การจัดการ สิ่งแวดล้อม ใน โรงงาน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการจัดการของเสียของโรงงานไฟฟ้าทุกแห่งอย่างสม่ำเสมอตามขั้นตอน ตั้งแต่การรวบรวม จัดเก็บ และขนส่งกากของเสียที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของบริษัทฯ ตามระเบียบปฏิบัติด้านการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม เพื่อนำไปบำบัดและกำจัดตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้สร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้รับเหมา คู่ค้า และลูกค้า โดยได้กำหนด "กระบวนการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม" และนำไปปฏิบัติกับโรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัทฯ โดยเราได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีการขนส่งกากของเสียทุกประเภทและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกจากพื้นที่ของบริษัท และมีกระบวนการในการประเมินและอนุมัติการกำจัดกากของเสีย ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษให้กับบริษัทผูรับกำจัดกากของเสียก่อนออกจากโรงงานทุกครั้ง

รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้พระราชบัญญัติโรงงานและพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายในการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล วัสดุไม่ใช้แล้ว รวมถึงของเสียอันตรายของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต อีกทั้งยังตรวจติดตามของเสียที่ส่งกำจัด โดยผู้รับกำจัดภายนอกที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมผ่านเอกสารการกำกับการขนส่งของเสียอันตราย รวมถึงจัดทำรายงานสรุปตามแบบ สก.3 เพื่อรายงานสรุปปริมาณของเสียที่บริษัทฯ ส่งกำจัดทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าของเสียได้รับการจัดการตามที่บริษัทฯ กำหนดและสอดคล้องกับกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ISO 14001 คือ มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environment management System) ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากหน่วยงานองค์กรทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรมีความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจ โดยมุ่งเน้นในการป้องกันมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนการผลิตในธุรกิจ

หลักการสำคัญของ ISO 14001

  1. การกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม: ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต้องกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร โดยจะต้องกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับสภาพ ขนาดและประเภทธุรกิจขององค์กร ซึ่งนโยบายสิ่งแวดล้อมต้องแสดงความมุ่งมั่นต่อการป้องกันมลพิษหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ
  2. การวางแผน: วางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายสิ่งแวดล้อมที่องค์กรตั้งขึ้น โดยกำหนดระเบียบปฏิบัติงานระบุลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม , กำหนดระเบียบปฏิบัติงานพิจารณาข้อกำหนดในกฎหมายและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง , กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับนโยบาย รวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะป้องกันและลดมลพิษจากการระบุลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนงานสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย โดยแสดงระยะเวลาของแผนฯ ผู้รับผิดชอบและดัชนีวัดประสิทธิภาพอย่างชัดเจน
  3. การนำไปปฏิบัติและการดำเนินงาน: กำหนดโครงสร้าง และบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน เช่น ผู้รับผิดชอบด้านกฎหมาย ผู้รับผิดชอบภาวะฉุกเฉิน ตลอดจนผู้แทนฝ่ายบริหารด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อที่จะให้แผนงานสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประเมินความต้องการการฝึกอบรม แผนการฝึกอบรม การประเมินผล การฝึกอบรม ฯลฯ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่บุคลากรในองค์กร เพื่อที่จะควบคุมการปฏิบัติงานให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยที่สุด
  4. การตรวจสอบและการปฏิบัติการแก้ไข: องค์กรติดตามและวัดผลการดำเนินงาน โดยเปรียบเทียบกับแผนที่วางเอาไว้ แจกแจงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามแผน และทำการตรวจประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นระยะ เพื่อยืนยันความถูกต้องสมบูรณ์ของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้
  5. การทบทวนและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง: ผู้บริหารองค์กรทำการทบทวนระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ประโยชน์ของ ISO 14001

  1. ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร
  2. ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสีย
  3. ก่อให้เกิดการบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
  4. สร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพ ในการแข่งขันทางการค้า
  5. เกิดการใช้ทรัพยากรหรือวัตถุดิบอย่างคุ้มค่า
  6. องค์กรได้รับความเชื่อมันและความไว้วางใจในคุณภาพ
  7. ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม

การรับรองระบบจัดการสิ่งแวดล้อม มาตรฐาน ISO 140001

ในการดำเนินการขอรับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ทางองค์กรจะต้องจัดทำระบบตามข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO 140001 จะมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้

  1. ศึกษาอนุกรมมาตรฐาน ISO 14000 ประกอบด้วย มาตรฐานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม , การตรวจสอบประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อม , ฉลากกับผลิตภัณฑ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม , การประเมินความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม , การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานอื่นภายใต้ TC 207
  2. ประชุมฝ่ายบริหาร เพื่อขอการสนับสนุน ในการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
  3. ตั้งคณะกรรมการชี้นำ เพื่อจัดทำระบบและควบคุมดูแลให้เป็นไปตามที่กำหนด
  4. กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม วางแผนการจัดการระบบ จัดทำวิธีการปฏิบัติ และคำแนะนำที่จำเป็น
  5. ลงมือปฏิบัติตามระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้
  6. ตรวจติดตามระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อทำการตรวจสอบว่าระบบเป็นไปตามแผนและข้อกำหนดของมาตรฐาน และได้มีการนำไปใช้ปฏิบัติและคงไว้อย่างเหมาะสม
  7. แก้ไขข้อบกพร่องที่พบจากการตรวจติดตามภายใน และปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  8. ติดต่อหน่วยงานที่ให้การรับรองและยื่นคำขอ

มาตรฐานสากลฉบับ ISO 14001:2015

เมื่อเดือนกันยายน 2015 ได้มีการประกาศใช้ ISO 14001:2015 ฉบับมาตรฐานสากล (IS) จะช่วยยกระดับระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร ซึ่งเน้นบทบาทของผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องให้ความสำคัญกับความต้องการ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่มีขีดจำกัดว่าต้องใช้กับองค์กรขนาดใหญ่ที่การลงทุนสูงและมีบุคลากรจำนวนมากเท่านั้น แต่ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 สามารถนำมาใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิตหรือภาคบริการทั้งรัฐกับเอกชน และองค์กรที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)