ทุจริตสอบเข้าตำรวจ วิธีแก้ไข

วันนี้ (14 ธันวาคม) พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการทุจริตสอบข้าราชการตำรวจ ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่มีหลักฐานถึงการทุจริตสอบตำรวจฝ่ายอำนวยการ สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5

 

พบลักษณะผู้เข้าสอบบางส่วนมีคะแนนสูงเป็นกลุ่มก้อน คล้ายการทุจริตสอบตำรวจชั้นนายสิบที่พบในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดของการทุจริต เพื่อใช้เป็นบทเรียนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้อีก รวมทั้งตัดสิทธิ์ผู้ทุจริตสอบไม่ให้เข้ามาเป็นตำรวจได้

 

ซึ่งขณะนี้ทราบเบาะแสและจำนวนผู้ทุจริตแล้ว แต่ขอตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน พร้อมพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาว่าจะจัดสอบใหม่หรือเรียกตัวสำรองขึ้นมาแทนที่

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวต่อไปว่า เจ้าหน้าที่มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้ทั้งเครือข่ายและผู้ทุจริตสอบ โดยเบื้องต้นยังไม่พบตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการจัดสอบเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

ต้องขอบคุณผู้กล้าในโลกออนไลน์ ทุกแพลตฟอร์มโซเชียลที่ร่วมกันแชร์ ตั้งคำถาม โดยเฉพาะผู้ที่กล้าออกมาส่งเสียง อ่านหนังสือแทบตาย เรียนจบเกียรตินิยมแค่ไหน ก็สอบไม่ติด เพราะ “เราอ่านหนังสือ แต่เขาอ่านเฉลย”

กลายเป็นต้นตอการขุดคุ้ย เป็นเผยการทุจริตสอบครั้งมโหฬาร สะท้อนความเน่าเฟะของการสอบ ยิ่งดูการเตรียมตัวของคนที่ตั้งใจสอบ ความโกรธแค้นยิ่งเพิ่มทวีคูณ

สำหรับการสอบนายสิบตำรวจสายอำนวยการ ซึ่งเพิ่งมีการสอบเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ต่อมาโลกออนไลน์ก็มีการตั้งข้อสงสัยหลังจากที่มีการเผยแพร่กระดาษในลักษณะคล้ายเป็นข้อสอบหรือโพยข้อสอบออกมา รวมถึงข้อสงสัยคนที่มี ชื่อนามสกุลตรงกันเข้าสอบครั้งเดียวกัน จนทำให้หลายคนเรื่องทุจริต

ค่าเฉลยสูงสุด 5 แสนบาท 

ต่อมามีการค้นพบขบวนการทุจริตสอบ “นายสิบตำรวจ” โดยจะมีแก๊งนายหน้า ติดต่อกับ ผู้เข้าสอบ โดย แก๊งนายหน้า จะนำบัญชีรายชื่อผู้เข้าสอบ มาจากเจ้าหน้าที่ในศูนย์บังคับการฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ไปทำการศึกษา และติดต่อกับผู้สอบที่มีฐานะดี มีกำลังทรัพย์ และเสนอช่วยให้สอบได้ ด้วยการเรียกรับเงิน “วิ่งเต้น” อ้างว่า เป็นการซื้อคำเฉลยข้อสอบ โดยมีราคา ตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท ต่อ ราย

12 ธันวาคม พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9 ได้ให้รายละเอียดว่า เรื่องที่เกิดการทุจริตในการสอบ เป็นการสอบเมื่อวันที่ 27 มี.ค.65 ส่วนการสอบเข้าเป็นนายสิบตำรวจครั้งล่าสุด เมื่อเดือน พ.ย. และมีการประกาศผลสอบเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2565 ไม่ได้เกี่ยวกับการทุจริตที่เป็นข่าวอยู่

“การทุจริตในการสอบเมื่อวันที่ 27 มี.ค. หลังจากที่มีผู้จ่ายเงินให้กับนายหน้าเพื่อซื้อข้อสอบ และกลุ่มผู้จ่ายเงินที่สอบไม่ได้ ได้มีการแจ้งความที่ สภ.เมือง จ.สงขลา ได้มีการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงทั้งภาค 9 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนได้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง มารวบรวมหลักฐานมีการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้จ่ายเงิน ผู้รับเงิน และเจ้าหน้าที่ของ ศูนย์บังคับการฝึกอบรม และเจ้าหน้าที่หน่วยคุมสอบทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต” พล.ต.ท.นันทเดชกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ได้มีการสั่งให้ผู้เข้าสอบทั้งหมดที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการทุจริต 118 คน พ้นจากการเป็นนักเรียนนายสิบไปแล้ว ส่วนในการสอบนายสิบและมีการประกาศผลไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ยังไม่มีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตในการสอบ เพราะได้มีการสั่งให้มีการเข้มงวดในการสอบครั้งนี้ เนื่องจากผลการสอบเมื่อวันที่ 27 มี.ค.65 ที่มีการทุจริต ที่ผลการสอบพบว่าเป็นการทำเป็นขบวนการ โรงเรียนกวดวิชา กลุ่มนายหน้า และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการสอบ

เหตุเกิดจากคนจ่ายแล้วสอบไม่ได้

กรรมการชุดสืบสวนคนหนึ่ง เปิดเผยว่า ในการสอบเข้ารับราชการตำรวจระดับนายสิบทุกครั้ง จะมีแก๊งที่เป็นนายหน้า ในการติดต่อกับผู้เข้าสอบ มีการนำบัญชีรายชื่อผู้เข้าสอบ จากเจ้าหน้าที่ใน ศฝร.ภ.9 และติดต่อกับผู้สอบที่มีฐานะดีและเสนอการช่วยให้สอบได้ ด้วยการเรียกรับเงินค่าวิ่งเต้น ซึ่งอ้างว่าเป็นการซื้อคำเฉลยข้อสอบ ตั้งแต่ 200,000-500,000 บาทต่อราย แต่ที่ไม่มีข่าวเพราะผู้จ่ายเงินไม่ออกมาเปิดเผยเหมือนกับครั้งนี้ ที่มีผู้จ่ายเงินแล้วสอบไม่ได้

จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า ผู้เข้าสอบนายสิบมีการได้รับการติดต่อจากกลุ่มของนายหน้า ซึ่งขณะนี้มีหลายคนที่ถูกเรียกมาสอบสวน และได้รับสารภาพแล้ว เช่น นายณิชธรรมรงค์ (สงวนนามสกุล) และ น.ส.รุ่งทิพย์ (สงวนนามสกุล) ว่าเป็นผู้รับเงินจากผู้เข้าสอบจริง และเจ้าหน้าที่มีหลักฐานการโอนเงินจากผู้เข้าสอบ เข้าบัญชีของคนทั้ง 2 เป็นพยานวัตถุที่มีน้ำหนักในการดำเนินคดีตามกฎหมายได้แล้ว

ส่วนผู้เกี่ยวข้องรายอื่นที่อยู่ในขบวนการเดียวอีก 3 คน มีหลักฐานการติดต่อกับผู้เข้าสอบเพื่อเรียกรับเงิน ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ขณะนี้รอเพียงให้ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธร ภาค 9 ที่เป็นเจ้าทุกข์ แจ้งความดำเนินคดีจะขอให้ศาลออกหมายจับได้ทั้งหมด

นายตำรวจผู้อยู่ในคณะกรรมการสอบสวน เปิดเผยว่า ในการสอบสวนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธร 9 ที่มีหน้าที่ในการรับกล่องข้อสอบจากส่วนกลาง ดูแลรักษา และควบคุมการสอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ประจำสนามสอบที่พบว่ามีการทุจริต ได้มีการเรียกมาทำการสอบสวนหมดทุกนาย พบว่ามีหลักฐานในการเชื่อมโยงในการทุจริตคือเงินในบัญชีที่มีการโอนจากกลุ่มคนที่รับเงินจากผู้เข้าสอบ คือ ร.ต.อ.หญิงคนหนึ่งมีการรับโอนเงินจากกลุ่มผู้รับเงินจากผู้เข้าสอบ

ทุจริตสอบ ภ.9 และ ภ.5 คล้ายคลึงกัน 

“ได้ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนแล้วถึงเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้รับเรียกเงินจากผู้เข้าสอบ ซึ่งหนีไม่พ้นความผิดในการร่วมกันทุจริต ส่วนนายตำรวจระดับ พ.ต.ท.อีกคน เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างหาจุดเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ทำผิดกลุ่มแรก ที่มีหลักฐานในการเอาผิดที่ชัดเจน” หนึ่งในคณะกรรมการสอบสวนกล่าว

ต่อมา 14 ธันวาคม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าว ว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบให้มีความชัดเจน เชื่อว่าการสืบสวนมีความคืบหน้าไปพอสมควร เบื้องต้นมอบหมายให้ พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เข้าไปดูแลกรณีดังกล่าวหากพบว่ามีใครเข้าข่ายในการกระทำความผิดจะดำเนินคดีทั้งหมด ในส่วนของตำรวจภูธรภาค 5 (ภ.5) พบหลักฐานพอสมควร แต่ยังต้องหาความชัดเจนให้มาก

ผบ.ตร.กล่าวว่า เหตการณ์ทุจริตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ภ.9 และ ภ.5 มีความใกล้เคียงกัน คือเมื่อได้ข้อสอบแล้วนำไปเฉลยก่อน อาจจะซุกซ่อนเข้าไปในห้องสอบ

มีรายงานข่าววันเดียวกันว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตำรวจภูธรภาค 9 (ตร.ภ.9) มีสอบคัดเลือกนักเรียนนายสิบตำรวจ (นสต.) มีการยึดโพยข้อสอบได้ภายในห้องสอบ แต่ทางผู้รับผิดชอบใน ภ.9 เก็บเรื่องเงียบไว้ โดยพบข้อมูลว่ามีการทุจริตสอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จึงขอตัวทีมสืบสวนจับทุจริตสอบ นสต.สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อปี พ.ศ.2560 มาร่วมสอบสวนพบผู้ทุจริต 100 คน ต่อมา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ทาง ตร.เปิดรับ นสต.สายอำนวยการ (อก.) และต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน สื่อโซเชียลลงมีโพยเฉลยผลสอบเหมือนสอบ นสต.ภ.9

ฟันระนาวเอาผิดอีก 350 คน 

นอกจากนี้ ยังตรวจพบการทุจริตสอบ นสต.สาย อก.กว่า 350 คน ที่ทางคณะกรรมการจะนัดผู้สอบรอบแรกสาย อก.มารายงานตัววันที่ 15 ธันวาคม

หากในจำนวน 350 คน ที่ทุจริตการสอบมารายงานตัวก็จะดำเนินการตัดสิทธิและจับกุมส่งตัวดำเนินคดีหากยังดื้อดึง พร้อมเสนอชื่อไป ก.พ.เพื่อตัดสิทธิการสอบเข้าระบบข้าราชการต่อไป

ด้าน พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9. กล่าวว่า มีการจำหน่ายนักเรียนที่สอบได้และส่อทุจริต 118 คน ให้พ้นสภาพการเป็นนักเรียนนายสิบไปแล้ว ขณะนี้ยังไม่สามารถเลื่อนผู้ที่มีบัญชีรายชื่อสำรองเพื่อเข้าเป็นนักเรียนได้ เพราะต้องรอผลคดีทุจริตในการสอบให้จบก่อน

ต่อมา พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยอมรับอีกว่า มีหลักฐานถึงการทุจริตสอบตำรวจฝ่ายอำนวยการสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 โดยพบลักษณะผู้เข้าสอบบางส่วน มีคะแนนสูงเป็นกลุ่มก้อน คล้ายการทุจริตสอบนายสิบ ที่พบในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดของการทุจริต เพื่อใช้เป็นบทเรียน ป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้อีก รวมทั้งตัดสิทธิผู้ทุจริตสอบไม่ให้เข้ามาเป็นตำรวจได้ ซึ่งขณะนี้ทราบเบาะแสและจำนวนผู้ทุจริตแล้ว แต่ขอตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน พร้อมพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาว่า จะจัดสอบใหม่ หรือเรียกตัวสำรองขึ้นมาแทนที่

โกงสอบตำรวจทำกันมานาน

มาดูความเห็นจากฝากฝั่งการเมือง  พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม แสดงความเห็นเรื่องนี้ ว่า กระบวนการทุจริตในการสอบของตำรวจมีมานานแล้ว และทำกันจนเป็นเรื่องปกติ ในอดีตที่ตนอยู่ในวงการตำรวจ ก็รับทราบถึงวิธีการทุจริตมากมาย เช่น การให้เข้าสอบแทนกัน โดยมีบุคคลที่เป็นหัวกะทิ ทำหน้าที่เป็น “มือสอบ” ใช้วิธีการหลายรูปแบบ ตั้งแต่เข้าห้องสอบเพื่อจำข้อสอบแล้วกดรหัสมอร์สส่งเข้าไปให้ผู้เข้าสอบผ่านนาฬิกาหรือโทรศัพท์ หรืออาจจะนั่งสอบอยู่ด้วยกันแล้วใช้รหัสมือในการส่งสัญญาณมาทีละคำตอบ หรือการรับจ้างเข้าไปสอบโดยทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง จะเขียนชื่อและรหัสผู้สอบลงบนข้อสอบสลับกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการทุจริตที่เป็นแพ็คเกจใหญ่ ที่มีการนัดแนะลูกค้าอย่างเป็นระบบ ทั้งขั้นตอนการส่งรหัสสัญญาณ การใช้อุปกรณ์ ไปจนถึงการขโมยข้อสอบออกมาผ่านการซื้อตัวผู้ออกข้อสอบ ซึ่งโดยปกติจะถูกนำตัวไปกักบริเวณแล้วให้ออกข้อสอบแยกกัน

พล.ต.ต.สุพิศาล ระบุว่า แม้ปัจจุบันจะมีการตรวจสอบป้องกันการทุจริตการสอบที่เข้มงวดรัดกุมขึ้นแล้ว เช่น การให้ใส่แต่กางเกงวอร์มที่ไม่มีกระเป๋าเข้าห้องสอบ การมีอุปกรณ์ตรวจจับเครื่องมือทุจริต หรือการยึดเอาโทรศัพท์และนาฬิกาไว้ แต่การทุจริตก็ยังเกิดขึ้นได้จากวิธีการใหม่ๆ ของขบวนการทุจริต และโดยเฉพาะเมื่อผู้คุมสอบเป็นพวกเดียวกัน ก็จะเกิดการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น

แก้โกง-ต้องให้ตำรวจยึดโยงประชาชน

พล.ต.ต.สุพิศาล ระบุต่อไปว่า ข้อเสนอนโยบายของพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจและการป้องกันการทุจริต ที่มีหลักการสำคัญว่าตำรวจต้องยึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบได้โดยประชาชน และมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ จะสามารถนำไปสู่การบรรเทาปัญหาการทุจริตเช่นนี้ลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีสัดส่วนมาจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลในสภา หรือการมีคณะกรรมการนโยบายความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด ที่จะมีสัดส่วนจากภาคประชาชนและท้องถิ่น ร่วมในกระบวนการอนุมัติการแต่งตั้งผู้บังคับการจังหวัดที่จะมาประจำในพื้นที่ รวมทั้งการปรับให้ความก้าวหน้าทางอาชีพของตำรวจทุกคนมีความเป็นธรรม เช่น การให้นายตำรวจชั้นประทวนที่จบการศึกษาปริญญาตรี ได้สิทธิเลื่อนยศเป็นชั้นสัญญาบัตรก่อนกลุ่มอื่น การเปิดรับคนทุกเพศเข้าเรียนนายร้อยตำรวจ การรับประกันว่าตำรวจทุกเพศจะได้รับโอกาสเลื่อนขั้นตำแหน่ง รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลรัฐเกี่ยวกับกระบวนการสอบที่สามารถเปิดเผยได้ เป็นต้น

“ที่ผ่านมาการสอบต่างๆ ของตำรวจทำกันแบบกระมิดกระเมี้ยน แอบสอบ หรือปิดห้องสอบเฉพาะสำหรับบางสายทักษะ ทำให้ได้แต่คนที่กินสินบาทคาดสินบนมาอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังคมตำรวจถึงเน่าเฟะแบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เราจึงต้องทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเปิดเผยและให้มีการแข่งขันมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้นายตำรวจที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ทุจริต ไม่อยู่ในอาณัติของใครมาทำหน้าที่” สุพิศาล กล่าว