โดยปกตินิติกรรมที่บุคคลวิกลจริตทำจะมีผลเป็นอย่างไร

โดยคุณ webmaster เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 16:48:04

ข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม: 

ข้อเท็จจริง  บิดาของผู้ร้องเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ช่วงเดือนกันยายนปี 2555 โดยตอนเกิดอุบัติเหตุบิดาผู้ร้องมีอายุ 59 ปี ปัจจุบันอายุ 60 ปี ผลจากอุบัติเหตุทำให้ต้องผ่าตัดสมอง ตอนนี้พักฟื้นอยู่ที่บ้าน ไม่สามารถแสดงออกหรือสื่อสารและช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องนอนอย่างเดียว ตอนเกิดอุบัติเหตุบิดาผู้ร้องเป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งทางเจ้าของบริษัทก็ยังคงจ่ายเงินเดือนตามปกติให้อยู่จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะไปทำงานไม่ได้ก็ตาม (สามารถใช้ประกันสังคมได้)

ประเด็นคำถาม
1.หากต้องการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถต้องทำอย่างไร และจะส่งผลอย่างไรต่อสิทธิและความสามารถในการทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ
2.การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของบิดาผู้ร้อง ต้องทำอย่างไรบ้าง
3.การดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากคู่กรณี ต้องดำเนินการอย่างไร

ความเห็นและข้อเสนอแนะ: 

ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 28, 29 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              

การดำเนินการให้คำปรึกษา
  คำว่า “บุคคลวิกลจริต” นั้น นอกจากจะหมายถึงบุคคลที่มีความประพฤติหรือกิริยาผิดปกติ ไม่สามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดี เพราะสติวิปลาส อันจะเรียกได้ว่า คนบ้า แล้ว ยังหมายความถึง บุคคลที่ขาดความรำลึกหรือขาดความรู้สึกตัวด้วย จากข้อเท็จจริง บิดาของผู้ร้องไม่สามารถแสดงออกหรือสื่อสารและช่วยเหลือตัวเองได้ ถือว่าขาดความรู้สึกตัว เช่นนี้แล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรผู้สืบสันดานจึงอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บิดาของผู้ร้องเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้ โดยศาลจะจัดให้มีการแต่งตั้งผู้อนุบาลเป็นผู้ดูแลคนไร้ความสามารถ และเป็นผู้ทำการใดๆแทนคนไร้ความสามารถ เพราะการใดๆที่คนไร้ความสามารถได้กระทำลง ตกเป็นโมฆียะ ดังนั้นหากผู้ร้องต้องการจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นชื่อของบิดานั้น อาจทำได้ 2 วิธี คือการโอนกรรมสิทธิ์ทางนิติกรรม และ การโอนกรรมสิทธิ์โดยผลของกฎหมาย
 การโอนกรรมสิทธิ์ทางนิติกรรมนั้น ต้องพิจารณาเสียก่อนว่าทรัพย์สินที่จะทำการโอนเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ หากเป็นสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องพิจารณาลักษณะของนิติกรรมว่ากฎหมายได้กำหนดแบบไว้ว่าอย่างไร เช่น นิติกรรมการให้ ต้องมีการส่งมอบทรัพย์ที่จะให้ หากไม่สามารถหาเจอตัวทรัพย์ นิติกรรมการให้ย่อมไม่สมบูรณ์ เป็นต้น หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ โดยหลักแล้ว กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การแสดงเจตนาทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถต้องมีคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้อนุบาลเป็นผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมแทน และในเมื่อคนไร้ความสามารถไม่สามารถแสดงเจตนาด้วยตนเองได้เพราะขาดความรู้สึกตัว จึงมีศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินในท้ายที่สุดว่าจะอนุญาตให้ทำนิติกรรมหรือไม่
 ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์โดยผลของกฎหมาย เช่น มรดก ย่อมตกทอดแก่ทายาทผู้รับพินัยกรรมผู้สิทธิรับมรดกตามกฎหมาย ซึ่งหากบิดาของผู้ร้องได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่หาไม่เจอหรือยังไม่สมบูรณ์ มีผลทำให้ไม่สามารถบังคับตามพินัยกรรม  ย่อมต้องถือว่าไม่มีพินัยกรรม และให้มรดกของบิดาผู้ร้องตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม ซึ่งกฎหมายได้จัดลำดับชั้นของทายาทโดยธรรมไว้ ดังนี้ 1. ผู้สืบสันดาน 2. บิดามารดา  3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน  5. ปู่ ย่า ตา ยาย  6. ลุง ป้า น้า อา นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้คู่สมรสที่มีทะเบียนถูกต้อง ถือเป็นทายาทโดยธรรมด้วย  เมื่อมีการแบ่งมรดกต้องจัดให้คู่สมรสอยู่ในลำดับเดียวกับผู้สืบสันดาน
 การใช้สิทธิทางศาลในการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากคู่กรณีนั้น อาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อให้เป็นคู่ความฟ้องร้องคดีแทนผู้ไร้ความสามารถ ถ้าไม่มีบุคคลอื่นใด ให้ศาลมีอำนาจตั้งพนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองอื่นให้เป็นผู้แทนได้
 สรุปได้ว่า การที่ผู้ร้องในฐานะผู้สืบสันดาน มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บิดาของผู้ร้องตกเป็นผู้ไร้ความสามรถตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 28 วรรคหนึ่งแล้ว ย่อมต้องมีการตั้งผู้อนุบาลมีอำนาจจัดการทรัพย์สินตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งจะส่งผลให้การทำนิติกรรมของบิดาผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำลง การนั้นย่อมเป็นโมฆียะตามมาตรา 29 การทำธุรกรรมใดจึงต้องมีผู้อนุบาลเป็นผู้ทำแทน ส่วนนิติกรรมที่สำคัญๆมาตรา 28 วรรคสองประกอบมาตรา 1574 บัญญัติให้ ผู้อนุบาลต้องได้รับอนุญาตจากศาล เช่น การขาย จำนองอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ส่วนการจัดการนิติกรรมทั่วๆไป ผู้อนุบาลย่อมมีอำนาจจัดการแทนโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล
 ส่วนการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลผู้อนุบาลย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้ไร้ความสามารถได้โดยที่ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลไร้ความสามารถ

  • แพ่ง
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง