บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระ ราช นิพนธ์ ในรัชกาลที่ 1 มี ลักษณะ สํา คั ญ อย่างไร

ร.๑ ทรงพระราชนิพนธ์ “รามเกียรติ์” ยาวที่สุดของวรรณคดีไทย! สนุกกว่าต้นฉบับเดิม!!

เผยแพร่: 18 พ.ย. 2563 09:53   โดย: โรม บุนนาค

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระ ราช นิพนธ์ ในรัชกาลที่ 1 มี ลักษณะ สํา คั ญ อย่างไร

พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตนั้น ไม่เพียงแต่ทรงเป็นจอมทัพ นำทหารออกต่อสู้ข้าศึกเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินเพื่อคงความเป็นประเทศไว้เท่านั้น แต่ในยามว่างศึกยังทรงสร้างความรุ่งเรืองเจริญก้าวหน้าให้ประเทศ สร้างความผาสุกให้ราษฎร และสร้างศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ

ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์มีผลงานทางพระราชนิพนธ์ไว้มากมาย อย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แม้จะทรงติดตามพระราชบิดาไปในการทำศึกสงครามทุกครั้งตั้งแต่มีพระชนมายุ ๙ พรรษา ทรงเติบโตมาในกองทัพ แต่เมื่อขึ้นครองราชย์ ประเทศชาติอยู่ในช่วงว่างศึก จึงทรงมีเวลาสร้างงานด้านศิลปวัฒนธรรมไว้มากมาย ทั้งด้านกวีนิพนธ์ ประติมากรรม และการดนตรี จนรัชสมัยของพระองค์ถิอกันว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีไทย ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวรรณกรรม

แม้แต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระราชภาระใหญ่ในการสร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ในขณะที่ข้าศึกศัตรูจ้องทำลาย แต่เมื่อผ่านสงครามครั้งสำคัญของประเทศ คือสงคราม ๙ ทัพ และสงครามท่าดินแดงแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาให้กลับคืนมา ในด้านวรรณกรรม ทรงมีพระราชนิพนธ์ที่สำคัญคือ กลอนนิราศท่าดินแดง กลอนบทละครเรื่องอิเหนา กลอนบทละครเรื่องอุณรุท และทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวรรณคดีที่ยาวที่สุดของไทย มีความยาวถึง ๑๑๖ เล่มสมุดไทย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๔๐ เป็นเวลา ๒ ปีจึงแล้วเสร็จ

รามเกียรติ์ ไม่ใช่เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นของไทยหรือของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ถือกันว่าเป็นวรรณกรมประจำชาติของทั้งไทย กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย และอินโดเนเซีย โดยล้วนแต่มีเค้าโครงเรื่องมาจากมหากาพย์ “รามายณะ” ที่ ฤาษีวาลมีกิ ชาวอินเดียได้แต่งเป็นภาษาสันสกฤตไว้เมื่อราว ๒,๔๐๐ ปีมาแล้ว ทั้งยังนำเรื่องอื่นๆมาผนวกเข้าไปด้วย อย่าง นิทานเรื่องพระราม ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านยอดฮิตของชาวอินเดีย และคัมภีร์หนุมานนาฏกะ รวมทั้ง รามายณะฉบับอื่นๆ เช่นฉบับทมิฬ ของชาวอินเดียตอนใต้ ซึ่งหลายตอนก็ไม่เหมือนฉบับของฤาษีวาลมีกิแต่งไว้ โดยได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตนจนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติไป

เชื่อกันว่ารามเกียรติ์แพร่มาถึงไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว มีชื่อตัวละครและสถานที่สอดแทรกอยู่ในวรรณคดีและนิทานต่างๆ รวมทั้งชื่อบ้านนามเมืองและนามมงคลทั้งหลาย ในหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงก็ปรากฏชื่อที่น่าจะมาจากรามเกียรติ์ เช่น ถ้ำพระราม บึงพระราม แม้แต่พระนามของกษัตริย์ เช่น พระรามาธิบดี พระราเมศวร พระนารายณ์ หรือแม้แต่คำว่า อยุธยา ก็ล้วนมาจากเรื่องรามเกียรติ์

