ความหมายของเพลงเขมรไทรโยคบอกถึงอะไร

บทความนี้คัดย่อจาก “100 ปี เพลงเขมรไทรโยค” ของอาจารย์มนตรี ตราโมท ที่เขียนลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2531

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสตำบลไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชบริพาธเป็นขบวนใหญ่ถึง 2 ครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2420 ครั้งหนึ่ง และ พ.ศ. 2431 อีกครั้งหนึ่ง

อันระยะทางตั้งแต่ลำน้ำแควน้อยไปจนกว่าจะถึงตำบลไทรโยคน้อย ล้วนเป็นทัศนียภาพอันเกิดจากธรรมชาติที่งดงามอย่างประหลาด ในลำน้ำที่มีทั้งเรี่ยว แก่ง เกาะ มากมาย สองฟากฝั่งก็มีพฤกษชาตินานาชนิด ภูเขา น้ำพุ และสัตว์ป่าส่งเสียงวิเวกวังเวง ล้วนแต่สิ่งที่นำอารมณ์ของกวีและศิลปินให้บังเกิดสุนทรียภาพในห้วงลึก และสร้างสรรค์สิ่งนั้นแสดงออกมาตามวิชาการของแต่ละท่าน

น้ำพุที่ขึ้นชื่อลือชานามว่างามจับตาตรึงในจขณะนั้น เห็นจะได้แก่น้ำพุท้องช้าง แม้เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชสงครามถึงตำบลนั้นก็เป็นที่ต้องพระราชหฤทัย ทรงสรรเสริญความงามของพุท้องช้างไว้ในพระราชนิพนธ์นิราศ เรื่อง รบพม่าท่าดินแดง ว่า

มาทางพลางแสนคะนึงหา                  นัยน์นาแลลับไพรสณฑ์

ยิ่งแดดาลร่านร้อนทุรนทน                  จึงลุดลเข้าห้องไอยรารมย์

เป็นช่องชั้นเชิงผาศิลาลาด                  รุกขชาติรื่นรวยสวยสม

ไพจิตรพิศพรรณอยู่น่าชม                   ลมพัดพากลิ่นสุมาลย์มา

มีท่อธารน้ำพุดุดั้น                            ตลอดหลั่นไหลลงแต่ยอดผา

เป็นโปร่งปล่องช่องชั้นบรรพตา             เซ็นซ่าดังสายสุหร่ายริน

บ้างเป็นท่อแถวทางหว่างบรรพต            เลี้ยวลดไหลมาไม่รู้สิ้น

น้ำใสไหลซอกสิขรินทร์                       แสนถวิลถึงสวาทไม่คลาดเคลา

เกษมสุขสุขศานต์สำราญเริง                 บันเทิงจิตพิศวงหรรษา

ชลอได้คิดจะไคร่ชลอมา                      ให้เป็นที่ผาสุขทุกนางใน

ความหมายของเพลงเขมรไทรโยคบอกถึงอะไร
น้ำตกไทรโยค จ.กาญจนบุรี ถ่ายเมื่อ 2528

เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จครั้งแรกในพ .ศ. 2420 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งโดยเสด็จพระราชดำเนินมาถึงพุท้องช้างนี้ก็ทรงนิพนธ์เป็นสาลินีฉันท์ บรรยายความงามไว้อย่างไพเราะ ตอนหนึ่งมีความว่า

พิศผาเริงพาพิศ       วงจิตบจืดใจ

จักเมิลจักมองใด     ก็สมท่าบทรามที

ดังมออันก่อแกล้ง   ประดิษฐ์แสร้งประดับดี

ยิ่งชมยิ่งชวนปรี-     ดีปราโมทย์กระมลเมิล

น้ำตกเป็นชั้นชั้น     แลพุดั้นพุแนวเนิน

น่าพิศน่าเพลิดเพลิน  นา บ จาก บ อยากคลา

ผ่ายื่นเป็นพู่ย้อย      แลพวงห้อยประดับผา

แลล่างดัวอ่างปลา     แลเปี่ยมด้วยนทีธาร

เรื่องความงามของน้ำพุตามทางจนไปถึงไทรโยคนี้ ดูเหมือนพระบาทสมเด็จพระจุลอจมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพุใหญ่ที่ตำบลไทรโยคงามกว่า เพราะปรากฏในพระราชหัตถเลขา เมื่อเสด็จคราวนั้นทรงกล่าวถึงพุใหญ่ว่า “ถ้านักเลงเขามองหรือช่างแล้ว ควรจะดูจริงๆ ทีเดียว ไม่เห็นว่าน้ำพุที่ไหนจะงามเท่าที่นี่เลย”

อันบรรดาสัตว์ป่าที่เราไม่เคยจะได้พบเห็นภายในเมือง เช่น นกยูงนั้น ตั้งแต่เมืองกาญจนบุรีขึ้นไปก็ชักจะมีชุกชุมขึ้นทุกที บางทีลงมาอยู่ชายฝั่ง และเกาะอยู่บนต้นไม้หลายๆ ตัว ส่งเสียงวิเวกวังเวงระคนกับเสียงนกอื่นๆ ทำให้อารมร์เพลิดเพลินยิ่งนัก เมื่อตอนเสด็จประทับ ณ พลับพลาตำบลวังหมึกคราวเสด็จ (พ.ศ. 2420) ก็ทรงพระราชนิพนธ์โคลงบรรยายทัศนียภาพไว้ว่า

พระลบเจียนลับไม้      รอมรอน

แสงส่องสั่งอัมพร        พ่างย้อม

สีสลับกับสาคร           เขียวโสด ใสแฮ

อีกหมู่ไม้ไล่ล้อม          เล่ห์ล้ำระบายสี

ปักษาเซ่งแซ่ร้อง          หลายเสียง

บ้างหยุดบ้างบินเฉียง     สู่ไม้

ขึ้นรังร่วมคู่เคียง           กันพลอด

ฟังเพลิดเพลินใจให้        ห่วงน้องเนาหลัง

เมื่อเสด็จคราว (พ.ศ. 2431) ก็ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในกลอนไดเอรี่ตามเสด็จไทรโยค บรรยายไว้อย่างละเอียดลออและไพเราะยิ่งนัก ตอนหนึ่งทรงพระราชนิพนธ์ว่า

นกยูงหางยาวเฟื้อยร้องเจื่อยแจ้ว            ก๊อกก๊อกก๊อกแล้วกระโต้งโห่ง

กระสาแดงแฝงตอทำคอโง้ง                  พอปลาผุดฮุบโผงกลืนพองคอ

สาลิกาเกาะกิ่งต้นไม้โกร๋น                    เต้นกระโจนแจจรรพูดกันจ้อ

ยังพวกฝูงเจ้าขุนทองจับกองออ              เสียงแจ้จ้อเจรจาภาษากัน

ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์นั้น ขณะที่โดยเสด็จพระราชดำเนินในครั้งแรก (พ.ศ. 2420) มีพระชนมมายุเพียง 14 พรรษา แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงมีพระนิสัย โปรดทางดนตรีปี่พาทย์แต่ทรงพระเยาว์ แม้ในการโดยเสด็จคราวนั้นก็ยังคงนำเอาผืนระนาดเอกม้วนใส่เรือไปด้วย เวลาต้องพระประสงค์จะตีก็คลี่ผืนระนาดนั้นผูกกับกราบเรือแทนรางระนาด นัยว่าทรงขยันในการตีระนาดเสียด้วย ไม่ว่าขึ้นพักแห่งใด ถึงเวลาว่างก็มักจะทรงตีระนาดเล่นเสมอๆ จนถึงแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา ซึ่งมักประทับอยู่ด้วยกันแทบทุกแห่ง รับสั่งบ่นว่า “องค์จิตรนี่แหละตีระนาดหนวกหูพิลึก”

ความหมายของเพลงเขมรไทรโยคบอกถึงอะไร
สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ (แถวนั่งที่ 2 จากขวา) ฉายพระรูปร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 5

การที่ได้ทรงโดยเสด็จพระราชดำเนินในครั้งแรกนี่ บรรดาความงามความเพลิดเพลินของสถนที่และเสียงสัตว์นานาชนิด ก็ยังคงติดพระหฤทัยของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ตลอดมา

ลุ พ.ศ. 2431 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ กำลังทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการอยู่ ในปีนั้นก็มีกำหนดว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสไทรโยคในตอนปลายปี เพราะฉะนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ อันมีหน้าที่จะต้องจัดตั้งวงดนตรีลขับร้องถวาย ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งจะมีในเดือนกันยายนปีนั้น ถึงทรงปรับปรุงวงดนตรีในรูปวงมโหรี แต่ก็มีซอฝรั่วผสมด้วยคันหนึ่งมีคนร้องทั้งหญิงและชาย คนร้องหญิงโดยมากเป็นคนของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว.หลาน กุญชร ) และคนร้องฝ่ายชายเป็นทหารมหาดเล็ก…

ความหมายของเพลงเขมรไทรโยคบอกถึงอะไร
เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว.หลาน กุญชร )

ส่วนผู้บรรเลงเป็นทหารมหาดเล็ก ทหารหน้า ทหารรักษาพระองค์ และกรมยุทธนาธิการ นอกจากทรงปรับปรุงกำหนดเพลาที่จะขับร้องและบรรเลงจากเพลงเก่าแล้วยังทรงแต่งเพลงขึ้นใหม่อีกเพลงหนึ่ง โดยมีพระประสงค์ที่จะโฆษณาถึงความงาม ความเพลิดเพลิน อันมีอยู่ในระหว่างทางจนถึงตำบลไทรโยคที่มีกำหนดการว่าจะเสด็จพระราชดำเนินประพาสในปลายปีนั้นด้วย

