นายภู่ แสดงเป็นหนุมาน - รัชกาลที่ 4

พระยาราชมนตรี (ภู่) เปรียบเสมือนดัง ‘บ่อแก้ว’ ของรัชกาลที่ ๓  

พระยาราชมนตรี (ภู่) เป็นบุตรชายของพระยาศรีสรราช ในรัชกาลที่ ๑ ๑ พระยาศรีสรราชเป็นบุตรชายของพระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ พระยาธิเบศร์บดีผู้นี้ว่ากันว่า คุ้นเคยกันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งพระทัยว่าจะทรงตั้งให้เป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เสนาบดีกรมวัง พอดีพระยาธิเบศร์บดีถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน

หลานปู่ของพระยาธิเบศร์บดี คือ นายภู่ ได้ถวายตัวทำราชการ ได้เป็นจางวางมหาดเล็กในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดปราน ตรัสเรียกว่า “ไอ้ภู่” เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดฯให้เป็นจางวางมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ ก่อน ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ ว่ากล่าวดูแลสรรพภาษีอากรบ่อนเบี้ย โรงหวย เตาสุรา ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร จึงทรงเปรียบให้เป็น ‘บ่อแก้ว’ ในรัชกาลของพระองค์ พระยาราชมนตรี (ภู่) มีชื่อเสียงในความซื่อสัตย์สุจริต พูดง่าย ๆ ว่าแม้จะดูแลพระคลังก็มิได้กอบโกยเอาเข้าพกเข้าห่อของตน เมื่อสิ้นบุญของท่าน ธิดาจึงมิได้มีมรดกเงินทอง จะเรียกว่าตกยากก็คงได้ ธิดาของพระยาราชมนตรี (ภู่) คือ คุณพุ่ม กวีเอก ผู้มีฉายานามว่า ‘บุษบาท่าเรือจ้าง’

คุณพุ่มบรรยายถึงบิดาของท่านไว้ในกลอนเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๓ ไว้ในตอนแรก ๆ ว่า

ด้วยพระองค์ทรงเลี้ยงไว้เพียงบุตร                        เป็นสุขสุดสมบัติพัสถาน
ถึงพลั้งผิดปลิดโปรดโทษประทาน                        ด้วยการสุจริตของบิดา
คือถือมั่นกตัญญูชูพระเดช                                รักษาเขตคลังสมบัติมนัสา
ไม่ฉ้อหลวงล่วงพระราชอาชญา                           ทำเงินตราขึ้นไว้ในแผ่นดิน
สมพัตสรบ่อนเบี้ยคิดเกลี้ยกล่อม                         รู้เก็บหอมรอมรับซึ่งทรัพย์สิน
เดิมกรุงเก่าเล่าวิบัติปัฐพินทร์                             เป็นราคินครั้งพม่ามันมากวน
สมบัติกรุงยุ่งยับนับเอนก                                 อภิเษกกษัตรารักษาสงวน
ประชาชนจนเซยังเรรวน                                  การเรือกสวนสมพัตสรต้องผ่อนปรน
สืบสยามสามทั้งพระนั่งเกล้าฯ                            เป็นจอมเจ้าจักรพรรดิบำเพ็ญผล
ประชาชีมีทั่วทุกตัวคน                                    ได้ลาภผลพฤกษาเนื้อนาปรัง
ถึงสุธาหากินถิ่นประเทศ                                  คุ้มภัยเพทโจรโขมยได้โดยหวัง
ท่านบิดาราชมนตรีว่าที่คลัง                               จึงแต่งตั้งเจียสัวตัวอากร
ให้เงินหลวงตวงเติมเฉลิมฉลาด                           ฉลองบาทบพิตรอดิศร
คลังสมบัติวัฒนาสถาวร                                   พระนครบริบูรณ์จำรูญรักษ์
เป็นบุรุษสุจริตสนิทนาถ                                   เฉลิมบาทคู่บุญจุลจักร
รู้ถ่ายเทเสน่หาสาพิภักดิ์                                  บำรุงรักษาสมบัติขัติยา


จากบทความเรื่อง ขุนนางฝ่ายหน้า โดย  จุลลดา ภักดีภูมินทร์ นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๔๖๒ ปีที่ ๔๘ ประจำวันอังคารที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๔
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?stcolumnid=1098&stissueid=2462&stcolcatid=2&stauthorid=13

๑  ข้อมูลตรงนี้ของ ม.ล.ศรีฟ้า ไม่ตรงกับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งเขียนว่า พระยาราชมนตรี (ภู่) เป็นหลานตาของพระยาศรีสรราช

พระยาศรีสรราชมีธิดาชื่อไม่ปรากฏ   ได้สามีไม่ทราบชื่อแต่เป็นพระพี่เลี้ยงในทูลกระหม่อมพระบัณฑูรน้อย
คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์

ลูกสาวเจ้าคุณศรีสรราชและลูกเขย  มี บุตร ๖ คน

๑.    สาหร่าย    เจ้าจอมอยู่งานในรัชกาลที่ ๒
๒.    นายช้าง  เป็นหลวงศรีสมยัติ ในรัชกาลที่ ๒
๓.    นายนก  ได้เป็นพระยาอภัยภักดี จางวางกรมหมอ  ในรัชกาลที่ ๓
๔.    พลับจีน     ถวายตัวเป็นหม่อมละครในพระบัณฑูรน้อย  เป็นตัวจินตหรา
       ในรัชกาลที่ ๒   หม่อมพลับจีน   มีพระองค์เจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้ารัชนีกร
       ประสูติปีจอฉอศก จ.ศ. ๑๑๗๖   พระราชบุตรองค์ที่ ๓๕ ในกรมพระราชวังบวร รัชกาลที่ ๒  กรุงเทพ
๕.    นายภู่  ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  แล้วได้เป็นจางวาง ในพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  รัชกาลที่ ๒
๖.    นายปัก