การ นํา หลักเศรษฐกิจ พอ เพียง มาใช้ในองค์กร

หน่วยการเรียนรู้ที่ 6

การนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในงานอาชีพ

สาระการเรียนรู้

  1. เศรษฐกิจพอเพียง

  2. เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่

  3. ปัจจัยในการทำงานให้เหมาะสมกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

  4. การประยุกต์ใช้กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการทรัพยากรบุคคล

  5. การนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต

เศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่ิให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน ในขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพรียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

            หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง

การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง  คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้

  1. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอกเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคง และความยั่งยืนของการพัฒนา

  2. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

  3. คำนิยาม ความพอเพียง จะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อมๆกันดังนี้

3.1  ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น เช่น การผลิต และการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

3.2  ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นอย่างมีเหตุผล โดยพิจาณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่ว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

3.3  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

4.  เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

  • เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

  • เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

5.  แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านทั้งด้าน เศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อม ความรู้ และเทคโนโลยี

ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้บรรยายไว้ว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง การเดินทางสายกลางของ 3 หลัก คือความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ซึ่งจะบรรลุได้นั้นต้องอาศัย 2 เงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย รอบรู้รอบคอบระมัดระวัง ส่วนเงื่อนไขคุณธรรม ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทน สติปัญญา และแบ่งปัน ดังนี้

  1. ความพอประมาณในงานอาชีพ

ทางสายกลางของความพอประมาณในการทำงาน หมายถึง การทำงานพอประมาณตามหน้าที่ตามเวลางาน หรือตามเงินเดือนที่ได้รับ รวมทั้งการคิดและทำงานเต็มความสามารถที่มี ไม่น้อยเกินไปและไม่ทำงานเกินตัว ตัวอย่างของการทำงานน้อยเกินไป คือ การไม่พัฒนาหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่กล้าตัดสินใจ หรือปรับเปลี่ยนใดๆ ซึ่งต่อไปจะไม่สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนการทำงานเกินตัว เช่น ผู้ที่ทำงานเกินไปจนเสียความสมดุลในด้านอื่นๆ ของชีวิตผู้ที่ลงทุนเกินตัว ชอบเสียงอย่างไม่มีเหตุผล ทำให้พบปัญหาและความล้มเหลวอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มองไปข้างหน้าและคิดว่าตนเองมีทรัพย์สิน และทรัพย์สินที่สามารถแสวงหาเพิ่มได้ อาจใช้ความพยายามมากขึ้นหรืออดทนทำงานที่ยากลำบาก จึงจะเป็นผู้ที่เดินทางสายกลางของความพอประมาณ

การ นํา หลักเศรษฐกิจ พอ เพียง มาใช้ในองค์กร

ส่วนความพอประมาณในองค์การนั้น ต้องทราบระดับความสามารถของพนักงาน และเข้าใจถึงทักษะหรือความถนัดของพนักงาน เชื่อว่าพนักงานขององค์กรยังไม่ได้ทำงานเต็มความสามารถของตนเอง ซึ่งการทำงาน ไม่เต็มความสามารถ ไม่ใช่เพราะพนักงานไม่เต็มใจทำแต่เป็นเพราะองค์กรหรือหัวหน้างานยังไม่ได้ให้โอกาส ที่ทำให้พนักงานได้แสดงความสามารถของตนเองออกมาอย่างเต็มที่ เมื่อพนักงานมีโอกาสได้แสดงผลงานออกมาแล้วพนักงานก็จะพบว่าตนเองมีดีกว่าที่คิด

  1. ความมีเหตุผลในงานอาชีพ

ความมีเหตุผล หมายถึง การที่การทำงานตลอดจนการดำเนินชีวิตด้วยความมีเหตุผล มีตรรกะ สามารถเข้าใจและอธิบายเรื่องราว หรือปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ เป็นวิทยาศาสตร์ รู้จักใช้ดุลพินิจในการพิจารณาไตร่ตรอง และสามารถตัดสินใจได้ดีจากข้อมูลที่สนับสนุนให้เห็นว่าข้อมูลไม่เพียงพอก็ต้องรู้จักเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม

  1. การมีระบบภูมิคุ้มกันในงานอาชีพ

การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวดี คือ การสามารถครองตนอยู่ได้ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ที่มากระทบทั้งจากภายในและภายนอก หากมองในแง่ของงานหรือธุรกิจก็คือ การรู้จักวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยง ส่วนในด้านของคนทำงานก็ต้องกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมรับกับความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในปัจจุบันหรืออนาคต

ระบบภูมิคุ้มกัน คือ การสามารถครองตนให้อยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต สามารถยืนหยัดอยู่ในศีลธรรม แม้จะถูกยั่วยุด้วยผลประโยชน์ และเมื่อพบกับความไม่ชอบธรรมต่างๆ ก็สามารถใช้สติและปัญญาในการแก้ไขปัญหาการมีระบบภูมิคุ้มกัน จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากตัวบุคคลและระบบงานขององค์การ กระบวนการการทำงานขององค์การต้องมีความรัดกุม มีระบบการตรวจสอบ และเปิดรับสัญญาณเตือนภัยต่างๆ ได้ดี ในขณะเดียวกัน องค์การต้องส่งเสริมให้บุคลากรรู้จักการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การทำงาน ไม่หวงความรู้เก็บไว้คนเดียว โดยการทำงานของบุคคลต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการทำงานเป็นการช่วยตรวจสอบซึ่งกันและกัน

                เงื่อนไขสร้างความพอเพียง

เงื่อนไขและปัจจัยที่จะทำให้การวางแผน การตัดสินใจ การดำเนินการแต่ละอย่างนำไปสู่ความพอเพียง

หรือไม่พอเพียงได้คำนิยาม ซึ่งได้พระราชทานมาก็ระบุชัดเจนว่าต้องอาศัยความรู้คู่กับคุณธรรม

  1. เงื่อนไขความรู้  คือ  ความรอบรู้ความรอบคอบและระมัดระวังในการนำเอาหลักวิชาการมาใช้ ต้องรู้จริงรอบรู้ เพราะจะมีโอกาสพลาดได้สูงถ้ารู้จริงแต่ไม่รอบรู้ เช่น เรื่อง OTOP การวางแผนการผลิตถ้าไม่รอบคอบตั้งแต่การนำตัววัตถุดิบจนถึงการทำการตลาด และจัดส่งสินค้า มีโอกาสที่จะนำไปสู่ความไม่พอเพียงได้มาก แต่ความรู้อย่างเดียวไม่พอที่จะสร้างความพอเพียงให้เกิดขึ้นได้ ต้องมีคุณธรรมด้วย คนที่คิดว่าตัวเองฉลาดแต่ไม่มีคุณธรรมไม่ใช่คนที่ฉลาด เพราะผลของการกระทำที่มาจากความเห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น คดโกง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ฉ้อโกง เวลาทำการงานภารกิจก็ไม่มีสมาธิ ทำอะไรก็ไม่รอบคอบ ไม่ใช้สติปัญญาคิดพิจารณาแยกแยะเหตุและผลต่างๆ ให้รอบคอบ ก็จะส่งผลทางลบกับตนเองในที่สุด ดังนั้นคนที่มีสติปัญญาจะต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีศีลทั้งกายวาจาและความคิด จิตต้องตั้งมั่นเป็นสมาธิจะอยู่กับการงานที่ทำ งานจึงจะออกมามีคุณภาพและนำไปสู่การสร้างความพอเพียงได้อย่างแท้จริง

  1. เงื่อนไขคุณธรรม

  1. เริ่มจากการต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจให้มีคุณธรรม แต่ละบุคคลจะต้องมีสำนึกในคุณธรรม คิดละชั่ว ประพฤติดี ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ความหมายแต่เพียงไม่คอรัปชั่นเท่านั้น เช่น เวลาจะซื้อของถ้าซื่อสัตย์ต่อตัวเองก็จะรู้ว่าจำเป็นหรือไม่ มีรายได้เพียงพอไหม ต้องรู้จักตนเองก่อน รู้ว่ามีรายได้แค่ไหน สถานะทำอะไรได้บ้างจำเป็นหรือไม่ แล้วก็มีความรอบรู้ที่เหมาะสมเกี่ยวกับสินค้านั้นๆ

  2. การมีคุณธรรมเป็นหลักปฏิบัติและการดำเนินชีวิต คือ ต้องมีความอดทน มีความเพียร มีสติปัญญา

และความรอบคอบ คุณธรรมข้อนี้เป็นข้อยืนยันว่า เมื่อนำหลักพอเพียงไปใช้จะไม่เป็นการย่ำอยู่กับที่ แต่กับจะนำไปสู่ความก้าวหน้า พร้อมกับความสมดุล เป็นขั้นเป็นตอน เช่น ในการบริหารธุรกิจถ้ามีความขยันหมั่นเพียรอดทน พัฒนาองค์การ พัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง มีความรอบคอบในการดำเนินการธุรกิจการงาน ชีวิตก็จะก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่

เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนา ที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ความเพียร และความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความสามัคคี

ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ  อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ทฤษฎีใหม่มี 3 ขั้นคือ

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 เทียบได้กับเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เป็นการจัดการทรัพยากรที่แต่ละคนมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแต่ละคนจะได้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เวลาพูดเรื่องทฤษฎีใหม่ก็มักจะคิดถึงตัวอย่างเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นการใช้ทฤษฎีใหม่ในภาคเกษตรในชนบท และมีพื้นดิน มีน้ำมีพืชพันธุ์ที่ปลูกในพื้นดิน มีสัตว์เลี้ยงต่างๆ จึงเป็นตัวอย่างในการจัดการทรัพยากรที่แต่ละคนมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน และเป็นการจัดการอย่างสมดุล และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และนำความสุขมาให้ด้วย

มีงานวิจัย โดยคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการใช้ชีวิตพอเพียงของคนในเมือง เช่นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่ค้าขายผัก สามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้ เช่น แม่ค้าขายผักก็ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงได้ซึ่งแต่ละคนรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณาว่าซื้อมาเท่าไหร่มีต้นทุนเท่าใด การตั้งราคาสินค้าก็ไม่ให้ต่างกันมากกับรายอื่นๆ ในตลาดเดียวกัน ไม่สูงเกินไปและไม่ต่ำเกินไป ให้พอมีกำไรและเงินออมบ้างพอประมาณ บางส่วนเก็บไว้สำหรับซื้อผักพรุ่งนี้ บางส่วนเก็บไว้ใช้เกื้อกูลแบ่งปันสังคม ด้านสังคม แม่ค้าขายผักไม่ใช่ขายเฉพาะตัวเองคนเดียว ก็มีเพื่อนขายผักด้วยกัน ไม่เบียดเบียนเอาเปรียบแม่ค้าคนอื่น ก็ควรปรึกษาหารือกันบางคนไปซื้อผ่านจากที่หนึ่งมาถูกแล้วก็แบ่งปันกันขาย

การรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อมก็โดยทำการค้าขายโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เลือกซื้อขายสินค้าที่สะอาดปราศจากสารเคมีตกค้าง หมั่นรักษาความสะอาดของสินค้า ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดบริเวณสถานที่ตั้งขาย ทิ้งขยะให้ถูกที่ มีการจัดการอย่างดี เก็บขยะอย่างดี เก็บไว้เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพส่งให้กับเจ้าของสวนผักต่างๆ ในการรักษาสมดุลทางวัฒนธรรม แม่ค้าอาจรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม และรักษาสาธารณสมบัติในพื้นที่ที่ตนอยู่อาศัยมานานเอาไว้ ลักษณะอย่างนี้จึงกล่าวได้ว่าแม่ค้าขายผักก็พึ่งตนเองได้ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำเนินชีวิตตามแนวทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2  เทียบได้กับเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า เป็นการร่วมมือรวมกลุ่มกันของคนที่มีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งตนเองได้แล้วในระดับต่างๆ เพื่อร่วมมือกันช่วยเหลือกันในกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่ม/องค์การสหกรณ์ต่างๆ ธนาคารโคกระบือ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มผลิตแม่บ้านต่างๆ ยกตัวอย่าง แม่ค้าในตลาดอาจจะหารือกันกับแม่ค้าคนอื่นๆ หาแหล่งสินค้าร่วมกัน รักษาความสะอาดของสถานที่ร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างกันมากขึ้น การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ จะทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นในระดับท้องถิ่นที่มี ที่ไม่ใช่เฉพาะชนบทเท่านั้น ในตลาดก็สามัคคีกัน เวลารวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันก็เกิดการเรียนรู้ที่จะทำงานกับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะต้องอดทนต่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน และเกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แบ่งปันประสบการณ์ แบ่งปันกำลังทรัพย์กำลังกายกำลังใจ ให้กำลังใจก็เป็นการแบ่งปัน ความสามัคคีก็จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างชุมชน สร้างองค์การ สร้างกลุ่มตามแนวทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เพื่อสร้างความพอเพียงที่เกิดขึ้นในชุมชน ในสังคม เช่น กองทุนสัจธรรมออมทรัพย์ ที่ดีในแง่แต่ละชุมชนต้องมีกองทุนสวัสดิการ แล้วไม่ใช่สวัสดิการเฉพาะสมาชิกของกองทุนเท่านั้น ต้องแบ่งส่วนหนึ่งช่วยเหลือคนอื่นในชุมชน ที่ยังยากจนขาดแคลน ที่ยังไม่เพียงพอ คนในแต่ละชุมชนจะรู้เองว่าใครเป็นคนจนในชุมชนของเขา แต่ละภูมิประเทศแต่ละภูมิศาสตร์ คงสภาพความยากจนจะแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นชุมชนที่พอเพียงก็จะดูที่การมีกองทุนสวัสดิการที่แบ่งส่วนหนึ่งเอามาดูแลคนยากจน คนด้อยโอกาสในสังคมนั้นด้วย ถึงจะบอกได้ว่าชุมชนนั้นได้สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3  เป็นความร่วมมือกันในระดับเครือข่าย หรือเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือออกไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ เช่น เครือข่ายกลุ่มสัจธรรมออมทรัพย์ เครือข่ายข้าว สำนึกรักบ้านเกิดของดีแทค เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ผลิตข้าวปลอดสารพิษนำมาแลกเปลี่ยนสินค้ากับเครือข่ายยมนาที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือชุมชนอาจจะมีการแลกเปลี่ยนทำงานร่วมมือกันกับองค์การธุรกิจเอกชน บริษัทน้ำมันบริษัทต่างๆ มูลนิธิภาครัฐเป็นความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มองค์การต่างๆ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าหรือทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3


ปัจจัยในการทำงานให้เหมาะสมกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

การจะสร้างคนทุกคนให้ขับเคลื่อนองค์การไปสู่ความสำเร็จได้ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องสร้างแรงกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา อย่างค่อยเป็นค่อยไป จากสถานการณ์เหล่านี้ทำให้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ถูกนำมาปรับใช้กับการบริหารทรัพยากรบุคคล แต่ในความเป็นจริงหลักการทำงานตามแนวทาง 2 ห่วง ประกอบด้วยประมาณตน มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน และ 2 เงื่อนไข คือ ความรู้คุณธรรม ซึ่งเป็นกรอบการทำงานที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมคนทำงาน ซึ่งมีปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและทำงานมี 5 ประการได้แก่

  1. บุคลิกภาพ ที่ต้องรู้จักวางตน แสดงออกอย่างเหมาะสม มีความเกรงใจ ไม่เบียดเบียนคนอื่น หรือผู้อื่นและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวม ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานการเข้าใจความแตกต่างของโลก ในความคิดที่หลากหลายตลอดจน คิดทบทวนอย่างถี่ถ้วนก่อนแสดงออกทางกายหรือวาจา

  2. การสื่อสารการสื่อสาร ต้องเป็นไปอย่างพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป และให้ความสำคัญ กับการ

สื่อสารโดยการพูดและการแสดงท่าทางอย่างเหมาะสมพร้อมกับวิเคราะห์ก่อนจะสื่อสารใดๆออกไปขณะเดียวกันในบางสถานการณ์เคร่งเครียดจะต้องหลีกเลี่ยงการสื่อสารโดยใช้อารมณ์

  1. การตัดสินใจ ต้องใช้หลักประสานความร่วมมือ ถนอมน้ำใจ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ขณะเดียวกันควรจะวางแผนเรื่องในอนาคต เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

  2. การทำงานเป็นทีม ควรเริ่มต้นทำความเข้าใจเป้าหมายของทีม แสดงบทบาทของตนอย่างเหมาะสมพร้อมช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มความสามารถ และประเมินความสามารถเพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละคนวางแผนจัดสรร ติดตาม อำนวยการ แลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้ร่วมกัน ให้เกิดความไว้ใจ

  3. ภาวะผู้นำ ต้องมีความยุติธรรมในการดูแลลูกน้อง ปฏิบัติด้วยความเมตตา ประสานความแตกต่าง เพื่อทำให้ส่วนรวมพัฒนาตนเองสม่ำเสมอ ให้เป็นต้นแบบในการจัดความรู้อย่างมีระบบในองค์การ

การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการทรัพยากรบุคคล

การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการทรัพยากรบุคคลนั้นสามารถประยุกต์ได้ในลักษณะงานต่างๆดังนี้

  1. การคัดสรร ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องใช้หลักเหตุผล ในการวิเคราะห์ความต้องการของงานกำหนดตำแหน่งงานให้เหมาะสมในด้าน จำนวนและคุณสมบัติของบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของงานในปัจจุบัน และสามารถรองรับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดี

  2. การพัฒนา เป็นการเติมองค์ความรู้ให้กับบุคลากรขององค์การ โดยคำนึงถึงความพอดีของจำนวนวันในการฝึกอบรมต่อคนต่อปีการ การกำหนดบุคลากรที่ควรได้รับการฝึกอบรม เนื้อหาที่ฝึกอบรมต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน การพัฒนานี้ต้องยึดหลักการสร้างภูมิคุ้มกันคือ พัฒนาแล้วจะต้องทำให้บุคลากรขององค์การรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย

  3. วิธีการฝึกอบรม สามารถพิจารณาหลายรูปแบบ เช่น การสัมมนา การสอนงาน การเรียนรู้ผ่านสื่อทางไกล หรือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และควรเลือกรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์การ

การนําเศรษฐกิจพอเพียงการประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ( พ. ศ. 2550- 2554) เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุลยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน หรือเรียกว่าสังคมสีเขียว( Green Society) ด้วยหลักการดังกล่าว แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 จะไม่เน้นเรื่องตัวเลข การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท

ดร. สมเกียรติ  อ่อนวิมล เรียกว่า วิกฤตเศรษฐกิจพอเพียง คือความไม่รู้ว่าจะนำปรัชญานี้ไปใช้ทำอะไรผู้นำสังคมทุกคน ทั้งนักการเมือง และรัฐบาล มักใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง เป็นข้ออ้างในการทำกิจกรรมใดๆเพื่อให้รู้สึกได้สนองพระราชดำรัส และให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี หรือเศรษฐกิจพอเพียง ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตัวเอง ซึ่งความไม่เข้าใจนี้อาจเกิดจากการสับสนว่าเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้มีความเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง การปฏิเสธอุตสาหกรรมแล้วกลับไปสู่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

ดร. ทิศนา  เเข็มมณี (2546:2-7) ได้วิเคราะห์แนวคิดทฤษฎีใหม่ พบว่าทฤษฎีใหม่นี้ มีศักยภาพที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์ต่างๆได้เป็นอย่างดีโดยมีหลักสำคัญดังนี้

  1. รู้จักพึ่งพาตนเอง

  2. ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีอิสรภาพ

  3. มีความสามารถในการบริหารจัดการ รู้จักคิดรู้จักระบบ

  4. ความขยัน อดทน ไม่ท้อถอย

  5. มีความสามัคคี มีการแสวงหาความร่วมมือ และให้ความร่วมมือ มีการรวมกลุ่ม และมีความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มคณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย

  6. มีการศึกษาหาข้อมูล ข้อความรู้ และนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน และการแก้ไขปัญหาต่างๆ

  7. รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน

  8. รู้จักพัฒนาตนเองขึ้นตามลำดับ

  9. สามารถนำความรู้หลักการแนวคิดหรือทฤษฎีต่างๆ ไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ  จึงประกอบด้วยหลักการ หลักวิชาการและ
หลักธรรมดังนี้

  1. เป็นปรัชญาแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ

  2. เป็นปรัชญาในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง

  3. จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว้างขวาง ทั้งทางด้าน วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

  4. ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี พอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกและภายใน

  5. จะต้องอาศัย ความรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน

  6. จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทนความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ

                การปฏิบัติตนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

การนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันสามารถทำได้ดังนี้

  1. เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับบุคคลทั่วไป

เศรษฐกิจพอเพียง มีประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษา นักเรียน ข้าราชการพนักงานบริษัท ก็สามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการเรียน การทำงาน ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสามารถกระทำได้ดังนี้

1.1  ยึดความประหยัดตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีวิตอย่างจริงจัง ดังพระราชดำรัสว่า ”ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง

1.2  ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้องสุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีวิตก็ตาม ดังพระราชดำรัสที่ว่า”ความเจริญของคนทั้งหลายย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพของตนเป็นหลักสำคัญ

1.3  ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ และแข่งขันในทางด้านการค้า การประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรงดังอดีต ซึ่งมีพระราชดำรัสเรื่องนี้ว่า”ความสุข ความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุข ความเจริญ ที่บุคคลแสวงหาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาจากความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากคนอื่น

1.4  การแสวงหาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนจนถึงขั้น พอเพียงในการดำรงชีวิตเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยต้องขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้เกิดรายได้เพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียง ดังพระราชดำรัสที่ให้ความชัดเจนว่า”การที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่จะหาความรู้ และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตนเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้า ที่มีความสุข พอมีพอกิน เป็นขั้นหนึ่งและขั้นต่อไปคือ ให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตนเอง

1.5  ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละเลิกอบายมุขให้หมดสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราโชวาทว่า”พยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัวทำลายผู้อื่น พยายามลดพยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษาและเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่ให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น ทรงย้ำเน้นว่าคำสำคัญที่ดีที่สุดคือคำว่า “พอ” ต้องสร้างความพอที่สมเหตุสมผลให้กับตนเองให้ได้ และเราก็จะพบกับความสุข

  1. เศรษฐกิจพอเพียงสําหรับเกษตรกร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ โดยจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นคือ

ขั้นที่ 1  มีความพอเพียง เลี้ยงตัวเองได้ บนพื้นฐานของความประหยัดและลดการใช้จ่าย

ขั้นที่ 2  รวมกันในรูปกลุ่ม เพื่อทำการผลิต การตลาด การจัดการ สวัสดิการการศึกษาและการพัฒนาสังคม

ขั้นที่ 3  สร้างเครือข่ายกลุ่มอาชีพ และขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หลากหลาย โดยประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาครัฐ ในด้านเงินทุน การตลาด การผลิต การจัดการ และข่าวสารข้อมูล