อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ย้อนหลัง

ประเด็นร้อน : มติ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย สะเทือนตลาดลงทุนไทยอย่างไร

​​​​

"​

● คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.75% เป็น 1%


● คณะกรรมการคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวเท่ากับที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน แต่ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวปี 2566 ลง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 คาดไว้ที่ 6.3% ส่วนปี 2566 คาดไว้ที่ 2.6% สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร) ปี 2565 คาดไว้ที่ 2.6% ส่วนปี 2566 คาดไว้ที่ 2.4%

​"

อัปเดตข่าว/สถานการณ์

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.75% เป็น 1% โดยมองว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่องโดยรับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศแต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อมากขึ้น จึงให้มีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว

ตลาดหุ้นไทยตอบรับในเชิงลบหลังรู้ผลการประชุม โดยดัชนี SET เปิดตลาดช่วงบ่ายยังคงซื้อขายในแดนลบต่อเนื่องจากช่วงเช้า และปิดตลาดที่ระดับ 1,599.23 จุด ลดลง -0.70% จากวันก่อนหน้า

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทะลุระดับ 38.26 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 28 ก.ย. 2565 เวลา 17.30 น. สะท้อนการตอบรับในเชิงลบต่อการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยอัตราที่น้อยกว่าสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าสหรัฐฯ จะยังเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยอัตรา 0.75% ส่งให้เงินสกุลดอลลาร์มีความน่าสนใจกว่าเงินบาท

ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ตอบรับการขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นมาที่ 3.11% จากวันก่อนหน้า (27 ก.ย. 2565) อยู่ที่ระดับ 3.08% ซึ่งจะส่งผลให้ราคากองทุนที่ลงทุนตราสารหนี้ไทยโดนแรงกดดันบ้าง เช่น ณ 28 ก.ย. 65 กองทุน K-SF ปรับตัว -0.0035%เทียบกับวันก่อนหน้า กองทุน K-CBOND-A ปรับตัวลง -0.0978%เทียบกับวันก่อนหน้า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.3% เท่ากับคาดการณ์ในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน แต่ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 เหลือขยายตัว 3.8% จากก่อนหน้านี้คาดไว้ที่ 4.2% 

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี  

ปี 2565 คาดไว้ที่ 6.3% 

ส่วนปี 2566 คาดไว้ที่ 2.6% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดือนมิถุนายนที่ 6.2% และ 2.5% ตามลำดับ

 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร) 

ปี 2565 คาดไว้ที่ 2.6% 

ปี 2566 คาดไว้ที่ 2.4% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดือนมิถุนายนที่ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ

คณะกรรมการมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกำลังจะปรับตัวกลับเข้าสู่ระดับปกติในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญก็พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหา 

ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าเกิดจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้เกิดความผันผวนที่มากเกินไป แต่โดยภาพรวมค่าเงินบาทที่อ่อนยังไม่ส่งผลต่อตลาดการเงิน เงินเฟ้อ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงยังไม่ใช้นโยบายที่รุนแรงต่อค่าเงินบาท

มุมมองการลงทุน


• เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

หนุนด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเลือกตั้งที่จะมีในกลางปีหน้าซึ่งคาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น จึงต้องติดตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นกัน

• ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความน่าสนใจ

เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อยเป็นค่อยไปสร้างแรงกดดันเพียงเล็กน้อยต่อตลาดหุ้นไทย ด้านหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริโภคภายในประเทศยังรับแรงหนุนจากการเปิดเมืองและแนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

• ตลาดตราสารหนี้ไทยยังรับแรงกดดัน

ต่อจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ยังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแรงกดดันจะผ่อนคลายเมื่ออัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วยแนวโน้มที่ลดลง

คำแนะนำการลงทุน


• ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ 

แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุนหุ้นไทย เช่น K-STAR, K-BANKING เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

• ผู้ถือกองทุนตราสารหนี้ 

แนะนำถือลงทุนตามระยะเวลาที่แนะนำเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนและลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มและรับความเสี่ยงได้แนะนำกองทุน K-CBOND-A ที่เหมาะกับการถือลงทุน 1 ปีขึ้นไป

• สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น 

หากรับความเสี่ยงได้บ้าง แนะนำพักเงินในกองทุน K-SF ซึ่งเหมาะกับการพักเงิน 3 เดือนขึ้นไป เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนระหว่างที่รอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง ส่วนผู้ที่กังวลกับความผันผวนของ NAV แนะนำพักเงินในกองทุน K-CASH ซึ่งเหมาะกับการพักเงิน 3 วันขึ้นไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


บทความโดย K WEALTH TRAINER วีรพล บางแวก