ความรู้สึกตัวลดลง การพยาบาล

ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว

นิยาม ภาวะไม่รู้สึกตัว หมายถึง ภาวะที่สมองไม่ตื่นตัวอยู่เลย ไม่สามารถที่จะรู้สึกตัวเอง และสิ่งแวดล้อมตลอดจนไม่สามารถที่จะนึกคิดได้ ความผิดปกติของระดับความรู้สึกตัว แบ่งได้หลายระดับ เช่น งุนงง สับสน ซึม หมดสติสิ้นเชิง เป็นต้น

ภาวะความรู้สึกตัวนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

1. ความตื่นตัว (alertness) หมายถึง ความพร้อมของสมองที่จะสำนึกรู้ และคิดถึง สิ่งต่างๆ ทดสอบได้โดยการดูความรวดเร็ว ความถูกต้องของการตอบสนอง และระดับการกระตุ้น ความตื่นตัวเกิดจากการทำงานของ Reticular activating system (ARAS)

2. ความสำนึกรู้ (awareness) และความคิด หมายถึง เนื้อหาความรู้สึกตัว (Content of Conciousness) ได้แก่ การรู้ตนเองและสิ่งแวดล้อม ทดสอบโดยการซักถามบุคคล เวลา สถานที่ ส่วนการคิด ทดสอบการตัดสินใจ การคิดเลข และความจำ

การแบ่งระดับ

ระดับความรู้สึกตัวเฉียบพลันมีหลายระดับดังต่อไปนี้ คือ

1. งุนงง (Clouding of Conciousness) ผู้ป่วยจะมีระดับความรู้สึกตัวดี แต่ความสำนึกรู้ และความคิดผิดปกติเล็กน้อย เช่น ขาดสมาธิ ตื่นเต้น ตกใจง่าย รับรู้ช้า พูดพอรู้เรื่อง แต่ช้า

2. งุนงง สับสน (Confusional State) ระดับความรู้สึกตัวดี แต่เสียการสำนึกรู้ต่อตนเอง และสิ่งแวดล้อม (Disorientation) ขาดสมาธิ พูดไม่ต่อเนื่อง

3. คลั่งเสียสติ (Delirium) ระดับความรู้สึกตัวดี แต่สูญเสียการควบคุมความคิด และอารมณ์ได้

4. ง่วงซึม (Drowsiness) กลุ่มนี้ระดับความรู้สึกตัวต่ำกว่าปกติ มักจะหลับ แต่ปลุกตื่น พูดคุยพอรู้เรื่อง ทำตามคำสั่งได้ ถ้าไม่กระตุ้นก็จะหลับ

5. ซึมมาก (Stuporous) ระดับความรู้สึกตัวต่ำกว่าปกติมากต้องปลุกแรงๆ จึงตื่น ต้องกระตุ้นอยู่เสมอ พูดคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง ทำตามคำสั่งได้ไม่ดี ยังมีการเคลื่อนไหวเอง

6. หมดสติอย่างอ่อน (Semicoma) กระตุ้นอย่างแรงก็อาจลืมตา ไม่เคลื่อนไหวเอง ตอบสนองความเจ็บปวดแบบง่ายๆ เช่น เมื่อหยิกจะหดมือหนี

7. หมดสติอย่างสิ้นเชิง (Coma) ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นเลย เรียกหรือปลุกก็ไม่ลืมตา ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ตอบสนองความเจ็บปวด

สาเหตุ

แบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. กลุ่มที่มีพยาธิสภาพทำลายโครงสร้าง (Structure lesions) พยาธิสภาพเกิดขึ้นกับ ARAS ซึ่งเป็นกลุ่มของเซลล์ประสาทที่อยู่ตรงกลางก้านสมอง และมักจะทำลายเซลล์สมองบริเวณใกล้เคียงด้วย วินิจฉัยได้จากการทำ CT angiography และตรวจนํ้าไขสันหลัง

2. กลุ่มที่เกิดจากเซลล์สมองทั่วไปทำงานผิดปกติ (Diffuse brain dysfunction) เป็นความผิดปกติของเมแทบอลิซึม จนทำให้สมองทำงานผิดปกติได้ ถ้ารุนแรงมากจึงทำลายเนื้อสมองให้ผิดปกติได้ ไม่ต้องตรวจวินิจฉัยเหมือนกลุ่ม 1

อาการ

ความรู้สึกตัวลดลง การพยาบาล

ความรู้สึกตัวลดลง การพยาบาล

ความรู้สึกตัวลดลง การพยาบาล

ความรู้สึกตัวลดลง การพยาบาล

ความรู้สึกตัวลดลง การพยาบาล

ความรู้สึกตัวลดลง การพยาบาล

ความรู้สึกตัวลดลง การพยาบาล

การรักษา

1. รักษาสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการตีบตันของเส้นเลือดก็เอาแผ่นอุดตัน (plaque) ออก โดยการทำผ่าตัด การให้ยาป้องกันเกล็ดเลือดเกาะตัว (antiplatelets aggregation) ยาที่ใช้ เช่น แอสไพริน gr Vประมาณ 1 เม็ดต่อวัน Persantin 150 มก./วัน เป็นต้นให้ยาเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด (anticoagulation) เพื่อป้องกัน หรือลดไฟบรินมาจับเป็นก้อนกับเกล็ดเลือด ซึ่งเกาะอยู่บนผิวหน้าของแผ่นอุดตัน ยาที่ใช้คือ เฮปปารินประมาณ 20,000 – 30,000 ยูนิตต่อวัน หรือ Warfarin ประมาณ 10-50 มก.ต่อวัน

2. เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตในสมอง เนื่องจากเส้นเลือดในสมองบริเวณที่ขาดเลือดไปเลี้ยงไม่สามารถควบคุมปริมาณการไหลเวียนของเลือดให้คงที่โดยไม่เปลี่ยนแปรตามความดันโลหิตได้ ดังนั้น ถ้าความดันโลหิตลดลง เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนนั้นก็น้อยลงด้วย ดังนั้นควรเพิ่มความดันโลหิตให้เหมาะสม ในสัปดาห์แรกให้มีความดันโลหิตซิสโตลิก 180 มิลลิเมตรปรอท หลังจากนั้นให้ลดเข้าสู่ปกติ

3. ลดอาการสมองบวม ในบางรายที่เกิดสมองบวมจะให้พวกสเตียรอยด์ เช่น Dexamethasone เข้าทางหลอดเลือดดำ หรือใช้พวกออสโมติก ไดยูเรติก เช่น Manitol

4. ลดการทำงานของสมอง ลดการใช้ออกซิเจนของสมองใช้พวกบาร์บิทูเรต

5. การผ่าตัดเอาก้อนจุกออกในบริเวณที่เอาออกได้ และทำในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากตรวจพบ

6. การรักษาตามอาการ และการป้องกันโรคแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ แผลกดทับ ข้อติดแข็ง ขาดน้ำและอาหาร เป็นต้น

กรณีตัวอย่างผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว

ข้อมูลส่วนตัว

ผู้ป่วยหญิง อายุ 83 ปี สถานภาพสมรส หม้าย

อาการสำคัญ

ไม่รู้สึกตัวมา 1 วัน

ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน

1 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล ตื่นขึ้นมาแต่งตัวจะออกไปธุระ ขณะเดินอยู่หกล้มทันที ไม่ส่งเสียงร้อง ไม่พูด นอนหลับตา ขยับแขนขาได้ หายใจปกติ เรียกไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งถึงเช้าวันนี้ญาตินำส่งโรงพยาบาล

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต

ไม่เคยเจ็บป่วยร้ายแรงมาก่อน ปฏิเสธโรคติดต่อ โรคทางพันธุกรรม โรคประจำ ตัว (ข้อมูลจากญาติ)

ข้อมูลด้านจิตสังคม

มีบุตร 9 คน ทุกคนทำงานหมดแล้ว สามีเสียชีวิตไปแล้ว 10 ปี ผู้ป่วยอยู่กับบุตร บุตรเป็นผู้เลี้ยงดู ผู้ป่วยเบิกค่ารักษาพยาบาลได้

อาการและอาการแสดงขณะอยู่โรงพยาบาล

ผู้ป่วยวัยชรา รูปร่างใหญ่ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ (Bird’s respirator) มีเสมหะในปากและลำคอพอควร สีขาว ไม่มีเลือดปน มีอุณหภูมิสูงประมาณ 38 – 39 องศาเซลเซียส หายใจ 36 ครั้ง/นาที ความดันโลหิต 150/90 มิลลิเมตรปรอท ชีพจร 120 ครั้ง/นาที รูม่านตาข้างขวามีปฏิกิริยาต่อแสงช้ากว่าปกติ เล็กน้อย ขนาด 2 มิลลิเมตร ข้างซ้ายมีปฏิกิริยาต่อแสงปกติ ขนาด 2 มิลลิเมตร เรียกลืมตาเล็กน้อย แขนขาขยับในแนวราบ เล็กน้อยเมื่อทดสอบความเจ็บปวด

ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

Arterial Blood gas

T 37 องศาเซลเซียส pH 7.234

PC02 57 มม.ปรอท P02 37.1 มม. ปรอท HCO3 23.3 mEq/L

Sputum culture พบ few of pseudomonas aeroginosa

Urine analysis พบ Blood +3, pH 6.5 Wbc numerous, Rbc Moderate Electrolyte Na 140 mEq/L, K 4.2 mEq/L Cl 108 mEq/L

CT. scan พบ Hemorrhage at right Brain stem

การรักษา

Gentamicin 80 mg (v) dilute q 8 hr.

PGS 2 mu (v) q 4 hr.

Amikin 150 mg (v) drip q 8 hr.

Ceftazidime 1 gm (v) q 6 hr.

paracetamol 500 mg 1 tab p.r.n. for fevers q 4 hr.

Aminophylline 100 mg 1 tab q 6 hr.

MOM 30 ml h.s.

B.D. 250 ml X 6 feeds. + นํ้า 50 cc.

การพยาบาล

ปัญหาที่ 1 ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการอุดกั้นทาง

เดินหายใจ

ข้อมูลสนับสนุน มีเสมหะขาวขุ่นจำนวนมากในปาก ลำคอ หลอดลม ฟังปอดได้ยินเสียง crepitation และ wheezing ทั่วไป ผล Blood gas มี P02 37.1 มม.ปรอท

วัตถุประสงค์ ร่างกายได้รับออกซิเจนเพียงพอ ไม่เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ

การพยาบาล

1. ประเมินการหายใจของผู้ป่วย โดยการบันทึกสัญญาณชีพ ลักษณะการหายใจโดยละเอียด

2. ดูแลให้หายใจสัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจ ไม่ต้านการหายใจ

3. ฟังเสียงปอดดูว่ามีเสมหะมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ช่วยเคาะปอดให้เสมหะ มีการเคลื่อนไหว ดูดได้ง่ายขึ้น ฟังดูเสียง wheezing ถ้ามีต้องรายงานแพทย์ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยหายใจต้านกับเครื่องช่วยหายใจได้

4. ฟังเสียงหายใจ ว่ามีเสมหะหรือไม่ ถ้ามีให้ดูดเสมหะออก โดยหลักของการดูดเสมหะนั้น จะต้องไม่ทำความระคายเคืองให้กับผู้ป่วย ไม่ดูดนานเกิน 15 วินาที ใช้หลักเทคนิคปราศจากเชื้อ ขณะใส่สายยางเข้าไปจะไม่ดูด ขณะดึงออกจึงค่อยดูดเสมหะออก เมื่อดูดจากหลอดลมเสร็จแล้วจึงจะดูดที่ปาก หลังจากดูดเสมหะ 1 -2 ครั้ง จะต้องเป่าลมด้วยแอมบู (ambu bag) เข้าปอดผู้ป่วยสลับกับการดูดเสมหะ เพื่อช่วยไม่ให้ปอดแฟบ ถ้าเสมหะเหนียวมากให้ใช้นํ้ากลั่น ฉีดเข้าทางท่อลม (ห้ามมีเข็มติดอยู่ที่กระบอกฉีด) ประมาณ 5 ซีซี.-10 ซีซี. เป่าลม ด้วยแอมบู แล้วดูดเสมหะ เมื่อดูดเสมหะเสร็จให้ใช้มืออังดูว่าลมเข้าออกโล่งดีหรือไม่ สังเกต สี และปริมาณของเสมหะ

5. ให้ผู้ป่วยนอนในท่าสุขสบายหน้าตะแคงเพื่อช่วยระบายนํ้าลายและเสมหะในปาก และลดการดึงรั้งของเครื่องช่วยหายใจ

6. ดูแลให้ท่อลม (endotracheal tube) อยู่ในสภาพที่ไม่เลื่อนหลุด โดยดูให้บอลลูนของท่อลมเต็มอยู่เสมอ หากบอลลูนมีลมรั่วจะทำให้เครื่องช่วยหายใจทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมีทางเล็ดลอดของอากาศ ขณะที่เครื่องผลักอากาศเข้า

7. ให้ยาขยายหลอดลม คือ Aminophyline (100 mg) 1 tabq 6 hr. เพื่อช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นลดการหดเกร็งของหลอดลม ฟังปอดดูว่าหลังจากได้รับยาแล้วเสียง หดเกร็งของหลอดลมลดลงหรือไม่

8. รายงานแพทย์เมื่อผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงของชีพจร การหายใจ ความดันโลหิตที่ผิดปกติ บางครั้งค่าเป็นปกติ แต่มีการเปลี่ยนแปลงจากค่าเติมก็ให้รายงาน เพราะเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากการได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

ประเมินผล PO2 2 ชั่วโมงต่อมามีค่า 75.8 มม.ปรอท หายใจสัมพันธ์กับเครื่องดี อัตราหายใจประมาณ 36 ครั้ง/นาที มีเสมหะทั่วปอด 2 ข้าง เสียงหดเกร็งของหลอดลมมีที่ ปอดบนขวา

ปัญหาที่ 2 มีการติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลสนับสนุน อุณหภูมิอยู่ในระหว่าง 38-40 องศาเซลเซียส sputum culture พบเชื้อ Pseudomonas aeroginosa

วัตถุประสงค์ การติดเชื้อลดลง

การพยาบาล

1. ประเมินการติดเชื้อของปอดโดยการวัดสัญญาณชีพทุก 4 ชั่วโมง ฟัง เสียงปอดว่ามีเสมหะมากน้อยเพียงใด บริเวณใด สังเกตสีลักษณะของเสมหะ

2. ดูแลทางเดินหายใจให้สะอาด ใช้เทคนิคปราศจากเชื้อให้มากที่สุด เช่น สายยางดูดเสมหะต้องฆ่าเชื้อทุกครั้ง ผู้ดูดเสมหะจะต้องล้างมือก่อนและหลังดูดเสมหะ ขณะดูดเสมหะต้องใส่ถุงมือฆ่าเชื้อแล้ว มีการดูแลท่อลมเช็ดให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนต่อแอมบู หรือต่อกับเครื่องช่วยหายใจ

3. เก็บเสมหะส่งตรวจหาเชื้ออย่างถูกวิธี และติดตามผลที่ได้เป็นระยะๆ โดย เฉพาะก่อนและหลังการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

4. เคาะปอด (clapping) ให้บ่อยๆ อย่างน้อยเวรละ 2-3 ครั้ง เพื่อระบาย เสมหะออกให้มากที่สุด เมื่อเคาะแล้วให้ดูดเสมหะ เพื่อป้องกันการอุดตันของทางเดินหายใจ ผลดีของการระบายเสมหะจะลดการติดเชื้อได้วิธีหนึ่ง

5. ให้ยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษา คือ

5.1 PGS. 2 mu(v)q 4 hr. ใช้ได้ผลดีกับกรัมบวก เช่น Pneumococcal, Staphylococcal, Streptococcal

5.2 Amikin 50 mg (v)drip q 8 hr. ใช้ได้ผลดีกับกรัมลบ เช่น Pseudomonas gonococcal

5.3 Ceftacidime 1 gm (v)q 6 hr. ใช้ได้ผลดีกับกรัมบวก และกรัมลบ ได้ ผลดีกับติดเชื้อทางเดินหายใจ

6. วัดอุณหภูมิทุก 4 ชั่วโมง ถ้ามีอุณหภูมิสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียล ให้ยาลดไข้ตามแผนการรักษา คือ Paracetamol 1 tab เมื่อมีไข้ทุก 4 ชั่วโมง หลังจากให้ยาแล้ว เช็ดตัวผู้ป่วยให้แห้งสะอาดเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ใหม่ เพราะเสื้อผ้าอาจเปียกชื้นเหงื่อ

7. รักษาความสะอาดปากฟัน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทำให้บ่อยๆ ในผู้ป่วยที่มีปัญหาการติดเชื้อทางเดินหายใจ เพราะว่าผู้ป่วยดูแลปากฟันเองไม่ได้ และหายใจทางปากด้วย นอกจากนี้ยังมีการหมักหมมของเสมหะและนํ้าลาย

ประเมินผล อุณหภูมิ 38-40 องศาเซลเซียส ยังไม่ได้ตรวจเสมหะซํ้าปอด ยังมีเสมหะอยู่ทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง

ปัญหาที่ 3 การรับรู้ลดลง

ข้อมูลสนับสนุน ไม่รู้สึกตัว เรียกลืมตาเล็กน้อย แขนขาขยับในแนวราบเล็กน้อย เมื่อทดสอบความเจ็บปวด ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทำตามคำสั่งไม่ได้

วัตถุประสงค์ ปลอดภัยจากภาวะหมดสติ

การพยาบาล

1. สังเกตและบันทึกสัญญาณทางระบบประสาทเพื่อดูพยาธิสภาพของผู้ป่วย ดูว่าอาการเลวลงหรือไม่จะให้การช่วยเหลือเมื่อใด และจะรายงานแพทย์เมื่อใด

การประเมินใช้ glasgow coma scale โดยดูการลืมตา การพูดที่ดีที่สุด และการ เคลื่อนไหวที่ดีที่สุด

1.1 การลืมตา                  ค่าคะแนน

ลืมตาเอง                         = 4

ลืมเมื่อเรียก                     = 3

ลืมเมื่อเจ็บ                       = 2

ไม่ลืมเลย                        = 1

1.2  การพูดที่ดีที่สุด        ค่าคะแนน

พูดได้ไม่สับสน               = 5

พูดได้แต่สับสน              = 4

พูดได้เป็นคำ ๆ               = 3

ส่งเสียงไม่เป็นคำพูด       = 2

ไม่ออกเสียงเลย               = 1

ใส่ท่อหายใจ                   = T

1.3 การเคลื่อนไหวที่ดีที่สุด       ค่าคะแนน

ทำตามคำสั่งได้                         = 6

ทราบตำแหน่งที่เจ็บ                  = 5

ชักแขนขาหนี                           = 4

แขนงอเข้า (Ab.Flex)        = 3

แขนงอออก (Ab.Ext.)      = 2

ไม่เคลื่อนไหวเลย                     = 1

2. ทดสอบรูม่านตา เพื่อทราบถึงบริเวณที่เกิดพยาธิสภาพในสมอง ขนาดรูม่านตาเป็นผลลัพธ์หรือความสมดุลของการทำงานระบบประสาทซิมพาธีติก (ทำให้ม่านตาขยาย) และระบบประสาทพาราซิมพาธิติก (ทำให้ม่านตาหดเล็ก) เทคนิคในการดูรูม่านตาจะต้องดูในห้องหรือเตียงที่กั้นม่านให้มืดพอ ต้องกระตุ้นโดยการใช้ไฟฉายส่องจากบริเวณรูม่านตาไปทางหางตาอย่างรวดเร็ว คนปกติอาจมีรูม่านตาทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากันได้ ต้องไม่ได้ใส่ตาปลอม หรือหยอดยาที่ขยายหรือหดรูม่านตามาก่อน ต้องดูขนาดของรูม่านตาว่าเปิดได้มากน้อย เพียงใด ขนาดของรูม่านตาปกติที่ได้คือ ค่าที่ได้ก่อนหดตัว เมื่อหดตัวจะรู้ว่ามีปฏิกิริยาต่อแสง เร็วหรือช้า

การแปลผล ดังนี้ คือ ถ้ารูม่านตามีปฏิกิริยาต่อแสงปกติ ใช้ “R” = reaction to light ปฏิกิริยาต่อแสงช้ากว่าปกติ ใช้ “S” = Sluggish ถ้าไม่มีปฏิกิริยาต่อแสงเลย ใช้ “F” = Fix

3. ดูระดับกำลังของกล้ามเนื้อของแขนขาทั้ง 2 ข้างว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งแบ่งได้ 5 ระดับคือ

3.1 กำลังปกติ

3.2 อ่อนแรงเล็กน้อย

3.3 มีการงอเข้ามากผิดปกติ

3.4 มีการเหยียดออกมากผิดปกติ

3.5 ไม่มีการเคลื่อนไหวเลย

4. บันทึกสัญญาณชีพ สัญญาณชีพมีความสำคัญในการทดสอบการทำงานของสมองบริเวณก้านสมอง หากถูกทำลายผู้ป่วยจะตายทันที ดังนั้น ถ้าบริเวณที่ถูกกระทบกระเทือนอยู่ใกล้หรืออยู่บริเวณก้านสมอง ทำให้พยากรณ์โรคค่อนข้างเลว สัญญาณชีพยังสามารถบอกถึงความดันในกะโหลกศีรษะได้อีกด้วย อาการแสดงคือ หายใจช้า ชีพจรช้า ความดันโลหิตสูง ถ้ามีอาการแสดงดังกล่าวต้องรีบรายงานแพทย์ทันที

ประเมินผล ผู้ป่วยลืมตาเมื่อเจ็บ ( = 2) ใส่ท่อลม (=T) ไม่เคลื่อนไหวแขนขา ( = 1) รวมได้คะแนน 3T รูม่านตาทั้ง 2 ข้าง มีขนาด 2 มิลลิเมตร ปฏิกิริยาต่อแสงช้า ความดันโลหิต 150/90 มิลลิเมตรปรอท หายใจ 36 ครั้ง/นาที ชีพจร 100 ครั้ง/นาที สม่ำเสมอ

ปัญหาที่ 4 ไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากได้

ข้อมูลสนับสนุน ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ขาดการรับรู้

วัตถุประสงค์ ได้รับสารอาหารเพียงพอ และไม่เกิดการสำลักอาหาร

การพยาบาล

1. ให้อาหารทางสายยาง ก่อนให้อาหารต้องทดสอบดูว่าสายยางอยู่ในกระเพาะอาหารหรือไม่ โดยการจุ่มสายยางลงในนํ้าสักครู่ ถ้าไม่มีฟองอากาศออกมา แสดงว่าไม่ได้เข้าปอด นอกจากนี้ต้องดูดดูว่ามีอาหารค้างหรือไม่ ถ้าอาหารค้างเกิน 50 ซีซี. อาหารไม่มีฟอง ไม่มีกลิ่นบูดเน่า ให้ใส่อาหารกลับคืนตามเดิม เลื่อนมื้ออาหารออกไป ถ้าไม่มีอาหารค้างก็ให้อาหารกับผู้ป่วยได้

2. ก่อนให้อาหารต้องไขเตียงสูง เพื่อป้องกันการสำลัก และอาหารจะได้ไม่ไหล ย้อนออกมาขณะให้

3. ดูดเสมหะก่อนให้อาหารทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยไอ ขณะให้อาหาร

4. ถ้าผู้ป่วยไอขณะให้อาหารให้หยุดให้อาหารจนกว่าผู้ป่วยจะหยุดไอ

5. ให้อาหารทางสายยาง ปริมาณตามแพทย์สั่งคือ 250 ซีซี. จำนวน 6 มื้อ ตามด้วยนํ้า 50 ซีซี. ตามเวลาคือ 6.00 น. 10.00 น. 14.00 น. 18.00 น. และ 02.00 น.

6. หากมีปัญหาอาหารค้างเกินจำนวนมาก หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหารจะต้องรายงานแพทย์

7. หลังอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ให้ไขหัวเตียงลงตามปกติ จัดท่าผู้ป่วยในท่าตะแคง

ประเมินผล  อาหารให้ได้ครบทุกมื้อ ไม่มีอาหารเกิน ไม่มีอาการท้องอืด

แน่นท้อง ไม่มีเลือดออกทางเดินอาหาร

ปัญหาที่ 5 ไม่สามารถเคลื่อนไหวตนเองได้

ข้อมูลสนับสนุน ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว

วัตถุประสงค์ ไม่เกิดข้อติดแข็ง ไม่เกิดแผลกดทับ และได้รับการดูแลสุข ภาพอนามัยส่วนบุคคล

การพยาบาล

1. บริหารข้อต่างๆ ตามหลักของ R.O.M. (Range of Motion)

2. พลิกตะแคงตัวทุกๆ 2 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย โดยใช้ตารางพลิกตัว บันทึก เวลาและท่าซ้าย ขวา หงาย และผู้กระทำการพลิกตัว สังเกตรอยแดง ปุ่มกระดูกต่างๆ ด้วยว่า มีแผลกดทับหรือไม่ ที่นอนที่แข็งจะทำให้แผลกดทับได้เร็วกว่าปกติ ดังนั้นอาจจะต้องรองด้วยวัสดุที่นิ่ม เช่น ฟองนํ้า แผ่นเจล

3. ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ให้สะอาดหลังการขับถ่ายทุกครั้ง เช็ดให้แห้ง เปลี่ยนผ้าปูที่นอนให้สะอาดอยู่เสมอ

4. ทำความสะอาดปากฟันของผู้ป่วยบ่อยๆ เพราะจะมีการหมักหมมของเสมหะ และนํ้าลาย ถ้าผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ (air way) ต้องเอาออกก่อนแล้วทำความสะอาดปากฟันให้เสร็จแล้วใส่อันที่สะอาดแทน เพื่อป้องกันลิ้นตกปิดกั้นทางเดินหายใจ ก่อนใส่ต้องใช้ไฟฉายส่องปากฟันด้วย เพราะอาจมีฟันหักค้างอยู่ในปากได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ

5. เช็ดตัวให้ผู้ป่วยให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ใหม่ ไม่ให้เสื้อผ้ามีรอยยับ กดทับผิวหนัง ถ้าผิวหนังแห้ง แตกให้ทานํ้ามันหรือโลชั่น นวดตามปมกระดูกต่างๆ และบริเวณหลัง ให้ผู้ป่วยด้วย

6. สังเกตการขับถ่ายของผู้ป่วยว่ามีหรือไม่ ถ้าไม่ถ่ายอุจจาระแพทย์อาจให้ยาระบายหรือสวนอุจจาระตามสภาพผู้ป่วย บางครั้งสวนอุจจาระไม่ได้ผล เพราะมีอุดตัน อาจต้องช่วยล้วงออกด้วย

ประเมินผล ร่างกายสะอาด ยังไม่เกิดข้อติดแข็ง ไม่มีแผลกดทับ

ปัญหาที่ 6 ญาติวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของผู้ป่วย

ข้อมูลสน้บสนุน ซักถามอาการของผู้ป่วยบ่อย ไม่ทราบว่าจะมีหวังฟื้นหรือไม่

วัตถุประสงค์ ญาติเข้าใจและยอมรับสภาพของผู้ป่วยและมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย

การพยาบาล

1. นัดญาติให้ได้มีโอกาสพูดคุยกับแพทย์โดยตรงเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย

2. ให้ญาติได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ อย่างเต็มที่ พยาบาลต้องตอบด้วยความเต็มใจ เห็นใจ และเข้าใจญาติ

3. ให้ญาติไต้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลเพื่อเพิ่มความใกล้ชิดให้กับญาติ

4. สอนญาติให้ทำการดูแลผู้ป่วย ตามขีดความสามารถตามความจำเป็นในการ ดูแลต่อไปในรายที่ต้องออกจากโรงพยาบาลไปอยู่บ้าน

ประเมินผล ญาติได้ฟังคำอธิบายจากแพทย์แล้ว เข้าใจสภาพของผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยมีอาการหนักมากเพราะเลือดออกบริเวณส่วนที่สำคัญของสมอง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้หายใจได้ตามปกติ ไม่สามารถให้ความหวังกับญาติได้ ญาติเข้าใจร่วมมือในการพยาบาลตลอด มาเยี่ยมและให้การดูแลผู้ป่วยทุกวัน