อัตราการแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยใด

​​“ค่าเงิน” กำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน

หลายปีที่ผ่านมา “ค่าเงิน” มีความสำคัญในวงจำกัด ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก ส่วนการลงทุนก็ยังคงเน้นลงทุนในประเทศเป็นหลัก จึงยังไม่ได้รับผลกระทบจาก “ค่าเงิน” มากนัก แต่ปัจจุบันกลับมีความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มาทำความรู้จักกันว่าทำไม “ค่าเงิน” หรือภาษาที่เป็นทางการเรียกว่า “อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ” จึงมีอิทธิพลและเป็นปัจจัยสำคัญ ใน 2 มิติกัน

มิติด้านเศรษฐกิจ

อิทธิพลของค่าเงินที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจที่เห็นได้อย่างชัดเจนมาก คือ การนำเข้า-ส่งออก และ การท่องเที่ยว

  • การนำเข้า เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการนำเข้าสินค้า หรือวัตถุดิบจากนอกประเทศ หากค่าเงินของประเทศนั้น “แข็งค่า” เมื่อเทียบกับคู่ค้า ก็สามารถสั่งซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลง หรือใช้เงินเท่าเดิมซื้อสินค้าได้มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนต่ำ ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นได้
  • การส่งออก จะตรงข้ามกับการนำเข้า เพราะการส่งออกต้องการให้ค่าเงินของประเทศ “อ่อนค่า” เมื่อเทียบกับคู่ค้า และ คู่แข่ง เพราะจะทำให้สินค้าราคาถูกลงกว่าปกติเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ยอดขายเพิ่ม ขณะที่ลูกค้าใช้เงินเท่าเดิม สามารถซื้อสินค้าได้ปริมาณที่เยอะขึ้น ก็จะส่งผลไปถึงรายได้และกำไรได้เช่นเดียวกัน หากเป็นบริษัทที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศและผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ต้องอาศัยความสามารถในการบริหาร “ค่าเงิน” อย่างมาก เพราะจะกระทบทั้งต้นทุน และ รายได้ของบริษัท
  • การท่องเที่ยว อีกหนึ่งสินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปหาลูกค้าได้เหมือนสินค้าทั่วไป แต่ก็ได้รับผลกระทบจาก “ค่าเงิน” เช่นเดียวกัน ประเทศที่เน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ต้องการให้ค่าเงินของประเทศ “อ่อนค่า” เมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศนักท่องเที่ยว เพราะจะทำให้นักท่องเที่ยวมีต้นทุนการท่องเที่ยวถูกลงโดยใช้เงินเท่าเดิม เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพิ่มขึ้น กระตุ้นการบริโภคในประเทศได้อีกทาง

ข้อสังเกต หลายประเทศต้องการให้ค่าเงินของประเทศ “อ่อนค่า” เมื่อเทียบกับคู่ค้า และ คู่แข่ง เพื่อประโยชน์ต่อการส่งออก และ การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศในกลุ่มยุโรป รวมถึงประเทศไทย

มิติด้านการลงทุน 

มิติด้านการลงทุน ก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน การลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศอาจจะมาในรูปการลงทุนโดยตรง เช่น การตั้งบริษัท การร่วมทุน หรือการลงทุนโดยอ้อม เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อนักลงทุนเลือกประเทศเป้าหมายที่ต้องการลงทุนจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็จะพิจารณาค่าเงินประกอบเสมอ หากค่าเงินของประเทศที่ต้องการลงทุน “อ่อนค่า” เมื่อเทียบกับสกุลเงินของนักลงทุน ก็จะตัดสินใจเข้าลงทุน เนื่องจากสามารถเข้าลงทุนได้ต้นทุนที่ต่ำลง และ เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผลตอบแทนจากการลงทุนงอกเงยขึ้น นักลงทุนก็ต้องการให้ค่าเงินของประเทศที่ลงทุนอยู่ “แข็งค่า” เมื่อเทียบกับสกุลเงินของนักลงทุน เมื่อได้รับผลตอบแทน หรือกำไรจากการลงทุน แลกกลับเป็นสกุลเงินของนักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มอีก ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “กำไรสองต่อ” คือ ได้ผลตอบแทนจากการลงทุน และกำไรจากค่าเงินด้วย แต่หากเกิดการวิเคราะห์ผิดทาง เกิดผลตรงข้าม เช่น เข้าลงทุนแล้วเกิดการขาดทุน และ ค่าเงินของประเทศที่ลงทุนกลับ “อ่อนค่า” เมื่อเทียบกับสกุลเงินของนักลงทุน เมื่อแลกกลับเป็นสกุลเงินของนักลงทุนก็จะเกิดการขาดทุนเพิ่มอีก ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “ขาดทุนสองต่อ” คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนติดลบ และขาดทุนจากค่าเงิน

ข้อสังเกต ปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศจะแสวงหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มจาก “ค่าเงิน” เช่น นักลงทุนจากฝั่งอเมริกาและยุโรปที่มาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย

แล้ว “ค่าเงิน” จะ “อ่อนค่า” หรือ “แข็งค่า” จากปัจจัยอะไรบ้าง โดยสรุป 4 ปัจจัยสำคัญ คือ

  1. การเติบโตทางเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจประเทศใดขยายตัวต่อเนื่อง ก็จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
  2. อัตราดอกเบี้ย เมื่อประเทศใดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่อ้างอิงดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้นด้วย จะเกิดการโยกย้ายเงินลงทุนจากประเทศที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า 
  3. การเมือง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ หากประเทศใดมีเสถียรภาพทางการเมื​องมาก ก็จะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ นำเงินมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น 
  4. การแทรกแซงของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐของแต่ละประเทศจะพิจารณาความเหมาะสมว่า ค่าเงินของประเทศควรจะอยู่ระดับใด เพื่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจและประเทศ

ตัวอย่างเหตุการณ์ปัจจุบันที่จะกระทบ “ค่าเงิน” คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือการลดขนาดงบดุล โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทาง “ค่าเงิน” ของประเทศทั่วโลก

หากผู้ลงทุนที่มีการทำธุรกรรมหรือลงทุนที่ต้องเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ อยากลดความเสี่ยงจากความผันผวนของ “ค่าเงิน” อาจจะพิจารณาทำ “การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน” หรือ “Hedging” กับทางสถาบันการเงินที่เปิดให้บริการ จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของ “ค่าเงิน” หรือผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ (Foreign Investment Fund หรือ FIF) ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบาย “ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน” หรือ “Hedging” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของ “ค่าเงิน” ได้เช่นเดียวกัน 

“ค่าเงิน ถ้ารู้วิธีรับมือ เราก็สามารถบริหารจัดการความผันผวนได้”

โดย ธนกฤต ศรันกิตติภัทร CFP®

ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนกลุ่มลูกค้าบุคคลพิเศษ อาวุโส

ธนาคารกสิกรไทย