เสด็จไป ณ ที่ใด มีความสงบร่มเย็น ให้เกิดขึ้น ณ ที่ นั้น

วันมาฆบูชา

เสด็จไป ณ ที่ใด มีความสงบร่มเย็น ให้เกิดขึ้น ณ ที่ นั้น

เป็นวันบูชาพิเศษที่เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ วันนี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" ซึ่งถือกันว่า เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เนื่องจากวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาตขึ้น และเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการและอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนา อันมีเนื้อหาหลัก ว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว เพราะสอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก
คำว่า มาฆบูชาหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือ เดือน 3 หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงในคืนขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 นั่นเอง เหตุที่พุทธศาสนิกชนถือว่า วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ก็เพราะในวันนี้ ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ 9 เดือน นับแต่วันวิสาขบูชาขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ วัดเวฬุวัน อันเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้น พระสงฆ์สาวกที่พระพุทธเจ้าให้ไป เผยแพร่พระพุทธศาสนาตามเมืองต่างๆ ได้พร้อมใจกันกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกันถึง 1,250 องค์ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่ง เพราะสมัยโบราณที่ไม่มีโทรศัพท์ การติดต่อสื่อสาร การนัดหมาย คนจำนวนมากที่อยู่คนละทิศคนละทางให้มาพบกันหรือประชุมกันที่ใดที่หนึ่ง เป็นเรื่องที่ยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะการมาของสาวกเหล่านี้ ถือว่าเป็นการมาประชุมพิเศษที่ประกอบด้วยองค์ 4 อันเป็นที่มาของการเรียกวันนี้อีกอย่างว่า วันจาตุรงคสันนิบาตนั่นคือ
1. เป็นวันมาฆปุรณมี คือวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำกลางเดือนมาฆะ จึงเรียกว่า มาฆบูชา
2. พระภิกษุ 1,250 องค์ มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
3. พระภิกษุ เหล่านั้นล้วนเป็น เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา หมายถึง เป็นสาวกที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
4. พระภิกษุที่มาประชุมนี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ ประเภทฉฬภิญญา ที่สำเร็จอภิญญา 6
อภิญญา 6 คือความรู้อันยอดยิ่งมี 6 ประการได้แก่
1. แสดงฤทธิ์ได้ (อิทธิวิธี)
2. หูทิพย์ (ทิพยโสต)
3. รู้จักกำหนดใจผู้อื่น (เจโตปริยญาณ)
4. ระลึกชาติได้ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ)
5. ตาทิพย์ (ทิพยจักษุ)
6. ทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป-คือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย (อาสวักขยญาณ)
การประชุมที่ประกอบด้วยความพิเศษ 4 ประการข้างต้นนี้ เกิดขึ้นใน วันมาฆบูชา
นี้เป็นครั้งแรกและเป็นเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาลเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ด้วยเหตุนี้
พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งหลักธรรมคำสอนดังกล่าวจะเรียกว่าเป็น ธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา หรือ หัวใจของพุทธศาสนา ก็ได้
ในหนังสือวันสำคัญฯของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงหลักธรรมที่ว่านี้ว่าแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เป็นหลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
หลักการ 3 หมายถึง สาระสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจาและใจ
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยการทำความดีทุกอย่างทั้งกาย วาจาและใจ
3. การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งมวล ทำใจให้ปราศจากกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา
อุดมการณ์ 4 หมายถึง หลักการที่ทรงวางไว้ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่
1. ความอดทน ให้มีความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจาและใจ
2. ความไม่เบียดเบียน ให้งดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ คือ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจาและใจ และ
4. นิพพาน คือ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา ที่จะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามหลักมรรค 8
วิธีการ 6 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ ได้แก่
1. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายผู้อื่น
2. ไม่ทำร้าย คือไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าผู้อื่น
3. สำรวมในปาติโมกข์ คือการเคารพ ระเบียบ กติกา กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม
4. รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกิน พออยู่ หรือจะกล่าวแบบปัจจุบันว่าถือหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้
5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด คืออยู่ในสถานที่ที่สงบ และมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา
จะเห็นได้ว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสั่งสอนนี้ ล้วนมีความหมาย และความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่เพียงแต่ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตที่บวชเรียนเท่านั้น คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน และฆราวาส
อย่างพวกเราทุกคนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่า

