วัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน

คำทักทายในการพบปะนั้น แต่ก่อนเราใช้ทักกันว่า "ไปไหนมา" แต่ในปัจจุบันนี้เราใช้คำว่า "สวัสดี" ซึ่งพระยาอุปกิตศิลปสารได้บัญญัติใช้เมื่อ พ.ศ. 2480

ในการใช้ภาษาทักทายในการพบปะกันนั้น เรามีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันไปตามฐานะของบุคคล 2 ระดับคือ


1.1 บุคคลที่ต่างระดับกัน

บุคคลที่ต่างระดับกันในที่นี้หมายถึงผู้น้อยกับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ที่ต่างกันด้วย ชาติวุฒิ วัยวุฒิและคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่าง การทักทายกันนั้นผู้น้อยควรทำความเคารพด้วยการยกมือไหว้แสดงมารยาทอันดีงามก่อน แล้วจึงกล่าวคำว่า "สวัสดีครับ (ค่ะ)" ก็เพียงพอแล้ว ผู้ใหญ่ก็จะกล่าวคำ "สวัสดี" ตอบ ถ้ามีความสนิทสนมกันมากผู้ใหญ่ก็อาจตอบว่า "สวัสดีพ่อคุณ" แล้วผู้น้อยจะถามถึงสุขภาพบ้าง เช่น "ท่านสบายดีหรือครับ" ไม่ควรใช้คำที่สนิทสนมเกินควร เช่น กล่าวว่า "แหมท่านดูกระชุมกระชวยอยู่นะครับ" คำกระชุ่มกระชวยนี้แม้ว่าจะมีความหมายตามนัยพจนานุกรมว่ามีอาการกระปรี้กระเปร่า ซึ่งใช้กับผู้ที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงและดูท่าทางว่ามีอายุอ่อนกว่าวัยก็ตาม แต่คำนี้ดูจะเป็นคำที่ถือเอาความสนิทสนมเกินควร ฉะนั้น เราจึงควรใช้คำว่า "ท่านยังสมบูรณ์เหมือนเดิมหรือแข็งแรงเหมือนเดิม" จะดีกว่า


ในการพบปะกันระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่นั้น ผู้น้อยควรระมัดระวังถ้อยคำในการสนทนา คือ

1.1.1 อย่าใช้คำห้วนหรือกระด้าง ซึ่งดูจะเป็นการไม้ให้ความเคารพ เช่น คำอุทานว่า โอ๊ย! วุ้ย! หรือคำพูดห้วนๆ เช่น เปล่า ไม่มี ไม่ใช่ ไม่รู้ ฯลฯ ซึ่งเราควรจะพูดว่า มิได้ หามิได้ หรือ ไม่ทราบ จะดีกว่า


1.1.2 ฝึกพูดคำรับให้เป็นนิสัย เมื่อผู้ใหญ่ถามเราควรตอบรับด้วยคำลงท้ายว่า "ครับ" "ค่ะ" หรือ "ขอรับ" อยู๋เสมอ ซึ่งถ้าไม่ลงท้ายด้วยคำรับแล้วจะดูเป็นการตอบแบบห้วนๆ และขาดหางเสียง


1.1.3 ไม่ควรใช้คำแสลงหรือคำคะนองซึ่งเกิดตามยุคสมัย เช่น คำว่า สน (สนใจ) นิ้ง (ดี) เจ๋ง (แจ่มชัด แน่นอน)


1.2 บุคคลที่เสมอกัน

บุคคลที่เสมอกันนี้ หมายถึง บุคคลที่เสมอกันด้วยชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่าง ในการทักทายก็ควรกล่าวคำว่า "สวัสดี" และฝ่ายใดจะทักทายก่อนก็ได้ ถ้าอยู่ในที่ชุมชนก็ควรสำรวมกิริยามารยาทและระมัดระวังคำพูดในการสนทนา ไม่ควรใช้คำพูดที่แสดงถึงความสนิทสนมจนเกินไป เพราะในที่สนทนานั้นมีผู้อื่นอยู๋่ด้วย ไม่ได้อยู่กัน 2 ต่อ 2 หรือเฉพาะกลุ่มเพื่อนที่สนิทสนมกันเท่านั้น ดังนั้นในการพบปะกับบุคคลที่เสมอกันจึงต้องควรหลีกเลี่ยงการพูดคำหยาบ คำสาบาน คำห้วน และคำสแลง นอกจากนั้นควรใช้คำสรรพนามแทนตัวเองว่าผมหรือดิฉัน แทนคำสรรพนามที่แสดงความสนิทสนมกันเกินไป


2. การใช้ถ้อยคำติดต่อประสานงามหรือขอความช่วยเหลือ

หลักใหญ๋ของการใช้ถ้อยคำเพื่อติดต่อประสานงานหรือการขอความช่วยเหลือ ก็เหมือนกับการใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคลในการพบปะดังกล่าวมาแล้ว แต่การใช้ถ้อยคำในการติดต่อประสานงานหรือขอความช่วยเหลือนั้น เราควรระมัดระวังเกี่ยวกับความสุภาพในการพูดจา ถึงแม้จะอยู่ในฐานะสูงหรือมีหน้าที่การงานสูงกว่าก็ตาม เราไม่ควรใช้สรรพนามว่า อั๊ว ลื้อ หรือใช้คำเป็นทำนองคำสั่ง แต่ควรใช้สรรพนามที่ก่อให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ทำงาน โดยอาจใช้คำสรรพนามว่า ผม พี่ หรือน้องก็ได้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่นับถือกันแบบเครือญาติอยู๋แล้ว เช่น เราจะให้พนักงานพิมพ์ดีดพิมฑ์งานของเรา เราไม่ควรบอกว่า "เอาเรื่องนี้ไปพิมพ์หน่อย อย่าให้ผิดอีกนะ แล้วอย่าไถลไปไหนล่ะ ทำงานให้เสร็จก่อนเที่ยงนะ อั๊วจะเข้าประชุม" ซึ่งคำพูดเหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ทำงาน เราควรใช้คำพูดที่นุ่มนวลกว่า คือ "คุณสนิทกรุณาพิมพ์เรื่องนี้ให้หน่อยเถอะ ให้ว่างจากงานเสียก่อนก็ได้นะ แต่ผมจำเป็นต้องใช้ประกอบในการประชุมบ่ายโมงนี้ ถ้าจะให้เสร็จก่อนได้ก็ดี ขอบใจมาก" หรือเราจะพูดว่า "น้องตอนนี้เหนื่อยไหม พี่วานพิมพ์เรื่องนี้ให้หน่อยเถอะ พี่จำเป็นต้องใช้ในการประชุมบ่ายโมงนี้เสียด้วยซี ช่วยหน่อยเถอะน้อง"


ถ้าหากเป็นการติดต่อประสานงานกับบุคคลที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ความชัดเจนเกี่ยวกับคำพูดเป็นเรื่องสำคัญมาก เราอาจต้องเท้าความเดิมบ้าง เพราะผู้ที่เราไปติดต่อย่อมมีงานมาก และอาจเกิดเป็นความสับสนในเรื่องต่างๆ เช่น เราจะต้องกล่าวว่า "กระผมนาย....................เป็นเลขานุการคุณ....................ผู้จัดการบริษัท....................ครับ ท่านให้ผมมาเรียนถามในเรื่องรถยนต์ที่ท่านติดต่อกับบริษัทเมื่ออาทิตย์ที่แล้วครับ


3. การใช้ถ้อยคำที่คำนึงถึงผู้ฟัง

คนไทยเรามีคำพังเพยอยู๋บทหนึ่งว่า "ให้รู้้จักเอาใจเข้ามาใส่ใจเรา" ซึ่งแสดงว่าคนไทยมีวัฒนธรรมที่ดีงามในอันที่จะคำนึงถึงผู้อื่นเสมอ ถ้อยคำภาษาของไทยไม่เพียงแต่จะสื่อความหมายเท่านั้น ยังมีรสและให้ความรู็สึกอีกด้วย เช่นคำว่า "โกหก" เป็นคำที่มีความหมายค่อนไปทางคำหยาบและคำด่า เราควรใช้คำแทนว่า พูดเท็จ พูดไม่จริงหรือพูดปด เป็นต้น นอกจากนี้เราต้องระมัดระวังในการใช้คำพูดด้วย เพราะคำบางคำจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ เช่น ประโยคที่ว่า "คุณตาป่วยมานานแล้วเมื่ออาทิตย์ก่อนท่านต้องเข้าโรงพยาบาล เราคาดหวังกันว่า เจ็บคราวนี้ท่านจะอยุ่ได้ไม่นาน" คำว่า คาดหวัง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า ผู้พูดต้องการให้คุณตาตายเสียที ฉะนั้นเราจึงควรใช้คำคาดหวังซึ่งให้ความหวังไปในทางที่ดี เช่น "น้องเก๋เป็นคนที่ขยันดูหนังสืออย่างสม่ำเสมอ พวกพี่ๆ คาดหวัง กันว่าน้องเก๋คงจะสอบได้ที่ 1 อีกเช่นเคย"


รวมความว่า การพูดหรือการใช้ถ้อยคำนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้พูดมีวัฒนธรรมสูงต่ำเพียงใด ดังบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนหนึ่งว่า

วัฒนธรรมกับภาษา

วัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน

         เราอาจมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “วัฒนธรรม” กับ “ภาษา” ได้หลายลักษณะด้วยกัน อาจมองในลักษณะ “การใช้ภาษาอย่างมีวัฒนธรรม” หรือ “วัฒนธรรมที่แสดงออกในภาษา” ก็ได้ ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและภาษา เช่น คนจีนเมื่อเวลาพบกันจะถามว่า “เจี๊ยะ ฮ้อ บ่วย” แปลว่า ทานข้าวหรือยัง คือทักกันด้วยเรื่องกิน เพราะเมืองจีนคนมากอาหารการกินอัตคัด เรื่องที่ห่วงใยกันหรือที่ต้องคิดถึงก่อนก็คือเรื่องการกิน หรือเจ้าของบ้านญี่ปุ่น มักจะคะยั้นคะยอให้แขกรับประทานอาหาร เพื่อแสดงความตั้งใจจะเลี้ยงจริงๆและแสดงความเต็มใจต้อนรับ ในขณะที่คนอเมริกันกลับเฉยๆ กับเรื่องการคะยั้นคะยอดังกล่าว ทำให้ดูเหมือนว่าคนอเมริกันไม่ได้ห่วงใยหรือตั้งใจเชิญให้แขกรับประทานอาหารจริง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่สามารถมองเห็นได้จากการใช้ภาษา และเป็นวัฒนธรรมของแต่ละชาติ ที่ทำให้คนชาตินั้นๆ พูดประโยคอะไรหรือไม่พูดประโยคอะไร ซึ่งแต่ละชาติก็มักจะมีความแตกต่างกันไป

การใช้ภาษาสุภาพ-ไม่สุภาพ

 ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่แสดงออกในภาษาหลายประการ ในที่นี้จะกล่าวถึงวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับ คำสุภาพ ไม่สุภาพ ซึ่งปรากฏชัดในการใช้คำราชาศัพท์ ซึ่งมีข้อกำหนดที่เป็นระเบียบแบบแผน เป็นตัวอย่างการใช้ภาษาสุภาพที่ชัดเจน นอกจากนั้นคนไทยยังกำหนดรายละเอียดว่าเรื่องใด ถ้อยคำใดที่ควรพูดหรือไม่ควรพูด หยาบคายหรือสุภาพ เป็นคำพูดอย่างขี้ข้าหรืออย่างผู้ดีอีกด้วย ซึ่งการใช้คำพูดอย่างขี้ข้าหรือผู้ดีในที่นี้ ไม่ได้เป็นการวัดกันด้วยฐานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่วัดกันด้วยวัฒนธรรม วัดกันด้วยความรู้มากกว่าว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด อะไรเสียหาย อะไรไม่เสียหาย

         ในปัจจุบันคนไทยจะคำนึงถึงการใช้ภาษาสุภาพ ไม่สุภาพน้อยลง ทั้งนี้อาจเกิดจากความไม่สนใจ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมในการใช้ภาษาไทยมากนัก อีกทั้งอาจเกิดจากสภาพสังคมที่เร่งรีบในปัจจุบันมีส่วนทำให้คนในสังคมสนใจแต่เฉพาะสารที่ต้องการสื่อเท่านั้น เพราะต้องการความรวดเร็วในการสื่อสาร วัฒนธรรมในการใช้ภาษา โดยเฉพาะการใช้ภาษาสุภาพ ไม่สุภาพ จึงถูกละเลยไป

ทั้งนี้หากการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพนั้น เกิดจากความไม่รู้หรือความสับสน เพราะไม่เคยใช้หรือไม่มีโอกาสใช้ภาษาดังกล่าว ผู้ใช้ก็สามารถเรียนรู้การใช้ภาษาอย่างสุภาพต่อไปได้ แต่การใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ที่เกิดจากเจตนาของผู้ใช้ตั้งใจใช้เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขและควรปรับปรุงเป็นอย่างยิ่ง และผู้ใช้ก็ควรจะปรับเปลี่ยนทัศนคติและทำความเข้าใจภาษาให้ถูกต้องต่อไปด้วยทั้งนี้จะเป็นการช่วยธำรงภาษาไทยอันดีงามไว้ได้ทางหนึ่ง

วัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน

 

ข้อสังเกตเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในการใช้ภาษาบางประการ

๑. ธรรมเนียมไทยถือว่าผู้ใหญ่ล้อเล่นหรือให้ความสนิทสนมกับเด็กนับเป็นการให้ความเมตตา ถ้าเด็กถือเอาความเมตตานั้นเป็นโอกาสให้พูดล้อผู้ใหญ่เล่น แม้จะด้วยความรัก ท่านก็ถือว่าไม่งาม เป็นเรื่องเสียมารยาท เด็กสมัยใหม่มักจะขาดมารยาทข้อนี้ มักไม่รู้จักความพอดี ทำให้พูดล่วงเกินผู้ใหญ่ หรือพูดจาตีเสมอผู้ใหญ่ แม้จะเป็นการพูดโดยไม่ได้มีเจตนาร้ายก็ตาม

      ๒. ธรรมเนียมไทยนั้น ผู้ใหญ่ที่ดีท่านย่อมรู้ตัวว่าท่านทำอะไรดีหรือไม่ ท่านแก้ไขตัวเองได้ ไม่ใช่หน้าที่ผู้น้อยที่จะตำหนิ ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองถ้าท่านทำอะไรผิด ผลงานจะเป็นตัวตำหนิท่านเอง

      ๓. วัฒนธรรมไทยนั้นถือว่าสิ่งที่ไม่งาม สิ่งที่น่ารังเกียจไม่ควรนำมาแสดง การนำสิ่งที่ไม่ดีของผู้อื่นออกมาแสดงนั้น ถือเป็นการประจานผู้อื่น เป็นเรื่องเสียมารยาทอย่างยิ่ง

      ๔. การคำนึงถึงการใช้ภาษาให้สุภาพนั้น บางครั้งทำให้เกิดความฟุ่มเฟือยขึ้น มักเป็นการใช้คำมากแต่กินความน้อย ทั้งนี้เพราะความพยายามสุภาพ และแสดงความเกรงใจจนทำให้ลืมเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารไป เช่นตัวอย่างการเขียนข้อความบอกอาจารย์ของนักศึกษาที่กล่าวว่า “ดิฉันมากราบรบกวนอาจารย์ จะรบกวนถามเรื่อง… ถ้าจะมากราบเรียนอีก อาจารย์จะสะดวกวันไหน โปรดกรุณาเขียนวันที่ให้ทราบด้วย ขอบพระคุณค่ะ” เป็นต้น ในการเขียนนั้นควรเขียนให้กระชับ ตรงไปตรงมาไม่เยิ่นเย้อ และได้สาระสำคัญ ทั้งไม่ควรใช้ภาษาที่ผิดธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมไทยด้วย

ภาษาจึงไม่ใช่แค่เพียงสื่อที่ทำหน้าที่ลำเลียงสารหรือข้อมูลไปยังผู้รับสารเท่านั้น ภาษายังสะท้อนวัฒนธรรมของผู้ส่งสารออกมาด้วยแม้สารจะถูกต้องชัดเจนแต่หากขาดความสุภาพความเหมาะสมต่อสถานการณ์ บุคคล หรือเวลาแล้ว การสื่อสารนั้นก็สัมฤทธิ์ผลได้ยาก

ดังนั้นลองนึกทบทวนสักนิดว่าเราได้ใช้ภาษาสุภาพหรือยัง หากยังควรปรับเปลี่ยนทัศนคติและทำความเข้าใจภาษาให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นท่านอาจเป็นคนหนึ่งที่เพิ่ม “มลพิษทางภาษา” ให้กับสังคมและลูกหลานไทยก็เป็นได้

 

* หมายเหตุ สรุปความและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง “ชมอย่างขี้ข้า ด่าอย่างผู้ดี” “ เขาจะข่มขืนกันทางทีวี” “มลพิษทางภาษา” “ใช้ภาษาอย่าลืมวัฒนธรรมไทย ” จากหนังสือวิพากษ์การใช้ภาษาไทย ของ ศาสตราจารย์ ปรีชา ช้างขวัญยืน และบทความเรื่อง “ฟุ่มเฟือยอย่างสุภาพ” จากหนังสือหนังสือชุดความรู้ภาษาไทย อันดับที่ ๑๗ สมพร จารุนัฎ สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