อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แปลว่าอะไร

วันนี้ผมจะมาแบ่งปันเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ว่าด้วยเรื่อง “กฎไตรลักษณ์” ซึ่งถือว่าเป็นกฎธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างไม่อาจหลีกหนีกฎนี้ไปได้ เพื่อให้ทุกท่านตระหนักถึงสัจธรรมข้อนี้ จะได้ไม่ใช้ชีวิตอยู่บนความประมาท และทำความเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เหนือการควบคุมของเรา เราไม่ได้ยิ่งใหญ่ที่สุด ธรรมชาติต่างหากที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แปลว่าอะไร

อนิจจตากับทุกขตา ใกล้เคียงกันมาก ถ้าจะให้เข้าใจง่ายให้กำหนดดังนี้ครับ อาการปรากฏชัดภายนอก หรือความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เห็น เช่น ผมหงอก ฟันหลุด หนังที่เหี่ยวย่น เป็นอนิจจตา ความไม่สมบูรณ์ในตัวมันเองความบกพร่องภายใน ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นทุกขตา

พูดง่ายๆ ว่า ความเปลี่ยนแปลง (change) คือ อนิจจตาสาเหตุของความเปลี่ยนแปลง (subject to change) เป็นทุกขตา

ส่วน อนัตตา มีความหมาย 2 นัย คือ (1) “ไม่ใช่ตน” หมายถึงไม่ใช่ตัวตนของเรา สักแต่ว่าธาตุสี่ขันธ์ห้ารวมกันแล้วก็สมมติว่า นายนั่น นางนี่ เท่านั้นเอง แท้จริงแล้วไม่มีตัวตนที่แท้จริง ถึงเวลาก็ดับสลายไปตามเหตุปัจจัย

พระบาลีอธิบายไว้ชัดแล้วว่า ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเป็นตนของใครจริงแล้ว เขาย่อมบังคับหรือขอร้องมันได้ เช่น บอกมันว่า ผมเอ๋ย ให้แกดำงามอยู่อย่างนี้นะเว้ย อย่าได้หงอกเป็นอันขาด ฟันเอ๋ย เอ็งอย่าโยกคลอนนาเว้ย เคี้ยวอะไรลำบากว่ะ กำลังวังชาขอให้เข้มแข็งอยู่อย่างนี้นา อย่าได้ “บ้อลั่ก” เป็นอันขาด ขอให้ “เตะปี้บ” ดังปังๆ ตลอดไป

มันฟังเราไหม? เปล่าเลย ถึงเวลาผมมันก็หงอก ฟันมันก็โยกคลอนหรือหลุดไป และหมดเรี่ยวหมดแรงลงตามลำดับขนาดขึ้นบันไดยังหอบแล้วหอบอีก

นี่คือความหมายของอนัตตานัยที่หนึ่ง

ส่วนความหมายนัยที่สองคือ “ไม่มีตัวตนถาวร” อันนี้หมายถึง ไม่มีอัตตา หรืออาตมันถาวร อย่างที่คนสมัยนั้นเชื่อถือและสั่งสอนกัน คือชาวอินเดียสมัยโน้นสอนกันว่า ร่างกายแตกดับสลายไปแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งไม่ดับไปด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ “สมบูรณ์ที่สุด” (the absolute) สิ่งนี้เรียกกันว่า “อัตตา” (หรือ อาตมัน) บ้าง “ชีวะ” บ้าง

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แปลว่าอะไร

แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีอัตตาอย่างที่ว่านั้น

พระพุทธองค์ทรงบอกให้พระปัญจวัคคีย์วิเคราะห์แยกแยะขันธ์ 5 ไปทีละอย่างๆ เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง ความไม่มีตัวตนและมิใช่ตัวตน เมื่อแยกพิจารณาแล้วก็ให้พิจารณารวมอีกทีว่า เมื่อแยกแต่ละชิ้นส่วนออกแล้ว มันยังไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีตัวตนและมิใช่ตัวตน เวลารวมกันแล้วมันจะเที่ยงแท้แน่นอน มีตัวตนและเป็นตัวตนอย่างไร

ขันธ์ 5 คืออะไร คงไม่ต้องแจงอีกนะครับ เพราะได้พูดไว้ย่อๆ ในตอนก่อนแล้ว พระองค์ทรงใช้วิธีถามให้คิดตะล่อมให้เข้าจุด ในที่สุดปัญจวัคคีย์ก็ได้คำตอบด้วยตนเองเป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนและได้ใช้บทบาทแห่งปัญญาของตนคิดและเข้าใจโดยอิสระปราศจากการครอบงำและยัดเยียด นับเป็นวิธีการสอนที่ทันสมัยอยู่เสมอ