ทำนองเพลงที่ทรงแต่งขึ้นนั้น ได้ทรงนำทำนองเพลงเขมรกล่อมลูก 2 ชั้นของเก่ามาเป็นหลัก แล้วทรงแต่งขยายทำนองขึ้นเป็นอัตรา 3 ชั้น ตามแบบแผนทฤษฎีของการแต่งเพลงไทย แต่แล้วทรงเห็นว่าหากยึดหลักทำนองเขมรกล่อมลูกให้ถูกต้องโดยตรงไปจนตลอดเพลง ความไพเราะอาจจะหย่อนไป จึงทรงแยกย้ายขยายทำนองให้กว้างขวางออกไป จนบางแห่งก็ไกลจากพื้นทำนองเพลงเขมรกล่อมลูกไปบ้าง แต่ยังทรงเรียกชื่อว่า “เขมรกล่อมลูก”

ส่วนบทร้องก็ทรงนำเอาความทรงจำตั้งแต่โดยเสด็จพระราชดำเนินครั้งแรกมาเป็นเนวทางพระนิพนธ์ บทที่ทรงพระนิพนธ์ครั้งแรกเป็นดังนี้

บรรยายยามตามแห่เสด็จยาตร              ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์

น้องเอยเจ้าไม่เคยเห็น                         ไม้ไล่หลายพรรค์คละขึ้นปะปน

ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโตรกธาร             น้ำพุพุ่งส้าเสียงฉ่าฉาดฉาน

เห็นตระการมันไหลคะโครมโครม            มันไหลจ็อกจ็อกจ็อกจ็อกคะโครมโครม

น้ำไหลใจนดูหมู่มัศยา                          กี่เหล่าหลายว่ายมาก็เห็นโฉม

น้องเอยเจ้าไม่เคยเห็น                          ยินปักษาซ้องเสียงพียงประโคม

ในยามเย็นพยับโพยมร้องเรียกรัง              ฝูงนกยูงทองเสียงร้องโด่งดัง

หูเราฟังมันดังกะโต้งโฮง                         มันดังกอกกอกกอกกอกกะโต๊งโฮง

ได้นำออกบรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นครั้งแรกในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2431 ก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยและได้รับความนิยมจากผู้ที่ได้ฟังเป็นอันมา กับทำให้ยิ่งเกิดความกระหายใคร่ที่จะตามเสด็จกันอย่างยิ่ง

ในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสไทรโยคครั้งที่ 2 ตอนปลายปีนั้น ( พ.ศ.2431) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ มิได้โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย เพราะทรงมีหน้าที่รักษาราชการทางพระนคร…

สำหรับเพลงเขมรกล่อมลูกนั้น ในกาลต่อมาได้ทรงแก้ไขถ้อยคำในบทร้องบางคำเป็นดังที่ร้องกันทั่วๆ ไปดังนี้

บรรยายยามตามไท้เสด็จยาตร              ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์

น้องเอยเจ้าไม่เคยเห็น                         ไม้ไล่หลายพรรค์คละขึ้นปะปน

ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโตรกธาร             น้ำพุพุ่งซ่าไหลฉ่าฉาดฉาน

เห็นตระการมันไหลจ๊อกโครมโครม          มันไหลจ้อกจ้อกโครมโครม

น้ำใสไหลจนดูหมู่มัตสยา                      กี่เหล่าหลายว่ายมาก็เห็นโฉม

น้องเอยเจ้าไม่เคยเห็น                         ยินปักษาซ้องเสียงพียงประโคม

เมื่อยามเย็นพยับโพยมร้องเรียกรัง           เสียงนกยูงทองมันร้องโด่งดัง

หูเราฟังมันดังกะโต้งห่ง                        มันดังก้อกก้อกก้อกก้อกกะโต๊งห่ง

ส่วนชื่อเพลงนั้น พระองค์ท่านผู้ทรงนิพนธ์ก็ทรงเรียกอยู่ว่า “เขมรกล่อมลูก” แต่เนื่องจากนักร้องบ้างนักดนตรีบ้าง และผู้ที่ได้ยินได้ฟังเป็นที่พอใจบ้าง ซึ่งไม่ทราบว่าชื่อเพลงอะไรก็มักจะไต่ถามหรือปรารภถึงว่า “เพลงเขมรอะไรนะที่มีไทรโยค”  หรืออะไรทำนองนี้ ในที่สุดก็เรียกกันเป็นที่หมายรู้ว่า “เขมรไทรโยค” และก็กลายเป็นชื่อเพลงไป ซึ่งเป็นที่ชื่อที่ประชาชนผู้สนใจแท้ๆ เป็นผู้แต่ง เพราะเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ฟังแล้วรู้สึกประทับใจ และเห็นความงามของทัศนียภาพแห่งไทรโยคได้อย่างซาบซึ้งเป็นเพลงอมตะของไทยแท้เพลงหนึ่ง