เลือกตั้งนายกรัฐมนตรี 2564

วันที่ 28 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าเรื่อง การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 258 วรรคสี่ ว่าจะให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อใดนั้น

โดยฝ่ายกฎหมายได้พิจารณาและส่งความเห็นให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับทราบข้อสรุปในประเด็นนี้แล้วตั้งแต่ปลาย ต.ค. 64 ระบุว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไป เพราะการกำหนดเงื่อนไขให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้ผลย้อนหลังใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ย่อมขัดหลักกฎหมาย

ส่วนประเด็นรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 ที่แม้จะกำหนดให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้นั้น การปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทน ครม. ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพียงชั่วเวลาหนึ่ง และต้องพ้นจากหน้าที่ภายหลังจากที่ ครม.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เข้าปฏิบัติหน้าที่ หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้นับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ให้นับระยะเวลาดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

ดังนั้น ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงไม่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หากเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 นั่นเท่ากับว่าวาระ 8 ปี จะไปสิ้นสุดที่ประมาณปี 2570 นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองที่ลงรับสมัครเลือกตั้งได้อีกครั้งในการเลือกตั้งรอบหน้า.

พล.อ. ประวิตร เข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลในฐานะรักษาการนายกฯ เมื่อ 26 ส.ค. ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนทุกสำนัก

พลันที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลำดับ 1 ขยับขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่ง "พักงาน" ตั้งแต่ 24 ส.ค. ทุกสายตาก็จับจ้องไปที่ "พี่ใหญ่" ว่าจะบริหารอำนาจในมืออย่างไร

พล.อ. ประวิตรเดินทางเข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งแรกวันนี้ (26 ส.ค.) ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชน โดยปฏิเสธจะตอบคำถามสื่อมวลชนในหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกในการปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ, ความมั่นใจในอำนาจรักษาการนายกฯ รวมถึงการพูดคุยกับ พล.อ. ประยุทธ์ภายหลังทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แม้เอกสารข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุวัน-เวลาที่แน่ชัดว่าการพิจารณาคดี "นายกฯ 8 ปี" จะแล้วเสร็จเมื่อใด แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ใช้คำว่า "คงรู้ดีรู้ชั่ว" ก่อนการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. สอดคล้องกับการคาดการณ์ของหลายฝ่ายว่าคดีนี้น่าจะมีความชัดเจนภายในเดือน ก.ย. เพราะเป็นปัญหาการตีความข้อกฎหมาย อีกทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่มีความสลับซับซ้อน

ในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งอำนาจสูงสุดได้ย้ายจาก พล.อ. ประยุทธ์ ไปอยู่ในมือของ "พี่ใหญ่" อย่าง พล.อ. ประวิตร มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองและกิจกรรมสำคัญ ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง

บีบีซีไทยรวบรวมปฏิทินการเมืองมาไว้ให้ ณ ที่นี้

ฤดูแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. นายกรัฐมนตรีมีบทบาทสำคัญยิ่งในการร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน

บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร มีเก้าอี้ผู้นำทหารว่างลงพร้อมกันถึง 3 ตำแหน่งจากการเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย. นี้ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) นอกจากนี้ยังมีแม่ทัพและแม่ทัพน้อยที่จะถูกสับเปลี่ยนหมุนเวียนเก้าอี้

โผทหารต้องผ่านการพิจารณาและเคาะชื่อโดยคณะกรรมการ 7 คนที่ถูกเรียกว่า "7 เสือกลาโหม" ประกอบด้วย รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ก่อนส่งรายชื่อทั้งหมดไปยังทำเนียบรัฐบาล

ที่มาของภาพ, โฆษกกระทรวงกลาโหม

คำบรรยายภาพ,

พล.อ. ประยุทธ์ เข้าทำงานที่กระทรวงกลาโหม แบบเงียบ ๆ ก่อนเรียก พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ. สุชาติ หนองบัว เลขานุการ รมว.กลาโหม เข้าพบและไปสั่งข้อราชการ เมื่อ 26 ส.ค.

บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจ เก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะว่างลงจากการเกษียณอายุราชการเช่นกัน โดยคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) นัดประชุมเพื่อเคาะชื่อ ผบ.ตร. คนที่ 13 ตามด้วยการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อพิจารณาบัญชีโยกย้ายนายพลสีกากีในระดับรอง ๆ ลงไป ซึ่งมีตำแหน่งว่าง 136 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รอง ผบ.ตร. 4 ตำแหน่ง, ผู้ช่วย ผบ.ตร. 6 ตำแหน่ง, ผู้บัญชาการ (ผบช.) 13 ตำแหน่ง, รอง ผบช. 36 ตำแหน่ง และผู้บังคับการ (ผบก.) อีก 77 ตำแหน่ง

เดิม นายกฯ ประยุทธ์นัดหมายประชุมไว้ 29 ส.ค. นี้ แต่เมื่อมีเหตุถูกสั่ง "พักงาน" จึงต้องเปลี่ยนตัวประธานที่ประชุมเป็น พล.อ. ประวิตร ซึ่งรักษาการนายกฯ ยังเดินหน้าเคาะโผตำรวจในวันเดิม

บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือน แต่ละกระทรวงจะทยอยเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ พล.อ. ประวิตรจะนั่งเป็นหัวโต๊ะ เพื่อขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง ตั้งแต่ตำแหน่งรองอธิบดีหรือเทียบเท่า (ซี 9 เดิม), อธิบดีหรือเทียบเท่า (ซี 10 เดิม) และระดับปลัดกระทรวง (ซี 11 เดิม)

เมื่อผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน เคาะรายชื่อขั้นสุดท้ายแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของรักษาการนายกฯ ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป กระบวนการทั้งหมดนี้จะเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย. เพื่อให้ข้าราชการเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ตั้งแต่ 1 ต.ค.

ศาล รธน. นัดชี้ขาดคุณสมบัติ มท. 2 กับแรงกดดันปรับ ครม.

นอกจากการจัดทัพข้าราชการ อีก "วาระร้อน" ที่อาจก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง หนีไม่พ้น กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 14 ก.ย. ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (8) หรือไม่ หลังเคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ทำให้เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ

แม้คดีนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ถ้า มท.2 ต้องพ้นเก้าอี้ คาดว่าจะมีแรงกดดันให้เกิดการปรับ ครม. ในช่วงปลายรัฐบาล หลังนักการเมืองพรรครัฐบาลเดินเกมทั้งบนดิน-ใต้ดิน เคลื่อนไหวข้ามปีตั้งแต่ 2564-2565 แต่ต้องประสบความล้มเหลว เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ปัดตกทุกรอบ-ท่องคาถา "ไม่มี" และ "ไม่ปรับ"

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

พล.อ. ประวิตร ทักทาย น.ส. ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่ที่ได้เข้ารับหน้าที่ในการปรับ ครม. “ประยุทธ์ 2/4” เมื่อ มี.ค. 2564

ถึงขณะนี้เก้าอี้รัฐมนตรีของรัฐบาล "ประยุทธ์" ก็ยังว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง จากโควต้าเต็ม 36 ตำแหน่ง นับจากนายกฯ คนที่ 29 สั่งปลด ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากเก้าอี้ รมช.แรงงาน เมื่อ ก.ย. 2564 ก็ยังไม่มีการตั้งใครไปเป็นรัฐมนตรีเพิ่มเติม

มาถึงยุครักษาการนายกฯ ประวิตร ซึ่งมีอีกสถานะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีคำยืนยันจากรองนายกฯ วิษณุ มือกฎหมายของรัฐบาลแล้วว่ามีอำนาจเต็มเหมือนนายกฯ ทุกประการ รวมถึงอำนาจปรับ ครม. ด้วย จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าหากมี "ปัจจัยใหม่" เกิดขึ้น "แรงกดดันเก่า" ก็จะย้อนกลับมา ทว่าครั้งนี้ผู้มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายชื่อ พล.อ. ประวิตร ไม่ใช่ พล.อ. ประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับบีบีซีไทยตอนหนึ่งว่า แทบเป็นไปไม่ได้หาก พล.อ. ประวิตรจะสั่งปรับ ครม. หรือยุบสภาโดยไม่ปรึกษา พล.อ. ประยุทธ์ก่อน

"ยังไงพวกเขา (พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร) คือพี่น้องกัน เป็นพี่ชายน้องชายที่ทำรัฐประหารมาด้วยกัน... ต้องปรึกษาหารือกันอยู่แล้ว" รศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

ชะตากรรมอันไม่แน่นอนของ 2 ร่างกฎหมายลูก

ท่ามกลางภาวะไม่แน่นอนทางการเมือง แกนนำพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้นายกฯ ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง ไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางรัฐสภาเลือกนายกฯ คนใหม่ ขณะที่แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทยเสนอให้ "ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่ใช่การชะลอการสูญเสียอำนาจ" เพราะมองว่ารักษาการนายกฯ ก็ยังอยู่ในอำนาจของเครือข่าย "3 ป."

แต่ถึงกระนั้น ชะตากรรมของกฎหมายลูก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขปี 2564 ก็ยังไม่ชัดเจน และนายกฯ ยังไม่อาจนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยได้

สมาชิกรัฐสภา 106 คน นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาเมื่อ 25 ส.ค. เพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... มีประเด็นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือตราไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องเผชิญกับความผันผวนปรวนแปรหลายครั้ง โดยเฉพาะประเด็นวิธีคิดคำนวณหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งตั้งต้นในวาระแรกด้วยสูตรใช้ 100 เป็นตัวหาร ก่อนที่กรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อยผู้เสนอให้ใช้ 500 เป็นตัวหาร จะพลิกมาชนะโหวตกลางรัฐสภาในวาระ 2 แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปใช้สูตรหาร 100 เมื่อ ส.ส. ฝ่ายค้านบางส่วนไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุมหลายนัด ทำให้รัฐสภาล่ม และพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ไม่แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 180 วัน ซึ่งวันสุดท้ายคือ 15 ส.ค. ทั้งนี้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้เป็นหลัก ก็คือร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ใช้สูตรหาร 100 นั่นเอง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีหนังสือถึงประธานรัฐสภา ยืนยันว่าไม่ติดใจในประเด็นนี้

ที่มาของภาพ, ThaI News Pix

คำบรรยายภาพ,

ส.ส. ที่เข้าร่วมประชุมพร้อมใจกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึกหลังสภาล่ม เมื่อ 15 ส.ค. ทำให้สูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 ต้องตกไป

ในเวลาไล่เลี่ยกัน สมาชิกรัฐสภารวม 77 คน นำโดย พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยื่นหนังสือผ่านประธานรัฐสภาเมื่อ 19 ส.ค. เพื่อขอให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปเมื่อ 26 ก.ค. และ กกต. ให้ความเห็นกลับมายังรัฐสภา เมื่อ 16 ส.ค. ว่าไม่มีข้อทักท้วง แต่สมาชิกสภาสูงส่วนหนึ่งเห็นว่ามีเนื้อหาขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น อาทิ การปรับแก้ค่าธรรมเนียม และค่าสมัครสมาชิกพรรค, คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรค, การกำหนดตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด, การแก้ไขหลักเกณฑ์การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตตั้ง (ไพรม์มารีโหวต)

นายวิษณุเคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่ารักษาการนายกฯ มีอำนาจนำร่าง พ.ร.ป. ขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ทว่าเรื่องนี้ "ไม่โอเคได้ง่าย ๆ หรอก" จากนั้นได้อธิบายขั้นตอนทางกฎหมายสรุปได้ ดังนี้

  • กกต. แจ้งว่าไม่ติดใจร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.
  • ตามข้อบังคับของรัฐสภา กำหนดให้ประธานรัฐสภาชะลอเวลาไว้ 3 วันก่อนส่งให้รัฐบาล "เผื่อใครจะร้องศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าร้องมันก็หยุด และไม่มีใครรับสนองอะไร ไปศาล"
  • พอพ้น 3 วันก็ส่งร่างให้รัฐบาลได้
  • นายกรัฐมนตรีรับร่างมา และต้องชะลอเวลาไว้ 5 วัน เผื่อจะมีใครร้อง
  • พอพ้น 5 วัน ก็เก็บร่างไว้ได้อีก 20 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ว่าไม่จำเป็นต้องรอไปถึงวันที่ 20 อาจทูลเกล้าฯ วันที่ 6-8 ก็ได้

"ฉะนั้นจึงยังไม่มีเรื่องที่จะต้องรับสนองได้ง่าย ๆ ยังมีเวลาอีกเยอะ พอดีพอร้าย คำวินิจฉัยเรื่อง 8 ปี อาจจะออกมาก่อนก็ได้ ส่วนกฎหมายลูกพรรคการเมืองขณะนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว" นายวิษณุกล่าวเมื่อ 24 ส.ค..