ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

ไดโนเสาร์ประเทศไทยพบมากกว่า 10 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบครั้งแรกใน อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนาและมีพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงขึ้น ในพื้นที่ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เป็นแหล่งไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์และมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย (พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เปิดให้เข้าชมทุกวัน) นอกจากนี้ ได้แก่ จ.ชัยภูมิ จ.มุกดาหาร จ.นครพนม จ.นครราชสีมา จ.หนองบัวลำภู เป็นต้น และเมื่อปี 2546 ได้มีการค้นพบไดโนเสาร์เพิ่มเติมในภาคเหนือ(อ.เชียงม่วน จ.พะเยา) และภาคใต้ (จ.กระบี่) ค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ห้องสมุดกรมทรัพยากรธรณี หรือโทรมาสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์

Show

โดยกรมทรัพยากรธรณีเริ่มสำรวจอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีการค้นพบทั้งชิ้นส่วนกระดูกและรอยเท้าของไดโนเสาร์มากที่สุดบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ เป็นต้น จึงนำคำว่า “อีสาน” มาตั้งเป็นชื่อไดโนเสาร์ และตั้งชื่อตามชื่อของบุคคลหรือสถานที่ที่ขุดค้นพบ ซึ่งไดโนเสาร์ที่ขุดค้นพบมีอายุเก่าแก่ตั้ง 100-209 ล้านปี มีทั้งสายพันธุ์ใหม่ของโลก และสายพันธุ์ที่ถูกค้นพบทั่วไป

ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

ไดโนเสาร์ซอโรพอด “ไดโนเสาร์ตัวแรก” ที่ถูกพบในไทย 

เจ้าไดโนเสาร์ชนิดนี้ มีลำคอและหางยาว เดิน 4 เท้า กินพืชเป็นอาหาร เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) ชนิดแรกของไทย ที่มีชีวิตในยุคครีเทเชียสตอนต้น (130 ล้านปีก่อน) ได้รับการตั้งชื่อใหม่ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” (Phuwiangosaurus sirindhornae) เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถูกค้นพบในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2519 ที่บริเวณประตูตีหมา เขตอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น 

“ถ้าได้เห็นไดโนเสาร์มาอยู่ตรงหน้า จะตื่นตาตื่นใจแค่ไหน!?” 

การเรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์ไม่ได้มีแค่ในหนังสือหรือภาพยนตร์เท่านั้น ใครที่เป็นแฟนตัวยงของเหล่าสัตว์ดึกดำบรรพ์ต้องไม่ควรพลาด

กับสถานที่ท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจ เหมาะแก่การทัศนศึกษาในช่วงหยุดยาว ปิดเทอม เที่ยวเป็นกลุ่มนักเรียน ครู อาจารย์ หรือเที่ยวทั้งครอบครัวก็ยิ่งสนุก มาตะลุยในดินแดนไดโนเสาร์ และเรียนรู้วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ไปพร้อมกันเลย!!

5 แหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์ ทั่วไทย

ตามรอยจุดกำเนิดไดโนเสาร์ แห่งแรกของไทย

อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง จ. ขอนแก่น

ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

ไฮไลต์

สัมผัสบรรยากาศสวนป่าดึกดำบรรพ์ มีไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์บริเวณด้านนอกพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ภายในอาคารจัดแสดงเรื่องราวของการขุดค้นพบไดโนเสาร์ ชมซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชิ้นแรกในประเทศไทย

และไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์ที่พบในแหล่ง ขุดค้นภูเวียง อุทยานแห่งชาติภูเวียง

ตั้งใจหาแร่ยูเรเนียม แต่พบซากไดโนเสาร์!!

ในปี 2519 แรกเริ่มเดิมทีนักธรณีวิทยากำลังสำรวจหาแร่ยูเรเนียม ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง บริเวณห้วยยอดประตูตีหมา แต่กลับพบซากไดโนเสาร์!! ที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ซอโรพอด ยาวประมาณ 15 เมตร ภายหลังพบว่าเป็นกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์กินพืชนั่นเอง

นับตั้งแต่นั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงปักหมุดที่แห่งนี้ ให้เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า วิจัยซากดึกดำบรรพ์ มีการจัดแสดงซากกระดูกของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ชิ้นแรกของไทย รวมทั้งซากสัตว์ดึกดำบรรพ์อีกมากมาย

อึ้ง! ทึ่ง! กับ 5 โซนนิทรรศการ

โซนที่ 1 เรียนรู้เกี่ยวกับการกำเนิดจักรวาลและสิ่งมีชีวิต การกำเนิดไดโนเสาร์ตั้งแต่วิวัฒนาการไปจนถึงการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ ชมหลักฐานการพุ่งชนของอุกกาบาตลูกใหญ่ที่ปรากฏบริเวณประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน

โซนที่ 2 ชมซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชิ้นแรกในประเทศไทย 

และไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์ที่ถูกขุดพบในเขตขุดค้นภูเวียง คือ

  • ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน พี่ใหญ่คอยาว กินพืชเป็นอาหาร
  • สยามโมซอรัส สุธีธรนี มีฟันคล้ายจระเข้ที่ไม่เหมือนชนิดอื่น ๆ จึงจัดว่าเป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก
  • สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส นักล่าพันธุ์ดุ บรรพบุรุษของ “ที. เร็กซ์” ในแบบที่คุณหนู ๆ เห็นในหนัง Jurassic Park
  • กินรีไมมัส ขอนแก่นเอนซิส ไดโนเสาร์ตัวเล็กวิ่งไว คล้ายนกกระจอกเทศ
  • คอมป์ซอกนาทัส ไดโนเสาร์ที่ตัวเล็กที่สุดในโลก

ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

คอมป์ซอกนาทัสตัวจิ๋ว กำลังกินขนมอย่างเอร็ดอร่อย :จากภาพยนตร์เรื่อง The Lost World: Jurassic Park

โซนที่ 3 แอบมองห้องปฏิบัติการของนักธรณีวิทยาผ่านกระจกใส มีมุมที่รวบรวมซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกขุดพบในจังหวัดขอนแก่น

โซนที่ 4 สัมผัสบรรยากาศสวนป่าดึกดำบรรพ์ โลกล้านปีเสมือนจริง มีหุ่นยนต์ไดโนเสาร์ส่งเสียงร้องทักทายผู้มาเยือน

โซนที่ 5 ชมหินและแร่ในประเทศไทย ปิโตรเลียม และธรณีพิบัติภัย

นอกจากนี้ยังมีแหล่งเรียนรู้เชื่อมโยงที่ไม่ควรพลาด ซึ่งเป็นแหล่งขุดพบซากไดโนเสาร์ รวมถึงรอยเท้าไดโนเสาร์ทั้ง 9 หลุม ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติภูเวียง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น 



ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

เปิดบริการวันไหนบ้าง?

ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 9.00 น.-17.00 น. หยุดทุกวันจันทร์ ยกเว้น วันจันทร์ที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์

เว็บไซต์ : อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง จ.ขอนแก่น

ชมสุสานซากดึกดำบรรพ์ ใหญ่ที่สุดในอีสาน

พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ. กาฬสินธุ์

ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

ไฮไลต์

พิพิธภัณฑ์สิรินธร เดิมคือศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เป็นแหล่งขุดค้นที่มีห้องปฏิบัติการทางธรณีวิทยาใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจุบันมีการขุดค้นพบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของไดโนเสาร์มากกว่า 700 ชิ้น นำมาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาความมหัศจรรย์ของไดโนเสาร์ มีแหล่งเรียนรู้น่าสนใจที่ไม่ควรพลาด 2 จุดใหญ่ ๆ คือ

  • “อาคารพระญาณวิสาลเถร” อาคารหลุมขุดค้น ที่ตั้งตามชื่อสมณศักดิ์ของท่านเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ผู้ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว จุดกำเนิดการขุดค้นพบซากไดโนเสาร์กินพืชสกุลภูเวียง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
  • โซนไดโนเสาร์ไทย จัดแสดงโครงกระดูกไดโนเสาร์ทุกชนิดที่พบในประเทศไทย

ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นกระดูกไดโนเสาร์กินพืชสกุลภูเวียง 1 ชนิด และเป็นไดโนเสาร์กินพืช ชนิดใหม่อีก 1 ชนิด คาดว่าอาจเป็นไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลก โดยพบชิ้นส่วนของหัวกระโหลก ฟันและกราม และโครงกระดูกที่เรียงรายต่อกันเกือบจะสมบูรณ์ทั้งตัว

ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

อาคารหลุมขุดค้นที่ยังเก็บรักษาซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ณ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์

เจาะลึกโลกไดโนเสาร์แบบจัดเต็ม

ภูกุ้มข้าว นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า ในยุคโบราณเคยเป็นธารน้ำที่ฝูงไดโนเสาร์กินพืชใช้ดื่มกิน เมื่อเกิดภัยพิบัติฉับพลันทำให้พวกมันตายทับถมกันบริเวณแห่งนี้ โดยพบกระดูกไดโนเสาร์เกือบทั้งตัว ทับถมกองรวมกันอยู่ในชั้นหิน เรียกได้ว่าที่แห่งนี้เป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย

ซึ่งภายในอาคารมีแหล่งเรียนรู้ทั้งหมด 8 โซน ที่จะพาไปเจาะลึกเรื่องราวของไดโนเสาร์กันแบบจัดเต็ม

  • โซนกำเนิดโลกและจักรวาล ศึกษาทฤษฏี "บิ๊กแบง" (Big Bang) จุดกำเนิดจักรวาลจากการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่
  • โซนกำเนิดสิ่งมีชีวิต เรียนรู้อายุทางธรณีวิทยาจากหินแต่ละก้อนที่บันทึกเรื่องราวเอาไว้
  • โซนมหายุคพาลีโอโซอิก ยุคแห่งสัตว์เลื้อยคลานครองโลก เข้าใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณเมื่อ 542 ปีที่แล้ว ที่เริ่มจากการจากการอาศัยอยู่ในน้ำก่อน แล้วค่อยพัฒนาการตัวเองขึ้นมาอาศัยอยู่บนบกอย่างสมบูรณ์ พบซากฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานโบราณ เช่น ไทรโลไบต์ (Trilobite) ที่มีรูปร่างคล้ายๆกับแมงดาทะเล, ปลาเกราะโบราณ หรือปลาหุ้มเกราะ (Armored fish) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของปลาในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงแมลงปอขนาดใหญ่ความยาวประมาณ 2 ฟุต และพืชโบราณชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย
  • โซนไดโนเสาร์ไทย ย้อนไป 65 ล้านปีก่อน พื้นที่ของประเทศไทยในอดีตเคยเป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์หลากชนิด อย่าง เทอโรพอด (Theropod) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่เป็นญาติกับ ที. เร็กซ์ (T. rex), ซอโรพอด (Sauropod) พวกกินพืชคอยาว ลำตัวใหญ่กว่าช้างหลายเท่า, ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว หรือ ซิตตะโกซอรัส (Psittacosaurus) จุดนี้ทำให้เข้าใจวิวัฒนาการไดโนเสาร์ได้อย่างชัดเจน
  • โซนวิถีชีวิตไดโนเสาร์ไทย สัมผัสบรรยากาศการอยู่อาศัยของไดโนเสาร์ว่ามีการกิน การล่าเหยื่อ การป้องกันตัว และการเลี้ยงลูกอย่างไร
  • โซนคืนชีพให้ไดโนเสาร์ ศึกษาการทำงานในห้องปฏิบัติงาน
  • โซนมหายุคซีโนโซอิก ศึกษายุคแห่งวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ช้าง ม้า แรด วาฬ ค้างคาว สัตว์แต่ละประเภทมีวิวัฒนาการมาจากสัตว์อะไร?
  • โซนเรื่องราวของมนุษย์ ทำความรู้จัก “ไพรเมต” สัตว์ในตระกูลลิงที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์เมื่อ 6-7 ล้านปีที่แล้ว

เปิดบริการวันไหนบ้าง?

ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 9.00 น.-17.00 น. หยุดทุกวันจันทร์ ยกเว้น วันจันทร์ที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์

เว็บไซต์ : พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์

แหล่งสัมผัสไดโนเสาร์เสมือนจริง ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

ไฮไลต์

ทุกคนจะต้องร้อง ว้าว! กับสวนดึกดำบรรพ์คืนชีพ เต็มไปด้วยแสง สี เสียง อลังการ 

พบเหล่าไดโนเสาร์ฝูงใหญ่ หลายสกุลที่ถูกขุดพบซากในประเทศไทย ส่งเสียงร้องทักทายผู้มาเยือน เคลื่อนไหว ส่ายหัว แกว่งหางได้ราวกับมีชีวิต เป็นการชมนิทรรศการไดโนเสาร์ที่เปิดโลกการเรียนรู้เสมือนจริงยิ่งกว่าหนัง Jurassic Park เลยทีเดียว

โลกดึกดำบรรพ์ ไม่ได้มีแค่ไดโนเสาร์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ. ปทุมธานีแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ทางธรณีวิทยาที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน อัดแน่นไปด้วยสาระการเรียนรู้ในยุคของไดโนเสาร์ ที่มีวิวัฒนาการมาหลายร้อยล้านปี รวมถึงความรู้ด้านธรณีวิทยาต่าง ๆ เช่น หิน แร่ พลังงานเชื้อเพลิงผ่านสื่อจำลอง เกมการเรียนรู้ ที่ทั้งสนุกและเข้าใจง่ายในเรื่องราวเหล่านี้

  • การกำเนิดระบบสุริยะ เข้าใจเหตุการณ์การระเบิดซูเปอร์โนวามีที่มาที่ไปอย่างไร ผ่านจอกว้าง 180 องศา
  • หินและกระบวนการกำเนิดหิน ซึ่งเกิดก่อนการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก
  • เกร็ดน่ารู้เรื่องเปลือกโลก สัมผัสบรรยากาศจำลองสภาพแวดล้อม และภูมิประเทศในยุคกำเนิดไดโนเสาร์ เมื่อ 225 ล้านปีก่อน
  • ภูชี้ฟ้า หรือแพะเมืองผี พื้นดินแบบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร? เรียนรู้ได้จากห้องธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
  • สวนจำลองมีซากดึกดำบรรพ์ ซากไข่ไดโนเสาร์ที่กลายเป็นหิน ทั้งที่ขุดค้นได้ในประเทศไทยและจากทั่วโลก
  • การสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวระดับต่าง ๆ จำลองบรรยากาศจริง ๆ ว่าแผ่นดินไหวขนาด 7 หรือ 8 ริกเตอร์จะรุนแรงขนาดไหน ซึ่งเชื่อมโยงกับความรู้เรื่องการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ
  • เชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และหินน้ำมัน สิ่งเหล่านี้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป

เปิดบริการวันไหนบ้าง?

ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 9.30 น.-16.00 น. หยุดทุกวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

เที่ยววิถีใหม่ จองออนไลน์ล่วงหน้า 1 วัน ผ่านแบบฟอร์ม : https://bit.ly/2ZskjyE

Facebook : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ. ปทุมธานี

"UNSEEN หนองบัวลำภู" ถ่ายรูปคู่กับไดโนเสาร์ตัวใหญ่

สวนอุทยานไดโนปาร์ค (Dino Park) 

ณ พิพิธภัณฑ์หอยหิน 150 ล้านปี จ. หนองบัวลําภู

ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

ไฮไลต์

เที่ยวชมสวนอุทยานไดโนปาร์ค เป็นสวนอุทยานไดโนเสาร์กลางแจ้ง พร้อมบริการรถรางนำเที่ยว ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น สูดอากาศสดชื่นเต็มปอด มีพันธุ์ไม้ เทือกเขา น้ำตกและโขดหินที่สวยงาม พบกับหุ่นยนต์ไดโนเสาร์ตัวโต และไข่ไดโนเสาร์กว่า 30 ฟอง คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน พวกมันสามารถขยับปากส่งเสียงร้อง กระพริบตา หันซ้าย-ขวา และส่ายหางไปมาได้แบบสมจริง ประกอบด้วยสายพันธุ์กินเนื้อและกินพืช

  • แบรคิโอซอรัส (Brachiosaurus) ไดโนเสาร์กินพืชไซส์ใหญ่ อาศัยอยู่ในยุคจูแรสซิก
  • ที. เรกซ์ (T. rex) หรือไทแรนโนซอรัส ไดโนเสาร์นักล่าขวัญใจเด็ก ๆ
  • โอวิแรปเตอร์ (Oviraptor) ไดโนเสาร์ที่มีหงอนเป็นเอกลักษณ์จดจำง่าย
  • ไทรเซราทอปส์ (Triceratops) ไดโนเสาร์ตัวใหญ่ มีจะงอยปากคล้ายนกแก้ว
  • แองไคโลซอรัส (Ankylosaurus) ไดโนเสาร์พันธุ์อึด มีเกราะหุ้มตัวไว้ป้องกันอันตรายจากนักล่า
  • สไปโนซอรัส (Spinosaurus) ไดโนเสาร์กินปลา มีกระโดงคล้ายใบเรือ
  • ทิแรโนดอน (Pteranodon) สัตว์เลื้อยคลานที่มีปีกบินได้

และเมื่อเข้ามาด้านในอาคารพิพิธภัณฑ์หอยหิน 150 ปี ทุกคนจะได้ทักทายกับหุ่นจำลองไดโนเสาร์โนนทัน ตัวเอกของที่นี่ ชื่อว่า “สยามโมโทรันนัส อิสานเอนซิล” สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ 8 ส่วนราวกับมีชีวิต ถือได้ว่าเป็นหุ่นยนต์ไดโนเสาร์ที่นักท่องเที่ยวสามารถเซลฟี่ ถ่ายคลิปเก็บไว้เป็นที่ระลึกกลับบ้านได้เต็มที่

ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

หอยหินโบราณ 150 ล้านปี : ภาพจาก www.museumthailand.com

ชมซากหอยสวยงามแปลกตา

สวนอุทยานไดโนปาร์ค (Dino Park) แหล่งท่องเที่ยว Unseen แห่งใหม่ของจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์หอยหิน 150 ล้านปีและไดโนเสาร์โนนทัน ที่จะพาทุกคนไปรู้จักความเป็นมาของหอยหินโบราณ 150 ล้านปีและไดโนเสาร์หลากสายพันธุ์ ผ่านหนังสารคดีอนิเมชันน่ารักในโรงฉายภาพยนตร์ 4 มิติ

ภายในอุทยานไดโนเสาร์ ยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์จัดโซนเพื่อการเรียนรู้ทั้งหมด 5 โซน ได้แก่

โซนท่องจักรวาล โมเดลเคลื่อนที่ จำลองวงโคจรของดวงอาทิตย์ และดวงดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ

โซนโลกแหล่งกำเนิดชีวิต รู้จัก “ป้าลูซี่” บรรพบุรุษมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

โซนอาณาจักรนักล่า ชมกระดูกฟอลซิลไดโนเสาร์พันธุ์ต้นตระกูลที. เรกซ์ ซึ่งถูกค้นพบที่ตำบลโนนทัน จ.หนองบัวลำภู

โซนฟอสซิลหอยหินกาบคู่ อายุ 150 ล้านปี และซากหอยหินรูปร่างแปลกตาที่ถูกค้นพบโดยชาวบ้าน

และโซนตามรอยนักสำรวจ เรียนรู้การทำงานของนักชีววิทยาและนักธรณีวิทยา เครื่องมือที่ใช้สำรวจพื้นดิน และเรื่องราวที่น่าสนใจระหว่างสำรวจธรณีที่แหล่งฟอสซิลหอยหิน 150 ล้านปี

เปิดบริการวันไหนบ้าง?

ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 08.30 น.-16.00 น.

เว็บไซต์ : องค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน

เทียบรอยเท้าไดโนเสาร์ของจริง มากที่สุดในไทย 

ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

ไฮไลต์

ตื่นตาไปกับรอยเท้าไดโนเสาร์เทโรพอด (Theropod) จำนวน 29 ทางเดิน ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ และ อิกัวโนดอน (Iguanodon) ไดโนเสาร์กินพืช รวมทั้งรอยเท้าของจระเข้ขนาดเล็ก บนหินโคกกรวดในยุคครีเตเซียสตอนต้น ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของไดโนเสาร์ ย้อนไปเมื่อ 145 ล้านปีก่อน

พบรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ชัดเจนมาก!!

ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไดโนเสาร์ ที่เปิดโลกการเรียนรู้แห่งหนึ่ง พบรอยเท้าไดโนเสาร์เยอะที่สุดในประเทศไทย เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อปี พ.ศ.2554 คนงานกำลังระเบิดหินเพื่อนำไปก่อสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งตามแนวแม่น้ำโขง สังเกตเห็น "รอยเท้าประหลาด" ฝังอยู่ในหิน จึงรีบแจ้งให้กรมธรณีวิทยาเข้ามาตรวจสอบ ปรากฏว่ารอยเท้าเหล่านี้ เป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์ นกกระจอกเทศ, อีกัวดอนและรอยเท้าจระเข้ขนาดเล็ก อีก 1 ชนิด

ว่ากันว่าในอดีตที่นี่เคยแม่น้ำหลายสายมารวมกัน ฝูงไดโนเสาร์จึงมาหากินบริเวณนี้ พบรอยเท้าของ ออร์นิโธมิโมซอร์ (Ornithomimosauria) ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศมากกว่า 600 รอย และร่องรอยจระเข้ขนาดเล็กที่ชัดเจนมาก บนพื้นหินทราย สีน้ำตาลแดงซึ่งอยู่ในหมวดหินโคกกรวด กลุ่มหินโคราชในยุคครีเตเซียสตอนต้น (100 ล้านปีก่อน)

ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย

รอยเท้าไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ : ภาพจากกรมธรณีวิทยา

รอยเท้าไดโนเสาร์ที่พบที่นี่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เทอร์โรพอต (Theropod) ไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีสะโพกแบบกิ้งก่า และออร์นิโธพอต (ornithopod) ไดโนเสาร์กินพืช ที่มีกีบเท้าแบบไก่ ปลายเล็บแหลมคม

  • รอยเท้าไดโนเสาร์ ออร์นิโธพอต มีจำนวน 1 แนวทางเดิน โดยความเร็วในการก้าวเดินของรอยเท้าประมาณ 8.07 กิโลเมตร/ชั่วโมงเลยทีเดียว
  • รอยตีนไดโนเสาร์เทอร์โรพอต จำนวน 29 ทางเดิน ที่มีทั้งกำลังเดิน กำลังวิ่ง ลื่นไถลไปข้างหน้า และวกกลับมาที่เดิม

แสดงให้เห็นถึงจำนวนไดโนเสาร์และสัตว์เลื้อยคลานนับสิบที่มาดื่มกินในแหล่งน้ำท่าอุเทนในอดีต

เปิดบริการวันไหนบ้าง?

ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 8.00น.-17.00 น.

เว็บไซต์ : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา : แหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์

การค้นพบล่าสุด “แรปเตอร์เมืองไทย สายพันธุ์ใหม่ของโลก”

เจ้า "วายุแรปเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส" (Vayuraptor nongbualamphuensis) หรือ ไดโนเสาร์จ้าวลมกรด

ไดโนเสาร์กินเนื้อ สายพันธุ์ใหม่ล่าสุดตัวที่ 11 ของไทย ที่ไม่เหมือนไดโนเสาร์ตัวอื่น ๆ ที่เคยขุดค้นพบ

โดยมีข้อเท้าที่แตกต่างจากไดโนเสาร์กินเนื้อตัวอื่น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนกมากกว่า

จึงได้รับการตั้งชื่อเป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จ.หนองบัวลำภู

การเรียนรู้สัตว์โลกล้านปียังไม่จบเพียงเท่านี้

ติดตามต่อได้ที่ ALTV สารคดีแอนิเมชันเสมือนจริง จำลองไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทยให้มีชีวิต เห็นภาพได้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด