ขั้นตอนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง

ในสายตาของนักลงทุนหรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การได้มาซึ่งทรัพย์ที่มีสภาพเก่าหรือไม่เหมาะกับการใช้งานตามที่ต้องการส่วนใหญ่แล้วอาจมีการเข้าไปรีโนเวทต่อเติม หรือปรับปรุงโครงสร้างให้มีความทันสมัยมากขึ้น อย่างที่นิยมกันในปัจจุบันก็คือการรีโนเวทบ้านมือสองขาย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการรื้อถอนโครงสร้างทั้งหมดเพื่อดำเนินการสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ขึ้นมาทดแทนเพราะรู้ว่าการทิ้งสิ่งหนึ่งจะสร้างกำไรให้กับสิ่งใหม่ได้เป็นเท่าตัว

ทำไมต้องทำการรื้อถอนอาคาร?

การรื้อถอนอาคารนั้นส่วนใหญ่มักจะมาจากการประเมินจากเจ้าของหรือคนที่มีความเชี่ยวชาญว่ามีอายุการใช้งานมานานมากแล้วจึงควรค่าแก่การรื้อถอนแล้วทำการก่อสร้างใหม่เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยเอง อีกทั้งสภาพการใช้งานของอุปกรณ์และโครงสร้างภายในบางส่วนก็เริ่มสึกหลอไปตามกาลเวลา และอีกหนึ่งเหตุผลก็คือการรื้อถอนเกิดจากการเปลี่ยนมือของเจ้าของทรัพย์สินอาคารเพื่อพัฒนาให้เป็นสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิม อย่างที่เห็นกันในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่ข่าวการทุบตึกโรงแรมดุสิตธานีที่อยู่มาแล้วกว่า 50 ปีเพื่อพัฒนาให้เป็นอสังหาริมทรัพย์ร่วมสมัยโครงการใหม่ที่จะสร้างผลลัพธ์และผลกำไรที่มากกว่าเดิม

5 ขั้นตอนการรื้อถอนอย่างถูกกฎหมาย

การรื้อถอนไม่ได้อาศัยเพียงแค่การตัดสินใจแล้วทำได้เลยเพราะการรื้อถอนอาคารนั้นก็มีกฎหมายควบคุมเช่นเดียวกับการต่อเติมหรือการก่อสร้าง ซึ่งก่อนที่จะทำการรื้อถอนจะต้องปฏิบัติตาม 5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ

1. วิเคราะห์ตัวอาคาร และสภาพแวดล้อม

ถ้าหากว่าการก่อสร้างจะต้องสำรวจทำเล ก่อนการรื้อถอนก็ต้องศึกษาพื้นที่เช่นเดียวกัน ทั้งตัวอาคาร ชุมชนรอบข้าง และขอบถนนสาธารณะว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรเพื่อนำไปสู่การการวางแผนการรื้อถอนเพื่อให้กระทบต่อพื้นที่รอบข้างให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

2. การขออนุญาตรื้อถอน

ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ได้ระบุเอาไว้ว่าโดยมีใจความสรุปว่า “ผู้ที่จะทำการรื้อถอนอาคารที่มีความสูงมากกว่า 15 เมตรและอยู่ห่างจากพื้นที่แวดล้อมทั้งที่ส่วนบุคคลและพื้นที่สาธารณะในระยะที่น้อยกว่าความสูงของตัวอาคารจะต้องทำขออนุญาตทำการรื้อถอน แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์สามารถทำการรื้อถอนได้เลย

และกรณีการรื้อถอนอาคารทั่วไปที่มีระยะห่างจากอาคารบ้านเรือนหรือที่สาธารณะน้อยกว่า 2 เมตรต้องทำการขออนุญาตทำการรื้อถอนด้วยเช่นกัน ในส่วนของการรื้อถอนบ้านทาวน์เฮ้าส์หรือตึกแถวที่มีผนังเชื่อมต่อกันจะต้องทำการขออนุญาตทุกกรณีและหากไม่ได้รับการยินยอมจากเพื่อนบ้านที่ใช้ผนังร่วมกันจะไม่สามารถทำการขออนุญาตได้

การยื่นขออนุญาตก่อสร้างจะต้องประกอบด้วยเอกสารดังต่อไปนี้

  • แบบแปลนบ้าน
  • สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นขออนุญาต
  • ใบยินยอมที่ดิน
  • แผนผังบริเวณรอบ ๆ อาคาร
  • สำเนาหรือภาพถ่ายโฉนดที่ดินเท่าฉบับจริง
  • สำเนาใบประกอบวิชาชีพของสถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบ

หลังจากยื่นคำร้องพร้อมเอกสารครบถ้วนแล้วเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการพิจารณาการขออนุญาตประมาณ 45 วันนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นคำร้อง เมื่อได้รับใบอนุญาตให้ทำการรื้อถอนแล้วผู้ขออนุญาตจะต้องแสดงหนังสือรายชื่อผู้ควบคุมงานเพื่อให้เป็นบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบรับผิดชอบในการดำเนินการรื้อถอนก่อสร้างและไม่ให้ผิดไปจากแผนผังหรือแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต

3. เตรียมพื้นที่สำหรับการรื้อถอน

เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจะยังไม่สามารถดำเนินการได้ในทันทีเพราะจะต้องทำการเตรียมพื้นที่ทั้งการปิดกั้นรอบบริเวณเพื่อป้องกันฝุ่นหรือเศษวัสดุอิฐปูนต่าง ๆ ที่อาจจะร่วงหล่นไปในพื้นที่ที่มีคนสัญจรไปมาจนได้รับอันตราย หรือแม้กระทั่งกับตัวคนงานที่เข้ามาทำการรื้อถอนด้วย และการป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการรื้อสายไฟฟ้าภายในตัวอาคาร

4. รื้อถอนส่วนที่เป็นน้ำหนักลงก่อน

การรื้อถอนอันดับแรกต้องเริ่มจากการเอาสิ่งของที่มีน้ำหนักลงไปก่อนเพื่อให้ตัวอาคารที่เริ่มสึกหลอนั้นไม่ต้องแบกรับน้ำหนักมากจนเกินไปในระหว่างทำการรื้อถอน ไม่ว่าจะเป็นประเภทสายไฟภายในอาคาร สุขภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างหลักของตัวอาคาร

ขั้นตอนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ

5. รื้อถอนโครงสร้างหลัก

หลังจากที่ทำการรื้อถอนส่วนที่เป็นน้ำหนักไปแล้วจะเหลือส่วนที่เป็นโครงสร้างหลักของตัวอาคารซึ่งก็คือเสาและพื้นอาคาร ขั้นตอนการรื้อถอนจะเริ่มจากการทุบพื้นก่อนแล้วค่อยทุบส่วนที่เป็นเสาต่อโดยเริ่มการรื้อถอนจากข้างบนลงมาข้างล่างเพื่อป้องกันการถล่มของตัวอาคาร โดยการรื้อถอนแต่ละขั้นตอนจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมดูแลเพราะคนเหล่านี้จะรู้ว่าต้องดำเนินการจัดการกับปัญหาที่มาจากการรื้อถอนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่นละอองหรือเสียงรบกวนก็ตาม

รับทุบตึกฟรีมีจริงหรือเปล่า?

หลายคนอาจจะเคยเห็นผ่าน ๆ ตาไม่ว่าจะเป็นตามเสาไฟฟ้าหรืออาคารที่กำลังเตรียมรื้อถอน พอได้ยินคำว่า “ฟรี” คงจะเกิดความสงสัยขึ้นมาไม่น้อยว่าฟรีแล้วเขาจะได้อะไรทั้งที่สิ่งที่บริษัทรื้อถอนเหล่านี้ต้องแบกรับไม่ใช่เพียงแค่ความเสี่ยงจากการรื้อถอนแต่ยังเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ และแรงงานด้วย

ความจริงแล้วการรื้อถอนอาคารฟรีนั้นมีค่าดำเนินการในตัวอยู่แล้วเพราะส่วนประกอบหลักของอาคารสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นตัวเงินได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงเหล็ก ปูน ไม้ หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ที่อยู่ภายในตัวบ้าน โดยเฉพาะเศษเหล็กที่สามารถนำไปแปลงสภาพแล้วขายต่อได้ในราคาหลายแสนหรืออาจแตะถึงหลักล้านโดยที่เจ้าของอาคารเหล่านั้นไม่รู้มาก่อนอย่างแน่นอน การรื้อถอนแต่ละครั้งฝ่ายผู้รื้อถอนจะมีการประเมินความคุ้มค่าของการดำเนินการทั้งส่วนที่จะขายได้และต้นทุน บางครั้งก็นำมาซึ่งกำไรแถมเจ้าของอาคารยังมีเงินเพิ่มมาให้อีก หรือในบางทีการรื้อถอนนั้นก็ไม่คุ้มจนเจ้าของอาคารจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเข้าไปด้วย

ขั้นตอนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ

อ้างอิง:

จะรื้อถอนอาคาร ต้องทำอะไรบ้าง ? | คุยกับลุงช่าง จาก https://youtu.be/mpNdIrNvooQ

รื้อถอนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร จาก https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=1759