ผู้เรียนวิชาครูลองศึกษาเทคนิควิธีการสอนปัญจวัคคีย์ในพระสูตรนี้ ของสมเด็จพระบรมครูดูสิครับ บางทีท่านอาจ “ตรัสรู้” ก็ได้

บันทึกธรรมจากหลวงปู่ท่อน ญาณธโร (พระราชญาณวิสุทธิโสภณ)
· คำพูดที่ไม่พิจารณาก็ย่อมกระทบกระเทือนผู้อื่น ให้พิจารณากลั่นกรองให้ดีเสียก่อนจึงค่อยพูด

· นิพพานใจจะต้องเด็ดเดี่ยวมากนะ ต้องไม่ห่วงใคร จะต้องไปคนเดียว

· เกิดบังดับ โลกบังธรรม งามบังผี ดีบังจริง สมมติบังวิมุตติ หลักธรรมบังพระนิพพาน

· แม้ภูเขาสูงแสนสูง หากบุคคลผู้มีความเพียรพยายามปีนป่ายขึ้นไปจนถึงยอด ภูเขาสูงแสนสูงก็ต้องอยู่ใต้ฝ่าตีนของคนผู้นั้น

· จิตหรดี คือ จิตที่เด็ดเดี่ยว ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปกับอะไร เป็นมงคลอย่างยิ่ง

· หลวงปู่มักเตือนว่า คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว คนชั่วชอบทำลาย คนมักง่ายชอบทิ้ง คนจริงชอบทำ คนระยำชอบติ

· อย่าส่งจิตออกนอก ส่งออกมันเป็นบ่วงแห่งมาร

· อย่ากินของร้อน (ราคะ โทสะ โมหะ) อย่านอนบนไฟ (โลภ โกรธ หลง) ให้ไปอย่างแร้ง (ไม่ติด ไม่สะสม) แสวงหาบริสุทธิ์ (ของที่ชอบธรรม)

· อย่าไปรีบ ไปเร่ง อย่าไปเคร่ง ไปเครียด ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เวลาจะได้ มาเองนั่นแหละ อย่าไปยึดมั่นในสิ่งใดๆ แม้การปฏิบัติ

· อย่าไปสนใจจิตของผู้อื่น จงสนใจจิตของตน

· อาหารบิณฑบาต ประเสริฐกว่ารับนิมนต์ หรือเขามาส่งตามวัด

· หลวงปู่ไปเมตตาคนป่วยด้วยคำเตือนใจสั้นๆ ว่า รู้อยู่ที่ใจได้ไหม

· ใครจะเป็นอย่างไรก็ยิ้ม ยืนยิ้มดูไปเฉยๆ

· เราคนเดียวเที่ยวรัก เที่ยวโกรธ หาโทษใส่ตัว

· ให้มีสติตามดูจิต เหมือนคนเดินบนถนนลื่นๆ ต้องระวังทุกก้าว ให้มีสติจดจ่อไม่วาง ดูจิตมันจะปรุงไปไหน จะคิดไปไหน จดจ่อดูมันก็ได้ แน่ๆ จะไปไหน ถ้ามันดื้อนัก ถ้ายังไป เราจะไม่นอนให้นะ

· (หลวงปู่เมตตาเล่าเรื่องนางปฏาจาราเถรี) ทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเธอในครั้งนี้ใครทำ ไม่ใช่เธอทำเองหรือ เพราะความรัก ความยึดมั่นในสิ่งรัก จึงทำให้ทุกข์ มีรักที่ไหน มีทุกข์ที่นั่น

· เวลาไหนเราไม่ปรุงไม่แต่งไปตามสังขาร ราคะ โทสะ โมหะ สังขารปรุงไม่ได้ เรียกนิพพานชั่วขณะ

· ให้พิจารณาจนเห็นทุกข์ในโลก เห็นโทษของกาม

· รักษาจิตให้ดี มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่อยู่ของใจ

· ให้สำรวมอินทรีย์ พิจารณาวิปัสสนาภูมิ อริยสัจ ๔ มรรค ๘ คือ ทางเดิน

· ตามดูอาการหลับให้ละเอียด มันค่อยๆ หลับไปอย่างไร

· เมื่อเกิดความปรุงแต่ง ก็ให้รู้ รู้แล้วพิจารณาตลอดสาย พิจารณาให้เกิดปัญญา รู้แล้วดับ

· สมาธิ คือ สมาธิ ยังเป็นสมุทัย พอถอนให้พิจารณากาย เอาให้มันเบื่อหน่าย ไม่งั้นจะเกิดทิฐิว่าตัวได้ ตัวถึง เป็นวิปลาส

· พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงเอาชนะความเบียดเบียนด้วยความไม่เบียดเบียน ชนะคนไม่ดีด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้

· น้ำในน้ำนิ่ง จะเห็นปลา เห็นทรายชัด ถ้าน้ำกระเพื่อมก็ไม่เห็น เปรียบกับจิตที่เป็นหนึ่งหยุดนิ่งย่อมรู้หมด มีอะไรรู้หมด รู้จิตผู้อื่นต้องทำให้เป็นวสีจึงจะรู้ได้ตลอด

· วาจาใดที่ทำให้ตนเองบ้าง ทำให้ผู้อื่นบ้างไม่สบายหู ไม่สบายใจ วาจานั้นถือว่าเป็นวาจาที่ไม่ควรพูด

· เมื่อนกจับต้นไม้ต้นใด มันก็ถือว่าสักแต่จับอยู่เท่านั้น เมื่อบินไปแล้วก็หมดเรื่องไม่มีความอาลัยกับต้นไม้นั้น

· อริยทรัพย์เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิงได้ ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายใดๆ ทำให้ใจไม่อ้างว้างยากจน เป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย

· ต้องรวมพลังจิตไปอยู่จุดเดียว จึงเกิดพลังพิเศษ จึงเห็นธรรม

· ความสันโดษ มักน้อย เป็นทรัพย์อันประเสริฐของผู้ต้องการความพ้นทุกข์

· ผู้ใดได้รับความสงบมากๆ คนนั้นคนรวย ผู้ใดสะสมกองกิเลสมากๆ มีรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์มากๆ ฟุ่มเฟือยอยู่ในกามสุข คนนั้นเป็นคนจน มีหนทางถึงหายนะแน่นอน

· อวิชชา คือความไม่รู้ ถ้ารู้อยู่เป็นวิชชา

· อย่าเอาแต่จะชนะอย่างเดียว เสียงแข็งขึ้นเพราะจะเอาชนะกัน ยิ่งแข็งยิ่งแตกหักง่าย

· ใจมันต้องเผ็ดเด็ดเดี่ยวลงไป ทำความเพียรแผดเผากิเลสให้หนักแน่น

· จงอยู่กับพระวินัยให้เคร่งครัด

· ผู้จะไปนิพพานต้องไม่มีอะไรข้องสักอย่าง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็ไม่ข้อง ต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย กินง่าย อยู่ง่าย นอนง่าย มีแต่ง่ายๆ มันก็ไม่ข้อง

· ใครจะว่าชั่วก็ตามที ใครจะว่าดีก็ตามชัง อยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีดี ไม่มีชั่วตามใครทั้งนั้น โลกธรรมถูกต้องไม่หวั่นไหว สบายตัวคนเดียวก็พอ

· คนจะรวยก็เพราะรวยน้ำใจมาก่อน คนจะจนก็เพราะจนน้ำใจมาก่อน

· ถ้าตั้งสติแล้วไม่ห่วงใคร ใครจะเป็นใครจะตายมันเรื่องของเขา เรื่องของเรามีหน้าที่ภาวนา

· ความเกษมสุข ความไม่เศร้าโศก เป็นมงคล ใจจะรื่นเริงเสมอ ถ้าเศร้าโศก จะเสียมงคลไปหมด เหมือนต้นไม้มันเฉาแล้ว น่าดูไหม เอาน้ำมารด เอาปุ๋ยมาใส่ชุ่มชื่นขึ้นมามันเป็นยังไง มันสดชื่นน่าชม

· ใจต้องให้ขาดจากความเกี่ยวความข้อง ตัดน้ำยังตัดไม่ขาด สายสวาทตัดขาดอย่างไร ตัดบัวก็ยังไว้ใย ตัดน้ำใจยังมีเมตตา มีเมตตาอยู่ ก็ข้องอยู่ ก็ติดอยู่นั้นแหละ

· ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ให้ตกไปสู่โลกชั่วทุรกันดาร

· กรรมฐานอะไรมันถูกจริต อะไรมันเป็นที่สบายก็เอาอันนั้น ไม่มีกฎบังคับกันหรอก

· ใครจะว่านินทา ช่างเขาเฉยไว้ก็ดีเอง

· การทำความเพียร อย่าหลอกลวงตัวเอง ให้เอาจริงเอาจังกับมัน

· ถ้าปล่อยใจคิดไปทางอื่นก็ใช้ไม่ได้ ทำให้เราหลง หมดท่า ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

· สนิมกินเหล็ก กิเลสกินใจ

· พระคุณต้องทดแทน ถ้าเคียดแค้นต้องอโหสิ อเวรัง อะสะปัตตัง พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่จองเวร เป็นผู้อโหสิ