วันวิสาขบูชา

เสด็จไป ณ ที่ใด มีความสงบร่มเย็น ให้เกิดขึ้น ณ ที่ นั้น

วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า วิสาขปุรณมีบูชาแปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือประมาณเดือนพฤษภาคม แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน วันวิสาขบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ ในวันวิสาขบูชา ดังนี้
1. ตรงกับวันประสูติ วันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
2. ตรงกับวันตรัสรู้ วันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี
3. ตรงกับวันปรินิพพาน วันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี
1. พระพุทธเจ้า ประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระเจ้าสุทโธทนะ ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครของพระราชบิดาของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน ปัจจุบันคือ ตำบลรุมมินเด แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น พระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" เมื่อพระองค์ มีพระชนมายุได้ 29 พรรษาได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
2. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี
การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธเจ้าอันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า "ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ" จนเวลาผ่านไปจนถึง
ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา
ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นพระอริยะ เป็นผู้ประเสริฐได้ อริยสัจ 4 ประกอบด้วย
1. ทุกข์ ( ธรรมที่ควรรู้ ) หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ เป็นสภาพบีบคั้นจิตใจและร่างกายให้ทนได้ยาก เมื่อทุกข์เกิดขึ้น บุคคลจะไม่สามารถละหรือคลายทุกข์ได้ ทุกข์จึงเป็นสภาวะที่จะต้องกำหนดรู้เพียงอย่างเดียวว่า นี้คือความทุกข์หรือปัญหาและต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเป็นธรรมดาของสัตว์โลกต้องปล่อยวางจึงจะทำให้ทุกข์บางเบาลงได้
2. สมุทัย (ธรรมที่ควรละ ) หมายถึง ต้นเหตุที่ให้เกิดทุกข์หรือปัญหา ซึ่งได้แก่ ความต้องการหรือที่เรียกว่าตัณหา มี 3 ประกายคือ กามตัณหา คือความปรารถนาในกามไม่หยุดหย่อน ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็นไม่เพียงพอ และวิภวตัณหา คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็นจนทุกข์
3. นิโรธ ( ธรรมที่ควรบรรลุ ) หมายถึง สภาวะที่ทุกข์หมดสิ้นไป สภาพที่ปราศจากทุกข์ มีแต่ความสงบร่มเย็น สภาวะที่จัดเป็นนิโรธนี้ถือเป็นที่สูงสุดในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ เป็นยอดปรารถนาของคนทั่วไปคือความดับทุกข์
4. มรรค ( ธรรมที่ควรเจริญ ) หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการมีสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ เป็นต้น โดยมรรคทั้ง 8 ประการนี้บุคคลจะต้องปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในตนครบทั้ง 8 ประการจึงสามารถถึงความดับทุกข์ได้
คุณค่าของอริยสัจ 4
อริยสัจ 4 ไม่เพียงแต่เป็นหลักความจริงอันประเสริฐ เป็นหลักแห่งเหตุและผล แต่ยังถือว่าเป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหาชีวิตอีกด้วย
ทั้ง 4 ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป
3. เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของ มัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป) การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีปของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลดเสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง 45 ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6นั้น
วันวิสาขบูชา จึงนับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ ที่มีต่อปวงมนุษย์และสรรพสัตว์อันหาที่สุดมิได้
การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา จุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา เพื่อรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง 3 ประการ ที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ

วันอัฐมีบูชา

เสด็จไป ณ ที่ใด มีความสงบร่มเย็น ให้เกิดขึ้น ณ ที่ นั้น

สำหรับเรื่องราวในตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จปรินิพพานนั้น พระพุทธองค์ทรงให้พระอานนท์ ปูลาดพระบรรทมเหนืออาสนะระหว่างต้นรังคู่ ทรงประทับบรรทมแบบสีหไสยา โปรดสุภัททะปริพาชกเป็นองค์สุดท้าย กล่าว"ปัจฉิมโอวาท" แล้วจึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ประทาน ปัจฉิมโอวาท หมายถึง ปัจฉิมวาจา คือ พระดำรัสสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานว่าวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถแปลว่า
สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด
แล้วพระองค์ก็ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ใต้ต้นสาละคู่ที่ออกดอกบานสะพรั่งเป็นพุทธบูชา ในเมืองกุสินารา
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว คณะสงฆ์และเจ้ามัลลกษัตริย์ ผู้ครองเมืองกุสินารา ก็ได้ทำพิธีสักการบูชาพระศพพระพุทธเจ้าเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จากนั้นจึงเชิญพระบรมศพไปยัง มกุฎพันธนเจดีย์ เพื่อถวายพระเพลิง แต่เมื่อจะจุดไฟเผาพระพุทธสรีระ ไฟกลับจุดเท่าไรก็ไม่ติดเสียที โดยที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากว่า พระพุทธเจ้าต้องการรอให้ พระมหากัสสปะ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งได้เดินทางออกไปประกาศพระศาสนาที่นอกเมืองไกลได้มาถวายบังคมพระบรมศพเสียก่อน
ฝ่ายพระมหากัสสปะ ซึ่งกำลังเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาพร้อมด้วยพระสงฆ์หลายร้อยรูป ก็ได้พบกับอาชีวก หรือนักบวชนอกศาสนาคนหนึ่งเดินสวนทางมา ในมือถือดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่จะออกดอกเพียงสองครั้ง คือเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ และเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ดังนั้น พระมหากัสสปะจึงทราบได้ทันทีว่าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว จึงรีบเดินทางกลับมาเพื่อถวายความเคารพพระบรมศพท่าน
เมื่อพระมหากัสสปะมาถึงแล้วก็ได้เข้าไปเคารพพระบรมศพ โดยทำประทักษิณาเวียนขวา 3 รอบและถวายความเคารพเบื้องพระบาทของพระพุทธเจ้า ทันใดนั้นพระบาทก็ยื่นทะลุหีบแก้วออกมาเพื่อรับการถวายความเคารพของพระมหากัสสปะ และจากนั้นก็ปรากฏว่า ไฟได้ลุกติดขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีใครจุด และเผาพระพุทธสรีระจนหมดสิ้น
เหตุการณ์ในตอนที่พระพุทธเจ้ายื่นพระบาททะลุหีบแก้วออกมา เพื่อรับความเคารพของพระมหากัสสปะนี้ ได้ถูกนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปปางหนึ่ง นั่นก็คือปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน ซึ่งมีลักษณะเป็นหีบศพที่มีเท้ายื่นออกมาด้านนอก และมีพระสงฆ์ไหว้ทำความเคารพอยู่ทางปลายพระบาท

