การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยตกจากที่สูง

หลักการยกเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุ from Aiman Sadeeyamu

การเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุมักมีสาเหตุจากความเสื่อมและการถดถอยของร่างกาย อีกทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นผลให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง สำหรับอุบัติเหตุที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุก็คือ การหกล้ม เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ การตกเตียง ตกบันได เป็นต้น ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65 – 75 ปี การบาดเจ็บที่พบบ่อยของผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุดังกล่าว ได้แก่ การหักของกระดูกสะโพก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีอัตราการความพิการและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะมีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน เมื่อหกล้มกระดูกจึงเกิดการแตกหรือหักได้ง่าย ดังนั้น ผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหักจึงจำเป็นต้องได้รับการป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำภายหลังการผ่าตัดร่วมด้วย

อาการที่สงสัยว่ามีกระดูกสะโพกหัก คือ หลังจากหกล้มจะมีอาการปวดบริเวณสะโพกข้างที่หัก ลุกเดินไม่ได้ หรือลงน้ำหนักขาข้างที่สะโพกหักไม่ได้ หากญาติพบผู้ป่วยหกล้มและสงสัยกระดูกสะโพกหักให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบาย พยายามอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และโทรเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปตรวจโดยเร็ว

อีกปัญหาหนึ่งที่พบได้จากการหกล้มของผู้สูงอายุคือ การบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเลือดคั่งในสมองที่สูงขึ้น โดยอาการแสดงที่มีอาจไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงที่ได้รับ ผู้สูงอายุที่ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะจึงควรได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์โดยเร็ว และพิจารณาส่งตรวจสมองด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) รวมถึงการสังเกตอาการในโรงพยาบาลตามข้อบ่งชี้


สาเหตุการลื่นล้ม

การลื่นล้มเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ โดยต้องทราบสาเหตุของการลื่นล้ม ได้แก่

  1. สาเหตุทางกาย เช่น การทรงตัวไม่ดี ขาอ่อนแรง ชา อ่อนเพลีย หน้ามืด มีปัญหาด้านสายตาและ การได้ยิน รับยาที่มีผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต เป็นโรคกระดูกพรุน 
  2. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม พื้นลื่น เปียก มีหยดน้ำ พื้นผิวขรุขระมีขั้นสูงต่ำ ขอบไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ อุปกรณ์ของใช้ไม่มั่นคงชำรุด ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไม่เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้า รองเท้าไม่พอดี

วิธีปฐมพยาบาลและดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่หกล้มเบื้องต้น

  • ผู้ป่วยที่ศีรษะกระแทกและไม่รู้สึกตัวให้นอนในท่าเดิมและเรียกรถพยาบาล
  • ผู้ป่วยที่รู้ตัวดีและมีอาการปวดต้นคอร่วมด้วยให้นอนราบไม่หนุนหมอนเรียกรถพยาบาล พยายามขยับผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
  • ผู้ป่วยที่ปวดสะโพกหรือต้นขาให้นอนในท่าที่ผู้ป่วยปวดน้อยที่สุดเรียกรถพยาบาล ไม่ควรเคลื่อนย้ายเองเพราะอาจจะทำให้มีการเคลื่อนของกระดูกมากขึ้นได้
  • ผู้ป่วยศีรษะกระแทกไม่ปวดต้นคอ รู้ตัวดี ให้ญาตินำส่งโรงพยาบาล
  • ผู้ป่วยมีแผลเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดกดไว้นาน 10 – 15 นาที

ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบการลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง ร้อยละ 10 ของการลื่นล้มทำให้กระดูกสะโพกหัก ร้อยละ 25 ของการบาดเจ็บกระดูกสะโพกเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต การลื่นล้มมักเกิดขึ้นในที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในห้องน้ำและบันได พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่กระดูกหักในครั้งแรกไม่เคยตรวจหรือรักษาโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุที่เคยหกล้มในครั้งแรกมีแนวโน้มที่จะหกล้มเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า

นอกจากนี้มีผู้ป่วยกระดูกหักจากการลื่นล้มที่บ้านเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีโรคประจำตัวซึ่งได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคหัวใจ บางรายมีไตวายเรื้อรัง ดังนั้นจึงทำให้การดูแลรักษาซับซ้อนมากขึ้น และขณะอยู่ในโรงพยาบาลก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ปอดบวม ติดเชื้อในระบบต่าง ๆ เป็นต้น


ป้องกันการลื่นล้ม

แนวทางการป้องกันการลื่นล้มอาจทำได้โดย

  1. ส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้สูงวัย เช่น ฝึกเดินที่ถูกต้อง การส่งเสริมกำลังของกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกาย ฝึกกระดกข้อเท้าขึ้น
  2. การใช้อุปกรณ์ที่ช่วยเดิน เช่น คอกอะลูมิเนียมที่มี 4 ขา หรือไม้เท้า
  3. ปรับพฤติกรรมส่วนตัว เช่น ลุกขึ้นยืนช้า ๆ มองหาวัตถุรอบตัวที่สามารถจับยึดได้ในกรณีฉุกเฉิน
  4. ไม่เดินเข้าไปในบริเวณที่เปียกน้ำ
  5. ดูแลความปลอดภัยในบ้าน ผู้ป่วยที่มีการหกล้มแล้วก็มีแนวโน้มที่จะหกล้มได้อีกจึงควรค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจต้องแก้ไข เช่น
  • ติดตั้งหลอดไฟบริเวณมุมมืดที่เดินผ่านบ่อย ๆ
  • เตียงนอน เก้าอี้ และโถส้วม ควรมีความสูงพอเหมาะ
  • วัสดุที่ใช้ปูพื้นเป็นชนิดไม่ลื่น
  • มีราวเกาะข้างฝาและบริเวณที่ต้องลุกอย่างมั่นคง
  • ใช้โถส้วมแบบชักโครก
  • ห้องอาบน้ำมีที่นั่งขณะอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้า
  • จัดวางของใช้ให้หยิบจับง่ายในระดับข้อศอก
  • ห้องนอนและห้องนั่งเล่นควรจัดของใช้ให้เป็นระเบียบ หยิบจับง่าย
  • ไม่มีของเกะกะ ตามพื้นห้องโดยเฉพาะสายไฟ
  • จัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอโดยเฉพาะทางเดินไปห้องน้ำ
  • ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดินในห้องนอนและห้องน้ำให้โล่ง
  • ไม่มีหยดน้ำตามทางเดิน
  • เคลื่อนไหวหรือลุกจากเตียงอย่างช้า ๆ
  • ในห้องครัวควรจัดของข้าว/เครื่องปรุงให้ง่ายต่อการใช้
  • เก็บของใช้ที่หนักไว้ในที่ต่ำ
  • เลี่ยงการขัดเงาที่พื้นห้อง
  • หลีกเลี่ยงการใช้บันได ถ้าจำเป็นต้องใช้บันไดต้องมีความมั่นคง มีความกว้างพอดี ไม่รีบขึ้น/ลงบันได

ประเมินความเสี่ยงอุบัติเหตุ

ลูกหลานควรตรวจประเมินความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ เช่น

  • สังเกตอาการและความผิดปกติของการมองเห็นของผู้สูงวัย
  • สังเกตอาการและความผิดปกติของการเดิน การทรงตัว เนื่องจากผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่ควบคุมการทรงตัวของระบบอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ทำให้สมดุลในการทรงตัวบกพร่อง
  • สังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ และบุคคล เป็นต้น รวมทั้งมีการรับรู้ ตัดสินใจ หรือตอบสนองได้ช้าลง
  • ทบทวนและปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม
  • หมั่นคอยประเมินสภาพบ้านที่อยู่อาศัย ทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน

นอกจากการตรวจประเมินเบื้องต้นที่อาศัยความใส่ใจของลูกหลาน ทางศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูกรุงเทพ ยังมีเครื่องมือและการตรวจประเมินเฉพาะเพื่อประเมินความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ โดยจะครอบคลุมทั้งในเรื่องของ ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น การทรงตัว ความสามารถในการเคลื่อนไหว และการรับรู้ทางสติปัญญา โดยมีเครื่องมือและแบบทดสอบในการตรวจประเมิน ได้แก่

  1. ความแข็งแรง : Trendelenberg test
  2. ความยืดหยุ่น : sit and reach test
  3. กระบวนการรับรู้ : Vienna test
  4. การเคลื่อนไหว : time up and go test (TUG)
  5. การทรงตัว : Balance Master(Keith’s protocol)

ซึ่งการตรวจประเมินดังกล่าวจะทำโดยผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ มีการแปลผลตามมาตรฐานสากล เพื่อนำผลที่ได้ไปบอกถึงความเสี่ยงและยังเป็นแนวทางในการ training ผู้สูงอายุอีกด้วย การออกกำลังกายเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ มีแม่แบบมาจาก Otago exercise program ที่มีหลักการมาจากปัจจัยเสี่ยงทางกายภาพที่สำคัญในการพลัดตกหกล้ม ได้แก่ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น การทรงตัวและความไวในการตอบสนอง ฝึกฝนได้ง่าย และสามารถป้องกันและลดอัตราการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุได้ อีกทั้งยังพบว่าแม้แต่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 90 ปีเมื่อได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้องก็ยังสามารถพัฒนาความแข็งแรงและเสถียรภาพของร่างกายจนมีประสิทธิภาพพอที่จะหลีกเลี่ยงการหกล้มได้

อย่างไรก็ตามลูกหลานและคนในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้านควรระมัดระวัง ทันทีที่ล้มควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่ากระดูกหักหรือไม่โดยเฉพาะกระดูกสะโพกและสมองได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่าคิดไปเองว่าอาการลุกยืนเดินไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามปกติหรือเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า ปัจจุบันโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมีทีมแพทย์ซึ่งมีความชำนาญในสาขาการรักษากระดูกสะโพกหัก พร้อมทั้งจัดทำมาตรฐานแนวทางการดูแลผู้ป่วยสูงอายุกระดูกสะโพกหักขึ้นโดยตรง มีการดูแลจากทีมสหสาขาวิชาชีพ เช่น อายุรแพทย์ผู้สูงอายุ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โภชนากร และนักกายภาพบำบัด ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความพร้อมก่อนการผ่าตัดจากอายุรแพทย์ และการประเมินร่างกายโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ภาวะสับสนเฉียบพลัน ความสามารถในการเคลื่อนไหวและทำกิจวัตร การประเมินเพื่อป้องกันการหกล้ม เป็นต้น และจะได้รับการผ่าตัดรักษาภายในระยะเวลา 36 ชั่วโมง ซึ่งมีการศึกษาแล้วว่าหากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดรักษาในเวลาอันรวดเร็วจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและฟื้นตัวเร็วขึ้น