ฆราวาสธรรม 4 ใช้ในชีวิตประจําวัน

หลังจากที่ได้นำเสนอการฝึกจิตไปแล้ว ทั้งสมาธิและการดูจิต ต่อมาสำหรับหลักการปฏิบัติตนที่ขาดไม่ได้เลย คือการฝึกฝนตนให้เป็นคนดีพร้อม เพื่อที่ความรักจะได้สมหวังดีพร้อมเช่นกัน เพราะถ้าหากเรามีความบกพร่องหลายประการ เป็นคนที่ไม่ดีพอ ก็จะเหมือนกับโอ่งที่รั่ว แม้มีน้ำไหลเข้าโอ่ง น้ำก็ย่อมไหลออกทางรูรั่วอยู่ดี และถึงแม้ในพุทธศาสนาจะมีคำกล่าวที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั้นมีทุกข์” ซึ่งอาจตีความหมายคำว่า “รัก” คือ “ความทุกข์” แต่อย่างไรก็ดี ในหลักคำสอนของพุทธศาสนาก็ไม่ได้ปฏิเสธให้คนไร้ความรัก แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มีหลักธรรมที่สอนให้คนรักกันอย่างดีมีศีลธรรม ปฏิบัติตนอย่างผู้ที่เจริญแล้ว และครองเรือนอย่างมีคุณค่า มีหลักธรรมในหัวใจ ซึ่งหลักธรรมที่ใช้ในการปฏิบัติตนสำหรับทุกคนที่มีความรัก คือ “ฆราวาส ธรรม 4”

หลักฆราวาสธรรม 4 นี้ จะสอนให้คนเรารู้จักการดำเนินชีวิตทางโลกอย่างผู้ประสบความสำเร็จ ซึ่ง ฆราวาสธรรม ประกอบด้วย 2 คำ “ฆราวาส” แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก ผู้ครองเรือน และ “ธรรม” แปลว่า ความถูกต้อง ความดีงาม นิสัยที่ดีงาม ฆราวาสธรรม ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ โดยหลักธรรม 4 ประการนี้ มีความสำคัญต่อการสร้างตัวของฆราวาสมาก

ในพระไตรปิฎกบันทึกว่า พระพุทธองค์ทรงให้เหล่าสาวกของพระองค์ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศให้คนเราได้เท่ากับการมี “สัจจะ” หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี “ทมะ” หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี “ขันติ” หรือไม่ และมีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี “จาคะ” หรือไม่

ซึ่งการที่พระพุทธองค์ทรงให้สาวกของพระองค์ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างยิ่งยวดว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าธรรมะอันประเสริฐ 4 ประการนี้ ดังนั้นแล้ว หากบุคคลต้องการที่จะประสบความสำเร็จทั้งในชีวิต การงาน ตำแหน่ง ฐานะ และความรัก เขาผู้นั้นต้องสร้าง สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะให้เกิดขึ้นกับตน ตามหลักฆราวาสธรรม 4 ยิ่งถ้าสร้างและพัฒนาตัวเองจนเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนได้นั้น ก็จะทำให้สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน

เมื่อหลักฆราวาสธรรม 4 มีประโยชน์อเนกอนันต์ดังกล่าวแล้ว เรามาดูข้อปฏิบัติของหลักธรรมทั้ง 4 ประการนี้ดีกว่า ได้แก่

1. สัจจะ

แปลว่า จริง ตรง แท้ เป็นหลักความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อคนที่เรารัก ซึ่งธรรมชาติของคนเรานั้นก็ย่อมต้องการความจริงใจ หากไม่มีความจริงใจให้กัน อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องรู้ตัวแน่ๆ บางคนขนาดไม่ค่อยสนิทกันยังรู้เลยว่าคนอื่นไม่จริงใจกับตนเอง ดังนั้นการคบหาสมาคมระหว่างบุคคลในสังคมไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด จำต้องมีหลักธรรมสัจจะข้อนี้อยู่ด้วยเสมอ แต่การมีความจริงใจอย่างเดียวโดยไม่แสดงออกก็ยังไม่พอ เพราะการแสดงออกซึ่งความซื่อสัตย์และความจริงใจต่อบุคคลที่เรารู้จัก จะทำให้เป็นรากฐานสำคัญที่สืบสานความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งหากมีความจริงใจและซื่อสัตย์ ความสัมพันธ์ต่อกันก็จะสามารถสานต่อสัมพันธ์กันในระยะยาวได้ต่อไป

ส่วนสำหรับคนที่มีความรักนั้น การมีความซื่อสัตย์และความจริงใจให้คนรักนั้น จะต้องดูแลและพิถีพิถันมากกว่าคนทั่วไป เพราะการมีชีวิตคู่นั้นย่อมต้องการทำให้เกิดความไว้วางใจ ความเชื่อใจระหว่างคู่รัก หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดสัจจะต่อคนรัก ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความร้าวฉานได้ง่าย ทำให้ทั้งสองฝ่ายหวาดระแวงแคลงใจกัน และไม่ยากนักที่จะแตกหัก เลิกรากันไป ยากที่จะประสานให้คืนดีได้ดังเดิม

ดังนั้นแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง หลายคนจึงได้ให้นิยามความรักว่าคือ การมีความจริงใจให้แก่กัน ซึ่งตามหลักความเป็นจริงแล้ว ความจริงใจและความซื่อสัตย์ก็ควรเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่บุคคลที่รักกันพึงมีให้แก่กันเป็นอันดับแรก เพราะคนรักกันถ้ายังไม่จริงใจต่อกัน ก็เหมือนกับไม่ได้รักกันจริง หรือเป็นรักลวง หรือรักจอมปลอมนั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้วหากเรามีความจริงใจต่อผู้อื่น เราก็จะได้รับความจริงใจกลับมานั่นเอง

อานิสงส์ของการมีสัจจะได้แก่ เป็นคนมีความรับผิดชอบ เป็นคนหนักแน่นมั่นคง ชีวิตและหน้าที่การงานมีความเจริญก้าวหน้า มีคนเคารพยกย่อง มีคนเชื่อถือและเกรงใจ มีคนรักใคร่นิยม พบเจอกับรักแท้ มีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้น

โทษของการขาดสัจจะ ได้แก่ ไม่มีความรับผิดชอบ เป็นคนเหลาะแหละ ไร้ความสามารถในการทำงาน ชีวิตพบแต่ความตกต่ำ ไร้คนรักจริง มีแต่คนดูถูก ไร้คนเชื่อถือ ไร้ความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน มียศเสื่อมยศ มีลาภเสื่อมลาภ เป็นต้น

2. ทมะ

แปลว่า การข่ม ใจ การปรับตัว ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ มีความหมายไปในทางการรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ของตนเอง ซึ่งหลักธรรมข้อนี้มีมาตั้งแต่ก่อนที่จะค้นพบอีคิวกันแล้วนะครับ ซึ่งทมะนี้ หากคนไหนมีสูงก็จะควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดี หากใครมีต่ำก็จะมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ของตนเอง เรียกง่ายๆ ว่าอีคิวต่ำนั่นเอง ซึ่งการอยู่ร่วมกันในสังคม หรืออยู่กับคนที่เรารักนั้น เราต้องปรับตัวเข้าหาเขาและเขาต้องปรับตัวเข้าหาเรา ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแข็งขืน ไม่ยอมเข้าใจและปรับตัวเข้าหากัน ก็จะทำให้ชีวิตรักหรือชีวิตคู่ไม่สมหวังดั่งตั้งใจ

ยิ่งคนเรานั้นแต่ละคนต่างมาจากพื้นฐานชีวิตและประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ดั่งคำว่า “ร้อยพ่อพันแม่” ดังนั้น จึงไม่มีใครที่สามารถเป็นได้ทุกอย่างตามที่ใจของเราคิด และตัวเราเองก็เช่นเดียวกันที่ไม่สามารถเป็นไปได้ทุกอย่างตามใจคนอื่นต้องการ ด้วยความแตกต่างกันเช่นนี้ เราจึงต้องยอมรับข้อบกพร่องและความแตกต่างของกันและกันให้ได้ คู่รักหลายคู่เลิกกันด้วยเหตุผลความแตกต่างจนสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้อีกฝ่ายเป็นอย่างมาก เพราะเหตุผลของความแตกต่างไม่น่าจะนำมาเป็นเหตุผลแห่งการเลิกรักกันเลย เพราะไม่มีใครในโลกนี้ไม่มีใครหรอกที่จะไม่แตกต่างกัน

“ทมะ” จึงเป็นการฝึกข่มใจระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน พูดง่ายๆ ว่า รู้จักทนกันให้ได้ รู้จักยอมรับในความต่างของกันและกัน รู้จักฝึกฝนปรับปรุงตน รู้จักแก้ไขข้อบกพร่อง ปรับนิสัยและอัธยาศัยให้กลมกลืนประสานเข้าหากันได้ ไม่เป็นเอาแต่ใจตนเอง หรือดื้อรั้นเอาอารมณ์ของตนเป็นใหญ่โดยที่ไม่สนใจอีกฝ่ายเลย การมีทมะก็เพื่อที่จะทำให้เรายอมรับในข้อบกพร่องของคนรักของเราหรือผู้อื่นได้ รวมทั้งจุดเด่น จุดดีของเขาด้วย

หลักอันแท้จริงของทมะ ก็คือการใช้สติและปัญญาในการตัดสินใจ ควบคุมจิตใจ ในการทำความเข้าใจคนที่เรารัก รวมถึงเข้าใจถึงความเป็นไปอันแท้จริงของโลกนี้ด้วย หากเราไม่มีธรรมะข้อนี้ เท่ากับว่าเราเป็นคนที่ขาดการใช้สติปัญญาในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ซึ่งผลร้ายของการปล่อยให้อารมณ์ หรือข้อบกพร่องที่มีมาควบคุมเราได้นั้น ก็จะกลายเป็นเหตุให้เราแตกแยกความสามัคคีกับคนที่เรารัก หรือกับผู้อื่น การที่ไม่สามัคคี หรือไม่ลงรอยกันเป็นแค่อาการเบื้องต้นของการที่เรามีหลักธรรมทมะต่ำ แต่อาการขั้นต่อไปนั้น ความแตกร้าวจะทำลายชีวิตคู่รักให้แตกขาดจากกันอย่างสมบูรณ์แบบในที่สุด

จากที่กล่าวไปแล้ว เมื่อทุกคนต่างรู้ดีว่า ไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่าง ทุกคนต้องเข้าใจในข้อด้อยและข้อเด่นของผู้อื่น เมื่อเข้าใจผู้อื่นแล้วก็จึงจะเป็นผู้ที่สามารถได้รับความเข้าใจจากคนที่เรารัก หรือคนอื่นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งหลักธรรมข้อนี้นั้น ก็เหมือนเช่นข้ออื่นๆ คืออาจจะดูจับต้องยากสักหน่อย แต่ถ้าเราพยายามฝึกหัดควบคุมใจของตนทีละน้อย ให้เป็นผู้ที่บังคับควบคุมอารมณ์และจิตใจของตนเอง ให้ทำใจกับปัญหาและความแตกต่างที่เกิดขึ้น เราก็จะเป็นผู้หนึ่งที่ได้ผลดีแห่งความสุข สมหวังในรักจากหลักธรรมข้อนี้

อานิสงส์ของการมีทมะ ได้แก่ ทำให้เป็นคนรักการฝึกฝนตนเอง มีความสามารถในการทำงาน ไม่มีศัตรู ไม่มีความแค้นกับใคร สมารถยับยั้งตนเองไม่ให้หลงไปทำผิด หรือหลงไปในทางที่ผิดได้ สามารถตั้งตัวได้ มีสมองดี มีปัญญาเป็นเลิศ มีใจที่สงบสุขเพราะควบคุมอารมณ์ได้ เป็นต้น

โทษของการขาดทมะ ได้แก่ ไม่ฝึกฝนตนเอง ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ขาดความสามารถในการทำงาน หลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย เข้าใจผิดในเรื่องต่างๆ ได้บ่อย เกิดการทะเลาวิวาทได้ง่าย มักลุ่มหลงในอบายมุข ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน สร้างเนื้อสร้างตัวให้ดีได้ยาก เป็นคนโง่เขลา ปัญญาทึบ มีสติน้อย มักทำงานใดๆ ผิดพลาดเสมอ เป็นต้น

