ประวัติรัฐธรรมนูญฉบับที่1-20

      

ประวัติรัฐธรรมนูญฉบับที่1-20
  

วิดีโอ YouTube

         ประเทศไทยเราทำไมเราถึงมีรัฐธรรมนูญใช้มาแล้วมากถึง 18 ฉบับในเวลาแค่ 79 ปี ผมจะแยกไว้ให้ดูแต่ละฉบับเลยละกันนะครับว่าเกิดอะไรขึ้นถึงจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าและนำฉบับใหม่ขึ้นมาแทนเช่น

        รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 1  พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475เกิดจากคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้จัดร่างฯขึ้น มีจำนวน 39 มาตรา โดยหลวงประดิษฐมนูญธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน ต่อมาได้ "ยกเลิก" รัฐธรรญนูญฉบับนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ทั้งสิ้น 5 เดือน 13 วันมีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 1 ชุด คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (สมัยที่ 1: 28 มิถุนายน 2475-10 ธันวาคม 2475)

        รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 เกิดจากสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการยกร่างฯขึ้น เพื่อใช้เป็นรัฐธรรรมนูญฉบับถาวร มีจำนวน 68 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งต่อมาถือเป็น "วันรัฐธรรมนูญ" รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นฉบับถาวรที่มีระยะเวลาบังคับใช้นานที่สุดโดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 13 ปี 4 เดือน 29 วันส่วนสาเหตุยกเลิกนั้น เนื่องมาจากเห็นว่า ใช้มานานแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 นี้ มีรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศถึง 14 ชุด

ประวัติรัฐธรรมนูญฉบับที่1-20

        รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มีที่มาจาก ส.ส. ประเภทที่ 2 ที่ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎร และสภาพิจารณาแล้วอนุมัติ มีจำนวนมาตรา 68 มาตรา โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ก่อนจะสิ้นสุด เนื่องจากมีการรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจ และประกาศยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 รวมระยะเวลาประกาศใช้ 1 ปี 5 เดือน 30 วัน นี่คือจุดเริ่มต้นการฉีกรัฐธรรมนูญ

        รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 หลังจากที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร ได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมาใช้ มีจำนวน 98 มาตรา ประกาศใช้เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 และยกเลิกเมื่อ 23 มีนาคม 2492 เนื่องจากได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 นี้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน มีรัฐบาล 3 ชุด คือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ 2 สมัย และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีก 1 สมัย

        รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างฯ และพิจารณาแล้วเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนหน้านี้ โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 มีจำนวน 188 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 แต่แล้ว 2 ปี 8 เดือน 6 วัน ต่อมา ก็ต้องสิ้นสุดลงไป เมื่อ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลอีกครั้ง และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 สำหรับรัฐบาลที่ปกครองประเทศในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 4)

วิดีโอ YouTube

        รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 หลังจากที่ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร (อีกครั้ง) ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มาใช้บังคับไปพลาง พร้อมให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงฉบับใหม่ และเมื่อแล้วเสร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทน และสภาให้ความเห็นชอบ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 นี้ในวันที่ 8 มีนาคม 2495 โดยมีจำนวน 123 มาตรา และในระหว่างที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร ในวันที่ 16 กันยายน 2500 แต่ทว่าก็ยังคงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง คราวนี้ก็ถึงกาลสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศรวม 6 ชุด

        รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียง 20 มาตรา คณะรัฐประหารได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม 2502 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 รวมเวลา 9 ปี 4 เดือน 23 วัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ประกาศใช้นานมากพูดได้ว่า เป็นช่วงการใช้อำนาจเผด็จการที่ยาวนานที่สุดของไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความเป็นเผด็จการเต็มขั้น คือในมาตรา 17 ที่ให้อำนาจ นายกรัฐมนตรีเบ็ดเสร็จและมาตรานี้เองที่ทำให้เกิดการประหารชีวิตผู้ต้องหาโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล ทั้งยังมีการล้มเลิก การเลือกตั้ง ในทางการเมืองทุกระดับ มีแต่ การแต่งตั้งแทนอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่นายกรัฐมนตรี คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่นายกฯ ท่านนี้จะ "ตายคาตำแหน่ง" ในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 และ จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก่อนที่จะยกเลิกเนื่องจากประกาศใช้ฉบับถาวร

        รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างและพิจารณาให้ความเห็นชอบ นับเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างฯนานมาก นับจากวันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมี จำนวน 183 มาตรา โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และต้องยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ด้วยเหตุแห่งการรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเอง โดยอ้างว่า "มีบุคคลบางจำพวกอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยุยง บ่อนทำลาย ใช้อิทธิพลทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติก่อกวนการบริหารราชการของรัฐบาล" รวมเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 3 ปี 4 เดือน 28 วันผู้บริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร (สมัยที่ 3 : 7 มีนาคม 2512-17 พฤศจิกายน 2514)

ประวัติรัฐธรรมนูญฉบับที่1-20

        รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นแนวทางในการบริหารประเทศไปพลางก่อน โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 และสิ้นสุดเมื่อ 7 ตุลาคม 2517 รวมเวลา 1 ปี 9 เดือน 22 วัน มีจำนวน 23 มาตรา สำหรับสาเหตุแห่งการสิ้นสุดนั้น เกิดจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ซึ่งเป็นฉบับถาวร ภายใต้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่รู้จักกันดีคือ "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ในปี 2516 ซึ่งเป็นเหตุให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องพ้นจากอำนาจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์

        รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ในช่วงที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้น และได้จัดร่างรัฐธรรมญนูญ โดยยึดหลักประชาธิปไตยอย่างมาก เมื่อร่างฯเสร็จ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน ประกาศใช้เมื่อ 7 ตุลาคม 2517 มีจำนวนมาตรา 238 มาตรา แต่ทว่า 2 ปีต่อมา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารและประกาศล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ เป็นกระบวนการที่ติดตามมาจากการกวาดล้าง ปราบปรามขบวนการนักศึกษาในเช้าวันเดียวกัน ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีรัฐบาล 4 ชุด จากนายกรัฐมนตรี "หม่อมพี่-หม่อมน้อง" คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 3 สมัย และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 1 สมัย

ประวัติรัฐธรรมนูญฉบับที่1-20