่ปรากฏว่ามีคนไทยเดินทางกลับเพียง 18 คน ยังเหลือข้าราชการสถานทูตและนักเรียนไทยอยู่ในสหรัฐฯ และแคนาดาจำนวน 82 คน ซึ่งคนไทยที่อยู่ในสหรัฐฯ ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อปลดปล่อยประเทศไทยจากการยึดครองในนาม “ขบวนการเสรีไทย” ที่ได้ดำเนินการอย่างมีระบบแบบแผนของขบวนการชัดเจน

โดยในระยะแรกการแบ่งบทบาทหน้าที่ของคนไทยในสหรัฐอย่างเป็นทางการมีขึ้น ดังปรากฏเอกสารในหนังสือเวียนฉบับที่ 9 ของสถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2485 ดังปรากฏการแบ่งงานออกเป็นแผนกต่างๆ 4 แผนกโดยมีอำนาจหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างชัดเจน กล่าวคือ

แผนกที่หนึ่ง หน้าที่ของข้าราชการสถานทูต ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูต มีหน้าที่เจรจากับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านการเมือง ม.ล.ขาบ กุญชร มีหน้าที่เจรจากับเจ้าหน้าที่ด้านการทหาร หลวงดิษฐการภักดี มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงิน นายมณี สาณะเสน ร่างตรวจแก้เอกสารที่จะออกจากสถานทูต นายอนันต์ จินตกานนท์ พิมพ์และจเรทั่วไป

แผนกที่สอง ดำเนินงานทางการเมือง เป็นบทบาทของสถานทูตที่ต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลอเมริกันให้เข้าใจถึงสถานะของไทยที่ถูกยึดครอง และต้องคอยประสานให้ฝ่ายอเมริกันเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือคนไทยในสหรัฐฯ ได้ทำงานกู้ชาติ

แผนกที่สาม งานสร้างชาติใหม่ ก็คือการเรียกร้องให้คนไทยเสียสละรับใช้ชาติเพื่อกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติ ซึ่งต่อมาข้อนี้คือการจัดตั้งกองทหารเสรีไทยขึ้นนั่นเอง

แผนกที่สี่ งานช่วยเหลือร่วมมือของคนไทย ซึ่งก็คือความช่วยเหลือที่คนไทยได้ทำให้กับประเทศชาติทั้งการช่วยเงิน แรงงานและที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านการแสดงทางวัฒนธรรมและการกระจายเสียงทางวิทยุคลื่นสั้นเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยและปลุกระดมให้คนไทยกู้เอกราช และได้จัดทำบัญชีแสดงการได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยด้วย [14]

โดยหลังจากการประชุมร่วมกันของข้าราชการสถานทูตและนักเรียนไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2485 แล้ว ทุกฝ่ายที่เดิมเคยมีความคิดเห็นขัดแย้งไม่ลงรอยกันไม่ว่าจะเป็นระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชอัครราชทูตกับ ม.ล. ขาบ กุญชร ทูตทหารประจำสถานทูต หรือกรณีที่นักเรียนไทยไม่ยอมรับฐานะของสถานทูตอย่างเด็ดขาด แต่ต้องการทำเพื่อชาติอย่างแท้จริงมากกว่า จึงได้หาทางออกร่วมกันว่าจะจัดตั้งองค์กรปลดปล่อยประเทศไทยให้เป็นเอกราชหลังสงคราม รวมทั้งจัดรูปแบบองค์กรขึ้นให้อยู่ในรูปของคณะกรรมการที่มีสถานทูตและนักเรียนไทยร่วมกันเป็นกรรมการ โดยให้อัครราชทูตเป็นประธานและข้าราชการสถานทูตทุกคนเป็นกรรมการและฝ่ายนักเรียนมีตัวแทนเป็นกรรมการสองคน โดยชุดแรกมีนายการะเวก ศรีวิจารณ์ และนายจก ณ ระนองเป็นกรรมการ มีข้อกำหนดเอาไว้ว่าการดำเนินการใดๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเสมอ และนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งขบวนการกู้ชาติที่ใช้ชื่อว่า "เสรีไทย (Free Thai)"[15] ซึ่งชื่อนี้ได้กลายเป็นชื่อเรียกขบวนการปลดปล่อยประเทศไทยที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายต่อมา

