บริษัทต้องการพนักงานแบบไหน

เชื่อว่าหลายคนหลายองค์กร ไม่ว่าบริษัทขนาดใหญ่ หรือเอสเอ็มอี คงเคยประสบกับการสูญเสียพนักงานที่ทำให้รู้สึกเสียดาย หรืออย่างที่ฝรั่งเขาเรียกพนักงานที่เป็นกำลังสำคัญขององค์กรว่าเป็น “Valuable Asset”

และนี่คือพนักงาน 7 ประเภทที่ทุกองค์กร ควรรักษาเอาไว้

1.มีแรงจูงใจ- ตั้งใจทำงาน

พนักงานกลุ่มนี้รู้จักหน้าที่ของพวกเขาดี นอกจากจะไม่ต้องมานั่งจ้ำจี้จ้ำไชให้ทำงานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ให้ดีแล้ว พวกเขายังมีแรงขับเคลื่อนภายในที่พร้อมจะทำงานเกินหน้าที่ความรับผิดชอบอีกด้วย หากว่ามันจะช่วยพาทั้งทีมสู่ความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย นายจ้างอย่างเราแสนจะสบายใจที่มีพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

2.ขยันขันแข็ง

พนักงานขยันขันแข็งจะไม่หวงแหนเวลาของตนเอง เขาไม่ใช่พนักงานประเภทตอกบัตรเข้า 8 โมงเช้า และตอกบัตรออก 5 โมงเย็นเป๊ะ นั่นเพราะพวกเขาเข้าใจดีว่า การจะบรรลุเป้าหมายหรือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เขาจึงพร้อมที่จะสละเวลา แรงกาย และแรงใจเพิ่มเติมให้กับองค์กร เพื่อผลลัพธ์ของงานที่ดียิ่งขึ้น คุณโชคดีมากที่มีพวกเขาเป็นกำลังขับเคลื่อนองค์กร

3.มีความสามารถ

พนักงานฉลาดมีแนวโน้มที่จะเรียนรู้งานต่าง ๆ ได้รวดเร็ว จัดการงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากหัวหน้างานหรือเพื่อนรอบข้างมากนัก รวมทั้งตอบสนองต่อปัญหาและจัดการแก้ไขได้ดี พวกเขาจึงถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยทุ่นแรงทุ่นเวลาให้กับนายจ้างได้เป็นอย่างดี

4.สื่อสารเก่ง

ในโลกธุรกิจทุกวันนี้ การสื่อสารมีความสำคัญยิ่ง เพราะการสื่อสารภายในองค์กรที่ดีจะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้รุดหน้า รวมทั้งผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติไปได้ พนักงานที่มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถถ่ายทอดประเด็นต่างๆได้อย่างครบถ้วน เหมาะสม และชัดเจน เป็นทั้งผู้รับสารและส่งสารต่อที่ดี จึงเป็นเหมือนข้อต่อประสานที่เชื่อมองค์กรให้แข็งแกร่งมั่นคง

5.มีวินัย-ประพฤติตัวดี

พนักงานประเภทนี้ทำให้นายจ้างไว้วางใจได้ว่าพวกเขาจะไม่แอบแวบลามาสาย ประวิง อ้อยอิ่งเวลาทำงาน และแอบออกงานก่อนเวลาเลิก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็ถือเป็นการทุจริตอย่างหนึ่งในด้านเวลา

6.มากน้ำใจ

พนักงานที่ควรรักษาไว้ คือพนักงานที่มีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนรอบข้าง ไม่เกี่ยง ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่จะช่วยสร้างให้องค์กรมีบรรยากาศน่าอยู่ ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีในการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันองค์กรสู่ความสำเร็จ

7.ซื่อสัตย์

ท้ายที่สุดแล้ว แม้จะมีคุณสมบัติดีครบทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด ขยัน ทุ่มเท แต่หากขาดความซื่อสัตย์แล้ว คุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมดังกล่าวมีแต่จะย้อนกลับมาทำร้ายบริษัทอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นจงให้ความสำคัญเรื่อง “ความซื่อสัตย์” เป็นอันดับแรก

CREATIVE TALK by CIGNA ได้ทำการจัด Sessions พิเศษอย่าง “พนักงานแบบไหนที่หัวหน้าต้องการ” กับคุณรวิศ หาญอุตสาหะ (SRICHAND), คุณยอด ชินสุภัคกุล (LINE MAN Wongnai) และคุณธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ (Viera by Ragazze) 3 ซีอีโอ มาร่วมแชร์ประสบการณ์บริหารคน และความคาดหวังที่บริษัทมีต่อพนักงานให้เราฟังกัน

และนี่คือการสรุปสิ่งที่น่าสนใจส่วนหนึ่งจากทั้งหมดใน Sessions นี้ ที่ทาง CREATIVE TALK ร่วมสร้างสรรค์โดย Cigna Thailand ประกันภัย “คิดและทำเพื่อชีวิตที่ดีของคุณ”

คนแบบไหนที่ CEO อยากได้มาร่วมงาน 

  • อึด อดทน ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เชื่อมโยงทักษะให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ
  • มี Growth Mindset ไม่ยึดติดกับอะไรตายตัว รู้จักพลิกแพลง เปลี่ยนกระบวนท่าได้ตลอดเวลา พร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ เร่งสปีดได้เร็วตามทันการเติบโตของบริษัท สามารถมองหาวิธีทำให้งานนั้นเกิดขึ้นได้จริง และแล้วเสร็จตรงเวลา
  • Willing to Try ไม่เยอะ ไม่จุกจิกงอแง  พร้อมจะลงมือทำอะไรที่ต้องทำ ให้ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่เสียเวลาไปกับเรื่องหยุมหยิม เห็นอะไรน่าจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ก็พร้อมจะปรับ มีพื้นฐานเป็นความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมงานและบริษัท ไม่ต้องรอปรับแก้ Job Description ก่อนถึงค่อยทำ
  • สื่อสารเป็นไม่ใช่แค่นำเสนอเก่ง ต้องคุยกันรู้เรื่อง สารไม่คลาดเคลื่อน สามารถนำไปคิดพัฒนาต่อยอดได้ถูกทิศทาง
  • รู้ตัวว่าถนัดเรื่องอะไร มีความชำนาญ เชี่ยวชาญเรื่องทางเทคนิคมากกว่าเจ้านาย คิดวิเคราะห์ตัดสินใจเองได้ โดยไม่ต้องเหนื่อยเจ้านายคอยตาม Micro Manage
  • เห็นแพชชันในแววตา รู้ตัวว่าชอบทำอะไร อยากจะเติบโตไปเส้นทางไหน มีความสนใจอยากขวนขวาย รู้ลึกในเรื่องอะไร 
  • อยากเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพิ่มอยู่ตลอดเวลา เช่น ถ้าลองย้อนกลับไปสามารถแก้ไขพัฒนาโปรเจ็กต์เดิมได้ ก็บอกได้ว่าจะทำอย่างไรให้น่าทึ่งขึ้น
  • ยึดคุณค่ามีความเชื่อตรงกันกับองค์กร จะทำให้ไม่หดหู่ง่าย แล้วจะรู้ว่าตนเองทุ่มเททำงานนี้ไปเพื่ออะไร มีกำลังใจจะบากบั่นทำงานสร้างคุณค่า ไม่ต้องฝืนทนทำงาน ส่งผลดีต่อทั้งบริษัทและตนเอง

CEO ฝากถึงหัวหน้า

  • หัวหน้าจะต้องบอกจุดหมายของบริษัทให้ชัดเจนว่า เราพยายามทำอะไรกันอยู่ แล้วลูกน้องจะรู้ว่าตัวเองต้องตอบสนองอย่างไร รวมถึงรู้ว่าตัวเขาเองจะได้อะไรจากประสบการณ์ท้าทายเหล่านั้น
  • ยิ่งเราสั่งแก้แล้วยิ่งแย่ ผลออกมาไม่ดี นั่นคือเรื่องดีที่ทำให้รู้ว่า ลูกน้องเราเก่งและรู้เรื่องนั้นดีกว่าเรา
  • อย่าเป็นภาระของลูกน้อง หากไม่รู้อะไรให้ศึกษาเพิ่มเติม เช่น เรื่องทาง technical skill อาจไม่ต้องรู้ลึกแต่ต้องรู้มากพอจะตัดสินใจกำหนดทิศทางให้ลูกน้องทำงานต่อได้
  • หากสไตล์การทำงานของคนคนหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อทีม เพื่อรักษาเสถียรภาพในองค์กร ไม่ว่าเขาจะทำงานเก่งและเป็นคนนิสัยดีคนหนึ่งก็ตาม แต่ถ้าไม่ได้มองภาพเดียวกันกับเราก็คงไปด้วยกันต่อไม่ได้
  • ถ้ามีคนนิสัยร้ายกาจ คอยสร้างบาดแผลหรือสร้างมลพิษอยู่ในองค์กร ส่งผลให้คนอยู่รายล้อมบอบช้ำ บาดเจ็บ หรือหล่นหาย เจ้านายก็จำเป็นต้องเลือกให้ดีว่าจะยอมเสียส่วนไหน จะเพ่งเล็งให้ปรับปรุงตัวอย่างเร่งด่วน หรือจำใจต้องตัดทิ้ง เพื่อให้ตรงกับวัฒนธรรมองค์กรที่บริษัทอยากจะมี

CEO ทิ้งท้ายถึงผู้สมัครงาน

  • บริษัทแต่ละแห่งต้องการคนเก่งตามระดับการเติบโตของบริษัทนั้นๆ ผู้สมัครจึงต้องรู้ขีดความสามารถของตนเองว่าตอนนี้เป็นมืออาชีพหรือดาวรุ่ง แล้วคุณจะเห็นโอกาสแข่งขันกับแคนดิเดตคนอื่นได้ บางบริษัทต้องการคนพร้อมทำงานทันที มีงบอัดฉีดสูง ยอมลงทุนจ้างในราคาสูงกว่าท้องตลาด หรือหากกำลังค่อยๆ โต จะมองหาคนมีแววพอปั้นได้ในราคาเหมาะสม
  • ควรทำการบ้านก่อนเข้าสัมภาษณ์งาน รู้ความเป็นมาของบริษัท อ่านบทความสัมภาษณ์แนวคิดผู้บริหาร และรู้จักผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นๆ ให้ดี แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นอยากร่วมงานด้วย จะมีโอกาสงานสูงมากกว่า
  • เด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ควรเก็บพอร์ตฟอลิโอ ที่บอกเล่าประสบการณ์อื่นใดในชีวิต ที่แสดงว่าตนมีทักษะและความพร้อมจะทำงานในส่วนนั้นได้ หรือคนที่มีประสบการณ์น้อย ต้องอธิบายได้ว่าช่วงเวลาที่หายไปได้เรียนรู้อะไรบ้าง เช่น ลองไปเปิดร้าน ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ก็สามารถทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงพลังงานดีๆ สะท้อนทัศนคติ ความอดทน และความขยันขันแข็ง

ติดตามฟัง Session ย้อนหลังแบบเต็ม ได้ที่ CREATIVE TALK Podcast ตามช่องทางด้านล่าง

🎧 SoundCloud: http://bit.ly/3qAz5Mq
🎧 Spotify: http://spoti.fi/3s6dfkb
🎧 PodBean: http://bit.ly/3k0jd3n
🎧 Apple Podcast: http://apple.co/3qMrJ8N