สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใด

บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ปรากฏบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นบทละครของหลวง โดยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปีพุทธศักราช 2313 โดยเขียนลงในสมุดไทยและมีการชุบเส้นทอง ในปีพุทธศักราช 2323 ภายหลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จกลับจากการไปรวบรวมชุมนุมนครศรีธรรมราช มาอยู่ในพระราชอาณาจักรในปีพุทธศักราช 2312 ทรงโปรดให้มีการฟื้นฟู มโหรสพและการละครขึ้น

บทละครพระราชนิพนธ์เรื่องนี้มีทั้งหมด 5 เล่มสมุดไทย คือ สมุดไทยเล่ม 1 หรือเล่มต้น (ซึ่งพบใหม่) อยู่ที่หอสมุดกรุงเบอร์ลิน สมุดไทยเล่มที่ 2-5 อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพ ฯ มีการเขียนเรื่องต่อเนื่อง การแบ่งตอนอาจไม่ตรงตามเล่ม เมื่อเรียงเนื้อหาแล้วได้ ดังนี้

  • ศึกท้าวสัทธาสูรและวิรุญจำบัง
  • ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานริน
  • ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาความ
  • ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด
  • ตอนพระมงกุฎ

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ มีการสะท้อนวิถีชีวิตในสมัยนั้น ดังเห็นได้จากฉากที่มีทศกัณฐ์เลี้ยงกองทัพยักษ์ ปรากฏชื่อรายการอาหาร กุ้งพล่า แพนง หมูอั่ว หมูหัน ฯลฯ อีกทั้งปรากฏการแทรกเรื่องของการวิปัสนา กรรมฐาน คุณธรรม สอดแทรกเรื่องตำราพิชัยสงคราม ตลอดบทละคร มีการใส่เพลงหน้าพาทย์ ใช้สำนวนที่กระชับชัดเจน สื่อให้เห็นพระอัจฉริยะภาพในการแต่งพระราชนิพนธ์ของพระองค์

แม้ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จะทรงกรำศึกสงครามทั้งภายในและภายนอกพระราชอาณาจักรพระองค์ยังทรงเพียรแต่งบทละครไปด้วยในช่วงเวลาเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นทั้งนักรบและศิลปิน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง 5 ตอนถือเป็นวรรณคดีล้ำค่าในสมัยกรุงธนบุรี อีกยังถือเป็นรากฐานให้กัับรามเกียรติ์ในสมัยรัตนโกสินทร์สืบมา

อ้างอิง

เรไร ไพรวรรณ์. (2559). บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกท้าวสัทธาสูรและวิรุญจำบัง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช.

พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี๑

บทละครความนี้เขียนไว้ในสมุดไทยดำ ตัวหนังสือเป็นเส้นทอง สร้างขึ้นด้วยความประณีตบรรจงมาก มี ๔ เล่มสมุดไทย แบ่งเป็นตอนไว้ ดังปรากฏในฉบับพิมพ์นี้ คือ

เล่ม ๑ ตอนพระมงกุฎ

เล่ม ๒ ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินจนท้าวมาลีวราชมา

เล่ม ๓ ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาความ จนทศกรรฐ์เข้าเมือง

เล่ม ๔ ตอนทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด, พระลักษมณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์ จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมนโท

ถ้าว่าตามลำดับเรื่องแล้ว ตอนพระมงกุฎควรจะอยู่หลังดังได้เคยคัดทำฉบับสำรองพิมพ์ใว้แต่ก่อน แบ่งตอนไว้เป็น ๕ ตอนคือ

(๑) ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานริน

(๒) ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ

(๓) ตอนทศกรรฐ์ตั้งพิธีเผารูปเทวดา

(๔) ตอนพระลักษมณ์ถูกหอกกบิลพัสตร์

(๕) ตอนปล่อยม้าอุปการ

แต่ในการพิมพ์คราวนี้ ต้องการจะรักษารูปเดิมตามเล่มสมุดไทย ซึ่งเข้าใจว่าตอนพระมงกุฎนั้น ทรงพระราชนิพนธ์ก่อน เพราะในสมุดจดไว้เป็นเล่ม ๑ และมีข้อความเป็นตอนหนึ่งต่างหาก ไม่ติดต่อกับข้อความในอีก ๓ เล่มสมุด แต่ข้อความใน ๓ เล่มสมุดไทย คือตั้งแต่เล่ม ๒ ถึงเล่ม ๔ มีข้อความติดต่อกัน

เวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์

ในบานแผนกมีบอกวันเวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้หน้าต้นทุกเล่มว่า “วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขาลโทศก” ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๑๓ ปีที่ ๓ ในรัชกาล ถ้าจะพลิกอ่านพระราชพงศาวดารในรัชกาลนี้ดู จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้หนึ่งปี คือในปีฉลู พ.ศ.๒๓๑๒ ได้เสด็จไปราชการทัพเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่ปลายเดือน ๘ เสร็จราชการเมืองนครฯ ในเดือน ๑๒ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาธาตุเมืองนครฯ ให้ราชบัณฑิตจัดหาพระไตรปิฎกบรรทุกเรือเข้ามาจำลองไว้สำหรับพระนคร เสร็จกลับถึงกรุงธนบุรีเมื่อเดือน ๔ ปลายปี พ.ศ. ๒๓๑๒ ทรงจัดการพระศาสนา แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช จ้างช่างจารพระไตรปิฎกเสร็จแล้วจัดการฉลอง มีคำยอพระเกียรติไว้ในพระราชพงศาวดารว่า “จำเดิมแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็ค่อยวัฒนาการรุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นเหมือนแต่ก่อน และสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เจริญพระราชกฤดาธิคุณ ไพบูลย์ภิยโยภาพยิ่งขึ้นไป ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ค่อยมีความผาสุกสนุกสบายบริบูรณ์ คงคืนขึ้นเหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่ายังปกติดีอยู่นั้น”

ตามนี้จะเห็นได้ว่า ในการตีได้เมืองนครฯ ให้ผลสำคัญในทางวรรณคดี เช่นทางพุทธศาสนา เราได้พระไตรปิฎกมาไว้สำหรับพระนคร บางทีจะให้ผลสำคัญในวรรณคดีด้านอื่นๆ อีก เช่น นาฏยคดีซึ่งไม่ได้กล่าวในพระราชพงศาวดาร แต่มีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำถึงเรื่องเจ้านครฯ กลัวพระเดชานุภาพหนีไปพึ่งเจ้าเมืองจนะหรือเทพา แล้วเจ้าเมืองจับตัวส่งมาว่า “พระฤทธิเทวา เจ้าเมืองรู้ว่ากองทัพยกติดตาม กลัวพระบารมี ส่งตัวเจ้านครกับพวกพ้องพงศ์พันธุ์ ทั้งละครผู้หญิง เครื่องประดับเงินทอง ราชทรัพย์สิ่งของ ส่งมาถวายพร้อม” เข้าใจว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะได้ตัวละครพร้อมทั้งบทมาจากเมืองนครฯ ในคราวนี้บ้าง เพราะเจ้านครพร้อมด้วยวงศ์วารบ่าวไพร่ก็ได้โปรดให้อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้ทรงสนพระทัยในนาฏยคดีประเภทนี้ จนถึงทรงพระอุตสาหนิพนธ์บทละครรามเกียรติ์ ความที่พิมพ์ในหนังสือนี้ขึ้นดังปรากฏวันเวลาในบานแผนก ภายหลังกลับจากเมืองนครศรีธรรมราชเพียงเดือนเดียว ซึ่งเป็นเวลาว่างจากงานพระราชสงครามในต้นปีนั้น เพราะในเดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๑๓ นั้นเอง ก็ได้รับใบบอกกรมการเมืองอุทัยธานี เมืองชัยนาท บอกลงมาให้กราบทูลพระกรุณาเรื่องลามกกรรมของพวกเจ้าพระฝาง ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือในเวลานั้น ครั้นทรงทราบก็ให้เตรียมงานพระราชสงครามเกณฑ์กองทัพ ถึงเดือน ๘ แรม ๑๐ ค่ำ ก็เคลื่อนทัพหลวงขึ้นไปจากพระนคร เมื่อตีเมืองสวางคบุรี และได้ช้างเผือกจึง “ให้รับละครผู้หญิงขึ้นไปสมโภชพระฝาง ๗ วัน แล้วเสด็จไปเหยียบเมืองพิษณุโลก สมโภชพระชินราช พระชินศรี ๗ วัน มีละครผู้หญิง” บางทีจะได้ใช้บทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นนั้นแสดงในงานสมโภชเหล่านี้บ้างก็ได้ น่าเข้าใจว่าบทพระราชนิพนธ์นี้ คงจะได้นำออกแสดงสมพระราชประสงค์หลายคราว ตลอดจนงานสมโภชพระแก้วมรกตเมื่อตอนปลายรัชกาล และงานอื่นๆ

​สันนิษฐานลักษณะที่ทรงพระราชนิพนธ์

อนึ่งปรากฏในบานแผนกต่อมาว่า “พระราชนิพนธ์ทรงแต่งชั้นต้นเป็นปฐมยัง ทราม พอดี } อยู่” ต่อมามีบอกตอนในเล่ม ๑ ว่า “ตอนพระมงกุฎ ทรงแปลงใหม่” ซึ่งอาจหมายความว่า ตามวันเวลาที่กล่าวแล้วนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ความนี้ขึ้นเป็นชั้นต้น คือเป็นครั้งแรก แต่ยังคงจะไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงหมายเหตุว่า “ยังทรามอยู่” แล้วต่อมาซึ่งอาจเป็นเวลาว่างพระราชกิจคราวใดคราวหนึ่ง จึงทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ โดยอาจทรงแก้ไว้ในพระสมุดเล่มนั้นเอง จึงมีบอกไว้ในเบื้องต้นว่า “ทรงแปลงใหม่” บางตอนอาจทรงพิจารณาเห็นว่าความขาดไป ก็ทรงพระราชนิพนธ์แทรกลงไว้เพื่อให้ความเต็มบริบูรณ์ ดังปรากฏในหน้า ๒๓ ถึงหน้า ๒๕ ในฉบับพิมพ์นี้ แต่ก็น่าจะทรงพิจารณาเห็นด้วยพระองค์เองว่า ยังนับว่าดีทีเดียวไม่ได้ จึงหมายเหตุไว้ข้างต้นเบื้องใต้หมายเหตุเดิมว่า “ยังพอดีอยู่” แล้วต่อมาในภายหลัง พวกอาลักษณ์นำเอาต้นพระราชหัตถเลขามาชุบลงไว้ตามที่ทรงแก้ไขใหม่ แต่ยังคงบานแผนกเดิมไว้ “ยัง ทราม พอดี } อยู่” ดังปรากฏในต้นฉบับสมุดไทยที่คัดมาทำต้นฉบับพิมพ์ในเล่มนี้ บอกเวลาชุบเส้นทองไว้ว่า “วันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๑๔๒ (พ.ศ. ๒๓๒๓)” เป็นตอนปลายรัชกาล บอกนามอาลักษณ์ผู้ชุบไว้ ๔ คนคือ นายถี อาลักษณ์ชุบเล่ม ๑, นายสัง อาลักษณ์ชุบเล่ม ๒, นายสน อาลักษณ์ชุบเล่ม ๓, และนายบุญจัน อาลักษณ์ชุบเล่ม ๔, บอกชื่อผู้ทานไว้ ๒ คนตรงกันทุกเล่ม คือ ขุนสารประเสริฐ และขุนมหาสิทธิ น่าเสียดายที่ไม่พบฉบับทรงเดิม

อนึ่ง ตอนที่ว่า “ทรงแทรก” นั้น ถ้าจะลองตัดข้อความตรง “ทรงแทรก” ออกเสีย สัมผัสกลอนก็ไม่กินกัน ไม่เหมือนกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีบทแทรกเช่นนี้เหมือนกัน แม้ตัดออก ก็ยังสัมผัสกัน แต่ถ้าลองตัดออกตั้งแต่คำว่า “หณุมานมัดเอามงกุฎมา พาเข้าถวายฉับพลัน” (น. ๒๓) ออกจนตลอดบท “ทรงแทรก” (น. ๒๕) แล้ว ย่อมมีข้อความเรื่องพระลบติดต่อกัน แต่สัมผัสซ้ำ ทั้งนี้น่าจะแสดงว่านอกจาก “ทรงแทรก” แล้ว ยังทรงแก้ไขสัมผัสตามไปด้วย

ส่วนที่ว่า “ทรงแปลงใหม่” นั้น ถ้ามิได้หมายความว่าทรงแปลงบทพระราชนิพนธ์ของเดิม ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ด้วยพระองค์เอง ดังหมายเหตุว่า “ยังทรามอยู่” เช่นกล่าวข้างต้นแล้ว บางทีอาจหมายความว่าได้ทรงแปลงบทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่นจากบทที่ได้จากบทที่เหลือมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้

แต่จะเป็นบทพระราชนิพนธ์โดยเฉพาะหรือบท “ทรงแปลงใหม่” จากบทของเก่าซึ่งมีอยู่ก่อนก็ตาม ก็นับว่าเป็น “พระราชนิพนธ์” ในพระองค์อยู่นั่นเอง เพราะบอกไว้ชัดเจนในบานแผนกข้างต้นแล้ว แม้บทละครรามเกียรติ์ที่เรียกว่า “พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑” ก็ปรากฏว่ามิได้ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง หากแต่โปรดให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการที่เป็นกวีสันทัดทางบทกลอนช่วยกันแต่งถวาย ทรงตรวจแก้ไข แล้วตราเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้เป็นต้นฉบับสำหรับพระนคร บทละครรามเกียรติ์ความที่พิมพ์นี้ จึงนับเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งได้ทรงขึ้นโดยพระราชประสงค์ และตามพระราชอัธยาศัยโดยเฉพาะอย่างเท้จริง

เปรียบเทียบกับฉบับในรัชกาลที่ ๑

บทพระราชนิพนธ์ความนี้ ถ้าเทียบกับบทที่เรียกว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ดูแล้ว อาจกล่าวได้ว่า มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ ดังจะเห็นได้เช่น

(๑) ตอนพระมงกุฎประลองศิลป ยิงต้นรัง “ว่าใหญ่ถึงแสนวา” ในบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ก็ว่า “คณนาแสนอ้อมโดยประมาณ” และในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้เอง ตอนต่อไปก็กล่าวถึงอีกว่า “แสนอ้อมโดยประมาณ”

(๒) ถ้อยคำบางคำที่ใช้ในบทกลอน ก็มีคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก ดังจะยกมาเทียบให้เห็น เช่น

ตอนประลองศิลป

“ถูกรังต้นใหญ่สินขาด ยับเยินวินาศดังฟ้าผ่า
แล้วกลับต่อว่าอนุชา น้องยาจะว่าประการใด”

-กรุงธน

“ถูกต้นพฤกษาพระยารัง ไม่ทนกำลังอยู่ได้
ข้นป่นลงด้วยฤทธิไกร เสียงสนั่นหวั่นไหวทั้งธาตรี”

-รัชกาลที่ ๑

ตอนหณุมานเกี้ยวนางวานริน

“เจ้าเอยเจ้าพี่ มารศรีเสาวภาคย์อย่ากังขา”

-กรุงธน

“เจ้าเอยเจ้าพี่ มารศรีผู้ยอดพิสมัย”

-รัชกาลที่ ๑

“พี่คือทหารพระรามา พนิดาอย่าแหนงแคลงใจ
ทรงนามชื่อหณุมาน เป็นทหารห้าวแหงผู้ใหญ่
ฝ่ายอสูรยกออกไป ชิงชัยต่อด้วยพระราชา
พระองค์ทรงยิงศรผลาญ สังหารมารหมู่ยักษา
ถูกวิรุณจำบังอสุรา ยักษาหลบหลีกหนีไป
จึงให้พี่มาติดตาม นางงามเจ้ารู้บ้างหรือไม่
มันไปแห่งหนตำบลใด บอกให้หน่อยเถิดนารี”

-กรุงธน

“ตัวพี่นี้คือหณุมาน ยอดทหารพระนารายณ์รังสรรค์
มาตามสังหารกุมภัณฑ์ ที่มันเบียดเบียนแดนไตร
อันวิรุณจำบังยักษี เข้ามาที่นี่หรือไม่
เจ้าจงบอกความแต่จริงไป จะได้ช่วยทุกข์กัลยา”

-รัชกาลที่ ๑

ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ

เมื่อนั้น พระกอบกิจธรรมเป็นใหญ่
ครั้นจะแจ้งเหตุเภทภัย จึ่งแถลงไขสองเสนา
อันองค์อัชบาลเป็นสหาย เพื่อนตายรักใคร่กูหนักหนา
ร่วมชีพไว้วิญญาณ์ ซึ่งลักษมณ์รามากูไม่รู้
ด้วยพึ่งใหญ่ค่อยจำเริญไว ทางไกลต่างคนต่างอยู่
ช้านานไม่ได้ไปดู สุริวงศ์ในกรุงอยุธยา
ไฉนจึงมารุกราน กรุงมารหมู่เมืองอักษา
หรือจะเกี่ยวข้องกันด้วยสีดา ว่ามาทั้งนี้กูเห็นจริง
อันนอกกว่านี้ไม่มีใคร จะทำฤทธิไกรสุงสิง
หลานรักกูศักดิ์ยวดยิ่ง กฤดาธิการมหึมา
เห็นแต่ท่านท้าวอัชบาล เป็นประธานสุริวงศ์นาถา
เธอเป็นสหายรักกูมา อนิจจานัดดามาผิดกัน
จำกูจะไปเกลี่ยไกล่ อย่าให้ขึ้งเคียดเดียดฉันท์
เป็นเพื่อนเผ่าพันธุมิตรกัน โดยธรรม์ธรรมเนียมมีมา”

-กรุงธน

เมื่อนั้น ท้าวมาลีวราชเรืองศรี
ได้ฟังจึงกล่าววาที ในที่ท่ามกลางคนธรรพ์
ซึ่งว่ารามลักษมณ์เป็นนัดดา ท้าวมหาอัชบาลรังสรรค์
เห็นจริงด้วยเป็นวงศ์เทวัญ จึงบุกบั่นมาได้ถึงเมืองมาร
อันนอกกว่านี้ไม่มีใคร ซึ่งเรืองฤทธิไกรห้าวหาญ
เว้นไว้แต่เหล่าอัชบาล จึ่งอาจผลาญสุริวงศ์พรหมา
อันปู่เขากับกูเป็นสหาย เพื่อนตายรักใคร่กันหนักหนา
ก็สิ้นชีวาลัยไปเมืองฟ้า แต่ลักษมณ์รามเกิดมากูไม่รู้
ด้วยพึ่งจะจำเริญวัย ทางไกลต่างคนต่างอยู่
นานแล้วไม่ได้ไปเยี่ยมดู สุริวงศ์ในกรุงอยุธยา
อันเหตุซึ่งเกิดสงคราม ลุกลามเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า
เป็นต้นด้วยหญิงที่ได้มา จึ่งพาให้ผิดใจกัน
กูจะไประงับทั้งสองฝ่าย ให้หายขึ้งเคียดเดียดฉันท์
จะว่ากล่าวเป็นกลางทางธรรม์ ให้เป็นพันธุมิตรกันสืบไป

-รัชกาลที่ ๑

ตอนท้าวมาลีวราชชมโฉมสีดา

เมื่อนั้น พระทรงจตุศีลยักษา
ครั้นเห็นนวลนางสีดา เสน่หาปลาบปลื้มหฤทัย
อั้นอัดกำหนัดในนาง พลางกำเริบราคร้อนพิสมัย
พิศเพ่งเล็งแลทรามวัย มิได้ที่จะขาดวางตา
ชิชะโอ้ว่าสีดาเอ๋ย มางามกระไรเลยเลิศเลขา
ถึงนางสิบหกห้องฟ้า จะเปรียบสีดาได้ก็ไม่มี
แต่กูผู้รู้ยศธรรม ยังหมายมั่นมุ่งมารศรี
สาอะไรกับอ้ายอสุรี จะมิพาโคติกาตาย
โอ้อนิจจาทศกรรฐ์์ สู้เสียพงศ์พันธุ์ฉิบหาย
ม้ารถคชพลวอดวาย ฉิบหายเพราะนางสีดา
ตัวกูผู้หลีกลัดตัดใจ ยังให้หุนเหี้ยนเสน่หา
ที่ไหนมันจะได้สติมา แต่วิญญาณ์กูแดยัน
ขวยเขินสะเทินวิญญาณ์ กว่านั้นไม่เหลือบแลแปรผัน
ไม่ดูสีดาดวงจันทร์ พระทรงธรรม์เธอคิดละอายใจ
บิดเบือนพักตร์ผินไม่นำพา ขืนข่มอารมณ์ปราศรัย
อัดอั้นอดยิ้มไม่ได้ เยื้อนแย้มว่าไปแก่สีดา
เจ้าผู้จำเริญสิริภาพ ปลาบปลื้มเยาวยอดเสน่หา
เจ้าเป็นเอกอัครกัญญา หน่อนามกษัตราบุรีใด
ทำไมจึ่งมาอยู่นี่ สุริวงศ์พงศ์พีร์อยู่ไหน
ลูกผัวเจ้ามีหรือไม่ บอกไปให้แจ้งบัดนี้

-กรุงธน

เมื่อนั้น ท้าวมาลีวราชรังสรรค์
เห็นนางสีดาวิลาวัลย์ งามดั่งดวงจันทร์ไม่ราคี
มาตรแม้นถึงองค์พระอุมา นางสุชาดาโฉมศรี
นางสุจิตราเทวี สุนันทานารีอรไท
ถึงสุธรรมมานงคราญ จะเปรียบงามเยาวมาลย์ก็ไม่ได้
ทั่วสวรรค์ชั้นฟ้าสุราลัย ไกลกันกับโฉมนางสีดา
กระนี้แลหรือทศกรรฐ์ จะไม่ผูกพันเสน่หา
พาโคตรวงศ์ในลงกา แสนสุรโยธาวายปราณ
แต่กูผู้ทรงทศธรรม์ ยังหวาดหวั่นเคลิ้มไปด้วยสงสาร
หากมีอุเบกขาญาณ จึงประหารเสียได้ไม่ไยดี

-รัชกาลที่ ๑

แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้ว เห็นข้อแตกต่างก็มีอยู่บ้างเหมือนกันเช่น

(๑) ข้อความบางตอนมีกล่าวถึงในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ไม่มีกล่าวถึงในบทรัชกาลที่ ๑ เช่น เมื่อพระมงกุฎ พระสบ ประลองศิลป์ เกิดเสียงสนั่นหวั่นไหว ทำให้ตระหนกตกใจกันไปหมด ฉบับกรุงธนว่า พระฤษีกับนางสีดาตกใจออกไปติดตามพระมงกุฎ พระลบ ว่า

ฝ่ายพระฤษีสนั่นเสียง สำเนียงกึกก้องเวหา
ตกใจทั้งนางสีดา ก็ลีลาออกตามกุมาร

แต่ในบทรัชกาลที่ ๑ ว่า สองกุมารกลับมาเอง ไม่ได้ติดตาม อันกลอนวรรคหลังที่ว่า “ก็ลีลามาตามกุมาร” นั้น อาจเป็นอย่างที่เรียกว่ากลอนพาไปก็ได้ ซึ่งเป็นความเคยชินของกวีโดยมาก

(๒) ลำดับเรื่องก่อนหลังไม่เหมือนกัน คือ มีกล่าวสับหน้าสับหลังกันอยู่บ้าง เช่น ตอนพระมงกุฎถูกจับตัวได้ แล้วพระอินทร์ใช้ให้นางฟ้าชื่อรำภาลงมาช่วย หรือในกลอนที่ยกมาเปรียบเทียบกันให้ดูเป็นตัวอย่างนั้น ก็พอจะสังเกตเห็นข้อความสับหน้าสับหลัง แม้ในกลอนท่อนเดียวกันได้บ้าง ทั้งนี้ ก็อาจต่างกันได้ แม้กวีคนเดียวกัน แต่งคนละคราว ยังมีที่ลำดับเรื่องไม่ตรงครั้งก่อน

(๓) แม้เนื้อเรื่องตรงกัน แต่บทกลอนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ยาวกว่าเพราะกล่าวลีลาศยืดยาวมาก เช่นกลอนในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี บรรจุความเพียง ๑๑ หน้า (ตั้งแต่หน้าต้นถึงหน้า ๑๑ ในฉบับพิมพ์นี้) แต่บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวกลอนยืดยาวตั้งเกือบ ๑ เล่มสมุดไทยหรือราว ๕๐ หน้า ถ้าจะเทียบให้ใกล้เคียงก็คือ ในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กล่าวเพียง ๑๕๐ คำ (น.๑ -๑๑) แต่ในบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ แต่งขยายออกไปเป็น ๔๐๐ คำ ขอยกมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นบางตอนดังนี้

ตอนจับม้าอุปการฉบับกรุงธนว่า

ครั้นถึงซึ่งป่ากาลวาด องอาจเที่ยวไพรพฤกษา
เก็บผลไม้กินสองรา พอเห็นมิ่งม้าพาชี
จึงบอกเจ้าลบน้องยา มาเราช่วยกันจับขี่

ฉบับรัชกาลที่ ๑ ขยายลีลาศออกไปว่า

เดินทางตามหว่างบรรพต เลี้ยวลดชมสัตว์ที่ในป่า
กาสรพาพวกเป็นหมู่มา พยัคฆาหมอบมองมฤคี
ฝูงกวางย่างเยื้องเล็มระบัด สิงคนัดคะนองร้องมี่
เลียงผาเผ่นโผนโจนคีรี นางชะนีโหยให้หากัน
ระมาดลาดเลี้ยวกินหนาม โตตามคู่วิ่งผกผัน
คชสารกระหึมเรียกมัน ฉมันเมียงเคียงคู่เป็นหมู่จร
กระต่ายโดดโลดโผนโจนวิ่ง คณาลิงเลียบไต่สิงขร
กิเลนลงเล่นสาคร ไกรสรจากถ้ำอำไพ
คชสีห์เยื้องกรายร่ายเริง โคคะนองลองเชิงขวิตไขว่
ยิ่งชมยิ่งเพลินจำเริญใจ ก็เที่ยวเล่นอยู่ในพนาลี
พระมงกุฎเหลือบเห็นอัสดร ประดับเครื่องอาภรณ์จำรัสศรี
หน้าดำกายขาวดั่งสำลี สี่เท้าปากแดงรจนา
เยื้องย่องทำนองเหมราช ดูงามประหลาดเป็นหนักหนา
จึงบอกพระลบอนุชา สัตว์นี้จะว่าชื่อใด
แต่เราพากันมาเที่ยวเล่น จะเคยพบเคยเห็นก็หาไม่
น่าจะเป็นสัตว์บ้านเขาเลี้ยงไว้ จึงผูกเครื่องอำไพดังนี้
อย่าเลยเราจะไล่สกัด จับได้จะผลัดกันขี่
เที่ยวเล่นในกลางพนาลี เห็นจะมีความสุขกว่าทุกวัน
ว่าแล้วชักเอาเครือเขาได้ ถือต้นปลายไว้ให้มั่น
ขึงมาตรงหน้าม้านั้น ช่วยกันเลี้ยวไล่เป็นโกลา

ทั้งนี้ ก็ไม่เป็นข้อแปลกอันใด เพราะกวีอาจใช้ความคิดวาดมโนภาพให้วิจิตรพิศดารอย่างไรตามที่ต้องการได้ สุดแต่จะมีความมุ่งหมายเพียงไหน ดังตัวอย่างบทพากย์ตอนนางลอยของเก่า และบทพระราชนิพนธ์ทรงแปลงในรัชกาลที่ ๒ ข้างต้น บางทีจะเป็นเพราะทรงมีพระนิสัยฉับไว ไม่ชอบเยื้องกราย ทรงเห็นเป็นการยืดยาด จึงทรงมุ่งเอาแต่เนื้อความและเรื่องราวเป็นใหญ่ แต่คงมิได้ทรงอย่างแบบละครนอก เพราะทรงบทชมรถราชพาหนะ บททรงเครื่องอย่างแบบละครในไว้เหมือนกัน แต่บทในรัชกาลที่ ๑ สั้นกว่าก็มี ดังตอนท้าวมาลีวราชชมโฉมนางสีดา และตอนหณุมานเกี้ยวนางวานริน ดังยกมาให้ดูข้างต้น

ตามที่ยกมาเปรียบเทียบให้เห็นข้างต้นนี้ น่าจะเห็นได้ว่าเนื้อความตามท้องเรื่องรามเกียรติ์ในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและรัชกาลที่ ๑ เหมือนกันเพียงไร ตลอดจนถ้อยคำที่บรรจุในบทกลอนเป็นส่วนมาก อาจเป็นว่าพวกกวีในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ได้รับหน้าที่แต่ง บางคนอาจนำเอาบทพระราชนิพนธ์ครั้งกรุงธนบุรี มาเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือฉบับทั้งสองนั้นอาจใด้ฉบับเดิมความเดียวกัน มาเป็นแบบเทียบแล้วเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมเอาใหม่ด้วยกัน ดังที่ปรากฏในฉบับครั้งกรุงธนว่า “ทรงแปลงใหม่” ก็ได้ เป็นอันไม่รู้ใด้แน่ในเวลานี้

มีข้อที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือในบทพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ออกนามนางมนโท ในที่หลายแห่งว่า “มนโทคิรี” ซึ่งแม้จะเพี้ยนไป ก็ยังมีสำเนียงใกล้กับในพากย์เดิมของเขาว่า “มนโททรี” อันแปลได้ว่า “มีท้องอันประดับแล้ว” แต่ในบทรัชกาลที่ ๑ เรียกแต่ว่า “มนโท” ตลอดไป

ลักษณะและนิสัยของตัวละคร

อันลักษณะของชาติ ย่อมฉายเป็นกระจกเงาอยู่ในวรรณคดีของชาติ นาฏยคดีของประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งวรรณคดีของชาติ เพราะฉะนั้นจึงย่อมจะฉายลักษณะของชาติให้เห็นเงาอันแจ่มใส ฉันใดก็ดี บทประพันธ์ของกวีใดก็ย่อมฉายให้เห็นอัธยาศัยและอารมณ์ของกวีนั้น ฉันนั้น ผู้ประพันธ์วรรณคดีเรื่องใดๆ ก็ตาม ถ้าจะสร้างตัวละครในเรื่องนั้นๆ ให้ใกล้ชิดกับความจริง จะต้องสร้างจากของจริง โดยได้เห็นได้รู้มา หรือมิฉะนั้นในคราวกล่าวถึงลักษณะนิสัยของบุคคลในเรื่องแต่ละราย ก็จะต้องทอดตนเองสร้างความรู้สึกให้ซึมซาบเป็นดุจหนึ่งทำหน้าที่ของตัวละครแต่ละตัวในเรื่องนั้นๆ ดังคำกล่าวที่ว่า วรรณคดีก็เหมือนความเป็นผู้ดี (เพราะ) ย่อมแล่นเข้าไปในเลือด (ประจำอยู่ในตัวของเรา) (Literature, like nobility, runs in the blood.-Haglitt) แม้ผู้อ่านที่จะให้ทราบซึ้งก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน จึงจะซึมทราบในรส อย่างสำนวนที่เรียกกันในการแสดงละครว่า “ตีบทแตก”

บทละครรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มิได้เว้นจากคำที่กล่าวแล้วดังจะเห็นได้ในขณะที่อ่านพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วยความพินิจพิเคราะห์ เราจะรู้สึกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสร้างลักษณะและนิสัยของตัวละครในเรื่องไว้ด้วยโวหารการประพันธ์ตามพระราชอัธยาศัยของพระองค์เป็นตอนๆ บางตอนก็แสดงถึงพระนิสัยที่ทรงเพลิดเพลินในทางธรรม เช่นทรงพระราชนิพนธ์บทท้าวมาลีวราช ก็มักจะทรงว่า พระกอบกิจธรรมเป็นใหญ่, พระทรงธรรมธิราชเป็นใหญ่, และพระทรงจตุศีลยักษา ฯลฯ และน่าจะได้ทรงนำเอากิจวัตรส่วนพระองค์มาประพันธ์ลงไว้เป็นบางตอน เช่นเล่าถึงพระอิศวรนั่งสนทนาธรรมกับพระฤๅษีว่า

วันหนึ่งจึงเธอออกนั่ง ยังบัลลังก์รัตน์รังสี
สนทนาไญยธรรมอันมี กับพระนารอทฤษีมีญาณ

อันย่อมแสดงถึงพระนิสัยที่ทรงใฝ่พระทัยในข้ออรรถธรรม เมื่อยามว่างก็ทรงพอพระทัยธรรมสากัจฉากับพระราชาคณะ หรือแม้นักบวชในลัทธิอื่น ดังปรากฏในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ (น. ๙๑) ซึ่งชาวต่างประเทศจดไว้ว่า “เมื่อวันที่ ๒ เดือนเมษายน (พ.ศ. ๒๓๑๕) ได้มีพระราชโองการให้เราไปเฝ้าอีก และในครั้งนี้ใด้มีรับสั่งให้พระสงฆ์ที่สำคัญกับพระเจ๊กไปเฝ้าด้วย วันนั้นเป็นวันรื่นเริงทั่วพระราชอาณาเขต เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย พระเจ้าแผ่นดินกำลังทรงพระสำราญพระทัย จึงได้ลงประทับกับเสื่อธรรมดาอย่างพวกเราเหมือนกัน ในชั้นแรกได้รับสั่งถึงการต่างๆ หลายอย่างแล้วจึงได้รับสั่งถาม...” ด้วยพระทัยที่ทรงฝักใฝ่ในธรรม ได้ทรงวาดให้นางมนโทกล่าวปลอบทศกรรฐ์เป็นทางธรรมว่า

“พระจอมเกศเกล้าของเมีย ปละอาสวะเสียอย่าหม่นไหม้
แม้จิตไม่นิทราลัย หินมิตรภัยมีมา
อันซึ่งความทุกข์ความร้อน ตัวนิวรณ์จิตกิจฉา
อกุศลปนปลอมเข้ามา พาอุทัจจะให้เป็นไป
ประการหนึ่งแม้มีเหตุ เวทนาพาลงหมกไหม้
ฝ่ายซึ่งการแพ้ชนะไซร้ สุดแต่ให้สร้างสมมา
ถึงกระนั้นก็อันประเวณี ให้มีความเพียรจงหนักหนา
กอปรมนต์ดลทั้งอวิญญาณ์ สัจจสัจจาปลงไป
ล้างอาสวะจิตมลทิน ให้ภิญโญสิ้นปัถมัย
เมียเขาเอามันมาไย ไม่ควรคือกาลกินี”

ยิ่งตอนกล่าวถึงพระโคบุตรฤษีสอนทศกรรฐ์ ย่อมแสดงถึงพระปรีชาญาณ ที่ทรงทราบซึ้งในภูมิธรรมชั้นสูง คือทรงไว้ว่า

พระมุนีจึงว่าเวรกรรม มันทำท่านท้าวยักษี
อันจะแก้ไขไปให้ดี ต่อกิจพิธีว่องไว
จึงจะสิ้นมลทินหยาบหยาม พยายามอนุโลมลามไหม้
ล้างลนอกุศลกุลใจ เข้าไปในเชาว์วิญญาณ
เป็นศีลสุทธิ์วุฒิ หิริโดยตะทังคประหาร
คือบาทแห่งโคตระภูญาณ ประหารโทษเป็นที่หนึ่งไป
แล้วจึงทำขึ้นที่สอง โดยเนกขัมคลองแถลงไข
ก็เป็นศิลาทับระงับไป อำไพพิลึกโอฬาร์
อย่าว่าแต่พาลโภยภัย ปืนไฟไม่กินนะยักษา
ทั้งหกสวรรค์ชั้นฟ้า จะฆ่าอย่างไรไม่รู้ตาย
อย่าคณนาไปถึงผู้เข่นฆ่า แต่วิญญาคิดก็ฉิบหาย
จะทำอย่างใดไม่รู้ตาย อุบายถอยต่ำลงมา
อันได้เนกขัมประหารแล้ว คือแก้ววิเชียรไม่มีค่า
ทั้งฤทธิ์และจิตวิชชา อีกกุพนามโนมัย
กอปรไปด้วยโสตประสาทญาณ การชาติหน้าหลังระลึกได้
ถึงนั่นแล้วอันจะบรรลัย ไม่มีกะตัวถ่ายเดียว

แต่โวหารการประพันธ์โดยส่วนรวมย่อมแสดงให้เห็นนิสัยห้าวหาญของตัวละครในเรื่อง อย่างที่เรียกว่า daring spirit โดยตลอดไป ไม่ว่าจะกล่าวถึงพระมงกุฎ พระลบ หรือหณุมาน, ทศกรรฐ์, พระราม ฯลฯ เช่น ในพระราชสาส์นที่จารึกผูกคอม้าอุปการของพระราม ก็ทรงใช้คำหนักๆ ว่า

ในลักษณะพระราชสาส์น ว่าพระผ่านทศทิศทั้งสี่
แบ่งภาคจากเกษียรวารี มีกมลจิตจินดา
ให้ปล่อยมิ่งม้าอุปการ ใครพานพะขี่จะเข่นฆ่า
ที่อวดฤทธิ์ดีจงขี่ม้า ผ่านฟ้าจะไปต่อตี
ถ้าแม้นเป็นข้าอาณาจักร ทักษิณประณตบทศรี
เคารพอภิวันท์ธุลี ปล่อยพาชีจรไคลคลา

ดังนี้ ดูเป็นลักษณะเดียวกับพระราชสาส์นและศุภอักษรที่ทรงให้มีไปมากับกรุงศรีสัตนาคนหุตในรัชกาลนั้น อันแสดงถึงพระนิสัยที่กล้าได้กล้าเสีย ทรงยอมเสี่ยงภัยในคราวคับขัน อย่างที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร คราวทรงตีเมืองจันทบุรี ก่อนตีรับสั่งให้ทหารทุบหม้อข้าวหมด ไปหวังกินข้าวเอาในเมือง ถ้าตีไม่ได้ก็ให้อดตายเสียดีกว่า อันย่อมบ่งถึงพระนิสัยอย่างที่เรียกว่า ได้หมดหรือเสียหมด

แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะไม่ทรงบทที่รู้สึกสนุกในอารมณ์ของพระองค์เสียเลย บางตอนเห็นเหมาะที่จะทรงหยอดโวหารการนิพนธ์ตามความรู้สึกสนุกในอารมณ์อย่างที่เรียกว่า sense of humour ได้ก็ทรงหยอดลงไว้ ดังกวีทั้งหลายชอบปฏิบัติกัน เช่น ตอนหณุมานเกี้ยวนางวานรินก็ทรงหยอดลงไว้ว่า

เจ้านี้ยศยิ่งยอดกัญญา สาวสวรรค์ชั้นฟ้าไม่มีสอง
อย่าแคลงพี่จะให้แจ้งน้อง ขอต้องนิดหนึ่งนารี
นี่แน่เมื่อพบอสุรา ยังกรุณาบ้างหรือสาวศรี
หรือว่าเจ้ากลัวมันราวี จูบทีพี่จะแผลงฤทธา

ตอนท้าวมาลีวราชปลอบทศกรรฐ์ ก็ทรงหยอดไว้ว่า

จงฟังคำกูผู้ปู่สอน ให้ถาวรยศยิ่งภายหน้า
จะทำไมกับอีสีดา ยักษาเจ้าอย่าไยดี
มาตรแม้นถึงทิพย์สุวรรณ สามัญรองบทศรี
ดังรือจะสอดสวมโมลี ยักษีอย่าผูกพันอาลัย
หนึ่งนวลนางราชอสุรี ดิบดีดั่งดวงแขไข
ประโลมเลิศละลานฤทัย อำไพยศยิ่งกัลยา
ว่านี้แต่ที่เยาว์เยาว์ ยังอีเฒ่ามนโทกนิษฐา
เป็นยิ่งยอดเอกอิศรา รจนาล้วนเล่ห์ระเริงใจ

ตอนทศกรรฐ์สนทนากับนางมนโทถึงเรื่องเผารูปเทวดา ก็ทรงหยอดอารมณ์สนุกลงไว้ว่า

ฝ่ายพี่จะปั้นรูปเทวดา บูชาเสียให้มันม้วยไหม้
ครั้นถ้วนคำรบสามวันไซ้ เทวัญจะบรรลัยด้วยฤทธา
ไม่ยากลำบากที่ปราบ ราบรื่นมิพักไปเข่นฆ่า
พี่ไม่ให้ม้วยแต่นางฟ้า จะพามาไว้ในธานี

อนึ่ง จะสังเกตเห็นลักษณะกลอนในบทพระราชนิพนธ์โดยทั่วๆ ไป ทรงบรรจุคำที่เป็นธรรมดาสามัญเกือบตลอด เช่น ทรงบทของท้าวมาลีวราชว่า

เมื่อนั้น พระบรมลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์
ได้ฟังพ่ออ้ายอินทรชิต บิดผันเสกแสร้งเจรจา

และทรงบทของทศกรรฐ์บอกแย้งนางมนโทถึงความสงสัยว่าพาลี (ซึ่งตายแล้วยัง) กลับมาทำลายพิธีทรายกรดได้ ไม่ใช่หณุมานว่า

เกลือกเป็นอุบายถ่ายเท เล่ห์กลพิเภกเดียรฉาน
ผิดไปมิใช่หมุมาน ก้านลำพญาพาลี

ทั้งนี้แสดงถึงพระราชอัธยาศัยที่ฉับไวเปิดเผย พอพระทัยตรัสอย่างตรงไปตรงมา ไม่ชอบอ้อมค้อม แต่ที่ทรงรู้สึกสนุกใช้ศัพท์เล่นบ้างก็มี และดูเหมือนจะตั้งพระทัยทรงให้เหมาะแก่ตัวละครในท้องเรื่อง เช่นกล่าวถึงท้าวมาลีวราชทรงเครื่องว่า

เมื่อนั้น พระทรงจตุศีลยักษา
ทรงชำระสระสรงคงคา ทรงกาสาวพัสตร์รูจี
สอดใส่ชฎาประดับเครื่อง เรื่อเรืองรุ่งรัศรังสี
เปล่งปลั่งดั่งดาวโรหิณี สีกรรจรแก้วแพรวตา
ดั่งองค์อิศโรยโสธร บวรลิขิตเลขา
ผ่องผึ่งพึงพิศเจษฎา ซากรสิกขาเพราพราย

รวมความว่า ถ้อยคำสำนวนกลอนและโวหารการประพันธ์ ตลอดจนบทบาทของตัวละครที่ทรงบรรยายถึงในท้องเรื่องรามเกียรติ์ความนี้ ย่อมเป็นเสมือนกระจกเงาอันแจ่มใสฉายให้เห็นพระราชอัธยาศัยและพระอารมณ์ของพระองค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ว่า น่าจะทรงมีพระนิสัยเปิดเผยตรงไปตรงมา ชอบรวดเร็วฉับไวดังจะเห็นได้แม้จากการบรรจุหน้าพาทย์ ทรงกล้าได้กล้าเสีย ห้าวหาญเด็ดเดี่ยว ย่อมเสี่ยงภัยได้อย่างพระทัยเย็นแม้ในคราวคับขัน และในขณะเดียวกัน ก็ยังทรงสร้างอารมณ์ให้สนุกสนานประกอบกันไปกับการงานที่เอาจริงเอาจัง ทั้งแสดงถึงพระนิสัยที่ทรงพอพระทัยในการตรองตรีกนึกถึงอรรถธรรมในภูมิธรรมอันสูง ไม่ทรงยอมที่จะพอพระทัยอยู่แต่ในชั้นต่ำ คือถ้าได้ก็ต้องได้หมด หรือค่อนข้างมาก ถ้าเห็นไม่ได้ ก็ไม่เอาเสียเลยทีเดียว ดีกว่าที่จะพอพระทัยอยู่แต่เพียงนิดหน่อยหรือครึ่งๆ กลางๆ ดังจะเห็นได้ แม้จากรูปของกลอนและความยาวสั้นของบท น่าคิดว่า ช่างทรงมีพระนิสัยเหมาะแก่ลักษณะของผู้นำในเวลานั้นเสียจริงๆ ขอให้ท่านผู้อ่านลองพยายามทอดตนเองสร้างความรู้สึก ให้เป็นประดุจพระองค์ผู้ทรงนิพนธ์ได้ทรงปฏิบัติ ในขณะทรงพระราชนิพนธ์ จนเกือบจะเป็นหรือเป็นอย่างที่ว่า “แล่นเข้าไปในเลือด” ดังข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างต้น บางทีท่านจะมองเห็นพระนิสัยดังกล่าวแล้วกระมัง

กี อยู่โพธิ์

กรมศิลปากร ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๔