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ สมุดที่บันทึกเรื่องรามเกียรติ์ได้สูญหายหาฉบับที่สมบูรณ์ไม่ได้ ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีเวลาแค่ ๒ เดือน จึงพระราชนิพนธ์ไว้เพียง ๔ ตอนเท่านั้น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชประสงค์จะให้กรุงเทพมหานครรุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมครั้งกรุงเก่าให้กลับคืนมา

ในด้านบทละครที่ขาดหายไปนั้น โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการที่เป็นกวีสันทัดทางบทละครช่วยกันแต่งถวาย ทรงตรวจแก้ไขแล้วตราเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้เป็นต้นฉบับครบทุกเรื่อง มีเรื่องรามเกียรติ์ ๑๑๖ เล่มสมุดไทย เรื่องอุณรุท ๑๘ เล่มสมุดไทย เรื่องดาหลัง ๓๒ เล่มสมุดไทย เรื่องอิเหนา ๓๒ เล่มสมุดไทย

รามเกียรติ์ของไทยมี มีเรื่องราวพ้องกับรามายณะของอินเดียเป็นส่วนใหญ่ บางตอนก็พ้องกับฉบับของเพื่อนบ้าน แต่ก็มีส่วนที่ไม่เหมือนกับใครอยู่ไม่น้อย เป็นของไทยตามวัฒนธรรมและรสนิยมของคนไทย โดยเฉพาะในตอนที่เกี่ยวกับหนุมาณ รามเกียรติ์ไทยดูจะสนุกสนานให้ความบันเทิงมากกว่าทุกฉบับ จนเกือบจะเป็นพระเอกของเรื่องแทนพระรามไปเลย

หนุมานในฉบับเดิมของอินเดีย เป็นเพียงลิงสมุนรับใช้ที่ซื่อสัตย์ต่อพระราม ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก ทั้งยังเป็นลิงพรหมจรรย์ไม่เคยข้องแวะกับสตรี แต่หนุมานในฉบับไทยมีบทบาทมากมาย ดูจะเด่นกว่าพระรามเสียด้วยซ้ำ ทั้งยังเป็นนักรัก มีเมียมาก ซึ่งหนุมานของทุกประเทศไม่มีนิสัยนี้

บางตอนก็ดัดแปลงเรื่องให้ง่ายต่อการแสดงละคร ทั้งยังได้คติด้วย อย่างตอนเผากรุงลงกา ทศกัณฐ์จับหนุมานได้ แต่จะฆ่าอย่างใดก็ไม่ตาย หนุมานเลยแกล้งบอกว่าตัวเองก็อยากตายเหมือนกันจะได้ไม่ทรมาน จะตายก็ด้วยเอาไฟเผาเท่านั้น ทศกัณฐ์หลงเชื่อเอาเชื้อเพลิงมาพันรอบกายหนุมานแล้วจุดไฟเผา ไฟลุกโชนขึ้นแต่ก็เผาได้แต่เสื้อผ้า เพราะหนุมานมีขนเพชรป้องกันตัว ไฟไม่ระคายผิว ติดอยู่แค่ปลายหางที่มีขนเป็นพวง หนุมานได้ทีเลยกระโจนไปตามปราสาท เอาหางที่ติดไฟจี้จนวอดไปทั้งกรุงลงกา แต่ไฟที่เผาหนุมานนั้นเกิดจากหอกแก้วของทศกัณฐ์ที่ไม่มีใครดับได้ หนุมานจึงต้องเหาะไปลงมหาสมุทรให้ดับไฟ แต่รามเกียรติ์ไทย หนุมานไปหาพระฤาษีถามถึงวิธีดับไฟจากหอกทศกัณฐ์ ฤาษีก็บอกใบ้ว่าต้องใช้น้ำบ่อน้อย หนุมานคิดได้เอาหางอมใส่ปากไฟก็ดับ ไม่ต้องเหาะไปถึงมหาสมุทร

รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีที่มีเรื่องราวสนุกสนาน ได้รับความนิยมจนเป็นวรรณคดีประจำชาติ ทั้งยังให้คติธรรมที่ว่า ธรรมย่อมชนะอธรรม และยกย่องความซื่อสัตย์ กตัญญู อันเป็นคุณธรรมข้อสำคัญในความเป็นไทย