วันปวารนา

เสด็จไป ณ ที่ใด มีความสงบร่มเย็น ให้เกิดขึ้น ณ ที่ นั้น

คำว่า ปวารณาหมายถึง
1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้
2. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน
3. สังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น 15 ค่ำ
เดือน 11 เรียกว่า วันมหาปวารณา โดยพระภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือน เป็นภาษาบาลีดังนี้
สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา; วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย; ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ. ทุติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ,..... ตติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ
แปลวว่า ข้าพเจ้าขอ ปวารณากะสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม, ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกะข้าพเจ้าด้วยอาศัยความหวังดี, เอ็นดู, เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จักแก้ไขแม้ครั้งที่สอง ........ แม้ครั้งที่สาม.......” (ภิกษุผู้มีพรรษาสูงสุดในที่ประชุมว่า อาวุโส แทน ภนฺเต)
ปวารณาเป็นสังฆกรรมประเภทญัตติกรรม คือ ทำโดยตั้งญัตติ (คำเผดียงสงฆ์) อย่างเดียว ไม่ต้องสวดอนุสานา (คำขอมติ); เป็นกรรมที่ต้องทำโดยสงฆ์ปัญจวรรค คือ มีภิกษุตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป
ปวารณา ถ้าเรียกชื่อตามวันที่ทำแบ่งได้เป็น 3 อย่าง คือ
1. ปัณณรสิกาปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยปกติในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 คือวันออกพรรษา)
2. จาตุททสิกาปวารณา (ในกรณีที่มีเหตุสมควร ท่านอนุญาตให้เลื่อนปวารณาออกไปปักษ์หนึ่งหรือเดือนหนึ่งโดยประกาศให้สงฆ์ทราบ ถ้าเลื่อนออกไปปักษ์หนึ่งก็ตกในแรม 14 ค่ำ เป็นจาตุททสิกา แต่ถ้าเลื่อนไปเดือนหนึ่งก็เป็นปัณณรสิกาอย่างข้อแรก)
3. สามัคคีปวารณา (ปวารณาที่ทำในวันสามัคคี คือ ในวันที่สงฆ์ซึ่งแตกกันแล้ว กลับปรองดองเข้ากันได้ อันเป็นกรณีพิเศษ)
ถ้าแบ่งโดยการก คือ ผู้ทำปวารณาแบ่งเป็น 3 อย่าง คือ
1. สังฆปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยสงฆ์คือมีภิกษุ 5 รูปขึ้นไป)
2. คณปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยคณะคือมีภิกษุ 2-4 รูป)
3. ปุคคลปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยบุคคลคือมีภิกษุรูปเดียว) และ โดยนัยนี้ อาการที่ทำปวารณาจึงมี 3 อย่าง คือ
1. ปวารณาต่อที่ชุมนุม (ได้แก่ สังฆปวารณา)
2. ปวารณากันเอง (ได้แก่ คณปวารณา)
3. อธิษฐานใจ (ได้แก่ ปุคคลปวารณา)
ในการทำสังฆปวารณา ต้องตั้งญัตติคือ ประกาศแก่สงฆ์ก่อน แล้วภิกษุทั้งหลายจึงจะกล่าวคำปวารณาอย่างที่แสดงไว้ข้างต้น ตามธรรมเนียมท่านให้ปวารณารูปละ 3 หน แต่ถ้ามีอันตรายคือเหตุฉุกเฉินขัดข้องจะทำอย่างนั้นไม่ได้ตลอด (เช่น แม้แต่ทายกมาทำบุญ) จะปวารณารูปละ 2 หน หรือ 3 หน หรือ พรรษาเท่ากันแล้วพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ จะปวารณาอย่างไรก็พึงประกาศให้สงฆ์รู้ด้วยญัตติก่อน โดยนัยนี้ การตั้งญัตติในสังฆปวารณา จึงมีต่างๆ กัน ดังมีอนุญาตไว้ดังนี้
1. เตวาจิกา ญัตติ คือ จะปวารณา 3 หน พึงตั้งญัตติว่า : สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ เตวาจิกํ ปวาเรยฺย แปลว่า ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ปวารณาวันนี้ที่ 15 ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงปวารณาอย่างกล่าววาจา 3 หน (ถ้าเป็นวันแรม 14 ค่ำ หรือวันสามัคคีก็พึงเปลี่ยน ปณฺณรสี เป็น จาตุทฺทสี หรือ สามคฺคี ตามลำดับ)
2. เทฺววาจิกาญัตติ คือจะปวารณา 2 หน ตั้งญัตติอย่างเดียวกัน แต่เปลี่ยน เตวาจิกํ เป็น เทฺววาจิกํ
3. เอกวาจิกา ญัตติ คือจะปวารณาหนเดียว ตั้งญัตติอย่างเดียวกันนั้น แต่เปลี่ยน เตวาจิกํ เป็น เอกวาจิกํ
4. สมานวัสสิกา ญัตติ คือ จัดให้ภิกษุที่มีพรรษาเท่ากัน ปวารณาพร้อมกัน ตั้งญัตติก็เหมือน แต่เปลี่ยน เตวาจิกํ เป็น สมานวสฺสิกํ (3 หน 2 หน หรือ หนเดียวได้ทั้งนั้น)
5. สัพพสังคาหิกา ญัตติ คือ แบบตั้งครอบทั่วไป ไม่ระบุว่ากี่หน ตั้งญัตติคลุมๆ โดยลงท้ายว่า .......สงฺโฆ ปวาเรยฺย (ตัดคำว่า เตวาจิกํ ออกเสีย และไม่ใส่คำใดอื่นแทนลงไป อย่างนี้จะปวารณากี่หนก็ได้); ธรรมเนียมคงนิยมแต่แบบที่ 1,2 และ 4 และท่านเรียกชื่อปวารณาตามนั้นด้วยว่า เตวาจิกา ปวารณา, เทฺววาจิกา ปวารณา, สมานวัสสิกา ปวารณา ตามลำดับ
ในการทำ คณปวารณา ถ้ามีภิกษุ 3-4 รูป พึงตั้งญัตติก่อนว่า: สุณนฺตุ เม อายสฺมนฺโต, อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี, อทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ, มยํ อญฺ?มญฺ?ํ ปวาเรยฺยาม แปลว่า ท่านเจ้าข้า ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ปวารณาวันนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว เราทั้งหลายพึงปวารณากันเถิด (ถ้า 3 รูปว่า อายสฺมนฺตา แทน อายสฺมนฺโต) จากนั้นแต่ละรูปปวารณา 3 หน ตามลำดับพรรษาดังนี้: มี 3 รูปว่า อหํ อาวุโส อายสฺมนฺเต ปวาเรมิ ฯเปฯ วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺตา อนุกมฺปํ อุปาทาย, ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ. ทุติยมฺปิ อาวุโส ฯเปฯ ตติยมฺปิ อาวุโส ฯเปฯ ปฏิกฺกริสฺสามิ. (ถ้ารูปอ่อนกว่าว่า เปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนฺเต) ; มี 4 รูป เปลี่ยน อายสฺมนฺเต และ อายสฺมนฺตา เป็น อายสฺมนฺโต อย่างเดียว; ถ้ามี 2 รูป ไม่ต้องตั้งญัตติ คำปวารณาก็เหมือนอย่างนั้น เปลี่ยนแต่ อายสฺมนฺเต เป็น อายสฺมนฺตํ, อายสฺมนฺตา เป็น อายสฺมา และ วทนฺตุ เป็น วทตุ
ถ้าภิกษุอยู่รูปเดียว เธอพึงตระเตรียมสถานที่ไว้ และคอยภิกษุอื่นจนสิ้นเวลา เมื่อเห็นว่าไม่มีใครอื่นแล้ว พึงทำ ปุคคลปวารณา โดยอธิษฐาน คือกำหนดใจว่า อชฺช เม ปวารณา แปลว่า ปวารณาของเราวันนี้ เหตุที่จะอ้างเพื่อเลือนวันปวารณาได้ คือ จะมีภิกษุจากที่อื่นมาสมทบปวารณาด้วย โดยหมายจะคัดค้านผู้นั้นผู้นี้ให้เกิดอธิกรณ์ขึ้น หรืออยู่ด้วยกันผาสุก ถ้าปวารณาแล้วต่างก็จะจาริกจากกันไปเสีย
การที่พระท่านกล่าวปวารณา คือการยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนกันไว้ ในเมื่อต่างรูปต่างต้องจากกันไปรูปละทิศละทาง ท่านเกรงว่าอาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น โดยตัวท่านเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมองไม่เห็นเหมือนผงเข้าตาตัวเอง แม้ผงจะอยู่ชิดติดกับลูกนัยน์ตา เราก็ไม่สามารถมองเห็นผงนั้นได้ จำเป็นต้องไหว้วานขอร้องผู้อื่นให้มาช่วยดูหรือต้องใช้กระจกส่องดู เพราะฉะนั้น พระท่านจึงใช้วิธีการกล่าวปวารณาไว้เพื่อท่านรูปอื่นได้เห็นหรือแม้แต่ได้ยินได้ฟัง เรื่องดีไม่ดีไม่งามอะไรก็ตาม ให้กล่าวแนะนำตักเตือนได้โดยไม่ต้องเกรงใจกันทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยด้วยเจตนาดีต่อกัน คือ พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถกล่าวชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยที่พระผู้อาวุโสกว่าท่านก็มิได้สำคัญตนผิด คิดว่าตนเองทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง
การกล่าวปวารณา เท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดน้อย ๆ นี้ที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนา อันเป็นจุดศูนย์ที่ใหญ่ได้ ท่านจึงใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไข ในภายหลัง ตัวอย่าง วันออกพรรษาหรือวันมหาปวารณาที่พระภิกษุทั้งหลายกระทำเช่นนี้ เป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหายไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา ส่วนพิธีของฆราวาสนั้น ควรจะนำเอาพิธีปวารณาของพระท่านมาใช้ดูบ้าง ซึ่งจะมีผลดีที่เกิดขึ้นแก่กลุ่มชนที่อยู่รวมกัน ไม่ว่าครอบครัวและสังคมต่าง ๆ

อาสาฬหบูชา

เสด็จไป ณ ที่ใด มีความสงบร่มเย็น ให้เกิดขึ้น ณ ที่ นั้น

เป็นชื่อของดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่ง เมื่อดวงจันทร์ผ่านกลุ่มดาวอาสาฬหะ เรียกว่าพระจันทร์เสวยอาสาฬหฤกษ์ เป็นระยะที่ตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 ของไทย ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนแสดงความเคารพต่อพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระสงฆ์
อาสาฬหบูชาย่อมาจากคำว่า อาสาฬหปุรณมีบูชาแปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 8 ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็จะ เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 หลัง เหตุการณ์อันเนื่องจากองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน 6 แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้และทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้ง ทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น 4 ประเภท เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า ได้แก่
1. อุคฆฏิตัญญู ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ก็จะบานเปรียบเสมือนผู้ทีได้ฟังธรรมก็จะตรัสรู้ตาม
2. วิปัจจิตัญญู ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำเปรียบเสมือนผู้ทีได้ฟังธรรมอย่างพิสดารโดยละเอียดแล้วก็จะตรัสรู้ได้
3. เนยยะ ดอกบัวที่อยู่กลางน้ำเปรียบเสมือนผู้ทีได้ฟังธรรมพิสดารโดยละเอียดแล้วนำไปท่อง ฝึกปฏิบัติ อย่างสม่ำเสมอก็จะตรัสรู้ตามได้
4. ปทปรมะ ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตมเปรียบเสมือนผู้ทีได้ฟังธรรมพิสดารโดยละเอียดแล้วนำไปท่องฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอก็ไม่สามารถจะรู้หรือไม่เข้าใจในหลักคำสอน
เมื่อพระองค์พิจารณาอย่างนี้แล้ว ทรงมีพระกรุณาธิคุณ ระลึกอาฬารดาบสและอุททกดาบสว่า มีกิเลสเบาบางสามารถตรัสรู้ได้ทันที แต่ท่านทั้ง 2 ได้ตายแล้ว ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ พระพุทธเจ้าได้เดินทางไปแสดงพระธรรมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ ซึ่งล้วนแล้วแต่ เป็นผู้อุปฐากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกข์กิริยาอยู่ พระธรรมที่ พระพุทธองค์ทรงเทศนาในครั้งนี้มี ชื่อ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งมี อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นพระอริยะ เป็นผู้ประเสริฐได้ อริยสัจ 4 ประกอบด้วย
1. ทุกข์ ( ธรรมที่ควรรู้ ) หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ เป็นสภาพบีบคั้นจิตใจและร่างกายให้ทนได้ยาก เมื่อทุกข์เกิดขึ้น บุคคลจะไม่สามารถละหรือคลายทุกข์ได้ ทุกข์จึงเป็นสภาวะที่จะต้องกำหนดรู้เพียงอย่างเดียวว่า นี้คือความทุกข์หรือปัญหาและต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเป็นธรรมดาของสัตว์โลกต้องปล่อยวางจึงจะทำให้ทุกข์บางเบาลงได้
2. สมุทัย (ธรรมที่ควรละ ) หมายถึง ต้นเหตุที่ให้เกิดทุกข์หรือปัญหา ซึ่งได้แก่ ความต้องการหรือที่เรียกว่าตัณหา มี 3 ประกายคือ กามตัณหา คือความปรารถนาในกามไม่หยุดหย่อน ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็นไม่เพียงพอ และวิภวตัณหา คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็นจนทุกข์
3. นิโรธ ( ธรรมที่ควรบรรลุ ) หมายถึง สภาวะที่ทุกข์หมดสิ้นไป สภาพที่ปราศจากทุกข์ มีแต่ความสงบร่มเย็น สภาวะที่จัดเป็นนิโรธนี้ถือเป็นที่สูงสุดในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ เป็นยอดปรารถนาของคนทั่วไปคือความดับทุกข์
4. มรรค ( ธรรมที่ควรเจริญ ) หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการมีสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ เป็นต้น
โดยมรรคทั้ง 8 ประการนี้บุคคลจะต้องปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในตนครบทั้ง 8 ประการจึงสามารถถึงความดับทุกข์ได้ หลังจากแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นคนแรก ได้กราบทูลขอบวชและพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต โดยทรงทำการอุปสมบทให้แบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นปฐมสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นวันแรกที่มี พระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียก พระธรรมเทศนา กัณฑ์นี้ว่าปฐมเทศนาหรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่านับเป็นวันแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาจะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สำคัญ ๆ ในวันนี้มีถึง 4 ประการ ด้วยกันคือ
1. เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ แสดงธรรมเป็นครั้งแรก
เพื่อโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระธรรมกัณฑ์แรกมีชื่อว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งมีใจความสำคัญกล่าวถึงอริยสัจ หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ
2. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก การแสดงธรรมครั้งแรกนี้ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ฟังพระธรรมเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตรแล้ว บังเกิดดวงตาเห็นธรรมทูลขอบวช ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา เกิดพระสงฆ์รูปแรกขึ้นในโลก
3. เป็นวันแรกที่เกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
4. วันนี้เป็นวันคล้ายที่พระพุทธเจ้าทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา ในวันเพ็ญเดือนแปด ปีระกา ก่อนวันประสูติ 10 เดือน
วันอาสาฬหบูชาเป็นวันก่อนเข้าพรรษาและเป็นวันเริ่มต้นการทำบุญในระหว่างเข้าพรรษา ดังนั้นทางราชการจะถือเป็นวันหยุดราชการ พร้อมทั้งชักชวนให้ประชาชนประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดวาอารามและสถานที่ราชการ เพื่อให้ชาวพุทธได้เห็นความสำคัญและมีโอกาสร่วมทำบุญในวันนี้ ในตอนเช้าจะไปทำบุญที่วัด มีการทำบุญต่างๆ ตอนบ่ายมีการฟังเทศน์ ตอนค่ำจะมีการเวียนเทียน ฟังธรรม ที่วัด