3. ขันติ

แปลว่า ความอดทน อดกลั้น ซึ่งหลักธรรมข้อนี้ ไม่ใช่เพียงจำเป็นต่อชีวิตคู่เท่านั้น แต่เป็นหลักที่สำคัญมาก ที่ต้องมีหากต้องการให้ชีวิตสมหวัง สำเร็จดั่งใจหมาย ความอดทนนั้น เป็นหลักการตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ซึ่งแม้แต่ปัจจุบันนี้ก็ตาม หากใครไม่มี ดูเหมือนว่า ชีวิตนี้จะยากที่จะประสบความสำเร็จได้ และสำหรับชีวิตคู่นั้น นอกจากจะต้องมีความซื่อสัตย์ ความจริงใจ และความเข้าใจกันแล้ว จะต้องมีความอดทนอดกลั้นอีกด้วย

เพราะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนอกจากจะมีข้อขัดแย้งแตกต่างทางด้านอุปนิสัย การอบรม ประสบการณ์เดิม บางครั้งก็อาจมีอุปสรรคมาให้ร่วมเผชิญ หรือบางครั้งอาจมีการทะเลาะเบาะแว้ง บาดหมางกัน ซึ่งไม่ว่าจะโดยคำพูดหรือการกระทำ จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรู้จักอดกลั้นระงับใจ ไม่ก่อเหตุให้เรื่องลุกลามกว้างขยายต่อไป เรื่องร้ายที่น่าจะลุกลามจึงจะระงับ สงบลงไป แต่ถ้าระงับห้ามใจไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ก็จะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ในที่สุดก็ต้องเลิกรากันไป

หลักขันตินั้นจะแตกต่างจากหลักของทมะ ตรงที่ขันติมุ่งอดทนที่ร่างกายเป็นหลัก ส่วนหลักของทมะนั้น มุ่งอดทนที่จิตใจและอดทนที่อารมณ์ คนที่มุ่งมั่นจะฝึกให้ขันติมีมากแก่ตน ต้องอดทนต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะในชีวิตคู่ เราต้องอดทนทั้งต่อตัวเราเอง และอดทนกับคนที่เรารัก เพราะในการใช้ชีวิตร่วมกับคนที่เรารัก อาจต้องพบเจอกับความลำบากตรากตรำ และเรื่องหนักใจต่างๆ ในการประกอบการงานอาชีพ อุปสรรคก็จะถาโถมเข้ามามาก หากอดทนไม่ไหว ก็จะทำให้พาครอบครัวไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ดังนั้นแล้วสำหรับชีวิตคู่ การร่วมหัวจมท้ายที่จะอดทนเผชิญและฟันฝ่าต่อความยากลำบากไปด้วยกันถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความรักของคนทั้งสองด้วย โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสบความตกต่ำคับขัน ทั้งคู่จะต้องมีสติ อดทน อดกลั้น คิดหาอุบาย หรือใช้ปัญญาหาทางแก้ไข ฝ่าฟันไปให้ได้ ความอดทนเพียรพยายามเท่านั้น ที่จะเป็นกำลังใจให้ซึ่งกันและกัน จนสามารถผ่านพ้น เหตุการณ์เลวร้ายไปด้วยกันได้

แต่หากขาดความอดทนแล้ว ทั้งคู่ก็จะไม่สามารถประสานใจ ร่วมกันประคับประคองพากันให้รอดพ้นเหตุร้ายต่างๆ ได้ หรือแม้แต่จะอดทนอยู่ด้วยกันตลอดรอดฝั่งก็นับว่ายาก บางคู่ บางคน อดทนอะไรนิดหน่อยก็ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเลิกรากันไป แต่หลายคู่แม้ทะเลาะกันนับพันๆ หน ก็ยังอยู่ด้วยกันได้จนแก่ จนเฒ่า จนตายจากกันไป ก็นับว่าเป็นหลักธรรมเรื่องขันตินี้เอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีบางคนให้นิยามของความรักว่า “รักคือการอดทน” หรือรักคือ “การอยู่เคียงข้างกัน ไม่ว่าในเวลาที่ทุกข์หรือสุข” ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่าคู่รักบางคนที่มุ่งแต่จะเอาความสะดวกสบายจากคนรัก พอไม่ได้ก็ทิ้งกันไป เช่นนี้แล้วนับเป็นบุญวาสนาของคนที่โดนทิ้งมาก เพราะว่าคนที่ไม่มีความอดทน ถึงจะอยู่ด้วยกันยังไง ก็ไม่มีทางสร้างความเจริญให้ครอบครัวไปได้อย่างแน่นอน

อานิสงส์ของการมีขันติ ได้แก่ ทำให้อดทนต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้ ทำงานได้ดี เป็นที่พึ่งและหลักในครอบครัวได้ เป็นที่พึงให้คนอื่นที่เดือดร้อนได้ ทำให้ไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับคนอื่น ไม่หลงผิดไปทำความชั่ว และทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังได้ เป็นต้น

โทษของการขาดขันติ ได้แก่ เป็นคนเหลาะแหละ ทำให้ผู้อื่นดูถูกเหยียดหยาม ไม่สามารถอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคใดๆ ได้เลย เป็นคนจับจด ทำงานอะไรก็ไม่สำเร็จ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ หลงผิด ทำชั่วได้ง่าย ไม่มีใครไว้วางใจจากผู้อื่น มีศัตรูมาก ชีวิตไม่มีความเจริญก้าวหน้า ไม่มีทางประสบความสำเร็จ หรือร่ำรวยได้ เป็นต้น

4. จาคะ

แปลว่าความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปันหรือคือการให้นั่นเอง จาคะนั้นมีความหมายรวมถึงรู้จักสละสิ่งของช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ซึ่งโดยปกติของชีวิตคู่นั้น เราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลคนรักของเราตลอดเวลา เรียกว่าต้องแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมุ่งจะเอากับคนรักอย่างเดียว ก็จะทำให้เกิดการเบื่อหน่าย เข้าทำนองรู้ว่า อีกฝ่ายหนึ่งตั้งใจจะเอาเปรียบ ทำให้ไม่อาจอยู่ร่วมกันยืดได้ ซึ่งการให้ที่ดีนั้น จะต้องอยู่บนหลักของ ผู้ให้ให้ด้วยความเต็มใจ ผู้รับก็รับด้วยความสุข ผู้ให้ก็จะมีความสุขไปด้วย แต่ถ้าเป็นการบังคับเอากับผู้อื่นโดยที่ผู้ให้ก็ไม่เต็มใจจะให้ ย่อมไม่ทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ

การให้ในหลักของจาคะนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการให้ เผื่อแผ่ แบ่งปันสิ่งของเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่กัน การแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลอดจนการเสียสละความพอใจและความสุขส่วนตนได้ เช่น ในคราวที่คู่ครองประสบความทุกข์ ความเจ็บไข้ หรือมีความลำบากต้องการความช่วยเหลือ ก็สามารถช่วยเหลือ เสียสละความสุขความพอใจของตน ตลอดจนสิ่งของที่มี เสียสละ ขวนขวายช่วยเหลือ เอาใจใส่ดูแล เป็นที่พึ่งอาศัย เป็นกำลังส่งเสริม หรือช่วยให้กำลังใจให้อีกฝ่ายได้

ซึ่งผู้ที่มีจาคะนั้น ถือว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ ไม่คับแคบเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จำเป็นและจำเป็นต่อชีวิตคู่มาก อีกประเด็นที่สำคัญมากและคนมักมองข้ามกันก็คือ “การให้อภัย” การให้อภัยมักไม่ถูกรวมกับการให้โดยทั่วไป ทั้งๆ ที่มีความสำคัญมาก การให้อภัยนั้น อาจเป็นการสรุปนิยามของความรักที่ดีก็ได้ เพราะเมื่อเราให้อภัยแก่คนที่เรารัก ก็เป็นการแสดงไมตรีจิตเรื่องความจริงใจของเราเอง เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับความแตกต่าง การเข้าใจในอีกฝ่าย และความอดทนอดกลั้นในความผิดที่คู่รักได้ก่อขึ้น ไม่คิดแก้แค้น ไม่คิดเอาคืน มีแต่ความรักให้กันและพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคด้วยกันอีกครั้ง ดังนั้น การให้อภัยจึงเป็นจุดรวมของ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ที่กล่าวไปแล้วด้วย

อานิสงส์ของการมีจาคะ ได้แก่ ทำให้มีอารมณ์ผ่องใสติดตัว มีนิสัยเสียสละแก่ผู้อื่น รักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง ทำให้ตนเองปลอดภัย คนอื่นนับหน้าถือตา ครอบครัวและสังคมเป็นสุข มีเพื่อนดีๆ รอบตัว จิตใจมีความสุข ช่วยชำระล้างจิตใจที่สกปรกเห็นแก่ตัว ทำให้คนรักรักเรามากขึ้น เป็นต้น

โทษของการขาดจาคะ ได้แก่ จิตใจเกิดความตระหนี่ถี่เหนี่ยว เป็นคนเห็นแก่ตัว ได้รับคำครหาติเตียน มีความทุกข์ในใจ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ไร้เพื่อนฝูงและบริวาร ไร้คนรักและเห็นใจ ไม่มีใครรักจริง เป็นต้น

สรุปแล้ว หลักการมีฆราวาสธรรม 4 จะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและครอบครัว หากเรามีไว้ แม้เราเป็นคนโสด ไม่ใช่ผู้ครองเรือน หลักคุณธรรมนี้ก็จะเหนี่ยวนำให้มีคนรัก มีเมตตา ทำให้สมหวังในความรักและคู่ครองได้ ซึ่งโดยรวมก็คือ เมื่อมีสัจจะย่อมมีเกียรติยศชื่อเสียง มีผู้คนเชื่อมั่น เมื่อมีทมะย่อมได้รับปัญญา ควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อมีขันติย่อมเกิดทรัพย์และความสำเร็จที่ตั้งใจไว้ และเมื่อมีจาคะย่อมเกิดมิตรที่ดี เกิดคนรักใคร่ ทำให้มีสมัครพรรคพวกที่ดีในสังคม เป็นต้น

ส่วนโทษของการขาดฆราวาสธรรมโดยรวมก็คือ เมื่อขาดสัจจะย่อมเกิดปัญหา ถูกหวาดระแวง ไม่มีใครเชื่อถือ เมื่อขาดทมะย่อมเป็นผู้มีภาวะทางอารมณ์ต่ำ มีแต่ความโง่เขลา เบาปัญญา เมื่อขาดขันติย่อมเกิดปัญหาความยากจน จะทำอะไรก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า และเมื่อขาดจาคะย่อมเกิดปัญหาความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้น ไม่มีใครรัก มีแต่คนอื่นชัง เป็นต้น

หลัก ฆราวาสธรรม ทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่มีมาสองพันกว่าปีแล้ว แต่ก็นับเป็นหลักธรรมที่ทันสมัย สามารถเกื้อหนุนชีวิตคู่และความรักในปัจจุบันให้สมหวังได้ หลักฆราวาสธรรมนี้ ไม่เพียงแต่ยังเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้มีความรักที่ดีระหว่างคู่รักเพียง 2 คนเท่านั้น แต่สามารถที่จะนำไปปฏิบัติกับทุกคนในสังคมที่เราอาศัยอยู่ด้วย หรือนำไปพัฒนาตนเองเฉพาะบุคคลก็ย่อมดีมากเช่นกัน เพื่อที่จะทำให้สังคมมีแต่ความสงบสุขและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักที่มอบให้กันและกัน

ฆราวาสธรรม 4 มีอะไรบ้าง

ฆราวาสธรรม 4 ประการ 1. สัจจะ (ความซื่อสัตย์) 2. ทมะ (การฝึกตน) 3. ขันติ (การอดทน) 4. จาคะ (การบริจาค/การเสียสละ)

หลักธรรมฆราวาสธรรม 4 มีความสําคัญต่อการครองเรือนอย่างไร

หลักฆราวาสธรรม 4 เป็นหลักธรรมที่มี ความส าคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความสงบสุขใน สังคม การสร้างความสามัคคีในสังคมก่อให้เกิด ความสุขสวัสดี หากมีการครองคู่ชีวิตจะท าให้มีชีวิต คู่หรือครอบครัวนั้นมีความเป็นอยู่ที่ราบรื่น มีความ ซื่อสัตย์ มีการปรับตัวเข้าหากัน ให้อภัยกันเมื่อฝ่าย หนึ่งฝ่ายใดผิดพลาดตลอดทั้งท าให้ไม่แตกแยก ...

หลักฆราวาสธรรม 4 มีหลักธรรมอะไรบ้าง และมีความหมายอย่างไร อธิบายพอสังเขป

1.สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ 2.ทมะ คือ การฝึกตน 3.ขันติ คือ ความอดทน 4.จาคะ คือ ความเสียสละ

ฆราวาสธรรมเป็นธรรมที่สอนให้เราเป็นอย่างไร

ฆราวาสธรรม 4 คือ 1. สัจจะ คือ ความจริง, ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง 2. ทมะ คือ การฝึกฝน, การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว, รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา