บริษัทซิโนไทย

ซิโนไทย ทำธุรกิจอะไรบ้าง ? ชำแหละขุมทรัพย์ ซิโนไทย หนึ่งในสามยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างของไทย

ไม่มีใครปฏิเสธว่า “ซิโน-ไทย” คือสามยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง

ปี 2562 อายุของบริษัทล่วงเลยมากว่า 57 ปี นับเป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายแรกในประเทศไทยที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์

กลายเป็นชื่อสองในตลาดหุ้นในนาม STEC (Sino Thai Engineering and Construction) หรือ ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

เรื่องความยิ่งใหญ่คงไม่มีใครปฏิเสธ เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอภิมหาโครงการแทบทุกอุตสาหกรรมล้วนผ่านฝีไม้ลายมือการก่อสร้างของ STEC มาแล้วทั้งสิ้น

เรียกได้ว่ามีการเปิดประมูลที่ไหน…”ซิโน-ไทย” ไม่พลาด

ย้อนอดีต STEC ต้นกำเนิด ‘ชาญวีรกูล’

ซิโน-ไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2505 โดยช่วงก่อตั้งได้จดทะเบียนเป็น หจก. และใน 5 ปีต่อมาจึงเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบของ ‘บริษัท’

31 ปีต่อมาหลังจากก่อตั้ง บริษัทก็ติดนามสกุล ‘มหาชน’ ในปี 2536

แรกเริ่มเดิมที ซิโน-ไทย ยังไม่ใช่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเหมือนทุกวันนี้ เพราะในตอนแรก “ชววัตน์ ชาญวีรกูล” โฟกัสเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเหล็กเท่านั้น ต่อมาเมื่อกิจการขยับขยายมากขึ้นจึงขยับสเกลมาสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเวลาต่อมา

‘ชวรัตน์’ ส่งไม้ต่อให้ลูกชายชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หรือที่หลายคนรู้จักในนาม ‘เสี่ยหนู’ นั่งแท่นผู้จัดการทั่วไป ก่อนเปลี่ยนเป็นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในเวลาต่อมา

คงไม่ต้องพูดถึงความ ‘บิ๊ก’ ของซิโน-ไทย มากนัก เพราะด้วยชื่อเสียงเรียงนาม และรายได้ในแต่ละปีต้องแตะหมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน ‘เสี่ยหนู’ เข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว และ (อาจ) ไม่ได้บริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ด้วยสัดส่วนผู้ถือหุ้นเป็นลำดับ 4 ที่ 4.69% ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตระกูลชาญวีรกูล” ยังเป็นร่มเงาให้แก่ “ซิโน-ไทย”

STEC ปี 61 รายได้ 1.8 หมื่นล้าน

STEC ทำธุรกิจ 5 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) อาคารก่อสร้าง (Building) พลังงาน (Power & Energy) เกี่ยวกับอุตสาหกรรม (Industrial) และสิ่งแวดล้อม (Environment)

สำหรับผลประกอบการย้อนหลังทรงดีมาอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่ปี 60 ที่ฟอร์มตก

2558 รายได้รวม 18,927 ล้านบาท กำไร 1,526 ล้านบาท

2559 รายได้รวม 18,649 ล้านบาท กำไร 1,380 ล้านบาท

2560 รายได้รวม 21,190 ล้านบาท ขาดทุน 610.83 ล้านบาท (บริษัทให้เหตุผลว่ามาจากต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และปัญหาการส่งมอบพื้นที่ ทำให้ต้องขยายเวลาก่อสร้าง)

ปี 2561 รายได้รวม 28,000 ล้านบาท กำไร 1,616 ล้านบาท

โดย “ซิโน-ไทย“ ยังมีบริษัทย่อยอีก 4 แห่ง ดังนี้

เอช ที อาร์ ถือหุ้นร้อยละ 80.60 ประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

นูเวล พร็อพเพอตี้ ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ค้าที่ดิน จัดสรร จัดหาที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์

วิสดอม เซอร์วิสเซส ถือหุ้นร้อยละ 100.00 ให้เช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้าง

สเตคอน เพาเวอร์ ถือหุ้นร้อยละ 99.97 ประกอบกิจการเกี่ยวกับโรงผลิตไฟฟ้าทุกประเภท

จุดประสงค์ของบริษัทย่อยก็เพื่อสร้างคูเมืองให้ “ซิโน-ไทย” แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

เก็บเรียบ Infrastructure

โครงสร้างพื้นฐานที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ มากกว่า 50% ล้วนผ่านฝีมือการก่อสร้างของซิโน-ไทยมาแล้วทั้งสิ้น

เริ่มที่ ‘คมนาคม’ อย่าง BTS สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ/BTS ส่วนต่อขยายสายสีลม สายธนบุรี และ สายตากสิน-เพชรเกษม กับโครงสร้างต่างๆ อาทิ สะพานและราง

รวมไปถึง ‘แอร์พอร์ตลิ้งก์’ ด้วยวงเงินเกือบ 26 ล้านล้านบาท กับระยะทาง 28.5 กิโลเมตร 8 สถานี ตั้งแต่พญาไทไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิ

โปรเจกต์ที่กำลังดำเนินงานยังมีอีกเช่น โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย

เช่นเดียวกับ ‘ถนน’ และ ‘สะพาน’ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก็กวาดไปไม่น้อยเช่นกัน

ตั้งแต่โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อม ถ. ราชพฤกษ์-ถ. กาญจนาภิเษก (แนวตะวันออก-ตะวันตก) พร้อมสะพานกลับรถ/ทางด่วนพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก/สะพานพระราม 4/สะพานพระราม 8/ทางใต้ดินเชื่อมผ่านพื้นที่ปากเกร็ด/ถนนทิศใต้ระหว่างทางเชื่อมไปสนามบินสุวรรณภูมิกับถนนเส้นบูรพาวิถี ฯลฯ และปัจจุบันกำลังก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช

ส่วนกลุ่มอาคาร “ซิโน-ไทย” ก็เก็บได้ทั้งโครงการรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง/ศูนย์ราชการกรุงเทพฯ/อาคารการกีฬาแห่งประเทศไทย/โครงการ The park @ Chidlom/โครงการก่อสร้าง เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่/ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต

ที่สำคัญยังมี สัปปายะสภาสถาน อีกด้วย

อ่าน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โครงการ “พลิกชีวิต” ผู้คนย่านเกียกกาย-บางโพ-เตาปูน

ฟากอาคาร ‘สนามบิน’ ก็ไม่น้อยหน้า เพราะหลายๆ โครงการก็ผ่านฝีมือซิโน-ไทยมาแล้วเช่นกัน อาทิ สนามบินเชียงใหม่/ศูนย์ควบคุม ณ สนามบินสุวรรณภูมิ/ศูนย์ซ่อมบำรุงและรักษา ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ฯลฯ

บริษัทซิโนไทย

ซิโนไทย กับกลยุทธ์ ยักษ์จับยักษ์ ชนยักษ์

เมื่อซิโน-ไทยเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม ดังนั้น คู่แข่งก็ย่อมเป็นยักษ์ใหญ่เช่นเดียวกัน โดยมีทั้งคู่ฟัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่าง อิตาเลียนไทย และ ช. การช่าง และนอกตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ฤทธา จำกัด หรือ บริษัท สี่พระยาก่อสร้าง จำกัด ฯลฯ

หนึ่งในกลยุทธ์ของธุรกิจนี้คือการหาพาร์ตเนอร์ที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้วยกัน แล้วจับมือกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่มากขึ้น ทั้งในด้านชื่อและความได้เปรียบในการควบคุมต้นทุน ดังจะเห็นได้ว่าหลายโครงการขนาดใหญ่จึงไม่ได้มีเพียงบริษัทเดียวรับเหมาทั้งหมด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ที่ปะทะกันระหว่าง 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม CP และ กลุ่ม BTS

โดยกลุ่ม BTS หรือ BSR (BSR Joint Venture) มี BTS ถือหุ้น 60% ตามมาด้วย “ซิโน-ไทย” 20% และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) อีก 20%

แต่สุดท้ายเป็นกลุ่ม CP ที่ชนะการประมูลโครงการดังกล่าว เพราะยื่นขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากลุ่มบีทีเอสถึง 52,707 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ลักษณะของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะเน้นไปที่ ‘การประมูล’ โครงการต่างๆ กล่าวคือใครเสนอราคาได้ต่ำกว่าอีกเจ้าก็ถือว่าเป็นผู้รับงานนั้นไป

การรักษาสมดุลระหว่างต้นทุนและกำไรที่คุ้มค่าแก่การลงทุน คือสิ่งสำคัญที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องบริหารให้เหนือกว่าคู่แข่ง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง Line@ : @marketeer

บริษัทซิโนไทย
บริษัทซิโนไทย