วันเข้าพรรษา

เสด็จไป ณ ที่ใด มีความสงบร่มเย็น ให้เกิดขึ้น ณ ที่ นั้น

พรรษาตรงกับภาษาบาลีว่า วัสสา หรือวัสสานะ แปลว่า ปี ฝน หรือ ฤดูฝน = วรรษ = พรรษา คำว่า เข้าพรรษาแปลว่า พักฝนหมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระจำเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปค้างคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า สัตตาหกรณียะหากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
กระทำ สัตตาหกรณียะ คือไปค้างที่อื่นได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ต้องกลับมาภายในระยะเวลา 7 วัน คือ
1. ไปรักษาพยาบาลพระภิกษุ หรือ บิดามารดาที่เจ็บป่วย
2. ไประงับไม่ให้พระภิกษุลาสิกขา
3. ไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น ไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมวัดซึ่งชำรุดในพรรษานั้น
4. ทายกนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา
ระหว่างเดินทาง ก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมือง ก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็น ที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระสงฆ์ได้รับความลำบาก จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า วิหารแปลว่าที่อยู่ของพระสงฆ์ เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้ว พระสงฆ์ท่านก็จาริกตามกิจของท่านเพื่อเผยแผ่พระธรรมต่อไป ครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่ก็มีพระสงฆ์บางรูปอยู่ประจำเลย ถ้ามีพุทธศานนิกชนที่เป็นเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็จะเลือกหาสถานที่อันสงบเงียบไม่ห่างไกล จากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า อารามหรือ วัดให้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
วันเข้าพรรษากำหนดเป็น 2 ระยะ คือ ปุริมพรรษา และปัจฉิมพรรษา
1. ปุริมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาต้น ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีหรือประมาณเดือนกรกฎาคม และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือประมาณเดือนตุลาคม
2. ปัจฉิมพรรษา คือวันเข้าพรรษาหลัง สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหนตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 หรือประมาณเดือนสิงหาคมและจะออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน
เนื่องในโอกาสประเพณีการเข้าพรรษา บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะได้ทำความดี โดยการทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจะจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่พระสงฆ์จำเป็นต้องใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้พระภิกษุ สามารถศึกษาพระธรรมวินัย ระหว่างการเข้าพรรษาอย่างเต็มที่ โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุ ตามที่ทรงอนุญาตให้มีประจำตัว มี 8 อย่าง เรียกว่า อัฏฐบริขาร ประกอบด้วย
1. สบง สบง ซึ่งใช้เป็นผ้านุ่ง
2. จีวร จีวร ใช้เป็นผ้าห่ม
3. สังฆาฏิ สังฆาฏิ ใช้เป็นผ้าห่มกันหนาวและใช้พาดบ่าในโอกาสที่จะต้องทำสังฆกรรมต่างๆ
4. บาตร บาตร สำหรับใส่ภัตตาหาร
5. รัดประคด รัดประคด - ผ้าสำหรับคาดเอว
6. เข็มและด้าย เข็ม - ด้าย สำหรับเย็บผ้า
7. ธมกรก ธมกรก - หม้อกรองน้ำ - ผ้ากรอง สำหรับกรองน้ำ
8. มีดโกน มีดโกน - สำหรับปลงผม
พระภิกษุบ้างครั้งกว่าจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนจนตัวเปียก ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าไตร(สบง จีวร สังฆาฏิ ) หรือ ถวายผ้าอาบน้ำฝน ( วัสสิกสาฎก ) คือผ้าสำหรับนุ่งในเวลาอาบน้ำฝนหรือใช้ในการอาบน้ำทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า นางวิสาขาเป็นผู้ขออนุญาตให้พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์รับผ้าอาบน้ำฝน เพราะเธอใช้นางทาสีไปนิมนต์พระที่วัดขณะฝนตก พระสงฆ์แก้ผ้าอาบน้ำกันเต็มวัด ทาสีกลับมาบอกนางวิสาขาว่า ไม่มีพระมีแต่ชีเปลือยเต็มวัด วิสาขารู้ทันทีจึงได้กราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ใช้ผ้าอาบน้ำฝนดังกล่าวสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยนและถวายของที่จำเป็นในกิจวัตรประจำวันเป็นพิเศษ ในวันเข้าพรรษา อันเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญ เนื่องในวันนี้สืบมา
การที่พระภิกษุสงฆ์ได้พักอยู่ประจำที่ เป็นสิ่งดีสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติ ก็นิยมอุปสมบท เป็นพระภิกษุ ได้ศึกษาพระธรรม ส่คฤหัสถ์ที่มีบุตรหลานก็นำไปฝากพระ โดยให้บวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์คอยรับใช้ท่านบ้าง ท่านก็จะอบรมสั่งสอนธรรมะ หรือสอนวิชาความรู้ด้านอื่น ๆ
เทศการในวันเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชน นิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด มีประเพณีการถวายเทียนพรรษา โดยปกติประเพณีที่เกี่ยวกับเทียนพรรษาหรือขี้ผึ้งนี้ ได้สืบกันมาแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยเริ่มแต่สมัยที่พระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าสู่ป่า หนีความทะเลาะวิวาทของภิกษุสงฆ์เมืองโกสัมพี ที่ตั้งหน้าทะเลาะกันด้วยเรื่องวินัยอันเล็กน้อย โดยเข้าไปอยู่ในป่า มีลิงและช้างเป็นผู้อุปฐาก จนในที่สุดชาวเมืองต้องลงโทษภิกษุสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย แล้วไปนิมนต์พระพุทธองค์ออกจากป่า ในขณะที่ประทับอยู่ในป่านั้น ลิงก็หาผลไม้และน้ำผึ้งมาถวาย พระพุทธเจ้าเสวยน้ำผึ้งเสร็จแล้วก็จะนำขี้ผึ้งมาทำเทียน จึงเห็นได้ว่าเทียนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีทางพุทธศาสนา การถวายเทียนให้พระภิกษุสามเณร ได้จุดบูชาพระรัตนตรัยในวันเข้าพรรษา โดยการรวบรวมเทียนไปถวายวัดเป็นจำนวนมาก ๆ เพื่อใช้จุดให้ได้ตลอดพรรษา แต่ก่อนถวายกันเพียงเป็นเทียนขี้ผึ้งแท้ ๆ ชาวบ้านทำเอง โดยนำขี้ผึ้งมารีดกับเส้นด้ายแล้วตัด ให้ได้ความยาวพอสมควรแล้วนำไปถวายวัด ปัจจุบันได้มีการนำเทียนขี้ผึ้งมาผสมกับสารเคมี ทำให้แข็งตัวและแปรสภาพเป็นเทียนสีชนิดต่าง ๆ มีการแกะสลัก ทำลวดลาย หรือเล่าเรื่องตามพุทธประวัติ หรือเล่าเรื่องในชาดกทางพุทธศาสนา จนบางแห่งถือเป็นประเพณีใหญ่โต เช่น เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี
การปฏิบัติตน ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะ อาทิดอกไม้ ธูปเทียน ปัจจัยไทยธรรม สบู่ ยาสีฟัน ไปถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือและที่สำคัญมีการหล่อเทียนพรรษา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้จุดให้เกิดแสงสว่างในการศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน ปัจจุบันใช้จุดเพื่อบูชาพระประธานในพระอุโบสถ ตลอดพรรษา
ประโยชน์ของการเข้าพรรษา
ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระภิกษุ ทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ แม้ว่าการเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใสและได้รับประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีกดังนี้
1. เป็นช่วงที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา หากภิกษุสงฆ์เดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ อาจไปเหยียบต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้ได้รับความเสียหายล้มตาย
2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 9 เดือน พระภิกษุสงฆ์จะได้หยุดพัก
3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอน ประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา
4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตรหล่อเทียนเข้าพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดเว้นการเที่ยวกลางคืน ตลอดเวลาเข้าพรรษา

