แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน” ส่งผลดีอย่างไรต่อประเทศสมาชิกอาเซียน

วันเผยแพร่ วันศุกร์, ๑๐ มกราคม ๒๕๕๗

อาเซียนกับการเชื่อมโยงในภูมิภาค (ASEAN Connectivity)


แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน” ส่งผลดีอย่างไรต่อประเทศสมาชิกอาเซียน

เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ชะอำ-หัวหิน ประเทศไทยได้นำเสนอแนวคิดในการสร้าง ความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity)เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนและเป็นแนวทางในการพัฒนาอาเซียนสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 จากการประชุมในครั้งนั้นประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน และได้จัดตั้ง คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Connectivity – HLTF-AC) เพื่อจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity – MPAC) ให้เป็นรูปธรรม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป

โดยแผนแม่บทที่จัดทำขึ้นนั้น มุ่งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนเพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยความเชื่อมโยงดังกล่าวจะเริ่มจากการเน้นความเชื่อโยงภายในอาเซียนก่อน โดยมีเจตนารมย์ที่จะเร่งรัดการเชื่อมโยงประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกฎระเบียบ และด้านประชาชน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริงภายในปี 2558 ซึ่งความเชื่อมโยงดังกล่าว จะพัฒนาต่อไปจนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน กับภูมิภาคอื่น ๆ อาทิ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ต่อไป

แผนการเชื่อมโยงอาเซียน อาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้

1. การสร้างโครงข่ายเชื่อมอาเซียนทางกายภาพ (Physical Connectivity) แยกย่อย ออกเป็น โครงข่ายด้านคมนาคม (transportation) โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT infrastructure) และ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (energy infrastructure) โดยมีการจัดตั้งคณะทำงาน สาขาต่าง ๆ ของอาเซียน (ASEAN Sectoral Bodies) เพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการแผนต่างๆให้ประสบผลสำเร็จ

2. การเชื่อมโยงทางกฎเกณฑ์เชิงสถาบัน (Institutional Connectivity) การเชื่อมโยงลักษณะนี้จะครอบคลุมข้อตกลง พิธีการ ในระดับนานาชาติหรือระดับภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงหรือข้อบังคับต่างๆ อาทิเช่นในเรื่องการข้ามแดนให้สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนในขณะเดียวกันก็ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดจากอาชญากรรมข้ามชาติ แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และปัญหาสังคมต่างๆที่อาจจามมาจากการเปิดการเชื่อมโยงกันของภูมิภาค

3. การเชื่อมโยงระหว่างประชากรอาเซียน (People-to-people Connectivity) ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงในหมวดนี้ที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงทางการศึกษาและวัฒนธรรม และการเชื่อมโยงทางการท่องเที่ยวภายในอาเซียน หากอาเซียนจะร่วมมือกันในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจ หรือสร้างความมั่นคงให้กับภูมิภาคมากขึ้น แต่หากขาดการพัฒนาคน หรือประชาชนของภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว การพัฒนาทางด้านอื่นๆก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยื่นได้ยาก ซึ่งอาจส่งผลต่อการรวมกลุ่มของอาเซียนด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนของอาเซียนเข้าใจถึงสังคมและวัฒนธรรมของกันและกัน รวมทั้งสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ประชาคมอาเซียนให้มากขึ้น

แม้ว่า โครงการความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนอาจส่งผลดีต่อระหว่างประเทศสมาชิก แต่ก็ยังมีอุปสรรคอย่างมากในการพัฒนาให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ทั้งนี้เนื่องจากความแตกต่างในด้านต่างๆของประเทศสมาชิก ทั้งปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ วัฒนธรรม และช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันของประชากรในแต่ละประเทศ

ประเทศในอาเซียนแบ่งออกเป็นประเทศที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ในแผ่นดินใหญ่ หรืออาจเรียกว่าประเทศทางบก (Mainland ASEAN บนคาบสมุทรแหลมทอง) และประเทศอีกส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในหมู่เกาะ (Island ASEAN) ดังนั้นในการเชื่อมต่อกันดังกล่าวต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากมีประเทศสมาชิกที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะถึง 5 ประเทศ ก็อาจทำให้การเชื่อมต่อประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศทำได้ยากขึ้นเนื่องจากระยะทางที่ห่างไกลกัน ซึ่งแตกต่างจากประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปซึ่งประเทศส่วนใหญ่มีดินแดงที่ติดต่อกัน

นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีลักษณะสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งบ่อยครั้งเป็นอุปสรรคสำคัญในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิก ยกตัวอย่างให้เห็น เช่นคนสิงคโปร์มีความกระตือรือร้น ขยันขันแข็งสูง แต่ประชาชนในอินโดนีเซียอาจทำงานในลักษณะ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบเร่ง ดังนั้นในการพัฒนาโครงสร้างต่างๆระหว่างประเทศสมาชิกร่วมกันอาจจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับลักษณะสังคมและวัฒนธรรมของทุกประเทศ

นอกจากนี้ อุปสรรคที่สำคัญอีกด้าน คือ ความแตกต่างของกฎหมายต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก ยกตัวอย่างเช่น บางประเทศอาจมีนโยบาย และสร้างกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และการเคลื่อนย้ายทุน หรือการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิชาชีพต่างๆ แต่ในบางประเทศอาจยังไม่พร้อมเปิดประเทศเพื่อการลงทุนของต่างชาติมากนัก นอกจากนี้กฎหมายของบางประเทศยังอาจล้าหลังไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมโลก เป็นต้น ความแตกต่างทางด้านกฎหมายของประเทศสมาชิก จึงอาจส่งผลต่อความล่าช้าในการพัฒนาแผนการเชื่อมโยงอาเซียน

อุปสรรคต่างๆเหล่านี้ อาจทำให้แผนการเชื่อมโยงอาเซียนดังกล่าวอาจไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นหากสมาชิกอาเซียนค่อยๆพัฒนาการเชื่อมโยงดังกล่าวในระดับย่อย หรือ ในระดับ“อนุภูมิภาค” (sub-region) ให้เข้มแข็งและมั่นคงเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคต่อไป อาจเป็นหนทางหนึ่ง ที่ช่วยสนับสนุนให้แผนการเชื่อมโยงอาเซียนประสบความสำเร็จได้โดยเร็ว และมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของภูมิภาคอีกด้วย

ในครั้งหน้าดิฉันจะได้กล่าวถึงการพัฒนาการเชื่อมโยงในระดับ “อนุภูมิภาค” (sub-region) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับประเทศนั้นๆมากกว่าความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ต่อไป

ขอขอบคุณแหล่งที่มา

แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน” ส่งผลดีอย่างไรต่อประเทศสมาชิกอาเซียน