ข่าว กรณี ตัวอย่าง ของ ผล ที่ เกิด จากการเปิดเสรี ทางการ ค้าของ ประเทศไทย

เขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA)

หมายถึง การรวมกลุ่มเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายในกลุ่มลง ให้เหลือน้อยที่สุด หรือเป็น 0 % และใช้อัตราภาษีปกติที่สูงกว่ากับประเทศนอกกลุ่ม การทำเขตการค้าเสรีในอดีตมุ่งในด้านการเปิดเสรีด้านสินค้า (goods) โดยการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีเป็นหลัก แต่เขตการค้าเสรีในระยะหลังๆ นั้น รวมไปถึงการเปิดเสรีด้านบริการ (services) และการลงทุนด้วย นอกจากนี้การทำความตกลงฯ กับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป หรือ สหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะผนวกเงื่อนไขทางสังคมและการรักษาสภาวะแวดล้อมเช่นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน และการควบคุมมลภาวะเข้าไว้ในข้อตกลงด้วย

เขตการค้าเสรีที่ไทยมีภาระผูกพันในปัจจุบัน

คือ AFTA (AEC) อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อาเซียน-อินเดีย ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-เปรู ไทย-ชิลี และไทย-อินเดีย

สาเหตุที่ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจจัดทำเขตการค้าเสรี

     1) การเปิดเจรจาการค้ารอบใหม่ของ WTO ล่าช้า ประเทศต่างๆ จึงได้หันมาพิจารณาจัดทำเขตการค้าเสรีมากขึ้น เพื่อให้มีผลคืบหน้าในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันอย่างเป็น รูปธรรมมากกว่าและรวดเร็วกว่าการเปิดเสรีในกรอบ WTO

     2) การที่ประเทศจีน ซึ่งมีประชากรจำนวนมหาศาล มีตลาดภายในที่มีขนาดใหญ่และมีแรงงานราคาถูก มีศักยภาพในการผลิต การบริโภค และการส่งออกสูง ได้ เข้าเป็นสมาชิกของ WTO ทำให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยสินค้าและบริการของจีน (ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางต้นทุน) จะได้รับ สิทธิโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หรือเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ รวมทั้งประเทศสมาชิกต่างๆ จะมีการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีให้เหลือน้อยที่สุด ส่งผลให้สินค้าและบริการของประเทศสมาชิกสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องปรับนโยบายและกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนาจต่อรองทางการค้าของตนเพื่อรองรับผลกระทบจากการก้าวเข้ามาของจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ในตลาดโลก

     3) การทำเขตการค้าเสรีเป็นการให้แต้มต่อ หรือให้สิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนแก่ประเทศที่เข้าร่วมโดยไม่ขัดกับ WTO (หากปฏิบัติตามเงื่อนไข) ซึ่งจะทำให้มีการขยายการค้าและการลงทุน ระหว่างประเทศที่ร่วมทำเขตการค้าเสรี และในทางกลับกัน ก็เท่ากับส่งผลกระทบต่อประเทศที่อยู่นอกกลุ่มที่จะค้าและลงทุนกับประเทศที่ อยู่ในกลุ่มเขตการค้าเสรีได้น้อยลง จึงเป็นแรงกระตุ้นให้หันมาพิจารณาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นด้วยเช่น กัน

     4) หลายประเทศได้ใช้การจัดทำเขตการค้าเสรีเป็นยุทธวิธีในการสร้างพันธมิตรด้าน เศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งเป็นการสร้างฐานในการขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศหรือกลุ่มประเทศ ในภูมิภาคอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลด้วย

     5) ประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็กแต่มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดเสรีเต็มที่อยู่แล้ว เช่น สิงคโปร์ และชิลี ได้ใช้ยุทธวิธีนี้อย่างแข็งขัน เนื่องจากมีระดับการเปิดเสรีสูง จึงมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดของประเทศที่ร่วมทำเขตการค้าเสรี ได้มาก เช่น สิงคโปร์ทำเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่น เป็นต้น

หลักการในการจัดทำเขตการค้าเสรีของประเทศไทย มีดังนี้

     1) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรทำในกรอบกว้าง (Comprehensive) ครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุน รวมทั้งการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไรก็ตามควรมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศคู่เจรจาเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

     2) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีควรให้สอดคล้องกับกฎของ WTO ซึ่งมีเงื่อนไขให้การเปิดเสรีครอบคลุมการค้าสินค้า/บริการอย่างมากพอ (Substantial) สร้างความโปร่งใส และเปิดให้สมาชิกอื่นตรวจสอบความตกลง

     3) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรยึดหลักการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (Reciprocate) และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงสถานะของไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในกรณีที่คู่เจรจาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไทยควรเรียกร้องความยืดหยุ่นเพื่อให้มีเวลาในการปรับตัวนานกว่า หรือทำข้อผูกพันในระดับต่ำกว่า

    4) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรให้ครอบคลุมเรื่องมาตรการสุขอนามัย และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ (NTM) ด้วย

    5) ความตกลงเขตการค้าเสรี ควรมีมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณี เช่น มาตรการ AD, CVD การใช้มาตรการคุ้มกัน (Safeguards) การใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร ซึ่งทำให้การดำเนินการตามพันธกรณีไม่มีผลในการเปิดตลาด รวมทั้งกำหนดกลไกการยุติปัญหาหรือข้อพิพาทอย่างเป็นธรรม

     6) ในการจัดทำเขตการค้าเสรีควรให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ทั้งนี้ อาจมีการเจรจา ตกลงในเรื่องที่จะเป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ระหว่างกันก่อน (Early Harvest)

 

สถานะการเจรจาจัดทำ FTA ของไทยกับประเทศต่างๆ

          สถานะการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของไทย มีดังนี้

- ความตกลงการค้าเสรีที่มีผลใช้บังคับแล้ว มี 13 ฉบับ กับคู่ภาคี 18 ประเทศ โดยเป็นการจัดทำความตกลงการค้าเสรีในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มอาเซียน 7 ฉบับ ได้แก่ (1) ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน ความตกลงการค้าบริการอาเซียน และความตกลงการลงทุนอาเซียน (2) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน (3) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (4) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ (5) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (6) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย และ (7) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และการจัดทำความตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคี 6 ฉบับ ได้แก่ (8) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (9) ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (10) ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (11) ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทย-เปรู (12) ความตกลงการค้าเสรีไทย – ชิลี และ (13) ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย


- ความตกลงการค้าเสรีที่ลงนามแล้วแต่ยังไม่มีผลผูกพัน ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้ สมาชิก RCEP อยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในสำหรับการให้สัตยาบันของ ความตกลงเพื่อให้มีผลบังคับใช้ (ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ 60 วันหลังจากที่สมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศส่งสัตยาบันสารให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันแล้ว 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และจีน) สำหรับประเทศไทย รัฐสภาของไทยมีมติเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณี


- ความตกลงการค้าเสรีที่อยู่ระหว่างเจรจาจัดทำความตกลง ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน ความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี และความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาทบทวน/เปิดเสรีเพิ่มเติม ในความตกลงการค้าเสรีที่มีผลใช้บังคับแล้ว อาทิ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติมในรายการสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาดและยกระดับความตกลงข้อบทต่างๆ ให้ทันสมัย สอดรับกับสภาพแวดล้อมและรูปแบบทางการค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

- ความตกลงการค้าเสรีที่มีแผนจะดำเนินการในอนาคต ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหราชอาณาจักร ความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาประโยชน์ ผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

------------------------------------------

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ศูนย์สารสนเทศการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

พฤษภาคม 2564