วันออกพรรษา

เสด็จไป ณ ที่ใด มีความสงบร่มเย็น ให้เกิดขึ้น ณ ที่ นั้น

วันออกพรรษา เป็นวันที่พุทธบริษัท ได้พร้อมใจกันกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ตามคติประเพณี
ที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาแต่โบราณกาล เช่นมีการตักบาตรเทโว หรือเรียกตักบาตรดาวดึงส์ เป็นต้น
"วันออกพรรษา" มีสาเหตุเนื่องมาจาก "วันเข้าพรรษา" ที่มีมาแล้วเมื่อวันแรม 1 ค่ำเดือน 8
อันเป็นวันที่พระภิกษุทั้งหลายอธิษฐานใจเข้าอยู่พรรษาครบ 3 เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ
โดยไม่ไปค้างแรมค้างคืนนอกสถานที่ที่ท่านตั้งใจอยู่ไว้ เมื่อมีวันเข้าพรรษาก็จำเป็นต้องมีวันออกพรรษา
ซึ่งวันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี วันออกพรรษา เป็นวันสุดท้าย
แห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส
ตามพระพุทธบัญญัติแล้ว ท่านมีสิทธิ์ที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้ ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติและยังได้รับอานิสงส์
อนุโมทนากฐิน วันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า " วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา"
มีความหมายว่าพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน
ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้พิธีกรรมของฆราวาสที่เกี่ยวเนื่องกันในวันออกพรรษา
การบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม ณ วัดที่อยู่ใกล้เคียง
มีการทำบุญอันเป็นประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษา
ซึ่งเรียกว่า ตักบาตรเทโวหรือเรียกชื่อเต็มว่า เทโวโรหณะแปลว่าการหยั่งลงจาก เทวโลก
หรือการตักบาตรนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตักบาตรดาวดึงส์และการตักบาตรเทโวนี้
จะกระทำในวันขึ้น 15 เดือน 11 หรือวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ก็ได้สุดแท้แต่จะเห็นพร้อมกัน
การทำบุญตักบาตรเทโวนี้ ท่านจัดเป็นกาลนาน คือ หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง
โดยยึดถือว่าเป็นวันคล้ายกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจาก เทวโลก ตามตำนานกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เพื่อทรงเทศนา พระสัตตปรณาภิธรรมคือพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา
ครั้นครบกำหนดการจำพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้ว
เสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่มนุษย์โลก ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11
โดย เสด็จลงทางบันไดแก้วทิพย์ ซึ่งตั้งระหว่างกลางของบันไดทองทิพย์ อยู่เบื้องขวาบันไดเงินทิพย์
อยู่เบื้องซ้ายและหัวบันไดทิพย์ที่เทวดาเนรมิตขึ้นทั้ง 3 พาดจากยอดเขาพระสิเนรุราช
อันเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนเชิงบันไดตั้งอยู่บนแผ่นศิลาใหญ่ใกล้ประตูเมือง สังกัส
และสถานที่นั้นประชาชนถือว่าเป็น ศุภนิมิตร สร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็นพุทธบูชานุสาวรีย์
เรียกว่า อจลเจดีย์อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี
อนึ่งในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่มนุษย์โลกนั้นประชาชนพร้อมกันไปทำบุญตักบาตร
เป็นจำนวนมากสุดจะประมาณ พิธีที่กระทำกันในการตักบาตรเทโว ซึ่งถือตามประวัตินี้ก็เท่ากับ
ทำบุญตักบาตร รับเสด็จพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จลงมาจากเทวโลกนั่นเอง
บางวัดจึงเตรียมการ ให้คฤหัสถ์แต่งตัวเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้างแล้วอัญเชิญพระพุทธรูป
ขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่มีล้อเคลื่อนและมีบาตรตั้งอยู่ข้างหน้าพระพุทธรูปใช้คนลากนำหน้าพระสงฆ์
พวกทายกทายิกาตั้งแถวเรียงรายคอยใส่บาตรเป็นการกระทำให้ใกล้กับความจริงเพื่อเป็นการระลึกถึง
พระพุทธเจ้า ส่วนอาหารที่นำมาทำบุญตักบาตรในวันนั้น มีข้าว กับข้าวต้มมัดใต้ ข้าวต้มลูกโยนที่ห่อด้วย
ใบมะพร้าวหรือใบตาลไว้หางยาวและข้าวต้มลูกโยนนี้มี
ประวัติมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะตั้งใจอธิษฐาน