และจากการประชุมดังกล่าวก็ได้จัดตั้งกองทหารเสรีไทยขึ้นจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา โดยกองกำลังทหารของเสรีไทยในกองทัพสหรัฐฯ นี้นับได้ว่าเป็นกองกำลังของไทยโดยแท้จริง เนื่องจากดำเนินงานโดยคนไทยทั้งหมดและใช้งบประมาณของสถานทูตที่รัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้เบิกเงินสำรองที่ถูกกักไว้มาใช้ รวมทั้งชุดทหารที่มีธงชาติไทยและเขียนว่า "FREE THAI" กับเครื่องหมายชั้นยศประดับชุดทหารเป็นของตนเอง มีภารกิจทางการทหารที่แน่ชัดในการเข้าประเทศไทยเพื่อดำเนินการหาข่าวและแสวงความร่วมมือทางทหารเพื่อต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น โดยรับคำสั่งจากกองบังคับการกองบัญชาการ 404 (Detachment 404) ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาการของหน่วยกิจการยุทธศาสตร์ (O.S.S.) อีกทีหนึ่ง

กองกำลังเสรีไทยได้ฝึกภาคสนามวิชาการทหารเพื่อเตรียมความพร้อมในการไปปฏิบัติการในสนามรบเมืองไทย ทั้งวิชาการก่อจารกรรม การส่งข่าว กระโดดร่ม การต่อสู้และการใช้อาวุธจากหน่วยทหารสหรัฐฯ โดยกองกำลังเสรีไทยรุ่นแรกจำนวน 23 คน เริ่มเข้ารับการฝึกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2485 หลังจากนั้นเมื่อเสรีไทยในประเทศได้ออกมาติดต่อกับเสรีไทยนอกประเทศคือที่สหรัฐฯ ได้แล้ว ทหารเสรีไทยสายอเมริกาก็ทยอยเล็ดลอดเข้ามาปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย

ในขณะที่กองกำลังเสรีไทยดำเนินการด้านทหารภายใต้การร่วมกันปฏิบัติงานกับทหารอเมริกันอย่างใกล้ชิด แต่การดำเนินงานของสถานทูตแยกออกไปอย่างชัดเจนไปปฏิบัติงานด้านการเมือง และเตรียมหาลู่ทางเจรจาให้ไทยพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม โดยการทำงานที่เรียกว่าสงครามจิตวิทยาด้วยการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีกับสัมพันธมิตร รวมทั้งการกระจายเสียงทางวิทยุกลับมายังประเทศไทยให้ทางคนไทยในประเทศรับรู้สถานการณ์สงคราม และคอยให้กำลังใจคนไทยรู้ว่ามีคณะกู้ชาติอยู่ไม่ให้สิ้นหวัง

3. เสรีไทยสายอังกฤษ

คนไทยส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในอังกฤษมีปฏิกิริยาคล้ายกับคนไทยในอเมริกา เมื่อได้รับทราบข่าวว่ารัฐบาลยอมให้ทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย กล่าวคือนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษต่างไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาลเป็นอย่างมาก และได้ประณามการกระทำของจอมพล ป. พิบูลสงครามอีกด้วย แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดของกลุ่มคนไทยในอังกฤษก็คือบทบาทของสถานทูตไทยประเทศอังกฤษที่มี พระมนูเวทวิมลนาท (เบี๋ยน สุมาวงศ์) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทย ได้ยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลอย่างเต็มใจ รวมทั้งยังได้ห้ามปรามนักเรียนไม่ให้เคลื่อนไหวต่อต้านคำสั่งของรัฐบาลอีกด้วย โดยพยายามให้ทุกคนเดินทางกลับประเทศไทยทันที

เมื่อปรากฏว่าสถานทูตไทยไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ นักเรียนและคนไทยในอังกฤษจึงได้ทำการต่อต้านรัฐบาลไปตามวิธีการของตน กลุ่มผู้ต่อต้านญี่ปุ่นในการยึดครองประเทศไทยในอังกฤษช่วงแรกจึงเกิดขึ้นกระจัดกระจายรวมตัวกันไม่ติด การทำงานร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มต้นจากปัจเจกบุคคลมากกว่า เช่น ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ที่ได้ติดต่อกับกองทัพอังกฤษเพื่อขอช่วยราชการทหารยามสงคราม ซึ่งทางอังกฤษก็ตอบรับให้มาทำหน้าที่ด้านการให้ข่าวและทำแผนที่ประเทศไทย เมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ วันที่ 25 มกราคม 248 และรัฐบาลอังกฤษประกาศสงครามตอบในเวลาต่อมา ทำให้สถานภาพของคนไทยในตอนนั้นตกอยู่ในฐานะคนของชนชาติศัตรู จึงต้องหาทางออกด้วยการพยายามร่วมมือกับทางการอังกฤษ โดยในเดือนมีนาคม 2485 ทางกลุ่มนักเรียนไทยได้ส่งเสนาะ ตันบุญยืน เข้าพบ ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ เพื่อแจ้งความจำนงว่ามีนักเรียนไทยในอังกฤษเป็นจำนวนมากต่อต้านญี่ปุ่นและต้องการช่วยเหลือทางการอังกฤษต่อสู้กับญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ จึงได้ทำหนังสือเสนอ นายวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพื่อก่อตั้งกองทหารไทยสู้รบกับญี่ปุ่นในประเทศไทย

แต่การตั้งขบวนการเสรีไทยในอังกฤษเป็นไปด้วยความยุ่งยากเพราะไม่มีผู้ที่จะเป็นหัวหน้าได้เพราะผู้อาวุโสจะเป็นเชื้อพระวงศ์ที่ต้องระมัดระวังไม่ให้ไปกระทบกระเทือนกับการเมืองภายในประเทศ ส่วนนักเรียนด้วยกันเองก็ยังอยู่ในวัยใกล้เคียงกันจึงยากจะหาผู้ใดที่เป็นที่ยอมรับของคนทั้งหมด จึงทำให้ไม่สามารถตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นสำเร็จ ดังนั้นที่ประชุมนักเรียนไทยที่เค็มบริดจ์จึงมอบหมายให้นายเสนาะ ตันบุญยืนทำหนังสือไปขอความช่วยเหลือจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันในเรื่องขบวนการเสรีไทยที่เข้มแข็งและจริงจัง ทางม.ร.ว.เสนีย์ให้คำตอบว่าจะช่วยเหลือเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2485 ในการนี้นายมณี สาณะเสน ในฐานะผู้ที่เคยทำงานในอังกฤษ ได้ถูกส่งมาให้ทำหน้าที่ช่วยรวบรวมคนให้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ แต่ก็ใช่ว่าการทำงานจะราบรื่นเนื่องจากเขาไม่เป็นที่รู้จักของนักเรียนไทยในอังกฤษมาก่อน แต่ก็ได้ใช้วิธีการออกจดหมายเชิญชวนให้สมัครเป็นกองกำลังเสรีไทย ปรากฏว่ามีคนไทยและนักเรียนไทยสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกองทัพอังกฤษจำนวน 50 คน ผ่านการคัดเลือกเป็นทหาร 36 คน ที่เหลือเป็นอาสาสมัครในแนวหลัง รวมทั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษด้วย ก็ได้ให้การสนับสนุนและเป็นกำลังใจกับเสรีไทยในอังกฤษด้วย

สาเหตุการเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในอังกฤษนั้นมีหลากหลาย ดังที่ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในเสรีไทยได้เขียนถึงความมุ่งหมายของขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษไว้ว่า

เหล่าเสรีไทยในอังกฤษทั้งกว่า 50 คนนี้อาจจะอาสาสมัครเข้าเป็นเสรีไทยด้วยเหตุต่าง ๆ กัน ได้เคยมีการถกเถียงกันถึงเรื่องนี้ในระหว่างที่สมัครเข้าใหม่ ๆ และระหว่างที่เดินทางหรือพักแรมในที่ต่างๆ บางคนก็ว่าสมัครเพื่อกู้ชาติ บางคนก็ว่าเพื่อเสรีภาพและความชอบธรรมแห่งชีวิต บางคนก็พูดไม่ออก นอกจากจะเห็นเป็นหน้าที่... อย่างไรก็ตาม พอจะพูดได้ว่าความมุ่งหมายร่วมกันของพวกเราได้ระบุไว้เด่นชัด ดังต่อไปนี้

1. พวกเราเข้าเป็นทหารอังกฤษ มิใช่เพื่อรับใช้ชาติอังกฤษ แต่ต้องการรับใช้ชาติไทย โดยอาศัยอังกฤษร่วมมือ

2. คณะของเรามิต้องการที่จะเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศ และไม่ยอมเป็นเครื่องมือในการเมืองของพรรคใด ผู้ใดที่เป็นเสรีไทยภายในประเทศเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น คณะของเราจะร่วมมือด้วยทั้งนั้น และเมื่อเลิกสงครามแล้ว คณะเสรีไทยอังกฤษก็จะสลายตัวไป

3. คณะเสรีไทยจะไม่ถือโอกาสแอบอ้างผลความดีใด ๆ มาเรียกร้องแสวงประโยชน์ส่วนตัวในด้าน ลาภ ยศ หรือด้านอื่นใด

4. คณะเสรีไทยอังกฤษได้แสดงให้ทางอังกฤษเห็นแจ้งชัดแต่เริ่มแรก ว่าคณะของเราต้องการกระทำการใด ๆ ในระหว่างสงครามในลักษณะทหาร กล่าวคืออยู่ในเครื่องแบบและยศทหาร แม้ว่าจะเป็นพลทหารก็ยินยอม ทั้งนี้หมายความว่าไม่ยอมเป็นเครื่องมือในลักษณะจารชน ถ้าจะต้องปฏิบัติราชการลับก็ทำในฐานเป็นทหาร[16]

หลังจากรัฐบาลอังกฤษได้ยินยอมให้คนไทยเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษแล้ว ก็ยังไม่ได้ไว้วางใจเสียทีเดียวได้มีการทดสอบความอดทนและจริงใจด้วยการฝึกอย่างหนักและให้ไปอยู่ในหน่วยการโยธาของกองทัพที่ทำงานบริการตั้งแต่ทำความสะอาดค่ายทหาร ล้างส้วม อยู่ยาม แบกกระสอบถ่านหิน ขุด ขนและปอกมันฝรั่ง ฯลฯ ในค่ายทหารทางเหนือของอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2485 เมื่อฝึกได้ราว 6 เดือนทหารกลุ่มนี้ก็ถูกส่งตัวให้ไปฝึกเพิ่มเติมเพื่อเตรียมตัวปฏิบัติงานในอินเดีย โดยออกเดินทางจากอังกฤษทางเรือไปถึงอินเดียขึ้นบกที่เมืองบอมเบย์เมื่อวันที่ 27เมษายน พ.ศ. 2486

ในอินเดียพลทหารเสรีไทยทั้ง 36 คนได้ถูกคัดเลือกให้ไปปฏิบัติงานต่างๆ กัน อาทิ ไปประจำอยู่เดลฮีเพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงและรับข่าววิทยุจากประเทศไทย เข้าประจำหน่วยสืบราชการลับ หน่วยทำแผนที่ กลุ่มใหญ่จำนวน 22 คนถูกส่งไปฝึกการรบแบบกองโจร การล้วงความลับ การอยู่กินในป่า การรับส่งวิทยุ กลุ่มนี้สังกัดแผนกไทยของกองกำลัง 136 (Force 136) แห่งหน่วยบริหารงานพิเศษ (Special Operations Executive-S.O.E) โดยทหารเสรีไทยฝึกสำเร็จได้ยศร้อยตรีแห่งกองทัพอังกฤษภายในเวลา 5 เดือนจำนวน 21 คนยกเว้นแค่หนึ่งคนที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ไม่ปกติจึงต้องไปทำงานรับส่งวิทยุ[17]

กล่าวได้ว่ากว่าเสรีไทยสายอังกฤษจะพร้อมสำหรับปฏิบัติการทางทหารในการเข้าร่วมมือกับกลุ่มต่อต้านในประเทศไทยก็ล่วงเข้าสู่ปลายปี พ.ศ. 2486 แล้ว โดยเสรีไทยสองคนแรกที่เข้าประเทศไทยคือ จุ๊นเคง รินทกุลและสวัสดิ์ ศรีสุขในหน่วยสืบราชการลับได้เดินทางด้วยเรือดำน้ำมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดพังงาเมื่อคืนวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 โดยมีหน้าที่เพียงสืบสถานการณ์ทั่วไปในจังหวัดภาคใต้เป็นเวลาเดือนเศษแล้วต้องกลับไปรายงาน แต่เกิดพลาดนัดกับเรือดำน้ำที่มารับเลยต้องตกอยู่ในเมืองไทยหลายเดือน จนในที่สุดจุ๊นเคงหาคนที่ไว้ใจได้พาเข้าพบ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส [18]

หลังจากนั้นนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษก็ทยอยเดินทางเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทยหลายระลอก และกลายเป็นปฏิบัติการที่ส่งผลดีต่อการปฏิบัติงานของเสรีไทยในภายหลังอย่างมากโดยเฉพาะการข่าวและแผนยุทธศาสตร์ ทั้งนี้การปฏิบัติการทางทหารเหล่านี้ยังเป็นผลดีทางการเมืองหลังสงครามในฐานเป็นการยืนยันถึงความตั้งใจจริงของฝ่ายไทยต่อสัมพันธมิตร