ภาพวาดของศิลปินไทย

แม้ว่า Bangkok Illustration Fair จะจบไปหลายเดือนแล้ว แต่ผลงานของเหล่าศิลปินและนักสร้างสรรค์ไทยหลากหลายคนที่นำมาจัดแสดงภายในงาน ก็ยังคงเป็นที่น่าจดจำ และยังจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในมุมมองที่แตกต่าง ให้กับศิลปินรุ่นใหม่กำลังจะก้าวเข้าสู่วงการ Illustration ไทย เราเลยชักชวน 5 ศิลปินผู้ที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มาเผยประสบการณ์และตัวตนที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังงานศิลปะของพวกเขา

ภาพวาดของศิลปินไทย

Faan.peeti : โลกของ “ฟาน - ปีติชา คงฤทธิ์” ที่ทำให้เราชื่นชมธรรมชาติได้นานขึ้น

เมื่อก่อนฟานมักจะวาดภาดคน เพราะอะไรที่ทำให้เริ่มสนใจวาดธรรมชาติและสิงสาราสัตว์
มันน่าจะเป็นเพราะตอนฟานไปเรียนที่คิงส์ตัน ประเทศอังกฤษ เป็นเมืองที่ใกล้เมืองหลวงที่มีพื้นที่ธรรมชาติเยอะ แล้วมันแตกต่างจากของไทยมากจนเราตื่นตาตื่นใจ เหมือนไปอยู่ในนิทานสักเรื่อง ฟานเจอกวางอยู่ข้างๆ เจอหงส์อยู่ในสระ วิ่งๆ ไปก็เจอจิ้กจอกหรือกระต่ายออกมากระโดดข้ามไปข้ามมา สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ มันเป็นสิ่งใหม่ที่พุ่งเข้าหาอย่างรุนแรงจนทำให้อยากวาดมันออก ฟานเดาว่ามันเป็นความอยากลึกๆ ในใจที่เราอยากสำรวจธรรมชาติ

ฟานว่างานของตัวเองมันมีความแฟนตาซีด้วย ฟานจะชอบใส่คนตัวจิ๋ว หรือสัตว์ที่แต่งตัวเป็นคนเข้าไปในภาพด้วย ฟานได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือวรรณกรรมเยาวชนที่ชื่อว่าคนตัวจิ๋ว (The Borrowers) ซึ่งจิบลิเคยเอาไปทำเป็นอนิเมชั่นชื่อว่า The Secret World of Arrietty พอดูแล้วมันอิมแพคมากเลย ฟานรู้สึกว่าพออยู่กับมนุษย์ด้วยกันก็รู้สึกว่าตัวเองคนปกติ แต่พอถอยออกมาเราจะรู้ว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ต่างก็เป็นคนตัวจิ๋วในธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ฟานเลยใส่ความคิดนี้ลงไปด้วย และพอเป็นคนตัวจิ๋ว ฟานเลยมองว่าสัตว์ตัวอื่นก็มีความเป็นมนุษย์พอๆ กับเราหรือเปล่า งานฟานเลยเป็นเหมือนการบิดสัดส่วนให้มีความบิดเบี้ยวไปเลย

ภาพวาดของศิลปินไทย

ค้นหาแรงบันดาลใจสีเขียว ท่ามกลางป่าคอนกรีต
พอกลับมาอยู่ไทย ฟานปลูกต้นไม้ในห้อง อย่างน้อยจะได้ดึงธรรมชาติให้อยู่ใกล้เรามากขึ้น แล้วก็มีหนังสือในสไตล์ที่ชอบขนกลับมาจากอังกฤษเยอะมาก ถ้าคิดไม่ค่อยออกก็จะกลับไปเปิดดูในหนังสือมาเป็นแรงบันดาลใจใหม่ๆ ฟานเลยรู้สึกว่าถึงจะอยู่ไทยแล้ว แต่ไอเดียนี้มันก็ยังต่อยอดได้ไม่รู้จบ แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เพราะฟานเองก็ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าจะต้องเป็นธรรมชาติเท่านั้น

เอกลักษณ์ และเทคนิคของฟานคือ
งานของฟานเป็นงานที่ใช้เทคนิคการสายเส้น ยังไม่ค่อยมีคนใช้หรือถ้ามี เขาก็อาจจะไปวาดอย่างอื่นที่ไม่ใช่ธรรมชาติ พอเอาเรื่องเทคนิคกับเรื่องตัวแบบที่วาดมารวมกันแล้ว ฟานเลยไม่ค่อยเห็นผลงานใครที่ใกล้เคียงกัน ยิ่งพอใส่ความเป็นตัวเองลงไปอย่าง สถานที่ในความทรงจำ มันก็ยิ่งมีความเฉพาะตัวมากขึ้น

ภาพวาดของศิลปินไทย

ภาพวาดของศิลปินไทย

สิ่งที่ศิลปินควรให้ความสำคัญ
ถ้าในแง่จิตใจ สิ่งที่ฟานให้ความสำคัญ และก็ต้องเตือนตัวเองทุกครั้ง คือเราต้องให้ความสำคัญกับความสุขของตัวเองเป็นหลักก่อน ฟานอยากให้วินาทีที่ลงมือวาดรูป ตัวเองรู้สึกสนุกกับมันจริงๆ โดยที่ยังไม่ต้องสนใจความเห็นของคนอื่นๆ แล้วถ้าหากว่าทำอย่างนั้นได้ สิ่งที่กังวลว่าคนจะชอบหรือมีความสุขกับงานเราหรือเปล่า มันจะเป็นผลพลอยได้ที่จะตามมาเอง

ดอกไม้ที่บ่งบอกตัวตนของ Faan.peeti ได้ดีที่สุด
ฟานรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นดอกไม้ดอกไหนเลย เพราะว่าช่างมันแสนสั้น ดอกไม้มันเบ่งบานแล้วจากไปเพื่อจุดประสงค์เดียว เหมือนพลุที่สว่างจ้าแล้วก็ดับวูบ ฟานว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่ตัวเองเลือกที่จะวาดดอกไม้ลงไปในกระดาษ ก็เพราะว่าภาพของมันจะคงอยู่ต่อไปอย่างน้อยก็นานกว่าดอกไม้จริง ผู้คนจะได้เห็นมันนานกว่าธรรมชาติ มันอาจจะเป็นหน้าที่หนึ่งของงานศิลปะเกี่ยวกับดอกไม้ ว่าอย่างน้อยก็ทำให้คนได้เสพความงามของดอกไม้นานขึ้น

ภาพวาดของศิลปินไทย

ภาพวาดของศิลปินไทย

ภาพวาดของศิลปินไทย

PIRA : เส้นเว้าโค้ง และตรงดิ่ง ที่ไม่มีวันหยุดนิ่งของ “พีระ โองาวา”

เส้นทางการเป็นศิลปินที่สั่งสมประสบการณ์มามากเป็นพิเศษ
ผมรู้จักการวาดภาพในตอนเด็กๆ ที่คุณครูให้ออกไปวาดภาพหน้ากระดาน พอรู้ตัวว่าวาดแล้วเหมือนจนมีคนชม ผมก็วาดต่อมาเรื่อยๆ ในตอนนั้นจะวาดเป็นภาพเหมือนแบบ Freehand ที่ยังไม่มีโครงสร้าง บางครั้งก็วาดอะไรที่ไม่มีอยู่จริง อย่าง ต้นไม้ที่มีกิ่งก้านเป็นงู ต่อมาผมพบว่าตัวเองถนัดการใช้รูปเรขาคณิตมาปะติปะต่อเป็นงานศิลปะ ก็เลยเริ่มใช้พวกเส้นทแยงมุม เส้นโค้ง หรือพวกจุดตัดมาใช้ในการวาดมาจนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 60 ปีแล้ว

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานนับร้อยชิ้น
ผมมักจะวาดเป็นรูปสัตว์หรือแมลงง่ายๆ ก่อน ที่ชอบวาดแมลงเพราะมีครั้งหนึ่งที่ไปบ้านเพื่อนแล้วเจอกับมดสีเขียว ผมสนใจมันมากเพราะไม่เคยเห็นมดสีเขียวตัวใหญ่มาก่อน พอกลับบ้านก็เลยวาดโดยใช้เส้นและเรขาคณิตมาจำลองเป็นส่วนต่างๆ อย่าง เขี้ยว หัว ตัว และปีก แล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้วาดแมลงชนิดอื่นๆ เพิ่มด้วย ช่วงหลัง ผมเริ่มวาดภาพเป็นภาพคนมากขึ้น อย่าง ใบหน้าของคนหลายๆ คนมาซ้อนทับกัน นอกจากนี้ก็มีภาพแนวจักรวาล ดวงดาว และภาพที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา อย่างเรื่องพระสงฆ์ พระเยซู หมู่เทวดา และมาร บางครั้งเวลาผมคิดไม่ออกว่าควรจะวาดอะไร ก็มักจะสวดขอพรก่อนลงมือ มันก็เลยกลายมาเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้วาดได้ต่อไปเรื่อยๆ ครับ

ภาพวาดของศิลปินไทย

เทคนิคการสร้างลายเส้นที่เรียบง่ายแต่กลับซับซ้อน
ภาพหนึ่งภาพจะเริ่มต้นจากการตีเส้นกรอบก่อน แล้วค่อยตีเส้นทแยงมุมทั้งสองฝั่ง ต่อมาผมจะเริ่มตีเส้นตรงแนวดิ่งกับขวาง ซึ่งจะไม่มีฟอร์มอะไรเพราะเปลี่ยนไปตามแต่ละภาพ พอได้โครงที่ต้องการแล้วจะเริ่มใช้แผ่นครึ่งวงกลมมาทาบเพื่อสร้างเส้นโค้ง โดยจะมีวิธีการลากคือจากสร้างเส้นโค้งลากไปบรรจบกับเส้นตรง หรือไม่ก็เอาเส้นโครงไปตัดกับเส้นตรง เพื่อให้เกิดมุม และพอเกิดมุมแล้วก็จะลากเส้นจากมุมหนึ่งไปยังอีกมุม โดยอาศัยเส้นโค้งเป็นหลัก แค่นี้ก็จะเกิดเป็นภาพได้ง่ายๆ แล้วครับ ช่วงหลังผมจะเริ่มเพิ่มรายละเอียดเข้าไปหลายเรื่อง ให้ภาพๆ หนึ่งสามารถเล่าได้เรื่องได้หลากหลาย

หนึ่งวันของศิลปินที่ชื่อ PIRA
ผมจะตื่นขึ้นมาเริ่มนั่งวาดภาพตั้งแต่แปดโมงเข้า ถ้าความคิดแล่นหน่อยก็จะวาดได้ภาพได้ประมาณ 2-3 ภาพ เสร็จแล้วก็จะมากำหนดสีด้วยการมาร์กจุดสีลงไปบนภาพ ต้องคิดว่าควรลงสีไหนเพื่อให้ตรงกับที่จิตนาการไว้ ผมมักจะเตรียมงานแบบนี้ไว้ก่อน แล้วค่อยนำมาลงสีในวันเดียวกันไปเลย ถ้าวันไหนขยันหน่อยก็จะทำงานจนถึงตี 5 เลยครับ แต่ผมก็ไม่ได้นั่งทำงานตลอด จะมีเวลาที่ไปนอนหรือพักทานข้าวบ้างครับ มีบ้างที่หยุดทำงานใหม่ แล้วจะชอบหยิบงานเก่ามาดูอีกครั้งว่ายังมีจุดไหนที่ตกแต่งหรือลงสีเพิ่มเติมได้บ้าง

ทลายกำแพงเรื่องสุขภาพและอายุด้วยการทำงานศิลปะ
ผมได้ความสุขและความสนุก ผมสามารถวาดภาพออกมาได้อย่างที่ใจนึก แล้วภาพที่ออกมามันก็สวย ผมเลยยังชอบวาดภาพอยู่ มันเป็นสิ่งที่ผมทำแล้วมีความสุข แล้วผมเองก็รู้สึกว่าตัวเราถนัดงานการทำงานแนวนี้โดยเฉพาะด้วย ก็เลยไม่มีความคิดที่จะหยุดทำงานศิลปะเลยครับ

ภาพวาดของศิลปินไทย

ภาพวาดของศิลปินไทย

ภาพวาดของศิลปินไทย

ข้อความหรือมุมมองความคิดดีๆ ถึงกับศิลปินรุ่นใหม่
ต้องมีความอดทนครับ ถ้าทำผลงานออกมาแล้วยังไม่มีใครเห็น ผมก็ขอให้คุณพยายามอดทนวาดภาพต่อไป อย่าเพิ่งทิ้งงานไปก่อน เพราะในวันหนึ่งผลงานที่เราทำเก็บไว้ จะต้องมีคุณค่าที่คนอื่นๆ สามารถรับรู้ได้แน่นอนครับ

ภาพวาดของศิลปินไทย

Blue : “บลู – รมิตา สิงห์แก้ว” ศิลปินผู้ชวนให้กลับไปสำรวจโลกอันหลากหลายของแมลง

จุดเริ่มต้นของศิลปินที่ชื่อว่า Blue
บลูเป็นเด็กที่เรียนพวกวิชาการไม่เก่งสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำได้คะแนนได้ดีที่สุดคือ วิชาพละกับวิชาศิลปะ เวลาวาดภาพก็มักจะได้คำชมจากคนรอบบ้างอยู่เสมอ มันเลยทำให้บลูเริ่มวาดภาพมาเรื่อยๆ เริ่มมีความสนใจที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัย จนเรียนจบมาประมาณสามปีแล้ว ก็ยังคงทำงานในสายนี้อยู่

ภาพวาดของศิลปินไทย

Work life Balance sometime art
บลูเป็น Illustrator อยู่ที่ Production House ค่ะ ก็จะทำงาน Photoshop ในคอมพิวเตอร์ พอเลิกงานมาก็จะมีเวลาว่างให้ตัวเอง แต่ละงานใช้เวลาวาดไม่นาน แต่ที่นานคือกว่าจะได้เริ่มวาดนี่แหละค่ะ (หัวเราะ) เพราะบางครั้งที่เหนื่อยจากการทำงาน ก็เอาเวลาไปพักหมดวัน ไม่ได้วาดเลยก็มีค่ะ ช่วงเวลาที่จะได้วาดเยอะๆ คงจะเป็นช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แล้วก็วันหยุดยาว

นิยามสไตล์ผลงานของบลูคือ
ถ้าให้นิยามก็คงยาก เพราะไม่รู้เหมือนกันค่ะว่าจะนิยามยังไง (หัวเราะ) แต่ถ้าจะให้อธิบายเทคนิคในภาพที่วาด บลูมักจะเอากราฟิกเรขาคณิตเข้าไปผสมผสาน เข้ากับสัดส่วนของแมลงในธรรมชาติ มีการตัดทอน เติมแต่ง ให้เอกลักษณ์ของส่วนต่างๆ ดูชัดเจนขึ้น เท่ขึ้น

เสน่ห์ของแมลงที่ทำให้หลงใหลจนเกิดเป็นผลงานหลากหลายชิ้น
เสน่ห์ของแมลงคือความสวยงามอันหลากหลาย เพราะในโลกนี้มีแมลงเป็นล้านชนิด เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสายพันธุ์และปริมาณมากที่สุดในโลก ถ้าลองค้นหารูปแมลงดูในอินเตอร์เน็ต จะพบว่ามีชนิดที่แปลกๆ อยู่เยอะมาก บางชนิดเราก็ไม่คิดว่ามันจะมีอยู่จริงๆ บนโลกนี้ แต่ละชนิดมีรูปร่างที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม เพราะมันวิวัฒนาการอวัยวะบางส่วนในร่างกายให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม

อย่างแมลงที่เหมือนดอกไม้มากๆ เช่น ตั๊กแตนกล้วยไม้สีชมพู มันเปลี่ยนสีตัวเองเพื่อพรางตัวให้กลมกลืนไปกับดอกกล้วยไม้ หรือแมลงมวลหน้ากาก ที่หน้าเหมือนคน เป็นความแปลกที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ขึ้นมา แต่ก็มีแมลงที่บลูก็กลัวเหมือนกัน เพราะต้องบอกเลยว่าไม่ได้เป็น Insect Lover อะไรขนาดนั้น แต่รู้สึกแค่สนใจ และสนุกกับการพบเจอแมลงใหม่ๆ แล้วนำมาวาด นำมาสร้างสรรค์เป็นแมลงในรูปแบบของตัวเอง

ภาพวาดของศิลปินไทย

ภาพวาดของศิลปินไทย

สิ่งที่ศิลปะมอบให้บลู
บลูว่าศิลปะมอบความสุขให้กับบลูนะ ถ้าบลูได้วาดรูปในแบบที่ตัวเองอยากจะวาด มันจะรู้สึกผ่อนคลาย เพลิดเพลิน และสนุกไปกับสิ่งที่กำลังสร้างสรรค์ พอวาดเสร็จออกมา ถ้าเราพอใจและชอบรูปที่เราวาดนะ มันจะมีความสุขมากเลยค่ะ

เป้าหมายและความตั้งใจในอนาคต
ตอนนี้บลูทำงานประจำที่ต้องงานตามความต้องการของลูกค้าที่เขาให้มา งานแต่ละชิ้นก็จะไม่ได้เป็นตัวเราทั้งหมด เป้าหมายเล็กๆ ของบลูตอนนี้ก็เลยหวังว่าสักวันหนึ่ง ผลงานที่เราวาด ที่เป็นงานของเราแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จะมีคนชอบและให้ความสนใจ จนทำให้เราสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวได้อย่างมั่นคงค่ะ

ภาพวาดของศิลปินไทย

ZilluStation : ค้นทุกตรอกซอกซอยบนแผนที่ผ่านมุมมองของ “ชิว - การุญ เจียมวิริยะเสถียร”

เมืองในความทรงจำและการผจญภัยของชิว
ในวัยเด็กเราได้มีโอกาสนั่งรถไฟมาเที่ยวกรุงเทพฯ แล้วรู้สึกตื่นตากับการได้เห็นเมืองใหญ่ครั้งแรกในชีวิต เป็นช่วงที่เมืองกำลังพัฒนาจริง เลยอยากบันทึกเก็บภาพไว้เป็นความทรงจำ ด้วยวิธีง่ายๆ คือจำแล้ววาดภาพเก็บไว้ เพราะในตอนปี 1991 ไม่มีกล้องส่วนตัวและอินเตอร์เน็ต พอกลับมาต่างจังหวัด บ้านเกิดเราเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีสถานีรถไฟเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญ เป็นทั้งจุดนัดพบ จุดเดินทาง จุดส่งของ จุดต่อรถ จุดค้าขายอาหาร สถานีรถไฟเลยกลายมาแรงบันดาลใจเเรกในการวาดของเรา

และภาพวาดก็เหมือนพาเราไปเที่ยวด้วย ตอนเด็กชอบดูแผนที่ประเทศไทย มีหลายจังหวัดที่เราไม่ได้ไป อยากไปก็ไปไม่ได้ ไม่มีคนพาไป ได้แต่จิตนาการว่าจะเป็นอย่างไร เลยวาดโดยหาแบบวาดง่ายๆ จากสิ่งแวดล้อมในจังหวัดที่ตัวเองอยู่แล้วแต่งเติมเมืองในแบบของเรา

แนวคิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังลายเส้น
เราสร้างเมืองด้วยลายเส้นที่ตัวเองถนัด ทำให้เมืองที่เราอาศัยน่าอยู่ขึ้นได้ง่ายๆ บนกระดาษที่เป็นพื้นที่ของเรา จากการใช้สมาธิที่แสดงถึงความตั้งใจ ทุ่มเท ใส่ใจในรายละเอียดด้วยแว่นขยาย โดยให้กับความสำคัญกับทุกอย่าง ทุกรายละเอียดในเมือง เพราะไม่ว่าจะเป็นบ้าน วัด สถานี ต้นไม้ หรือตึก ต่างก็เป็นส่วนประกอบของเมืองที่สมบูรณ์ แต่ที่ตั้งใจเป็นพิเศษ คือการสร้างพื้นที่สีขาวภายในงาน ที่ให้ความรู้สึก สะอาด อากาศบริสุทธิ์ แม้เมืองจะแออัดแต่ถ้ามีพื้นที่ว่างก็สบายตาได้ ภาพวาดของเราเลยเป็นทั้งที่ระบายความรู้สึก ความคิด สถาปัตยกรรม แผนที่ที่ใช้ประโยชน์จากมันได้ และเป็นการบันทึกเมือง ณ เวลาปัจจุบัน ในรูปแบบลายเส้นของเราไปด้วย

ภาพวาดของศิลปินไทย

ใช้เวลาในการวาดผลงานหนึ่งชิ้นนานแค่ไหน
แล้วแต่งาน แล้วแต่ขนาดครับ ยิ่งใหญ่ยิ่งนาน บางงานก็หนึ่งเดือน บางงานก็สามเดือน อย่างงานชิ้นล่าสุดที่วาดกรุงเทพฯ ก็มากกว่าหนึ่งปีครับ

รายละเอียดที่ชิวมองเห็นจากการเป็นนักวาดภาพเมือง
เราเห็นปัญหาของผังเมืองที่ยากจะแก้ไข ถนนบางเส้นที่ดูจะเป็น ข.ขวดทำให้สภาพการจราจร ไม่คล่องตัว ความใส่ใจในรายละเอียดของเมืองที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ อย่างเช่นทางเดินเท่ที่ทุกคนรู้กัน เราสามารถทำให้มันดีได้ ทำทีเดียวจบ และถึงจะเป็นสิ่งเล็กๆ แต่มันสำคัญกับคนที่ใช้เดินหรือคนตาบอด

ภาพวาดของศิลปินไทย

ภาพวาดของศิลปินไทย

เมืองที่น่าอยู่ในมุมมองของคุณควรเป็นแบบไหน
เมืองที่มีการบริหารจัดการที่ดี ใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชนและทำเพื่อประชาชนโดยแท้จริง อย่าง สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในเมือง หรือระบบขนส่งสาธารณะที่ทั่วถึง ปลอดภัย รวดเร็ว ทันสมัย พอระบบขนส่งสาธารณะมันดี รถติดน้อยลงเพราะคนไม่ค่อยใช้รถยนต์ส่วนตัว และเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวไว้เป็นพื้นที่พักผ่อนได้

หรืออย่างทางเดินเท้า ถ้าทำให้เรียบคนก็เดินสบาย ก็ทำให้เมืองน่าอยู่แล้ว ไม่ต้องมาค่อยระวังว่าจะสะดุดหรือเปล่า และเราคิดว่าประเทศไทยมีนักออกแบบเก่งๆ มากมาย เราสามารถนำศิลปะมาสร้างสุนทรียภาพให้กับเมืองได้ “เมืองที่น่าอยู่ คุณภาพชีวิตคนในเมืองดี อยู่ตรงไหนก็รู้สึกผ่อนคลาย นี่แหละครับเมืองในอุดมคติ”

ภาพวาดของศิลปินไทย

ภาพวาดของศิลปินไทย

ภาพวาดของศิลปินไทย

Nina Sach : สีสันจัดจ้าน และทรดทรวงงานศิลป์อันสะดุดตาของ “นีน่า - พริติกา สัจจะนันดา”

แรกเริ่ม รู้จัก ศิลปะ
เราชอบขีดเขียนอะไรเล่นตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้วค่ะ จำได้ว่าวาดภาพมาโดยตลอด ตอนนั้นยังไม่มีลายเส้นเป็นของตัวเองเพราะมันจะเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงอายุ แต่จุดที่ทำให้เริ่มมาฝึกวาดอย่างจริงจังน่าจะเป็นช่วงมัธยมฯ ปลาย ตอนที่กำลังติวเข้ามหาวิทยาลัยค่ะ เราได้เห็นรุ่นพี่ทำงานศิลปะ ก็ค้นพบว่าสิ่งนี้แหละที่อยากทำ หลังจากนั้นนีน่าก็ทำมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันค่ะ

ภาพวาดของศิลปินไทย

ศิลปะในแบบของ Nina Sach
สไตล์ผลงานของเราคืองานภาพประกอบ Graphic Illustration ค่ะ เราสนุกกับการทดลองใช้โทนสีจัดจ้านในงานวาดภาพ ทดลองกับการตัดทอนหรือใช้รูปทรงแบบต่างๆ แต่ความจริงเราก็ยังพยายามที่จะฝึกเทคนิคใหม่ๆ อยู่ตลอดค่ะ เพราะว่าไม่อยากปิดกั้นตัวเอง ว่าจะต้องวาดออกมาในสไตล์นี้อย่างเดียว

เรื่องราว ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังผลงาน
เราอยากให้ผลงานของเรามีเรื่องเล่ามากเลย เพราะผลงานที่เคยทำมาจนถึงตอนนี้ เรายังไม่รู้สึกว่ามันสื่อสารอะไรกับผู้คนขนาดนั้นนะคะ บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าเราเริ่มวาดภาพส่วนใหญ่จากความเครียดในการทำงาน ผลงานหลายชิ้นที่วาดมันเลยไม่ได้เป็นการเล่าเรื่องอะไรไปมากกว่าการระบายอารมณ์ แต่บางชิ้นก็เป็นเรื่องของสิ่งที่สนใจอยู่ ณ ขณะนั้น สะดุดตากับอะไรก็อยากลองหยิบมาวาดดู บางทีแค่เห็นชุดสีสวยๆก็เอามาวาดได้แล้วค่ะ

ภาพวาดของศิลปินไทย

แล้วนี้แบบนี้เติมไอเดียหรือมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ อย่างไร
เรามองหาได้จากทุกช่องทางของโซเชียลมีเดีย จะฟังดูหนังหรือฟังเพลง เราสามารถหาได้หมดเลยค่ะ เจออะไรน่าสนใจก็เซฟเก็บไว้ จดบันทึกไว้ แล้วก็การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สนทนากับคนใหม่ๆ นอกจากจะทำให้รู้สึกสนุกแล้วมันช่วยทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ เหมือนกันนะคะ

ภาพวาดของศิลปินไทย

ความท้าทายในการสร้างสรรค์ผลงานอันเฉพาะตัว ในยุคที่ผู้คนไม่ค่อยเข้าใจศิลปะ
ความยากมันอยู่ที่ในสมัยนี้เรามีช่องทางให้เสพงานได้อย่างหลากหลายเต็มไปหมด เพราะอย่างงั้นคนดูงานก็สามารถเรฟเฟอเรนซ์ได้ถึงผลงานที่ใกล้เคียงกันได้ง่ายๆ โดยส่วนตัวแล้วสิ่งที่เราพยายามทำก็คือ ดูงานหลากหลายเพื่อพัฒนาทักษะการวาดของตัวเองเป็นหลัก โดยหวังว่าวันหนึ่งงานของเรามันจะได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมาได้ค่ะ ส่วนเรื่องที่บอกว่ายุคนี้คนไม่ค่อยเข้าใจศิลปะ ส่วนตัวแล้วเราไม่เห็นด้วยนะ เพราะนีน่าคิดว่าเราไม่น่ามีสิทธิ์ไปตัดสินความเข้าใจต่อเรื่องศิลปะของคนในยุคนี้ได้ขนาดนั้นค่ะ

ภาพวาดของศิลปินไทย

  • people
  • interview
  • design
  • exhibition
  • BKKIF
  • illustrator
  • ILLUSTRATION

เสพผลงานศิลป์ พร้อมรู้จักตัวตนของ 5 ศิลปินเด่นจาก BKKIF 2021

  • จิตรกรผู้เผยความลึกลับของความเป็นมนุษย์ Myrtille Tibayrenc

    นับแต่อดีตกาลนานมา “ภาพวาด” หรือ “งานจิตรกรรม” มักทำหน้าที่เป็นภาพแทนของความเป็นจริง และภาพความเป็นจริงที่ถูกนำเสนอผ่านงานจิตรกรรมมากที่สุดก็คือภาพของมนุษย์ นอกจากงานจิตรกรรมจะทำหน้าที่บันทึกและแสดงถึงรูปร่างหน้าตาของมนุษย์ในห้วงขณะหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับกล้องถ่ายภาพแล้ว สิ่งที่งานจิตรกรรมสามารถทำได้มากกว่านั้นก็คือการแสดงถึงสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน 

  • ‘My Kitchen Out Of Eden’s’ หนังสือที่ว่าด้วยความสุขตามนิยามของ ’นิรามย์ วัฒนสิทธิ์’

    อาหาร งานศิลปะ และการใช้ชีวิต อาจเป็นองค์ประสำคัญที่ช่วยเติมเต็มชีวิตใครหลายคน เช่นเดียวกับเจ้าของร้านขนมเล็ก ๆ บนถนนหลานหลวงที่ทั้ง 3 สิ่งนี้คือส่วนผสมสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเขาสมบูรณ์ 

  • ‘Permaflora’ แบรนด์ดอกไม้ประดิษฐ์ที่อยากไปไกลกว่าการเป็นพลเมืองชั้นสองและตัวสำรองของใคร

    เชื่อว่าใครหลายคน (รวมถึงเรา) ก็คงเคยคิดคล้าย ๆ กับในเนื้อเพลงดอกไม้พลาสติกที่มองว่าพวกมันคือ ‘ของปลอม’ ซึ่งไม่ว่าจะสวยงามอย่างไร ก็ไม่มีวันเทียบเทียมหรือแทนที่ดอกไม้จริงได้ และมักถูกเปรียบเทียบ ถูกด้อยค่าอยู่เสมอ ก็อาจจะจริงที่เป็นความอาภัพของดอกไม้พลาสติก แต่หลังจากอ่านบทสนทนานี้จบ คุณอาจไม่มองดอกไม้พลาสติกแบบเดิมอีกต่อไป… 

  • ‘Dry Cleaning’ วงโพสต์พังก์ที่กำลังมาแรงด้วยเสน่ห์ของดนตรี และถ้อยคำอันบาดลึก กับบทสัมภาษณ์ถึงการแสดงสดครั้งแรกใน เมืองไทย

    ชื่อของ Dry Cleaning เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่แฟนเพลงมากขึ้น ตั้งแต่ ฟอร์มวงช่วงปี 2017 และในที่สุด พวกเขาก็ได้มีโอกาสมาเยือน เมืองไทยที่งาน ‘Maho Rasop Festival 2022’ เกริ่นมายาวขนาดนี้ แน่นอนว่า #iameverything มีโอกาสชวนทั้ง 4 คนมาพูดคุยกัน ทั้ง แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเป็นผลงานเพลง ความรู้สึกที่ได้มาเยือน แฟนเพลงเมืองไทยเป็นครั้งแรก และก้าวต่อไปของ Dry Cleaning ว่าจะมีอะไรให้แฟน ๆ ติดตามกันต่อไปบ้าง

  • เชิญยู๊ด (ChernYouth) คณะตลกรุ่นใหม่ที่พร้อมเสิร์ฟมุขตลกโบ๊ะบ๊ะทั่วเมืองเชียงใหม่ เรียกเสียงฮาแบบตลกคาเฟ่ที่เราคิดถึง

    ภาพของตลกคาเฟ่ควบคู่มื้อเย็น เป็นช่วงเวลาสุดโปรดของใครหลายคนที่ได้ใช้เวลาช่วงนี้ในการผ่อนคลาย จังหวะจะโคนที่ปล่อยมุขกันออกมาเรียกเรียงฮาของดาวตลกชื่อดัง ทำให้เป็นเวทีแจ้งเกิดของดาวตลกหลายท่าน แต่กาลเวลาที่ล่วงผ่านไป เสน่ห์ของความตลกเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน กลายเป็น comedy ตามแบบฉบับรายการตลกที่มีจังหวะบะเทิ่งแบบตามยุคตามสมัย การเปลี่ยนผ่านของไวพจน์เพชรตะพึดสู่สีเหลือง แมงโก้! หรือจะเป็นมีดอีโต้! สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกส่งทอดสู่คนรุ่นใหม่ที่ยังสร้างความตลกขบขันสู่ผู้ชม ประกอบกับการห่างหายจากเสียงหัวเราะไปเสียนาน ทาง #Iameverything จึงชวน ‘คณะเชิญยู๊ด’ ดาวตลกจากเมืองเชียงใหม่ที่พวกเขารับหน้าที่แจกจ่ายเสียงหัวเราะสร้างอารมณ์ขันให้กับเมืองแห่งนี้

  • รื้อถอนชิ้นส่วนความคิดเบื้องหลังหน้ากากของ “จินต์ จิรากูลสวัสดิ์” เจ้าแห่ง Cyberpunk Mask ของไทย

    “จินต์ จิรากูลสวัสดิ์” หนุ่มผู้มีคนเร่ร่อนเป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะ เจ้าของ Face Custom ที่สร้างมูลค่าในตลาดต่างประเทศเป็นหลักล้าน และจินต์ยังออกแบบให้หน้ากากของเขาสะท้อนแฟชั่นส่วนตัวอย่างแนว Techwear อีกหนึ่งวัฒนธรรมย่อยที่น่าสนใจของสตรีทแฟชั่นในช่วงปี 2565 ที่นำเอาฟังก์ชั่นมาผสานเข้ากับแฟชั่นอย่างลงตัว