แล้วโยนไปให้ลงบาตรของพระพุทธเจ้า เนื่องจากมีคนมากเข้าไปใส่บาตรไม่ได้
ความมุ่งหมายของการปวารณากรรม
ปวารณากรรม มีความมุ่งหมายชัดเจนปรากฏอยู่ในคำที่สงฆ์ใช้ปวารณาซึ่งกันและกัน ดังนี้
1. เป็นกรรมวิธีลดหย่อนผ่อนคลายข้อขุ่นข้องคลางแคลงที่เกิดจากความระแวงสงสัย
ให้หมดไปในที่สุด
2. เป็นทางประสานรอยร้าว ที่เกิดจากผลกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกันให้มีโอกาสกลับคืนดีด้วยการให้โอกาสได้ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน
3. เป็นทางสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่ให้กลมเกลียวอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจ
4. เป็นแนวปฏิบัติให้เกิดความเสมอภาคกันในการแสดงความคิดว่ากล่าวตักเตือนได้โดยไม่จำกัดด้วย ยศ ชั้น พรรษา วัย
5. ก่อให้เกิด "ภราดรภาพ" รู้สึกเป็นมิตรชิดเชื้อปรารถนาดี เอื้อเฟื้ออาทรเป็นพื้นฐานนำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงานคล้าย ๆ กัน เรียกว่า ศีล สามัญญุตา
พิธีตักบาตรเทโว มีปรากฏในอรรถกถาธรรมบทว่าในขณะนั้นพระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่ในนครสาวัตถี พรรษาที่ 25 ผู้คนในชมพูทวีปหันมาเลื่อมในพระพุทธศาสนาทำให้นักบวชนอกศาสนา อิจฉาเพราะเขาเหล่านั้นเดือดร้อนในการขาดผู้ค้ำจุนดูแลและขาดลาภสักการะจึงทำการกลั่นแกล้ง พระพุทธศาสนาโดยประการต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องอิทธิฤทธิ์พระองค์และเหล่าสาวกของพระองค์เองศาสนาอื่นปลุกปั่นจนพระองค์ทรงห้ามเหล่าสาวกทั้งหลายแสดงอิทธิฤทธิ์ พระองค์ก็งดแสดงอิทธิฤทธิ์เช่นกัน จึงทำให้ศาลามีจุดที่จะทำให้ศาสนาอื่น เช่น อาจารย์ทั้ง ๖ และศาสนาเชน ทำการโฆษณาชวนเชื่อว่าพระพุทธศาสนานั้นมีพระพุทธเจ้าและสาวกสิ้นฤทธิ์หมดแล้วอย่าไปนับถือเลยสู้พวกตนไม่ได้ยังมีฤทธิ์เหนือกว่าควรจะมานับถือพวกตนดีกว่าพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าขืนปล่อยเฉยต่อไป โดยไม่ตอบโต้บ้าง อาจเป็นผลเสียต่อพระพุทธศาสนา
ดังนั้นวันเพ็ญอาสาฬหะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือแสดงฤทธิ์เป็นคู่ ๆ ซึ่งก็มีปรากฏเพียงครั้งเดียวในครั้งนั้นทำให้ผู้คนที่เคลือบแครงสงสัยหันมานับถือศาสนาอย่างมั่นคงอีกครั้ง ในวันรุ่งขึ้นแรม 1 ค่ำ เดือนอาสาฬหะ เป็นวันอธิฐานเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าทรงประกาศจำพรรษาที่สรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามธรรมเนียมที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงลาบริษัทแล้วก็เสด็จไป ณ ดาวดึงส์เทวโลก เพื่อโปรดพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรม 7 พอครบเวลา 3 เดือนของการโปรดพระพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรมทั้ง 7 ในวันเพ็ญเดือน 11 ก็เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ ณ ที่ประตูเมือง สังกัสสนคร ท้าวสักกเทวราชพร้อมด้วยบริวารตามลงมา เสด็จทางบันใดสวรรค์จนถึงขั้นพิภพ พระพุทธเจ้าทรงใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้โลกทั้ง 3 มี เทวโลก มนุษย์โลก สัตว์นรก มองเห็นกันทั้งหมด จึงเรียกวันนั้นว่า วันพระเจ้าเปิดโลกพอวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ผู้คนในชมพูทวีปพากันมาใส่บาตรพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข การตักบาตรในครั้งนั้นมิได้นัดหมายกันมาก่อนเลยต่างคนก็ต่างมาด้วยศรัทธาจึงทำให้คนมามากมาย เมื่อมีมามากทำให้ไม่ถึงบาตรพระภิกษุสงฆ์ จึงเอาข้าวของตนห่อหรือปั้นเป็นก้อน โยนใส่บาตรพระด้วยเหตุนี้ต่อมาภายหลังจึงนิยมทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรพระในวันเทโวโรหณะ
พิธีตักบาตรเทโวโรหณะในสมัยปัจจุบัน ตอนรุ่งอรุณของวันตักบาตรเทโว พระภิกษุสามเณร ลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันใดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่ง พระพุทธเจ้า และยังมีการแต่งตัวสมมุติเป็น พระพรหม พระอินทร์ เทวดา นางฟ้า เทพธิดา พวกยักษ์ นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วย ข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยน จึงเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีวันออกพรรษานี้