แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้อดี ข้อเสีย

ความคิดเห็นที่ 2

กระทู้ถามแปลกจัง เป็นงานส่งอาจารย์หรือใช้สอบรับราชการรึเปล่าครับ?

ข้างล่างนี้เอามาจากเฟสของคุณ Teppitak Jumpasri  
คนนึงที่บรรยายเอกสารสรุปนี้ก็คือคุณอาคม รมตคมนาคม สมัยที่ยังทำงานกับสภาพัฒน์
อ้อ สำหรับแผน12 หาอ่านเองนะครับ

National developement plan
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีทั้งหมด 11 ฉบับตั้งแต่พ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบัน เกือบ 50 ปีที่ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นตัวแบบในการพัฒนาประเทศ ในอดีตที่ผ่านมามิติของกระบวนการพัฒนาส่วนใหญ่ได้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก และเป็นการกำหนดแผนพัฒนาฯจากส่วนกลางและนำไปสู่การปฏิบัติ  ทำให้ขาดมิติของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแผนพัฒนาฯ ส่วนมิติของการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เพิ่งเกิดปรากฎขึ้นในแผนฯ ฉบับที่ 8 แต่กระบวนการจัดทำแผนพัฒนายังเป็นรูปแบบบนลงล่าง (top-down)ผู้บริหารประเทศเป็นผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาชุมชน ส่งผลให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน รวมถึงไม่สอดคล้องกับบริบทที่แตกต่างของแต่ละชุมชน ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ฉบับแรกตั้งแต่ปี 2504 โดยอยู่ในสมัยของ พณ. นายกรัฐมนตรีจอมพล สฤิษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม มาแล้ว 10 ฉบับด้วยกัน โดยในแผนฯ แต่ละฉบับ มีจุดเน้นพอสรุปได้ดังนี้

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 – 2509) เป็นแผน ฯ ฉบับแรกและฉบับเดียวที่มีระยะเวลาของแผน 6 ปี จุดเน้นของแผน ฯ นี้คือ การปูพื้นฐานเพื่อการเร่งรัดพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ โดยเน้นลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure Facilities) อันได้แก่การแร่งรัดสร้างระบบชลประทาน พลังงาน ถนน ทางรถไฟและการคมนาคมอื่น ๆ รวมทั้งโครงการบริการต่าง ๆ (Services Project) เช่น โครงการวิจัยทดลองด้านเกษตร อุตสาหกรรม และโครงการพัฒนาการศึกษาสาธารณสุข

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510 – 2514) เน้นการพัฒนาสังคม ยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ขยายพลังการผลิตรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ กระจายการพัฒนา และเร่งรัด การพัฒนาสู่ชนบท

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 – 2519) ยังมีจุดเน้นด้านการกระจายความเจริญสู่ชนบท พยายามลดช่องว่างคนรวยกับคนจน ขยายการผลิตและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เน้นให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และให้ความสำคัญกับการวางแผนครอบครัว และการมีงานทำเป็นครั้งแรก

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – 2524) มีการกระจายการพัฒนาในรูปแบบภาค และภูมิภาคเพื่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรม มีโครงการผันเงิน อาสาพัฒนาชนบท การสร้างงานในชนบท(กสช) โดยมีการเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) เป็นแผนที่มีการกำหนดการดำเนินงานในเชิงรับ และเชิงรุก เน้นการแก้ปัญหาความยากจน โดยการกำหนดพื้นที่ตามระดับความยากจน มีพื้นที่เป้าหมาย ชนบทยากจนทั่วประเทศ 286 อำเภอ และรักษาวินัยทางการเงิน การคลัง แก้ปัญหาการขาดดุลการค้า

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530 – 2534) เป็นแผนที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนามากขึ้น เน้นให้มีการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและชนบทมากขึ้น

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) มุ่งเน้นการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) ในแผนนี้ กำหนดให้ คนเป็นจุดหมายหลักของการพัฒนา เน้นเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) เน้นการวางแผนพัฒนาแบบองค์รวม หรือบูรณาการระหว่างเศรษฐกิจกับสังคมเข้าด้วยกัน มุ่งเน้นความเป็นไทย และสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2544 – 2549) เป็นแผนที่มีปรัชญาการพัฒนาบิรหารประเทศตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เศรษฐกิจแบบพอเพียง มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งตนเองได้ รวมทั้งความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายชุมชนให้เกิดการเชื่อมโยงการพัฒนาทั้งชนบทและเมืองอย่างยั่งยืน มีการดูแลจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสังคมไทย เป้าหมายสำคัญของแผนฯ ฉบับนี้คือ การสร้างดุลภาพทางเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิตการบริหารจัดการระบบราชการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นที่ดี กระจายอำนาจให้เกิดการบริหารที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเน้นการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบให้เกิดผล มีการดำเนินการทางเศรษฐกิจที่เอื้ออาทรต่อคนจน เปิดโอกาสและสร้างศักยภาพในการพัฒนาให้คนจนมีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน สามารพึ่งตนเองได้ สามารถลดอัตราคนจนให้เหลือไม่เกินร้อยละ 12 ของประชากรทั้งประเทศ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554)ป็นแผนที่การเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้มีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยยังคงอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 และให้ความสำคัญต่อการรวมพลังสังคมจากทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมดำเนินการในทุกขั้นตอนของแผนฯ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่อง มุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society)คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลกครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุขเศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และได้จัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 ซึ่งสาระสำคัญในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้ คือ
1.   ความท้าทายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ :โอกาสของประเทศไทย ซึ่งได้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ เช่น ด้านการเงิน ด้านพลังและอาหาร ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้านแนวคิดการบริหารจัดการเศรษฐกิจและธุรกิจ ด้านการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศและการเมืองโลก และโอกาสของประเทศไทย
2.   เศรษฐกิจสร้างสรรค์: ทางเลือกเศรษฐกิจไทย ได้วิเคราะห์และเสนอว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา(Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity)และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual property)ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่
3.   ภาวะโลกร้อน :รู้วิกฤติ สร้างโอกาสการพัฒนา ได้วิเคราะห์แนวโน้มที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคตทั้งทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านต่างๆเช่น ทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรชีวภาพ ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน เป็นต้น
4.   สถาปัตยกรรมทางสังคม: ทางเลือกใหม่ของคนไทย ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากของประเทศไทย และสถาปัตยกรรมทางสังคมในระยะต่อไป เช่น  1)การปรับโครงสร้างทางสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพโดยนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ต่อยอดกับทุนทางสังคม วางรากฐานการพัฒนาสังคมที่ฐานราก การออกแบบสังคมที่มีคุณภาพจากสังคมใน4 มิติคือ สังคมแห่งความเอื้ออาทรและความสมานฉันท์(Social Cohesion) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Security) การรวมกลุ่มเพื่อสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเป็นธรรม(Social Inclusion) การเสริมสร้างพลังทางสังคม(Socail Empowerment) 2) พัฒนาคุณภาพของทุนมนุษย์ โดยเน้นกระบวนการพัฒนาที่คนเป็นศูนย์กลางทุกภาคส่วนสนับสนุน โดยภาคประชาชน ชุมชน เป็นผู้มีบทบาทเจ้าของเรื่อง เป็นกงล้อหลัก มีบทบาทสำคัญตลอดกระบวนการ ภาครัฐ ลดบทบาทความเป็นเจ้าของเพื่อเป็นผู้หนุนการสร้างศักยภาพของชุมชนและเอกชน
5.   สัญญาประชาคมใหม่: พลังขับเคลื่อนสังคมสู่สมดุล ได้วิเคราะห์และเสนอไว้ว่า สัญญาประชาคม หมายถึง ค่านิยมที่ประชาชนตกลงร่วมกันด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันในสังคมอย่างมีพลวัตตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรมอันดีของไทยตามภูมิภาคต่างๆยึดหลักคุณธรรมและความเป็นธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตรักษาสิทธิของตนเองโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองให้ครบถ้วนและมีจิตสาธารณะ ยึดหลักแก้ไขความขัดแย้งในสังคมด้วยสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพยสิน และได้มีทิศทางการพัฒนาสัญญาประชาคมใหม่ ไว้ 5 ประเด็น คือ
1) ปรับกระบวนทัศน์ (paradigm) การพัฒนาประเทศใหม่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา
2) สร้างค่านิยมร่วม (Shared Value)
3) พัฒนากระบวนการสัญญาประชาคม บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การสร้างความคิดร่วม (Social Consensus) การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและยึดถือ (Social Commitment)และนำไปสู่การปฏิบัติ(Action)โดยถ้วนหน้ากัน เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย พัฒนากลไกในระดับภาพรวม และพัฒนากลไกลในระดับชุมชน
4) สร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้าง กลไกและกระบวนการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนของสังคม
5) ขับเคลื่อนและวางระบบการติดตามประเมินผลในทุกระดับ
                 จากเนื้อหาสาระโดยสรุปของแผนฯฉบับที่ 11และวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 นั้นทำให้เห็นมิติของกระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายประเด็น  ที่สำคัญคือในส่วนของสถาปัตยกรรมทางสังคม ได้มีเนื้อหาที่สื่อถึงมิติในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นหลักและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนา  ในส่วนของสัญญาประชาคมใหม่ ได้กล่าวถึง กระบวนการสัญญาประชาคม บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การสร้างความคิดร่วม (Social Consensus)การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและยึดถือ (Social Commitment)และนำไปสู่การปฏิบัติ (Action) ซึ่งเป็นภาพรวมและแนวทางกว้างๆในการนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

                 เนื้อหาสาระของ แผนฯ11 ส่วนใหญ่กล่าวถึงเศรษฐกิจรวมทั้งแนวโน้มทางด้านเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ยังมีเนื้อหาสาระบางส่วนที่ขาดหายไป เช่น มิติของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่สามารถเอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน กระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

0

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้อดี ข้อเสีย