ศิลป วัฒนธรรม ประเพณี มี อะไรบ้าง

ประเพณีอีสานและพิธีกรรมตามประเพณีของชาวอีสาน เกี่ยวข้องทั้งกับความเชื่อในอำนาจนอกเหนือธรรมชาติและพุทธศาสนาเถรวาท มีทั้งพิธีกรรมอันเป็นประเพณีที่เป็นสิ่งปฏิบัติและจารีตที่ยึดถือสืบต่อกันมา

ฮีตสิบสอง

ฮีตสิบสอง หมายถึงประเพณี 12 เดือนที่เกี่ยวเนื่องกับหลักทางพุทธศาสนา ความเชื่อและการดำรงชีวิตทางเกษตรกรรมซึ่งชาวอีสานยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ มีแนวปฏิบัติแตกต่างกันไปในแต่ละเดือนเพื่อให้เกิดสิริมงคลในการดำเนินชีวิต เรียกอย่างท้องถิ่นว่างานบุญ ชาวอีสานให้ความสำคัญกับประเพณีฮีตสิบสองเป็นอย่างมากและยึดถือปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอนับเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานอย่างแท้จริง
คำว่า “ฮีตสิบสอง” มาจากคำว่า “ฮีต” อันหมายถึงจารีต การปฏิบัติที่สืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี “สิบสอง” คือประเพณีที่ปฏิบัติตามเดือนทางจันทรคติทั้งสิบสองเดือน

เดือนอ้าย : บุญเข้ากรรม
งานบุญเดือนอ้ายหรือเดือนเจียง พระสงฆ์จะทำพิธีเข้ากรรมหรือที่เรียกว่า”เข้าปริวาสกรรม” เพื่อทำการชำระมลทินที่ได้ล่วงละเมิดพระวินัยคือ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส การอยู่กรรมนั้นจะใช้เวลา 6-9 วันในระหว่างนี้เองชาวบ้านจะเตรียมอาหาร หวานคาวนำไปถวายพระภิกษุทั้งเช้าและเพล เพราะการอยู่กรรมจะต้องอยู่ในบริเวณสงบ เช่น ชายป่าหรือที่ห่างไกลชุมชน(หรืออาจเป็นที่สงบในบริเวณวัดก็ได้) ชาวบ้านที่นำอาหารไปถวายพระภิกษุในระหว่างอยู่กรรมนี้เชื่อว่าจะทำให้ได้บุญกุศลมาก
มูลเหตุของพิธีกรรม
เพื่อลงโทษภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ต้องเข้าปริวาสกรรม จึงจะพ้นอาบัติหรือพ้นโทษกลับเป็นภิกษุ ผู้มีศีล บริสุทธิ์อยู่ในพุทธศาสนาต่อไป คำ “เข้าปริวาสธรรม” นี้ภาษาลาวและไทอีสานตัดคำ “ปริวาส” ออกเหลือเป็น “เข้ากรรม” ดังนั้นบุญเข้ากรรมก็คือ “บุญเข้าปริวาสกรรม” นั่นเอง
พิธีกรรม ภิกษุผู้ต้องอาบัติหมวดสังฆาทิเลสที่จะเข้าอยู่ปริวาสกรรม เพื่อชำระล้างความมัวหมองของศีลให้แก่ตนเองต้องไปขอปริวาสจากสงฆ์ เมือสงฆ์อนุญาติแล้วจึงมาจัดสถานที่ที่จะเข้าอยู่ปริวาสกรรม เมื่อจัดเตรียมสถานที่เรียบร้อยแล้ว ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อใดข้อหนึ่งจะต้องอยู่ปริวาส (การอยู่ค้างคืน) และต้องประพฤติวัตร (การปฏิบัติการจำศีล) ต่าง ๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่างลดฐานะและประจานตนเอง เพื่อเป็นการลงโทษตนเอง โดยต้องประพฤติวัตรให้ครบจำนวนวันที่ปกปิดอาบัตินั้น ๆ เพื่อปลดเปลื้องตนจากอาบัติสังฆาทิเสส และต้องไปหา “สงฆ์จตุรวรรค” (คือภิกษุสี่รูปขึ้นไป) เพื่อจะขอ “มานัต” และมีภิกษุอีกรูปหนึ่งจะสวดประกาศให้มานัตแล้ว ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสต้องประพฤติมานัตอีก 6 คืน แล้วสงฆ์ผู้บริสุทธิ์จึงจะเรียกเข้าหมู่กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ต่อไป

เดือนยี่ บุญคูนลานหรือบุญคูนข้าว
บุญคูนลานหรือบุญคูนข้าวเป็นพิธีกรรมฉลองภายหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านรู้สึกยินดีที่ได้ผลผลิตมาก จึงต้องการทำบุญโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในลานข้าวและในบางแห่งจะมีการสู่ขวัญข้าวเพื่อฉลองความอุดมสมบูรณ์ กล่าวขอบคุณแม่โพสพและขอโทษที่ได้เหยียบย่ำ พื้นแผ่นดินในระหว่างการทำนา เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้ผลผลิตเป็นทวีคูณในปีต่อไป
มูลเหตุของพิธีกรรม
มูลเหตุของพิธีทำบุญคูนข้าวหรือบุญคูนลาน เนื่องมาจากเมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จจะหาบฟ่อนข้าวมารวมกันเป็น “ลอนข้าว” ไว้ที่นาของตน ถ้าลอมข้าวของใครสูงใหญ่ก็แสดงให้ผู้คนที่ผ่านไปมารู้ว่านาทุ่งนั้นเป็นนาดี ผู้เป็นเจ้าของก็ดีใจ หายเหน็ดเหนื่อยจิตใจเบิกบานอยากทำบุญทำนาน เพื่อเป็นกุศลส่งให้ในปีต่อไปจะได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีก เรียกว่า “คูนให้ใหญ่ให้สูงขึ้น” เพราะคำว่า “คูณ” นี้มาจาก “ค้ำคูณ” หมายถึงอุดหนุนให้ดีขึ้น ช่วยให้เจริญขึ้น
พิธีกรรม ผู้ประสงค์จะทำบุญคูนข้าวหรือบุญคูนลาน ต้องจัดสถานที่ทำบุญที่ “ลานนวดข้าว” ของตนโดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์มีการวางด้าย สายสิญจน์และปักเฉลวรอบกองข้าว เมื่อพระสงฆ์เจริญพุทธมนต์เสร็จแล้วก็จะถวายภัตตาหารเลี้ยงเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นนำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงญาติพี่น้องผู้มาร่วมทำบุญ เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาร่วมทำบุญ จากนั้นท่านก็จะให้พรเจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนไร่นาเพื่อความเป็นศิริมงคล และเชื่อว่าผลของการทำบุญจะช่วยอุดหนุนเพิ่มพูนให้ได้ข้าวมากขึ้นทุก ๆ ปี

เดือนสาม บุญข้าวจี่
บุญข้าวจี่เป็นประเพณีที่เกิดจากความสมัครสมานของชุมชนชาวบ้านจะนัดหมายกันมาทำบุญร่วมกันโดยช่วยกันปลูกผามหรือปะรำเตรียมไว้ในตอนบ่าย ครั้นเมื่อถึงรุ่งเช้าในวันต่อมาชาวบ้านจะช่วยกันจี่ข้าว หรือปิ้งข้าวและตักบาตรข้าวจี่ร่วมกัน หลังจากนั้นจะให้มีการเทศน์นิทานชาดกเรื่องนางปุณณทาสีเป็นเสร็จพิธี
มูลเหตุของพิธีกรรม
มูลเหตุจากความเชื่อทางพุทธศาสนา เนื่องมาจากสมัยพุทธกาล มีนางทาสชื่อปุณณทาสี ได้นำแป้งข้าวจี่(แป้งทำขนมจีน)ไปถวายพระพุทธเจ้า แต่จิตใจของนางคิดว่า ขนมแป้งข้าวจี่เป็นขนมของผู้ต่ำต้อย พระพุทธเจ้าคงไม่ฉัน ซึ่งพระพุทธเจ้าหยั่งรู้จิตใจนาง จึงทรงฉันแป้งข้าวจี่ ทำให้นางปิติดีใจ ชาวอีสานจึงเอาแบบอย่างและพากันทำแป้งข้าวจี่ถวายพระมาตลอด อีกทั้งเนื่องจากในเดือนสามอากาศของภูมิภาคอีสานกำลังอยู่ในฤดูหนาว ในตอนเช้าผู้คนจะใช้ฟืนก่อไฟ ผิงแก้หนาว ชาวบ้านจะเขี่ยเอาถ่านออกมาไว้ด้านหนึ่งของกองไฟแล้วนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลมโรยเกลือวางลงบนถ่านไฟแดง ๆ นั้นเรียกว่า ข้าวจี่ ซึ่งมีกลิ่นหอม ผิวเกรียมกรอบน่ารับประทานทำให้นึกถึงพระภิกษุสงฆ์ ผู้บวชอยู่วัดอยากให้ได้รับประทานบ้าง จึงเกิดการทำบุญข้าวจี่ขึ้น ดังมีคำกล่าวว่า “เดือนสามค้อย เจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ข้าวจี่บ่มีน้ำอ้อย จัวน้อยเช็ดน้ำตา” (พอถึงปลายเดือนสาม ภิกษุก็คอยปั้นข้าวจี่ ถ้าข้าวจี่ไม่มีน้ำอ้อยยัดไส้ เณรน้อยเช็ดน้ำตา)
พิธีกรรม พอถึงวัดนัดหมายทำบุญข้าวจี่ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะจัดเตรียมข้าวจี่ตั้งแต่ตอนย่ำรุ่งของวันนั้นเพื่อให้ข้าวจี่สุกทันใส่บาตรจังหัน นอกจากข้าวจี่แล้วก็จะนำ “ข้าวเขียบ” (ข้าวเกรียบ) ทั้งที่ยังไม่ย่างเพื่อให้พระเณรย่างกินเองและที่ย่างไฟจนโป่งพองใส่ถาดไปด้วยพร้อมจัดอาหารคาวไปถวายพระที่วัด ข้าวจี่บางก้อนผู้เป็นเจ้าของได้ยัดไส้ด้วยน้ำอ้อย แล้วทาด้วยไข่ เพื่อให้เกิดรสหวานหอมชวนรับประทาน ครั้นถึงหอแจกหรือศาลาโรงธรรมพระภิกษุสามเณรทั้งหมดในวัดจะลงศาลาที่ญาติโยมที่มารวมกันอยู่บนศาลาก่อนแล้วประธานในพิธีเป็นผู้อาราธนาศีล พระภิกษุให้ศีล ญาติโยมรับศีล แล้วกล่าวคำถวายข้าวจี่ จากนั้นก็จะนำข้าวจี่ใส่บาตรพระ ซึ่งตั้งเรียงไว้เป็นแถวเท่าจำนวนพระเณร พร้อมกับถวายปิ่นโต สำรับกับข้าวคาวหวาน เมื่อพระฉันจังหันเทศน์เสร็จแล้วก็ให้พร ญาติโยมรับพรเป็นเสร็จพิธี