· ทานัง เทติ การให้ทานเป็นเครื่องขัดเกลาอันแรก ทำบ่อยๆ จะเกิดความไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเสียสละ ไม่หวงแหน ไม่เหนียวแน่น

· สีลัง รักขติ เครื่องขัดที่สอง ให้รักษาศีล ๕ ให้ครบ เพราะศีล ๕ เป็นหลักประกันของสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข รักในทุกๆ ชีวิตเหมือนเป็นญาติของตน

· ศีลมีอยู่ ๓ แบบ คือ สัมปัตตวิรัต คืองดเว้นเอาเอง ตั้งใจงดโดยไม่ต้องขอศีลจากพระ สมาทานวิรัต คือ สมาทานศีลกับพระ สมุทเฉทวิรัต คือ ศีลของเหล่าพระอริยเจ้า ไม่ต้องสมาทานอีกแล้ว

· บางครั้งเราก็พูดแบบห้วนๆ ให้หมู่อยู่เหมือนกัน ใครฟังเป็นก็ไม่โกรธ ใครฟังไม่เป็นก็โกรธ

· ผู้ถึงพร้อมด้วยทาน ศีล ภาวนา ได้ชื่อว่ามีใจที่พัฒนาแล้ว เจริญแล้ว จะไม่มีทางเอารัดเอาเปรียบ มีแต่การเสียสละ จะอยู่ร่วมกันได้โดยสงบสุข

· บุคคลใดเป็นคนเลี้ยงง่าย มีกิจวัตรประจำวันที่เรียบง่าย ใจจะสบาย การปฏิบัติก็รวมใจเป็นหนึ่งได้ง่าย ความวุ่นวายก็น้อยลง ความกังวลยึดติดจะไม่มี

· ทรัพย์ภายใน ท่านว่า แสวงรู้ แสวงอ่าน แสวงฟัง แสวงเรียน นี่เป็นทรัพย์ภายในแต่ถ้าท่านผู้ใดปล่อยให้วันเวลาล่วงไปๆ ไม่แสวงหาทรัพย์เหล่านี้ไว้ในใจ ก็จะโง่ไม่ฉลาด จะทำให้เป็นคนจนได้

· ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าบาป บุญ เวรกรรมนั้นมีจริงต้องสร้างศรัทธาให้เข้มแข็งขึ้น จึงจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำแต่ความดี

· ถ้าไม่ติดในตัวเจ้าของก็ไปได้แล้ว...สบาย

· ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน จะทำบาปทำบุญก็ใจเป็นไปก่อน

· โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อการทำบาปไม่กล้าทำบาป แม้ถูกจ้างวาน ถ้ารู้ว่าเป็นบาปเราก็ไม่กล้าทำ ยอมอด เราจะเกิดโอตตัปปะ เพราะฉะนั้นจิตใจเราจะสะอาดบริสุทธิ์มาก

· เวลาพูด ให้พูดด้วยความมีสติ มันจึงเป็นสาระเป็นประโยชน์ ถ้าพูดด้วยความไม่มีสติมันเฟ้อ ดูอย่างเวลาที่หลวงปู่มั่นท่านพูด ไม่ว่าที่ไหนๆ เป็นสาระออกมาน่าฟังทั้งนั้น เพราะท่านพูดด้วยความมีสติ

· ถ้าตั้งใจที่จะภาวนา อย่าส่งจิตไปทางอื่น ให้รู้อยู่ในกายในใจของเรานี่แหละ ถ้ายังตามความคิดอยู่ไม่ใช่ภาวนา

· ถ้าคนมีสติแล้วไม่พูดพล่ามอะไรหรอก อยู่กับสติของตัว ไม่พูด..เสียเวลา

· ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ให้เคารพต่อการฟังธรรมด้วยใจจริง ไม่ส่งจิตไปทางอื่น เพื่อให้ได้เนื้อหาสาระเข้ามาสู่ใจของเราจริงๆ

· เรื่องการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอะไร ปฏิบัติจิตปฏิบัติใจของเรานี่แหละ ทำอย่างไรใจของเราจะสะอาดหมดจด ปราศจากมลทิน ปราศจากโทษทั้งปวง

· ผู้ที่มีจิตใจผ่องใส สะอาด ไม่มีโทษจะมีหน้าตาผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่น ไม่มัว เป็นที่น่าคบค้าสมาคมด้วย บุคลิกลักษณะนั้นบ่งบอกถึงความสุขของใจ

· เรื่องจิตไม่ใช่เรื่องอะไร นอกจากการตั้งสติไม่ให้เผลอ จะทำกิจอันใด ก็ทำด้วยความรู้ไม่ใช่ด้วยโมหะ โมหะ คือ ความหลงความไม่รู้ เมื่อเราไม่รู้มันก็ปรุงเราแต่งเรา

· วาง....เฉย มันก็ไม่ติดภพติดชาติ

· เวลาเรายืนเราก็มีสติ เราเดินเราก็มีสติ เรานั่งเราก็มีสติ เรานอนเราก็มีสติ จนกว่าจะหลับไป อยู่กับสติปัฏฐาน ๔ มีสติรู้อยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรมนี่แหละ

· หลวงปู่มักเมตตาเตือนพระเณร ให้รู้จักตน รู้จักบุคคล รู้จักกาล รู้จักประมาณ

· คนเราถ้าไม่ปฏิบัติธรรมแล้ว เรียกว่า ย่ำต้นกิเลส เหยียบย่ำต้น กินแต่ผลย่อมมีแต่จะเสื่อมไปสิ้นไป ถ้าปฏิบัติธรรมแล้ว เรียกว่าบำรุงต้นให้งามจึงออกดอกออกผลให้ได้บริโภคใช้สอย

· พระเอาสิ่งใดที่พอเหมาะพอดี เราก็เอาสิ่งนั้น อย่าให้มันเกินไป เป็นธรรม

· เราอยู่ในโลก อย่าฝืนโลก ถ้าฝืนโลกมันผิดธรรมดา ฝืนธรรมดา

· ถ้าเป็นพระควรพิจารณาในการรับ แต่ถ้าเป็นแพะเอาแหลกทุกอย่าง ผิดธรรมผิดวินัยก็ไม่ใส่ใจ

· สิ่งใดที่ผิดธรรมผิดวินัย พวกเราอย่าทำ อย่าฝ่าฝืนคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาทำตามธรรมตามวินัย ให้เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ก็เป็นธรรมไปเรื่อยๆ ไม่เหยียบไม่ย่ำจะมีแต่ความเจริญ

· ราคะไม่มีโทสะไม่มีโมหะไม่มี ความดึงดูดของโลกดูดไม่ได้เลย เพราะไม่มีสิ่งที่จะดึงดูดกันได้แล้ว เพราะฉะนั้นพระอริยเจ้าท่านไปไหนมาไหน ท่านเหาะเอาเพราะโลกไม่ดึงดูด

· ผู้ภาวนาชั้นยอด ท่านเพียรฆ่าความโกรธให้มันหมด ฆ่าความโลภให้มันหมด ฆ่าความหลงให้มันหมด

· ไปเดือดร้อนอะไรกับคนนินทา ใครนินทาเราไม่ได้ยินไม่ใส่ใจก็สบาย คนนินทาน่ะเป็นยาชูกำลังที่จะเตือนตัวเอง เขาติดีกว่าเขาชม จะได้รู้ตัว ถ้าเราเป็นอย่างนั้นจะได้ปรับปรุง เราจะไปโกรธเขาทำไม ถ้าไปโกรธเขาก็เรียกว่าเราแพ้ตัวเอง

· ใครเป็นคนประคบประหงม ใครเป็นคนเช็ดขี้เช็ดเยี่ยว ใครเป็นคนดูแลให้ความปลอดภัย ผู้นั้นคือ บิดา มารดา

· ไม่ต้องรู้อะไรมาก รู้ภายในน้อยๆ ก็ตามคำสั่งสอนน้อยๆ มันก็กว้างออกมาได้รู้ทุกขัง รู้อนิจจัง รู้อนัตตา รู้แค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว

· สังขารความคิดปรุงแต่ง มันไม่ใช่เรา แต่มันลากเราให้ติดให้ทุกข์ไม่รู้จักจบจักสิ้นเพราะฉะนั้นจงอย่าเชื่อสังขาร

· เรียนทางโลก เรียนไปๆ ก็ยิ่งหนาไปเรื่อย ไม่เบาบางได้เลย เรียนทางธรรมเรียนละ ละโลภ ละโกรธ ละหลง ละกิเลสตัณหา มันก็เบาไปๆ จนไม่มีภาระ หมดภาระ

· ธรรมะแสดงอยู่ทุกเมื่อ เกิดอยู่เสมอ ผู้มีปัญญาย่อมโอปนยิโก คือ น้อมเข้ามาใส่ตัวเอง น้อมเข้ามาพิจารณาในตัวเอง เมื่อพิจารณามากเข้าก็จะปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตน

· กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นอันตรายเด้อลูกหลานเอ๋ย เป็นกิเลสอย่างน่ากลัว ร้อนกว่าไฟ ใสกว่าแก้ว บ่มีเขี้ยวกัดกินคน กิเลสมันกัดกินคน เราจะทำตามมันอยู่หรือ เราต้องฝืนมันบ้างสิ อย่าไปตามใจมัน

· รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง รู้จักจับ รู้จักวาง รู้ทางพระนิพพาน

· บุญกุศลเกิดขึ้นที่ใจเรา ถ้าใจเรามีศีล มีสมาธิ มันก็เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าใจของเราไม่มีศีลไม่มีสมาธิ ไม่มีความมั่นคงอะไรเลย มันก็ไม่เกิดปัญญา ไม่สิ้นสงสัยได้

· ไม่ต้องถามปัญหาอะไรหลาย ไม่มีปัญหาไม่ต้องสงสัยอะไร มีความสงสัยเกิดขึ้น รู้อยู่ อย่าไปตาม ถ้าปล่อยให้มันสงสัย มันก็สงสัยเรื่อยไป รู้เท่าทันความสงสัยก็พอ

· อยู่ในผ้าเหลืองเป็นเพศอันสงบ เป็นเพศอันสบาย เป็นเพศอันอุดม ให้รู้จักรักษา รู้จักทำความเพียร ถ้าละความเพียรก็จะเวียนไปหาความมักมาก

 

(cont.)
· ใจมันหยุดนึกหยุดคิด มันสบายจริงๆ ไม่มีเรื่องร้อนมาปรุงตัวเอง นั่งสบาย นอนสบาย เป็นเสรีเต็มตัว กิเลสมันปรุงออกไปมันร้อน พอเห็นหน้ามันมาก็รู้ทันทีพอแล้วๆ ตัวเองสอนตัวเอง รู้เท่าเอาทัน อย่าให้มันปรุง

· เมื่อได้อะไรมาก็ว่าของกูๆ ไม่ปล่อยไม่วางได้เลย กอดทุกข์อยู่นั้นแล้ว ปล่อยไม่ได้เลย

· จะเป็นพระ เณร อุบาสก อุบาสิกา ที่ดีได้ต้องมี สติสัมปชัญญะ ระลึกได้อยู่เสมอรู้ตัวอยู่เสมอ ต้องฝึกให้ยิ่ง

· บวชให้พ่อให้แม่ อย่าทำศีลของเราให้ขาดมันไม่ดี อย่าเห็นแก่ความสนุกสนาน กิเลสมันบังคับไปอย่างนั้นอย่างนี้ จะทำไปตามอำนาจกิเลสมันไม่ถูก อดกลั้นไว้บ้าง

· อย่ากินสมอยาก อย่าปากสมเคียด เป็นคำที่หลวงปู่เตือนลูกศิษย์ลูกหาเสมอๆ

· เรื่องที่แล้วไปแล้ว มันก็แล้วไปแล้ว จะเอามาคิดอะไรอีก ผ่านไปแล้ว อย่าเอามาคิด จิตจะฟุ้งซ่านขุ่นมัว

· ถ้าจิตใจเศร้าโศกไม่เบิกบานร่าเริงแล้วเสียมงคลไปหมด ใจอภัย แต่ถ้าจิตใจไม่เศร้าไม่โศก มีแต่ร่าเริงเกษมสำราญแล้ว เป็นมงคลอย่างยิ่ง

· ธรรมดาคนหลงทั้งหลายเขาไม่เคยพอ มีหนึ่งมีสองแล้วเขายังหาเอาใหม่ต่อไปอีกเรียกว่าคนโลภ โลภในกาม ไม่รู้จักเบื่อจักหน่าย เมื่อไหร่ที่มันเบื่อมันหน่ายจะรู้จักเองหรอก โอ! มันทุกข์ขนาดนี้หนอ

· แต่งงานแล้วมันสุขหรือทุกข์ มันทุกข์หนักจริงๆ สุขนิดเดียวเอง อุ้มท้องก็ลำบากแสนสาหัส พอคลอดลูกก็แทบล้มแทบตายไป สร้างโลกเรียกว่าสร้างกองทุกข์

· ต้องพิจารณาให้เห็นทุกข์ในโลก เห็นโทษของกามเสียก่อน จึงอยู่สบายในพรหมจรรย์

· มัวแต่พูดสอนคนอื่น ตัวเองยังสงสัยอยู่เลย ยังไม่สิ้นอาสวะ ไม่ดีเท่าไรหรอก

· มีสุขอยู่ที่ไหน มีทุกข์อยู่ที่นั่น หาสุขจากกาม หาสุขในโลก จะได้มาจากไหน มันคือการหาสุขในทุกข์ สุขไม่มี ตัวของเราไม่มีในนั้น

· การทำความเพียรอย่าหลอกตัวเอง ให้เอาจริงเอาจังกับมัน ว่าจะตั้งก็ต้องตั้งสิว่าจะกำหนดก็ต้องกำหนดสิ ให้สติมันแก่กล้า ทำสัมปชัญญะให้มันแจ้ง

· เห็นคนอื่นเห็นสัตว์อื่นมีความสุข เราผู้นั่งดูก็สุขด้วย

· หลวงปู่มักนำข้อคิดของคนโบราณมาเตือนว่า ทำดีไว้ให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลาน พัฒนาการไว้ให้ชาติบ้านเมือง

· ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นเครื่องชำระจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ที่เราทำกันนั้นมีความหมาย ถ้าทำแล้วกำจัดกิเลสของตัวได้เป็นการดี แต่ถ้าทำแล้วกำจัดไม่ได้ ก็ชื่อว่ามาทำเล่นๆ ไม่ดี

· อบรมตัวเองให้รู้จักข้อวัตรปฏิบัติ ให้รู้จักผิดชอบชั่วดี อะไรที่มันผิดเราก็จะต้องพยายามละ ไม่ทำตามความคิดฝ่ายต่ำของตัวเอง ทำแต่คุณงามความดี

· ดูตัวเองสิปัญญาเรามีไหม เราพิจารณาได้ไหม ทำอย่างนี้จะเจริญจริงไหม ทำอย่างนี้จะเสื่อมไหม พิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาอันชาญฉลาดของตนเองดู

· เราไม่เก็บ ไม่กำ ไม่กอบ ไม่โกย ไม่โกง ไม่กิน ไม่เอาเปรียบผู้ใดเลย แต่ถ้าเราเก็บ กำ กอบ โกย โกง กิน ตัวเองก็มีแต่จะเสื่อม หมดสง่าราศี

· เครื่องประดับใดๆ ในโลก ก็สู้ธรรมะไม่ได้ ถ้ามีธรรมะประดับใจตนแล้ว ย่อมเป็นผู้เจริญรุ่งเรืองแน่นอน

· ผู้ปฏิบัติต้องฝึกหัดสติกันทั้งนั้นแหละ

· อย่าปล่อยสติให้มันเป็นไปตามความชอบใจของมันเอง ทำอะไรก็ให้มีสติทำข้อวัตร ปฏิบัติอะไรก็ให้มีสติอยู่เสมอ จับแก้วก็ให้มีสติ จะวางตรงไหนก็ให้มีสติ ถ้าไม่มีสติ เวลาวางเสียงจะดัง ข้าวของอาจเสียหายได้ ผู้ที่ไม่ปล่อยสติให้เลินเล่อดูแล้วงาม

· ฟังเทศน์ถ้ามีสมาธิในการฟังชื่อว่าเคารพแล้ว อย่าเอาใจส่งไปไร่นาไปที่ไหน ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ได้ยินอยู่ที่หู รู้อยู่ที่ใจ ใช้วิจารณาณอยู่ในตัว คบคิดเนื้อหาอยู่กับตัวนั่นแล เรียกว่าได้ความเคารพ

· เห็นเงินหน้าดำ เห็นคำหน้าเศร้า เห็นข้าวตาโต พาโลอยากได้ เป็นคำที่หลวงปู่มักนำมาเตือนพระเณร ไม่ให้ตกเป็นทาสของความโลภ

· โกรธเขาเราทุกข์เองนั่นแหละ ถ้าไม่โกรธก็ไม่ทุกข์ สบาย ฆ่าความโกรธได้อยู่เป็นสุข เราจะชนะความโกรธของเขา ด้วยความไม่โกรธของเรา

· ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ส่ง ไม่ส่าย ไม่วุ่น ไม่วายกับเรื่องใดๆ ทั้งนั้น ก็สบายแฮ อยู่อย่างนั้น...สบาย

· กินหลายบ่หายอยาก (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) นอนมากบ่รู้ตื่น รักคนอื่นกว่ารักตัว สิ่งควรกลัวกลับกล้า (ราคะ โทสะ โมหะ) ของสั้นสำคัญว่ายาว (ชีวิต)

· ถ้ามีศรัทธาความเชื่อมั่นแล้ว ทำให้ไม่ลำบากในการบำเพ็ญกุศล เพราะไม่มีสิ่งมากีดขวาง

· สัปปายะ ๕ ได้แก่ อาหารเป็นที่สบาย อากาศเป็นที่สบาย เสนาสนะเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย ธรรมะเป็นที่สบาย ท่านว่าอยู่ได้ มีโอกาสเจริญจิตตภาวนาไปได้สะดวก

