คนว่างงานต้องไปรายงานตัวที่ไหน

เรื่องตกงาน ลาออกจากงาน ไม่มีงานทำ หางานใหม่ยังไม่ได้ โดนจ้างออก ไม่ผ่านโปร ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอกับมนุษย์เงินเดือนทุกระดับ ถ้าช่วงที่ทำงาน มีการจัดสรรจัดการเงินดีหน่อย ช่วงตกงานอาจไม่ลำบากนัก แต่ถ้าตกงานแบบไม่คาดคิดโดนยื่นซองขาว อาจต้องลำบากหนักหนาสาหัสเพราะถึงแม้จะได้เงินชดเชยในกรณีถูกเชิญให้ออกตามกฎหมายก็ตาม แต่ถ้าผู้ถูกให้ออกหางานใหม่ไม่ได้ในเร็ววัน เงินที่ได้ชดเชยมาอาจไม่พอเลี้ยงชีพตัวเองได้ ยิ่งถ้าฐานเงินเดือนไม่มากแล้วยิ่งน่ากังวล ผู้ตกงานหลายคนอาจลนลานรีบหางานใหม่ ประเภทงานอะไรก็ได้ ซึ่งนำไปสู่งานใหม่ที่อาจจะไม่ใช่ในสิ่งที่ตัวเองมีประสบการณ์ หรือไม่ตรงกับสายงานที่ตั้งใจ อาจทำให้ความก้าวหน้าในอาชีพการงานไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็นได้ อ้างอิงจากกระทู้ http://pantip.com/topic/35664025

สำนักงานประกันสังคมเข้าใจถึงปัญหานี้จึงนำเงินที่เราจ่ายสมทบประกันสังคมที่หักจากเงินเดือนทุก ๆ เดือนมาช่วยเหลือ ถือเป็นการประกันการว่างงานโดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน ถ้าเราไม่ได้ถูกเลิกจ้างโดยมีเหตุจากการประพฤติมิชอบของเราเอง เช่น ทุจริตในหน้าที่ สร้างความเสียหายให้นายจ้างหรือมีพิพากษาจำคุก เป็นต้น เราก็เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์จากเงินชดเชยการว่างงาน


  • ในกรณีว่างงานที่ถูกเลิกจ้างนั้น เราจะได้รับเงินชดเชยคิดเป็นร้อยละ 50 ของเงินเดือนแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ได้รับสิทธิ์ 180 วันหลังว่างงาน
  • แต่ถ้าตกงานเพราะการลาออกหรืองานจ้างหมดสัญญา จะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 30 ของเงินเดือนแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ได้รับสิทธิ์ 90 วันหลังว่างงาน ถ้าเราฐานเงินเดือนเกินสองหมื่นขึ้นไป (โดยประมาณ) ไม่ว่าจะถูกเลิกจ้างหรือลาออกก็จะได้เงินชดเชยพอ ๆ กัน

ดังนั้นตอนกรอกข้อมูลลงทะเบียนผู้ว่างงาน อาจเลือกกรอกข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับตัวเองไว้ก่อน ถ้ามั่นใจว่าหางานใหม่ได้ภายในเร็ววัน ให้เลือกกรอกว่าลาออก แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าจะหางานใหม่ได้ภายใน 90 วัน ก็ให้เลือกถูกเลิกจ้าง (ต้องมีใบแจ้งเลิกจ้างจากนายจ้างเก่า) ก็ให้กรอกว่าถูกเลิกจ้างเพราะเราจะได้รับสิทธิยืดไปถึง 180 วันนั่นเอง

วิธีลงทะเบียนใช้สิทธิรับเงิน “กรณีว่างงาน” ลูกจ้าง – พนักงาน แบบออนไลน์

คนว่างงานต้องไปรายงานตัวที่ไหน


ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิก็ต่อเมื่อลงทะเบียนคนว่างงานกับสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่เขตที่อยู่ของตัวเองตามทะเบียนบ้านหรือสำนักงานจัดหางานทุกแห่งภายใน 30 วันหลังจากที่ว่างงาน เมื่อตกงานควรยื่นทันที เพราะระยะเวลาในการรับเงินชดเชยมีเพียง 90 วัน (ยกเว้นผู้ถูกเลิกจ้าง) หากลงทะเบียนว่างงานหลัง 30 วัน เงินชดเชยที่ได้จะลดหลั่นลงไป

ซึ่งการลงทะเบียนคนว่างงานนี้สามารถทำได้ที่สำนักงานประกันสังคมหรือทางออนไลน์ผ่านระบบของกรมแรงงานได้ โดยต้องเตรียมเอกสารสำคัญดังนี้

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) สามารถรับได้ที่สำนักงานประกันสังคมหรือสำนักงานจัดหางาน แต่อาจปรินท์และกรอกข้อมูลไปให้เรียบร้อยก่อน เพราะมีข้อมูลให้กรอกเยอะพอสมควร ให้เว้นไว้ในหัวข้อที่ไม่มั่นใจและรอไปสอบถามเจ้าหน้าที่ต่อข้อสงสัยข้อนั้นๆ
  2. บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  3. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ไม่เกิน 6 เดือน)
  4. หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการลาออก หรือ สปส. 6-09 ถ้าไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนได้
  5. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
  6. สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยเป็นประเภทออมทรัพย์เท่านั้น 11 ธนาคารคือ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย ทหารไทย ธนชาต ซีไอเอ็มบีไทย ออมสินและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธ.ก.ส. ใช้ไม่ได้ อยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)

กรณีลงทะเบียนผ่านระบบจะยังไม่ได้ยื่นเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้กับเจ้าหน้าที่ ถ้าหากยังไม่เคยมีประสบการณ์ว่างงานมาก่อนอาจไปลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมก่อนในครั้งแรกเพื่อสอบถามและปรึกษาสิทธิที่พึงได้ การอ่านข้อมูลสิทธิประโยชน์ผ่านหน้าเว็บอาจไม่แตกฉานพอ การสอบถามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สามารถช่วยได้มาก โดยเฉพาะกรณีลาออกจากงานแล้วว่างงานเพื่อคลอดจะมีรายละเอียดที่มากกว่า ที่สำคัญยื่นเอกสารที่เตรียมมาทั้งหมดได้เลย ทั้งนี้จะต้องยื่นที่สำนักงานประกันสังคมภายในเขตที่พักอาศัยตามสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกันตนเท่านั้น (สำนักงานจัดหางานไม่เกี่ยวข้องกับการคลอดบุตร)

เมื่อลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย ผู้ประกันตนจะได้รับเงินชดเชยผู้ว่างงานก็ต่อเมื่อต้องไปรายงานตัวทุกเดือนที่สำนักงานจัดหางาน (อย่าเผลอไปรายงานตัวที่สำนักงานประกันสังคม) โดยจะต้องรายงานตัวก่อนวันนัดไม่เกิน 7 วัน หรือหลังวันนัดไม่เกิน 7 วัน (หน้า 7 หลัง 7) เมื่อรายงานตัวแล้วเงินจะถูกโอนเข้าบัญชีตามที่แจ้งตามรอบ โดยปกติหลังจากรายงาน 5 วันทำการ หากไม่ไปรายงานตัวภายในระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่าได้งานแล้ว ก็จะไม่ได้รับสิทธิคนว่างงานโดยปริยาย การรายงานตัวนี้เองสามารถรายงานผ่านระบบออนไลน์ได้เลยที่ empui.doe.go.th โดยลงทะเบียนผ่านคอมพิวเตอร์หรือมือถือก็ได้

คนว่างงานต้องไปรายงานตัวที่ไหน

แค่ปฏิบัติตามขั้นตอนไม่ถึง 2 นาทีก็ลงทะเบียนได้แล้ว สะดวกมาก ไม่ต้องไปรอคิวแออัดที่สำนักงานจัดหางานที่ไปแล้วก็รังแต่จะทำให้เกิดความหดหู่ในใจลึก ๆ ว่าเราเป็นผู้ว่างงาน แถมพร้อมด้วยบรรยากาศอึน ๆ ของคนว่างงานจำนวนมาก การอยู่ท่ามกลางผู้ว่างงานที่มีสายตาที่ว่างเปล่าจำนวนมาก ๆ จะมีออร่านั้นติดตัวเรากลับมาด้วยเสมอ อาจทำให้จิตใจเราเศร้าหมองและรู้สึกท้อถอยในชีวิตได้ การเลือกลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์จึงดีกว่าด้วยประการทั้งปวง