ส่อง กล้อง นิ่ว ใน ท่อ น้ำ ดี

คุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ๆ บ้างหรือเปล่า หรือปวดท้องบ้างไหม ถ้าใช่ อย่ารอช้า รีบเข้ารับการตรวจ วินิจฉัยโดยด่วน เพราะอาจป่วยเป็น “โรคท่อน้ำดีอุดตันจากก้อนนิ่ว” ก็ได้นะ

เมื่อพูดถึงอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือที่เรียกว่า ดีซ่าน หลายคนมักนึกถึงแต่โรคที่เกี่ยวกับตับ แต่จริง ๆ ยังอาจเป็นโรคอื่น ๆ ได้อีก โดยเฉพาะเรื่องที่เราจะคุยกันในครั้งนี้ คือ ท่อน้ำดีอุดตันจากก้อนนิ่ว ซึ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับท่อน้ำดีและตับอ่อน จะเริ่มมีอาการแสดงโดยมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีอาการปวดท้อง บางรายพบอาการผิดปกติในการทำงานของตับและตับอ่อน

เพราะระบบท่อน้ำดีนั้นสำคัญ

ระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้วนมีความสำคัญ น้ำดีก็เช่นเดียวกันถูกสร้างจากตับหลั่งมาตามท่อน้ำดีเก็บพักไว้ที่ถุงน้ำดี เพื่อทำให้น้ำดีเข้มข้นขึ้น เมื่ออาหารผ่านมาถึงลำไส้เล็กส่วนต้นจะมีการหลั่งสาร (ฮอร์โมน) กระตุ้นให้ถุงน้ำดีบีบตัวเพื่อขับน้ำดีให้ไหลลงสู่ท่อน้ำดี โดยจะมีท่อน้ำย่อยที่ผลิตจากตับอ่อนไหลมารวมกันก่อนแล้วไหลลงสู่รูเปิดบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น น้ำดีที่ถูกสร้างจากตับและตับอ่อนมีส่วนสำคัญในการย่อยอาหารและดูดซับไขมัน อ๊ะๆ อย่าเพิ่งบอกว่าอะไรกันนี่ มึนตึ๊บ ค่อย ๆ ลองเปิดใจอ่านถึงการทำงานทีละลำดับอีกครั้ง จะทำให้คุณมองเห็นภาพความสำคัญของระบบท่อน้ำดีชัดขึ้น

ทำไมท่อน้ำดีจึงอุดตัน ?

สำหรับการอุดตันของท่อน้ำดีนั้น สามารถอุดตันในระบบน้ำดีตำแหน่งใดก็ได้ ซึ่งการอุดตันมักพบว่าเกิดจากก้อนนิ่วและก้อนเนื้องอก ซึ่งถ้าเมื่อใดที่ท่อน้ำดีอุดตัน น้ำดีจะย้อนไปที่ตับแล้วเข้าสู่กระแสเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลืองนั่นเอง

ERCP ตรวจรักษาได้แบบ 2-IN-1

เมื่อพบอาการผิดปกติอย่ารอ รีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา แต่ไม่ต้องกังวลจนเกินเหตุ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษา ERCP : Endoscopic Retrograde Cholangio Pancreatography คือหัตถการสำคัญที่ช่วยตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบท่อน้ำดีและตับอ่อน ไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำดีอุดตันจากก้อนนิ่ว เนื้องอก พังผืด และอื่น ๆ ท่อตับอ่อนมีการอุดตัน จากนิ่ว เนื้องอก โดยเฉพาะกรณีที่ตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในท่อน้ำดีอุดตันที่บริเวณรูเปิดร่วมของท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน สามารถตรวจรักษาได้เป็นอย่างดี

ตรวจรักษาด้วย ERCP น่ากลัวไหม

การส่องกล้องทำ ERCP วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดให้ผู้ป่วยหลับ จึงหมดกังวลกับความรู้สึกต่าง ๆ ที่อาจมีระหว่างทำหัตถการ จากนั้นแพทย์จะสอดกล้องผ่านทางปาก ไปยังกระเพาะอาหาร ลงไปสู่ลำไส้เล็ก เพื่อหารูเปิดท่อน้ำดี และทำการฉีดสารทึบรังสี เข้าไปในท่อน้ำดี และทำการเอกซเรย์ เพื่อดูความผิดปกติของท่อน้ำดี และท่อตับอ่อน

หากตรวจพบว่ามีนิ่วในท่อน้ำดี แพทย์อาจจะทำการตัดรูเปิดท่อน้ำดีให้กว้างโดยใช้สอดผ่านกระแสไฟฟ้าเพื่อดึงนิ่วที่ค้างอยู่ให้หลุดออกมาสู่ลำไส้เล็ก   โดยแผลที่เกิดจากการตัดจะหายเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ หากพบมีการตีบตันก็จะใส่ท่อเพื่อระบายน้ำดีให้ไหลลงสู่ลำไส้ หลังทำหัตถการแพทย์จะให้นอนดูอาการประมาณ 30-60 นาที เมื่อผู้ป่วยฟื้นอาจรู้สึกแน่นท้องได้ เนื่องจากขณะทำการตรวจรักษาได้มีการใส่ลมเข้าสู่ลำไส้

ข้อควรระวังก่อนและหลังทำ ERCP

ก่อนการรักษา: งดทานยาละลายลิ่มเลือดประมาณ 5-7 วัน ก่อนการทำ งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชม. แจ้งประวัติการแพ้ยาและอาหารทะเลกับแพทย์อย่างละเอียด

หลังการตรวจรักษา: หากมีอาการปวดท้องมาก อาเจียน หรืออุจจาระมีสีดำเหลว ต้องรีบแจ้งแพทย์ทันที  

#เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ต้องรีบพบแพทย์ อย่าปล่อยให้ความเครียด ความกังวลทำร้ายคุณ

#หลายครั้งโรคที่อาจดูน่ากลัวสำหรับคนทั่วไป แต่กลับตรวจรักษาได้ภายในเวลาไม่กี่ชม. ดังนั้นเมื่อใดที่ป่วย ขอให้คุณมั่นใจที่จะให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ดูแลคุณ   

ส่อง กล้อง นิ่ว ใน ท่อ น้ำ ดี

นิ่วในท่อน้ำดีคืออะไร ?
  • - นิ่ว คือก้อนที่เกิดจากการตกตะกอนในระบบอวัยวะต่างๆ ที่มีของเหลวซึ่งอาจเป็นผลจากความเข้มข้นของของเหลวสูงกว่าปกติ ซึ่งนิ่วที่พบบ่อยจะเกิดในสองระบบได้แก่ทางเดินปัสสาวะและทางเดินน้ำดี
  • - ระบบทางเดินน้ำดี : น้ำดีสร้างจากตับ ปล่อยสู่ท่อน้ำดี แล้วเก็บไว้ในถุงน้ำดี โดยถุงน้ำดีจะบีบตัวเพื่อให้น้ำดีออกมาเมื่อรับประทานอาหารซึ่งน้ำดีจะไปทำหน้าที่ในการย่อยไขมัน ซึ่งปลายท่อน้ำดีจะลู่ลงและมีหูรูดก่อนปล่อยสู่ลำไส้
  • - นิ่วในระบบทางเดินน้ำดีจึงสามารถเป็นได้หลายที่ เช่น นิ่วถุงน้ำดี นิ่วท่อถุงน้ำดี และนิ่วในท่อน้ำดี
  • - นิ่วในท่อน้ำดีส่วนใหญ่มักเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีตกสู่ท่อน้ำดี
นิ่วในท่อน้ำดี มีอาการอย่างไร ?
  • - นิ่วในท่อน้ำดีที่เกิดการอุดตันของท่อน้ำดีจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ซึ่งมักปวดบริเวณท้องส่วนบน อาจเป็นบริเวณชายโครงขวาหรือลิ้นปี่ก็ได้ และอาจปวดเป็นพักๆ หรือปวดต่อเนื่องก็ได้ นอกจากนี้อาจมีอาการปวดร้าวไปหลังได้ นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นร่วมเช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • - เมื่อเกิดการอุดตันทางเดินน้ำดี จะเกิดภาวะน้ำดีคั่งค้างทำให้เกิดอาการตัวตาเหลืองได้และปัสสาวะมักจะมีสีเข้มด้วย นอกจากนั้นจะเกิดการติดเชื้อในทางเดินน้ำดีได้บ่อย ทำให้มีไข้ขึ้น และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ นิ่วในท่อน้ำดี มีวิธีการวินิจอย่างไร ?
  • - การทำอัลตร้าซาวน์เป็นการตรวจที่ดีสำหรับนิ่วในถุงน้ำดี แต่สำหรับนิ่วในท่อน้ำดีมักตรวจไม่ค่อยเจอ อาจจะพบท่อน้ำดีโตกว่าปกติได้
  • - การตรวจที่มีความไวมากกว่าได้แก่ เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ CT scan หรือเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI นอกจากนี้ถ้านิ่วมีขนาดเล็กมากๆ อาจต้องตรวจด้วยการส่องกล้องอัลตร้าซาวน์จากภายในลำไส้
  • - การตรวจเลือดจะช่วยประเมินภาวะแทรกซ้อน เช่น การอักเสบติดเชื้อ หรือภาวะน้ำดีคั่งค้างได้
นิ่วในท่อน้ำดี มีวิธีการรักษาอย่างไร ?
  • - การรักษานิ่วในท่อน้ำดีจะทำโดยการนำนิ่วออกโดยการส่องกล้องฉีดสีท่อน้ำดี หรือเรียกว่า ERCP; Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography ทำโดยการส่องกล้องเข้าทางปากผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ไปสู่ลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งเป็นตำแหน่งของรูเปิดท่อน้ำดี แพทย์จะใช้อุปกรณ์ฉีดสีเข้าสู่ท่อน้ำดีเพื่อประเมินขนาดของท่อน้ำดีและนิ่ว หลังจากนั้นจะตัดขยายหูรูดปลายท่อน้ำดีให้กว้างขึ้น ทำให้สามารถใส่อุปกรณ์เพื่อลากนิ่วออกมาจากท่อน้ำดีสู่ลำไส้เล็กได้ นอกจากนี้กรณีที่นิ่วขนาดใหญ่มากอาจใส่ท่อระบายไว้ก่อนเพื่อแก้ไขการอุดตันหรืออาจใช้เครื่องมืออื่นๆ สลายนิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ก็ได้ ซึ่งวิธีเหล่านี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลภายนอกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามบางรายที่ไม่สามารถสลายนิ่วได้หรือมีกายวิภาคของช่องท้องไม่ปกติก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นเช่นการผ่าตัด
  • - ผู้ที่ภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วคือมีการติดเชื้อท่อน้ำดีแล้ว จำเป็นจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดร่วมด้วย
  • - ในกรณีที่มีนิ่วในถุงน้ำดีร่วมด้วย หลังจากการนำนิ่วในท่อน้ำดีออก ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกร่วมด้วย ซึ่งอาจทำหลังจากการทำ ERCP หรือทำต่อเนื่องจากการทำ ERCP เลยขึ้นกับความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

ขอบคุณข้อมูล : นายแพทย์กาจพงศ์ เตชธุวานันท์
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