การบริหาร จัดการด้าน สิ่งแวดล้อม ศึกษา

ผู้แต่ง  โสรญา อย่างสวย* ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร์ สุธีนิรันดร์** ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรา เดชโฮมนิ***


บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการบริหารสิ่งแวดล้อมสถานศึกษาในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ปีการศึกษา 2561 ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านการบริหารกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ และด้านการบริหารกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ปีการศึกษา 2561 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 50 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการบริหารจัดการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ด้านการบริหารกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ส่วนด้านการบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
คำสำคัญ : การบริหารสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา

ABSTRACT
The objective of this research was to study the environmental management in Saeng Arun School under the Office of the Private Education Commission in academic year 2018 in terms of 4 aspects, namely management, teaching and learning activities management, learning promotion activities management and community relations activities management. The population of this research was 50 school administrators and teachers in Saeng Arun School under the Office of the Private Education Commission in academic year 2018. Five-scale rating questionnaire was used as a research instrument. Data were analyzed using statistics including percentage, mean and standard deviation.
The results of this research indicated that overall was at a high level. When individual aspects were considered, an aspect with the highest mean was management and learning promotion activities management, followed by community relations activities management. An aspect with the lowest mean was teaching and learning activities management.
Keywords : School Environmental Management
_________________________________________
*นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
**อาจารย์ประจำสาขาการบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
***อาจารย์ประจำสาขาการบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
บทนำ
ในปัจจุบันสังคมไทยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นกระบวนการทั้งหมดของชีวิตกับธรรมชาติทุกอย่างรอบตัวของมนุษย์ สิ่งแวดล้อมปัจจุบันนี้ พบว่า ปัญหาของสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นทุกวัน ซึ่งปัญหามีหลากหลายประการ คือ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางดิน แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ต้องมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์ ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ การจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียน ซึ่งเป็นสถาบันหนึ่ง ของสังคม และชุมชนที่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่ อยู่ภายในโรงเรียน ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ได้กล่าวไว้ใน หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 7 ในกระบวนการเรียนรู้ต้องปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี รู้จักรักษา เสรีภาพ สิทธิ และหน้าที่ ความเสมอภาค และความเคารพในกฎหมาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม มีความภาคภูมิใจรักในความเป็นไทย รวมทั้งส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย ศิลปะ วัฒนธรรม และศาสนาของประเทศชาติ ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง สามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ และหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 23 การจัดการศึกษา ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสม ของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ เรื่องการจัดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ ภูมิปัญญา (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ, 2542, น.4-8)
หลักสูตรแกนกลาง พุทธศักราช 2551 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดีมีปัญญา มีความสุข และจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมมีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข และได้มีการกำหนดโครงสร้างหลักสูตร ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หลักสูตรขั้นพื้นฐานมีการกำหนดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ให้เห็นความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในระดับท้องถิ่น ประเทศและโลก และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546, น.14-17)
ผู้บริหารมีส่วนร่วมสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นผู้นำ ซึ่งสามารถพัฒนาและกระตุ้นบุคลากรอื่น ๆ ให้มีความกระตือรือร้น สถานศึกษาเป็นแหล่งสำคัญที่จะปลูกฝัง สร้างจิตใต้สำนึกให้มีความรู้ ความรัก ความห่วงใย รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานศึกษาที่ดี ควรต้องมีอาคารสถานที่สภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเสริมสร้างลักษณะความสามารถของการใฝ่รู้ใฝ่เรียน การจัดสภาพแวดล้อมทางการศึกษาในโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาและครูจะต้องทำ กิตติพัทธ์ จงจินากูล (2556, น.19) การจัดบรรยากาศสิ่งแวดล้อม ในสถานศึกษาให้เหมาะสมกับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และมีความพร้อมทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้เจริญและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พัชราภรณ์ โพธิสัย (2558, น.18-19) ได้กล่าวว่า จัดสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษามีความสำคัญ เป็นอย่างยิ่ง สถานศึกษาจะต้องจัดการสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ด้านที่มีผลต่อการเรียนของนักเรียน โดยจัดปรับปรุงสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการจัดบรรยากาศในสถานศึกษาให้มีความเหมาะสม เกิดความปลอดภัยต่อนักเรียนในสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียนมีความสุข และประสบผลสำเร็จ รู้จักแสวงหาความรู้ มีความปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างนักเรียน และครูสนับสนุนให้นักเรียน เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้นักเรียนมีพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน และเกิดความปลอดภัย มีแรงจูงใจ และเกิดความสุข การจัดสภาพแวดล้อม ทางการเรียนที่เหมาะสม และมีคุณค่าจะทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประสบผลสำเร็จในการศึกษา ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ได้กล่าวไว้ใน หมวด 4 มาตรา 24 ส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้จากสื่อการเรียนการสอน และแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
จากสภาพความเป็นมาและความสำคัญ เอกสารและงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาเกี่ยวกับ การบริหารสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมกรศึกษาเอกชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นแนวทางปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการการบริหารสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนแสงอรุณ มีนักเรียนจำนวนมาก เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ และมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ด้วยเหตุนี้เอง การบำรุงการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมจึงเป็น ปัญหาในการบริหารจัดการ จะทำให้การบริหารสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ประสบความสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้น จะต้อง มีการศึกษาถึงองค์ประกอบ และกระบวนการในการดำเนินงานการบริหารสิ่งแวดล้อม การติดตาม ควบคุม และประเมินผล สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญจะเริ่มจากผู้บริหารสถานศึกษา มีควรความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา ผู้บริหารและครูผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมายเป็นตัวหลักในการดำเนินงาน การกำหนดนโยบาย การมอบหมาย การบูรณาการความรู้ด้านอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม การให้ความร่วมมือ ที่จะร่วมทำของปัจเจกบุคคล การจัดทำแผนดำเนินการ และที่ขาดไม่ได้ คือกระบวนการที่จะต้องก่อให้เกิดระบบที่ยั่งยืนถาวรต่อไป นอกจากนี้ทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญลำดับถัดมา ต่อจากผู้บริหารและครู ผู้รับผิดชอบหลัก คือ ครูทุก ๆ คน ในสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ดังนั้นการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาถือเป็นศูนย์กลางหลักสถาบันหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ทั้งในระดับครอบครัวและระดับสังคม ความสำเร็จของการบริหารจัดการในโรงเรียน สามารถเชื่อมโยงไปสู่สังคม ชุมชน และครอบครัว โดยเฉพาะนักเรียนจะเป็นบุคลากรที่ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของสังคมต่อไปในอนาคต และเพื่อปรับปรุงการบริหารสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมกรศึกษาเอกชน ให้ดียิ่งขึ้น และเผื่อเผยแพร่ผลการวิจัย และโรงเรียนอื่น ๆ ที่สนใจนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์และบริหารสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อศึกษาการบริหารสิ่งแวดล้อมสถานศึกษาในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

ขอบเขตของการวิจัย
ประชากร ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ปีการศึกษา 2561 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 50 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารจำนวน 6 คน และครูผู้สอน จำนวน 44 คน
ตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ การบริหารสิ่งแวดล้อมสถานศึกษาในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ 1)ด้านการบริหารจัดการ 2)ด้านการบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน 3)ด้านการบริหารกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ 4)ด้านการบริหารกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์
การวิจัยเรื่อง การบริหารสิ่งแวดล้อมสถานศึกษาในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพผู้ตอบแบบสอบถาม ลักษณะของแบบสอบถามเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist)
ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริหารสิ่งแวดล้อมสถานศึกษาในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านการบริหารจัดการ 2)ด้านการบริหารกิจกรรม การเรียนการสอน 3)ด้านการบริหารกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ 4)ด้านการบริหารกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ จำนวน 60 ข้อ เป็นแบบมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ
ในการวิจัยครั้งนี้ ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลตามขั้นตอน ดังนี้
1. ดำเนินการขอหนังสือจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ถึงผู้อำนวยการโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพื่อขออนุญาตใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล
2. ผู้วิจัยนำหนังสือขอความอนุเคราะห์ที่ออกโดยบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาพร้อมแบบสอบถามไปติดต่อประสานงานกับผู้อำนวยการโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพื่อขออนุญาตให้ครูในโรงเรียนแสงอรุณตอบแบบสอบถาม
3. ผู้วิจัยนำแบบสอบถามไปเก็บข้อมูลด้วยตนเอง โดยแจกแบบสอบถามให้ผู้บริหารและครูโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 50 คน ได้รับกลับคืนมาจำนวน 50 ฉบับ คิดเป็นร้อยละร้อย
การวิเคราะห์ข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปตามขั้นตอน ดังนี้
1. ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถามจำแนกตาม เพศ ตำแหน่ง วุฒิการศึกษา และประสบการณ์ทำงาน วิเคราะห์โดยใช้ค่าร้อยละ
2. ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารสิ่งแวดล้อมสถานศึกษาในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน วิเคราะห์โดยใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ได้กำหนดเกณฑ์การแปลความหมายของค่าเฉลี่ยไว้ซึ่ง แบ่งออกเป็น 5 ช่วง บุญชม ศรีสะอาด (2545, น.103)

สรุปผลและอภิปรายผล
ผลการวิจัยเรื่อง การบริหารสิ่งแวดล้อมสถานศึกษาในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ใน 4 ด้าน พบว่า โดยรวมทั้ง 4 ด้าน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการบริหารจัดการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ด้านการบริหารกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ส่วนด้านการบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด โดยมีรายละเอียดของผลการวิจัยในแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านการบริหารจัดการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้บริหารมีการจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนและอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอและเหมาะสม เช่น การต่อเติม ซ่อมบำรุง หรือจัดหาสิ่งต่าง ๆ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ผู้บริหารเปิดโอกาสให้คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายในสถานศึกษา ส่วนผู้บริหารมีการประเมินผลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา และผู้บริหารส่งเสริมให้ครูได้รับ การสัมมนา อบรม และศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อม มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
ด้านการบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้บริหารส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสอนสิ่งแวดล้อม ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ผู้บริหารกระตุ้นให้ครูนำแผนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษาไปใช้สอน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย และผู้บริหารสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเรื่องขยะมูลฝอย ส่วนผู้บริหารส่งเสริมให้มีการวิเคราะห์หลักสูตรในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา และผู้บริหารส่งเสริมให้มีการจัดทำแผนการสอน หรือแผนการจัดการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
ด้านการบริหารการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้บริหารส่งเสริมให้ครูกระตุ้นให้นักเรียนมีความรับผิดชอบงานร่วมกัน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ผู้บริหารสนับสนุนให้ครูส่งเสริมให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ส่วนผู้บริหารส่งเสริมให้นักเรียนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ภายในสถานศึกษา เช่น โครงการขยะรีไซเคิล การทำปุ๋ยชีวภาพ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
ด้านการบริหารกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้บริหารมีการกำหนดให้ครู นักเรียน และชุมชน ได้ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากัน รองลงมา คือผู้บริหารสนับสนุนให้สถานศึกษาและที่บ้านมีผลงานร่วมกันด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนผู้บริหารส่งเสริม ให้ครูมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชุมชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
จากผลการวิจัยเรื่อง การบริหารสิ่งแวดล้อมสถานศึกษาในโรงเรียนแสงอรุณ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1)ด้านการบริหารจัดการ 2)ด้านการบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน 3)ด้านการบริหารกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ 4)ด้านการบริหารกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ โรงเรียนแสงอรุณ ได้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เป็นอย่างมาก มีการบริหารจัดการอาคารให้ มีประสิทธิภาพ และการวางแผนการบำรุงรักษา บริหารจัดการคุณภาพงานบริการอาคาร ความปลอดภัยในอาคาร และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งภายในและภายนอกของสถานศึกษาอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งโรงเรียนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและโรงเรียนในด้านข่าวสาร การจัดกิจกรรม การประสานงาน การสร้างความเข้าใจระหว่างโรงเรียนกับชุมชน รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนและชุมชน และได้มุ่งพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ใส่ใจพลัง เพื่อให้นักเรียนมีความตระหนักถึงคุณค่าของพลังงาน และสิ่งแวดล้อม รู้จักที่จะดูแลรักษา และเข้าร่วมกิจกรรม ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาภายในโรงเรียน เพราะว่าสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อครู และนักเรียน หากโรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดี ย่อมส่งผลในทางที่ดี ตรงกันข้ามหากสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ย่อมส่งผลกระทบที่ไม่ดี เช่นกัน ซึ่งโรงเรียนแสงอรุณตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จึงได้จัดให้มีการบริหารสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านการบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านการบริหารกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ด้านการบริหารกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ และดำเนินการในด้านต่าง ๆ อยู่ในระดับมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของกนกพร บัวแก้ว (2558) ซึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา ไว้ว่า สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา มีความสำคัญ เพราะสถานศึกษาประกอบไปด้วย สภาพแวดล้อมอันได้แก่ อาคารเรียน ห้องน้ำห้องส้วม สวนหย่อม สนาม รั้ว ถนน ต้นไม้ วัสดุครุภัณฑ์ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญ ต่อการดำเนินชีวิตในสถานศึกษาและการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนของครู นักเรียน และบุคลากรในสถานศึกษาทั้งสิ้น สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาจึงมี ความสำคัญต่อการบริการจัดการภายในสถานศึกษาเพราะจะช่วยสิ่งเสริมให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข ส่งเสริมความมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเกิด การเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะนักเรียนได้รับการจัดการเรียนการสอนตามธรรมชาติได้ฝึกปฏิบัติจริง ดังนั้น สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา จึงเป็นองค์ประกอบที่มีความรับผิดชอบและประสบผลสำเร็จในการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กชกร ธาราชีพ (2554) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การบริหารสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 ผลวิจัย พบว่า ความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนประถมศึกษาโดยรวมมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า การบริหารสิ่งแวดล้อมด้านการบริหารจัดการ ด้านการบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านการบริหารกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ และด้านการบริหารกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์อยู่ในระดับมากทุกด้าน
ผลการวิจัยเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ผู้วิจัยอภิปรายผลในแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านการบริหารจัดการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ ผู้บริหารโรงเรียนแสงอรุณเห็นถึงความสำคัญในด้านการบริหารจัดการ จึงได้ มีสำรวจ ตรวจสอบ มีการกำหนดนโยบายบริหารโรงเรียนแก่บุคลากรภายในโรงเรียนอย่างชัดเจน โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมให้คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน โดยมีการจัดให้มีนักการภารโรง คณะครู และนักเรียน ประจำอาคารแต่ละอาคาร มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนมีการวางแผน และดำเนินการในการบริหารสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ส่งเสริมและสร้างความตระหนัก รวมถึงผู้บริหารและครูผู้สอน มีการปรับปรุงการเรียนการสอนอยู่เสมอ มีการส่งเสริมบุคลากร ให้มีประสิทธิภาพ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้มีสภาพที่น่าอยู่ สนับสนุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตของนักเรียน และผู้บริหารคอยกำกับ ติดตาม ประเมินผล การปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของพิชญ์สินี จิตต์ว่องไว (2557) ซึ่งได้กล่าวถึงการบริหาร จัดการสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารสถานศึกษา มีความสำคัญในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา โดยกำหนดกระบวนการวางแผนส่งเสริสนับสนุน นิเทศ ควบคุมแก้ไข และปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานการจัดสภาพแวดล้อมในทุก ๆ ด้านที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ทำให้บุคลากรทั้งในและนอกสถานศึกษามีปฏิสัมพันธ์ที่ดี มีบรรยากาศที่ร่มรื่น สวยงาม และบรรยากาศที่เป็นมิตร ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของกัญจน์รัตน์ สินธุรัตน์ (2559) ซึ่งได้กล่าวถึงกระบวนการบริหารสถานศึกษา เริ่มต้นจากการวางแผนโดยการศึกษาสภาพของปัญหาเพื่อกำหนดทิศทางองค์การ พร้อมตั้งเป้าหมาย การจัดองค์การ การปฏิบัติงานตามข้อตกลงการประสานงาน การสั่งการ และการควบคุม การประเมินผลและการทบทวนผลการปฏิบัติงาน เพื่อนำผลมาปรับปรุงแก้ไขและกำหนดวัตถุประสงค์ใหม่ในครั้งต่อไป และสอดคล้องกับงานวิจัยของ กิตติพัทธ์ จงจินากูล (2556) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในการบริหารสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับชั้นประถมศึกษากลุ่มเครือข่ายท่าขนุน – สหกรณ์นิคม – หินดาด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กาญจนบุรีเขต3 ผลการวิจัย พบว่า ด้านการบริหารจัดการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ย คือผู้บริหารสถานศึกษาเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานสิ่งแวดล้อมภายในสถานศึกษา รองลงมา คือ เปิดโอกาสให้คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชนภาครัฐและเอกชน มีส่วนร่วมในการดำเนินงานสิ่งแวดล้อม ส่วนการส่งเสริมให้ครูร่วมทำกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์เรื่องของสิ่งแวดล้อม มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
ด้านการบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน โดยรวมอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ ผู้บริหารโรงเรียนแสงอรุณ เห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมการเรียนการสอน จึงมีการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอน และบุคลากรผู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ให้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการนำแผนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการเข้ากับวิชาอื่นๆ ไปใช้สอนด้วยกระบวนการที่หลากหลาย กระตุ้นให้ครูจัดการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีและสื่อ เพื่อสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับสภาพของชุมชน จัดให้มีการจัดทำสื่อ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการสอนนักเรียน โดยให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง รู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และมีการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริงย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการที่หลากหลาย และสอดคล้องกับงานวิจัยของพระมหาเดชา อมรเมธา (2556) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การบริหารสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดอ่างทอง ผลการวิจัย พบว่า ด้านการจัดการเรียน การสอน โดยรวมอยู่ในระดับมาก คือส่งเสริมให้มีแผนการสอนและแผนการจัดการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสอนสิ่งแวดล้อมได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสม สนับสนุนให้มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีและสื่อ เพื่อสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับสภาพชุมชนและท้องถิ่น ส่วนการสนับสนุนให้มีการผลิต จัดทำและจัดหาสื่อเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อใช้สอนนักเรียน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด สอดคล้องกับงานวิจัยของวอลโคสซ์ (Walkorz, 1972) ได้สำรวจโครงการสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา 14 โรงเรียน ในมลรัฐลินอยส์ โดยเก็บข้อมูลจากผู้บริหารและครูอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง พบว่าวิธีการสอนวิชาสิ่งแวดล้อมควรใช้สื่อหลายชนิด และศึกษานอกสถานที่ หลักสูตรควรเน้นการแก้ปัญหาเป็นสำคัญ และสอดคล้องกับงานวิจัยของแอนดรู (Andrews, 1987) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย ที่เกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนสิ่งแวดล้อม โดยให้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 58 คน เป็นนักเรียนชาย 25 คน นักเรียนหญิง 33 คน และใช้เครื่องมือวัดเจ็ดอคติและความรู้เกี่ยวกับความคิดรวมยอดในวิชานิเวศวิทยา และแบบสอบถามที่เกี่ยวกับประสบการณ์นอกห้องเรียน ผลปรากฏว่า กิจกรรมกับสิ่งแวดล้อมศึกษามีความสัมพันธ์กับเจตคติที่มีต่อกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น ดังนี้ ตัวแปลที่มีอิทธิพลต่อเจตคติของนักเรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ได้แก่ แหล่งความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมนอกจากในห้องเรียนแล้วยังได้จากสื่อประเภทต่าง ๆ ได้แก่วิทยุโทรทัศน์ การทัศนศึกษา การบรรยาย การอภิปราย การจัดนิทรรศการ และเอกสารเผยแพร การสอนของครู การจัดกิจกรรมในชั้นเรียน และสิ่งเร้าภายนอกรวมถึงการเข้าไป มีส่วนร่วมในกิจกรรมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดความคิดรวบยอดกับเจตคติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับการอนุรักษ์อยู่ในเกณฑ์สูง นักเรียนมีเจตคติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในทางบวก ความรู้และเจตคติ ทางด้านสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์มีความสัมพันธ์กัน เด็กในเมืองและเด็กนอกเมืองมีเจตคติต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติไม่แตกต่างกัน สอดคล้องกับงานวิจัยของชวาบ (Schwaab,1976) ได้ศึกษาเรื่องผลการสอนด้วยวิธีต่างๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน ในการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษาตามทัศนะของผู้สอนในโรงเรียนรัฐบาล และศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัยมลรัฐอิลินอยส์ ผลการวิจัยพบว่า ครูในโรงเรียนรัฐบาลเห็นว่าวิธีการสอนที่ได้ผลดีที่สูงสุด ได้แก่ วิธีการสอนที่เน้นให้นักเรียนปฏิบัติ มีส่วนร่วมในกิจกรรม ครูมักใช้วิธีสอนที่ตนเองประเมินว่าได้ผลน้อย ครูส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้วิธีการสอนแบบใหม่ เช่น เกมสถานการณ์จำลอง ทัศนศึกษา การไปทัศนศึกษานอกสถานที่ เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง จากสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีการสอนที่นิยมใช้ในหมู่นักการศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อม วิธีการสอนแบบเชิงวิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ มาบรรยาย ครูเห็นว่าได้ผลดีแต่พบว่าครูยังใช้วิธีการสอนนี้น้อยมาก
ด้านการบริหารการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยรวมอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ ผู้บริหารโรงเรียนแสงอรุณ เห็นถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงมีการส่งเสริม สนับสนุนให้ครูปลูกฝังให้นักเรียน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันภายในกลุ่ม กระตุ้นให้นักเรียนมีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่าง ให้เกิดประโยชน์ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เช่น โครงการขยะรีไซเคิล การประหยัดพลังงานไฟฟ้า เป็นการฝึกทักษะให้นักเรียนเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และจัดให้นักเรียนไปทัศนศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และจัดกิจกรรมความดี เช่น ธนาคารขยะ ปลูกป่า อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของกชกร ธาราชีพ (2554) ได้กล่าวถึง ความสำคัญในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และมีคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน มีอิสระใน การทำงานโดยสมัครใจ และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อกิจกรรมนั้น ๆ ฝึกให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และได้ลงมือปฏิบัติจริง ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกัน รู้จักกันมากขึ้น และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และนักเรียนกับครู และสอดคล้องกับงานวิจัยของชลลดา อุทธา (2559) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการบริหารสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขต 29 ผลการวิจัย พบว่า ด้านการจัดการเรียนรู้ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก คือ ครูผู้สอนได้จัดการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ มีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้แก่บุคลากร
ด้านการบริหารกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ ผู้บริหารโรงเรียนแสงอรุณเห็นถึงความสำคัญของการบริหารกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ จึงได้มีการสร้างความเข้าใจ และให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม มีการร่วมกำหนดกิจกรรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันทั้งครู นักเรียน และชุมชน เช่น ประเพณีลอยกระทง และสนับสนุนให้ครูมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจากชุมชน และร่วมกับชุมชนให้มีแหล่งเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาในชุมชน สอดคล้องกับแนวคิดของสุรศักดิ์ จันพลา (2559)ได้กล่าวถึง ความจำเป็นในการมีส่วนร่วม ถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องคำนึงถึงว่า การมีส่วนร่วมนั้นจำเป็นจะต้องให้ผู้บริหารโรงเรียน ตลอดจนชุมชนได้เข้ามามีบทบาทด้วย เพราะโรงเรียนและชุมชนต่างก็มีความผูกพันธุ์ที่ดี เป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ฉะนั้น ผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร กำหนดนโยบายว่าจะพัฒนาโรงเรียนแบบมีส่วนร่วมกับ ชุมชนในเชิงบูรณาเข้าภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย เพื่อให้การพัฒนาด้านการศึกษาและการพัฒนา ท้องถิ่นควบคู่กัน เกิดความสมดุลทั้งสองฝ่าย ถ้าหากโรงเรียนเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ย่อมสะท้อนให้เห็นถึง ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบการบริหาร และการพัฒนาของผู้บริหารโรงเรียนได้ จึงจะประสบความสำเร็จและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการพัฒนาจากรากหญ้า คือ ชุมชนและโรงเรียนเข้าด้วยกันชาติ สอดคล้องกับแนวคิดของชูชาติ พ่วงสมจิตร์ (2560) ได้กล่าวถึงความสำคัญกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนมีประโยชน์และความจำเป็น คือช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน เนื่องจากโรงเรียนกับชุมชนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันในโครงสร้างสังคม ปัจจุบันการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันย่อมช่วยให้ทั้งสององค์กรอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ช่วยแก้ปัญหา ความขัดแย้ง เนื่องจากโรงเรียนและชุมชนต่างมีบทบาทหน้าที่ของตน และต่างพึ่งพา อาศัยซึ่งกันและกัน และบางครั้งอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันย่อมช่วยให้ แก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วม โดยปัจจุบันโรงเรียนต้องการการมีส่วนร่วมจากชุมชนอย่างมาก และไม่ใช่เพียงการมีส่วนร่วมส่งเสริมสนับสนุนด้านทรัพยากรเหมือนในอดีตเท่านั้น แต่โรงเรียนต้องการให้ตัวแทนชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ทั้งด้านการวางแผนการพัฒนาหลักสูตร การร่วมมือกันพัฒนาผู้เรียน การบอกความต้องการของชุมชน ฯลฯ ขณะเดียวกันชุมชนก็ต้องการ ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านวิชาการโดย โรงเรียนคือแหล่งวิชาการของชุมชน เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงการให้บริการ สถานที่และวัสดุอุปกรณ์แก่ชุมชน ดังนั้นการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันย่อมช่วยให้ทั้งสององค์กรมีส่วนร่วม สนับสนุนซึ่งกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับงานวิจัยของกนกพร บัวแก้ว (2558)ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในของผู้บริหารสถานศึกษาตามทัศนะคติของครู สังกัดเทศบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลการวิจัย พบว่า ด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์กับชุมชนในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยรวมอยู่ในระดับมาก ซึ่งการนำนักเรียนไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในชุมชน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ สถานศึกษาจัดกิจกรรมอนุรักษ์พัฒนาสิ่งแวดล้อมในสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน สถานศึกษามีการวางแผนในการพัฒนาส่งเสริมร่วมกับชุมชนหน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลอนุรักษ์พัฒนาสิ่งแวดล้อม มีการส่งเสริมความสัมพันธ์กับชุมชนในการอนุรักษ์ และพัฒนาสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา มีวิทยากรผู้ที่มีความรู้หรือภูมิปัญญาชาวบ้านมาให้ความรู้ในการจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด

ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
1. ด้านการบริหารจัดการผู้บริหารควรจะมีการประเมินผลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาอย่างสม่ำเสมอ และผู้บริหารควรจะส่งเสริมให้ครูได้รับการสัมมนา อบรม และศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อม
2. ด้านการบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน ผู้บริหารควรจะมีการส่งเสริมให้มีการวิเคราะห์หลักสูตร ในเนื้อหา ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา และผู้บริหารควรจะมีการส่งเสริมให้มีการจัดทำแผนการสอนหรือแผนการจัด การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา
3. ด้านการบริหารการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้บริหารควรจะมีการส่งเสริมให้นักเรียนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ภายในสถานศึกษา เช่น โครงการขยะรีไซเคิล การทำปุ๋ยชีวภาพ
4. ด้านการบริหารกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ ผู้บริหารควรจะมีการส่งเสริมให้ครูมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชุมชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรมีการศึกษาแนวทางการพัฒนาหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
2. ควรมีการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

บรรณานุกรม
กชกร ธาราชีพ. (2554). การบริหารสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2. ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.
กนกพร บัวแก้ว. (2558). การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในของผู้บริหารสถานศึกษาตามทัศนะของครู สังกัด
เทศบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัย
สุราษฎร์ธานี.
กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). หลักสูตรแกนกลาง พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การ
รับสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.).
กระทรวมศึกษาธิการ. (2546). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ
(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.).
กัญจน์รัตน์ สินธุรัตน์. (2559). การบริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 17 เพื่อเข้าสู่
ประชาคมอาเซี่ยน. ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ
รำไพพรรณี.
กิตติพัทธ์ จงจินากูล. (2556). บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในการบริหารสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ระดับชั้นประถามศึกษา กลุ่มเครื่อข่ายท่าขนุน-สหกรณ์นิคม-หินดาด สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3. ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ.
ชลลดา อุทธา. (2559). การบริหารสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29.
วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
ชูชาติ พ่วงสมจิตร์. (2560). การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน. ค้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2561 จาก
file:///C:/Users/User/Downloads/98396-Article%20Text-246226-1-10-20170907.pdf
บุญชม ศรีสะอาด. (2545). การบริหารงานวิชาการ. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.
พระมหาเดชา อมรเมธี. (2556). การบริหารสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษาจังหวัดอ่างทอง. ปริญญาการศึกษาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พัชราภรณ์ โพธิสัย. (2558). สภาพแวดล้อมทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านนาคำนาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยบูรพา.
พิชญ์สินี จิตต์ว่องไว. (2557). การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษานครปฐมเขต 1. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนคปฐม.
สุรศักดิ์ จันพลา. (2559). การมีส่วนร่วมอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนของผู้บริหารสถานศึกษา. พุทธศาสตรดุษฎี
บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย
Andrew, D.M. (1987). The Interrelationship Among the Cognitive, Affective and Behavioral Domain in an
Outdoor Environmental Program. Dissertation Abstracts International,39, (6), 3493-A
Schwaaab, K.E. (1976). A Survey of the Effectiveness of Environmental Education Teaching Method as
Rated by Public School Teachers and Professors of Education in Illinois. Dissertion Abstracts International, 36 (12), 7752-A
Walkorz, V.A. (1976). A Study of Environmental Ecological Education Program in the Elementary Grades
in Selected Cities of Illinertation . Dissertation Abstracts International, 35,1977-A