พัฒนาการ รัตนโกสินทร์ สมัย ประชาธิปไตย

สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

          การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม พ.ศ. 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และรัตนโกสินทร์ (ยุคประชาธิปไตย) มีการพัฒนาเป็นระบบทุนนิยมมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐบาลในแต่ละสมัย มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเพื่อปรับปรุงประเทศ

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

ตัวชี้วัด  

มฐ ส4.1 ป.6/3  ยกตัวอย่างผลงานของบุคคลสำคัญด้านต่างๆ สมัยรัตนโกสินทร์

จุดประสงค์

ด้านความรู้ ความเข้าใจ (K)

- อธิบายพัฒนาการด้านการเมืองและเศรษฐกิจ รัตนโกสินทร์ (ยุคประชาธิปไตย) ได้

ด้านทักษะ กระบวนการ (P)

- วิเคราะห์พัฒนาการด้านการเมืองและเศรษฐกิจ รัตนโกสินทร์ (ยุคประชาธิปไตย) ได้

ด้านคุณลักษณะ เจตคติ ค่านิยม (A)

- เห็นความสำคัญในการศึกษาพัฒนาการด้านการเมืองและเศรษฐกิจ รัตนโกสินทร์ (ยุคประชาธิปไตย) ได้

ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ยุคประชาธิปไตยนี้เริ่มขึ้นเมื่อสยามประเทศมีการ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยการนำของคณะราษฎร จนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งนำโดยพลเอกสนธิ   บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โดยโค่นล้มรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

จากระยะเวลาปีพ.ศ.2475 ถึง ปีพ.ศ.2549 สยามประเทศได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญและเรียงลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้

 

  1. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

ภายหลังการปฏิรูปการปกครองและการปฏิรูปการศึกษาในรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้มีกระแสความคิดที่จะให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย สูงสุดในการปกครองประเทศ โดยมีรัฐสภาเป็นสถาบันหลักที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้นเป็น ลำดับ จนกระทั่งได้มีคณะนายทหารชุดกบฏ ร.ศ.130 ซึ่งมีความคิดที่ปฏิบัติการให้บรรลุความมุ่งหมายดังกล่าว แต่ไม่ทันลงมือกระทำการก็ถูกจับได้เสียก่อนเมื่อ พ.ศ.2454 ในต้นรัชกาลที่ 6

อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังคงมีออกมาเป็นระยะๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ยังไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก นอกจากการปรับตัวของรัฐบาลทางด้านการเมืองการปกครองให้ทันสมัยยิ่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น และก็ยังไม่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศแต่ประการใด จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีคณะผู้ก่อการภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. 2475

การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย เกิดขึ้นในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยเหล่าคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยเหล่านายทหารและนักเรียนทุน โดยมีแกนนำคนสำคัญตัวอย่างเช่น

  1. พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (หัวหน้าคณะราษฎรและแกนนำฝ่ายทหารบก)
  2. พันเอกพระยาทรงสุรเดช
  3. พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์
  4. พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ
  5. พันตรีหลวงพิบูลสงคราม
  6. นาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย (แกนนำฝ่ายทหารเรือ)
  7. หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ (แกนนำฝ่ายพลเรือน)

คณะราษฎรได้นำกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม ลานพระบรมรูปทรงม้า กำลังบางส่วนได้เข้าควบคุมพระบรมวงศานุวงศ์ไว้ ขณะเดียวกันพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้

แถลงการณ์ประกาศหลักการสำคัญของคณะราษฎร มีใจความดังนี้

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยของประเทศให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุก

คน จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ จะไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

  1. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
  2. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ
  3. จะต้องให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ ตามคำบังคมทูลเชิญของคระราษฎรและพระองค์ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 ภายใต้รัฐบาลการนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย

1.1.  สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพุทธศักราช 2475 หรือบางครั้งถูกเรียกว่า “การปฏิวัติ 2475” นั้นอาจสรุปได้ว่ามี 4 ประการดังนี้