· เมื่อใจสงบลงไปแล้ว จะเห็นบาปเป็นบาป เห็นบุญเป็นบุญ

· ถ้าจะสึก ตัวเป็นโยมแต่ใจเป็นพระได้ไหม มักน้อย ไม่แสวงหา ไม่แต่งตัว ไม่ห่วงหล่อ ห่วงสวย ถ้าไม่ได้ก็อยู่อย่างนี้ดีกว่า (อย่าสึกดีกว่า)

· เวลาภาวนา ต้องไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีอะไร เป็นอาการว่างไปหมด แต่ความรู้ไม่ว่างให้ย้อนเข้ามาพิจารณาธรรมะว่า เราตกอยู่ในกองทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เราเป็นผู้รู้ผู้เดียว แม้ที่สุดก็ไม่มีเราในรู้นั้น ไม่ยึดมั่นยึดถืออะไรอีก วางหมด มันเบาไม่หนักแล้ว

· ความโมโหพาตัวตกต่ำ อย่าไปโมโหโกรธผู้อื่น มันเป็นไฟ มันจะไหม้หัวใจเจ้าของเอง ถ้าเขาไม่ดีมันเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

· ทำทานแล้วต้องรักษาศีลด้วย เหมือนเอาถ้วยชามมาใส่ของ ใส่อย่างเดียว ไม่ล้างถ้วยล้างชามก็ไม่น่าใช้

· นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ทำใจให้เป็นไปอย่างนั้นเด้อ

· ขันธ์ทั้งห้าเป็นภาระอันหนัก ต้องรู้จักวาง รู้จักเฉยซะ หากเราวางได้ จะเบากายเบาใจอย่างยิ่ง

· ถ้าท่านรู้ตัวท่านดีกว่าท่านไม่ได้ผิด ก็ไม่ต้องเกรงกลัวอะไรทั้งนั้น ไม่เห็นจะต้องหวั่นไหวอะไรเลย ต่อให้คนทั้งโลกจะชี้หน้าว่าผิดแม้ตัวผมเอง (หลวงปู่ชี้นิ้วเข้าหาหลวงปู่ก็ไม่ต้องหวั่นไหว)

· ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร ทำอย่างไรกับเรา อย่าหวั่นไหว เฉยไว้ก็ดีเองๆ

· เห็นธรรม คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำอย่างไรเราจะพ้นจากกองทุกข์ เห็นว่าของทุกอย่างไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา แม้ร่างกายที่อยู่ร่วมกันก็ไม่ใช่เราเลย มันอยากเจ็บมันก็เจ็บ มันอยากแก่มันก็แก่ มันอยากตาย มันก็ตาย ห้ามมันไม่ฟัง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นไม่กลัวตาย ตายเมื่อไรช่างมัน ทำความดี...ดีกว่า

:- http://kanlayanatam.com/sara/sara109.htm

 

ไตรลักษณ์ 3 มี อะไร บ้าง

ไตรลักษณ์ทั้ง 3 ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นสิ่งชาวพุทธพึงระลึกได้ หากเกิดทุกขัง คือ ความทุกข์ที่เกิดซ้ำไปซ้ำมาแล้ว ให้พึงใช้ปัญญามองให้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งบนโลก คือ อนิจจัง ซึ่งจะนำไปสู่ความเห็นแจ้งในอนัตตา คือ ความไม่มีตัวตนที่ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ได้โดยไม่มีวันเสื่อมสลาย

ข้อใดคือความหมายของอนัตตา

อนัตตา (บาลี: อนตฺตา) หรือ อนาตมัน (สันสกฤต: अनात्मन् อนาตฺมนฺ) แปลว่า ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน ไม่ใช่อัตตา (หรืออาตมัน) ไม่ใช่ตัวตน หรือ สภาพที่บังคับบัญชาไม่ได้ อันเป็นธรรมชาติของสังขารและวิสังขาร

อนิจจตาหมายถึงอะไร

อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์.

ไตรลักษณ์คืออะไร เป็นอย่างไร มีความสําคัญกับชีวิตอย่างไร

ประโยชน์ของไตรลักษณ์คือ เพื่อให้มนุษย์ไม่ลุ่มหลงไม่ยึดติดยึดถือกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นของเรา ทำให้ลดอุปทานคือ การยึดมั่นยึดถือ ไม่ก่อความ ทุกข์หรือความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ลดความเห็นแก่ตัวลง สามารถปรับตัวได้ แม้ว่าจะเกิดการพลัดพรากจากสิ่งที่พึงปรารถนาที่รักใคร่หรือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา