หน้ารายงานผู้สอบบัญชี

เว็บไซต์ของ กบข. มีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยจะทำให้ กบข. เข้าใจลักษณะการใช้งานเว็บไซต์ของ กบข. ของท่าน และทำให้เว็บไซต์ของ กบข. เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์ของ กบข. นี้จะถือว่าท่านได้อนุญาตให้ กบข. ใช้คุกกี้ตาม นโยบายการใช้คุกกี้

  • Home

  • BLOG myAccount Cloud

  • บัญชีโคตรง่าย

  • รายงานของผู้สอบบัญชี คืออะไร สำคัญอย่างไร

หน้ารายงานผู้สอบบัญชี

รายงานของผู้สอบบัญชี สำคัญอย่างไร
         งบการเงิน จะต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพภายใต้การกำกับดูแลของสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์  และเป็นผู้แสดงความเห็นต่องบการเงินที่ตรวจสอบว่า งบการเงินนั้นถูกต้องตามควรในสาระสำคัญและได้จัดทำตามมาตราฐานการรายงานทางการเงินหรือไม่ มีข้อบ่งชี้ในเรื่องความผิดปกติทที่ผู้วิเคราะห์งบการเงินควรให้ความสนใจเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งผู้สอบบัญชี จึงจะต้องมีความเป็นอิสระและไม่มีส่วนได้เสียกับกิจการ
         รายงานผู้สอบบัญชี จึงได้ระบุถึงความเห็นของผู้สอบบัญชีต่องบการเงินที่แสดงให้เห็นว่า การตรวจสอบเป็นแบบใด เกณฑ์ในการแสดงความเห็น เรื่องสำคัญในการตรวจสอบ ข้อมูลอื่น ความรับผิดชอบของผู้บริหารและผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลต่องบการเงิน ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีต่องบการเงิน

หน้ารายงานผู้สอบบัญชี

ประเภทของรายงานผู้สอบบัญชี

1. รายงานที่ผู้สอบบัญชี แสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข
         คือ งบการเงินแสดงถูกต้องตามมาตราฐานการรายงานทางการเงิน และไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการแสดงความเห็นที่เปลี่ยนแปลงไป

2. รายงานที่ผู้สอบบัญชี แสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไข
         เมื่อผู้สอบบัญชี พบว่า งบการเงินแสดงข้อมูลทที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ เช่น การลงบันทึกบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่ำไปกว่าความเป็นจริง จากประสบการณ์ที่ไม่ได้รับชำระเงินจากลูกหนี้ หรือ การปกปิดการจำกัดการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี แต่ผลกระทบไม่แผ่กระจายไปยังองค์ประกอบหรืองบการเงินอื่นๆ

3. รายงานที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง
         เมื่อผู้สอบบัญชี พบว่า งบการเงินแสดงข้อมูลทที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและมีผลกระทบแผ่กระจาย

4. รายงานที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น
         เมื่อผู้สอบบัญชีไม่สามารถหาหลักฐานการตรวจสอบที่เหมะสมได้อย่างเพียงพอและมีผลกระทบแผ่กระจาย
ดังนั้น งบการเงินต้องได้รับการการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญขีรับอนุญาตและแสดงความเห็นไว้ในรายงานของผู้สอบบัญขี ซึ่งผู้ที่จะนำข้อมูลในงบการเงินไปใช้ในการวิเคราะห์ทางการเงิน จะต้องให้ความสำคัญกับรายงานของผู้สอบบัญขี ยิ่งเมื่อผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขแล้วนั้น ผู้ใช้งบการเงินจะต้องมีการตระหนักถึงเหตุการณ์ที่สำคัญที่จะกระทบต่องบการเงินต่อไป

บทความโดย : doithai.com

ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักบัญชีส่วนใหญ่ปิดบัญชี จัดทำงบการเงิน เพื่อรับการตรวจสอบและส่งข้อมูลทางการเงินให้กับหน่วยงานต่าง ๆ และให้กับผู้ใช้งบการเงินที่เกี่ยวข้องได้อ่านแล้ว ซึ่งผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจสงสัยและไม่เข้าใจว่า หน้ารายงานของผู้สอบบัญชีหมายความว่าอย่างไร ดังนั้น วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันค่ะ

สำหรับหน้ารายงานของผู้สอบบัญชี มี 4 แบบ ประกอบด้วย

แบบที่ 1 ไม่มีเงื่อนไข 

หน้ารายงานแบบนี้ ผู้อ่านสบายใจได้ค่ะ ซึ่งหมายถึงผู้สอบบัญชีตรวจแล้วไม่พบข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอย่างมีสาระสำคัญ โดยจะสังเกตได้ที่วรรคความเห็น ย่อหน้าที่ 2 โดยจะมีคำว่า

“ข้าพเจ้าเห็นว่า งบการเงินข้างต้นนี้แสดงฐานะการเงินของบริษัท กขค จำกัด ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 25x1 และผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดสำหรับปีสิ้นสุดวันเดียวกันโดยถูกต้องตามที่ควรใน สาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน”

แบบที่ 2 มีเงื่อนไข 

หน้ารายงานแบบนี้ จะหมายถึง ผู้สอบบัญชีพบรายการในงบการเงินมีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอย่างมีสาระสำคัญ แต่ไม่หลายรายการมาก หรืออาจเกิดจากการที่ไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อสนับสนุนการแสดงความเห็นได้ โดยผู้สอบบัญชีเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงซึ่งตรวจไม่พบ (ถ้ามี) จะส่งผลกระทบอันเป็นสาระสำคัญ แต่ไม่แผ่กระจายไปทั่วทุกงบการเงิน

โดยหน้ารายงานจะมีบรรทัดที่เขียนว่า “ความเห็นอย่างมีเงื่อนไข” และสามารถอ่านคำอธิบายว่า ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขด้วยเรื่องอะไร ได้ที่ ย่อหน้า “เกณฑ์ในการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข”

แบบที่ 3 งบการเงินไม่ถูกต้อง 

หน้ารายงานแบบนี้ แสดงให้เห็นว่ามีอะไรบางอย่างหรือหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้รับการแก้ไข โดยผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นแบบนี้ เมื่อผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า แต่ละรายการหรือผลรวมหลายรายการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ และแผ่กระจายไปทั่วทุกงบการเงิน 

โดยที่หน้ารายงานจะมีบรรทัดที่เขียนว่า “ความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง” และสามารถอ่านคำอธิบายว่า ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้องด้วยเรื่องอะไร ได้ที่ ย่อหน้า “เกณฑ์ในการแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง”

แบบที่ 4 ไม่แสดงความเห็น 

ผู้สอบบัญชีจะไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน เมื่อผู้สอบบัญชีไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อสนับสนุนการแสดงความเห็น และผู้สอบบัญชีเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงตรวจไม่พบ (ถ้ามี) จะส่งผลกระทบอันเป็นสาระสำคัญ และแผ่กระจายไปทั่วทุกงบการเงิน

นอกจากนี้ ผู้สอบบัญชีจะไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน (ในกรณีที่มีความไม่แน่นอนหลายสถานการณ์ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก) เมื่อผู้สอบบัญชีเห็นว่า ถึงแม้จะได้รับหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอสำหรับความไม่แน่นอนแต่ละสถานการณ์ ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าจะแสดงความเห็นต่องบการเงินอย่างไร เนื่องจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ อาจมีความสัมพันธ์กัน และมีความเป็นไปได้ที่จะสะสมผลกระทบต่องบการเงินเพิ่มมากขึ้น 

โดยที่หน้ารายงานจะมีบรรทัดที่เขียนว่า “การไม่แสดงความเห็น” และสามารถอ่านคำอธิบายว่า ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นด้วยเรื่องอะไร ได้ที่ ย่อหน้า “เกณฑ์ในการไม่แสดงความเห็น”

หวังว่า ผู้อ่านทุกท่านที่ยังสงสัยน่าจะพอเข้าใจเพิ่มมากขึ้น และอย่าลืมอ่านหน้ารายงานของผู้สอบบัญชีกันด้วยนะคะ

ผู้เขียน  โสรยา ตินตะสุวรรณ์ กรรมการบริหาร บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด

เอกสารอ้างอิง

•  สภาวิชาชีพบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชีรหัส 700 การแสดงความเห็นและการรายงานต่องบการเงิน http://www.tfac.or.th/upload/9414/ttjvnkjJdF.pdf  [เข้าถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2562]

•  สภาวิชาชีพบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชีรหัส 705 การแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไปในรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต http://www.tfac.or.th/upload/9414/fKPMCohSnh.pdf [เข้าถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2562]