เดือนสี่ บุญผะเหวด
“บุญผะเหวด” เป็นสำเนียงชาวอีสานที่มาจากคำว่า “บุญพระเวส”หรือพระเวสสันดร เป็นประเพณีตามคติความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย บุญผะเหวดนี้จะทำติดต่อกันสามวัน วันแรกจัดเตรียมสถานที่ ตกแต่งศาลาการเปรียญวันที่สองเป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร
ชาวบ้านร่วมทั้งพระภิกษุสงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียงจะมาร่วมพิธีมีทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทานฟังเทศน์และแห่พระเวส โดยการแห่ผ้าผะเหวด(ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย ส่วนวันที่สามเป็นงานบุญพิธี ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน พิธีจะมีไปจนค่ำ ชาวบ้านจะแห่แหน ฟ้อนรำตั้งขบวนเรียงรายตั้งกัณฑ์มาถวาย พระสงฆ์จะเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดกจนจบและเทศน์อานิสงฆ์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธี
มูลเหตุของพิธีกรรม
จากเรื่องในหนังสือมาไลยหมื่นมาไลยแสนกล่าวว่าครั้งหนึ่งพระมาลัยเถระได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และได้พบปะสนทนากับพระศรีอริยเมนไตย ผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตและพระศรีอริยเมตไตยได้สั่งความมากับพระมาลัยว่า
“ถ้ามนุษย์อยากจะพบและร่วมเกิดในศาสนาของพระองค์แล้วจะต้องปฏิบัติตนดังต่อไปนี้คือ”
1. จงอย่าฆ่าพ่อตีแม่สมณพราหมณ์
2. จงอย่าทำร้ายพระพุทธเจ้า และยุยงให้สงฆ์แตกแยกกัน
3. ให้ตั้งใจฟังเทศน์เรื่อง พระเวสสันดรให้จบในวันเดียวด้วยเหตุที่ ชาวอีสานต้องการจะได้พบพระศรีอริยเมตไตยและเกิดร่วมศาสนาของพระองค์ จึงมีการทำบุญผะเหวด ซึ่งเป็นประจำทุกปี
พิธีกรรม การเตรียมงาน
1. แบ่งหนังสือ นำหนังสือลำผะเหวดหรือลำมหาชาติ (หนังสือเรื่องพระเวสสันดรชาดก) ซึ่งมีจำนวน 13 กัณฑ์ (หรือ 13 ผูกใหญ่) แบ่งเป็นผูกเล็ก ๆ เท่ากับจำนวนพระเณรที่จะนิมนต์มาเทศน์ในคราวนั้น ๆ
2. การใส่หนังสือ นำหนังสือผูก เล็กที่แบ่งออก จากกัณฑ์ต่าง ๆ 13 กัณฑ์ ไปนิมนต์พระเณรทั้งวัดในหมู่บ้านตนเองและจากวัด ในหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียงให้มาเทศน์ โดยจะมีใบฎีกาบอกรายละเอียดวันเวลาเทศน์ ตลอดจนบอกเจ้าศรัทธา ผู้ที่จะเป็นเจ้าของกัณฑ์นั้น ๆ ไว้ด้วย
3. การจัดแบ่งเจ้าศรัทธา เพื่อพระเณรท่านเทศน์จบในแต่ละกัณฑ์ ผู้เป็นเจ้าศรัทธาก็จะนำเครื่องปัจจัยไทยทานไปถวายตามกัณฑ์ที่ตนเองรับผิดชอบ ชาวบ้านจะจัดแบ่งกันออกเป็นหมู่ ๆ เพื่อรับเป็นเจ้าศรัทธากัณฑ์เทศร่วมกัน โดยจะต้องจัดหาที่พัก ข้าวปลาอาหารไว้คอยเลี้ยงต้อนรับญาติโยมที่ติดตามพระเณร จากหมู่บ้านอื่นเพื่อมาเทศน์ผะเหวดครั้งนี้ด้วย
4. การเตรียมสถานที่พัก พวกชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบริเวณวัดแล้วช่วยกัน “ปลูกผาม” หรือ ปะรำไว้รอบ ๆ บริเวณวัด เพื่อใช้เป็นที่ต้องรับพระเณรและญาติโยมผู้ติดตามพระเณรจากหมู่บ้านอื่น ให้เป็นที่พักแรมและที่เลี้ยงข้าวปลาอาหาร
5. การจัดเครื่องกิริยาบูชาหรือเครื่องครุพัน ในการทำบุญผะเหวดนั้นชาวบ้านต้องเตรียม “เครื่องฮ้อยเครื่องพัน” หรือ “เครื่องบูชาคาถาพัน” ประกอบด้วยธูปหนึ่งพันดอก เทียนหนึ่งพันเล่ม ดอกบัวโป้ง (บัวหลวง) ดอกบัวแป้ (บัวผัน) ดอกบัวทอง (บัวสาย) ดอกผักตบ และดอกก้างของ (ดอกปีบ) อย่างละหนึ่งพันดอก เมี่ยง หมากอย่างละหนึ่งพันคำ มวนยาดูดหนึ่งพันมวน ข้าวตอกใส่กระทงหนึ่งพันกระทง ธุงกระดาษ (ธงกระดาษ) หนึ่งพันธง
6. การจัดเตรียม สถานที่ที่จะเอาบุญผะเหวด
6.1 บนศาลาโรงธรรม ตั้งธรรมมาสน์ไว้กลางศาลาโดยรอบนั้นจัดตั้ง “ธุงไซ” (ธงชัย) ไว้ทั้งแปดทิศ และจุดที่ตั้ง “ธุงไซ” แต่ละต้นจะต้องมี “เสดถะสัต” (เศวตฉัตร) “ผ่านตาเว็น” (บังสูรย์) และตะกร้าหนึ่งใบสำหรับใส่ข้าวพันก้อนพร้อมทั้ง “บั้งดอกไม้” สำหรับใส่ดอกไม้แห้ง ซึ่งส่วนมากทำจากต้นโสนและใส่ “ธุงหัวคีบ” นอกจากนี้ที่บั้งดอกไม้ยังปักนกปักปลาซึ่งสานจากใบมะพร้าวหรือใบตาลไว้อีกจำนวนหนึ่งและตั้งโอ่งน้ำไว้ 5 โอ่ง รอบธรรมาสน์ซึ่งสมมติเป็นสระ 5 สระ ในหม้อน้ำใส่จอกแหน (แหนคือสาหร่าย) กุ้ง เหนี่ยว ปลา ปู หอย ปลูกต้นบัวในบ่อให้ใบบัวและดอกบัวลอยยิ่งดี รวมทั้งจะต้องจัดให้มีเครื่องสักการะบูชาคาถาพันและขันหมากเบ็งวางไว้ตามมุมธรรมาสน์ ณ จุดที่วางหม้อน้ำ
ที่สำคัญบนศาลาโรงธรรมต้องตกแต่งให้มีสภาพคล้ายป่า โดยนำเอาต้นอ้อย ต้นกล้วย มามัดตามเสาทุกต้น และขึงด้ายสายสิญจน์รอบศาลา ทำราวไม้ไผ่สูงเหนือศรีษะประมาณหนึ่งศอกเพื่อเอาไว้เสียบดอกไม้แห้งต่าง ๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่ห้อยนก ปลาตะเพียน และใช้เมล็ดแห้งของฝักลิ้นฟ้า (เพกา) ร้อยด้วยเส้นด้ายยาวเป็นสายนำไปแขวนเป็นระยะ ๆ และถ้าหากดอกไม้แห้งอื่นไม่ได้ก็จะใช้เส้นด้ายชุบแป้งเปียกแล้วนำไปคลุกกับเมล็ดข้าวสาร ทำให้เมล็ดข้าวสารติดเส้นด้านแล้วนำเส้นด้ายเหล่านั้นไปแขวนไว้แทน
ด้านทิศตะวันออกของศาลาโรงธรรมต้องปลูก “หออุปคุต” โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเสาสี่ต้นสูงเพียงตา หออุปคุตนี้เป็นสมมติว่าจะเชิญพระอุปคุตมาประทับ เพื่อปราบมารที่จะมาขัดขวางการทำบุญ ต้องจัดเครื่องใช้ของพระอุปคุตไว้ที่นี้ด้วย
6.2 บริเวณรอบศาลาโรงธรรมก็ปัก “ธุงไซ” ขนาดใหญ่ 8 ซุง ปักไว้ตามทิศทั้งแปดซึ่งแต่ละหลักธุงจะปัก “กรวยไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวพันก้อน” “เสดถะสัด” (เศวตฉัตร) “ผ่านตาเว็น” (บังสูรย์) และ “ขันดอกไม้” เช่นเดียวกับบนศาลาโรงธรรม นอกจากนี้ก็ปักธุงช่อไว้ ณ จุดเเดียวกับที่ปัก “ธุงไซ” อีกด้วย
ครั้งถึงเวลาประมาณ 14-15 นาฬิกาของมื้อโฮมหรือวันรวม ผู้เฒ่าผู้แก่จะพากันนำเครื่องสักการะบูชาประกอบด้วยขันห้าขน แปดบาตรจีวร ร่ม กระโถนกาน้ำ และไม้เท้าเหล็กไปเชิญพระอุปคุตซึ่งสมมติว่าท่านอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ อาจเป็นบึง หนอง แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ (ที่อยู่ใกล้วัด) เมื่อไปถึงผู้เป็นประธานจะตั้งนะโมขึ้น 3 จบ กล่าว “สัคเค” เชิญเทวดามาเป็นพยานแล้วจึงกล่าวอาราธนาเชิญพระอุปคุต เมื่อกล่าวจบก็ตีฆ้องตีกลองนำเครื่องสักการะแห่มาที่วัด เวียนรอบศาลาโรงธรรม 3 รอบ แล้วจึงนำเครื่องสักการะทั้งหมดวางไว้บนหออุปคุต
หลังจากเชิญพระอุปคุตเสร็จแล้วก็ถึงพิธีแห่ผะเหวดเข้าเมืองซึ่งจะเป็นเวลาประมาณ 16.00-17.00 น. ของมื้อโฮม
พิธีกรรมก่อนแห่เมื่อถึงเวลาแห่ ผู้เป็นประธานจะนำญาติโยม (ที่มาพร้อมกันในบริเวณชายป่าที่ถูกสมมติให้เป็นป่าหิมพานต์) ไหว้พระรับศีลและฟังเทศ การเทศน์ ณ จุดนี้เป็นการเทศน์จบแล้วก็จะลั่นฆ้อง จัดขบวนแห่ผะเหวดเข้าเมือง เดินผ่านหมู่บ้านเข้าสู่วัด แล้วแห่เวียนขวา รอบศาลาโรงธรรมสามรอบ จากนั้นจึงนำพระพุทธรูปขึ้นตั้งไว้ในศาลาโรงธรรม ญาติโยมที่เก็บดอกไม้มาจากป่า เช่น ดอกพะยอม ดอกจิก (ดอกเต็ง) ดอกฮัง (ดอกรัง) ดอกจาน ฯลฯ ก็จะนำดอกไม้ไปวางไว้ข้าง ๆ ธรรมาสน์ แล้วขึงผ้าผะเหวดรอบศาลาโรงธรรม
กลังจากแห่ผะเหวดเข้าเมืองแล้วญาติโยมจะพากันกลับบ้านเรือนของตน รับประทานอาหารเย็น พร้อมทั้งเลี้ยงดูญาติพี่น้องที่เดินทางมาร่วมทำบุญเวลาประมาณหนึ่งทุ่มเศษ ๆ ทางวัดจะตี “กลองโฮม” เป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าถึงเวลา “ลงวัด” ญาติโยมจะพากันมารวมกันที่ศาลาโรงธรรมพระภิกษุสงฆ์สวด พระปริตมงคลหลังจากสวดมนต์จบก็จะ “เทศน์มาไลยหมื่นมาไลยแสน” หลังจากฟังเทศน์จบก็จัดให้มีมหรสพ เช่น หมอลำ ภาพยนต์ให้ชมจนถึงสว่าง
เวลาประมาณ 04.00 น. ของวันบุญผะเหวด ญาติโยมจะนำข้าวเหนียวก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือจำนวนหนึ่งพันก้อนซึ่งเท่ากับหนึ่งพระคาถา ในเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก ใส่ถาดออกจากบ้านเรือน แห่จากหมู่บ้านมาที่ศาลาโรงธรรมเวียน รอบศาลาโรงธรรมสามรอบ แล้วจึงนำข้าวพันก้อนไปใส่ไว้ในกรวยไม้ไผ่ที่หลักธุงไซทั้งแปดทิศและใส่ในตะกร้าที่วางอยู่บนศาลาตามจุดที่มีธุงไซและเสดถะสัด เมื่อแห่ข้าวพันก้อนเสร็จแล้วก็จะมีเทศน์สังกาศ คือ การเทศน์บอกปีศักราช เมื่อจบสังกาศจะหยุดพักให้ญาติโยมกลับไปบ้านเรือน นำอาหารมาใส่บาตรจังหันหลังจากพระฉันจังหันแล้วก็จะเริ่มเทศน์ผะเหวด โดยเริ่มจากกัณฑ์ทศพรไปจนถึงนครกัณฑ์รวมสิบสามกัณฑ์ ใช้เวลาตลอดทั้งวันจนถึงค่ำมีความเชื่อกันว่าหากใครฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์มาก
พิธีกรรมขณะฟังเทศน์ ในการฟังเทศน์ “บุญผะเหวด” นั้นต้องมีทายกหรือทายิกา คอยปฏิบัติพิธีกรรม ขณะฟังเทศน์แต่ละกัณฑ์ โดยจุดธูปเทียน เพื่อบูชากัณฑ์นั้น ๆ ตามจำนวนคาถาในแต่ละกัณฑ์ นอกจากนั้นต้องหว่านข้าวตอก ดอกไม้ ข้าวสาร และลั่นฆ้องชัย เมื่อเทศน์จบในแต่ละกัณฑ์ โดยผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ต้องนั่งอยู่ประจำที่ตลอดเวลาที่เทศน์
ส่วนเครื่องฮ้อยเครื่องพัน หรือเครื่องครุพันนั้นต้องตั้งบูชาไว้ตลอดงาน เมื่อเทศน์จบแล้วบางวัดก็นำเครื่องฮ้อย เครื่องพัน ใส่ไว้ในภาชนะที่สานด้วยดอกไม้ไผ่ มีลักษณะเหมือนกะออม ปากเป็นกรวยแหลมใช้ผ้าขาวหุ้ม แล้วใช้ด้ายถักหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อจะได้นำมาใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาเวลามีบุญผะเหวดในปีต่อ ๆ ไป

เดือนห้า บุญสรงน้ำ หรือ บุญฮดสรง
บุญฮดสรง หรือ บุญสงกรานต์ จัดให้มีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้า ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่โบราณ ในวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณในวันนี้พระสงฆ์นำพระพุทธรูปออกจากโบสถ์มาไว้ที่หอสรงตอนบ่าย ชาวบ้านจะนำน้ำอบ น้ำหอม มาร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอสรงนี้ จากนั้นก็ออกไปเก็บดอกไม้มาจัดประกวดประชันในการบูชาพระ ระหว่างนี้ชาวบ้านจะพากันเล่นแคน ฉิ่งฉาบ เพื่อความสนุกสนานรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่และเล่นสาดน้ำกัน โดยชาวบ้านอาจเล่นสนุกสนานถึง 15 วัน

มูลเหตุของพิธีกรรม
เนื่องจากเดือนนี้ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่มาแต่โบราณ โดยจะถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันเริ่มต้นการทำบุญ
พิธีกรรม เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนห้าเวลาบ่ายสามโมง ถือว่า “เป็นมื้อเอาพระลง” หมายถึงการนำเอา พระพุทธรูปทั้งหมดในวัดมาทำความสะอาดแล้วนำมาตั้งรวมไว้ที่กลางศาลาโรงเรือน หรือ “หอ แจก”
พิธีเริ่มจากผู้เป็นประธานนำดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะพระพุทธรูป แล้วนำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีลญาติโยมรับศีลแล้วผู้เป็นประธานอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วญาติโยมก็เอาน้ำอบน้ำหอมสรงพระพุทธรูป จากนั้นหนุ่มสาวก็จะพากันหาบน้ำจากบ่อหรือหนอง บึง ไปเทไว้ในโอ่งของวัดให้พระภิกษุ สามเณรได้ใช้อาบ ขณะเดียวกันก็จะเริ่มเล่นสาดน้ำกันและกันเป็นที่สนุกสนาน
ตอนค่ำนิมนต์พระสงฆ์มาสวดไชยมงคล (มงคลสูตร) ที่ผามไชย์กลางหมู่บ้าน รุ่งเช้า (วันแรมหนึ่งค่ำ) เป็น “มื้อเนา” ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการทำบุญให้ทาน โดยนำข้าวปลาอาหารมาถวายพระที่ผามไชย์
การสวดไชยมงคล (มงคลสูตร) นี้ต้องสวดให้ครบ 7 คืน โดยมีบาติใส่น้ำมนต์ไว้ 7 ใบ พร้อมทั้งมีถังใส่กรวดทรายไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อครบ 7 คืนแล้ว พระสงฆ์จะเดินสวด ไชยมงคลไปรอบหมู่บ้าน พร้อมกับสาดน้ำมนต์ ส่วนญาติโยมจะหว่านกรวดทรายไปพร้อม ๆ กัน ถือว่าเป็นการขับไล่สิ่งอัปมงคล และเสนียดจัญไรออกไปจากหมู่บ้าน ทำให้คนทั้งหมู่บ้านประสบแต่ความสุขความเจริญในปีใหม่ที่จะมาถึง คนอีสานเรียกวันสงกรานต์ดังนี้ คือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันสังขารล่วง วันที่ 14 วันเนา และ วันที่ 15 เรียกว่า วันสังขารขึ้น

เดือนหก บุญบั้งไฟ
บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับแถน เมื่อถึงเดือนหกเริ่มต้นการทำนา ชาวบ้านจะจุดบั้งไฟเป็นการบูชาขอให้พญาแถนบันดาลฝนให้ตกลงมา ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นกิจกรรมร่วมกันของชุมชนอีสานหลาย ๆ หมู่บ้าน หมู่บ้านเจ้าภาพจะปลูกโรงเรือน เรียกว่า ผามบุญ ไว้ต้อนรับชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่น และดูแลจัดหาอาหารสำหรับทุก ๆ คน เช้าของวันงานชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ประกวดประชัน แห่ และจุดบั้งไฟที่ตกแต่งอย่างงดงาม บั้งไฟของหมู่บ้านใดจุดไม่ขึ้นชาวบ้านหมู่บ้านนั้นจะถูกโยนลงโคลนเป็นการทำโทษ และจะมีการเซิ้ง ฟ้อน กันอย่างสนุกสนาน และจะมีการเซิ้งปลัดขิกร่วมอยู่ในขบวนด้วยเสมอ โดยมีความเชื่อว่าเป็นการไล่ผีให้พ้นออก ไปจากหมู่บ้านและเร่งให้แถนส่งฝนลงมาเร็ว ๆ

มูลเหตุของพิธีกรรม
ตามตำนานพื้นบ้านอีสานเชื่อว่าเป็นการจุดบั้งไฟเป็นสัญญาณเตือนให้พญาแถนรู้ว่าถึงฤดูทำนาแล้วให้พญาแถนบันดาลให้ฝนตกและมีปริมาณเพียงพอแก่การปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร
พิธีกรรม เมื่อได้ประชุมกำหนดวันจะทำบุญบั้งไฟแล้ว พวกช่างปั้นไฟก็จะตระหนักทำบั้งไฟ หาง บั้งไฟก่องข้าว ไว้ตามจำนวนและขนาดที่ชาวบ้านศรัทธาร่วมกันบริจาคเงินซื้อศรัทธา ซื้อ “ขี้เกีย หรือ ขี้เจี้ย” (ดินประสิว) มาทำ “หมื่อ” ปัจจุบันมักจะมีการแข่งขันบั้งไฟระหว่างคุ้มบอกกล่าวไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ให้ทำบั้งไฟมาแข่งขันกันตามขนาดที่กำหนดอาจเป็น “บั้งไฟหมื่น” (มีน้ำหนักไม่เกิน 120 กิโลกรัม) “บั้งไฟแสน” (มีน้ำหนักมากกว่า 120 กิโลกรัม) ก็ได้ พอถึง “มื้อโฮมบุญ” หรือวันรวม ชาวบ้านจะจัดทำบุญเลี้ยงพระเพล แล้วจะมี “พิธีฮดสง” พระภิกษุผู้มีศีลศึกษาธรรมวินัยมาตลอดพรรษาให้ได้เลื่อนเป็นตำแหน่งสูงขึ้น คือ “ฮด” จาก พระภิกษุธรรมดาให้เป็นภิกษุขั้น “อาจารย์” แต่เรียกสั้น ๆ ว่า “จารย์” ผู้มีอายุครบบวชถ้าอยากบวช พ่อแม่มักจะจัดให้บวชในเดือนนี้ไปพร้อม ๆ กับพิธีนี้ ประมาณเวลา 15.00 น. ของมื้อโฮม นำ “กองฮด” และ “กองบวช” มาตั้งไว้กลางศาลาโรงธรรมทางวัดจะตีกลองเป็นสัญญาณ บอกให้ทุกคุ้มนำบั้งไฟมารวมกันที่วัด แต่ละคุ้มจะเอ้บั้งไฟ (ตกแต่งบั้งไฟ) ของตนให้สวยงามเป็นการประกวดประชันกันเบื้องต้น มีการจัดขบวนการแห่บั้งไฟ และในขณะที่แห่บั้งไฟจะเซิ้งบั้งไฟไปพร้อม ๆ กันด้วย การเซิ้งบั้งไฟนี้จะมีหัวหน้ากล่าวนำคำเซิ้งเป็นวรรค ๆ ไปแล้วให้ผู้เข้าร่วมขบวนแห่ทุกคนกล่าวตาม ขณะที่กล่าวก็รำให้เข้ากับจังหวะเซิ้งนั้นด้วย
รุ่งเช้าของวันบุญบั้งไฟ ญาติโยมจะนำข้าวปลาอาหารทั้งขนมหวาน มาทำบุญตักบาตรร่วมกันที่วัด หลังจากพระฉันจังหันเสร็จแล้วก็จะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดแล้วนำไปจุดที่ “ค้างบั้งไฟ” (ร้านสำหรับจุดบั้งไฟ) ที่สำคัญเวลาจุดต้องหันหัว บั้งไฟไปทางทุ่งนาหรือหนองน้ำเพื่อป้องกันบั้งไฟไม่ให้ตกในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็จะพากันมาดูบั้งไฟ หากบั้งไฟจุดแล้วพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ช่างบั้งไฟบั้งนั้นจะได้รับการหาบแห่รอบบริเวณค้างบั้งไฟ แต่ถ้าบั้งไฟบั้งใดจุดแล้วเกิดหลุดเดือดเพราะ “ชุ” หรือ “แตก” หรือขึ้นจากค้างเพียงนิดเดียวหางของบั้งไฟยังไม่พ้นจากค้างช่างผู้ทำบั้งไฟนั้นจะถูก “หามลงตม” บางทีก็ถูกจับโยมลงปลักควายนอนแล้วถูกทาขี้โคลนตลอดทั้งตัว

เดือนเจ็ด บุญซำฮะ
บุญซำฮะหรือชำระ เกิดตามความเชื่อที่ว่าเมื่อถึงเดือนเจ็ดต้องทำบุญชำระจิตใจให้สะอาด และเพื่อปัดเป่ารังควาญสิ่งไม่เป็นมงคลออกจากหมู่บ้านบางท้องถิ่นเรียกประเพณีนี้ว่าบุญเบิกบ้าน ซึ่งมีพิธีกรรมทั้งทางศาสนาพุทธและไสยศาสตร์ ในวันงานชาวบ้านจะพากันนำภัตตาหารมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์และร่วมกันฟังเทศน์ฟังธรรม รวมทั้งมีการเซ่นไหว้ศาลหลักบ้าน เพื่อขอความคุ้มครองให้พ้นจากภัยพิบัติและช่วยขับไล่สิ่งไม่ดีไม่งามออกไปจากหมู่บ้าน ให้บ้านเกิดความเป็นสิริมงคล
มูลเหตุของพิธีกรรม
มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์ธรรมบทว่าครั้งหนึ่งเมืองไพสาลีเกิด “ทุพภิกขภัย” ข้าวยาก หมากแพง ประชาชนขาดแคลนอาหารเพราะฝนแล้ง สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ล้มตายเพราะความหิว ซ้ำร้ายอหิวาตกโรคหรือ “โรคห่า” ก็ระบาดทำให้ผู้คนล้มตายกันมากมาย ชาวเมืองกลุ่มหนึ่งจึงพากันเดินทางไปนิมนต์พระพุทธเจ้าให้มาปัดเป่าภัยพิบัติครั้งนี้ ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเมืองไพสาลีก็เกิดฝน “ห่าแก้ว” ตกลงมาอย่างหนักจนน้ำฝนท่วมแผ่นดินสูงถึงหัวเข่าและน้ำฝนก็ได้พัดพาเอาซากศพของผู้คนและสัตว์ต่าง ๆ ไหลล่องลอยลงแม่น้ำไปจนหมดสิ้น พระพุทธเจ้าทรงทำน้ำพระพุทธมนต์ใส่บาติแล้วมอบให้พระอานนท์นำไปประพรมทั่วเมือง โรคภัยไข้เจ็บก็สูญสิ้นไปด้วยเดชะพระพุทธานุภาพ ดังนั้นคนลาวโบราณรวมทั้งไทยอีสานจึงทำบุญซำฮะขึ้นในเดือน 7 ของทุก ๆ ปี
พิธีกรรม พอถึงวันทำบุญชาวบ้านทุกครัวเรือนจะนำดอกไม้ธูปเทียน ขันน้ำมนต์ ขันใส่กรวด ทรายและเฝ้าผูกแขนมารวมกันที่ศาลากลางบ้าน ถ้าหมู่บ้านใดไม่มีศาลากลางบ้าน ถ้าหมู่บ้านใดไม่มีศาลากลางบ้าน ชาวบ้านจะช่วยกันปลูกปะรำพิธีขึ้นกลางหมู่บ้าน ตกตอนเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดชัยมงคลคาถา (ชาวอีสานเรียกว่า ตั้งมุงคุน) เช้าวันรุ่งขึ้นจะพากันทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระถวายจังหันเมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วจะให้พรและประพรมน้ำพุทธมนต์ให้แก่ทุกคนที่มาร่วมทำบุญ จากนั้นชาวบ้านจะนำขันน้ำมนต์ด้ายผูกแขน ขันกรวดทรายกลับไปที่บ้านเรือนของตนเองแล้วนำน้ำมนต์ไป ประพรมให้แก่ทุกคนในครอบครัว ตลอดจนบ้านเรือนและวัวควาย เอาด้ายผูกแขน ลูกหลานทุกคนเพราะเชื่อว่าจะนำความสุขและสิริมงคลมาสู่สมาชิกทุกคน ส่วนกรวดทรายก็จะเอามาหว่านรอบ ๆ บริเวณบ้านและที่สวนที่นา เพื่อขับไล่เสนียดจัญไร และสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้หมดสิ้นไป ในขณะเดียวกันชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านชำระล้างสิ่งสกปรก ขุดท้องร่องชำระหยากไย่มูลฝอย เพื่อล้างเสนียดจัญไรด้วย

เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
บุญเข้าพรรษาของภาคอีสานเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาคล้ายคลึงกับทางภาคกลางคือจะมีการทำบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน สงบ จีวรและเทียนพรรษา หากแต่ในภาคอีสานจะจัดขบวนแห่เทียนอย่างยิ่งใหญ่ และมักมีการประกวดความสวยงามของเทียนจากแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งตกแต่งสลักเสลาเทียนเป็นลวดลาย เรื่องราวทางพุทธศาสนาอย่างสวยงาม เมื่อแห่เทียนมาถึงวัด ชาวบ้านจะรับศีล รับพรฟังธรรม ตอนค่ำจะเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ
มูลเหตุของพิธีกรรม
เนื่องจากในสมัยพุทธกาล พระภิกษุเที่ยวจาริกสอนธรรมไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นฤดูฝน ฤดูหนาว หรือฤดูร้อน แต่ในฤดูฝนนั้นภิกษุได้เหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านเสียหาย สัตว์ตัวน้อยต่าง ๆ พลอยถูกเหยียบตายไปด้วย พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้ภิกษุต้องจำพรรษา 3 เดือนในฤดูฝนโดยมิให้ไปค้างแรมที่อื่นใดนอกจากในวัดของตน ถ้าภิกษุฝ่าฝืนถือว่า “ศีลขาดและต้องอาบัติทุกกฎ” เว้นแต่กรณีจำเป็นที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” เช่น บิดามารดาป่วย เป็นต้น แต่ต้องกลับมาภายใน 7 วันพรรษาจึงจะไม่ขาด
พิธีกรรม เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนแปดตอนเช้าญาติโยมก็จะนำดอกไม้ธูปเทียน ข้าวปลา อาหารมาทำบุญตักบาตรที่วัดตอนบ่ายจะนำสบงจีวร ผ้าอาบน้ำ เทียนพรรษา และดอกไม้ธูปเทียนมาถวายพระภิกษุที่วัดแล้วรับศีลฟังธรรมพระเทศนาพอถึงเวลาประมาณ 19.00-20.00 น. ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันที่ศาลาโรงธรรมเพื่อรับศีล และเวียนเทียนจนครบสามรอบ แล้วจึงเข้าไปในศาลาโรงธรรมเพื่อฟังพระธรรมเทศนาจนจบจากนั้นจะแยกกันกลับบ้านเรือนของตน ส่วนผู้ที่มีศรัทธาแก่กล้าก็จะพากันรักษาศีลแปดจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปด อันเป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งพระภิกษุจะต้องจำพรรษาในวัดของตนเป็นเวลาสามเดือน

เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน
บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนเก้าเป็นการทำบุญให้ญาติผู้ล่วงลับ โดยการนำข้าวปลาอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่อย่างละเล็กละน้อย ห่อด้วยใบตองเป็นสองห่อกลัดติดกันเตรียมไว้ตั้งแต่หัวค่ำ ครั้นถึงเวลาตีสาม ตีสี่ของวันรุ่งขึ้นจะนำห่ออาหารและหมากพลูไปวางไว้ตามโคนต้นไม้รอบ ๆ วัด เพื่อให้ญาติพี่น้อยผู้ล่วงลับ รวมทั้งผีไร้ญาติอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะมาเยี่ยมญาติพี่น้องในเวลานี้มารับไปเพื่อจะได้ไม่อดอยากหิวโหย นอกจากจะเป็นการทำบุญและทำทานแล้วยังแสดงถึงความกตัญญูอีกส่วนด้วย
มูลเหตุของพิธีกรรม
คนลาวและไทยอีสานมีความเชื่อสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลว่ากลางคืนของเดือนเก้าดับ (วันแรมสิบสี่ค่ำเดือนเก้า) เป็นวันที่ประตูนรกเปิดในรอบปี ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกออกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ ในคืนนี้คืนเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงพากันจัดห่อข้าวไว้ให้ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว ถือว่าเป็นงานบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว
พิธีกรรม ตอนเย็นของวันแรม 13 ค่ำเดือนเก้า แม่บ้านแม่เรือนทุกครัวเรือนจะ “ห่อข้าวน้อย” ซึ่งมีวิธีห่อดังนี้ ฉีกใบตองออกให้มีขนาดกว้างเท่ากับหนึ่งฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซี่ของใบกล้วย นำเอาข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ วางบนใบตองที่จะห่อ จากนันแก่เนื้อปลา ไก่ หมู ใส่ลงไปอย่างละเล็กน้อย (ถือว่าเป็นอาหารคาว) แล้วใส่น้ำอ้อย กล้วยสุก มะละกอสุกหรือขนมหวานอื่น ๆ ลงไปอีกนิด (ถือว่าเป็นของหวาน) จากนั้นใส่หมากหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ แล้วจึงห่อใบตอบเข้าหากัน โดยใช้ไม้กลัดหัวท้ายและตรงกลางก็จะได้ห่อข้าวน้อยที่มีลักษณะยาว ๆ (คล้ายห่อข้าวเหนียวปิ้ง) สำหรับจำนวนของห่อข้าวน้อยนี้ก็ควรจะให้มีมากกว่าจำนวนญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้เพราะจะต้องมีจำนวนหนึ่งเผื่อผีไม่มีญาติด้วย
ครั้งถึงเวลาประมาณ 03.00-04.00 น. ของวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้าพวกผู้ใหญ่ในแต่ละครัวเรือนจะนำเอาห่อข้าวน้อยไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ในวัด ตามดินริมกำแพงวัดบ้าง ริมโบสถ์ริมเจดีย์ในวัดบ้าง การนำเอาห่อข้าวน้อยไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ ในวัดนี้เรียกว่า “การยายห่อข้าวน้อย” ซึ่งจะพากันทำเงียบ ๆ ไม่มีฆ้องกลองแห่แต่อย่างใด หลังจากยายห่อข้าวน้อยเสร็จแล้ว จะกลับบ้านเตรียมหุงหาอาหารในตอนรุ่งเช้าของวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า ซึ่งญาติโยมทุกครัวเรือนจะนำข้าวปลาอาหารไปทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ จากนั้นพระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอานิสงฆ์ของบุญข้าวประดิบดินให้ฟัง ญาติโยมถวายจตุปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์ให้พรญาติโยมกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับ

เดือนสิบ บุญข้าวสาก
บุญข้าวสากเป็นประเพณีในวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งชาวบ้านจะจัดเตรียมสำรับอาหาร ซึ่งบรรจุข้าวเหนียว อาหารแห้ง เช่น ปลาย่าง เนื้อย่าง แจ่วบองหรือน้ำพริกปลาร้า และห่อข้าวเล็ก ๆ อีกห่อหนึ่งสำหรับอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับและนำไปทำบุญที่วัด โดยจะเขียนชื่อเจ้าของ สำรับอาหารและเครื่องไทยทานใส่ไว้ในบาตร เพื่อให้พระในวัดจับสลาก หากภิกษุรูปใดจับสลากได้ชื่อผู้ใด ก็จะได้สำรับอาหารพร้อมเครื่องไทยทานของเจ้าภาพนั้น ๆ

มูลเหตุพิธีกรรม
เพื่อจะทำให้ข้าวกล้าในนาที่ปักดำไปนั้นงอกงามและได้ผลบริบูรณ์และเป็นการอุทิศส่วนกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
พิธีกรรม เช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร ครั้นถึงเวลาพระฉันเพล ญาติโยมชาวบ้านเกือบทุกครั้งคาเรือนจะจัด “พาข้าว” (คือสำรับกับข้าว) พร้อมทั้งปัจจัยไทยทาน 1 ชุด แล้วเขียนชื่อของตนลงบนแผ่นกระดาษม้วนลงใส่ในบาตรเดียวกัน เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว ผู้เป็นหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต ญาติโยมว่าตามจบแล้วนำไปให้พระเณรจับสลากที่อยู่ในบาตร พระเณรรูปใดจับได้สลากของใครผู้เป็นเจ้าของพาข้าวและเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระเณรรูปนั้น ๆ จากนั้นพระเณรจะฉันท์เพลแล้วให้พรญาติโยมจะพากันรับพร แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้แก่ญาติพี่น้องผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา
บุญออกพรรษาในเดือนสิบเอ็ดนอกจากจะเป็นโอกาสที่พระภิกษุสงฆ์จะแสดงอาบัติและว่ากล่าวตักเตือนกันแล้ว ชาวบ้านในภาคอีสานยังมีกิจกรรมกันอีกหลายอย่าง ทั้งประเพณีตักบาตรเทโว การจุดประทีปโคมไฟประดับประดาตามต้นไม้ บางแห่งนำต้นอ้อย หรือไม้ไผ่มามัดเป็นเรือจุดโคมแล้วนำไปลอยในแม่น้ำที่เรียกว่า การไหลเรือไฟ เพื่อเป็นพุทธบูชาสำหรับหมู่บ้านที่อยู่ไกลแหล่งน้ำจะนิยมทำปราสาทผึ้งหรือผาสาดผึ้งทำจากกาบกล้วยประดับประดาด้วยขี้ผึ้ง ซึ่งทำเป็นดอกไม้ แต่ปัจจุบันมักใช้ขี้ผึ้งมาตกแต่งปราสาททั้งหลัง แล้วจัดขบวนแห่มาถวายที่วัดอย่างสนุกสนาน
มูลเหตุพิธีกรรม
เพื่อเปิดโอกาสให้ภิกษุสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ และเพื่อพระภิกษุสงฆ์จะได้จาริกไปในที่ต่าง ๆ เพื่อเที่ยวสั่งสอนศีลธรรมและธรรมะแก่ประชาชน หรือเพื่อแสวงหาความสงบวิเวกในการปฏิบัติธรรม โดยไม่ต้องกลับมาค้างแรมที่วัดและให้ภิกษุหาผ้านุ่มห่มใหม่มาผลัดเปลี่ยน
พิธีกรรม ในเช้ามืดวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 พระสงฆ์จะไปรวมกันที่อุโบสถเพื่อแสดงอาบัติต่อกัน จากนั้นจะทำวัตรและทำปวารณาแทนการสวดปาฏิโมกข์ (ปวารณา คือ พิธีกรรมทางศาสนาที่สงฆ์ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนกับการปวารณาจะทำในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา จึงเรียกวันออกพรรษาว่าวันปวารณาหรือวันมหาปวารณา (จากพจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2538) ส่วนชาวบ้านก็จะเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อให้ทำบุญตักบาตรที่วัดในตอนรุ่งเข้าและถวายผ้าจำนำพรรษาแด่ภิกษุสามเณร ตอนค่ำมีการเวียนเทียนรอบอุโบสถและถ้าหมู่บ้านใดตั้งอยู่ริมแม่น้ำหรือหนอง บึง ก็จะมี “การไหลเรือไฟ” เพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานทีอีกด้วย

เดือนสิบสอง บุญกฐิน
บุญกฐินคือ บุญที่เรียกว่า “กาลทาน” นี้มีกำหนดให้ทำได้เฉพาะในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “บุญเดือน 12” ชาวอีสานเชื่อว่าผู้ใดได้ทำบุญกฐินจะไม่ตกนรกและจะได้รับผลบุญที่ทำในชาตินี้ไว้เก็บกินในชาติหน้า งานบุญกฐินจึงจัดเป็นงานสำคัญ ในส่วนพิธีกรรมนั้นคล้ายคลึงกับภาคกลางแต่ที่ชาวอีสานและเครื่องบริวารกฐินซึ่งส่วนมากจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนมาตั้งวางไว้ในที่เปิดเผยเพื่อให้ญาติพี่น้องหรือชาวบ้านใกล้เคียงนำสิ่งของ เช่น เสื่อ หมอน อาสนสงฆ์ ฯลฯ มาร่วมสบทบ ตอนเย็นของวันรวมก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ตอนกลางคืนอาจจัดให้มีมหรสพต่าง ๆ และที่ขาดไม่ได้ในงานบุญกฐินก็คือ ต้องจุด “บั้งไฟพลุ” อย่างน้อยจำนวน 4 บั้ง เอาไว้จุดเมื่อตอนหัวค่ำหนึ่งลูก ตอนดึกหนึ่งลูก ตอนใกล้สว่างหนึ่งลูก และตอนถวายกฐินอีกหนึ่งลูก นอกจากจุดบั้งไฟพลุแล้วก็จะจุดบั้งไฟตะไลเป็นระยะ ๆ ในขณะที่แห่กฐิน
รุ่งเช้าเป็นขบวนแห่กฐินจากบ้านไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เมื่อถึงวัดต้องแห่เครื่องกฐินเวียนขวาสามรอบ รอบศาลาโรงธรรม จากนั้นจึงนำเครื่องกฐินขึ้นตั้งบนศาลาโรงแรม นำข้าวปลาอาหารถวายพระ ถ้าถวายตอนเช้าก็เลี้ยงพระตอนฉันจังหัน แต่ถ้าถวายตอนบ่ายก็จะเลี้ยงพระตอนเพล เมื่อพระสงฆ์สามเณรฉันเสร็จแล้วผู้เป็นเจ้าภาพองค์กฐินจะจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย นำรับศีลแล้วกล่าวคำถวายกฐินเป็นเสร็จพิธี ส่วนพระสงฆ์เมื่อมีกฐินมาทอดที่วัดก็จะประชุมสงฆ์แล้วให้ภิกษุรูปหนึ่งเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์ว่าควรให้แก่ภิกษุ (เอ่ยนามภิกษุ) ที่สมควรจะได้รับกฐิน ส่วนมากก็เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นชอบตามที่มีผู้เสนอ ก็จะเปล่งคำว่า “สาธุ” พร้อมกัน จากนั้นญาติโยมก็จะพากันถวายเครื่องปัจจัยไทยทานแด่ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ทั้งวัด พระสงฆ์รับแล้วจะอนุโมทนาและให้พรเป็นเสร็จพิธีจะขาดไม่ได้ คือ การเฉลิมฉลองโดยการจุดพลุบั้งไฟอย่างเอิกเกริกในขณะที่แห่ขบวนกฐินมาที่วัด
มูลเหตุพิธีกรรม
เพื่อให้ภิกษุสงฆ์มีโอกาสได้ผลัดเปลี่ยนไตรจีวรใหม่ เนื่องจากของเก่าใช้นุ่งห่อมมาตลอดระยะเวลาสามเดือนที่เข้าพรรษาย่อมเก่าคร่ำคร่ามีเรื่องเล่าว่าในสมัยพระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน 30 รูปพากันเดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตุวันมหาวิหารไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงต้องพากันพักจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตพอออกพรรษาแล้วก็รีบพากันเดินทางกรำแดดกรำฝนไปเฝ้าพระพุทธองค์ จีวรที่นุ่มห่มก็เปียกปอน เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นความยากลำบากของพระภิกษุเหล่านี้ก็ทรงอนุญาตให้รับผ้ากฐินได้ เพื่อจะได้มีจีวรเปลี่ยนใหม่ เมื่อนางวิสาขาผู้เป็นมหาอุบาสิกาได้ทราบข่าวจึงนำผ้ากฐินไปถวายพระพุทธองค์เป็นคนแรก การทำบุญกฐินจึงเกิดเป็นประเพณีมาตราบเท่าทุกวันนี้
พิธีกรรม ผู้มีศรัทธาประสงค์จะนำกฐินไปทอดต้องไปขอจองวัดโดยปกติมักจะติดต่อตั้งแต่ตอนเช้าเข้าพรรษาใหม่ ๆ ซึ่งอาจเป็นเดือนเก้า เดือนสิบ เมื่อเจ้าอาวาสแจ้งว่าวัดนั้นยังไม่มีผู้ใดจองกฐิน ผู้มีจิตศรัทธาที่จะทำบุญจะปักสลากเพื่อประกาศให้คนทั้งหลายรู้ว่าตนเป็นผู้จองและจะนำกฐินมาทอดที่วัดดังกล่าวสลากต้องปักไว้ในที่เปิดเผย เช่น ศาลาโรงธรรม หรือฝาผนัง ด้านนอกของโบสถ์ รายละเอียดในสลากก็จะบอกถึงชื่อที่อยู่ของผู้ที่จะนำกฐินมาทอด รวมทั้งบอกวันเวลาที่จะทอดด้วย เพื่อไม่ให้เจ้าศรัทธาอื่นนำกฐินมาทอด รวมทั้งบอกวันเวลาที่จะทอดด้วย เพื่อไม่ให้เจ้าศรัทธาอื่นนำกฐินมาทอดซ้ำซ้อนกัน เพราะวัดหนึ่ง ๆ จะรับกฐินได้ปีละหนึ่งกองเท่านั้น คนอีสานมีความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ทำบุญกฐิน แล้วตายไปจะไม่ตกนรก มีแต่จะได้รับผลบุญที่ตนเองกระทำเอาไว้เก็บกินในชาติหน้า การทำบุญกฐินจึงจัดเป็นงานสำคัญ ผู้ที่จะทำบุญกฐินจึงบอกกล่าวลูกหลาน ญาติมิตรของตนให้โดยพร้อมหน้า ครั้นถึงวันรวมก็จะตั้งองค์กฐินที่บ้านของตน

คองสิบสี่

เป็นบทบัญญัติทางสังคมของชาวอีสานให้เป็นหลักปฏิบัติต่อกันสำหรับคนในสถานภาพต่าง ๆ มาแต่โบราณโดยใช้เป็นคำบอกเล่าขาน สืบต่อกันครั้งยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
“คองสิบสี่” มักเป็นคำกล่าวควบคู่กับคำว่า ฮีตสิบสอง สันนิษฐานไว้ 2 ความหมายว่ามาจากคำว่า คลอง หรือครรลองเป็นคำนามหมายถึง ทางหรือแนวทางเช่น คลองธรรมหรือมาจากครองซึ่งเป็นคำกิริยามีความหมายถึงการรักษาไว้ เช่น คำว่า ครองเมือง ครองรักครองชีพโดยที่ชาวอีสานไม่นิยมออก เสียงคำกล้ำ ดังนั้น คองสิบสี่น่าจะมีความหมายถึงแนวทางที่ประชาชนทำไป ชาวบ้านหรือสงฆ์พึงปฏิบัติ 14 ข้อเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งประเพณีและทำนองคลองธรรมอันดีงามของท้องถิ่นบ้านเมือง

คองสิบสี่โดยนัยที่ 1
กล่าวถึงผู้เกี่ยวข้องในครอบครัว สังคมตลอดจนผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองพึงปฏิบัติ เมื่อพูดถึงคองมักจะมีคำว่าฮีตควบคู่กันอยู่เสมอ แบ่งออกเป็น 14 ข้อ คือ
1. ฮีตเจ้าคองขุน สำหรับกษัตริย์หรือผู้ครองเมืองปกครองอำมาตย์ ขุนนางข้าราชบริพาร
2. ฮีตเจ้าคองเพีย สำหรับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในการปกครองข้าทาสบริวาร
3. ฮีตไพร่คองนาย สำหรับประชาชนในการปฏิบัติตนตามกบิลบ้านเมืองและหน้าที่พึงปฏิบัติต่อนาย
4. ฮีตบ้านคองเมือง วัตรอันพึงปฏิบัติตามธรรมเนียมทั่วไปของพลเมืองต่อบ้านเมืองและส่วนรวม
5. ฮีตผัวคองเมีย หลักปฏิบัติต่อกันของสามีภรรยา
6. ฮีตพ่อคองแม่ หลักปฏิบัติของผู้ครองเรือนต่อลูกหลาน
7. ฮีตลูกคองหลาน หลักปฏิบัติของลูกหลานต่อบุพการี
8. ฮีตใภ้คองเขย หลักปฏิบัติของสะใภ้ต่อญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่สามี
9. ฮีตป้าคองลุง หลักปฏิบัติของลุง ป้า น้า อา ต่อลูกหลาน
10. ฮีตคองปู่ย่า, ตาคองยาย หลักปฏิบัติของปู่ย่า ตายาย ให้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรต่อลูกหลาน
11. ฮีตเฒ่าคองแก่ หลักปฏิบัติของผู้เฒ่าในวัยชราให้เป็นที่เคารพเลื่อมในเหมาะสม
12. ฮีตคองเดือน การปฏิบัติตามจารีตประเพณีต่าง ๆ ในฮีตสิบสอง
13. ฮีตไฮ่คองนา การปฏิบัติตามประเพณีเกี่ยวกับการทำไร่ทำนา
14. ฮีตวัดคองสงฆ์ หลักปฏิบัติของภิกษุสามเณรให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยทั้งการช่วยทำนุบำรุงวัดวาอาราม

คองสิบสี่โดยนัยที่ 2
กล่าวถึงหลักการสำหรับพระมหากษัตริย์ในการปกครองทั้งอำมาตย์ราชมนตรีและประชาชนเพื่อความสงบสุขร่มเย็น โดยทั่วกัน
1. แต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริต รู้จักราชการ บ้านเมือง ไม่ข่มเหงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
2. หมั่นประชุมเสนามนตรี ให้ข้าศึกเกรงกลัว บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ประชาชนเป็นสุข
3. ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม
4. ถึงปีใหม่นิมนต์ภิกษุมาเจริญพุทธมนต์ สวดมงคลสูตรและสรงน้ำพระภิกษุ
5. ถึงวันปีใหม่ให้เสนา อำมาตย์นำเครื่องบรรณาการ น้ำอบ น้ำหอม มุรธาภิเษก พระเจ้าแผ่นดิน
6. ถึงเดือนหกนิมนต์ พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระเจ้าแผ่นดิน
7. ถึงเดือนเจ็ด เลี้ยงท้าวมเหสักข์ หลักเมือง บูชาท้าวจตุโลกบาลเทวดาทั้งสี่
8. ถึงเดือนแปด นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทำพิธีชำระ และเบิกบ้านเมือง สวดมงคลสูตร 7 คืน โปรยกรวดทรายรอบเมืองตอกหลักบ้านเมืองให้แน่น
9. ถึงเดือนเก้า ประกาศให้ประชาชนทำบุญข้าวประดับดิน อุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
10. วันเพ็ญเดือนสิบ ประกาศให้ประชาชนทำบุญข้าวสาก จัดสลากภัตต์ ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
11. วันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา ให้สงฆ์ปวารณามนัสการและมุรธาภิเษก พระธาตุหลวง พระธาตุภูจอมศรี และประกาศให้ประชาชนไหลเรือไฟเพื่อบูชาพญานาค
12. เดือนสิบสองให้ไพร่ฟ้าแผ่นดินรวมกันที่พระลานหลวงแห่เจ้าชีวิตไปแข่งเรือถึงวันเพ็ญพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์นิมนต์และภิกษุ 5 รูป นมัสการพระธาตุหลวงพร้อมเครื่องสักการะ
13. ถึงเดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน ถวายผ้ากฐินตามวัดต่าง ๆ
14. ให้มีสมบัติอันประเสริฐ คูนเมืองทั้ง 14 อย่างอันได้แก่ อำมาตย์ ข้าราชบริพาร ประชาชน พลเมือง ตลอดจนเทวดาอารักษ์เพื่อค้ำจุนบ้านเมือง

คองสิบสี่โดยนัยที่ 3
เป็นจารีตประเพณีของประชานและธรรมที่พระเจ้าแผ่นดินพึงยึดถือ
1. เดือนหกขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทรายทุกปี
2. เดือนหกหน้าใหม่ เกณฑ์คนสาบานตนทำความซื่อสัตย์ต่อกันทุกคน
3. ถึงฤดูทำนา คราด หว่าน ปัก ดำ ให้เลี้ยงตาแฮก ตามกาลประเพณี
4. สิ้นเดือนเก้าทำบุญข้าวประดับดินเพ็ญเดือนสิบทำบุญข้าวสาก อุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
5. เดือนสิบสองให้พิจารณาทำบุญกฐินทุกปี
6. พากันทำบุญผะเหวด ฟังเทศน์ผะเหวดทุกปี
7. พากันเลี้ยงพ่อ แม่ที่แก่เฒ่า เลี้ยงตอบแทนคุณที่เลี้ยงเราเป็นวัตรปฏิบัติไม่ขาด
8. ปฏิบัติเรือนชานบ้านช่อง เลี้ยงดูสั่งสอน บุตรธิดา ตลอดจนมอบ มรดกและหาคู่ครองเมื่อถึงเวลาอันควร
9. เป็นเขย่าดูถูกลูกเมีย เสียดสีพ่อตาแม่ยาย
10. รู้จักทำบุญให้ทาน รักษาศีล ไม่พูดผิดหลอกลวง
11. เป็นพ่อบ้านให้มีพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
12. พระมหากษัตริย์ต้องรักษาทศพิธราชธรรม
13. พ่อตา แม่ยาย ได้ลูกเขยมาสมสู่ให้สำรวมวาจา อย่าด่าโกรธา เชื้อพงศ์พันธ์อันไม่ดี
14. ถ้าเอามัดข้าวมารวมกองในลานทำเป็นลอมแล้ว ให้พากันปลงข้าวหมกไข่ ทำตาเหลวแล้วจึงพากันเคาะฟาดตี

คองสิบสี่โดยนัยที่ 4
1. ให้พระภิกษุสงฆ์ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและรักษาศีล 227 ข้อเป็นประจำทุกวัน
2. ให้รักษาความสะอาดกุฏิ วิหาร โดยปัดกวาดเช็ดถูกทุกวัน
3. ให้ปฏิบัติกิจนิมนต์ของชาวบ้านเกี่ยวกับการทำบุญ
4. ถึงเดือนแปด ตั้งแต่แรมหนึ่งค่ำเป็นต้นไปต้องจำพรรษา ณ วัดใดวัดหนึ่งไปจนถึงวันแรมหนึ่งคำเดือนสิบเอ็ด
5. เมื่อออกพรรษาแล้วพอถึงฤดูหนาว (เดือนอ้าย) ภิกษุผู้มีศีลหย่อนยานให้หมวดสังฆาทิเสสต้องอยู่ปริวาสกรรม
6. ต้องออกเที่ยวบิณฑบาต ทุกเช้าอย่าได้ขาด
7. ต้องสวดมนต์และภาวนาทุกคืนอย่าได้ละเว้น
8. ถึงวันพระขึ้นสิบห้าค่ำหรือแรมสิบสี่ค่ำ (สำหรับเดือนคี่) ต้องเข้าประชุมทำอุโบสถสังฆกรรม
9. ถึงปีใหม่ (เดือนห้า วันสงกรานต์) นำทายก ทายิกา เอาน้ำสรงพระพุทธรูปและมหาธาตุเจดีย์
10. ถึงศักราชใหม่ พระเจ้าแผ่นดินไหว้พระ ให้สรงน้ำในพระราชวัง
11. เมื่อมีชาวบ้านเกิดศรัทธานิมนต์ไปกระทำการใด ๆ ที่ไม่ผิดหวังพระวินัยก็ให้รับนิมนต์
12. เป็นสมณะให้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดวาอาราม พระมหาธาตุเจดีย์
13. ให้รับสิ่งของที่ทายก ทายิกานำมาถวายทาน เช่น สังฆทานหรือสลากภัตต์
14. เมื่อพระเจ้าแผ่นดินหรือเสนาข้าราชการมีศรัทธา นิมนต์ไปประชุมกันในพระอุโบสถแห่งใด ๆ ในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ดต้องไปอย่าขัดขืน

ประเพณีอื่น
ประเพณีแห่นางแมว
เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อขอฝนในยามที่เกิดความแห้งแล้ง และเป็นผลเสียกับไร่นาในการแห่นางแมวจะต้องใช้แมวตัวเมียสีดำใส่กะทอ หามแห่ไปตามบ้านต่าง ๆ ชาวบ้านจะช่วยกันสาดน้ำให้แมวร้องมากที่สุดจึงจะเป็นผลดี ขบวนแห่บางครั้งจะใช้เวลานานเกือบทั้งวันชาวบ้านในทุกครัวเรือนจะออกมาร่วมใจกันประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อมและสนุกสนานร่วมกัน ในการเซิ้งนางแมวหลังจากเสร็จพิธีการแห่นางแมวแล้วชาวอีสานเชื่อว่าฝนจะตกลงมาสร้างความชุ่มชื้นให้กับไร่นาของตน
มูลเหตุของพิธีกรรม
เพื่อเป็นการขอฝนโดยมีความเชื่อที่ว่าแมวเป็นสัตว์เกลียดฝน ถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที ชาวอีสานจึงถือเคล็ดที่แมวร้องในเวลาฝนตกว่าเป็นมูลเหตุให้เกิดฝนตกขึ้นจริง ๆ
พิธีกรรม ประเพณีแห่นางแมวของชาวอีสานจะเริ่มต้นจากการคัดเลือกแมวสีดำตัวเมียมา 1-3 ตัวหรือเพียงตัวเดียวก็ได้ นำแมวใส่ลงในกะทอหรือเข่งที่มีฝาปิดปากข้างบน ฝาปิดนั้นจะต้องโปร่งพอที่น้ำจะกระเซ็นไปถูกตัวแมวได้ ขณะที่วางแมวลงในกะทอ ผู้ที่จับแมวจะต้องพูดว่า
“นางแมวเอย ขอฟ้า ขอฝน ให้ฝนตกลงมาด้วยมือ”
เมื่อปิดฝากะทอดีแล้วต้องหาไม้มาสอดเป็นคานสำหรับหาม ต่อจากนั้นจัดเครื่องสักการะบูชาอันประกอบด้วยคาย 5 หัวหน้าพิธีนำเครื่องสักการะมาป่าวอัญเชิญเทวดาลงมาชุมนุมแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอน้ำฝนชาวบ้านก็จัดเตรียมขบวนแห่นางแมว โดยมีชายคู่หนึ่งเป็นผู้หามกะทอนางแมวนำหน้า คนในขบวนแห่ก็จะร้องคำเซิ้งแห่งนางแมวพร้อมกัน โดยมีผู้เป็นแม่บทกล่าวนำอยู่หนึ่งคน ขบวนแห่นางแมวจะแห่ไปตามบ้านต่าง ๆ เมื่อไปถึงบ้านเรือนของใครคนในขบวนแห่ก็จะร้องบอกว่า
“เจ้าข้า ๆ นางแมวมาแล้ว ๆ นางแมวเอาฝนมาให้แล้ว”
คนอื่น ๆ ก็จะร้องเสริมขึ้นว่า “ฝนตกเฮง ๆ ให้บักแตงเป็นหน่วย ฝนตกค่อย ๆ ให้อ้อยเป็นลำตกลงมา ฝนตกลงมา เทลงมา ฝนเทลงมา เทลงมาพอทำนาได้ อย่าถึงต้องให้ใช้เฮือแจว เอ้าเทลงมา ฝนเทลงมา”
เจ้าของบ้านที่ขวนแห่นางแมวไปถึงจะต้องตักน้ำ สาดลงไปให้ถูกขบวนแห่และถูกตัวนางแมวด้วยขณะที่สาดน้ำลงไปก็จะพูดว่า
“เอ้าฝนตกลงไปแล้ว ฝนตกแล้ว ตกลงมามากจริง ๆ ต้นข้าว ต้นหญ้าขึ้นเขียวไปหมด”
คนในขวนแห่ก็จะต้องทำท่าเหมือนเดินตากฝนจริง ๆ หากขบวนแห่นางแมวไปถึงบ้านใครบ้านนั้นไม่สาดน้ำลงมา เชื่อว่านางแมวจะโกรธมาก ซึ่งจะทำให้เกิดอาเพท ฝนไม่ตก อากาศแห้งแล้ว

ประเพณีผูกเสี่ยว
ประเพณีผูกเสี่ยวเป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มวัฒนธรรม ไท-ลาว การผูกเสี่ยวคือการสัญญาที่จะเป็นเพื่อนรักร่วมเป็นร่วมตาย โดยมีสักขีพยาน การผูกเสี่ยวนิยมกระทำระหว่างชายกับชายหรือหญิงกับหญิงที่วัยใกล้เคียงและลักษณะนิสัยใจคอที่คล้ายคลึงกัน โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะเป็นผู้ทาบทามขอผูกเป็นเสี่ยวกัน เรียกว่า “แฮกเสี่ยว” เมื่อตกลงก็จะผูกเสี่ยวโดยใช้ฝ้ายมงคล ผูกข้อมือของแต่ละคนเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่คู่เสี่ยว บางแห่งก่อนจะผูกเสี่ยวจะจัดพิธีสู่ขวัญ ให้ศีลให้พรอบรมสั่งสอนให้แก่คู่เสี่ยวรักนับถือกัน ตลอดถึงพ่อแม่พี่น้องและวงศาคณาญาติของกันและกันให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันให้การช่วยเหลือเกื้อกูลแก่กันตลอดไปตอนนี้เรียกว่า “ขอดเสี่ยว” หลังจากนั้นก็เลี้ยงข้าวปลาอาหารกันตามสมควรแก่ฐานะ
มูลเหตุของพิธีกรรม
ความเป็นมาของประเพณีผูกเสี่ยวไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าการผูกเสี่ยวเริ่มต้นเมื่อใด จากหลักฐานที่ปรากฎพอจะสืบค้นหลักฐานอ้างอิงถึงการผูกเสี่ยวอยู่ 2 ทางคือ
1. ด้านวรรณคดี พบข้อความในวรรณคดีอีสานกล่าวถึงคำเสี่ยวอยู่หลายแห่ง เช่น
“อันว่าบิดาพระพ่อพญาภายพุ้น ฮ้อยว่าจักไปหาเจ้าสหายแพงเป็นเสี่ยว” (พระลักพระลาม)
“สั่งเล่ามาล่วงม้างพญากล้าพ่อพระองค์กุมพลเจ้าสุริวงเป็นเสี่ยว” (สุริวง)
2. ด้านประวัติศาสตร์ อาจารย์จารุบุตรเรืองสุวรรณ ได้กล่าวไว้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการสำรวจประชาชนไทยที่มี วัน เดือน ปี เกิดตรงกับวันพระราชสมภพ เพื่อขึ้นบัญชีเป็น “สหชาติ” โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 7 นั้นได้พระราชทานเหรียญมงคลเป็นที่ระลึกแก่ “สหชาติ” คือเพื่อนร่วมวันเกิดด้วย
ในพงศาวดารล้านนาไทย ปรากฎว่าพ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนเม็งราย พ่อขุนงำเมือง ได้จัดให้มีพิธีกรรมปฏิญาณตนเป็นสหายหรือ “เสี่ยว” กันโดยการกรีดเลือดลงในจอกสุรา แล้วทรงดื่มเลือดของกันและกันพร้อมกับการกราบไหว้เทพาอารักษ์ให้เป็นพยานจึงนับเป็นหลักฐานสำคัญของการผูกเสี่ยว
พิธีกรรม การผูกเสี่ยวทำให้เกิดมิตรภาพต่อเนื่องอันยาวนานและไม่ขาดสายหมู่บ้านต่าง ๆ อาจมีวิธีผูกเสี่ยวที่แตกต่างกันไป แต่มีจุดประสงค์ตรงกันคือ “มิตรภาพ” วิธีผูกเสี่ยวประมวลได้ 5 ลักษณะ

1. แบบที่ 1 เมื่อคู่เสี่ยวมาพร้อมกันแล้วประธานในพิธีจะนำมีดสะนากคือ มีดหนีบหมาก มีดหนีบสีเสียดมาตั้งไว้กลางขันหมาก โดยถือมีดสะนากเป็นหลักและเปรียบเทียบให้เห็นว่ามีดจะใช้ประโยชน์ได้ต้องมี 2 ขาและจะต้องติดกันเหมือนคนเราจะมีชีวิตปลอดภัยต้องมีมิตรเป็นมิตรกันในทุกแห่งคนจะต้องมีเพื่อนคอยช่วยเหลือกันและกัน เหมือนมีดสะนาก จะอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวไม่ได้แล้วทำพิธีผูกแขนให้คู่เสี่ยว

2. แบบที่ 2 เมื่อคู่เสี่ยวมาพร้อมกันแล้ว ก่อนจะผูกเสี่ยวผู้เป็นประธานจะนำเกลือ พริก มาวางไว้ต่อหน้าในพิธีโดยให้เกลือกับพริกเป็นตัวเปรียบ เกลือมีคุณสมบัติเค็มไม่จืดจาง พริกเผ็ดไม่เลือกที่ เสี่ยวจะต้องมีลักษณะรักษาคุณสมบัติ คือ รักกันให้ตลอดไปเหมือนเกลือรักษาความเค็มแล้วจะทำพิธีผูกแขนให้คู่เสี่ยว

3. แบบที่ 3 เป็นแบบง่าย ๆ คือ เมื่อคู่เสี่ยวพร้อมแล้ว ผู้เป็นประธานก็จะผูกแขนให้คู่เสี่ยวและอวยชัยให้พรใช้คำพูดเป็นหลักในการโน้มน้าวให้คู่เสี่ยวรักกันและกัน

4. แบบที่ 4 เป็นแบบที่มีการจองคู่เสี่ยวไว้ก่อน หรือพิจารณาดูเด็กที่รักกันไปด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่เด็กไม่รู้ว่าเป็นคู่เสี่ยวกัน แล้วนำเด็กมาผูกเสี่ยวกันโดยการเห็นดีเห็นงามของผู้หลักผู้ใหญ่ประธานในพิธีจะนำฝ้ายผูกแขนมาผูกให้คู่เสี่ยวต่อหน้าบิดามารดาของคู่เสี่ยวให้รับรู้ความรักของเด็กทั้งสอง

5. แบบที่ 5 เป็นพิธีผูกเสี่ยวแบบผู้ใหญ่ คือ ผู้ใหญ่ที่รักกันมาตั้งแต่เด็ก หรือมาชอบพอกันเมื่อโตแล้ว มีใจตรงกันจะผูกเสี่ยว ก็ขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ผูกแขนให้เป็นเสี่ยวกัน หรือผูกในพิธีผูกเสี่ยวที่จัดขึ้นเป็นกิจลักษณะก็ได้
ประโยชน์ของการผูกเสี่ยว
การผูกเสี่ยวเป็นการสร้างความเป็นเพื่อสร้างความรัก ความผูกพัน ความนับถือให้เกิดขึ้นในหมู่ชน ความรัก ความผูกพันดังกล่าวไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้เป็นเสี่ยวกันเท่านั้น แต่แผ่กระจายไปถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายด้วย
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เป็นต้นมา พิธีผูกเสี่ยวได้จัดขึ้นในงาน “เทศกาลไหมประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาด” จังหวัดขอนแก่นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

พิธีกินดอง
กินดองหรือพิธีแต่งงานจะจัดขึ้นเมื่อหนุ่มสาวมีความสมัครรักใคร่พร้อมจะใช้ชีวิตคู่และได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย จะมีการจัดพิธีกินดองขึ้น ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับพิธีแต่งงานในภาคกลาง พิธีกินดองของชาวอีสานเป็นการบอกให้สังคมได้ร่วมกับรู้เป็นสักขีพยานในพิธีจะมีแขกเหรื่อมาร่วมพิธีพร้อมทั้งอวยพรให้คู่หนุ่มสาวมากมาย นอกจากนี้ยังมีการประกอบพิธีกรรมตามธรรมเนียมปฏิบัติ และเคล็ดประเพณีซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตคู่ให้มีความผาสุกยืนยาว
พิธีกรรม
สู่ขวัญน้อย ที่บ้านเจ้าบ่าวและบ้านเจ้าสาวจะจัดทำพิธีสู่ขวัญ เจ้าบ่าวก็สู่ขวัญที่บ้านเจ้าสาว เมื่อสู่ขวัญแล้วก็ผูกข้อต่อแขนกันตามธรรมเนียม เมื่อเจ้าบ่าวสู่ขวัญแล้วก็แห่ขันหมากมาบ้านเจ้าสาว
การแห่ขันหมาก เครื่องขันหมากมี 3 ขัน คือ ขันใส่เงินค่าดอง 1 ขัน ใส่หมากจีบพลูแหนบ 1 ขัน ใส่เหย้ายา 1 ขัน ทั้งสามนี้ใช้ผ้าสีต่าง ๆ คลุมขันใส่เงินค่าดองให้ผู้เฒ่าเจ้าโคตรถือเดินออกก่อน ขันหมากพลูและขันเหล้ายาให้หญิงสาวบริสุทธิ์ 4 คน หาบเดินตามหลัง พาขวัญเดินออกก่อนคู่บ่าวและญาติพี่น้องแห่ไปตามหลังเมื่อไปถึงเรือนผู้หญิงแล้ว เจ้าโคตรฝ่ายหญิงจะออกมารับ เชิญให้ขึ้นไปบนเรือน เมื่อขึ้นไปถึงแล้วเจ้าโคตรฝ่ายชายจะยกขันทั้ง 3 ให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงจะเปิดขันค่าดองออกมานับก่อน นับถูกต้องแล้วมอบค่าดองให้พ่อแม่ของหญิง ส่วนขัน หมากพลูและขันเหล้ายาก็แจกแบ่งกันกิน อาหารการกินที่ฝ่ายหญิงจัดไว้ต้อนรับก็นำมาเลี้ยงดูกันด้วย
การสู่ขวัญกับก่าย พอเสร็จการเลี้ยงดูแล้ว ก็มีการสู่ขวัญกับก่ายคือให้ชายหญิงเข้าพาขวัญด้วยกันเอามือก่ายให้ “แขนท้ายก่ายแขนนาง” คือ เอาแขนชายทับแขนหญิง การเอาแขนท้าวก่ายแขนนางนี้โบราณเรียก “กับก่าย” ต่อจากนั้นหมอขวัญก็เริ่มว่าคำสู่ขวัญ การสู่ขวัญหรือการสูดขวัญในพิธีกับก่ายนี้ หมอสู่ขวัญจะว่าให้จบโดยไม่ย่นย่อเพราะการสู่ขวัญต่อหน้าเจ้าโคตรทั้งสองฝ่ายถือว่าเป็นสิริมงคล นำความสุขความเจริญมาให้แก่คู่บ่าวสาว พอสู่ขวัญจบก็แจกฝ้ายผูกแขน ใครมีคำพูดดี ๆ มีคาถาดี ๆ ก็มาเสกผูกแขนให้คู่บ่าวสาว ไข่สุกที่ใส่ในพาขวัญ เป็นนิมิตหมายที่ดีอย่างหนึ่ง การเลือกไข่มาต้มจะต้องเลือกเอาไข่ไก่แม่ใหม่ ไข่นี้ถ้าได้สองฟองจะดีมาก ให้ชายใบหนึ่งหญิงใบหนึ่ง กำไว้ในเวลาผูกแขนพอผูกแขนเสร็จแล้วให้นำไข่ไปปอกโดยเอาเส้นผมตัดตรงกลาง ถ้าไข่ของฝ่ายใดเต็มไม่มีเว้าแหว่ง ถือว่าเป็นศิริมงคล หากไม่เต็มถือว่าไม่เป็นมงคล เมื่อตรวจดูแล้วยื่นไข่ครึ่งหนึ่งให้ชายครึ่งหนึ่งให้หญิง ชายเอาไข่ของตนป้อนหญิงหญิงเอาไข่ของตนป้อนชาย ข้อนี้มีคำกลอนอีสานว่าไว้ว่า
ปานใดซิได้จูงมือพาขวัญไข่หน่วย มือขวาป้อนไข่อ้าย มือซ้ายป้อนไข่นาง
เมื่อเสร็จการป้อนไข่แล้วจะเป็นพิธีแสดงสัมมาคารวะเจ้าโคตรตายายทั้งสองค้ำสองฝ่าย

พิธีสมมา เมื่อผู้ชายกลับไปถึงบ้านของตนแล้วเจ้าโคตรฝ่ายหญิงจะนำหญิงไปสมมาเจ้าโคตรฝ่ายชาย ของที่จะสมมาพ่อแม่ของชายมีผ้าผืนหนึ่ง เสื่อหนึ่งผืน ซิ่นหนึ่งผืน เสื้อหนึ่งผืน ของที่สมมาพ่อแม่ของฝ่ายชายนี้จะไม่คิดค่าตีราคา ส่วนเจ้าโคตนอกนั้นจะสมมาด้วยซิ่นผืน แพรวา เสื่อ สาดอาสนะ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้แล้วแต่เห็นสมควรและคิดค่าตีราคาด้วย

พิธีส่งตัวผู้ชาย เวลาส่งตัวผู้ชายไปอยู่เรือนผู้หญิงนั้นให้เลือกเอาเวลาโฮมแลง คือเวลาบ่าวโฮมสาวประมาณสองทุ่มเศษ ขบวนที่ไปส่งตัวผู้ชายนั้นส่วนมากจะเป็นพวกชายหนุ่มเวลาไปจะส่งเสียงร้องไปว่า
แม่เถ้าเอยลูกเขยมาแล้ว
ไขป่องเอี้ยม เยี้ยมเบิ่ง ลูกเขย
เมื่อไปถึงบ้านผู้หญิงแล้วฝ่ายหญิงจะมาคอยรับแล้วเชิญให้ขึ้นบนเรือนแล้วนำอาหารมาเลี้ยงดูตามธรรมเนียม

พิธีปูที่นอน ที่นอนก็มีความสำคัญสำหรับชายหญิงที่แต่งดองกันแล้ว ถ้าทำให้ถูกตามประเพณีชายหญิงคู่ดองจะอยู่เย็นเป็นสุข คนปูที่นอนต้องเลือกเอาบุคคลสำคัญมาปู คือ คนที่มีศีลธรรม แต่งงานแล้ว ไม่เคยหย่าร้างกันมีลูกเต้าเหล่าหลานด้วยกัน เครื่องสักการะมีดอกไม้ธูปเทียน ที่จัดใส่ขันไว้เมื่อผู้ทำพิธีปูที่นอนมาถึงจะได้ลงมือปูทันทีให้ปูที่นอนของผู้ชาย ไว้ข้างขวาของผู้หญิงไว้ข้างซ้ายและที่นอนของผู้ชายสูงกว่าของผู้หญิง เมื่อปูเสร็จแล้วผู้ปูจะต้องทำพิธีทดลองนอนดูก่อน พอทดลองแล้วจึงมาจูงเอาผู้หญิงเข้าไปก่อนจูงผู้ชายเข้าไปที่หลัง ให้ชายหญิงนอนพอเป็นพิธีในขณะที่นอนนั้นให้ปิดก็เปิดประตูเข้าไป ให้ชายหญิงมานั่งหน้าเจ้าโคตร ต่อให้เจ้าโคตรจะสอนฮีตผัวครองเมีย

ศิลปวัฒนธรรมประเพณีคืออะไร

ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีไทย เป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมการแสดงออกของคนในสังคมไทย อธิบายนัยความหมายของสภาพทางภูมิศาสตร์ความคิดความเชื่อ สภาพทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่สะท้อนตัวตนของคนในสังคมนั้นว่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับ ธรรมชาติแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างไร

ศิลปวัฒนธรรมมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

หมวดขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ.
หมวดภาษาและวรรณกรรม.
หมวดศิลปกรรมและโบราณคดี.
หมวดการละเล่น ดนตรีและการพักผ่อนหย่อนใจ.
หมวดชีวิตความเป็นอยู่และวิทยาการ.

ลักษณะของศิลปวัฒนธรรมไทย มีอะไรบ้าง

1. วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมแบบเกษตรกรรม นับตั้งแต่อดีตคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย เช่น พิธีแรกนาขวัญ พิธีสู่ขวัญข้าว เป็นต้น 2. วัฒนธรรมไทยมีแบบแผนทางพิธีกรรม มีขั้นตอน รวมถึงองค์ประกอบในพิธีหลายอย่าง เช่นการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำศพ พิธีมงคลสมรส เป็นต้น

ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมไทย คือข้อใด

จิตรกรรมไทยประเพณี คือจิตรกรรมไทยที่มีความประณีตที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต จนได้ลักษณะประจำชาติ นิยมเขียนบนฝาผนังภายในอาคารหรืองานศิลปะประยุกต์ที่เนื่องในพุทธศาสนาและบุคคลชั้นสูง คือ อุโบสถ วิหาร พระที่นั่ง บนแผ่นผ้า (ภาพพระบฏ) บนกระดาษ (สมุดไทย) โดยเขียนด้วยสีฝุ่นตามวิธีการของช่างเขียนไทยแต่โบราณ นิยมเขียนเรื่องเกี่ยว ...