สรุป พร บ ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2562

พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562

ในภารกิจ > กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการค้าประเวณี และควบคุมการขอทาน > กฎหมายแม่บท (กฎหมายหลัก) > พระราชบัญญัติ

ชื่อกฎหมาย (ไทย)พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562
ชื่อกฎหมาย (อังกฤษ)
สถานะการใช้บังคับใช้
ดาวน์โหลด
สรุป พร บ ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2562
อาศัยอำนาจกฎหมาย

ประเภทกฎหมายย่อยอาศัยอำนาจ : -

อาศัยอำนาจกฎหมาย : -

กฎหมายลูก -
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เล่มที่ : 136

ตอนที่ : 45ก

วันที่ประกาศ : 07 เม.ย 2562

วันที่ประกาศใช้07 เม.ย 2562
วันที่นำเข้า19 เม.ย 2562
วันที่บังคับใช้08 เม.ย 2562
แก้ไขเพิ่มเติม
คาบ/ข้าม
Version
คำอธิบายกฎหมาย (Explanatory Notes)/สรุปสาระสำคัญ
เอกสารนำเสนอกฎหมาย (Presentation)
คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา
บทความทางวิชาการ/ฐานข้อมูลประวัติกฎหมาย
บทความทางกฎหมาย

ประเทศไทย: กลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว ความพยายามเหล่านี้ประกอบไปด้วยการดำเนินการเพื่อปรับปรุงการประสานงานกับภาคประชาสังคมในการสืบสวนสอบสวนกรณีการค้ามนุษย์และการคุ้มครองผู้เสียหาย การจัดการฝึกอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจให้แก่พนักงานอัยการและผู้พิพากษา ตลอดจนการเริ่มกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ 9 รายที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาใช้ช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง (reflection period) สำหรับผู้เสียหาย และกลไกการส่งต่อระดับประเทศ ตลอดจนจัดตั้งกองบังคับการตำรวจที่ปฏิบัติการปราบปรามการแสวงประโยชน์ทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นว่า มีความพยายามโดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานที่ผ่านมา แม้ว่าจะพิจารณาถึงผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่มีต่อศักยภาพในการปราบปรามการค้ามนุษย์แล้วก็ตาม ทางการเริ่มกระบวนการสืบสวนสอบสวนกรณีการค้ามนุษย์น้อยลง ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาน้อยลง และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2562 แม้ว่าจะมีการรายงานอย่างแพร่หลายว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวมักจะถูกบังคับใช้แรงงานในหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในจำนวนที่ต่ำเมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา เจ้าหน้าที่มักจะขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และรัฐบาลขาดระเบียบปฏิบัติสำหรับพนักงานตรวจแรงงานในการส่งต่อกรณีต้องสงสัยไปยังเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทางการไทยไม่เคยรายงานว่า ได้ระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอันเป็นผลมาจากการตรวจสอบเรือประมงที่ท่าเรือ การให้บริการต่าง ๆ แก่ผู้เสียหายโดยรัฐยังคงไม่เพียงพอ และผู้เสียหายบางส่วนซึ่งพักอยู่ในสถานพักพิงของรัฐขาดเสรีภาพในการเดินทาง การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงขัดขวางความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และรัฐบาลตัดสินเจ้าหน้าที่รัฐที่สมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ว่ามีความผิดจำนวน  5 รายในปี 2563 ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงถูกลดระดับมาอยู่ใน “กลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง”

ข้อเสนอแนะสำคัญ

ไทยควรพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเชิงรุก และระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยรวมถึงการสรุปแนวทางปฏิบัติตามมาตรา 6/1 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า คณะสหวิชาชีพประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์การทำงานในคดีค้ามนุษย์อย่างเพียงพอเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการระบุผู้เสียหาย ไทยควรสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีในเชิงรุกต่อเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ และดำเนินการพิพากษาและลงโทษผู้ที่พบว่ามีความผิดจริงอย่างเหมาะสม ไทยควรอนุญาตให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ สามารถเดินทางเข้าออกสถานพักพิง และเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้โดยเสรีมากขึ้น รวมทั้งทบทวนการจัดให้ผู้เสียหายอยู่ในสถานพักพิงเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้เสียหายจะไม่ต้องคงอยู่ในสถานพักพิงนานเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานในคดีค้ามนุษย์เป็นผู้มีประสบการณ์ โดยรวมถึงการพัฒนาศักยภาพของกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ในการช่วยเหลือหน่วยงานในท้องถิ่นที่ไม่มีประสบการณ์ในการสืบสวนกรณีการค้ามนุษย์ ไทยควรขยายระยะเวลาที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องระบุผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เวลากับผู้เสียหายในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐ ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจากการถูกแสวงประโยชน์ และบอกเล่าประสบการณ์ของตนกับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า สถานพักพิงของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐให้การดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจอย่างเพียงพอและเฉพาะแต่ละบุคคล เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการดูแลทางจิตใจ นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐเพื่อให้แน่ใจว่า มีการสืบสวนสอบสวนการละเมิดแรงงานและคำร้องเรียนของแรงงานต่างด้าวซึ่งมีข้อบ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน เพื่อตรวจหาอาชญากรรมการค้ามนุษย์ โดยรวมถึงการกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่แรงงานในการส่งต่อกรณีต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงานไปยังคณะสหวิชาชีพและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ไทยควรพิจารณาให้มีทางเลือกตามกฎหมายแทนการจัดให้ผู้เสียหายชาวต่างชาติอยู่ในสถานพักพิง เช่น อนุญาตให้ผู้เสียหายออกจากระบบสถานพักพิงได้เมื่อพร้อมหาโอกาสการจ้างงานภายนอก ไทยไม่ควรกำหนดให้มีการระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการและอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าถึงบริการต่าง ๆ เฉพาะเมื่อผู้เสียหายเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวนนักค้ามนุษย์ที่กระทำผิดต่อตนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้เสียหายเตรียมตัวเพียงพอสำหรับการดำเนินคดีในศาล โดยรวมถึงการเพิ่มการเข้าถึงพนักงานอัยการหรือการร่วมงานกับองค์กรนอกภาครัฐเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เสียหาย ไทยควรส่งเสริมอย่างต่อเนื่องให้ผู้พิพากษาในคดีค้ามนุษย์ใช้แนวทางที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นหลักและคำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย ไทยควรบังคับให้มีการจ่ายค่าแรงอย่างสม่ำเสมอ มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าธรรมเนียมจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าว และให้ลูกจ้างเป็นผู้ถือครองเอกสารประจำตัวและเอกสารทางการเงินของตนเอง ไทยควรเพิ่มความพยายามในการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า นายจ้างจัดทำสำเนาของสัญญาเป็นภาษาที่แรงงานเข้าใจได้ นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้เสียหายและกลุ่มสนับสนุนผู้เสียหายรายงานอาชญากรรมการค้ามนุษย์ได้ โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกนายจ้างฟ้องเท็จเพื่อแก้แค้น รวมไปถึงการใช้กฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อยกฟ้องคดีที่มีการยื่นคำร้องโดยมีเจตนาไม่สุจริต หรือเพื่อข่มขู่จำเลย

การดำเนินคดี

รัฐบาลลดความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ มาตรา 6 ของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ระบุว่า การค้ามนุษย์ทางเพศและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นความผิดอาญา อีกทั้งยังกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 4-12 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-1,200,000 บาท (13,370-40,110 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ และกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 6-20 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000-2,000,000 บาท (20,050-66,840 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็ก บทลงโทษดังกล่าวเข้มงวดเพียงพอ และสำหรับกรณีการค้ามนุษย์ทางเพศ บทลงโทษนี้เทียบเท่าได้กับบทลงโทษสำหรับความผิดอาชญากรรมร้ายแรงอื่น ๆ เช่น การข่มขืน พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 แยกบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับ “การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ” ออกมาอยู่ภายใต้มาตรา 6/1 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี ปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท (1,670-13,370 เหรียญสหรัฐ) ต่อผู้เสียหาย 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ บทบัญญัตินี้กำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้านแรงงานน้อยกว่าโทษที่มีอยู่แล้วตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ยังรายงานว่า มาตรา 6/1 สร้างความสับสนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่สอบสวนการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ

ในระหว่างการใช้มาตรการจำกัดการออกนอกเคหสถาน (lockdown) เนื่องจากโรคระบาด ศาลไม่ได้เปิดทำการเต็มเวลาและได้เลื่อนการสืบพยานในหลายคดีออกไปอย่างน้อย 2 เดือน ศาลอนุญาตให้พยานบางรายให้การผ่านระบบวิดีโอออนไลน์ได้ อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากด้านเทคนิคส่งผลให้การพิจารณาคดีมีความล่าช้า การปิดพรมแดนและข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศเนื่องจากโรคระบาด รวมถึงการลดลงที่ตามมาของจำนวนผู้เข้าเมืองและนักท่องเที่ยวตลอดช่วงการรายงานนี้ น่าจะส่งผลให้กรณีการค้ามนุษย์บางรูปแบบลดน้อยลง แต่ก็เป็นการลดความสามารถของรัฐบาลในการตรวจสอบการกระทำผิดด้วยเช่นกัน ในปี 2563 รัฐบาลรายงานว่า มีการสืบสวนกรณีต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์ 132 คดี (เทียบกับ 288 คดีในปี 2562) ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 302 ราย (เทียบกับ 386 รายในปี 2562) และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ 233 ราย (เทียบกับ 304 รายในปี 2562) ศาลพิพากษาให้ประมาณร้อยละ 76 ของนักค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ในช่วงการรายงานที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมักจะรวมกรณีการค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมืองไว้ด้วยกัน ซึ่งมีส่วนทำให้พนักงานอัยการที่ได้รับส่งต่อคดีมาปฏิเสธที่จะดำเนินคดีค้ามนุษย์ในอัตราที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยลงในปี 2563 สำนักงานคดีค้ามนุษย์ของสำนักงานอัยการสูงสุดไม่พบหลักฐานการค้ามนุษย์ที่เพียงพอในประมาณร้อยละ 7 ของคดีที่มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยและส่งต่อให้กับหน่วยโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 18 ในปี 2562 จำนวนการสืบสวนสอบสวนกรณีการค้ามนุษย์ทางเพศลดลงจาก 185 คดีในปี 2562 เป็น 118 คดีในปี 2563 อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า คำพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ทางเพศที่มีบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ ได้ยับยั้งการกระทำผิดในกลุ่มเจ้าของบาร์ ร้านอาหาร สถานอาบอบนวด และสถานประกอบกิจการอื่น ๆ รัฐบาลและองค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มีการแสวงประโยชน์ทางเพศทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็ก เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการรายงานนี้ ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ได้รับเบาะแสจากองค์กรนอกภาครัฐแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ กว่า 260,000 เรื่องเกี่ยวกับกรณีต้องสงสัยคดีเด็กถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับประมาณ 117,000 เรื่องในปี 2562 นอกจากนี้ TICAC ได้สืบสวนสอบสวนกรณีการกระทำความผิดต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต 94 คดี ในปี 2563 (เทียบกับ 77 คดีในปี 2562) ซึ่งรวมถึงกรณีการค้ามนุษย์ทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต 22 คดี (เทียบกับ 26 คดีในปี 2562) เมื่อเดือนกันยายน 2563 TICAC ได้กลายเป็นหน่วยงานถาวรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงาน 17 นาย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังรายงานว่ามีการสืบสวนกรณีต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 14 คดี (ในจำนวนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับภาคการประมง 2 คดี) ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับ 77 คดีในปี 2562 องค์กรนอกภาครัฐตั้งข้อสังเกตว่า การขาดการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีอย่างเหมาะสมกรณีการค้ามนุษย์ด้านแรงงานส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่มักจะไม่เข้าใจว่า จะใช้มาตรา 6 และ 6/1 อย่างไรในคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน หลังการประกาศใช้มาตรา 6/1 เมื่อปี 2562 กระทรวงแรงงานมีหน้าที่ร่างแนวทางปฏิบัติ ทว่ายังไม่ได้ดำเนินการ จึงส่งผลให้ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการตีความและนำใช้กฎหมายดังกล่าวไปใช้ ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมักจะไม่สืบสวนคดีอย่างเต็มที่ จึงไม่สามารถพิสูจน์ว่า มีการยึดเอกสารหรือใช้หนี้สินเพื่อเป็นหนทางในการบีบบังคับให้บุคคลต้องทำงาน เจ้าหน้าที่แรงงานไม่ได้ส่งต่อกรณีต้องสงสัยคดีบังคับใช้แรงงานให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายโดยสม่ำเสมอ และไม่มีระเบียบปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่แรงงานในการดำเนินการดังกล่าว เจ้าหน้าที่บางคนลังเลที่จะติดตามคดีเหล่านี้เนื่องจากความซับซ้อนของคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานตรวจแรงงานไม่ได้ตรวจสอบรายงานการถูกแสวงประโยชน์ของแรงงานต่างด้าวอย่างเต็มที่โดยสม่ำเสมอเพื่อหาข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ และมักจะระบุคดีค้ามนุษย์เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานโดยไม่ติดตามดำเนินคดีอาญากับนักค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ในบางครั้ง ทางการยังกดดันหรือข่มขู่ให้แรงงานถอนฟ้อง เจ้าหน้าที่รัฐมักจะปล่อยให้เป็นภาระของแรงงานในการพิสูจน์ว่าตนเองถูกแสวงประโยชน์ และสนับสนุนให้พวกเขาไกล่เกลี่ยกับนายจ้างอย่างไม่เป็นทางการ แม้ว่าจะมีข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์หรือการละเมิดอย่างเด่นชัด เช่น การยึดเอกสารประจำตัวและการไม่ให้เงินค่าจ้าง ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่แรงงานและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต่างฝ่ายต่างสืบสวนสอบสวนการละเมิดแรงงานและการละเมิดทางอาญาในคดีเดียวกัน แทนที่จะประสานงานและสืบสวนสอบสวนร่วมกัน ซึ่งบางครั้งส่งผลเสียต่อความสำเร็จในการดำเนินคดีอาญา นอกจากนี้ การสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ตำรวจบ่อยครั้งยังส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์การทำงานในคดีค้ามนุษย์ถูกสับเปลี่ยนออกไปจากตำแหน่ง และมักจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งขาดความชำนาญมาทำหน้าที่แทน

ผู้ให้ข้อมูลรายงานว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายใช้ผลจากการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหายเป็นตัวตัดสินสุดท้ายว่ามีกรณีการค้ามนุษย์อยู่จริงหรือไม่ การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาเนื่องจากการสัมภาษณ์เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นก่อนผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายมีเวลาเพียงพอในการฟื้นฟูจากการถูกแสวงประโยชน์ อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้เสียหายสามารถจดจำได้หรือเต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูล พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ประสานงานกันอย่างเสมอต้นเสมอปลายในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนของการดำเนินคดี ซึ่งบางครั้งส่งผลให้การดำเนินคดีค้ามนุษย์ล้มเหลวในชั้นศาล ในเดือนมีนาคม 2564 สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานระหว่างพนักงานอัยการ ผู้เสียหาย และหน่วยงานต่าง ๆ โดยให้อยู่ภายใต้สำนักงานคดีค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 2564 สำนักงานคดีค้ามนุษย์ยังได้ดำเนินการศึกษาเพื่อประเมินการดำเนินคดีค้ามนุษย์ ซึ่งจะนำไปใช้พัฒนายุทธศาสตร์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการดำเนินคดี ผู้เสียหายบางรายลังเลที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินคดีเพราะกลัวถูกกักตัวและต้องอยู่ในสถานพักพิงเป็นเวลานาน ขาดบริการที่เพียงพอ รวมทั้งกลัวถูกนักค้ามนุษย์แก้แค้น ศาลไทยพยายามที่จะช่วยให้ผู้เสียหายเต็มใจเป็นพยานให้การมากยิ่งขึ้น โดยยอมให้นำคำให้การล่วงหน้าและคำให้การที่อยู่ในรูปแบบวิดีโอมาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี ศาลดำเนินการไต่สวนพยานล่วงหน้า 11 ครั้งสำหรับพยาน 67 รายในปี 2563 ศาลอาญาจัดห้องแยกต่างหากให้ผู้เสียหายที่เป็นเด็กได้ให้การผ่านระบบวิดีโอในระหว่างการดำเนินคดี นอกจากนี้ ทางการไทยยังทำงานร่วมกับทางการของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ได้คำให้การจากพยานที่อยู่นอกประเทศไทย แม้ว่าองค์กรนอกภาครัฐในประเทศบางแห่งได้รายงานก่อนหน้านี้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการในท้องถิ่นจะไม่เต็มใจดำเนินการดังกล่าว พนักงานอัยการทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐในการเตรียมตัวผู้เสียหายเพื่อให้การเป็นพยาน และศาลอนุญาตให้ทนายความขององค์กรนอกภาครัฐทำหน้าที่โจทก์ร่วมได้ในบางคดีเพื่อสนับสนุนผู้เสียหายในทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุดไม่มีศักยภาพที่เพียงพอในการทำให้พนักงานอัยการสามารถพบปะและเตรียมตัวผู้เสียหายทุกรายได้ก่อนการพิจารณาคดีในศาล และองค์กรนอกภาครัฐแนะนำให้เพิ่มการประสานเชื่อมโยงผู้เสียหายเข้ากับองค์กรนอกภาครัฐหรือทนายความเอกชนเพื่อให้การสนับสนุนดังกล่าว สถานพักพิงของรัฐช่วยให้ผู้เสียหายสามารถใช้ศาลจำลองเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาลต่อหน้านักค้ามนุษย์ของตน อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวมักจะเป็นเพียงการอธิบายถึงขั้นตอนในศาลและแผนผังห้องพิจารณาคดีเท่านั้น รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 4.8 ล้านบาท (160,430 เหรียญสหรัฐ) โดยประมาณในการให้บริการคุ้มครองพยาน 51 รายในคดีค้ามนุษย์ในปี 2562 เทียบกับ 2.4 ล้านบาท (80,210 เหรียญสหรัฐ) สำหรับพยาน 93 รายในปี 2562

รัฐบาลดำเนินงานแผนกคดีค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะในศาลอาญากรุงเทพ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ คณะทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย (TATIP) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนคดีที่มีความซับซ้อน และประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ และตัวแทนองค์กรนอกภาครัฐ ผู้สังเกตการณ์บางรายกล่าวว่า บางครั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการค้ามนุษย์และระบุผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นที่ขาดประสบการณ์การทำงานในคดีค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการตอบสนองต่อคดีค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงต่อตำรวจท้องถิ่นที่ขาดความชำนาญ แม้ว่าการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานจะมีประสิทธิผลในเมืองใหญ่ แต่ในบางจังหวัด ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า หน่วยงานต่าง ๆ และภาคประชาสังคมมีการสื่อสารที่ไม่ดี สำนักงานอัยการสูงสุดร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความร่วมมือในคดีค้ามนุษย์ ซึ่งส่งผลให้มีการกำหนดบุคคลติดต่อภายในสำนักงานอัยการสูงสุดที่องค์กรนอกภาครัฐสามารถประสานงานด้วยได้ นอกจากนี้ DSI ยังจัดการประชุมกับองค์กรภาคประชาสังคมหลายครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาการทำงานร่วมกันในการสืบสวนสอบสวนและคุ้มครองผู้เสียหาย ในปี 2563 ศาลออกคำสั่งริบทรัพย์มูลค่าประมาณ 10.6 ล้านบาท (354,280 เหรียญสหรัฐ) ในคดีค้ามนุษย์ 20 คดีที่ฟ้องร้องโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยยังคงจัดให้มีการประชุมทวิภาคีร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลและรวบรวมหลักฐานในคดีค้ามนุษย์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายยังร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศเพื่อสืบสวนสอบสวนการค้ามนุษย์ที่มีผู้เสียหายเป็นชาวไทยในต่างประเทศอีกด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการประจำปีให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีประสบการณ์ในการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ตลอดจนจัดการสัมมนาเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนและระบุผู้เสียหายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไป ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมการประชุมและการสัมมนาดังกล่าว 580 นายในปี 2563 นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังจัดให้มีการสัมมนาเกี่ยวกับการใช้แนวทางที่คำนึงถึงบาดแผลทางใจในการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์ให้แก่ผู้บังคับการตำรวจ เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงแรงงาน ตลอดจนตัวแทนจากภาคประชาสังคม สำนักงานอัยการสูงสุดร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดำเนินงานโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจในคดีค้ามนุษย์ให้แก่พนักงานอัยการ 23 คนในเดือนกรกฎาคม 2563 DSI และกระทรวงมหาดไทยจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก รวมถึงการค้ามนุษย์ทางอินเทอร์เน็ต โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานของไทยตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างชาติเข้าร่วม ศาลยุติธรรมร่วมมือกับรัฐบาลต่างชาติจัดการประชุมโต๊ะกลมกับผู้พิพากษาและพนักงานอัยการจำนวน 49 คนเพื่อแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ดีในการดำเนินคดีค้ามนุษย์และใช้แนวทางที่คำนึงถึงบาดแผลทางใจกับผู้เสียหายที่มีส่วนในกระบวนการทางศาล นอกจากนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมยังได้จัดสัมมนาขึ้น 3 ครั้งเกี่ยวกับประเด็นพยานหลักฐานในคดีค้ามนุษย์สำหรับผู้พิพากษาในจังหวัดเชียงราย ตรัง และอุดรธานี แม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามในการเปลี่ยนไปจัดการฝึกอบรมบางหลักสูตรทางออนไลน์เนื่องจากโรคระบาด แต่ก็ไม่ได้จัดการอบรมหลายหลักสูตรในปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ยังรายงานว่า การฝึกอบรมมักจะเข้าไม่ถึงเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้แรงงาน

การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐเอื้ออำนวยให้เกิดการค้ามนุษย์และยังคงขัดขวางความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ องค์กรนอกภาครัฐทราบถึงการทุจริต จึงลังเลที่จะร่วมงานกับรัฐบาลหรือหน่วยงานบางหน่วยงานในบางคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายอาจจงใจทำให้การสืบสวนสอบสวนล้มเหลว และไม่ได้ให้หลักฐานเพียงพอต่อพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบางรายลังเลที่จะสอบสวนเจ้าของเรือและไต้ก๋งที่มีอิทธิพล รวมทั้งผู้กระทำผิดที่เป็นหรือมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ DSI ไม่จำนนต่อการข่มขู่โดยผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ ตัวอย่างเช่น ในเดือนธันวาคม 2563 DSI จับกุมเจ้าของเรือที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นในข้อหาค้ามนุษย์ รองนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ดำเนินการเพื่อให้รางวัลกับเจ้าหน้าที่ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ และทำงานร่วมกับสื่อมวลชนเพื่อรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานปราบปรามการค้ามนุษย์ หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครเมื่อเดือนธันวาคม 2563 นายกรัฐมนตรีสั่งให้ตำรวจจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ในการลักลอบขนแรงงานเข้าเมือง ซึ่งนำไปสู่การสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐ 33 ราย

ทางการรายงานว่า มีการเริ่มกระบวนการสืบสวนสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมค้ามนุษย์จำนวน 9 รายในปี 2563 เมื่อเทียบกับ 2 รายในปี 2562 ในจำนวน 9 รายนี้ มี 1 รายยังคงอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและ DSI ได้ดำเนินการสืบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 8 ราย และพนักงานอัยการพบหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 2 ราย รัฐบาลรายงานว่า เจ้าหน้าที่ 6 รายถูกพบว่าละเลยต่อหน้าที่และต้องโทษทางวินัย ในคดีที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ ทางการได้เริ่มดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดไปแล้ว 8 ราย และดำเนินการพิพากษาและลงโทษจำคุกจำนวน 5 รายในปี 2563 (เทียบกับ 14 รายในปี 2562) สำนักงาน ปปง. ออกคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านบาท (40,110 เหรียญสหรัฐ) จากเจ้าหน้าที่ 2 รายในคดีค้ามนุษย์ในปี 2563 ในจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐ 73 รายที่ทางการได้สืบสวนกรณีสมรู้ร่วมคิดนับตั้งแต่ 2555 มี 8 รายยังคงอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน, 4 รายอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ, 8 รายอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น, 32 รายอยู่ระหว่างการอุทธรณ์, 8 รายอยู่ระหว่างการจำคุก, 11 รายที่ศาลตัดสินให้พ้นผิด และ 2 รายหนีการจับกุม ทางการใช้การลงโทษทางปกครองกับเจ้าหน้าที่บางคนที่ต้องสงสัยสมรู้ร่วมคิด แทนที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีทางอาญา

การคุ้มครอง

รัฐบาลลดความพยายามในการระบุและคุ้มครองผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ระบุผู้เสียหายในปี 2563 น้อยลงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังคงไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงาน ทางการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 230 รายในปี 2563 เมื่อเทียบกับประมาณ 868 รายในปี 2562 และ 631 รายในปี 2561 ในจำนวนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 230 รายที่ทางการไทยได้ระบุนั้น มี 81 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทย เลือกที่จะไม่พักอยู่ในสถานพักพิงของรัฐ ขณะที่ผู้เสียหาย 8 รายพักอยู่ในสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐ ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 148 รายที่กระทรวง พม. รายงานว่าให้การช่วยเหลือในสถานพักพิงของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐ (ลดลงอย่างมากจาก 610 รายในปี 2562) ประกอบไปด้วยผู้เสียหายชาวไทย 77 ราย และชาวต่างชาติ 71 ราย เป็นผู้เสียหายชาย 57 รายและหญิง 91 ราย และเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศ 78 ราย และค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 70 ราย (เทียบกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศ 170 รายและค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 440 รายในปี 2562) รัฐบาลไม่ได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองคัดกรองผู้อพยพในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่ในปี 2563 เมื่อเทียบกับ 7,156 รายที่คัดกรองในปี 2562 ในช่วงการรายงานที่ผ่านมา องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ทางการลดความพยายามในการร่วมมือกับพวกเขาเพื่อคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกลุ่มประชากรนี้

คณะสหวิชาชีพซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐ ใช้แนวทางการคัดกรองมาตรฐานเพื่อระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการและส่งตัวเข้ารับบริการต่าง ๆ กระบวนการระบุผู้เสียหายของคณะสหวิชาชีพยังคงมีประสิทธิผลแบบไม่คงเส้นคงวาใน 76 จังหวัดของไทย โดยส่วนหนึ่งมีเหตุผลเนื่องมาจากการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในเจ้าหน้าที่บางราย ในบางกรณี องค์กรภาคประชาสังคมรายงานว่า ได้ระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกลุ่มคนที่เจ้าหน้าที่รัฐได้คัดกรองแต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รัฐบาลอาศัยคณะสหวิชาชีพในการยืนยันว่าบุคคลหนึ่งเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยคณะดังกล่าวบางครั้งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ประจำจังหวัด และเจ้าหน้าที่แรงงานในท้องถิ่นที่ไม่มีประสบการณ์อย่างเพียงพอในการทำงานในคดีค้ามนุษย์ การสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ตำรวจบ่อยครั้งยังส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ทำงานในคดีค้ามนุษย์ถูกสับเปลี่ยนออกไปจากตำแหน่ง และมักจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งขาดความชำนาญมาทำหน้าที่แทน ส่งผลให้คณะสหวิชาชีพบางคณะไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ามนุษย์ประจำการอยู่อย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่รัฐบางคนดำเนินการสัมภาษณ์ผู้เสียหายด้วยวิธีที่บั่นทอนความสามารถในการให้การเกี่ยวกับการถูกแสวงประโยชน์ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่อนุญาตให้นายจ้างของผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายเข้าฟังการสัมภาษณ์ผู้เสียหายได้ การสัมภาษณ์โดยคณะสหวิชาชีพในบางครั้งมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมจำนวนมากเกินไป และขาดการประสานงานกันอย่างเพียงพอระหว่างเจ้าหน้าที่ขณะสัมภาษณ์ นอกจากนี้ ในบางครั้ง คณะสหวิชาชีพยังลังเลที่จะระบุผู้เสียหายหากการดำเนินคดีมีท่าทีว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายมองข้ามกรณีการค้ามนุษย์ที่ไม่ปรากฏการใช้กำลังหรือข้อบ่งชี้ว่ามีการบีบบังคับอย่างชัดเจน เช่น กรณีการจ่ายค่าจ้างล่าช้าหรือไม่จ่ายค่าจ้าง การบีบบังคับด้วยหนี้ และการยึดเอกสารของผู้เสียหาย รายงานอย่างไม่เป็นทางการยังชี้ด้วยว่า เจ้าหน้าที่รัฐบางรายลังเลที่จะรับเรื่องร้องเรียนหรือระบุผู้เสียหาย เนื่องจากกังวลว่าการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นจะสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไร้ความสามารถหรือรัฐล้มเหลวในความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ รัฐบาลยังคงแจกจ่ายคู่มือที่ตีพิมพ์เป็น 7 ภาษา มีเนื้อหาให้ความรู้ผู้เสียหายเกี่ยวกับสิทธิของตนภายใต้กฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงการเข้าถึงบริการต่าง ๆ

มาตรา 29 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์กำหนดให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มาอยู่ในความคุ้มครองของรัฐได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง หรือมากถึง 8 วันตามคำอนุญาตของศาล ในระหว่างนั้น คณะสหวิชาชีพดำเนินการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหาย และคณะสหวิชาชีพจำเป็นต้องระบุว่า บุคคลนั้น ๆ เป็นผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ จึงจะได้รับสิทธิตามกฎหมายเพื่อรับบริการต่าง ๆ รวมถึงการเข้าถึงสถานพักพิงของรัฐสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การกระทำดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้เสียหายบางรายที่ขาดความพร้อมทางร่างกายหรือจิตใจสำหรับกระบวนการระบุผู้เสียหายของคณะสหวิชาชีพเพื่อรับบริการต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากผู้เสียหายไม่ได้มีช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรองที่เหมาะสม และไม่มีสถานที่ซึ่งสามารถเข้าถึงบริการของรัฐที่จะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้มั่นคงได้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อใจกับผู้เสียหาย รวมถึงไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอที่จะใช้ระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการและสนับสนุนให้ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวน ดังนั้น ผู้เสียหายจึงมักเสาะหาความช่วยเหลือชั่วคราวจากองค์กรนอกภาครัฐก่อนที่จะพร้อมเข้ารับการสัมภาษณ์โดยคณะสหวิชาชีพ โดยที่องค์กรนอกภาครัฐไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ในช่วงการรายงานนี้ รัฐบาลได้สร้างคณะทำงานเพื่อพิจารณาใช้กลไกการส่งต่อระดับประเทศและช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรองสำหรับผู้เสียหาย โดยคณะทำงานดังกล่าวมีบุคลากรจากองค์กรภาคประชาสังคมร่วมด้วย

รัฐบาลยังคงส่งต่อผู้เสียหายที่คณะสหวิชาชีพได้ระบุสถานะอย่างเป็นทางการแล้วไปยังสถานพักพิงของรัฐ เพื่อรับการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การดูแลทางการแพทย์ ค่าสินไหมทดแทน ความช่วยเหลือทางการเงิน การคุ้มครองพยาน การศึกษาหรือการฝึกอาชีพ ตลอดจนโอกาสการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ทางการได้กำหนดว่า ผู้เสียหายจะเข้าถึงบริการบางอย่างได้ต่อเมื่อยินดีที่จะมีส่วนในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น รัฐบาลให้ความช่วยเหลือในการส่งตัวผู้เสียหายบางรายกลับประเทศ ไม่ว่าพวกเขาจะมีส่วนในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหรือไม่ กระทรวง พม. บริหารจัดการสถานพักพิงระยะสั้น 76 แห่ง และสถานพักพิงระยะยาว 9 แห่งในภูมิภาคสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในจำนวนนี้ เป็นสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายชายและครอบครัว 4 แห่ง สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายหญิง 4 แห่ง และสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กชาย 1 แห่ง เฉพาะผู้เสียหายต่างชาติที่มีวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานที่ยังไม่หมดอายุ ณ เวลาที่ระบุสถานะเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้พำนักนอกสถานพักพิงของรัฐได้ในระหว่างการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ ในบางครั้ง ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลต่างชาติผิดกฎหมายต้องคงอยู่ในสถานพักพิงของรัฐระหว่างที่รัฐบาลดำเนินการออกใบอนุญาตให้พำนักและทำงานในไทยได้เป็นการชั่วคราว ในบางกรณี หลังจากได้ใบอนุญาตแล้ว ผู้เสียหายยังต้องอยู่ในสถานพักพิงของรัฐ สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของกระทรวง พม. ไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายบางราย ซึ่งรวมไปถึงผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ ออกนอกสถานพักพิงโดยไม่ได้รับอนุญาตและจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปเท่านั้น เฉพาะผู้เสียหายที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกสถานพักพิงเท่านั้นจึงจะสามารถออกนอกสถานพักพิงเป็นประจำเพื่อไปทำงานได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เสียหายมักจะต้องพำนักในสถานพักพิงจนกว่าการดำเนินคดีหรือการให้การล่วงหน้าเกี่ยวกับนักค้ามนุษย์จะสิ้นสุดลง แม้ว่าพวกเขาพร้อมที่จะออกจากระบบสถานพักพิงแล้วทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่สถานพักพิงยังกำหนดให้ผู้เสียหายต้องขออนุญาตก่อนโทรศัพท์พูดคุยเรื่องส่วนบุคคล อีกทั้งมักจะคอยฟังบทสนทนาของผู้เสียหายด้วย แม้ว่าสถานพักพิงบางแห่งจะอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าถึงโทรศัพท์ได้เป็นประจำ แต่มีรายงานว่า มีระเบียบปฏิบัติให้ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัวของผู้เสียหายเมื่อพวกเขาเข้ามาในสถานพักพิง และในบางกรณี เจ้าหน้าที่สถานพักพิงไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายแจ้งให้ครอบครัวทราบถึงตำแหน่งที่อยู่และสถานะของตนโดยทันที รัฐบาลรายงานว่า ผู้เสียหายที่เสร็จสิ้นขั้นตอนการเป็นพยานในการดำเนินคดีต่อนักค้ามนุษย์ของตนแล้ว ได้รับอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์สื่อสารได้โดยไม่มีการควบคุมดูแล การกำหนดให้ผู้เสียหายอยู่ในสถานพักพิงนานเกินจำเป็น ประกอบกับการจำกัดการเดินทางและการสื่อสารของผู้เสียหายระหว่างพำนักอยู่ในสถานพักพิง อาจทำให้ผู้เสียหายบางรายได้รับความกระทบกระเทือนซ้ำ และยังเป็นอุปสรรคต่อการหารายได้ของพวกเขาด้วย สำหรับผู้เสียหายต่างชาติบางราย โดยเฉพาะชาวโรฮีนจา รัฐบาลไม่ได้มอบโอกาสการจ้างงานที่เหมาะสม และเจ้าหน้าที่สถานพักพิงบางรายกังวลว่าชาวโรฮีนจาจะ “หนี” ออกจากสถานพักพิง จึงเป็นเหตุผลให้จำกัดเสรีภาพในการเดินทางของพวกเขา รัฐบาลอนุญาตให้ผู้เสียหาย 52 รายทำงานนอกสถานพักพิงได้ในปี 2563 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามลดระยะเวลาดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาที่ผู้เสียหายต้องอยู่ในสถานพักพิงสั้นลง แต่การอาศัยในสถานพักพิงในลักษณะดังกล่าวยังคงเป็นอุปสรรคต่อผู้เสียหายต่างชาติในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยผู้เสียหายบางรายต้องการให้รัฐส่งตนกลับประเทศภูมิลำเนามากกว่า รัฐบาลอนุญาตให้ผู้เสียหายบางรายอาศัยอยู่ในสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐ 3 แห่งที่ขึ้นทะเบียนไว้กับรัฐ และสามารถรับบริการต่าง ๆ จากสถานพักพิงเหล่านี้ได้ แม้ว่าผู้เสียหายที่ได้รับความช่วยเหลือจากสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐจะยังคงมีสิทธิรับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพักพิงเหล่านี้ นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ยังกล่าวว่า สถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เคร่งครัด เพื่อให้ได้รับอนุญาตช่วยเหลือผู้เสียหายที่ผ่านการระบุสถานะอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายสำหรับองค์กรนอกภาครัฐแห่งอื่นที่ต้องการขึ้นทะเบียน

องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า หัวหน้าสถานพักพิงของกระทรวง พม. มีอิทธิผลอย่างมากในสถานพักพิงของตน ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดนโยบายและการดูแลผู้เสียหายที่แตกต่างกัน แม้ว่ากระทรวง พม. จะเพิ่มจำนวนนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา แต่สถานพักพิงของรัฐบาลก็มักจะมีจำนวนนักจิตวิทยาและเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจไม่เพียงพอ จึงเป็นอุปสรรคสำหรับผู้เสียหายในการรับการดูแลด้านจิตสังคม ผู้ให้ข้อมูลรายงานว่า สถานพักพิงไม่ได้ให้การดูแลเฉพาะบุคคลหรือให้การปรึกษาอย่างเป็นส่วนตัวกับผู้เสียหายในทุกครั้ง แต่ให้ผู้เสียหายเข้ารับการปรึกษาแบบกลุ่มกับนักสังคมสงเคราะห์แทน สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายหญิงจากการค้ามนุษย์เป็นสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศเป็นหลัก และไม่ได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างเหมาะสม สถานพักพิงของกระทรวง พม. ไม่มีความพร้อมที่จะให้ที่พักอาศัยกับผู้เสียหายที่พิการ และไม่ให้บริการเฉพาะเจาะจงกับเด็กชายและผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) ในปี 2563 กระทรวง พม. กำหนดพื้นที่ให้สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทุกแห่งมีและให้บริการแก่ผู้เสียหายกลุ่ม LGBTQI+ สถานพักพิงของรัฐมักจะขาดแคลนล่าม โดยเฉพาะสำหรับผู้เสียหายชาวโรฮีนจา ซึ่งทำให้ไม่สามารถให้บริการอย่างเหมาะสมกับผู้เสียหายได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรายงานว่า ได้จัดตารางประจำสัปดาห์เพื่อให้ผู้เสียหายเข้าถึงล่ามได้ขณะอยู่ในสถานพักพิงในช่วงการรายงานนี้ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ล่ามที่มีส่วนในการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหาย และในการดำเนินคดีในศาล ไม่ได้รับการฝึกอบรมในการช่วยเหลือในคดีค้ามนุษย์เสมอไป หรือมักจะสื่อสารกับผู้เสียหายอย่างไม่เหมาะสม บางครั้งโดยการโน้มน้าวให้ผู้เสียหายไม่รายงานเกี่ยวกับการถูกแสวงประโยชน์หรือแนะนำให้พวกเขาสารภาพว่าได้กระทำการผิดกฎหมายตามที่นักค้ามนุษย์บีบบังคับให้กระทำ กระทรวง พม. จัดการการฝึกอบรมวิชาชีพภายในสถานพักพิง และผู้เสียหายสามารถหารายได้เล็กน้อยจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น การทำงานหัตถกรรม อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์ยังคงรายงานว่า สถานพักพิงมีตัวเลือกการฝึกอบรมวิชาชีพและงานไม่เพียงพอ กฎหมายไทยอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานซึ่งเป็นบุคคลต่างชาติพำนักและทำงานในไทยได้นานถึง 2 ปีนับจากการสิ้นสุดการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ กระทรวง พม. อนุญาตให้ผู้เสียหาย 6 รายได้รับสถานะดังกล่าวในช่วงการรายงานนี้ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า การช่วยเหลือผู้เสียหายเพื่อให้ได้รับสิทธินี้แตกต่างกันไปในสถานพักพิงแต่ละแห่ง

ทางการยังคงระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในจำนวนที่ต่ำเมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา ผู้เชี่ยวชาญรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอในการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเชิงรุก และเจ้าหน้าที่มีระดับความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ด้านแรงงานที่แตกต่างกัน การใช้มาตรา 6/1 โดยไม่มีการใช้แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ยังก่อให้เกิดความสับสนในกลุ่มเจ้าหน้าที่จำนวนมากเกี่ยวกับวิธีใช้บทบัญญัติว่าด้วยการบังคับใช้แรงงานนี้นอกไปจากบทบัญญัติเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่มีอยู่แล้วเมื่อประเมินคดีค้ามนุษย์ ในช่วงการรายงานที่ผ่านมา รัฐบาลแก้ไขแบบฟอร์มระบุผู้เสียหายเบื้องต้นให้รวมถึงผู้เสียจากการบังคับใช้แรงงาน ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6/1 และรายงานว่า ได้มอบหมายให้กระทรวง พม. พัฒนาแนวทางปฏิบัติสำหรับการสัมภาษณ์ผู้เสียหายโดยคณะสหวิชาชีพ และจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับแบบฟอร์มใหม่ดังกล่าว กระทรวง พม. รายงานว่า ได้จัดการฝึกอบรมขึ้นทั่วประเทศเกี่ยวกับการใช้แบบฟอร์มที่มีการแก้ไข พนักงานตรวจแรงงานและเจ้าหน้าที่ทหารเรือไทยคัดกรองการค้ามนุษย์ในแรงงานต่างด้าวระหว่างการตรวจแรงงาน โดยรวมถึงระหว่างการตรวจเรือประมง และจะต้องส่งผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทุกรายให้คณะสหวิชาชีพระบุสถานะอย่างเป็นทางการและส่งต่อเพื่อรับบริการ อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า การสัมภาษณ์ที่ไม่เสมอต้นเสมอปลายในระหว่างการตรวจเรือประมงยังคงส่งผลให้ความพยายามในการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกลุ่มชาวประมงต่างด้าวนั้นไม่มีประสิทธิผล นอกจากนี้ ความไม่ไว้วางใจพนักงานตรวจแรงงานยังขัดขวางไม่ให้แรงงานรายงานเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์อีกด้วย ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่สนับสนุนให้แรงงานที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานซึ่งถูกแสวงประโยชน์ในหลายภาคอุตสาหกรรมไกล่เกลี่ยกับนายจ้างหรือส่งเรื่องไปยังศาลแรงงาน แทนที่จะพิจารณาว่าพวกเขาเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และแนะนำให้มีการสืบสวนสอบสวนคดีของพวกเขาในทางอาญา พนักงานตรวจแรงงานอาจต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อข้อกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งอาจลดทอนความเต็มใจในการรายงานกรณีต้องสงสัยว่าเกิดการแสวงประโยชน์ขึ้น

ทางการช่วยเหลือชาวไทยที่ถูกแสวงประโยชน์ในต่างประเทศ 59 คนให้เดินทางกลับประเทศ (เทียบกับ 123 คนในปี 2562) ซึ่งรวมไปถึงผู้ได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 10 คน (เทียบกับ 25 คนในปี 2562) โดยให้ค่าเดินทาง ช่วยเหลือด้านกฎหมาย จัดหางาน และช่วยเหลือให้ผู้เสียหายสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ กระทรวง พม. ช่วยเหลือให้ผู้เสียหายไทยที่เสร็จสิ้นกระบวนการคุ้มครองในไทยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ 127 ราย รัฐบาลรายงานว่า ได้มอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์คงการติดต่อกับผู้เสียหายชาวไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีหลังจากพวกเขากลับมาใช้ชีวิตในสังคม เจ้าหน้าที่ใช้เงินประมาณ 1.21 ล้านบาท (40,440 เหรียญสหรัฐ) จากกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในการช่วยส่งตัวผู้เสียหายต่างชาติที่ถูกแสวงประโยชน์ในไทยจำนวน 262 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพม่าและลาว ให้กลับประเทศหลังจากได้เสร็จสิ้นกระบวนการคุ้มครองในประเทศไทย รัฐบาลไม่ได้รายงาน ไม่ได้รายงานจำนวนผู้เสียหายที่ทางการส่งกลับประเทศในปี 2562 แต่รายงานว่า ได้ส่งผู้เสียหายกลับประเทศจำนวน 201 รายในปี 2561 นอกจากนี้ รัฐบาลยังช่วยเหลือให้ผู้เสียหายต่างชาติ 20 รายที่ไม่สามารถกลับไปยังประเทศภูมิลำเนาของตนได้ให้ตั้งรกรากในประเทศที่สาม อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่ไทยไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการการส่งผู้เสียหายต่างชาติกลับประเทศอย่างปลอดภัยเสมอไป

รัฐบาลบริหารจัดการศูนย์ช่วยเหลือเด็ก (CAC) 7 แห่ง ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็กและเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย องค์กรนอกภาครัฐ และนักสังคมสงเคราะห์ใช้ถามปากคำเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในบางคดี ทางการอนุญาตให้องค์กรนอกภาครัฐสังเกตการทำงานของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายที่ระบุตัวแล้วได้ ผู้พิพากษาบางคนยังขาดความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย อันส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อผู้เสียหายระหว่างการดำเนินคดีในศาล รัฐบาลเลื่อนการฝึกอบรมสำหรับผู้พิพากษาที่มีการวางแผนเอาไว้ออกไปเนื่องจากโรคระบาด แม้จะมีรายงานว่า โดยมากแล้วศาลปฏิบัติตามระเบียบการในการคุ้มครองผู้เสียหายและพยาน แต่องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มีกรณีที่ศาลไม่จัดให้ดำเนินการถามค้านแบบหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าแม้จะมีการร้องขอล่วงหน้า ทั้งยังให้พยานยืนยันข้อมูลที่อ่อนไหวโดยใช้วาจาต่อหน้าผู้ต้องสงสัยระหว่างการดำเนินคดี พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 กำหนดให้มีบริการด้านสุขภาพและสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ทำการขอทาน รวมทั้งผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รัฐบาลรายงานว่า ได้ระบุผู้เสียหายจากการถูกบังคับให้ขอทานเพียง 2 รายในปี 2563 (เทียบกับ 9 รายในปี 2562) เจ้าหน้าที่ระบุตัวและให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเด็ก 17 ราย ซึ่งถูกบังคับใช้ขายของตามถนนในจังหวัดภูเก็ต อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า รัฐบาลขาดนโยบายที่ชัดเจนในการคุ้มครองประชากรกลุ่มนี้ทั่วประเทศ แม้ว่าจะมีรายงานว่าเด็กถูกแสวงประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น การเกษตร หรืองานรับใช้ตามบ้าน รัฐบาลไม่ได้ระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเด็กเพิ่มเติมในปี 2563

ทุกหน่วยงานต้องลดค่าใช้จ่ายลงร้อยละ 10 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองต่อโรคระบาดของรัฐบาล ส่งผลให้กระทรวง พม. ต้องลดงบประมาณการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ลง 42.5 ล้านบาท (1.42 ล้านเหรียญสหรัฐ) อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. รายงานว่า การลดงบประมาณดังกล่าวส่วนใหญ่ชดเชยได้จากการเปลี่ยนไปจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมอื่น ๆ ทางออนไลน์ ตลอดจนการยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่ได้จัดสรรปันส่วนงบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้เสียหายโดยตรงใหม่แต่อย่างใด ในปี 2563 รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ 7.63 ล้านบาท (255,010 เหรียญสหรัฐ) แก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ผ่านกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งลดลงจาก 11.87 ล้านบาท (396,720 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2562 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่จัดสรรให้ผู้เสียหายที่พำนักนอกสถานพักพิงของรัฐ 849,187 บาท (28,380 เหรียญสหรัฐ) ในบางกรณีที่ผู้เสียหายได้กลับไปยังประเทศภูมิลำเนาของตนแล้ว รัฐบาลได้ใช้การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยให้ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือดังกล่าวได้โดยไม่ต้องกลับมายังประเทศไทย กฎหมายไทยกำหนดให้พนักงานอัยการต้องยื่นเรียกร้องค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายที่แสดงความประสงค์จะเรียกร้องค่าชดเชย พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ให้อำนาจผู้พิพากษาในการให้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องขอให้มีการชดเชยด้วย รัฐบาลยื่นเรียกร้องค่าชดเชยแทนผู้เสียหาย 94 ราย (ผู้เสียหายชาวไทย 38 รายและต่างชาติ 56 ราย) และรายงานว่า ศาลสั่งให้มีการให้ค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายเป็นจำนวน 26 ล้านบาท (868,980 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ 54 ล้านบาท (1.8 ล้านเหรียญ) ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม การบังคับคดีให้ผู้กระทำความผิดจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งศาลยังคงเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นชาวต่างชาติ กระทรวง พม. ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย รวมทั้งใช้แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยื่นคำร้องดังกล่าว โดยผ่านหน่วยงานภายใต้กองต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงฯ คณะรัฐมนตรีอนุมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อเพิ่มสิทธิให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากทรัพย์สินที่ริบจากนักค้ามนุษย์ ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อสิ้นสุดช่วงการรายงาน

กระทรวง พม. ยังคงใช้แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานได้รายงานการถูกแสวงประโยชน์และขอรับบริการการคุ้มครองต่าง ๆ รวมไปถึงบริการล่าม ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งหมด 7 ภาษา มีการรายงานกรณีที่อาจเป็นการค้ามนุษย์ 32 กรณีผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวในปี 2563 เมื่อเทียบกับ 7 กรณีในปี 2562 กระทรวง พม. และกระทรวงแรงงานได้จัดบริการโทรศัพท์สายด่วน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ใช้ภาษาต่างประเทศ 19 ภาษาได้อย่างคล่องแคล่วคอยรับสาย ในปี 2563 สายด่วนของกระทรวง พม. ได้รับโทรศัพท์ 70 สายที่เกี่ยวข้องกับกรณีซึ่งอาจเป็นการค้ามนุษย์ ในจำนวนดังกล่าวมีสายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงาน 9 สาย (เทียบกับ 162 สายในปี 2562) ทางการได้ส่งต่อ 58 กรณีไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม ในปี 2563 กระทรวงแรงงานจ้างผู้ประสานงานภาษาต่าง ๆ 67 คน (เทียบกับ 91 คนในปี 2562) และล่าม 118 คน (เทียบกับ 99 ในปี 2562)

แม้ว่ากฎหมายจะคุ้มครองผู้เสียหายจากการถูกดำเนินคดีจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากถูกนักค้ามนุษย์บังคับ แต่การระบุผู้เสียหายของรัฐบาลมีข้อบกพร่อง จึงเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้เสียหายต้องถูกลงโทษจากข้อหาต่าง ๆ เช่น การค้าประเวณีและการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ประเด็นดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อผู้เสียหายต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายบางคน ซึ่งกลัวว่าจะถูกจับกุมและส่งตัวกลับจากการรายงานการถูกแสวงประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ ผู้ให้ข้อมูลรายงานว่า ผู้อพยพชาวโรฮีนจาบางคน ซึ่งรวมถึงผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ถูกทางการไทยระบุว่าเป็น “บุคคลต่างด้าวผิดกฎหมาย“ อีกทั้งยังถูกกักตัวโดยไม่มีกำหนดหรือถูกส่งตัวกลับพม่าและมีแนวโน้มต้องเผชิญการแก้แค้นหรือความทุกข์ยาก ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า รัฐบาลช่วยให้นายจ้างบางรายแก้แค้นแรงงานต่างด้าวและนักเคลื่อนไหวที่พยายามแก้ไขสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น โดยรวมไปถึงการไล่แรงงานออกจากงาน นอกจากนี้ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทของไทยยังคงเปิดช่องให้บริษัทฟ้องร้องคดีอาญาผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายและกลุ่มผู้สนับสนุน โดยรวมถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ซึ่งส่งผลให้กลุ่มผู้สนับสนุนต้องเผชิญกับการคุกคามทางกฎหมายเป็นเวลาหลายปี ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทแห่งหนึ่งได้ยื่นร้องเรียนกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิ ซึ่งรายงานเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์จากแรงงานพม่า 14 รายที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่แสดงถึงการบังคับใช้แรงงาน เป็นจำนวนกว่า 37 เรื่อง แม้ว่าศาลไทยจะเพิกถอนหรือยกฟ้องคดีผู้สนับสนุนบางรายในช่วงการรายงานนี้ แต่บริษัทดังกล่าวยังคงยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของรัฐบาล ซึ่งทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนเผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ผู้สังเกตการณ์ยังคงรายงานว่า คดีประเภทนี้ขัดขวางกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้เสียหายไม่ให้รายงานเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์ แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งส่งผลให้ศาลสามารถสั่งยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทได้ทันทีหากพิจารณาแล้วว่า เป็นการฟ้องโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนาเพื่อข่มขู่จำเลย เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่เสริมสร้างสิทธิของจำเลยในคดีที่นายจ้างเป็นโจทก์ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้รายงานว่าได้ใช้กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมเหล่านี้เพื่อยกฟ้องกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิต่าง ๆ ในคดีหมิ่นประมาททางอาญา นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในปี 2558 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้เปิดเผยข้อมูลการกระทำผิด แต่ยังไม่เคยรายงานว่าได้ใช้บทบัญญัติดังกล่าว

การป้องกัน

รัฐบาลยังคงดำเนินการเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินงานของภาครัฐผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งประสานงานด้านนโยบายและกลยุทธ์ระหว่างหน่วยงาน นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังเป็นประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านดังกล่าวของรัฐอีกด้วย ทางการยังคงติดตามความคืบหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วยการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานประจำปีต่าง ๆ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รัฐบาลจัดสรรงบด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประมาณ 4,020 ล้านบาท (134.36 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2563 เมื่อเทียบกับงบจำนวนประมาณ 3,800 ล้านบาท (127.01 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2562 รัฐบาลรณรงค์ผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสังคมออนไลน์ ป้ายโฆษณา และเอกสารแจกจ่าย เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้กับประชาชนทั่วประเทศ อีกทั้งจัดกิจกรรมมากมายที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันนี้ให้กับนักเรียน อาจารย์ และผู้นำชุมชน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตอบสนองต่อการแสวงประโยชน์ทางเพศกับเด็กทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น โดยแจกจ่ายคู่มือเกี่ยวกับความเสี่ยงในด้านดังกล่าว พร้อมทั้งวิธีการรายงานกรณีต้องสงสัยหรือขอความช่วยเหลือ ให้กับบิดามารดา อาจารย์ และนักเรียน ในปี 2563 TICAC และ CAC ได้ร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐและสำนักงานอัยการสูงสุดจัดการเสวนา 18 ครั้งเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ต่อการแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ให้แก่นักเรียนและครู นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ให้กับคนไทยในต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์

กฎหมายไทยอนุญาตให้สำนักงานจัดหางานคิดค่าธรรมเนียมคนไทยสำหรับการหางานในต่างประเทศได้จำนวนหนึ่ง แรงงานบางคนยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากเกินควรให้กับสำนักงานจัดหางานที่ไม่มีคุณธรรม ทำให้เสี่ยงต่อการถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ รัฐบาลได้ช่วยให้ชาวไทยจำนวน 2,978 คนมีงานทำในต่างประเทศ รวมถึงช่วยจัดหางาน ผ่านช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่เป็นทางการระหว่างรัฐต่อรัฐในปี 2563 ซึ่งน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ 11,886 คนในปี 2562 เพราะผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ นอกจากนี้ สำนักงานจัดหางานประจำจังหวัด 14 แห่ง ยังจัดการฝึกอบรมในหัวข้อต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ ให้กับแรงงานไทย 1,891 คน ก่อนไปทำงานต่างประเทศ ในปี 2563 รัฐบาลตรวจสอบสำนักงานจัดหางาน 133 แห่งที่ช่วยให้คนไทยได้งาน แต่ไม่พบการดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และยังได้ตรวจสอบรายงานนายหน้าที่ดำเนินการจัดหางานโดยไม่มีใบอนุญาต 65 กรณี สำนักงานแรงงานของรัฐ 12 แห่งในประเทศที่มีแรงงานไทยอยู่เป็นจำนวนมากได้ดำเนินการตรวจสอบ 1,630 ครั้ง ช่วยเหลือแรงงานกว่า 7,684 คน และฝึกอบรมอาสาสมัครแรงงาน 703 คน เพื่อช่วยระบุการละเมิดแรงงานและการค้ามนุษย์ในแรงงานไทย กระทรวงแรงงานและสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกันตรวจสอบประกาศทางออนไลน์ที่ไม่ได้รับอนุญาตซึ่งว่าจ้างคนไทยให้ไปทำงานในต่างประเทศ อันนำไปสู่การสืบสวน 128 คดี

รัฐบาลยังคงมีบันทึกความเข้าใจแบบทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย โดยระบบดังกล่าวนำไปสู่การจ้างงานแรงงานต่างด้าว 111,429 คนในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่สูง ความยากลำบากในการทำเอกสารประจำตัวที่ประเทศภูมิลำเนา และอุปสรรคด้านการดำเนินการอื่น ๆ ยังคงกีดขวางการใช้กลไกดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งส่งผลให้แรงงานต้องพึ่งพาการช่วยเหลือของนายหน้า ลักษณะที่ซับซ้อนของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวกับทางการมักทำให้แรงงานพึ่งพานายหน้าและนายจ้างซึ่งมักจะคิดค่าดำเนินการขอเอกสารมากเกินควร แรงงานจึงเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายที่ควบคุมการจัดหาและจ้างงานแรงงานต่างด้าวในไทย กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้นายจ้างมอบสำเนาสัญญาจ้างให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางประการ เช่น ค่าการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทยและส่งกลับประเทศเมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน แต่ไม่ได้ห้ามนายจ้างและผู้จัดหางานคิดค่าใช้จ่ายบางประการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหางานกับแรงงานต่างด้าว เช่น ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ และค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตทำงาน องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ไม่ได้มีการนิยามและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าธรรมเนียมการจัดหางานนี้อย่างดีพอ และสำนักงานจัดหางาน รวมถึงนายหน้า ยังคงเรียกร้องค่าธรรมเนียมการจัดหางานและค่าเดินทางจากแรงงาน ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้อำนวยความสะดวกให้กับแรงงานชาวพม่า กัมพูชา และลาวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุแต่ไม่สามารถกลับประเทศได้เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างเกิดโรคระบาด โดยเห็นชอบมาตรการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน เพื่อให้แรงงานสามารถประกอบอาชีพในไทยได้อย่างถูกกฎหมายจนถึง 31 มีนาคม 2565 อย่างไรก็ดี องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุใบอนุญาตทำงานอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการสำหรับแรงงานบางราย และอาจส่งผลให้แรงงานถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ อีกทั้งยังกล่าวว่า แรงงานต้องเผชิญอุปสรรคในการต่ออายุเนื่องจากข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง หรือต้องพึ่งพานายหน้าให้ช่วยลงทะเบียน ซึ่งหมายความว่าแรงงานจำนวนมากยังคงทำงานโดยไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ถูกต้อง และอาจเสี่ยงที่จะถูกนายหน้าและนายจ้างแสวงประโยชน์ เช่น ถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ รัฐบาลยังได้ช่วยให้แรงงานต่างด้าวจากเมียนมากว่า 80,000 คนเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ

มีรายงานจำนวนมากจากองค์กรนอกภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศว่า รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำอย่างเพียงพอ อีกทั้งขาดกฎหมายที่กำหนดให้บังคับใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการว่าจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก เช่น การทำการเกษตรตามฤดูกาล กฎหมายแรงงานไทยกีดกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดการแสวงประโยชน์มากขึ้น พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างมากกว่าร้อยละ 10 สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และห้ามมิให้ยึดหนังสือเดินทางหรือเอกสารประจำตัวอื่น ๆ ของลูกจ้าง หากนายจ้างฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท (334-3,340 เหรียญสหรัฐ) และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน กฎหมายฉบับนี้ยังอนุญาตให้นายจ้างเก็บเอกสารของแรงงานไว้ได้หากแรงงานยินยอมและสามารถเข้าถึงเอกสารของพวกเขาที่อยู่กับนายจ้างได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า เนื่องจากการบังคับใช้พระราชกำหนดนี้ยังไม่เพียงพอ ในบางกรณีกฎหมายนี้อาจเอื้อให้นายจ้างที่ขาดศีลธรรมอาจยึดเอกสารของแรงงานไว้ โดยเฉพาะเมื่อแรงงานไม่คุ้นเคยกับสิทธิของตนภายใต้กฎหมายไทย ทางการไม่ได้รายงานว่า มีการสืบสวนการยึดเอกสารหรือการหักค่าแรงที่ผิดกฎหมาย ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า ในขณะที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหน้าที่ติดตามการหักค่าแรงที่ผิดกฎหมาย แต่กรมการจัดหางานซึ่งเป็นผู้ดำเนินการตรวจแรงงานในสำนักงานจัดหางานกลับไม่ได้ส่งต่อกรณีต้องสงสัยไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอย่างสม่ำเสมอ นายจ้างและนายหน้าจำนวนมากซึ่งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายล่วงหน้าเพื่อให้แรงงานสามารถเข้ามาทำงานในไทยได้ ผูกมัดแรงงานด้วยหนี้ในภายหลังและหักเงินค่าธรรมเนียมเหล่านี้จากค่าจ้างของแรงงานอย่างผิดกฎหมายโดยที่บ่อยครั้งแรงงานมักจะไม่ทราบ กฎหมายไทยกำหนดให้จัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาแม่ของแรงงาน อย่างไรก็ตาม การวิจัยในหลายปีที่ผ่านมาพบว่า ในทางปฏิบัติแทบจะไม่มีนายจ้างคนใดทำสัญญาจ้างในภาษาแม่ของแรงงานให้พวกเขาเก็บไว้ แม้ว่าข้อบังคับของทางการจะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถูกแสวงประโยชน์เปลี่ยนนายจ้างได้ แต่นโยบายบางข้อกลับทำให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องยากสำหรับแรงงานต่างด้าวในทางปฏิบัติ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 กำหนดให้นายจ้างต้องส่งจดหมายลาออกให้กรมการจัดหางาน ลูกจ้างจึงจะสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ แต่มีรายงานว่า แทบจะไม่มีการดำเนินการเช่นนี้ในทางปฏิบัติ สำนักงานแรงงานจังหวัดกำหนดให้แรงงานที่ทำงานภายใต้บันทึกความเข้าใจยื่นเอกสารหลายฉบับเพื่อให้ได้รับการอนุมัติการเปลี่ยนงาน ซึ่งแรงงานมักจะไม่สามารถจัดหาเอกสารเหล่านี้ได้หากองค์กรนอกภาครัฐหรือนายหน้าไม่ช่วย กฎหมายระบุว่า ผู้ที่จ้างงานภายใต้บันทึกความเข้าใจสามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาแรงงานต่างด้าวจากนายจ้างรายใหม่ได้ เมื่อแรงงานขอเปลี่ยนงานก่อนสัญญาจ้างสิ้นสุด และนายจ้างบางรายก็คิดค่าธรรมเนียมการจัดหาเอกสารกับลูกจ้างที่ต้องการเอกสาร ทำให้ลูกจ้างมีแนวโน้มถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ ทางการไม่ได้รายงานว่า มีการสอบสวนนายจ้างที่คิดค่าธรรมเนียมโดยผิดกฎหมายกับแรงงานต่างด้าวในลักษณะดังกล่าว รัฐบาลยังอนุญาตให้ผู้อพยพทำหนังสือผ่านแดนแบบ 30 วัน หรือ 90 วัน เพื่อเข้าประเทศมาทำการเกษตรนอกฤดูหรือทำงานในโรงงานได้ โดยรวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังพัฒนา 10 เขต แต่การจ้างงานชั่วคราวในลักษณะดังกล่าวทำให้คนงานไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า นายจ้างสนับสนุนให้แรงงานใช้หนังสือผ่านแดนแบบดังกล่าวมากขึ้น แทนที่จะใช้ใบอนุญาตทำงานที่มีอายุยาวกว่า ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น รัฐบาลรายงานว่า ในปี 2563 พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบสถานประกอบกิจการในบริเวณชายแดน 161 แห่ง (เทียบกับ 146 แห่งในปี 2562) และพบว่ามีการละเมิดกฎหมาย 146 กรณี (เทียบกับ 71 กรณีในปี 2562) แต่ไม่ได้ระบุว่า เป็นกรณีการค้ามนุษย์ โดยมีคำสั่งเพียงให้แก้ไขปรับปรุงการละเมิดสำหรับ 144 กรณีที่พบ และให้มีการดำเนินคดีใน 2 กรณี ในปี 2563 รัฐบาลตรวจสอบสำนักงานจัดหาแรงงานต่างด้าว 264 แห่ง (เทียบกับ 244 แห่งในปี 2562) และพบว่า 2 แห่งกระทำผิดกฎหมาย ในปี 2563 กระทรวงแรงงานตรวจพบการละเมิดแรงงานโดยกิจการและนายจ้าง 2,944 รายที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าว (เทียบกับ 2,333 ราย ในปี 2562) โดยรัฐบาลได้ปรับผู้กระทำผิด 668 รายรวมกันเป็นเงิน 3.65 ล้านบาท (121,990 เหรียญสหรัฐ)

หลังการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมงในปี 2562 รัฐบาลได้ประกาศใช้อนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับในปี 2563 ซึ่งส่งผลให้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้อย่างเต็มที่เนื่องจากกฎหมายจำเป็นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รับการรับรอง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมงมุ่งเสริมสร้างประสิทธิผลของการตรวจแรงงานบนเรือประมง การรักษาพยาบาล และการรายงานกรณีละเมิดกฎหมายฉบับนี้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศใช้อนุบัญญัติอีก 9 ฉบับภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการออกและต่ออายุเอกสารประจำตัว (หนังสือคนประจำเรือ) สำหรับแรงงานประมงต่างด้าว ร่างกฎกระทรวงฉบับหนึ่งเสนอลดอายุขั้นต่ำของคนงานประมงที่เป็นญาติของไต้ก๋งหรือเจ้าของเรือจาก 18 ปีเหลือ 16 ปี ซึ่งทำให้องค์กรนอกภาครัฐแสดงความกังวลว่า เนื่องจากไม่มีการควบคุมดูแลอย่างเพียงพอเพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานประมงเด็กเป็นญาติกับผู้ใหญ่ที่ทำงานบนเรือจริง การแก้ไขกฎกระทรวงข้อนี้อาจทำให้เด็กเผชิญความเสี่ยงในการถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง อีกทั้งยังมีความกังวลว่า ร่างกฎกระทรวงนี้ไม่ได้กำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานและชั่วโมงพักผ่อนของแรงงานประมงอย่างเพียงพอ ไม่กำหนดให้นายจ้างทำสัญญาจ้างเป็นภาษาแม่ของแรงงานให้พวกเขาเก็บไว้ อีกทั้งยังอนุญาตให้หักค่าจ้างได้โดยที่แรงงานไม่ต้องให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร และยังอนุญาตให้เรือประมงสามารถออกทะเลได้ถึง 1 ปี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อแรงงานที่ต้องการรายงานกรณีการถูกแสวงประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือขอความช่วยเหลือ การไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการนับจำนวนชั่วโมงทำงานและชั่วโมงพักผ่อนของแรงงานบนเรือประมง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการค้ามนุษย์ในแรงงานกลุ่มนี้ กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2561 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนหนึ่งอย่างน้อย 1 ครั้ง ผ่านการฝากเงินเข้าบัญชีแบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้เงินส่วนแบ่งกับลูกจ้างตามมูลค่าของสัตว์น้ำที่จับได้ แม้ว่าในภาพรวมระบบดังกล่าวจะได้รับคำชื่นชมจากผู้สังเกตการณ์ภาคประชาสังคม แต่บ้างก็กังวลว่า แรงงานบางคนอาจไม่สามารถเข้าถึงค่าแรงของตนได้ เนื่องจากบางท่าเรือไม่มีตู้เอทีเอ็มอยู่ใกล้ ๆ ไม่มีการฝึกอบรมเรื่องการใช้ระบบดังกล่าวแก่แรงงานอย่างเพียงพอ หรือบัตรเอทีเอ็มและรหัสบัตรของแรงงานอาจถูกเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง หรือนายหน้ายึดไว้ นอกจากนี้ แม้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้พนักงานตรวจแรงงานสามารถตรวจสอบยืนยันการจ่ายค่าจ้างได้ดีขึ้น แต่ก็เคยมีรายงานที่ชี้ว่า นายจ้างที่ไม่มีคุณธรรมยังคงจ่ายค่าจ้างเข้าบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ของลูกจ้างอย่างสม่ำเสมอเพื่อแสดงว่าตนปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กลับถอนเงินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

รัฐบาลมีศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างงาน 5 แห่ง เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านกระบวนการตามบันทึกความเข้าใจ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน วัฒนธรรมไทย สัญญาจ้าง ความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และกลไกการร้องเรียน ในปี 2563 ศูนย์เหล่านี้ให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 111,429 ราย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแรงงานมีเวลาอยู่ในศูนย์จำกัด ซึ่งปกติแล้วมักจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่แรงงานเดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถให้ข้อมูลได้อย่างจำกัดในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่แรงงานของศูนย์แรกรับเข้าทำงานฯ สัมภาษณ์แรงงานในขณะที่มีนายจ้าง นายหน้า และตำรวจที่พกพาอาวุธอยู่ด้วย ซึ่งอาจทำให้แรงงานไม่ประสงค์จะรายงานทางการหากตนถูกแสวงประโยชน์ กระทรวงแรงงานยังทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐเพื่อให้บริการต่าง ๆ ในศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 10 แห่งอีกด้วย โดยรวมถึงรับเรื่องร้องเรียนกรณีการละเมิดกฎหมายแรงงาน ช่วยเหลือแรงงานในการเปลี่ยนนายจ้าง และปรับปรุงแก้ไขเอกสารขึ้นทะเบียนของแรงงานให้เป็นปัจจุบัน รัฐบาลยังคงทำงานร่วมกับศูนย์ขององค์กรนอกภาครัฐที่อยู่ใกล้กับตลาดปลาในการจัดให้มีการฝึกอบรมทักษะ การคัดกรองด้านสุขภาพ และกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน สำนักงานแรงงานจังหวัด ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ไม่ได้สืบสวนข้อร้องเรียนของแรงงานต่างด้าวหรือส่งต่อกรณีต้องสงสัยการละเมิดแรงงานให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ซึ่งรวมทั้งกรณีที่บ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน นอกจากนี้ ประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีตระหว่างแรงงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบกับสำนักงานแรงงานบางแห่งไม่มีล่าม ยังทำให้แรงงานต่างด้าวเผชิญอุปสรรคในการรายงานการถูกแสวงประโยชน์

กรมประมงควบคุมดูแลศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) 32 ศูนย์ และจุดตรวจเรือประมงส่วนหน้า (FIP) อีก 19 จุด ผู้สังเกตการณ์บางส่วนรายงานว่า นับตั้งแต่การถ่ายโอนการบริหารจัดการศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงจากกองทัพเรือไปให้กรมประมงในปี 2562 ศูนย์ได้สูญเสียอำนาจดำเนินการ และการตรวจสอบต่าง ๆ ก็หละหลวมยิ่งขึ้น ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงทำหน้าที่ตรวจสอบว่าเรือประมงเดินเรืออย่างถูกกฎหมายหรือไม่ และใช้ระบบประเมินความเสี่ยงเพื่อระบุเรือลำที่ต้องตรวจสอบ องค์กรนอกภาครัฐแห่งหนึ่งระบุว่า ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงบางแห่งไม่ได้ประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และบางครั้งก็ไม่ได้ตรวจสอบเรือประมงเพราะขาดทรัพยากรหรืออนุมานว่าเรือบางลำไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบ นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งยังระบุว่า การประเมินความเสี่ยงไม่ได้ครอบคลุมถึงข้อบ่งชี้บางประการ เช่น เรือประมงที่เคยมีประวัติไม่บันทึกชั่วโมงทำงาน ยึดเอกสารของคนงาน มีอุปกรณ์ที่ใช้แรงงานหนัก หรือเคยเกิดข้อพิพาทด้านแรงงานหรือมีลูกเรือสูญหายระหว่างออกทะเล ในปี 2563 รัฐบาลรายงานว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบเรือประมง 55,818 ลำ (เทียบกับ 44,322 ลำในปี 2562) และพบว่ามีเรือประมง 19 ลำที่ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน (เทียบกับ 20 ลำในปี 2562) นอกจากนี้ ยังตรวจสอบเรือประมงในทะเล 842 ลำ แต่พบว่ามีเพียง 1 ลำเท่านั้นที่ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน โดยเป็นกรณีเกี่ยวกับการว่าจ้างแรงงานโดยไม่มีหนังสือคนประจำเรือ รัฐบาลไม่เคยรายงานว่า การตรวจแรงงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงนำไปสู่การระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ มีองค์กรนอกภาครัฐที่รายงานว่า ได้ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ผ่านการตรวจสอบของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ระบุว่าเป็นผู้เสียหาย กองทัพเรือร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการตรวจสอบเรือประมงในทะเลเพื่อระบุผู้อพยพที่ถูกลักลอบนำเข้าประเทศ และพบการลักลอบ 466 กรณีในปี 2563 แต่ไม่ได้รายงานว่า มีการตรวจคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในผู้อพยพกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ การตรวจสอบเรือประมงนอกชายฝั่งยังไม่ได้มีการตรวจหาการละเมิดแรงงานอย่างเพียงพอ หรือไม่ได้มีการจัดหาล่ามเพื่อสัมภาษณ์ลูกเรือต่างด้าวอย่างสม่ำเสมอ

แม้ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงจะใช้คู่มือมาตรฐานระเบียบปฏิบัติด้านการตรวจสอบ ซึ่งเผยแพร่ในปี 2562 แต่การตรวจแรงงานโดยศูนย์ดังกล่าวยังคงขาดความสม่ำเสมอและไม่มีประสิทธิผลในการระบุกรณีต้องสงสัยการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง คณะตรวจสอบเรือประมงบางคณะไม่ได้ใช้วิธีที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหาย ไม่มีล่ามสำหรับภาษาแม่ของแรงงานบางภาษา ไม่ได้ขึ้นไปดำเนินการตรวจสอบบนเรือ ไม่ได้สัมภาษณ์แรงงานหรือแยกแรงงานออกจากเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง หรือนายหน้าในขั้นตอนการสัมภาษณ์ หรือไม่ได้จัดการประชุมคณะก่อนและหลังตรวจสอบในสถานที่ที่ไม่มีเจ้าของเรือและไต้ก๋งอยู่ การกระทำเหล่านี้บางอย่างอาจเป็นอุปสรรคต่อเจ้าหน้าที่ในการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และอาจเป็นอุปสรรคต่อแรงงานและพนักงานตรวจแรงงานบางคนในการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากเกรงว่าจะถูกแก้แค้น นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า บางครั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงเพิกเฉยต่อการร้องเรียนของแรงงานต่างด้าว หรือบอกให้พวกเขารายงานกรณีการถูกแสวงประโยชน์กับหน่วยงานอื่น และกล่าวว่าไม่มีมาตรฐานหรือระเบียบการข้อใดที่ระบุให้พนักงานตรวจแรงงานส่งต่อกรณีต้องสงสัยการบังคับใช้แรงงานไปยังเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหรือคณะสหวิชาชีพ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการมาตรฐานในการส่งต่อกรณีการหายตัวไปของแรงงานประมงในทะเลโดยทั่วกัน โดยรวมไปถึงกระบวนการการระบุข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์บนเรือประมงที่มีแรงงานหายตัวไประหว่างออกทะเล และจำนวนลูกเรือที่หายตัวไปนอกชายฝั่งยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในปี 2563 มีแรงงานประมงสูญหาย 63 คน เมื่อเทียบกับ 29 คนในปี 2562

สืบเนื่องจากความพยายามของภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ ทางการลดงบประมาณสำหรับการตรวจแรงงานลงร้อยละ 72 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เพิ่มจำนวนพนักงานตรวจและดำเนินการตรวจในอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2563 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ตรวจสอบสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล 1,924 ครั้งในปี 2563 (เทียบกับ 2,116 ครั้งในปี 2562) และพบว่าสถานประกอบกิจการ 1,629 แห่งฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน (เทียบกับ 1,017 แห่งในปี 2562) พนักงานตรวจแรงงานไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบกิจการบางแห่งได้เนื่องจากมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือโรคระบาด ก่อนหน้านี้มีรายงานที่บ่งชี้ว่า โรงงานบางแห่งได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าจะมีการตรวจแรงงาน ซึ่งอาจขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการระบุการละเมิดแรงงาน รวมไปถึงกรณีที่บ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุว่า วิสาหกิจ 10 แห่งละเมิดกฎหมายการใช้แรงงานเด็ก โดยเกี่ยวเนื่องกับเด็ก 44 คน แต่ไม่ได้รายงานว่ามีกรณีการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเด็ก การไม่สามารถเข้าถึงสถานประกอบกิจการในพื้นที่ห่างไกลได้ทำให้ทางการไม่สามารถตรวจสอบการใช้แรงงานเด็กได้อย่างเพียงพอในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาคร รัฐดำเนินมาตรการรุนแรงเพื่อควบคุมไวรัสดังกล่าว โดยบังคับกักตัวแรงงานต่างด้าวในหอพักที่ล้อมด้วยรั้วและลวดหนาม ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ตรวจไม่พบเชื้อ ผู้ให้ข้อมูลรายงานว่า มาตรการเหล่านี้ทำให้แรงงานเกิดความเคลือบแคลงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจลดโอกาสที่พวกเขาจะสมัครใจรายงานการแสวงประโยชน์ให้ทางการทราบ กระทรวงยุติธรรมเสนอให้ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษในอีก 3-5 ปีสามารถเดินทางออกจากเรือนจำเพื่อทำงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลได้ด้วยความสมัครใจ ผู้สังเกตการณ์แสดงความกังวลว่า การระบุว่าผู้ต้องขังทุกคนอาสามาทำงานเองจริงหรือไม่นั้นอาจเป็นเรื่องยาก และพวกเขาอาจถูกขู่เข็ญด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงให้สัญชาติแก่คนไร้รัฐ และดำเนินการเพื่อลดความต้องการซื้อขายบริการทางเพศโดยวิธีการ เช่น การเผยแพร่วิดีโอ 4 ภาษาที่มีเนื้อหาต่อต้านการท่องเที่ยวเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กในท่าอากาศยานและบนเครื่องบินของไทย นอกจากนี้ ทางการยังได้ประสานงานกับรัฐบาลต่างประเทศเพื่อปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศเข้าประเทศ ตลอดจนจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่การทูต

ประวัติข้อมูลการค้ามนุษย์

ดังที่มีการรายงานตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากผู้เสียหายชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศไทย และจากผู้เสียหายชาวไทยในต่างประเทศ นักค้ามนุษย์ด้านแรงงานและทางเพศแสวงประโยชน์จากผู้หญิง ผู้ชาย บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเด็กจากประเทศไทย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ศรีลังกา รัสเซีย อุซเบกิสถาน และประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศ นอกจากนี้ ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา และบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย ยังประสบกับการถูกกระทำมิชอบหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นการค้ามนุษย์ รัฐบาลเกาหลีเหนืออาจบังคับให้ประชาชนของตนทำงานในไทย เด็กจากประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชาเป็นผู้เสียหายจากค้ามนุษย์ทางเพศในสถานค้าประเวณี สถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านพักส่วนบุคคล นักค้ามนุษย์ชักจูงเด็กหญิงและเด็กชายชาวไทยให้แสดงกิจกรรมทางเพศผ่านทางวิดีโอและภาพถ่ายบนอินเทอร์เน็ต บางครั้งโดยการขู่ว่าจะเผยแพร่ภาพลามกของเด็ก นักค้ามนุษย์ใช้อินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันสำหรับการสนทนาหรือหาคู่ ตลอดจนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ในการล่อลวงเด็กเพื่อค้าประเวณี เด็กในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ เด็กที่ครอบครัวตกงานเพราะผลกระทบจากโรคระบาด ซึ่งรวมไปถึงครอบครัวชาวต่างด้าว เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เด็กชาวไทยประมาณ 177,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กชาย ใช้แรงงานอยู่ในหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคการเกษตร บริการร้านรับซ่อมยานยนต์และบริการอื่น ๆ การก่อสร้าง การผลิต และในงานด้านบริการ เด็กเหล่านี้เสี่ยงที่จะตกอยู่ในสภาพการทำงานที่บ่งชี้ว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน มากกว่าครึ่งของแรงงานเด็กไม่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียน และหลายคนต้องเผชิญสภาพการทำงานที่เป็นอันตราย ชั่วโมงการทำงานที่ยาวและไม่ปกติ ตลอดจนเสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ บิดามารดาหรือนายหน้าบางรายบังคับเด็กชาวไทย กัมพูชา และพม่าให้ขายดอกไม้หรือสินค้าอื่นตามถนน ตลอดจนให้เด็กขอทานหรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตเมือง และยังพบผู้สูงอายุและผู้พิการจากกัมพูชาที่ถูกบังคับใช้ขอทานในไทยด้วย

นักค้ามนุษย์บังคับผู้เสียหายชาวไทยให้ใช้แรงงานและค้าประเวณีในประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง ผู้หญิงและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศชาวไทยถูกแสวงประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ จากการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับค้าประเวณีในสวิตเซอร์แลนด์ บุคคลสัญชาติไทยที่เดินทางไปหาครอบครัวที่นอร์เวย์เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ทางเพศและด้านแรงงาน นักค้ามนุษย์บังคับให้ชายและหญิงชาวไทยใช้แรงงานในภาคการเกษตรที่อิสราเอล โดยแรงงานมีชั่วโมงการทำงานที่ยาว ไม่มีช่วงพักหรือวันหยุด ถูกยึดหนังสือเดินทาง และเปลี่ยนนายจ้างได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับใบอนุญาตทำงาน มีคนไทยประมาณ 185,000 คนทำงานในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีนักค้ามนุษย์บังคับชายและหญิงชาวไทยให้ใช้แรงงานหรือค้าประเวณี ด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมไปถึงการบังคับให้ผู้เสียหายที่ติดหนี้เจ้าของสถานบันเทิงหรือผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบนั้น ค้าประเวณี

นักค้ามนุษย์และผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองที่ดำเนินการในพม่าและไทยเรียกค่าจ้างประมาณ 10,000-70,000 บาท (334-2,340 เหรียญสหรัฐ) กับแรงงานชาวพม่าเพื่อให้ลักลอบพาเข้าไทย ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า เครือข่ายลักลอบขนคนเข้าเมืองเหล่านี้มีตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นซึ่งมีส่วนรู้เห็นคอยหนุนหลัง ในช่วงต้นปี 2563 แรงงานต่างด้าวประมาณ 60,000-200,000 คนเดินทางออกจาประเทศไทยทั้งก่อนหน้าและภายหลังการปิดพรมแดนเพื่อรับมือโรคระบาด ภายหลังแรงงานกลุ่มดังกล่าวจำนวนมากเดินทางกลับไทยโดยผิดกฎหมายตลอดปี 2563 และมักจ่ายค่าจ้างให้นักลักลอบขนคนเข้าเมืองพากลับมา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ นักลักลอบขนคนเข้าเมือง นายหน้า นายจ้าง และบุคคลอื่นแสวงประโยชน์จากแรงงานชาวไทยและชาวต่างด้าวด้วยการค้ามนุษย์ด้านแรงในภาคการประมงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมสัตว์ปีก อุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร งานรับใช้ตามบ้าน และการขอทานตามถนน แรงงานจำนวนมากจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงให้กับนายหน้า สำนักงานจัดหางาน และบุคคลอื่นก่อนและหลังเดินทางถึงประเทศไทย บ่อยครั้งนักค้ามนุษย์บังคับใช้แรงงานผู้เสียหายโดยบีบบังคับเพราะผู้อพยพติดหนี้อยู่ ตลอดจนใช้กระบวนการการจ้างงานที่หลอกหลวงแรงงาน การยึดเอกสารประจำตัวและบัตรเอทีเอ็ม การหักค่าจ้างโดยผิดกฎหมาย ความรุนแรงต่อร่างกาย และวิธีการอื่น ๆ กับผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงาน นายจ้างยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานเพื่อบังคับให้พวกเขาไม่เปลี่ยนงาน ซึ่งพบได้บ่อยในสวนทำเกษตร นอกเหนือจากการจ่ายค่าตอบแทนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำและไม่ให้แรงงานมีวันหยุด คนงานในภาคการแปรรูปอาหารทะเลและภาคการประมงต้องเผชิญกับการบังคับให้ทำงานล่วงเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการอาหารทะเลที่สามารถเก็บรักษาโดยไม่ต้องแช่เย็นได้มากขึ้นระหว่างการเกิดโรคระบาดใหญ่ และยังต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยด้วย

เจ้าของเรือประมง นายหน้า และลูกเรืออาวุโสบังคับใช้แรงงานชายและเด็กชายชาวไทย พม่า กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย บนเรือจับปลาที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ บางคนได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหรือได้รับไม่สม่ำเสมอ เป็นหนี้นายหน้าและนายจ้าง ทำงานมากถึง 18-20 ชั่วโมงต่อวันตลอดทั้งสัปดาห์ และไม่มีอาหาร น้ำ หรือเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ ไต้ก๋งบางรายข่มขู่ เฆี่ยนตี และวางยาชาวประมงเพื่อให้ทำงานได้นานขึ้น รวมทั้งขายยาให้ชาวประมงเพื่อทำให้พวกเขาเป็นหนี้มากขึ้น ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์บางรายในภาคการประมงประสบปัญหาในการเดินทางกลับบ้านเกิดเนื่องจากสถานที่ทำงานอยู่ห่างไกล ไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีเอกสารประจำตัวที่ถูกกฎหมาย หรือไม่มีวิธีเดินทางกลับบ้านของตนได้อย่างปลอดภัย นายจ้างในภาคการประมงและการแปรรูปอาหารทะเลมักจะดำเนินการหักค่าจ้างด้วยวิธีการที่สร้างความสับสน โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมเอกสาร เงินล่วงหน้า และค่าดำเนินการอื่น ๆ ทำให้เป็นเรื่องยากที่แรงงานจะทราบถึงจำนวนค่าจ้างที่ถูกต้องของตน การศึกษาวิจัยหลายฉบับที่ตีพิมพ์ในปี 2562 และ 2563 พบว่า ร้อยละ 14 ถึง 18 ของแรงงานประมงต่างด้าวถูกแสวงประโยชน์โดยการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการประมงไทย ซึ่งบ่งชี้ว่านักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากแรงงานนับหลายพันคนบนเรือประมง

การทุจริตยังคงเป็นเหตุบ่อนทำลายความพยายามในการต่อต้านและปราบปรามการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการรับสินบนหรือกู้ยืมเงินจากเจ้าของกิจการและสถานค้าประเวณีที่ซึ่งผู้เสียหายถูกแสวงประโยชน์ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ทุจริตอำนวยให้มีการค้ามนุษย์โดยรับสินบนจากนายหน้าและผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองตามแนวชายแดนไทย มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลบางรายปกป้องสถานค้าประเวณี สถานบริการทางเพศอื่น ๆ เจ้าของโรงงาน และเจ้าของเรือประมงจากการบุกตรวจค้น การตรวจสอบ และการดำเนินคดี อีกทั้งยังสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นบางรายปิดบังข้อมูลจากพนักงานอัยการเพื่อปกป้องนักค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายได้รับประโยชน์จากสินบนและจากการมีส่วนพัวพันโดยตรงในการขู่กรรโชกและแสวงประโยชน์จากผู้อพยพ